วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รัฐที่ล้มเหลว : นิยาม พัฒนาการ และประชาคมระหว่างประเทศ


ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า รัฐที่ล้มเหลว(Failed State) และมีบางคนก็กล่าวว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สภาวะรัฐที่ล้มเหลว เนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ ที่ต้องการหาคำตอบนิยามความหมายของคำว่ารัฐที่ล้มเหลว โดยเฉพาะในแง่มุมด้านกฎหมายระหว่างประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลที่อาจจะเกิดขึ้นของการถูกนิยามเป็นรัฐที่ล้มเหลวในทางกฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศ

พัฒนาการทางความคิด
หลังจากสิ้นสุดสงครามเย็นเกิดประเทศเล็กประเทศน้อยใหม่ขึ้น ในประชาคมระหว่างประเทศดูผ่อนคลายมากขึ้นหลังจากตึงเครียดกับสถานการณ์สงครามเย็นมายาวนานนับสิบปี แต่สิบปีต่อมาเกิดปรากฎการณ์ที่สร้างความกังวลขึ้นใหม่ในบรรดาประเทศที่เกิดขึ้นใหม่หลายประเทศจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ความล้มเหลวของรัฐ” (state failure) อันเนื่องมาจากรัฐเหล่านั้นไม่สามารถควบคุมความรุนแรงภายในประเทศ อำนาจรัฐถูกท้าทายจากกลุ่มคนภายในประเทศเอง โดยเกิดสงครามและความรุนแรงภายในประเทศ รัฐบาลไม่สามารถสร้างสันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองได้  ซึ่งความล้มเหลวของรัฐดังกล่าวเกิดความท้าทายต่อประชาคมระหว่างประเทศ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนของรัฐที่ล้มเหลว เช่น ความยากจน ความรุนแรง การอพยพไหลออกนอกประเทศจำนวนมากของประชาชน ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวได้ยังก่อให้เกิดผลกระทบภายนอกทางลบทั้งต่อประเทศเพื่อนบ้านและประชาคมระหว่างประเทศในภาพรวมด้วย
ตัวอย่างของประเทศที่ถือว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลว อาทิ ประเทศโซมาเลีย (Somalia) ซึ่งมีสงครามกลางเมืองอย่างรุนแรงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 จนประเทศแตกแยกเป็นเสี่ยง ๆ ประเทศไลบีเรีย (Liberia) และเซียร่า ลีออน (Sierra Leone) ที่มีความขัดแย้งของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธย่อยทั่วประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1990  หรือประเทศบอสเนีย-เฮอร์เซโกนีวา (Bosnia and Herzegovina)ในช่วงที่ประกาศตัวเป็นเอกราชใหม่ ๆ หรือประเทศรวันด้า (Rwanda) ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น หรือในช่วงล่าสุดประเทศซูดาน (Sudan) ที่ประเทศถูกทำลายล้างจากสามกลุ่มการเมืองที่ขัดแย้งกัน แม้ว่าวาทกรรมเรื่องรัฐที่ล้มเหลวส่วนใหญ่จะเริ่มเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดของสงครามเย็น แต่ก่อนหน้านั้นก็มีตัวอย่างสำคัญที่ถือว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลว เช่น ประเทศกัมพูชา (Cambodia) ที่มีความขัดแย้งภายในประเทศและเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งเลบานอน (Lebanon) ในยุคทศวรรษที่ 1980 และคองโก (Congo) ในช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นต้น ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ข้อความคิดดังกล่าวที่ชัดเจน
ทั้งนี้ อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (United Nations) บูรโต้ส บูรโต้ส คาลี (Boutros Boutros Ghali) ได้อธิบายสภาพการณ์ดังกล่าวว่า เป็นสภาพการณ์ของความขัดแย้งที่บ่อนทำลายสถาบันความเป็นรัฐ (Statehood) โดยเฉพาะอำนาจของตำรวจ ทหาร และตุลาการ ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาวะอัมพาตในการบริหารบ้านเมืองและการปกครองประเทศ เกิดการฝ่าฝืนกฎหมายและไม่เชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาล รวมทั้งมักเกิดการโจรกรรมและโกลาหลขึ้นในประเทศ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลในการให้บริการสาธารณะต้องหยุดชะงักลง รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนถูกทำลายหรือถูกปล้นสะดม และเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงถูกสังหารหรือหลบหนีออกจากประเทศ
ในทางวิชาการนั้น คำว่า รัฐที่ล้มเหลว ได้มีการกล่าวถึงครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1992 แม้ว่านิยามดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน แต่ก็ยอมรับเป็นการทั่วไปว่าหมายถึง ประเทศที่ไม่สามารถทำหน้าที่ภายในประเทศของตนเองได้หรือไม่สามารถทำหน้าที่ตามพันธะตามกฎหมายระหว่างประเทศได้เพราะการล้มเหลวของอำนาจหน้าที่รัฐบาลส่วนกลาง รัฐที่ล้มเหลวแตกต่างจากข้อความคิดในอุดมคติของรัฐในระบบตะวันตก ที่ใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดนและประชากร โดยรัฐบาลมีอำนาจในการผูกขาดการใช้กำลังที่ชอบด้วยกฎหมายและจัดให้มีสินค้าสาธารณะ และสามารถทำและรักษาพันธะกรณีระหว่างประเทศได้ ในรัฐที่ล้มเหลว ผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐควบคุมทรัพยากรและประชากรบางส่วน รัฐบาลไม่สามารถผูกขาดอำนาจในการใช้กำลังหรือจัดสรรสินค้าสาธารณะได้ ระบบเศรษฐกิจมักจะประสบกับสภาวะล้มละลาย เกิดการอพยพของประชากร และละเมิดสิทธิมนุษยชน โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย และมาตรฐานการเป็นอยู่เสื่อมถอย  รัฐที่ล้มเหลวมักสูญเสียความชอบธรรมต่อประชาชนและ มักเกิดสงครามกลางเมือง และมักเกิดการปล้นสะดมระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา และท้องถิ่น เป็นต้น
ดังนั้น ข้อความคิดเรื่อง รัฐที่ล้มเหลวในระยะแรกเป็นคำศัพท์แสลงในหมู่นักกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้นไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ที่ชัดเจนหรือจัดประเภทได้ แต่เป็นการเรียกสภาพการณ์ของประเทศอย่างกว้าง ๆ  กล่าวคือรัฐที่ถูกพิจารณาว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลวเมื่อโครงสร้างอำนาจรัฐที่ได้ความสนับสนุนทางการเมืองและกฎหมายเกิดสภาวะล้มเหลว ทำให้รัฐดังกล่าวที่ไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย รัฐบาลและกลไกรัฐขาดความมั่นคงและประสิทธิภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศและแก้ปัญหาต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้  ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความโกลาหลและความรุนแรงภายในประเทศ  อันเป็นนิยามทางลบของรัฐที่ประสบความสำเร็จ (Successful state) ที่รัฐบาลสามารถมีอำนาจควบคุมอาณาเขตและประชากรของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในใช้กำลังโดยชอบธรรม รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศโดยสามารถมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศอื่นได้
ต่อมาหลายสถาบันหรือหน่วยงานระหว่างประเทศพยายามสร้างดัชนีสำหรับรัฐที่ล้มเหลวขึ้นเพื่อวัดประเทศที่รัฐบาลทำหน้าที่ได้ย่ำแย่ ตัวอย่างเช่น ธนาคารโลก (World Bank) ที่สร้างดัชนีประเมินสถาบันและนโยบายประเทศ (Country Policy and Institutional Assessment Index) ซึ่งจัดลำดับรัฐโดยมีวัตถุประสงค์สำหรับจัดสรรความช่วยเหลือ โดยกำหนดประเภทของรัฐที่อ่อนแอ (fragile state) เพราะเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำที่มีสถาบันอ่อนแอ การปกครองที่แย่ ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง มีการละเมิดและใช้ความรุนแรง และมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ในปี ค.ศ. 2007 ธนาคารโลกได้ระบุรายชื่อสามสิบสี่ประเทศเป็นประเทศที่อ่อนแอตามเกณฑ์ด้านการบริหารเศรษฐกิจทั้งด้านเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายการคลัง นโยบายโครงสร้างหลัก เช่น
-                   กฎระเบียบทางการค้าและธุรกิจ
-                   การรวมตัวทางสังคม เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ
-                   นโยบายสิ่งแวดล้อมและแรงงาน
-                   การบริหารงานภาครัฐและสถาบัน เช่น สิทธิในทรัพย์สิน งบประมาณ รายได้ และการคอรัปชั่น เป็นต้น
ตามแนวทางนี้พบว่ารัฐเหล่านี้มีระดับความยากจนสูง อัตราการเสียชีวิตของเด็กสูง การตายจากโรคภัย และมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ การออมและลงทุนและการศึกษาต่ำ ความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงแพร่กระจายในประเทศเหล่านี้
นอกจากธนาคารโลกแล้ว ยังมีดัชนีการเปลี่ยนรูปของเบอร์เทอร์แมนน์ (Bertelsmann Transformation Index หรือ BTI) ได้พิจารณาการบริหารงานภาครัฐในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบตลาด (market-based democracy) ตัวชี้วัดดังกล่าวจัดลำดับสองประเภทและตัวชี้วัดแนวโน้มสองตัวซึ่งนำเสนอผลของการวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบ กล่าวคือ ตัวชี้วัดสถานะ (Status Index) จะแสดงว่าสถานภาพการพัฒนาของประเทศว่าบรรลุวิถีตามระบอบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยมีสองดัชนีย่อยประกอบด้วย ดัชนีย่อยการเปลี่ยนรูปประชาธิปไตย จะพิจารณาปัจจัยด้านความเป็นรัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชน นิติรัฐ ความมีเสถียรภาพของสถาบันประชาธิปไตย และความมั่นคงทางสังคม สำหรับดัชนีย่อยการเปลี่ยนรูปทางเศรษฐกิจ (Economic Transformation) ซึ่งพิจารณาจากการจัดลำดับมูลค่าของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของตลาดและการแข่งขัน เสถียรภาพทางด้านราคาและค่าเงิน ระบบสวัสดิภาพของทรัพย์สินเอกชน และความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ สำหรับดัชนีการบริหาร (Management Index) ซึ่งจัดประเภทของคุณภาพในการบริหารเพื่อการเปลี่ยนแปลงระหว่างปี ค.ศ. 2003-2005 ดัชนีแนวโน้มดังกล่าวเป็นข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาในแง่ของประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดในแต่ละประเทศโดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 ถึง 2005 ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูลของ 119 ประเทศทั่วโลก โดยใช้การประเมินผลเชิงคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งใช้ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพและปริมาณ 58 ตัว ล่าสุดมีการจัดทำรายงานดัชนีชี้วัดปี ค.ศ. 2012   จึงกล่าวได้ว่าดัชนีชี้วัดนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

นิยามความหมายในยุคปัจจุบัน
กองทุนเพื่อสันติภาพ (Fund for Peace) ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาและวิจัยอิสระที่เป็นกลางที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่รุนแรงและส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืน ได้จัดทำ ดัชนีรัฐที่ล้มเหลว (Failed States Index) ขึ้นซึ่งเป็นการจัดอันดับสถานะของแต่ละประเทศ โดยประเทศที่ได้ถูกนำเสนอในรายงานนั้นเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเท่านั้น  สำหรับเขตการปกครองซึ่งไม่ถูกจัด หรือมีสถานภาพเป็นประเทศที่ได้รับการรับรองโดยองค์การสหประชาชาติ จะไม่ถูกเข้ามาพิจารณาในรายงานนี้ เช่น ไต้หวัน ปาเลสไตน์ ไซปรัสเหนือ คอซอวอร์ และซาฮาร่าตะวันตก เป็นต้น ทั้งนี้ นิตยสารนโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy) ซึ่งถือว่าเป็นนิตยสารที่มีชื่อเสียงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ตีพิมพ์รายงานดัชนีรัฐที่ล้มเหลวเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา
ดัชนีรัฐที่ล้มเหลวของกองทุนเพื่อสันติภาพเป็นการจัดลำดับประจำปีของประเทศ 178 ประเทศโดยอิงระดับความมีเสถียรภาพของรัฐบาลและความกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดัชนีดังกล่าววิเคราะห์บนพื้นฐานของเครื่องมือซอฟแวร์ประเมินความขัดแย้ง (Conflict Assessment Software Tool หรือ CAST) ซึ่งใช้การวิจัยเชิงสังคมศาสตร์ ข้อมูลเก็บรวบรวมจากแหล่งปฐมภูมิแบบตรวจสอบสามเส้า (Triangulated research) และมีการตรวจสอบความถูกต้องเพื่อให้คะแนน เอกสารจำนวนพันชิ้นจะถูกวิเคราะห์ทุกปีและใช้ปัจจัยตัวแปรเฉพาะทาง จะให้คะแนนตามตัวแปรหลัก 12 ตัวชี้วัด ทั้งตัวชี้วัดทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ และมีตัวชี้วัดย่อยอีกกว่า 100 ตัวชี้วัด กล่าวคือการจัดอันดับจะอาศัยคะแนนรวม ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก 12 ตัวชี้วัด แต่ละตัวชี้วัดจะมีคะแนนตั้งแต่ระดับ 0 ถึง 10 โดยผลคะแนน 0 หมายถึงมีระดับความรุนแรงน้อยสุด (มีเสถียรภาพมากที่สุด) และ ผลคะแนน 10 หมายถึง มีระดับความรุนแรงสูงสุด (ไร้เสถียรภาพที่สุด) ทั้งนี้จะมีคะแนนรวมเท่ากับ 120 คะแนน จาก 12 ตัวชี้วัด โดยมีช่วงคะแนนตั้งแต่ 0-120 อนึ่ง ตัวชี้วัดจะประกอบไปด้วยปัจจัยทางด้านสังคม 4 ตัว ทางด้านเศรษฐกิจ 2 ตัว และทางด้านการเมือง 6 ตัว แล้วนำมาสรุปจัดลำดับว่าประเทศใดเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพหรือการบริหารจัดการที่ดี ปานกลาง มีแนวโน้มล้มเหลว และล้มเหลว
ตัวชี้วัดทางสังคม
1. แรงกดดันทางด้านประชากรศาสตร์ (Demographic pressures) อาทิ โรคระบาด สภาพแวดล้อมและมลพิษ การขาดแคลนน้ำและอาหาร การเติบโตของประชากร และภัยพิบัติตามธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความยากลำบากต่อรัฐบาลในการปกป้องดูแลประชาชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถของรัฐในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว
2. การย้ายถิ่นฐานของประชาชน (Refugees and IDPs) เป็นแรงกดดันในการย้ายถิ่นฐานของประชากร ซึ่งอาจเกิดจากความไม่พอใจต่อการให้บริการสาธารณะของรัฐและมีแนวโน้มก่อให้เกิดการคุกคามทางด้านความมั่นคงของรัฐ
3. กรณีความขัดแย้งของแต่ละกลุ่มชน (Group grievance) ซึ่งเกิดจากความตึงเครียดและความรุนแรงอันอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่พอใจในอดีต ความสามารถของรัฐในการสร้างความมั่นคงและสันติภาพในประเทศ โดยพิจารณาจากมาตรการและแรงกดดัน เช่น การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรงของกลุ่มเชื้อชาติ ศาสนา และชุมชน รวมทั้งความไร้สามารถของรัฐในการจัดการปัญหาดังกล่าว
4. ปัญหาการไหลออกของทุนมนุษย์ (Human flight and brain drain) ซึ่งพิจารณาจากการจำนวนประชากรที่ย้ายถิ่นฐานออกนอกประเทศ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีการศึกษาหรือมันสมองของประเทศ และทรัพยากรมนุษย์

