วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความยุติธรรมของพิโซ (Piso’s Justice)


ความยุติธรรมของพิโซเป็นเรื่องเล่าที่ล้อเลียนการใช้บังคับกฎหมายเพื่อประสาทความยุติธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมัน โดยเริ่มเรื่องจากการที่นายทหารได้รับอนุญาตให้ลาหยุดไปเยี่ยมเยือนครอบครัว ซึ่งมีวินัยทหารที่เคร่งครัดว่านายทหารต้องกลับมาภายในเวลาที่กำหนด และให้มีนายทหารติดตามไปด้วย ซึ่งตามท้องเรื่องปรากฏว่า ทหารนายหนึ่งกลับมาจากการลาหยุดโดยมิได้พาเพื่อนผู้ติดตามกลับมาด้วยตามวินัยทหาร กเนอูส พิโซ (Gnaeus Piso) ผู้ว่าการรัฐและผู้บัญญัติกฎหมาย จึงสั่งให้ประหารชีวิตทหารผู้นั้นทันที ด้วยเหตุผลว่านายทหารคนนั้นไม่ได้ติดตามคนที่หายไปให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ และสงสัยว่าทหารผู้เพิ่งกลับมานั้นอาจจะฆ่านายทหารที่หายไปก็เป็นไปได้ ในขณะจะมีการประหารชีวิต ปรากฏว่าทหารติดตามคนที่สันนิษฐานว่าถูกฆ่าตายแล้วปรากฏตัวขึ้น นายทหารที่ประธานการประหารจึงสั่งให้หยุดการ ด้วยเห็นว่านายทหารที่ถูกต้องโทษประหารชีวิตไม่น่าจะผิดตามวินัยทหาร เพราะนายทหารที่หายไปหลับมาแล้ว จึงพาทหารทั้งสองนายไปพบกเนอูส พิโซ เพื่อขอให้งดโทษเสีย แต่กเนอูสโมโหโกรธาอย่างมาก และมีคำสั่งสั่งให้ประหารชีวิตทหารนายนั้นตามเดิมบนเหตุผลว่าได้มีคำตัดสินไปแล้ว และยังสั่งให้ประหารชีวิตนายทหารที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประหารด้วยบนเหตุผลว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และสุดท้ายก็สั่งให้ประหารทหารติดตามที่สันนิษฐานว่าถูกฆ่าตายแล้วคนนั้นอีก บนเหตุผลว่าเป็นเหตุให้ผู้บริสุทธิ์ต้องจบชีวิตลงถึงสองคน
อนึ่ง ต้นตำนานความยุติธรรมของพิโซนี้มีการอ้างว่าปรากฏในผลงานของ ลูชิอูส แอนเนอูส เซเนเกา (LUCIUS ANNAEUS SENECA) ประเภทบทสนทนา เรื่อง "เดอีรา" หรือ "บนความพิโรธ" บรรพที่ 1 บทที่ 18  แม้อันที่จริงแล้วบทสนทนาเรื่อง "เดอีรา" มิได้ปรากฏถ้อยคำของภาษิตดังกล่าวเลย แต่พจนานุกรมของบริวเวอร์ว่าด้วยวลีและนิทาน (Brewer's Dictionary of Phrase and Fable) ระบุว่ามีการปรากฏของภาษิตนี้ ในอีกแนวความคิดหนึ่งเชื่อว่าสำนวน "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" เป็นคำของพิโซ แต่เป็นพิโซอีกคนหนึ่ง คือ ลูเชิส คาลเพอร์นิเอิส พิโซ ซีโซนิเนิส (Lucius Calpurnius Piso Caesoninus) รัฐบุรุษในสมัยโรมันโบราณผู้เป็นคนสนิทของจูเลียส ซีซาร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการสับสนกับกรณีพิโซในบทสนทนา "เดอีรา" นี้
ด้วยการเล่าขานสืบต่อ ๆ กันมาถึงกรณีข้างต้นนี้ เกิดเป็นหลักการที่เรียกว่า "ความยุติธรรมของพิโซ" (Piso's Justice) และต่อมามีการล้อเลียน โดยกลายเป็นภาษิตกฎหมายว่า "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" (Let justice be done though the heavens fall) กล่าวคือ กฎหมายใดหรือคำตัดสินใดที่มีไปเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดย่อมถือว่าถูกต้องในทางเทคนิคหรือตามตัวอักษร แม้จะไม่ถูกต้องในทางศีลธรรมก็ตาม หรือล้อเลียนการตีความที่เคร่งครัดเกินไปจนไม่คำนึงถึงหลักศีลธรรมหรือเหตุผลเบื้องหลังของกฎหมายนั้น ซึ่งการเชื่อมโยงหลักความยุติธรรมของพิโซเข้ากับภาษิต "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" ดังกล่าวเป็นการตีความภาษิตไปในทางลบ
อย่างไรก็ตาม ข้อความ "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที" นี้ในภาษาละติน “Fiat justitia ruat caelum” ยังสลักอยู่บนบัลลังก์ศาลสูงสุดประจำรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา และสลักอยู่บนทับหลังประตูสถานีรถไฟไบรด์เวลการ์ดา (Bridewell Garda station) ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ด้วย นอกจากนี้ ยังปรากฏบนฐานภาพเหมือนของจอห์น มาร์แชล ประธานศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งวาดโดย เรมแบรนต์ พีล เมื่อ ค.ศ. 1835 ซึ่งปัจจุบันแขวนอยู่ยังห้องประชุมศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ภาษิตนี้ยังเป็นคติพจน์ของศาลสูงสุดประจำรัฐเทนเนสซี โดยปรากฏอยู่บนตราประทับของศาล และเลี่ยมอยู่บนพื้นโถงอาคารศาลซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ภาษิตดังกล่าวยังเป็นคติพจน์ของกองทัพอากาศแห่งสหราชอาณาจักร และปรากฏอยู่บนยอดหมวกทหารอากาศแห่งสหราชอาณาจักรด้วย ดังนั้น ในอีกสายความคิดหนึ่งเชื่อว่าภาษิตดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับนิทานปรัมปราความยุติธรรมของพิโซแต่อย่างไร เป็นภาษิตที่แสดงความยึดมั่นถือว่าในความยุติธรรมและส่งเสริมให้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น