วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การฟ้องร้องดำเนินคดีสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา

การฟ้องร้องดำเนินคดีสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา
การฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรมีสองประเภทคือการดำเนินทางฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมหรือฟ้องร้องต่อหน่วยงานทางปกครอง ในกรณีฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม เจ้าของสิทธิบัตรต้องฟ้องร้องต่อศาลสหพันธรัฐ แต่หากเป็นกรณีที่สินค้าละเมิดสิทธิบัตรจะมีการนำเข้ามายังประเทศสหรัฐฯ เจ้าของสิทธิบัตรอาจร้องขอต่อคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (US International Trade Commission: ITC) เพื่อให้ทำการไต่สวนการละเมิดดังกล่าวก็ได้  ทั้งนี้ กระบวนการดำเนินการของทั้งสองแบบนี้แตกต่างกันในเรื่องการเยียวยา ในกระบวนการชั้นศาลนั้น เจ้าของสิทธิบัตรที่ชนะคดีอาจได้รับค่าเสียหายเป็นตัวเงินและอาจขอคำสั่งห้ามจำเลยกระทำการละเมิดได้ ในขณะที่กระบวนการของคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ (ITC) มีการเยียวยาในรูปของคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าละเมิดสิทธิบัตร แต่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในรูปตัวเงิน
การฟ้องละเมิดสิทธิบัตรอาจยื่นต่อศาลชั้นต้นของสหพันธรัฐที่มีเขตอำนาจเหนือจำเลย  ซึ่งศาลยุติธรรมของสหรัฐฯ มักใช้หลักความสัมพันธ์ขั้นต่ำ (Minimum Contacts) กล่าวคือศาลที่จำเลยมีถิ่นที่อยู่หรือศาลที่มีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น ระบบของสหรัฐฯไม่มีศาลเฉพาะหรือชำนาญพิเศษด้านสิทธิบัตรในระดับศาลชั้นต้น แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์มีศาลชำนาญพิเศษซึ่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งหมดจะต้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลางสหพันธรัฐในกรุงวอชิงตันดีซี (US Court of Appeals for the Federal Circuit) ศาลอุทธรณ์กลางมีเขตอำนาจเด็ดขาดในการอุทธรณ์คดีเกี่ยวกับสิทธิบัตรทั้งหมด วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศาลนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้การพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรเป็นรูปแบบเดียวกัน    อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์กลางอาจอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดของสหพันธรัฐต่อไปได้หากศาลสูงสุดเห็นชอบที่จะพิจารณา แต่มีจำนวนคดีน้อยที่ศาลสูงสุดจะรับพิจารณาและคำพิพากษาของศาลสูงสุดก็มีอิทธิพลของระบบกฎหมายสิทธิบัตรมาก
ทั้งนี้ การดำเนินคดีละเมิดในชั้นศาลนั้นใช้กระบวนการพิจารณาคดีเหมือนคดีแพ่งทั่วไปตามหลัก Federal Rules of Civil Procedure และ Federal Rules of Evidence แต่คดีสิทธิบัตรก็มีการพัฒนากฎบางอย่างเป็นการเฉพาะในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

อายุความในการฟ้องร้องคดีละเมิด
การนำคดีฟ้องร้องต่อศาลล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอาจลดจำนวนค่าเสียหายและในบางคดีศาลอาจไม่ออกคำสั่งห้ามให้ โดยทั่วไปศาลมักวางเกณฑ์ว่าหากล่าช้าเกินหกปีนับตั้งแต่วันที่เจ้าของสิทธิบัตรรู้หรือทราบการกระทำละเมิด ทั้งนี้ ศาลอาจพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วยว่าโจทก์เจ้าของสิทธิบัตรละเลยล่าช้าโดยไม่สุจริตหรือไม่ (Laches) หากพบว่ามีการละเลยล่าช้าโดยไม่สุจริต ก็ถือว่าระยะเวลาที่ล่าช้าอาจน้อยกว่าหกปีก็ได้และผลของการพบว่ามีการละเลยล่าช้าโดยไม่สุจริต จะห้ามมิให้เรียกร้องค่าเสียหายก่อนวันที่ฟ้องร้อง หรือในบางกรณีหากความล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอย่างชัดเจน ศาลอาจพิจารณายกคำฟ้องตามหลักกฎหมายปิดปาก (equitable estoppels)  คดีที่สำคัญที่วางหลักการดังกล่าวคือ A.C. Aukerman Co. v. R.L. Chaides Construction Co.  ซึ่งได้รับการยอมรับเป็นหลักกฎหมายสำคัญที่จำกัดการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร

รูปแบบของการดำเนินกระบวนพิจารณา
คดีละเมิดสิทธิบัตรอาจดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อผู้พิพากษา (Judge) หรือต่อลูกขุน (jury) เพราะโจทก์หรือจำเลยอาจร้องขอให้ลูกขุนดำเนินคดีต่อลูกขุนหากคดีมีการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นตัวเงิน (Monetary damage) ในกรณีที่ดำเนินคดีต่อลูกขุนนั้น ผู้พิพากษาจะทำหน้าที่ตัดสินประเด็นข้อพิพาทด้านกฎหมายเท่านั้น  ส่วนลูกขุนจะมีหน้าที่ตัดสินประเด็นข้อเท็จจริง และปรับใช้กฎหมายตามข้อเท็จจริงที่วินิจฉัย แต่หากเป็นการดำเนินคดีต่อศาลนั้น ผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณาพิพากษาประเด็นข้อพิพาททั้งหมด ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสิทธิบัตรมักมีการใช้พยานผู้เชี่ยวชาญค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกรณีการสืบประเด็นปัญหาทางเทคนิคหรือค่าเสียหาย
พัฒนาการที่สำคัญในกระบวนการพิจารณาคดีสิทธิบัตรเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เป็นคดี Markmand v. Westview Instruments  ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการตีความข้อถือสิทธิถือว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลหรือผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ลูกขุน ซึ่งผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้มีการออกคำแนะนำสำหรับคณะลูกขุนในการพิจารณาคดีสิทธิบัตร โดยผู้พิพากษาจะเป็นผู้อธิบายและแนะนำลูกขุนในการตีความข้อถือสิทธิในการพิจารณาประเด็นละเมิดสิทธิบัตรและความไม่ชอบด้วยกฎหมายของสิทธิบัตร อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังคงมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันว่าศาลควรจะตีความข้อถือสิทธิก่อนโดยเร็วแล้วให้คำแนะนำคณะลูกขุนหรืออีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าศาลควรจะรอจนกระทั่งการสืบพยานครบถ้วน ศาลจึงตีความข้อถือสิทธิภายหลัง
ระยะเวลาในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีละเมิดนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนและลักษณะของประเด็นข้อพิพาท ซึ่งอาจเสร็จสิ้นภายในไม่กี่สัปดาห์หรืออาจล่าช้าเป็นปี ในบางศาลได้กำหนดแนวปฏิบัติที่เข้มงวดเรื่องระยะเวลา
สำหรับภาระการพิสูจน์นั้น โดยปกติเจ้าของสิทธิบัตรมีหน้าที่พิสูจน์ว่าจำเลยกระทำละเมิดสิทธิบัตรของตน ซึ่งมาตรฐานการพิสูจน์นั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าน่าจะเป็นความจริง แต่หากจำเลยโต้แย้งว่าสิทธิบัตรมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สามารถบังคับตามกฎหมายได้ จำเลยก็จะมีหน้าที่นำสืบโดยต้องนำเสนอพยานหลักฐานอย่างชัดเจนและจูงใจ (Clear and convincing evidence) ซึ่งระดับหรือมาตรฐานของพยานหลักฐานค่อนข้างสูง ดังนั้น จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ที่มาตรฐานสูงกว่าโจทก์ ทั้งนี้ เพราะกฎหมายถือว่าเจ้าของสิทธิบัตรควรจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องภาระการพิสูจน์นี้ มีข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธี ซึ่งหากกรณีฟ้องร้องว่าผลิตภัณฑ์ละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีและปรากฏว่าผลิตภัณฑ์มีความคล้ายคลึงอย่างมาก (Substantially likelihood) กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยสิทธิบัตรกรรมวิธี กฎหมายกำหนดว่าให้เป็นหน้าที่ของจำเลยผู้กระทำละเมิดในการนำสืบพิสูจน์แทนว่าผลิตภัณฑ์ของตนมิได้ละเมิด
โดยทั่วไปผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบเด็ดขาด (Exclusive licensee) จะสามารถนำคดีฟ้องร้องคดีละเมิดได้แต่ในฐานะโจทก์ร่วมกับเจ้าของสิทธิบัตรเท่านั้น สำหรับผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิทั่วไปหรือตัวแทนจัดจำหน่ายไม่มีสิทธิในการนำคดีละเมิดมาฟ้องร้องได้ ในบางสถานการณ์ ผู้ที่ถูกกล่าวหาอาจนำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาว่าการกระทำของตนไม่เป็นการละเมิดสิทธิบัตรหรือสิทธิบัตรนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ต้องรอให้ต้องถูกฟ้องร้องจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน แต่ในการจะดำเนินการดังกล่าวได้จะต้องผ่านเงื่อนไขสองประการคือเจ้าของสิทธิบัตรต้องกระทำบางอย่างที่ส่งทำให้ผู้ถูกกล่าวกลัวอย่างมีเหตุผลว่าการกระทำของตนเองเป็นการละเมิดสิทธิบัตร และผู้ถูกกล่าวดังกล่าวได้ได้กระทำหรือเตรียมกำลังจะกระทำกิจกรรมที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิบัตร ทั้งนี้ เจ้าของสิทธิบัตรอาจโต้แย้งข้ออ้างต่อศาลได้
ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีฟ้องร้องละเมิดแตกต่างกันตามปัจจัย ตามรายงานสำรวจเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2005 ที่จัดทำโดยสมาคมกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Intellectual Property Law Association) พบว่า คดีละเมิดสิทธิบัตรที่มีทุนทรัพย์ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะมีต้นทุนในการนำสืบพยานหลักฐานโดยเฉลี่ย 350,000 เหรียญสหรัฐฯ และต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมในชั้นศาลและชั้นอุทธรณ์ประมาณ 650,000 เหรียญสหรัฐฯ ในคดีที่มีทุนทรัพย์ระหว่าง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีต้นทุนโดยเฉลี่ยในการนำสืบพยานหลักฐานประมาณ 1.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และต้นทุนโดยรวมเฉลี่ยสูงถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับในคดีที่มีมูลค่าทุนทรัพย์สูงกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีต้นทุนโดยเฉลี่ยในการนำสืบพยานหลักฐานประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และต้นทุนโดยรวมเฉลี่ยสูงถึง 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การเยียวยาทางกฎหมาย (Remedies)
ตามกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯ เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิในการขอเยียวยาได้ค่อนข้างมากหากเปรียบเทียบกับระบบสิทธิบัตรของประเทศอื่น กล่าวคือเจ้าของสิทธิบัตรสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลขอคำสั่งระงับการกระทำละเมิดและเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดและกำไรจากการกระทำละเมิดของจำเลยผู้กระทำละเมิด  ซึ่งมาตรฐานทางปฏิบัติที่ศาลใช้ในการพิจารณาการละเมิดคือความสมเหตุสมผล (Reasonableness) กล่าวคือการเรียกร้องค่าเสียหาย กฎหมายสิทธิบัตรกำหนดว่าค่าเสียหายที่เจ้าของสิทธิบัตรสามารถเรียกร้องได้ต้องไม่น้อยกว่าค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิที่สมเหตุสมผล (reasonable royalty) และสามารถบวกดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย  ทั้งนี้ หากเจ้าของสิทธิบัตรพิสูจน์ได้ว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นโดยจงใจ ศาลอาจกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษได้สูงถึงสามเท่าตัวของค่าเสียหายที่เจ้าของสิทธิบัตรพิสูจน์ได้ ทั้งนี้ ในการเรียกร้องกำไร (profit) นั้นศาลถือว่าค่าสูญเสียกำไรเป็นค่าสูญเสียกำไรจากการขายของผู้ละเมิด ค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิจากการขายของผู้ละเมิดหรือรวมกัน ตามหลักการแล้ว ค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิที่สมเหตุสมผลถือเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหาย โดยปกติ เจ้าของสิทธิบัตรมักร้องขอค่าสูญเสียกำไรมากกว่าเพราะมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิที่สมเหตุสมผล
ค่าสูญเสียกำไรนั้น ศาลใช้เกณฑ์ “But For” กล่าวคือเจ้าของสิทธิบัตรอาจได้ค่ากำไรหากไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น ซึ่งมักพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้ ความต้องการอุปกรณ์ที่ได้รับสิทธิบัตร การไม่มีทางเลือกหรือสิ่งทดแทนที่จะไม่ละเมิด ความสามารถของเจ้าของสิทธิบัตรในการขายหรือจำหน่ายสินค้า และจำนวนกำไรของเจ้าของสิทธิบัตรที่อาจทำกำไรได้จากการขายหรือจำหน่ายของตนเอง
สำหรับการพิจารณาค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิที่สมเหตุสมผลนั้น ศาลได้วางแนวทางที่ยอมรับไว้สามวิธีคือ
(1)      การเจรจาอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยสมมุติ (hypothetical negotiation) โดยสมมุติสถานการณ์หากมีการเจรจาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างเจ้าของสิทธิบัตรกับบุคคลที่ประสงค์จะขอรับสิทธิบัตร ณ เวลาที่มีการละเมิดสิทธิบัตรเกิดขึ้นเพื่อหาจำนวนที่ผู้ประสงค์ขออนุญาตให้ใช้สิทธิยินยอมจะจ่าย ใช้ 15 ปัจจัยตามหลัก Georgia-Pacific factors  ที่ใช้ในการประเมินค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิที่สมเหตุสมผล