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
5. ความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ (Uneven economic development) โดยพิจารณาถึงความเหลื่อมล้ำของประชาชน เช่น โอกาสทางการเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการงาน ซึ่งสามารถวัดได้โดยจำนวนกลุ่มคนยากจน รายได้ต่อหัวประชากร อัตราการเกิดการตาย ระดับการศึกษา หรือการเข้าถึงและการกระจายบริการสาธารณะ เป็นต้น
6. การถดถอยของเศรษฐกิจและความยากจน (Poverty and economic decline) เพราะความยากจนและเศรษฐกิจส่งผลต่อความสามารถของรัฐในการบริหารจัดการประเทศ โดยเฉพาะการกระจายรายได้และบริการสาธารณะเพื่อมิให้เกิดช่องว่างระหว่างคนมีหรือได้รับ (haves) และคนไม่มีหรือไม่ได้รับ (have nots) โดยพิจารณาจากการขาดดุลทางเศรษฐกิจ อำนาจในการซื้อของประชาชน หนี้สาธารณะ อัตราการว่างงาน การจ้างงานคนจบใหม่ และเงินเฟ้อ เป็นต้น
ตัวชี้วัดทางการเมือง
7. ความชอบธรรมของรัฐในการปกครอง (State legitimacy)  ซึ่งวัดได้จากระดับของประชาธิปไตย กระบวนการเลือกตั้ง ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล การคอรัปชั่น การมีส่วนร่วมทางการเมือง ยาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมาย การประท้วงและการขัดขืนต่ออำนาจรัฐ เป็นต้น
8. ระดับคุณภาพของการให้บริการสาธารณะ (Public service) หมายถึงการให้บริการทางด้านสาธารณสุข การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ บริการตำรวจ อัตราอาชญากรรม ระดับคุณภาพการศึกษาและสาธารณสุข อัตราความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของประชากร การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและพลังงาน เป็นต้น
9. การละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human rights and rule of law) ซึ่งพิจารณาจากระดับเสรีภาพของสื่อมวลชน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง เสรีภาพทางการเมือง การดูแลนักโทษทางการเมือง การลงโทษ และการค้ามนุษย์ เป็นต้น
10. เครื่องมือที่ใช้รักษาความมั่นคง (Security apparatus) กล่าวคือเป็นการวัดระดับความสามารถของรัฐในการรักษาความมั่นคงจึงเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะโดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการใช้กำลังโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่อาจเกิดปัญหาในการใช้กำลังของรัฐเนื่องจากเกิดกลุ่มต่อต้านทั้งในรูปของทหารพลเรือน กองโจร กองกำลังเอกชนติดอาวุธ หรือการใช้ปฏิบัติการต่างๆ ที่ทำให้ความรุนแรงแผ่ขยายออกไป ทั้งนี้ จะพิจารณาจากระดับความขัดแย้งภายในประเทศ จราจลและการประท้วง การกฏบ การรัฐประหาร ความวุ่นวายที่เกิดจากการใช้ความรุนแรง และนักโทษทางการเมือง
11. การก่อตัวของกลุ่มชนชั้นนำหรือผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Factionalized elites) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งหรือแตกแยกในทางการเมือง โดยพิจารณาจากการต่อต้านอำนาจรัฐ การเลือกตั้งที่มีปัญหา การแข่งขันทางการเมือง และผู้ต่อต้านรัฐบาล เป็นต้น
12. การแทรกแซงกิจการภายในจากรัฐอื่น หรือปัจจัยภายนอก (External intervention) กล่าวคือเมื่อรัฐไม่สามารถปฏิบัติตามพันธะกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศได้ รัฐอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศอาจเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในได้ ทั้งนี้ จะพิจารณาจากระดับการให้ความช่วยเหลือของต่างประเทศ การเข้าไปของกองกำลังรักษาสันติภาพ และหน่วยงานขององค์การสหประชาชน การเข้าไปแทรกแซงของกองกำลังทหารของต่างชาติ มาตรการกดดันและคว่ำบาตรของประชาคมระหว่างประเทศ และระดับเครดิตของประเทศ เป็นต้น
อนึ่ง ดัชนีความล้มเหลวเป็นการวัดโดยใช้ดัชนีย่อย 12 ดัชนี ภายใต้ลักษณะเด่น 4 ประการ ของความล้มเหลวของรัฐ สรุปได้ ดังนี้
ประการแรก รัฐสูญเสียการมีสิทธิเด็ดขาดการใช้ความรุนแรงที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ผู้เดียวให้กับผู้อื่น หากรัฐบาลหรือประมุขแห่งรัฐมีที่มาอย่างถูกต้อง และปกครองรัฐอย่างถูกต้อง ไม่ใช้ความรุนแรงหากไม่จำเป็น หากรัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงใดๆ นั่นหมายถึงประชาชนจะมีมุมมองต่อผู้ที่ถูกใช้ความรุนแรงว่าเป็นบุคคลอันตราย และไม่ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของผู้นำ ตรงกันข้าม หากผู้นำมีที่มาที่ไปอย่างไม่ถูกต้อง ปฏิบัติงานไม่โปร่งใส มีความลำเอียง ไม่มีความชอบธรรมในใจประชาชน หากรัฐใช้ความรุนแรง ประชาชนจะมีมุมมองต่อผู้นำในแง่ไม่ดี ไม่ให้ความร่วมมือ และต่อต้านการใช้กำลังของรัฐบาล หรือใช้กำลังต่อต้านกลับ เมื่อประชาชนเริ่มใช้ความรุนแรงตอบโต้ นั่นหมายถึง รัฐได้สูญเสียสิทธิ์ขาดในการใช้ความรุนแรงไปแล้ว และหากรัฐพยายามช่วงชิงอำนาจดังกล่าวกลับคืนอาจนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด จลาจล วางเพลิง ก่อวินาศกรรม การเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความพินาศของรัฐ
                ประการที่สอง การเกิดกลุ่มประชาชนที่เกลียดแค้น แก้แค้น ชิงชังกันโดยรัฐไม่สามารถที่จะรวบรวมความสามัคคีได้ กล่าวคือเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยประการแรก เพราะหากรัฐบาลที่มาอย่างไม่ชอบธรรมพยายามช่วงชิงอำนาจจากประชาชน ใช้วิธีต่างๆ เท่าที่มี เช่น ประเทศเผด็จการในสมัยก่อนๆ อาจใช้วิธีการบังคับปิดกั้นสื่อมวลชน ให้รายงานข่าวในมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ทำให้ประชาชนที่บริโภคสื่อมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จึงเกิดเป็นความแตกแยกชิงชังกันเองภายในประเทศ เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของความพินาศของรัฐ
                ประการที่สาม ผู้ก่อการร้ายฆ่าประชาชนโดยที่รัฐป้องกันไม่ได้ เนื่องจากหากเกิดการความไม่สงบ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถยับยั้งได้ จนมีประชาชนเสียชีวิต แสดงว่าอำนาจรัฐกำลังมีปัญหา ยิ่งโดยเฉพาะหากเป็นการก่อการร้ายที่สามารถคาดการณ์ได้ หากมีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นที่สงสัยต่อประชาชน รัฐใด ทำได้เพียงการตั้งศูนย์อำนวยการต่างๆ ขึ้นเป็นกรณีพิเศษ แล้วออกแถลงการณ์ปัดความรับผิดชอบไปที่ผู้อื่นเพียงอย่างเดียว มุ่งสร้างความชอบธรรมแก่รัฐบาล แต่ยังไม่มีการป้องกันที่ปฏิบัติได้จริง ปล่อยให้เกิดการสังหารประชาชนอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกถึงความพินาศของรัฐ
                ประการที่สี่ รัฐบาลต่างประเทศไม่ได้ติดต่อกับรัฐเพียงผู้เดียว คือหากรัฐบาลมีความชอบธรรมโปร่งใส ต่างประเทศจะไว้ใจติดต่อกับรัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว ติดต่อกับตัวแทนประชาชนบ้างตามหน้าที่ ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลมีที่มาที่ไปอย่างไม่ชอบธรรม ปฏิบัติงานไม่โปร่งใส ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ สังคมโลกจะไม่ไว้ใจรัฐบาล ตัวแทนของแต่ละรัฐจะติดต่อกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และผู้นำอื่นๆ เป็นฉากหน้า และไปติดต่อกับตัวแทนประชาชนเสียมากกว่า หากสังคมโลกไม่ไว้ใจรัฐบาล ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความพินาศของรัฐ


                โดยประเทศที่ถูกจัดอันดับที่มีสถานะเลวร้ายในความมหมายของ รัฐที่ล้มเหลว ได้แก่ ประเทศโซมาเลีย ประเทศซูดาน ประเทศซิมบับเว ประเทศชาด ประเทศอิรัค ประเทศสาธารณรัฐคองโก ประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศปากีสถาน ประเทศสาธารณรัฐอัฟริกากลาง เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนับตั้งแต่มีการวัดในปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมาอยู่ในสถานะเฝ้าระวังระดับสูง (High Warning) โดยใน ค.ศ. 2005 อยู่ในลำดับที่ 69 ซึ่งมีคะแนนสูงมากในด้านความมั่นคงเนื่องจากเกิดการรัฐประหารและปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อันดับของประเทศไทยก็ค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ก็ยังจัดอยู่ในสถานะเฝ้าระวังระดับสูงเหมือนเดิม โดยในปี ค.ศ. 2013 ล่าสุดประเทศไทยขยับไปอยู่ในอันดับที่ 90 ซึ่งยังคงมีคะแนนสูงในเรื่องการแตกแยกทางความคิดของชนชั้นนำ การเมืองและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความขัดแย้งของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่ไม่ได้รับการแก้ไข

