วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567

แนวคิดอำนาจอธิปไตยของสหรัฐอเมริกา

 สหรัฐฯมีนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้วยนโยบาย 'ซุปเปอร์ไฮเวย์ข้อมูล' ในสมัยประธานาธิบดีสหรัฐฯบิล คลินตัน และการออกกฎหมายสอดแนมข่าวกรองต่างประเทศ (FISA) พ.ศ. ๒๕๑๗ ให้สอดคล้องกับบริบทของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงคำนิยามของอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของประเทศ ในการใช้อำนาจของชาติโดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แนวคิดทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับ "ความมั่นคงแห่งชาติ" ของประเทศเพื่อสนับสนุนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเชิงกลยุทธ์ที่ถือว่าเป็นอธิปไตยนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันในด้านกฎหมาย การทูต และเศรษฐกิจ และไม่เคยถูกจำกัดอยู่เพียงขอบเขตการป้องกันประเทศและความมั่นคงแห่งชาติ หรือในขอบเขตทางภูมิศาสตร์เพียงแห่งเดียว สหรัฐฯ แสดงอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯในระดับระหว่างประเทศอย่างชัดเจน โดยอาศัยอำนาจแฝง เช่น ความสามารถทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ 

สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีนโยบายยึดมั่นหลักความมีอิสระทางดิจิทัลและส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกหลายแห่ง วิสัยทัศน์ของอเมริกาเกี่ยวกับอธิปไตยทางดิจิทัลของยุโรปได้พัฒนาขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภายใต้อิทธิพลของสองปัจจัยหลัก ประการแรกการตระหนักถึงผลกระทบที่เป็นปัญหาและแนวทางปฏิบัติของแพลตฟอร์มดิจิทัลและประการที่สองการแข่งขันทางเทคโนโลยีกับจีนก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งสองประเด็นก็ยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างพรรค ภายในพรรค ระหว่างหน่วยงาน รัฐท้องถิ่นกับสหพันธรัฐ โดยเฉพาะประเด็นนโยบายการต่อต้านการผูกขาดในกิจการเทคโนโลยีดิจิทัล และมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปภาคดิจิทัลของสหรัฐฯ ภายในประเทศ พร้อมกับการทูตเชิงรุกเพื่อลดความพยายามผลักดันของสหภาพยุโรป โดยมีการเจรจาผ่านทางโซลูชันด้านเทคนิคและเชิงพาณิชย์ต่างๆ สำหรับปัจจัยของจีนนั้น สหรัฐฯเองยังไม่ชัดเจนและไม่มีการเจรจาที่ลงตัว จึงยังมีความตึงเครียดระหว่างกัน แม้จะมีโอกาสสำหรับความร่วมมือในการลดความขัดแย้งในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุน รวมทั้งการสอดแนมทางดิจิทัล 

ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯวิพากษ์วิจารณ์แนวความคิดอธิปไตยของข้อมูลของประเทศต่างๆที่หยิบยกขึ้นมาอ้าง โดยวิจารณ์ว่าเป็นการกีดกันทางการค้าและเลือกปฏิบัติต่อบริษัทของสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐฯพยายามปกป้องบริษัท Google และ Facebook ที่ถูกไต่สวนว่ากระทำผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป และต่อว่าการกระทำดังกล่าวของสหภาพยุโรปเกิดจากสาเหตุที่บริษัทดิจิทัลของสหภาพยุโรปไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทของสหรัฐฯ ได้ แนวคิดอธิปไตยทางดิจิทัลของยุโรปจึงถูกตีความในสหรัฐฯว่าเป็นข้อแก้ตัวสำหรับนโยบายอุตสาหกรรมที่ต้องการกำหนดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดยุโรป เพื่อประโยชน์ทางการค้า และเพื่อที่จะลงโทษบริษัทขนาดใหญ่บางแห่งของสหรัฐฯ และสนับสนุนบริษัทในประเทศของตน กฎหมายของยุโรปมีแนวโน้มไปทางลัทธิกีดกันทางการค้า มีแนวโน้มที่จะควบคุมมากเกินไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนานวัตกรรม ในขณะที่สหรัฐฯ มักจะมีแนวโน้มที่จะปล่อยให้เทคโนโลยีพัฒนาและควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้นในภายหลัง  

สหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กับคุณค่าทางประชาธิปไตย จึงมีนโยบายการกำกับดูแลภายในประเทศที่ค่อนข้างผ่อนคลายมีรากฐานมาจากความเชื่อมั่นว่าการแปลงเป็นดิจิทัลเชื่อมโยงกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย แต่หลังจากความล้มเหลวของปฏิวัติในอาหรับ การแทรกแซงจากต่างประเทศผ่านเครื่องมือดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งของรัสเซียในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี ๒๕๕๙ และการเปิดเผยการสอดแนมในวงกว้างโดยแพลตฟอร์มดิจิทัลและรัฐบางต่างชาติ แนวคิดอธิปไตยทางดิจิทัลเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยมีเจตจำนงทางการเมืองในการควบคุมภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้นในรายประเด็น เช่น การแข่งขัน การปกป้องข้อมูล การกลั่นกรองเนื้อหา เป็นต้น 