(2)     อัตราค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ยอมรับกันทั่วไป (established royalty rate) ซึ่งมักจะเปรียบเทียบกับอัตราค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอื่นในลักษณะเดียวกันที่มีการยอมรับกันแพร่หลายและเงื่อนไขเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผู้ละเมิดสิทธิต้องการหลีกเลี่ยง
(3)      วิธีวิเคราะห์ (analytical method) เป็นวิธีการหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดของผู้ละเมิดออกจากกำไรโดยรวม กำไรสุทธิที่ยอมรับได้จะหักไว้ให้ผู้กระทำละเมิด และส่วนที่เหลือจะให้แก่เจ้าของสิทธิบัตร
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของสิทธิบัตรสามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองสามารถทำกำไรบางส่วนได้จากการขายของผู้กระทำละเมิดสิทธิบัตร ศาลอาจกำหนดให้ค่าเสียหายทั้งสองประเภท นอกจากนี้ เจ้าของสิทธิบัตรอาจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้อีกในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าตนเองอาจมียอดขายสูงขึ้นหรือขายได้ในราคาที่สูงขึ้นหรืออาจขายสินค้าอื่นร่วมด้วย หากไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น
หากศาลพบว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวมีเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในสิทธิบัตรของผู้ฟ้องร้องจริง นอกจากศาลจะให้ค่าเสียหายแล้ว ศาลมักจะพิจารณาออกคำสั่งห้ามกระทำละเมิด (Injunction) ด้วย แต่ในระหว่างที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ศาลก็อาจออกคำสั่งห้ามก่อนที่จะมีคำพิพากษาก็ได้ (Preliminary injunction) เพื่อระงับหรือหยุดการกระทำที่กำลังละเมิดอยู่ ทั้งนี้ ศาลมักจะพิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ซึ่งผู้ร้องขอคำสั่งห้ามชั่วคราวมีหน้าที่ต้องพิสูจน์

ในกรณีที่พบว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ฟ้องร้องจะประสบความสำเร็จในการดำเนินคดี
ผู้ฟ้องร้องจะไม่สามารถได้รับการเยียวยา หากศาลไม่มีคำสั่งห้ามชั่วคราว
มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นจากการออกหรือไม่ออกคำสั่งห้ามชั่วคราว และ
การออกคำสั่งห้ามชั่วคราวอาจมีผลต่อการบรรเทาทุกข์สาธารณะ
โดยทั่วไป ศาลอาจเพิกถอนการเยียวยาสำหรับการละเมิดหากเจ้าของสิทธิบัตรพยายามแสวงหาประโยชน์จากสิทธิบัตรโดยมิชอบ เช่น การละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาดหรือการขยายขอบเขตสิทธิบัตรโดยมิชอบ โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดบังคับซื้อผลิตภัณฑ์ที่มิได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตรควบคู่กับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตร หากเจ้าของสิทธิบัตรมีอำนาจเหนือตลาด (การพ่วงขาย) การห้ามมิให้ซื้อขายหรือทำธุรกิจกับคู่แข่งขันของเจ้าของสิทธิบัตร การบังคับให้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรแบบชุด (Package licensing of patent)
ทั้งนี้ ศาลอาจเพิกถอนหรือไม่มีคำสั่งเยียวยาตามหลักกฎหมายการละเลยล่าช้าโดยมิชอบ (Laches) และหลักกฎหมายปิดปาก (Equitable estoppels) กล่าวคือการละเลยล่าช้าโดยมิชอบนั้น ศาลอาจห้ามความรับผิดชอบสำหรับค่าเสียหายละเมิดสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นเกิดวันที่ฟ้องร้องต่อศาล หากโจทก์เจ้าของสิทธิบัตรล่าช้าละเลยโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือกล่าวอ้างได้และจำเลยที่ถูกกล่าวหาได้รับความเสียเปรียบจากความล่าช้าดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการเสียเปรียบทางการเงินหรือพยานหลักฐาน สำหรับกรณีกฎหมายปิดปากนั้น ศาลอาจห้ามโจทก์จากการฟ้องร้องหากเจ้าของสิทธิบัตรดำเนินการในลักษณะชักจูงในทางที่ผิดแกผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าโจทก์เจ้าของสิทธิบัตรไม่ประสงค์จะบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรกับผู้ที่ถูกกล่าวหาและผู้ที่ถูกกล่าวหาเชื่อตามพฤติกรรมนั้นและทำให้เกิดความเสียเปรียบอย่างร้ายแรงจากการเชื่อดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น