ปฏิกิริยาของประชาคมระหว่างประเทศ
                รัฐที่ล้มเหลวถือเป็นความท้าทายทั้งในแง่นโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ แม้ว่าการกำหนดนิยามรัฐที่ล้มเหลวอาจมีการโต้แย้งกันอยู่ในเวทีทางวิชาการและระหว่างประเทศ ผลของการเข้าสู่สภาวะรัฐที่ล้มเหลวในระบบกฎหมายระหว่างประเทศก่อเริ่มก่อตัวและมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ในปี ค.ศ. 2002 กำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติขึ้น (National Security Strategy) ของสหรัฐอเมริกาประกาศว่ารัฐที่ล้มเหลวอาจก่อให้เกิดความอันตรายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นรัฐที่เข้มแข็ง ในปี ค.ศ. 2003 สหภาพยุโรปยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงระบุว่ารัฐที่ล้มเหลวถือเป็นปรากฏการณ์ที่เตือนภัย และองค์การสหประชาชาติเองในปี ค.ศ. 2005
                ดังนั้น ในแง่กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้ปล่อยให้รัฐที่ล้มเหลวไปตามยถากรรม เนื่องจากความล้มเหลวหรือการพังทลายของรัฐไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนในโลกถือว่าเป็นเรื่องของประชาคมโลกร่วมกัน เพราะเชื่อว่าระบบประชาคมระหว่างประเทศมีความเป็นหนึ่งเดียว จึงอาจเกิดสภาวการณ์ที่รู้สึกถึงภยันตรายที่เกิดขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศตามมา หากหนึ่งในประเทศสมาชิกไม่อยู่ในสภาวะทำงานได้ตามปกติ สภาความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติ (Security Council of the United Nations) ได้มีปฏิกิริยากับสถานการณ์รัฐที่ล้มเหลวที่อาจนำไปสู่การพังพินาศของรัฐ จึงนำไปสู่สี่แนวทางหลัก ดังนี้
                แนวทางที่หนึ่ง ในหมวดที่ VII ของกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) พัฒนาการที่สำคัญคือ มติของสภาความมั่นคงฯ ที่ 794 วันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1992 เกี่ยวกับประเทศโซมาเลีย สภาความมั่นคงฯ มีมติว่ากรณีดังกล่าวเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่เกิดจากความขัดแย้ง ซึ่งเพียงพอในตัวเองที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสันติภาพตามความหมายของมาตรา 39 ของกฎบัตร โดยอ้างอิงมติฉบับที่ 688 วันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1991 ในกรณีของประเทศอิรักประกอบด้วย เพราะกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบข้ามพรมแดนจากปัญหาภายในประเทศ หรือเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจากรัฐเองที่กระทำต่อประชาชนของตน ต่อมา สภาความมั่นคงฯ มีมติฉบับที่ 841 วันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1993 กรณีประเทศเฮติ (Haiti) ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยอันนำไปสู่การคุกคามสันติภาพตามมาตรา 39 ของกฎบัตร จึงถือว่ามติดังกล่าวขยายความว่าข้อเท็จจริงที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบ หรือการละเมิดหลักประชาธิปไตยภายในประเทศโดยรัฐเองเพียงพอที่จะอนุญาตให้สภาความมั่นคงฯ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของรัฐที่ล้มเหลวได้โดยชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศ
                ประการที่สอง ภายใต้กรอบหมวดที่ VII ของกฎบัตรสหประชาชาติ ในกรณีของบอสเนีย-เฮอร์เซโกนีวา รวันด้า และเฮติ สภาความมั่นคงฯ อนุญาตให้รัฐต่างชาติและหรือกองกำลังรักษาสันติภาพ (Peace-keeping units) เข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศได้ด้วยการใช้อาวุธหรือกองกำลัง ในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อให้เกิดความสงบและสันติขึ้นภายในประเทศดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่สภาความมั่นคงฯ ตัดสินใจใช้มาตรการบังคับทางกำลังเพื่อสันติภาพมากกว่าจะเลือกใช้วิธีการอื่นที่เบากว่า เช่น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหรือการเมือง
                ประการที่สาม สภาความมั่นคงฯ ได้ตีความพันธะกิจของตนเองกว้างขวางขึ้น โดยพิจารณาว่าสภาความมั่นคงมีหน้าที่รักษาความมั่นคงในแง่ของการรักษาสันติภาพ และการจัดให้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เช่น สนามบิน เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งกองกำลังรักษาสันติภาพหรือหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ หรือเพื่อรักษาเขตความปลอดภัยเพื่อปกป้องพลเมือง ตัวอย่างเคยเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาและโซมาเลีย
                ประการสุดท้าย เนื่องจากการแทรกแซงจากภายนอกในบางครั้งไม่ประสบความสำเร็จ สภาความมั่นคงฯ จึงหันกลับมาใช้แนวทางเดิมตามหมวดที่ VI  ซึ่งมีมติเรียกร้องให้คู่กรณีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือไม่เจรจา โดยสันติเพื่อจัดการกับปัญหาภายในประเทศของรัฐดังกล่าว  
ในอีกแง่มุมหนึ่ง นักวิชาการบางท่านได้วิจารณ์ว่าคำว่ารัฐที่ล้มเหลวถูกหยิบยกขึ้นมาใช้หลายครั้งโดยประเทศที่เรียกตัวเองว่า รัฐที่เจริญแล้ว (Enlightened State) เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง โดยอ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องประชาชนของรัฐที่ล้มละลาย (Collapsed State) รัฐอันธพาล (Rogue State) หรือรัฐก่อการร้าย (Terrorist State) โดยวิธีการที่อาจจะผิดกฎหมายแต่ก็มีความชอบธรรม (Illegal but Legitimate) เพื่อจะได้เข้าไปแทรกแซงโดยไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การเข้าไปแทรกแซงขององค์การสหประชาชาติหรือรัฐอื่น โดยเฉพาะรัฐที่เจริญมักถูกวิจารณ์ว่ามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองแอบแฝงอยู่ เพราะรัฐที่ล้มเหลวอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐที่เข้าไปแทรกแซงหรือช่วยรักษาสันติภาพ และยังขาดความคงเส้นคงวาและความชัดเจนในการตัดสินใจในการเข้าแทรกแซงของรัฐที่เจริญแล้ว เนื่องจากการเข้าไปแทรกแซงหรือสงครามมีต้นทุนมหาศาลและมักมีปัจจัยทางการเมืองด้วย จึงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในเวทีระหว่างประเทศ และในปัจจุบันยังไม่สามารถกลายเป็นทฤษฎีหรือหลักการในทางวิชาการได้

บทสรุป
                โดยทั่วไป ประเทศที่กลายเป็นรัฐล้มเหลวหมายถึง รัฐที่ไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายใน มีความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง กลไกรัฐขาดความมั่นคง ขาดประสิทธิภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จ ในระยะเริ่มแรกตัวชี้วัดของรัฐที่ล้มเหลว ดูจากตัวชี้วัดเสถียรภาพของรัฐหรือปัจจัยการขัดแย้งทางการเมืองเป็นหลัก ต่อมาหน่วยงานระหว่างประเทศก็ได้พัฒนาตัวชี้วัดหรือปัจจัยทางสังคมและทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น พร้อมมีการเปรียบเทียบอย่างเป็นระบบ แต่ก็มีประเด็นท้าทายและยังไม่เป็นที่ยุติในทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ ซึ่งต้องรอการพัฒนาแนวทางที่ชัดเจน  
สำหรับประเทศไทยจะมีแนวโน้มเป็นรัฐที่ล้มเหลวอันดับต่อไปหรือไม่ในสายตาชาวโลกนั้น เป็นคำถามที่น่าสนใจ ซึ่งหากพิจารณาจากสถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ประกอบก็ดูน่าเป็นกังวลเพราะด้วยสถานการณ์ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลายประการที่อาจจะนำไปสู่รัฐที่ล้มเหลวและทำให้ประเทศตกต่ำได้ โดยเฉพาะปัจจัยด้านความขัดแย้งทางการเมืองและชนชั้นนำ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสาเหตุดังกล่าวเป็นโจทย์ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมกันตอบและแก้ไขปัญหา
    
อ้างอิง
Brennan M. Kraxberger, Failed States: Temporary Obstacles to Democratic Diffusion or Fundamental Holes in the World Political Map, 28 Third World Quarterly 1062 (2007).
Daniel Thürer, Failed States.
Fund for Peace, Failed States Index IX (2013).
John Yoo, Fixing Failed States, 99 California Law Review 95 (2011).
Robert I. Rotberg, When States Fail: Causes and Consequences (2003).
Valentin Cojanu and Alina Irina Popescu, Analysis of Failed States: Some Problems of Definition
and Measurement, The Romanian Economic Journal Year X, no. 25 bis. November (2007)
United Nations, Charter of United Nations (1945).




วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เสรีภาพ ความเชื่อ และกระบวนการยุติธรรมในคดีคาลาส


ฌอง คาลาส (Jean Calas) เกิดในราวปี ค.ศ. 1698 เป็นพ่อค้าชาวเมืองตูลูสประเทศฝรั่งเศสมีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากเขาเป็นผู้นับถือคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (Protestant) ในประเทศฝรั่งเศส เขาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความอดทนต่อศาสนาคริสต์ควบคู่กับ Jean-François de la Barre และ Pierre-Paul Sirven

คาลาสและภรรยาเป็นชาวโปรเตสแตนต์ ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแคทอริกและมีการกดขี่ข่มเหงผู้นับถือศาสนาโปรเตสแตนต์อย่างหนัก โดยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้าเริ่มลดการกดขี่ดังกล่าวลง ชาวโปรเตสแตนต์ก็สามารถอดทนได้ในสภาวการณ์ดังกล่าว บุตรชายของคาลาสชื่อ หลุยส์ได้เปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอริกในปี ค.ศ. 1756 ในราววันที่ 13 – 14 ตุลาคม ค.ศ. 1761 บุตรชายอีกคนหนึ่งของคาลาสชื่อ มาร์ก แอนโทนีถูกพบว่าเสียชีวิตอยู่บนพื้นภายในบ้าน ข่าวลือแพร่สะพัดว่าคาลาสได้ฆ่าบุตรชายของตนเองเพราะมาร์ก แอนโทนีประสงค์ที่จะเปลี่ยนการนับถือศาสนาเป็นคาทอริกด้วย ครอบครัวจึงถูกสอบสวนในข้อหาฆาตกรรมโดยรัฐ ต่อมาตำรวจก็ประกาศว่ามาร์ก แอนโทนีถูกพบว่าเสียชีวิตและถูกแขวนเพราะการอัตนิบาตกรรมถือเป็นความผิดที่น่าเกลียดชังในยุคนั้น และสภาพของศพที่พบก็สกปรกมอมแมม ดังนั้น ครอบครัวคาลาส จึงจัดฉากศพลูกชายให้ดูเหมือนเป็นคดีฆาตกรรมแทน ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1762 ศาลอุทธรณ์ (parlement) ของเมืองตูลูสตัดสินประหารชีวิตคาลาส ในวันที่ 10 มีนาคม ในวัย 64 ปี คาลาสเสียชีวิตอย่างทรมานบนกงล้อในขณะที่ครอบครัวยืนยันว่าบริสุทธิ์ วอแตร์ได้รับทราบข่าวคดีดังกล่าวหลังจากเริ่มสงสัยว่าคาลาสถูกพิพากษาว่าผิดในฐานพวกคลั่งที่ต่อต้านศาสนา จึงเริ่มรณรงค์ให้มีการรื้อฟื้นคดีและทบทวนคำพิพากษา ในที่สุดความพยายามของวอร์แตร์ประสบความสำเร็จในช่วงต่อมา โดยมีการแต่งตั้งผู้พิพากษาจำนวน 50 คนเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีใหม่ ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1765 คาลาสที่น่าสงสารก็ได้รับการล้างมลทินความผิดในทุกข้อหา คาลาสจึงได้รับความยุติธรรม ดังนั้น การตายของคาลาสสะท้อนถึงความอคติของผู้พิพากษา ความเกลียดชังและอิทธิพลของความคลั่งศาสนาในสังคม คาลาสเป็นแพะรับบาปที่สังคมต้องการลงโทษอยู่แล้ว คดีนี้จึงนิยมใช้เรียนในวิชาปรัชญาและกฎหมายในประเทศตะวันตกหลายประเทศที่ต้องการสื่อให้เห็นการตัดสินโทษคนจากการรับฟังกระแสสังคมอาจก่อให้เกิดความอยุติธรรม วอแตร์ได้เขียนหนังสืออันเลืองชื่อเพื่อสะท้อนประเด็นดังกล่าวในหนังสือเรื่อง Treaties on Tolerance  

องค์กรบริหารคลื่นความถี่



คลื่นความถี่วิทยุถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมีอย่างจำกัด ซึ่งจะถูกใช้งานกับรูปแบบของการสื่อสารไร้สาย โทรศัพท์มือถือ วิทยุการบิน การเดินเรือ และควบคุมการสื่อสารดาวเทียมคลื่นความถี่วิทยุ ถูกใช้เพื่อสนับสนุนการใช้งานที่หลากหลายและการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ ภาครัฐและการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล รวมถึงการสื่อสารทางวิทยุและโทรทัศน์  จากการที่การสื่อสารคมนาคมมีการเติบโต และความต้องการบริการด้านข้อมูลที่มากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการที่จะใช้คลื่นความถี่มากขึ้นตามไปด้วยทั้งภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน เพราะเวลาที่ใช้คลื่นความถี่สื่อสารระหว่างกันสัญญาณที่เกิดขึ้นพร้อมกันและในสถานที่เดียวกันสามารถรบกวนการทำงานของคลื่นอื่นๆที่กำลังใช้งานอยู่ได้ คลื่นความถี่จึงต้องมีการจัดการเพื่อป้องกันปัญหาสัญญาณรบกวน ซึ่งขั้นตอนการจัดการรวมถึงการจัดตั้งโครงสร้างการกำกับดูแลคลื่นความถี่มักจะเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการที่จะกำกับดูแล และดำเนินการพัฒนาการใช้คลื่นความถี่ จัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดกฎระเบียบในการให้บริการ กำหนดกลุ่มของผู้ที่จะจัดสรรให้ใช้คลื่นความถี่แต่ละประเภท และกำกับดูแลให้ผู้ที่ขอใช้คลื่นความถี่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนด

การบริหารจัดการคลื่นความถี่ในระดับสากล

เนื่องจากคลื่นความถี่วิทยุเป็นทรัพยากรสาธารณะ รัฐบาลจะเป็นผู้เข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุเพื่อให้แน่ใจว่าได้ถูกใช้งานร่วมกันอย่างเท่าเทียมกันเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อความสะดวกในการใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน และใช้เพื่อความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งในระดับสากลคลื่นความวิทยุถี่จะถูกกำหนดขึ้นโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU โดยที่ภายใน ITU ก็จะแบ่งเป็นส่วนเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่นRediocommunication Sector (ITU - R) ทำหน้าที่ปรับปรุงตารางคลื่นความถี่โดยกำหนดคลื่นความถี่ออกเป็น 40 ประเภทสำหรับบริการไร้สาย โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกันของสัญญาณ และเมื่อมีการประกาศใช้ตารางคลื่นความถี่วิทยุแล้ว ในแต่ละประเทศก็จะจัดสรรคลื่นความถี่ในการให้บริการประเภทต่างๆ และกำหนดตารางคลื่นความถี่ในประเทศของตนเอง โดยที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดของตารางคลื่นความถี่ของ ITU ด้วย ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งตารางคลื่นความถี่สากล ออกเป็น 3 เขต 1. เขตยุโรปและแอฟริกา 2. เขตอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ 3. เขตเอเชียและออสเตรเลีย ซึ่ง ITU - R  ยังได้พยายามที่จะดำเนินการมิให้เกิดสัญญาณรบกวนกันระหว่างสถานีวิทยุของประเทศต่างๆ และเพื่อปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ดาวเทียมค้างฟ้าสำหรับวิทยุสื่อสาร นอกจากนี้ ITU - R ยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประชุม World Radio Communication Conferences หรือ WRC ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ 2-3 ปี เพื่อปรับปรุงตารางคลื่นความถี่ให้ตอบสนองต่อความต้องการใช้คลื่นความถี่ที่มากขึ้น ส่วนในด้านการพัฒนาก็จะมี Development Sector หรือ ITU-D ที่มุ่งเน้นไปที่ความต้องการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศกำลังพัฒนาและในบางครั้งก็จะมีส่วนร่วมในการช่วยประเทศเหล่านั้นในการกำหนดคลื่นความถี่ที่จะใช้งานให้เกิดประโยชน์และการพัฒนาประเทศด้วย

