วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567

แนวคิดอำนาจอธิปไตยทางดิจิทัล (Digital Sovereignty)

 ในศตวรรษที่ ๒๑ แนวคิดเรื่องอธิปไตยทางดิจิทัลได้รับความนิยมด้วยการปฏิเสธค่านิยมเสรีนิยมที่มีลักษณะเฉพาะในยุคแรกๆ ของอินเทอร์เน็ต และมีความชัดเจนว่ารัฐพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น จึงมีการยืนยันการควบคุมอินเทอร์เน็ตและขอบเขตดิจิทัลในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ การเรียกร้องอธิปไตยทางดิจิทัลนั้นทำบางรัฐบาลมักอ้างอิงถึงแนวคิดอำนาจอธิปไตย รัฐบาลจีนได้ยืนยันอธิปไตยของตนเหนือขอบเขตดิจิทัลมาโดยตลอด โดยเฉพาะนโยบาย “Great Firewall” ในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นนโยบายที่เซ็นเซอร์ข้อมูล ทั้งนี้ จีนยังได้เริ่มสนับสนุนบรรทัดฐานของอธิปไตยทางดิจิทัลในเวทีโลกและโดยใช้เวทีระหว่างประเทศผลักดันให้รัฐมีอิทธิพลมากขึ้นในกระบวนการกำกับดูแลทางอินเทอร์เน็ต ต่อมาแนวความคิดเกี่ยวกับอธิปไตยทางดิจิทัลได้แพร่กระจายไปยังแวดวงการเมืองหลายแห่งทั่วโลก เนื่องจากความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นภัยคุกคามต่อรัฐ และรัฐบาลต่างๆ จึงเริ่มใช้วาทกรรมอธิปไตยทางดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์อันมากมาย และเพื่อแก้ไขปัญหามากมายที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี (European Parliament, 2020)

แนวคิดเรื่องอธิปไตยที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับแนวคิดของรัฐชาติที่มีอาณาเขตชัดเจนแน่นอนถูกวิจารณ์ว่าล้าสมัยด้วยกระแสโลกาภิวัตน์สากลที่เข้มข้นขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับกระแสข้อมูลข้ามพรมแดนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องกำลังสร้างการพึ่งพาและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างรัฐต่างๆ และทำให้รัฐเหล่านี้มีความสามารถน้อยลงกว่าที่เคยในการดำเนินการในลักษณะที่ตัดสินใจด้วยตนเองและเป็นอิสระ การเชื่อมต่อทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นความท้าทายต่อการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ การเมือง และกฎหมายของรัฐชาติและพลเมืองของรัฐเหล่านั้น มีการรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นภัยคุกคามต่อการใช้อำนาจอธิปไตย อาทิ 

ประการแรก เดิมรัฐเป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมหรือกำกับดูแลโครงสร้างพื้นฐานและบริการดิจิทัลทั้งหลาย แต่ในปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น บริษัท Google หรือ Facebook มีอิทธิพลอย่างมากต่อตลาดและผู้ใช้บริการ และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มีบทบาทอย่างมากในการเข้ามาแทรกแซงบทบาทของรัฐในการกำกับดูแลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลต่อการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ โดยเฉพาะในการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีการเรียกร้องให้มีกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อจัดการผู้ให้บริการดิจิทัลยักษ์ใหญ่ดังกล่าว  

ประการที่สอง การควบคุมและกำกับดูแลข้อมูล กรณีของสโนว์เดนในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ แสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และการควบคุมข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯที่สามารถเข้าถึงความลับของประเทศอื่นๆ หรือกรณีที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ให้บริการดิจิทัลมีข้อมูลส่วนบุคคลและสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้บริการ จนกระทั่งมีการเรียกร้องให้กำกับดูแลในเรื่องนี้อย่างเข้มงวด (Melody Musoni, Poorva Karkare, Chloe Teevan and Ennatu Domingo, 2023: 24-26)

ประการที่สาม อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ยุโรปตระหนักถึงความสำคัญของอธิปไตยดิจิทัลคือ ยุโรปกำลังเสียเปรียบในการแข่งขัน ขณะที่สหภาพยุโรปมีบริษัทโทรคมนาคมระดับชาติที่เข้มแข็ง และมีบริษัทซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์รายใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ตัวอย่างเช่น บริษัท SAP, Nokia, Spotify, Booking.com, Ericsson แต่ไม่มีบริษัทใดในสหภาพยุโรปที่อยู่ในกลุ่มบริษัท Amazon, Microsoft, Facebook (ปัจจุบันคือ Meta), Apple หรือ Google  ในปี ค.ศ. ๒๐๒๑ แพลตฟอร์มในสหภาพยุโรปก็มีบริษัทเพียงสิบแห่งใน ๑๐๐ อันดับแรกของโลก และคิดเป็นเพียงร้อยละ ๓ ของมูลค่าทั้งหมด ตามรายงานเข็มทิศดิจิทัล (Digital Compass) ของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “เทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกพัฒนานอกสหภาพยุโรป” โดย ๙๐% ของข้อมูลในสหภาพยุโรปถูกจัดการโดยบริษัทในสหรัฐฯ และไมโครชิปที่ผลิตโดยสหภาพยุโรปคิดเป็นสัดส่วนเพียง ๑๐% ของตลาดยุโรป (European Parliament, 2020)