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลกลางของสหรัฐฯเองก็มีแนวทางบริหารจัดการเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยทางดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเองจำนวนหนึ่งอันมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น ข้อกำหนดทางเทคนิคของระบบคลาวด์และความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงข้อกำหนดในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับข้อมูลทางเทคนิคและข้อมูลส่วนบุคคล  แม้ในทางกฎหมายบริษัทเทคโนโลยีอยู่ในเขตอำนาจการกำกับดูแล แต่หลักความมีอิสระทางดิจิทัลของบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เคยเผชิญกับความขัดแย้ง กรณีน่าสนใจแรกคือ ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ดิจิทัลมีการฟ้องร้องชาวรัสเซียที่เดินทางมาประเทศสหรัฐฯ ในการประชุม DEF CON ปี ค.ศ. ๒๐๐๒ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาโปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซียว่าขายเครื่องมือที่เจาะระบบความปลอดภัยของ e-book ของบริษัท Adobe แต่มีนักปกป้องสิทธิดิจิทัลได้โต้แย้งว่าประเทศสหรัฐฯ ไม่ควรบังคับการตีความกฎหมายลิขสิทธิ์ของตนต่อประเทศต่าง ๆ เนื่องจากปรากฎว่ารัฐบาลสหรัฐฯได้มีคำสั่งยึดชื่อโดเมนของไซต์ที่ละเมิดกฎหมายภายในประเทศเป็นประจำ โดยในช่วงระยะเวลาเพียงสองปีรัฐบาลกลางสหรัฐฯดำเนินการในไซต์ได้ยึดชื่อโดเมน ๑,๗๑๙ ชื่อ ตั้งแต่เว็บไซต์ที่ขายสินค้าปลอม ยา และเว็บไซต์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็ได้รับการวิจารณ์ว่าการใช้อำนาจดังกล่าวขาดกระบวนการที่ดีเพียงพอและอาจเกิดการละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (Anupam Chander and Haochen Sun, 2021: 18)

แต่คดีที่น่าสนใจคือ แม้ว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐฯและข้อมูลของคนสหรัฐอเมริกันจะถูกจัดเก็บไว้ในประเทศ ซึ่งอัยการของรัฐสามารถใช้อำนาจร้องขอเข้าถึงข้อมูลได้ แต่เกิดเหตุการณ์ที่เมื่ออัยการสหรัฐฯ ขอข้อมูลที่เก็บไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท Microsoft ทางบริษัท Microsoft ไม่ยอมส่งมอบและคัดค้านว่าข้อมูลดังกล่าวเก็บรักษาไว้ที่ไอร์แลนด์ จึงอยู่นอกเหนืออำนาจตามกฎหมายสหรัฐฯ จนมีคดีฟ้องร้องไปสู่ศาลสูงสุด ต่อมาสภาคองเกรสเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขกฎหมายสร้างความชัดเจนทางกฎหมายของการใช้งานข้อมูล (Clarifying Lawful Overseas Use of Data Act หรือ CLOUD Act) เพื่อให้อำนาจแก่อัยการในการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อกำหนดให้บริษัทต่างๆ จัดทำข้อมูลที่เก็บไว้ในต่างประเทศ กล่าวได้ว่ากฎหมาย CLOUD ทำให้รัฐบาลอเมริการับข้อมูลข้ามพรมแดนระหว่างประเทศได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศอื่นๆ และไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ทำให้หน่วยงานรัฐมีกลไกใหม่ในการยึดข้อมูลดิจิทัลได้ เช่น อีเมล แชท ข้อมูลโพสต์เฟสบุ๊ค และวิดีโอ เป็นต้น

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ อาจใช้แนวคิดอธิปไตยทางดิจิทัลเป็นเพียงเครื่องมือกีดกันทางการค้าที่ล้าสมัย เช่น รายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี ๒๐๒๑ เกี่ยวกับ “อุปสรรคทางการค้าในต่างประเทศ” อ้างถึงแนวทางปฏิบัติด้านอธิปไตยทางดิจิทัลของสหภาพยุโรปว่าอาจเป็นการกำหนดเป้าหมายต่อผู้ให้บริการรายใหญ่ของสหรัฐฯอย่างไม่เป็นธรรม และขัดขวางการให้บริการที่เป็นนวัตกรรมทางอินเทอร์เน็ตในสหภาพยุโรป (Anupam Chander and Haochen Sun, 2021: 18-19) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น