การบริหารจัดการคลื่นความถี่ในระดับทวิภาคี และ พหุภาคี

การจัดสรรคลื่นความถี่ถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเมืองแม้แต่องค์กรระดับภูมิภาคที่พยายามจะเข้าไปมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนธันวาคมปี 2001 สหภาพยุโรปได้มีกำหนด “กรอบนโยบายและข้อบังคับสำหรับคลื่นความถี่วิทยุในกลุ่มประเทศยุโรป”โดยมีการกำหนด 5 หัวข้อที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับโทรคมนาคม เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล, การให้บริการที่ครอบคลุม, การป้องกันข้อมูล เป็นต้น ซึ่งถือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศ (National Regulatory Authorities) ในยุโรปที่จะกำกับดูแล และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวนโยบายในการตัดสินใจใช้คลื่นความถี่ ได้มีการเรียกร้องให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศในสหภาพยุโรปเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดนโยบาย และใช้งานคลื่นความถี่ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง และการวิจัยพัฒนา ซึ่งในการตัดสินใจ จะต้องกำหนดขั้นตอนให้สะดวกสำหรับการกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ความปลอดภัย ประโยชน์ของประชาชน เสรีภาพในการแสดงออก ด้านวัฒนธรรม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านสังคม และเทคนิคในการกำหนดนโยบาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ การใช้คลื่นความถี่ไม่ให้มีอันตรายและข้อขัดข้องของสัญญาณรบกวน โดยมีคณะกรรมการคลื่นความถี่วิทยุซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนด้านโทรคมนาคมให้กับคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งมีการกล่าวว่าหนึ่งในเป้าหมายหลักในการตัดสินใจ คือ การหลีกเลี่ยงวิธีการให้ใบอนุญาตสำหรับการให้บริการโทรศัพท์มือถือของประเทศในสหภาพยุโรปที่มีความแตกต่างกันในอดีต อย่างไรก็ตามในขณะที่การตัดสินใจเป็นอำนาจของคณะกรรมการยุโรปในการจัดสรรคลื่นความถี่ทั่วไป แต่จะไม่มีอำนาจที่จะให้ใบอนุญาต หรือเป็นหน้าที่ของประเทศสมาชิกนั้นๆที่จะออกใบอนุญาตเอง

ประเทศสหรัฐอเมริกา

ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการตรากฎหมายการสื่อสารขึ้นในปี ค.ศ.1934 โดย FCC (Federal Communication Commission) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระของรัฐ โดยกำกับดูแลเกี่ยวกับคลื่นความถี่ของรัฐบาลกลาง และไม่ใช่รัฐบาลกลาง เช่น องค์กรเชิงพาณิชย์ องค์กรของรัฐส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งประธานาธิบดี ใช้อำนาจในหารบริการจัดการคลื่นความถี่ผ่านทางองค์กรของรัฐบาลกลาง ประธานาธิบดีจะมอบหมายให้ผู้แทนคือผู้ช่วยเลขานุการด้านการสื่อสารข้อมูลเศรษฐกิจ เป็นผู้อำนวยการ National Telecommunications and Information Administration หรือ NTIA ซึ่งสำนักงาน NTIA จะส่งผู้แทนในนามรัฐบาลสหรัฐเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติ เช่น การประชุม ITU (เช่นการประชุมโลกสื่อสารด้วยสัญญาณวิทยุ) พร้อมด้วย FCCและหน่วยงานรัฐบาลกลางอื่น ๆ เข้าร่วมประชุมด้วย สำนักงาน NTIA มีหน้าที่ในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ พัฒนานโยบาย และกำหนดขั้นตอนสำหรับการใช้คลื่นความถี่ภายในประเทศของรัฐบาลกลางนำมาซึ่งการพัฒนาแผนระยะยาว สงคราม และการวางแผนการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งานคลื่นความถี่และแต่งตั้งประธาน IRAC (Interdepartmental Radio Advisory Committee)
NTIA มุ่งมันที่จะปรับปรุงคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ โดยได้มีความต้องการที่จะให้ผู้ใช้งานของส่วนกลางสามารถใช้งานบริการเชิงพาณิชย์จากที่ใดก็ได้ ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีคลื่นความถี่มาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาแผนจัดสรรคลื่นความถี่ และเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานคลื่นความถี่สำหรับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้ร่วมกันมีจำนวนมากระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชน NTIA และ FCC จึงจะต้องมีการทำงานที่มากขึ้นเนื่องจากภาคเอกชนที่มีการใช้คลื่นความถี่ร่วมกันมาก
FCC ได้แยกประเภทคลื่นความถี่ของการให้บริการต่าง ในเชิงพาณิชย์ และกำหนดสิทธิ์ถือครองคลื่นความถี่สำหรับบริการนั้นๆ ซึ่งการอนุมัติคลื่นความถี่เหล่านี้จะต้องมีขั้นตอนการดำเนินการคือจะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงคลื่นความถี่ให้ดีขึ้น FCC จะให้ใบอนุญาตใช้คลื่นโดยพิจารณาจากกิจการหรือบุคคลที่จะใช้คลื่นความถี่เป็นการเฉพาะราย ซึ่งใบอนุญาตสามารถกำหนดใช้งานเฉพาะสถานที่และข้อจำกัดทางเทคนิคหรือกรอบระยะเวลาในการที่จะให้บริการที่ครอบคลุม ซึ่งในการตัดสินใจให้ใบอนุญาตนั้น FCC จะพิจารณาถึงความต้องการของประชาชนและประโยชน์ที่จะได้จากการให้บริการ ลักษณะเฉพาะของคลื่นความถี่ที่ได้รับ รวมถึงความเข้ากันได้ทั้งภายในและภายนอกของการเลือกใช้ย่านความถี่ จำนวนของคลื่นความถี่ ข้อจำกัดของสัญญาณและข้อจำกัดของอุปกรณ์ FCC เป็นหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นอิสระ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะควบคุมภาคเอกชนและอุตสาหกรรมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และลดแรงกดดันจากทางการเมือง

ประเทศแคนาดา
ในประเทศอื่น ๆ มีวิธีการจัดการคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามด้วยทางเลือกเหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ และวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลื่นความถี่และน่าสนใจที่จะทำการศึกษา นัยสำคัญของความแตกต่างในการจัดสรรคลื่นความถี่ระหว่างสหรัฐและรัฐบาลต่างประเทศ เมื่อเทียบกับการจัดสรรคลื่นให้กับภาครัฐและเอกชนนั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาโดย FCC ไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้บริหารจัดการคลื่นความถี่ทั้งหมด ซึ่งในประเทศส่วนใหญ่คลื่นความถี่ทั้งสองแบบ จะถูกจัดการโดยหน่วยงานอิสระ ในขณะที่ของ FCC เป็นอิสระจากการเมือง ซึ่งในต่างประเทศก็จะมีขั้นตอนการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ในระดับที่แตกต่างและเป็นอิสระจากอำนาจการบริหาร ตัวอย่างเช่นรัฐบาลแคนาดาจะมีหน่วยงานที่มีอำนาจการในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ เรียกว่า Industry Canada ซึ่งทำหน้าที่ในการบริหารคลื่นความถี่ทั้งหมดทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีหน่วยงานภายในที่เรียกกว่า SITT (Spectrum, Information Technology and Telecommunications) ซึ่ง SITT จะจัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการการกระจายเสียง, ผู้ประกอบการ และผู้ถือใบอนุญาตวิทยุ และคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของแคนาดาในการใช้คลื่นความถี่ผ่านข้อตกลงและกำกับดูแลระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามใบอนุญาตการออกอากาศจะมีการจัดการโดยองค์กรกำกับดูแลที่เรียกว่า Canadian Radio-Television and Telecommunication Commission หรือ CRTC ซึ่ง CRTC มีหน้าที่ควบคุมและดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของประเทศแคนาดา เช่นเดียวกับ การกำกับดูแลผู้ให้บริการโทรคมนาคมและผู้ให้บริการทั่วๆไป ซึ่งรวมถึงการให้ใบอนุญาตและขยายใบอนุญาตสำหรับหน่วยงานที่ใช้คลื่นความถี่ในการกระจายเสียง
ขณะที่ระบบของประเทศแคนาดามีหนึ่งหน่วยงานที่จัดการคลื่นความถี่ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสหรัฐฯ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งคือคลื่นความถี่จำนวนมากของใบอนุญาตออกอากาศ และปัญหาในขั้นตอนของ CRTC เช่น การเปลี่ยนไปใช้โทรทัศน์ระบบดิจิตอลสำหรับแบบ over - the - air จะต้องมีการเรียกคืนและจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับสถานีโทรทัศน์ และรัฐบาลจะต้องกระจายใบอนุญาตการออกอากาศ คล้ายกับการประสานงานระหว่าง FCC และ NTIA ของสหรัฐ แต่การประสานงานกันระหว่าง SITT และ CRTC เกี่ยวกับออกใบอนุญาตในลักษณะนี้จะทำได้ยากกว่า
สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักร ในขณะนี้ได้มีก่อตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงแนวทางในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ ซึ่ง ณ ตอนนี้ การจัดการคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ไม่ใช่ของทหารในประเทศสหราชอาณาจักรถูกดำเนินการโดยหน่วยงานวิทยุคมนาคมของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (Department of Trade and Industry)  ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดสรรคลื่นความถี่ และการอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ รวมทั้งการตรวจสอบเฝ้าระวังการรบกวนและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในทางกฎหมายและการบริการไม่ได้แยกหน่วยงานเหมือนกับหน่วยงานในประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้กฎหมายในปัจจุบันจะต้องมีการดำเนินการผ่านรัฐสภา โดยเรียกหน่วยงานใหม่ว่า Office of Communications (OFCOM) โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเนื้อหาการกำกับดูแล รวมถึงการบริหารจัดการคลื่นความถี่ The UK Office of Telecommunications (OFTEL) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมซึ่งรวมถึงการส่งสัญญาณออกอากาศของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งผู้ดูแล OFTEL จะได้รับการแต่งตั้งโดยเลขาธิการของรัฐด้านการค้าและอุตสาหกรรม นอกจากนี้จะเป็นอิสระจากการควบคุมของกระทรวง
หน่วยงาน OFCOM ที่ตั้งขึ้นใหม่จะมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารกว่า OFTELและจะรวมการทำงานของคณะกรรมการมาตรฐานการกระจายเสียง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับการแพร่ภาพโทรทัศน์, OFTEL, กรมวิทยุ และหน่วยงานวิทยุคมนาคม สหราชอาณาจักรได้กำหนดกลยุทธ์เกี่ยวกับคลื่นความถี่ใหม่ รวมถึงการใช้กลไกการตลาด เช่น การกำหนดราคาคลื่นความถี่ (เก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้คลื่นความถี่ทำให้สะท้อนถึงมูลค่าของคลื่นความถี่ ซึ่งเริ่มใช้ในปี 1998) และการค้าคลื่นความถี่ (การซื้อขายในตลาดรอง เช่น การเช่าคลื่นความถี่โดยเจ้าของย่านความถี่) ซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักร เริ่มใช้ในปลายปี ค.ศ. 2002