การที่สหภาพยุโรปรับรู้ถึงความอ่อนแอของตัวเอง ทำให้เกิดการถกเถียงเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความต้องการ “อิสรภาพทางยุทธศาสตร์” รวมถึงการป้องกันภาคส่วนเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น การป้องกันทางไซเบอร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น และฐานอุตสาหกรรมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง การพึ่งพาบริษัทและเทคโนโลยีจากยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือจีน ทำให้อาจถูกชักจูงทางการเมืองมากกว่าทางพาณิชย์ พบได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุโรป อาทิ การรณรงค์ของสหรัฐฯ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลยุโรปแบนอุปกรณ์ของบริษัท Huawei ออกจากโครงสร้างพื้นฐานรุ่นที่ ๕ (5G)  ซึ่งเท่ากับยุโรปยอมรับจีนว่าเป็นคู่แข่งเชิงระบบด้วย (European Parliament, 2020)

สหภาพยุโรปมองเห็นถึงความไม่แน่นอนหากยังพึ่งพิงเทคโนโลยีจากสหรัฐฯและจีน แต่การจะสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาให้เทียบเท่ากับสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการรับเทคโนโลยีเข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่หากพึ่งพิงมากเกินไปก็อาจจะส่งผลต่อความไม่มั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ ยุโรปก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่นำไปเก็บที่สหรัฐฯจะไม่ถูกเปิดเผยภายนอกอาณาเขตยุโรป เนื่องจากทางการสหรัฐฯ เองก็มีกฎเกณฑ์ในการขอเข้าถึงข้อมูลจากผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศ อาทิเช่น กฎหมาย Clarifying Lawful Overseas Use of Data Act (Cloud Act) เป็นต้น (Melody Musoni, Poorva Karkare, Chloe Teevan and Ennatu Domingo, 2023: 30)


นิยามความหมาย 

แม้แนวคิดอธิปไตยทางดิจิทัลจะพัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่มีคำจำกัดความอย่างเป็นทางการของอธิปไตยทางดิจิทัล มีการให้คำจำกัดความที่แตกต่างตามมุมมองและบริบทของประเทศ ในงานวิจัยนี้ขอนำเสนอตัวอย่าง ดังนี้ 

อำนาจอธิปไตยทางดิจิทัล หมายถึง ความสามารถในการควบคุมการใช้เทคโนโลยีและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อมทางดิจิทัลของบริษัท ข้อมูลลูกค้าและพนักงาน ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ซึ่งศาสตราจารย์ขาวฝรั่งเศส Pierre Bellanger ผู้เขียนบทความ “La Souverainete Numerique (Digital Sovereignty)” ได้ให้คำจำกัดความภาษาอังกฤษไว้ว่า “Digital sovereignty is the control of our present and destiny as manifested and guided by the use of technology and computer networks." ตามนิยามนี้ อธิปไตยทางดิจิทัลจึงถือเป็นส่วนสำคัญของทุกประเทศที่มีการใช้งานดิจิทัลในทุกมิติ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการใช้และออกแบบระบบดิจิทัลภายในประเทศ ความสามารถในการจัดการข้อมูลด้วยตัวเอง อภิสิทธิ์เหนือข้อมูลที่รวบรวมและจัดเก็บ ตลอดจนกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ในอีกด้านหนึ่งแนวคิดอธิปไตยทางดิจิทัลสามารถให้อำนาจแก่รัฐบาลเหนือบริษัทที่รวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจนำไปใช้ในทางที่ผิดได้ แม้แต่กฎหมายที่มีเจตนาดีที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวหรือความมั่นคงของชาติก็อาจมีแนวโน้มที่จะถูกละเมิดได้ โดยสามารถนำไปใช้หรือบังคับใช้ในลักษณะที่สนับสนุนนักการเมืองที่มีอำนาจได้ แม้ว่าอำนาจอธิปไตยจะจำเป็นสำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตย ทว่าสามารถกลายเป็นการกดขี่ได้เช่นกัน เช่น การยกเว้นจากกฎหมาย การยกเว้นจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการยกเว้นจากความยุติธรรม จึงดูเหมือนจะเป็นสองมาตรฐานเกี่ยวกับการอ้างแนวคิดอธิปไตยทางดิจิทัลของประเทศต่างๆ คือ บรรทัดฐานเดียวกันนี้สามารถนำไปใช้เพื่อช่วยให้แน่ใจว่าบริษัทต่างชาติปกป้องสิทธิของพลเมืองในท้องถิ่น หรืออาจใช้เพื่อคุกคามบริษัทต่างชาติเหล่านั้นเมื่อไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น เมื่อประเทศรัสเซียผ่าน “กฎหมายพื้นฐาน” ที่กำหนดให้บริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้งานมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนต่อวันต้องจัดตั้งสำนักงานในประเทศรัสเซีย หรือข้อเรียกร้องของรัฐบาลอินเดียที่ให้บริษัท Twitter แต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนในประเทศ เป็นต้น 