การคุ้มครองผู้บริโภคจากการโฆษณาข้ามพรมแดน กรณีศึกษาสหภาพยุโรป

การกำกับดูแลตนเองของอุตสาหกรรมโฆษณาในยุโรปมีมานานเป็นร้อยปีแล้ว แต่ละประเทศมีระดับของการกำกับดูแลที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องของโครงสร้างและกระบวนการ การกำกับดูแลตนเองมีเป้าหมายคล้ายกันคือการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคบนพื้นฐานความคิดว่าการโฆษณาควรชอบด้วยกฎหมาย เหมาะสม ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค และต้องนำเสนอความจริง ในปี ค.ศ. 1992 อุตสาหกรรมโฆษณาของยุโรปถูกตั้งคำถามจากคณะกรรมาธิการยุโรปว่าในการจัดตั้งตลาดเดียว อุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ จะต้องถูกขจัด และธุรกิจและผู้บริโภคต้องมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในตลาดทั้ง 12 ประเทศ จึงมีการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคจากการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันทั่วทั้งสหภาพยุโรป แม้ว่าการกำกับดูแลตนเองในอุตสาหกรรมโฆษณานั้นจะมีอยู่แล้วในแต่ละประเทศ แต่มีประเด็นปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างประเทศหรือข้ามพรมแดน จึงก่อกำเนิดสมาพันธ์มาตรฐานการโฆษณาแห่งยุโรป(European Advertising Standards Alliance or EASA) ซึ่งได้จัดตั้งระบบการร้องเรียนข้ามพรมแดนเพื่อจัดการกับปัญหาที่บุคคลจากประเทศหนึ่งได้รับจากการโฆษณาที่ปรากฏในอีกประเทศหนึ่ง แต่เผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนในอีกประเทศหนึ่ง องค์กรกำกับดูแลตนเอง (Self-Regulatory Organization หรือ“SRO”) ในประเทศที่ร้องเรียนไม่ได้มีอำนาจควบคุมเหนือประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม ระบบ EASA สามารถให้ผู้ร้องเรียนส่งการร้องเรียนต่อไปยังองค์กรกำกับดูแลตนเองที่สื่อมวลชนนั้นให้บริการ เพื่อจัดการตามปัญหาตามประมวลจริยธรรมของตนเอง
นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งในปี ค.ศ. 1992 ระบบร้องเรียนข้ามพรมแดนของ EASA จัดการกับปัญหามากกว่า 1,500 เรื่อง ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากสถาบันสหภาพยุโรปว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการกำกับดูแลตนเองที่มีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมโฆษณาในยุโรปได้ถูกำกับดูแลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสหภาพยุโรป บทบาทของ EASA เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในการนำเสนอระดับการคุ้มครองผู้บริโภค ในปัจจุบัน EASA เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมโฆษณาทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยบริษัทโฆษณา บริษัทตัวแทน และสื่อเป็นสมาชิก รวมทั้งองค์กรกำกับดูแลตนเองของแต่ละประเทศทั้ง 28 ประเทศ อุตสาหกรรมและสมาชิกองค์กรกำกับดูแลตนเองมีเสียงเท่ากันในกระบวนการตัดสินใจ กล่าวคือ องค์กรกำกับดูแลตนเองมีประสบการณ์ในการบังคับใช้ประมวลจริยธรรมและรู้ในตลาดที่ตนเองกำกับดูแล ส่วนสมาชิกอุตสาหกรรมเป็นตัวแทนที่มีการจัดตั้งและแหล่งเงินอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องเผชิญกับวาระทางการเมือง การจัดการกับความท้าทายของผลิตภัณฑ์ บริการหรือลักษณะของการโฆษณาและอาจมีข้อจำกัดในเสรีภาพในการโฆษณา อุตสาหกรรมมีการขับเคลื่อนกระบวนการเสริมระบบการกำกับดูแลตนเอง
EASA มีระบบที่เป็นเอกภาพบนความหลากหลาย ในแต่ละระบบของ 19 ประเทศการกำกับดูแลตนเองจัดตั้งเป็นระบบที่มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากมีที่มาและประมวลจริยธรรมของตนเองซึ่งสะท้อนตลาดที่กำกับ บางระบบมุ่งเน้นการทำงานก่อนเผยแพร่โฆษณา ในขณะที่บางประเทศใช้เวลากับประเด็นหลังโฆษณาแล้ว แต่การกำกับดูแลตนเองถูกมองว่าเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและมีระดับการคุ้มครองผู้บริโภคที่เสริม  แต่ก็มีลักษณะร่วมบางประการซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. ความเป็นสากลของระบบการกำกับดูแลตนเอง (Universality of the Self-Regulatory System)
ระบบการกำกับดูแลตนเองของอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีประสิทธิภาพควรใช้บังคับกับผู้ประกอบการทุกรายโดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องมีมติเอกฉันท์ในความจำเป็นของระบบการกำกับดูแลตนเองและการสนับสนุนที่กระตือรือร้นของทั้งสามส่วนในอุตสาหกรรมคือ ผู้ประกอบการโฆษณา บริษัทตัวแทน และตัวสื่อเอง นอกจากนี้ องค์กรกำกับดูแลตนเองต้องสามารถขึ้นอยู่กับการสนับสนุนทางศีลธรรมของเสียงส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่ความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจ และประกันว่าสามารถใช้บังคับได้กับผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่ให้ความร่วมมือ
2. การสนับสนุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน (Sustained and Effective Funding) เสรีภาพในการโฆษณามีต้นทุน การกำกับดูแลตนเองไม่ได้เป็นทางเลือกที่ลดต้นทุน องค์กรสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการ ระบบการกำกับดูแลตนเองมีวิธีการที่ดีในการให้เงินอุดหนุนด้วยความมุ่งมั่นของทุกคนที่เกี่ยวข้องในหลายสาขา จึงมีความสำคัญวิธีการแหล่งเงินต้องมีความยั่งยืน ไม่มีการใช้จ่ายมากเกินไป แต่ควรมีสีสันบ้าง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมควรอิงเปอร์เซ็นต์จำนวนน้อยจากค่าใช้จ่ายในการโฆษณา
3. การบริหารที่มีประสิทธิภาพและทรัพยากรเพียงพอ (Efficient and Resourced Administration) องค์กรกำกับดูแลตนเองควรบริหารจัดการในลักษณะที่มีประสิทธิภาพต่อต้นทุนและเชิงธุรกิจที่มีมาตรฐานในบริการ การรักษาความลับเป็นส่วนหนึ่งของระบบ องค์กรกำกับดูแลตนเองต้องเป็นอิสระจากอุตสาหกรรมที่มีแหล่งทุน ในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวกำหนดให้เลขาธิการที่มุ่งมั่นทำงานและมีความน่าเชื่อถือ
4. ประมวลจริยธรรมที่มีประสิทธิภาพและเป็นสากล (Universal and Effective Codes) องค์ประกอบสำคัญของระบบการกำกับดูแลตนเองคือประมวลจริยธรรม ซึ่งควรอิงประมวลของ ICC ด้านแนวปฏิบัติการตลาดและการโฆษณา ซึ่งอาจมีการปรับปรุงหรือขยายได้ตามข้อกำหนดของประเทศ จึงมีความสำคัญว่าประมวลควรใช้บังคับกับการโฆษณาทุกรูปแบบ รวมทั้งการจัดตั้งกระบวนการเพื่อการทบทวนสม่ำเสมอและปรับปรุงประมวลดังกล่าวเพื่อประกันว่าสามารถตามทันพัฒนาการของตลาด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและความอ่อนไหวของผู้บริโภค ในท้ายที่สุดประมวลจริยธรรมต้องเผยแพร่ให้กว้างขวาง ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องคุ้นเคย
5. การให้คำปรึกษาและข้อมูลข่าวสาร (Advice and Information) บทบาทสำคัญของการกำกับดูแลตนเองคือการป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดขึ้นโดยการให้คำปรึกษาผู้ปฏิบัติ คำปรึกษาที่ให้โดยองค์การกำกับดูแลตนเองเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ประการแรกทำสำเนาแจกจ่าย การให้คำปรึกษาโดยไม่ผูกพันการโฆษณาแบบเฉพาะกรณีหรือการรณรงค์ การให้บริการตามร้องขอก่อนการประกาศ ประการที่สององค์การกำกับดูแลตนเองอาจให้คำปรึกษาทั่วไปเกี่ยวกับการตีความประมวลจริยธรรม คำปรึกษาจะดึงมาจากกรณีศึกษาที่เคยวินิจฉัยไว้แล้ว การให้คำปรึกษาทั่วไปอาจปรากฏในรูปของบันทึกแนวปฏิบัติที่ตีพิมพ์เป็นส่วนเสริมของประมวลจริยธรรมและระบุแนวปฏิบัติที่ดี
6. การจัดการข้อร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว (Prompt and Efficient Complaint Handling) ความเห็นของสาธารณะเกี่ยวกับระบบการกำกับดูแลตนเองจะขึ้นอยู่กับขอบเขตว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดในการจัดการกับข้อร้องเรียน ประโยชน์หลักของระบบกำกับดูแลตนเองเหนือกว่ากระบวนการยุติธรรมทางศาลคือความรวดเร็ว จึงมีความสำคัญที่ข้อร้องเรียนจะสามารถดำเนินการได้ทันที จำนวนระยะเวลาที่กำหนดในการตรวจสอบข้อร้องเรียนจะขึ้นอยู่กับระยะเวลา ข้อร้องเรียนระหว่างธุรกิจด้วยกันจะใช้เวลานานกว่าในการะงับข้อพิพาท ในกรณีมีการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดหลักการกำกับดูแลตนเองกำหนดว่าผู้โฆษณาต้องจัดการข้อร้องเรียนอย่างเหมาะสม องค์กรกำกับดูแลตนเองควรประกันว่าต้องมีการทบทวนทางเทคนิคที่ผลิตโดยผู้ประกอบการโฆษณาในการสนับสนุนข้อร้องเรียนดังกล่าว รวมทั้งการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญที่เฉพาะด้านที่เป็นอิสระ ผู้ร้องเรียนที่เป็นคู่แข่งขันควรสามารถแสดงหลักฐานเบื้องต้นว่ามีการละเมิดประมวลจริยธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ระบบโดยมิชอบ
7. การวินิจฉัยชี้ขาดที่อิสระและเป็นกลาง (Independent and impartial adjudication) ระบบการกำกับดูแลตนเองต้องสามารถแสดงว่าสามารถตัดสินคดีที่นำมายื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มืออาชีพ และมีความเป็นกลาง กระบวนการจัดการข้อร้องเรียนนั้น คณะกรรมการและการตัดสินใจควรต้องดำเนินการด้วยความเป็นอิสระ กล่าวคือต้องไม่มีอิทธิพลของอุตสาหกรรม รัฐบาล หรือกลุ่มผลประโยชน์ใด
8. การลงโทษที่มีประสิทธิภาพ (Effective Sanctions) แม้ว่ากรณีส่วนใหญ่ระบบการกำกับดูแลตนเองสามารถนับจากการปฏิบัติโดยสมัครใจในการตัดสิน ความน่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมาย เรียกว่า หลัก name and shame เกี่ยวกับการเผยแพร่ปกติของการวินิจฉัยพร้อมรายละเอียดของข้อร้องเรียนและชื่อของสินค้า และผู้โฆษณาได้พิสูจน์การข้อจำกัด แนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดของการบังคับคำตัดสินคือการปฏิเสธของสื่อในโฆษณาดังกล่าว ซึ่งต้องมีคำมั่นบางส่วนจากสื่อทั้งหมดที่ยึดมั่นในคำตัดสินขององค์กรกำกับดูแลตนเองและมีแนวโน้มขึ้นอยู่กับการยอมรับมาตรฐานความรับผิดชอบในสัญญาโฆษณาทั้งหมดโดยคู่สัญญาต้องผูกพันตามคำตัดสินดังกล่าว
9. การบังคับและการตรวจสอบที่มีประสิทธิผล (Efficient Compliance and Monitoring) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง องค์กรกำกับดูแลตนเองไม่สามารถจำกัดกิจกรรมในการตอบสนองต่อผู้ร้องเรียน หากมีการดำเนินการ การแทรกแซงจะเกิดขึ้นแบบไม่จงใจและขาดความคงเส้นคงวาหรือความแน่วแน่ การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อการละเมิดประมวลจริยธรรมมีความจำเป็นต้องวางโปรแกรมของการตรวจสอบอย่างเป็นระบบบนพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรมหรือปัญหา ซึ่งอนุญาตให้องค์กรกำกับดูแลตนเองจัดตั้งคดีของตนเองได้และประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม
10. อุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพและการตื่นตัวของผู้บริโภค (Effective Industry and Consumer Awareness)  ระบบการกำกับดูแลตนเองที่มีประสิทธิภาพควรรักษามาตรฐานที่สูงไว้ ผู้บริโภคควรตระหนักว่าสถานที่และวิธีการร้องเรียน ส่วนอุตสาหกรรมควรตระหนักว่าประมวลและกระบวนการกำกับดูแลตนเอง ในที่สุดองค์กรกำกับดูแลนเองควรมีความสามารถในการผลิตข้อมูลและหลักฐานของกิจกรรมในรูปของการสำรวจรายปี เช่น จำนวนการจัดการข้อร้องเรียน หรือคำร้องขอคำปรึกษา เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในระดับยุโรปและประเทศในการแสดงความมีประสิทธิภาพของการกำกับดูแลตนเอง
ด้วยระบบการกำกับดูแลตนเองที่อิงรูปแบบข้างต้น อุตสาหกรรมโฆษณาสามารถทำงานบนความท้าทายหลายประการที่ต้องเผชิญ เช่น การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าก่อให้เกิดอันตราย อ้วน อุบัติเหตุ เพื่อปกป้องเด็กและสตรีจึงกดดันให้พ่อแม่ซื้อสินค้าที่เหมาะสมมักจะกล่าวโทษโฆษณา การกำกับดูแลตนเองสามารถเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ แต่ต้องกำหนดความรับผิดชอบอุตสาหกรรมโฆษณาที่ดำเนินการดังกล่าว การห้ามการโฆษณาไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือทำให้ปัญหาหายไปได้ นอกจากนี้ ต้องคำนึงว่าเสรีภาพในการโฆษณามักจะมาพร้อมกับต้นทุน การกำกับดูแลก็เป็นหนึ่งปัจจัย ที่อุตสาหกรรมต้องการเห็นเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เป็นปัญหาเอง
สำหรับกรณีของไทยนั้น อาจต้องพิจารณาในแง่ว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 แนวคิดและบทเรียนของสหภาพยุโรปในเรื่องนี้ น่าจะเป็นแนวทางของประเทศไทยในการสร้างแนวร่วมหรือกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในระดับอาเซียนได้ไม่มากก็น้อย จึงควรมีการศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไป  

ความยุติธรรมของพิโซ (Piso’s Justice)


ความยุติธรรมของพิโซเป็นเรื่องเล่าที่ล้อเลียนการใช้บังคับกฎหมายเพื่อประสาทความยุติธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน โดยเริ่มเรื่องจากการที่นายทหารได้รับอนุญาตให้ลาหยุดไปเยี่ยมเยือนครอบครัว ซึ่งมีวินัยทหารที่เคร่งครัดว่านายทหารต้องกลับมาภายในเวลาที่กำหนด และให้มีนายทหารติดตามไปด้วย ซึ่งตามท้องเรื่องปรากฏว่า ทหารนายหนึ่งกลับมาจากการลาหยุดโดยมิได้พาเพื่อนผู้ติดตามกลับมาด้วยตามวินัยทหาร กเนอูส พิโซ (Gnaeus Piso) ผู้ว่าการรัฐและผู้บัญญัติกฎหมาย จึงสั่งให้ประหารชีวิตทหารผู้นั้นทันที ด้วยเหตุผลว่านายทหารคนนั้นไม่ได้ติดตามคนที่หายไปให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ และสงสัยว่าทหารผู้เพิ่งกลับมานั้นอาจจะฆ่านายทหารที่หายไปก็เป็นไปได้ ในขณะจะมีการประหารชีวิต ปรากฏว่าทหารติดตามคนที่สันนิษฐานว่าถูกฆ่าตายแล้วปรากฏตัวขึ้น นายทหารที่ประธานการประหารจึงสั่งให้หยุดการ ด้วยเห็นว่านายทหารที่ถูกต้องโทษประหารชีวิตไม่น่าจะผิดตามวินัยทหาร เพราะนายทหารที่หายไปหลับมาแล้ว จึงพาทหารทั้งสองนายไปพบกเนอูส พิโซ เพื่อขอให้งดโทษเสีย แต่กเนอูสโมโหโกรธาอย่างมาก และมีคำสั่งสั่งให้ประหารชีวิตทหารนายนั้นตามเดิมบนเหตุผลว่าได้มีคำตัดสินไปแล้ว และยังสั่งให้ประหารชีวิตนายทหารที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประหารด้วยบนเหตุผลว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และสุดท้ายก็สั่งให้ประหารทหารติดตามที่สันนิษฐานว่าถูกฆ่าตายแล้วคนนั้นอีก บนเหตุผลว่าเป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์ต้องจบชีวิตลงถึงสองคน
อนึ่ง ต้นตำนานความยุติธรรมของพิโซนี้มีการอ้างว่าปรากฏในผลงานของ ลูชิอูส แอนเนอูส เซเนเกา (LUCIUS ANNAEUS SENECA) ประเภทบทสนทนา เรื่อง "เดอีรา" หรือ "บนความพิโรธ" บรรพที่ 1 บทที่ 18  แม้อันที่จริงแล้วบทสนทนาเรื่อง "เดอีรา" มิได้ปรากฏถ้อยคำของภาษิตดังกล่าวเลย แต่พจนานุกรมของบริวเวอร์ว่าด้วยวลีและนิทาน (Brewer's Dictionary of Phrase and Fable) ระบุว่ามีการปรากฏของภาษิตนี้ ในอีกแนวความคิดหนึ่งเชื่อว่าสำนวน "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" เป็นคำของพิโซ แต่เป็นพิโซอีกคนหนึ่ง คือ ลูเชิส คาลเพอร์นิเอิส พิโซ ซีโซนิเนิส (Lucius Calpurnius Piso Caesoninus) รัฐบุรุษในสมัยโรมันโบราณผู้เป็นคนสนิทของจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการสับสนกับกรณีพิโซในบทสนทนา "เดอีรา" นี้
ด้วยการเล่าขานสืบต่อ ๆ กันมาถึงกรณีข้างต้นนี้ เกิดเป็นหลักการที่เรียกว่า "ความยุติธรรมของพิโซ" (Piso's Justice) และต่อมามีการล้อเลียน โดยกลายเป็นภาษิตกฎหมายว่า "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" (Let justice be done though the heavens fall) กล่าวคือ กฎหมายใดหรือคำตัดสินใดที่มีไปเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดย่อมถือว่าถูกต้องในทางเทคนิคหรือตามตัวอักษร แม้จะไม่ถูกต้องในทางศีลธรรมก็ตาม หรือล้อเลียนการตีความที่เคร่งครัดเกินไปจนไม่คำนึงถึงหลักศีลธรรมหรือเหตุผลเบื้องหลังของกฎหมายนั้น ซึ่งการเชื่อมโยงหลักความยุติธรรมของพิโซเข้ากับภาษิต "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" ดังกล่าวเป็นการตีความภาษิตไปในทางลบ
อย่างไรก็ตาม ข้อความ "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" นี้ในภาษาละติน “Fiat justitia ruat caelum” ยังสลักอยู่บนบัลลังก์ศาลสูงสุดประจำรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา และสลักอยู่บนทับหลังประตูสถานีรถไฟไบรด์เวลการ์ดา (Bridewell Garda station) ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ด้วย นอกจากนี้ ยังปรากฏบนฐานภาพเหมือนของจอห์น มาร์แชล ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งวาดโดย เรมแบรนต์ พีล เมื่อ ค.ศ. 1835 ซึ่งปัจจุบันแขวนอยู่ยังห้องประชุมศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ภาษิตนี้ยังเป็นคติพจน์ของศาลสูงสุดประจำรัฐเทนเนสซี โดยปรากฏอยู่บนตราประทับของศาล และเลี่ยมอยู่บนพื้นโถงอาคารศาลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ภาษิตดังกล่าวยังเป็นคติพจน์ของกองทัพอากาศแห่งสหราชอาณาจักร และปรากฏอยู่บนยอดหมวกทหารอากาศแห่งสหราชอาณาจักรด้วย ดังนั้น ในอีกสายความคิดหนึ่งเชื่อว่าภาษิตดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับนิทานปรัมปราความยุติธรรมของพิโซแต่อย่างไร เป็นภาษิตที่แสดงความยึดมั่นถือว่าในความยุติธรรมและส่งเสริมให้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

เกณฑ์การประเมินผลการปฎิบัติงานของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถูกประเมินผลการปฏิบัติงานได้หลายวิธี ซึ่งที่ผ่านมาเกณฑ์คุณลักษณะหลักที่นักวิชาการและการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะใช้ในการประเมินประธานาธิบดีแตกต่างกัน แต่เกณฑ์มาตรฐานหลักส่วนใหญ่ยังคงสอดคล้องกัน จากรายงานการศึกษาพบว่าคือ เวลาอาจเปลี่ยนทัศนะคติของบุคคลในการพิจารณาลักษณะสำคัญและการจัดลำดับของประธานาธิบดี ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวจากโลก นโยบายต่างประเทศจึงไม่ได้เป็นปัจจัยในการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานาธิบดี นโยบายต่างประเทศเริ่มมีความสำคัญในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาและกลายเป็นเกณฑ์พิจารณาที่สำคัญประการหนึ่ง
ในบทความนี้ได้สรุปเกณฑ์หลักที่นิยมใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดังนี้

ภาวะผู้นำในด้านนโยบาย (Policy leadership)
ประธานาธิบดีต้องทำนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศ โดยทั่วไปประธานาธิบดีต้องแถลงนโยบายในการปราศรัยครั้งแรกเมื่อเข้ารับตำแหน่ง การแถลงผลงานประจำปีประจำปี ซึ่งการแถลงนโยบายดังกล่าวมีความสำคัญในทางการเมืองค่อนข้างมากเพราะประธานาธิบดีและทีมงานจะต้องต่อสู้เพื่อชัยชนะในการสร้างความนิยมและต้องขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวที่อาจมาจากนโยบายการหาเสียงหรือที่รับปากไว้กับประชาชนไปสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อผลักดันให้นโยบายดังกล่าวไปสู้การปฏิบัติ โดยอาจปรากฏในรูปของกฎหมายหรือการของบประมาณ ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมักจะระมัดระวังในการบริหารหรือจัดการกับรัฐสภา เนื่องจากหากผลักดันมากไป รัฐสภาอาจต่อต้าน และมีแนวโน้มจะไม่ประสบความสำเร็จสูง เช่น กรณีของประธานาธิบดีแอนดรูส จอห์นสัน และประธานาธิบดีริชารด์ นิสัน ซึ่งไม่สามารถจัดการหรือมีสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกรัฐสภาได้ ก็จะประสบปัญหาในการบริหารงาน และนโยบายสาธารณะส่วนใหญ่ที่รัฐบาลผลักดันล้มเหลวในรัฐสภา รัฐสภาไม่ให้ความร่วมมือในการออกกฎหมายและนโยบายสาธารณะ ในทางกลับกันหากประธานาธิบดีท่านใดมีความสามารถในการจัดการหรือหว่านล้อมสมาชิกรัฐสภาได้ ก็จะประสบความสำเร็จในการบริหารงาน ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี George H. Bush สามารถผ่านกฎหมายได้มากมาย แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร์
ดังนั้น ความสามารถในภาวะผู้นำจึงมีความสำคัญกับประธานาธิบดีที่จะประสบความสำเร็จในการบริหารงาน ซึ่งทักษะของประธานาธิบดีในการบริหารจัดการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องยิ่งมีมากก็มีแนวโน้มว่ารัฐสภาจะผ่านกฎหมายให้ง่ายด้วย ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งสำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานาธิบดี ในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ เกณฑ์สำคัญในด้านนโยบายสาธารณะอีกประการหนึ่งคือ การพิจารณาว่ากฎหมายที่เสนอโดยประธานาธิบดีมีผลกระทบของนโยบายเกี่ยวกับความเท่าเทียมในสังคมมากน้อยเพียงใดและอย่างไร กล่าวคือ หากนโยบายสาธารณะที่รัฐบาลสนับสนุนส่งประโยชน์แก่คนกลุ่มน้อยและคนยากจน ก็จะทำให้ประธานาธิบดีมีอันดับคะแนนสูงขึ้น

การบริหารในภาวะวิกฤต (Crisis management)
โดยทั่วไปสาธารณะชนมองประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุดทางการเมืองและเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ดีหรือเลวร้าย ประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องมีโครงการที่สามารถกระตุ้นระบบเศรษฐกิจได้ หากมีความจำเป็น และต้องสามารถฟันฝ่าไปได้ หากล้มเหลวก็จะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ เช่น ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์และประธานาธิบดีจอรจ์ เฮช บุช ไม่ได้รับการเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาตกต่ำ ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเติบโตสามารถช่วยให้ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง แม้ว่าจะมีเรื่องเอื้อฉาวส่วนตัวเกิดขึ้น อย่างเช่นกรณีของประธานาธิบดี บิล คลินตัน
การบริหารในภาวะวิกฤตยังสะท้อนสภาวะวิกฤตระหว่างประเทศด้วย แนวทางที่ประธานาธิบดีดำเนินนโยบายกับวิกฤตต่างประเทศมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสาธารณะและอันดับในการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ ประธานาธิบดีลินคอนและประธานาธิบดีรูสเวสมักจะได้รับการจัดอันดับห้าอันดับแรก เพราะมีความสามารถในการบริหารภาวะวิกฤติ  ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ประธานาธิบดีลินคอนมีนโยบายสำคัญในการใช้กำลังในระหว่างสงครามภายในประเทศและรักษาสหภาพไว้ ส่วนประธานาธิบดีรูสเวสเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในระหว่างสงครามโลกและเปลี่ยนให้ประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศมหาอำนาจในเวลาต่อมา ส่วนประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสันไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งในเวียดนาม การขาดความสามารถดังกล่าวทำให้อันดับต่ำ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จกิจการภายในประเทศ สำหรับประธานาธิบดีจอร์จ บุชแม้ไม่ได้ประสบความสำเร็จในการสำรวจในปี ค.ศ. 2001 แต่สามารถเปลี่ยนเป็นผู้บริหารที่สามารถจัดการวิกฤตการณ์ได้ดีหลังจากการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในปี ค.ศ. 2001 และทำให้ได้รับการเลือกให้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง

การใช่อำนาจแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของประธานาธิบดี (Presidential appointments)
ความสามารถในการปฏิบัติงานของประธานาธิบดีสามารถถูกวัดได้จากบุคคลที่ประธานาธิบดีเลือกหรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ  ในการประเมินผลนี้รวมถึงการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดและรัฐมนตรี ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีฮาร์ดดิ่งและประธานาธิบดีแกรท์ทำลายตนเองด้วยการแต่งตั้งบุคลากรที่ไร้ความสามารถ คอรัปชั่น และสร้างความขัดแย้ง การแต่งตั้งบุคลากรที่ดีมีความสามารถสะท้อนภาพที่ดีของประธานาธิบดี เช่น การแต่งตั้งศาสตราจารย์เฮนรี่ คิสซิงเจอร์เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีของประธานาธิบดีนิกสัน ปัจจุบันนี้ มีการเพิ่มเกณฑ์ของความหลากหลายของการแต่งตั้งบุคลากรที่ทำงานให้กับประธานาธิบดี กล่าวคือการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของประธานาธิบดีควรสะท้อนองค์ประกอบของเชื้อชาติของประเทศ โดยเฉพาะการแต่งตั้งตัวแทนหรือผู้สนับสนุนคนกลุ่มน้อยในสังคมรวมทั้งผู้หญิงในการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งทั้งประธานาธิบดีคลินตันและประธานาธิบดีบุชทำได้ดีในสิ่งเหล่านี้
จุดยืนในนโยบายต่างประเทศ (Foreign standing)
นโยบายต่างประเทศเป็นเกณฑ์ในการประเมินประธานาธิบดีในภายหลัง ในช่วงยุคก่อนศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาแยกตัวเองโดดเดี่ยวในโลก แต่หลังจากประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวทท์ที่เริ่มมีบทบาทอย่างกระตือรือร้นในกิจการต่างประเทศ นโยบายต่างประเทศจึงกลายเป็นงานหลักของประธานาธิบดี ปัจจุบันนี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาต้องมีนโยบ่ายที่ชัดเจนในด้านความสัมพันธ์กับประเทศสำคัญ ซึ่งนโยบายความสัมพันธ์กับประเทศสำคัญของสหรัฐอเมริกาและนโยบายต่างประเทศที่ประเทศอื่นมีต่อสหรัฐอเมริกากลายเป็นเกณฑ์สำคัญ  อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าในบางครั้งนโยบายต่างประเทศอาจประสบความสำเร็จแต่นโยบายภายในประเทศอาจล้มเหลวก็ได้ เช่น ประธานาธิบดีนิกสันมักได้คะแนนต่ำในหลายเกณฑ์ แต่เกณฑ์ด้านการต่างประเทศถือว่าประสบความสำเร็จมาก จึงทำให้ประธานาธิบดีนิกสันถูกจัดอันดับอยู่กลาง ๆ  หรือกรณีของประธานาธิบดีจอร์จ เฮช บุช เป็นประธานาธิบดีที่เก่งด้านการต่างประเทศ ในช่วงการล่มสลายของสหภาพโซเวีย ชนะสงครามอ่าว และกองกำลังทหารควบคุมหลายพื้นที่  แต่นโยบายบริหารกิจการภายในประเทศย่ำแย่