ในมุมมองของสหภาพยุโรป รายงานของคณะกรรมาธิการสอบสวนของวุฒิสภาได้จำกัดขอบเขตอำนาจอธิปไตยทางดิจิทัลไว้ในปี ๒๕๖๒ ว่า “อธิปไตยดิจิทัล” หมายถึง ความสามารถของประเทศหรือภูมิภาคในการควบคุมและความเป็นอิสระเหนือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ข้อมูล และเทคโนโลยี แนวคิดนี้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศต่างๆ ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของเทคโนโลยีต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการบรรลุอธิปไตยทางดิจิทัล ประเทศสมาชิกตั้งเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนจากการสอดแนมหรือการโจมตีทางไซเบอร์ และส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมในประเทศ 

วัตถุประสงค์ของอธิปไตยทางดิจิทัลขยายขอบเขตไปไกลมากกว่าแนวคิดความมั่นคงของชาติและการพึ่งพาตนเอง โดยการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีและมีการแข่งขันภายในภาคเทคโนโลยีภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น ด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์แบบอธิปไตย รัฐบาลสามารถปกป้องข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของพลเมืองของตนจากการควบคุมและการเข้าถึงของหน่วยงานต่างประเทศ และสามารถใช้เป็นแรงผลักดันในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมในด้านต่างๆ รวมทั้งสามารถปกป้องและควบคุมการไหลของข้อมูลภายในพรมแดนของตนเท่านั้น เพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขันเทคโนโลยีระดับโลกและส่งเสริมความสามารถในประเทศได้ (Margarita Robles-Carrillo, 2023: 675-676)

นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตของแนวคิดครอบคลุมว่า อธิปไตยทางดิจิทัลของรัฐมีอำนาจสูงสุดเหนือสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด รวมถึงห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด ข้อมูล โครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินงาน ห่วงโซ่อุปทาน และความรู้ ในแง่นี้ เป็นที่เข้าใจกันว่า "อาณาเขต" ที่นี่แสดงถึงการรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดที่รัฐครอบครอง ข้อมูล สินทรัพย์ดิจิทัล จึงยืนยันว่าทรัพย์สินดิจิทัลทั้งหมดที่มีอยู่และความสำคัญมีไว้เพื่อประโยชน์ของข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Margarita Robles-Carrillo, 2023: 679-680)

แต่ก็มีนักวิชาการบางคนให้คำจำกัดความที่แคบลงว่า อธิปไตยทางดิจิทัล หมายถึง การควบคุมข้อมูลดิจิทัลของตนเอง เช่นเดียวกับการตัดสินใจด้วยตนเองในการใช้และการออกแบบระบบและกระบวนการดิจิทัล ในอีกมิติหนึ่ง “อธิปไตยทางดิจิทัล” สำหรับพลเมืองและภาคประชาสังคมหมายถึงความปลอดภัยของข้อมูลและการควบคุมข้อมูลของตนเองเป็นหลัก ในทางกลับกัน สำหรับธุรกิจ ยังหมายถึงเสรีภาพในการเลือกระหว่างผู้ให้บริการระบบดิจิทัลหรือส่วนประกอบทางเทคโนโลยี

  คำว่า "อธิปไตยทางเทคโนโลยี" และ "อธิปไตยของข้อมูล" บางครั้งจึงใช้สลับกันแทน "อธิปไตยทางดิจิทัล" แต่คำเหล่านี้ไม่สามารถใช้คำพ้องความหมายได้ แต่ละรายการแสดงถึงแง่มุมของแนวคิดที่ครอบคลุมและกว้างกว่าของ "อธิปไตยทางดิจิทัล" ดังนั้น ในขณะที่ “อธิปไตยของข้อมูล” มองที่ความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นเจ้าของ และ “อธิปไตยทางเทคโนโลยี” สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นความพยายามในการมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีที่สำคัญ นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล แต่แนวคิดของ “อธิปไตยทางดิจิทัล” ยังรวมถึงองค์ประกอบด้านกฎหมายและการเมืองด้วย (Margarita Robles-Carrillo, 2023: 681-684)       


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น