คุณลักษณะและความซื่อสัตย์ (Character and integrity)
คุณลักษณะเรื่องบุคลิกภาพและความซื่อสัตย์มีความสำคัญในการประเมินผลประธานาธิบดีกล่าวคือ ประธานาธิบดีที่ส่งเสริมการคอรัปชั่น โกหกต่อประชาชน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวมักได้รับการจัดอันดับต่ำกว่าประธานาธิบดีที่ซื่อสัตย์ ประธานาธิบดีนิกสันได้ทำลายเกียรติยศประธานาธิบดีด้วยเรื่องอื้อฉาวกรณีวอเตอร์เกต ส่วนคลินตันมีเรื่องอื้อฉาวส่วนตัวและโกหกต่อสาธารณชน  ในขณะเดียวกันประธานาธิบดีที่ไม่ประสบความสำเร็จในตำแหน่ง เช่น ประธานาธิบดีคาร์เตอร์สามารถกู้ชื่อเสียงและยกระดับขึ้นเพราะมีความเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง ประธานาธิบดีเจมส์ พอสก์เป็นคนที่ซื่อสัตย์และอุทิศตน ทำงานหนักจนกระทั่งเสียชีวิต ไม่มีเรื่องเสื่อมเสียในระหว่างดำรงตำแหน่งและรักษาสัญญาที่จะไม่ลงรับสมัครรับการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

บุคลิกภาพชักจูงใจสาธารณะ (Public persuasion)
ความสามารถในการจูงใจประชาชนให้เห็นคล้อยตามความความเห็นถือเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงพลานุภาพในการเป็นประธานาธิบดี และมักเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีปรารถนามากที่สุด ซึ่งหากประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จในการจูงใจประชาชนจะมีผลต่อตำแหน่งการจัดอันดับค่อนข้างมาก  ตัวอย่างของประธานาธิบดีที่มีความสามารถในการโน้มน้าวใจคน มีดังนี้
ประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวทท์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่และอิทธิพลในฐานะประธานาธิบดีในการจูงใจให้ประชาชนคล้อยตามความเห็นของตน มีความสามารถจูงใจให้รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายของตน แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยในรัฐสภา
ประธานาธิบดีแฟรทคริน รูสเวทท์มีความจริงใจต่อประชาชนในการพูดตรง ๆ และไม่เพียงแต่ได้รับการหนุนหลังจากประชาชนยังได้รับการสนับสนุนจากการออกกฎหมายพันธะสัญญาใหม่
ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน มีฉายาผู้สื่อสารที่ยิ่งใหญ่ (Great Communicator) เพราะมีความสามารถพิเศษในการเชื่อมต่อกับประชาชน ประชาชนพอใจกับเรแกนในการบริหารกับประชาชนทั่วไป การชื่นชมเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนในนโยบาย รัฐสภาออกฎหมายตามวาระของเรแกนเพราะประชาชนสนับสนุน ไม่ใช่เพราะรัฐสภาเห็นชอบกับเรแกนและข้อเสนอร่างกฎหมาย
ประธานาธิบดีอื่นไม่ได้ให้ความสำคัญ ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์มีประสบการที่ยากลำบากในการสื่อสารปับประชาชน วาระจำนวนมากไม่สามารถผ่านรัฐสภาได้ แม้พรรคจะได้เสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งประธานาธิบดีนิกสันล้มเหลวในทำนองเดียวกัน

วิสัยทัศน์ (Presidential vision)
ประธานาธิบดีสหรัฐบางคนเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่มีวิสัยทัศน์ว่าควรจะประสบความสำเร็จในสิ่งใดบ้างในฐานะประธานาธิบดี ซึ่งส่งผลให้เกิดความล้มเหลวในการเป็นประธานาธิบดี หากปราศจากแผนแม่บทหรือนโยบายที่ดี ประธานาธิบดีด้วยความช่วยเหลือของรัฐสภาสามารถเอาชนะและสร้างนโยบายสาธารณะให้กับประเทศ ประธานาธิบดีที่ประสบความสำเร็จมักมีวิสัยทัศน์ โดยเปลี่ยนอเมริกา เช่น ประธานาธิบดีรูสเวทต้องการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองประชาชนอเมริกาจากผลกระทบเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือประธานาธิบดีเรแกนต้องการรื้อฟื้นซ่อมแซมสหรัฐอเมริกาไปสู่ความยิ่งใหญ่และมีนโยบายลดขนาดของรัฐบาล ด้วยวิสัยทัศน์ดังกล่าวประธานาธิบดีต้องมีความกระตือรือร้นและพยายามผลักดันวาระของตนเอง แม้ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จแต่ยังคงได้รับเครดิตที่มีวิสัยทัศน์ ประธานาธิบดีที่ไม่มีวิสัยทัศน์จะไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ เลย เพราะไม่มีอะไรที่เขาต้องการจะประสบความสำเร็จ
ดังนั้น การเข้าใจและประเมินประธานาธิบดีนำไปสู่ปัญหาเพราะมีประธานาธิบดีเพียงหนึ่งคนที่อยู่ในตำแหน่งแต่ละช่วงเวลา และแต่ละคนประสบปัญหาและความท้าทายที่แตกต่างกัน นักวิชาการเรียกว่าเป็นปัญหาเอกบุรุษกับที่เหลือ (one-n problem) เพราะสถานการณ์ของประธานาธิบดีมีผลกระทบอย่างมากต่อความสำเร็จและล้มเหลวได้ การกำหนดว่าประธานาธิบดีดีหรือเลวเป็นสิ่งยาก โดยเฉพาะเมื่อต้องเปรียบเทียบ มีเพียงประธานาธิบดีรูสเวทที่เป็นประธานาธิบดีในช่วงที่มีการโจมตีเพริลฮาร์เบอร์ ประธานาธิบดีลิงคอนเป็นประธานาธิบดีในช่วงสงครามกลางเมือง ยากที่จะตัดสินหากให้สลับกัน

ปัจจัยที่มีส่วนต่อความสำเร็จหรือล้มเหลว (Factors Contributing to Success and Failure)
มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของประธานาธิบดี
ภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง (Strong leadership) ความสามารถฝนการให้ผู้คนสนับสนุน
รัฐสภา ความสามารถในการควบคุมและจูงใจสมาชิกรัฐสภา
ความนิยม ความสามารถในการชักจูงใจผู้อื่นให้กระทำตามที่ประสงค์

การวิเคราะห์การตัดสินใจ (Decision-Making Analysis)
การวิเคราะห์การตัดสินใจเปิดเผยวิธีการและสถานการณ์ภายใต้การตัดสินใจที่สำคัญ เช่น การตัดสินใจวิกฤตการณ์นิวเคลียส์ของคิวบา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ความเข้าใจในการตัดสินใจทำในวงในของรัฐบาล มีสามรูปแบบที่อธิบายกระบวนการตัดสินใจ
ตัวแบบคนที่มีเหตุผล (The rational actor model): ผู้มีอำนาจตัดสินใจกระทำภายใต้เหตุผล โดยมีการรวบรวมเอกสารหลักฐาน มีการชั่งน้ำหนักทางเลือก และเลือกแนวทางที่มีการพิจารณา
ตัวแบบกระบวนการองค์การ (The organizational process model): โครงสร้างขององค์การมีผลต่อการตัดสินใจ
ตัวแบบการเมืองราชการ (The bureaucratic politics model) : ผู้นำของหน่วยงานที่แตกต่างกันมีการแข่งขันระหว่างกัน และจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ
ตัวแบบการคิดแบบกลุ่มที่มุ่งเน้นว่าพลวัตรของกลุ่มมีผลต่อผลลัพธ์ของการตัดสินใจ ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง สมาชิกในกลุ่มมีอิทธิพลต่อการให้เหตุผลที่ผิดพลาดกับอีกคน ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิด
การวิเคราะห์ทางจิตวิทยา (Psychological Analysis)
แนวทางจิตวิทยามองหาความเข้าใจการกระทำภายในของจิตใจประธานาธิบดีและวิธีการที่มีผลต่อการตัดสินใจ รายการทางจิตวิทยามีความง่าย แต่มีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับบุคลิกภาพของประธานาธิบดี ประธานาธิบดีควรถูกประเมินว่าบทบาทที่กระตือรือร้นของประธานาธิบดีในการเริ่มนโยบาย (กระตือรือร้นหรือเฉื่อยชา) และวิธีการที่มองตนเองและสถานะในฐานะประธานาธิบดี (ในด้านบวกหรือลบ) การวมตัวแปรทั้งสองด้วยกันจะได้ภาพของประธานาธิบดีสี่แบบ passive-positive, passive-negative, active-positive, และ active-negative กล่าวคือประธานาธิบดี active-positive มีแนวโน้มเป็นดีมาก ส่วน active-negative อาจเป็นสิ่งเลวร้าย
การเปรียบเทียบในแง่ประวัติศาสตร์
 นักวิชาการบางคนเปรียบเทียบประธานาธิบดีจากบทบาทที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น บางคนเห็นว่าประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวทท์มีบทบาที่สำคัญเพราะมีชื่อเสียงในการโต้วาที บางคนเห็นว่าสิ่งที่ยั่งยืนที่มีผลกระทบต่อประธานาธิบดีคือการศึกษาว่าประธานาธิบดีจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ซึ่งประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวทท์มีความสำคัญในแง่ว่านโยบายพันธะสัญญาใหม่ (new deal) ยังคงมีผลอยู่จนปัจจุบันและยังคงได้รับการกล่าวขานถึงอยู่

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Challenging Path to Free and Fair Competition of Interconnection Development in Thailand



Abstract- This paper illustrates interconnection regulation and policy in Thailand. The development of interconnection policy in Thai telecommunication market is vitally turned into modern regulatory regime. It also discusses context of the interconnection regulation and its impact of the regulation to telecommunication market. Lastly, it points out the current problems of the implementation of interconnection policy in Thai telecommunications market.

I.  Introduction

In the last two decades, telecommunications markets around the world have changed dramatically due to privatization and liberalization factors. Traditionally, most telecommunications services were provided and governed by state-owned monopolists, but many countries have begun to privatize and liberalize their telecommunications markets since 1980s. The state monopolies in the telecommunications market have been gradually diluted and the wake of the modern telecommunications regulation that promotes competitive environment has increasingly come into place. The establishment of independent regulatory authorities is also considered the key to success of that approach.

Similarly, the telecommunications industry in Thailand also encountered the same experience since it had been long monopolized by two State-Owned Enterprises – Telephone Organization of Thailand (TOT) and Communications Authority of Thailand (CAT). More specifically, TOT owned a statutory monopoly in domestic telephony sector while CAT had the sole authority over provision of international gateway service and Internet service market. To respond to unavoidably increasing demand and growth of the economy, in 1992 TOT and CAT first awarded concessions to private companies to undertake network development and to provide telecommunications services in terms of Build-Transfer-Operate (BTO) agreement. The concessionaires have obligations to invest in network and share revenue arising out of their operation in exchange for right to operate for a certain period of time. Under this environment, both TOT and CAT had played an important role as regulatory authorities through the concession contract.

The long period of state monopolies legally ended when the National Telecommunications Commission (NTC) was established as a sector-specific independent regulator in October 2004. The NTC is empowered by three main legislations: The Act on the Organizations to Assign Radio Frequency and to Regulate the Broadcasting and Telecommunications Services, B.E. 2543 (2000); The Telecommunications Business Act, B.E. 2544 (2001); and The Radio Communications, B.E. 2498 (1955). Generally speaking, these acts give NTC the authorization to prescribe rules and regulations relating to matters, among other things, such as policies and master plans for the telecommunications businesses, allocate and assign radio frequency, licensing criteria and process, fees and tariff structures, interconnection and use of network, consumer protection, and universal service obligations. The trend towards competitive market liberalization in Thailand just has begun.

II.  Basic Principles of Interconnection

In principle, interconnection is a necessary and mandatory requirement in a liberalized telecommunications environment as interconnection regulation aims to create a leveled playing field that ultimately leads to an efficient and competitive telecommunications sector. Two fundamental principles of interconnection regulation are to ensure the possibility for users to call anywhere and the protection against abuse of market power by incumbents. Nonetheless, interconnection agreement negotiation is a complex task that mixes legal, technical and commercial interests. Therefore, intervention of regulatory authority must be appropriate and reasonable because it unavoidably has a significant impact on investment, competition and innovation of telecommunication markets.

The interconnection concept is evidently included in Chapter II of the Telecommunication Business Act. The Telecommunications Business Act lays down a broad regulatory framework for governing access and interconnection of telecommunications network, including roles and duties of the NTC. It grants the NTC an authority to set up a detail framework for interconnection and to provide mechanism to resolve dispute arising out of interconnection negotiation and provision. This implies that the NTC plays an important role in designing regulatory regime of interconnection.

In order to prevent abuse of market powers and promote a leveled playing field in the markets, the Telecommunication Business Act makes a distinction between the operators who own a network and those who do not own a network by means of imposing a set of obligations on a network operator to balance bargaining power of all involved parties in the market. For example, it requires a network provider to allow other operators to use its telecommunications network, except if the capacity of the network is not sufficient for use by other operators or there are technical problems which may cause interferences or obstructions to telecommunications business. If the operator requesting the use of the network is rejected, he can appeal before the NTC and the network provider requested has a burden of proof. In order to facilitate interconnection, the network operator is obliged to disclose technical information necessary for use and interconnection of its network. These principles reflect the concept of enriching competitive market entry, investment and innovation.

With regard to rate of interconnection charges, the Telecommunications Business Act apparently stipulates that such rate must be fair, reasonable, and non-discriminatory. This is one of the cornerstones of modern interconnection regulation since it may seriously cause deterrence or promotion of the innovation and investment in telecommunication market. It is noted that the Telecommunications Business Act leaves certain rooms for the NTC to establish calculating methodology and policy of interconnection charges through prescribing in regulation. Also, it requires an interconnection agreement to be submitted to the NTC for approval and that the NTC has a specific power to order either party to amend undue terms and conditions of such agreement in order to ensure non-discrimination and fair competition as well as to protect consumers. Therefore, interconnection agreement is a regulated contract.

In order to maintain national security or to prevent disaster to the public in general or to conduct any act for the benefit of the public in general, the NTC, upon the request of the government, can require a network operator to allow a governmental agency to use or connect its telecommunications network. Nevertheless, the government use of private network must be temporary.


III.  Regulation on Access and Interconnection of Telecommunication Network
In order to fulfill its mandate specified by the laws, the NTC officially promulgated the Regulation on the Access and Interconnection of Telecommunication Network B.E. 2549 (2006) that came into force on 17 May 2006. (Hereinafter called “interconnection regulation”) The interconnection regulation sets forth default rules regarding interconnection negotiation in details and also sets up dispute resolution process arising out of that matter. Notably, the interconnection regulation adopts a negotiate/litigate for dispute model because the NTC regards interconnection as commercial dealing, and therefore; it will not intervene negotiation of interconnection agreements, except for the cases of dispute existence and review of agreement. It suggests that the operators can negotiate interconnection terms without unnecessary regulatory intervention by the NTC.
The interconnection regulation contains comprehensive rules and procedures relating to interconnection negotiation process and dispute resolution. Certain regulatory principles, in particular transparency, non-discrimination and competitive safeguard, are also clearly laid down as a guideline for negotiation. It can be summarized as follows:
A. General Principles
The interconnection regulation expressly confirms all legal principles and concepts specified in the Telecommunication Business Act. It is noted that the interconnection regulation has adopted international standards and norms like WTO Reference Paper or APEC Principles of Interconnection that indicate the strong commitment of the NTC to international practices. Nonetheless, the interconnection regulation does not adopt asymmetric regulation like many other countries that impose more interconnection obligations only on incumbents than other network operators. In other words, the interconnection regulation imposes interconnection obligations on all network providers equally, regardless of network size or market power. The reason is the unique characteristics of telecommunications environment in Thailand, especially concession contract legacy.

Pursuant to the interconnection regulation, the general obligations of network providers that are ensured to create free and fair competition in Telecommunications sector are as follows:
- to provide interconnection under non-discriminatory and transparent terms, conditions, including technical standards and specifications;
- to provide interconnection at non-discriminatory and cost-oriented rates;
- to provide interconnection at any technically feasible point in the network;
- to provide information necessary for access and interconnection of network;
- to share essential facilities and allow collocation with reasonable cost;
- to provide sufficient transmission circuits and equipment that is indispensable for interconnection of the telecommunications network at the points of interconnection;
- to provide good quality of interconnection services as prescribed by NTC.  


B. Point of Interconnection and Collocation

The interconnection regulation mandates that the network provider must offer points of interconnection in RIO (Reference Interconnection Offer) and let it be negotiated by the parties. If any disagreement exists, the NTC will consider whether that point of interconnection (POI) is technically feasible and whether it poses undue burden on the person who requests the interconnection. The interconnection regulation also gives examples of technically feasible points of interconnection as follows: local switches, tandem switches, toll switches, international switches, dedicated tandem switches, signal transfer points, transmission stations including submarine cable landing stations, and points of presence of the interconnection. This could imply an open network policy that the detail rules must be more elaborated in the future.  

The interconnection regulation also spells out the negotiation process relating to additional point of interconnection. It requires a network provider requested to notify the requesting operator in writing including detail reasons for the refusal within 15 days from the date of receiving the request. The interconnection regulation sets forth provisions of collocation similar to those of point of interconnection. The rate of POI and collocation charges must be cost-based basis and terms and conditions must be reasonable, non-discriminatory, and transparent. The objective of these two principles is to ensure fair and efficient interconnection.


C. Reference Interconnection Offer

Reference Interconnection Offer (RIO) concept is universally used in various countries. The main purposes of RIO are to make available information necessary for interconnection and to compel network provider to commit interconnection agreement without unreasonable delay and discrimination. The contents of RIO consist of technical, commercial and legal information with respect to interconnection that facilitates other operators to negotiate interconnection agreement quickly and efficiently. The transparency is also the gist of RIO notion.

Under this regulatory concept, a network provider has a duty to provide RIO for the use or interconnection of its own network and makes it available to the public. RIO is regarded as a document specifying the intention to offer telecommunications network interconnection service which articulates clear and adequate details of commercial and technical conditions as specified by the regulation.
The interconnection regulation sets forth RIO obligation at the initial stage of license application process. The network provider applicant must submit RIO, together with license application, to the NTC for approval. RIO must not have the following characteristics: (1) containing conditions which discriminate, segregate or impede other licensees; (2) containing unreasonable conditions which may result in monopoly or reduction or limitation of competition in provision of telecommunications services; (3) having the usage or interconnection charge which is unreasonable or so high that may cause an effect on the tariff for users or obstructs market access or does not facilitate fair competition; (4) containing conditions which harm the benefit of the user; and (5) containing other conditions specified by the NTC.

After approval by the NTC, the network provider is obliged to publicly announce its RIO. In addition, the changing or modification of RIO must be approved by the NTC. In case of substantively changing or addition of RIO that may have significant impact on competition or public interests or where it needs to provide special protection for consumers, it may be treated as the new RIO.


D.  Negotiation Process

The interconnection regulation provides enough of regulatory guidance for interconnection negotiation in order to facilitate efficient and fair negotiation as well as to ease legal uncertainty. Given duties and burdens of proof of negotiating parties, including negotiation steps and time limitation are manifestly provided by the interconnection regulation. Nonetheless, the negotiating parties still have substantial freedom and flexibility in bargaining the interconnection arrangement.

In requesting the use or interconnection of the telecommunications network, the operator who makes the request must submit a written document showing clear intention to the network operator that he or she wish to interconnect with. The format of requesting document is specified in the regulation. In addition, the requesting operator has a duty to notify such request to the NTC for a record.

The interconnection regulation, however, leaves both negotiating parties to freely negotiate under regulatory framework stipulated by the regulation without intervention from NTC as it is deemed as a commercial dealing that will be governed by the Civil and Commercial Code regarding Contract. However, the negotiation process must be concluded within 90 days. If the negotiation is unsuccessful, either party can initiate dispute resolution proceedings under the regulation. The purpose of the limited period of negotiation is to prevent undue delay of the network provider. During the consideration, the NTC may order that the telecommunications networks be used or connected on a temporary basis according to the rules and procedures determined by the NTC.

When negotiating parties can reach an agreement, the requesting network operator must submit a copy of the agreement to the NTC for approval within ten days as from the date the agreement is signed and also must specify the detail of agreement terms and conditions which are different or additional from its RIO. The NTC will consider whether terms and conditions of such agreement are against the legal principles or conditions prescribed by the law. The NTC has the right to give order to amend the agreement and if the network providers requested ignore or refuses to make amendments to the agreement as requested by the NTC, the Secretary-General of NTC has the power to order such network provider to cease such violation or take corrective, remedial or proper action for compliance. On the other hand, if the requesting operator declines to make such amendments, the agreement will be deemed to be void.

Currently, the interconnection agreements that mutually concluded and already submitted a copy to NTC for approval are as follows:












E. Rate of Interconnection Charges

In relation to interconnection charges, the interconnection regulation addresses that criteria and process of calculating interconnection charges must be transparent, fair and non-discriminatory basis. Rates of interconnection depend on the negotiation of both parties but it must be cost-oriented basis. Likewise, the essential facilities tariffs will employ cost-based basis in order to prevent abuse of market power.

In principle, the NTC will regulate rate of interconnection charge by means of costing methodology. More specifically, the network providers is required to submit rates of interconnection charges together with RIO that must clearly and adequately disclose the calculation basis and method of costing for the use or interconnection charge. The NTC has authority to approve costing methodology that in the regulation expressly elaborates that LRIC concept will automatically be accepted. This implies that the NTC aims to attain economically efficient interconnection for the whole industry. This task may take certain period of time to achieve its goals because cost allocation is a complex, time-consuming activity and requires resources and inputs from throughout the industry. The NTC apprehends this matter, and thus holding a series of seminars and discussions on interconnection policy and practice issues.

The interconnection rates will be reviewed annually and approved by the NTC. In the case of changing of the calculation method for the use and interconnection charges for the telecommunication network, the network provider is obliged to notify other licensees and the NTC of the detail of the new calculation method together with reason for the change for approval of the NTC. When approval for calculation methodology is granted, the network provider must notify other providers at least six months in advance prior to application.


F. Dispute Resolution

In practice, the interconnection is the bilateral issue between two operators to agree on terms and conditions. From the international experiences of interconnection negotiation, most of the cases do not arbitrate or resolve it easily and efficiently because incumbent usually has little incentive to make interconnection agreement. As a result, the regulatory agencies in varied countries provide regulatory intervention for timely and efficient dispute settlement between operators.

The interconnection regulation sets up the Dispute Resolution Committees to perform dispute resolution functions with a comprehensive procedure. The Dispute Resolution Committee comprises nine experts in telecommunications, economics or law. Furthermore, the NTC establishes the Interconnection Institute (ICI) to support the Dispute Resolution Committee and also to be a knowledge center for interconnection in Thailand. This is also regarded a new development in Thailand.

The dispute resolution procedure is a mixture of procedure used in the Administrative Court and arbitration law. Under this regulation, the Dispute Resolution Committee will deliver its recommendation to the NTC for making final decision. However, the decision of the NTC can be appealed to the Administrative Court. That means the legitimacy of NTC’s ruling can be scrutinized by neutral authority.


IV. The Current Problem

As mentioned above, TOT in the past was regarded as the de factor regulator in domestic telephony market because it was authorized the monopoly power to control access to network resources such as numbering, interconnection and right of ways. With regard to interconnection, TOT and CAT created the unique arrangement in term of access charge agreement that governed the whole telecommunications industry. The access charge agreement stipulates network providers under CAT have had to pay access charge to TOT (one way payment) in exchange for access to and utilization of TOT network. It causes the unleveled playing field as the concessionaires from the CAT like DTAC, TA Orange and DPC, have to pay an access charges to the TOT to connect or use its networks, while AIS which was directly granted a concession from the TOT does not pay such an access charge. As a result, the access charge agreement has generated a huge amount of revenue to TOT. The legal argument of the access charge agreement remains unclear.

Otherwise, it is noted that the Telecommunications Business Act expressly prevents the NTC from handling with the essence and integrity of concession contract. The amendment of concession’s conditions will be negotiated by the contracting parties only. The NTC can merely require concessionaires to conform to its regulations on the ground that they own the same rights, duties and responsibilities as the licensees under this Act. The awkward situation continues unsettled. The legal conflict and difficulty have been laid down for challenging.

The concessionaires under the governance of CAT have been always pleading to replace the access charge with interconnection charge stipulated by the interconnection regulation on the ground of fairness. Therefore, this leads to the legal battle in the Administrative Court and before the NTC. The implementation of interconnection regulation is bewildered by investors which way to go in the future. It is obvious that NTC will support the free and fair competition principle thank to its mandate set by law. This chaotic situation hopefully will be resolved soon and the road ahead of liberalization process in Thailand will be brighter and wider.


V. Conclusion
Interconnection is considered one of the most essential issues facing the telecommunications sector today. It is a key to develop effective competition in order to drive growth in telecommunications market by connecting people as one network because it is an elementary element for wholesale market, with the fair and non-discriminatory basis, so as to create attractive and innovative services with the high level of competitive in retail market. Additionally, proper interconnection policy can provide efficient infrastructure and service development and ensure the needs and interests of consumer for access and quality of services.
The emphasis of interconnection regulation designed by the NTC is to create free and fair competition. However, the past legacy of the concession returns to crash interconnection without compromise. The tremor in the liberalization process of the telecommunications market is emerging. The way out of this problem finally will be handed by the judicial authority. This will become an intriguing chapter of long journey from monopoly to competition in Thailand. The episode of interconnection policy development will be written as good lessons learnt for liberalization of other public utility sectors in Thailand.  

REFERENCES
[1] The Act on the Organizations to Assign Radio Frequency and to Regulate the Broadcasting and Telecommunications Services, B.E. 2543 (2000).
[2]  The Telecommunications Business Act, B.E. 2544 (2001).
[3] Regulation on the Access and Interconnection of Telecommunication Network B.E. 2549 (2006).
_______________