วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเปิดเสรีบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในยุโรป

การเปิดเสรีบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในยุโรป

บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile TV) เป็นตัวอย่างที่สำคัญของการหล่อมรวมเทคโนโลยีดิจิตอลที่สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ขึ้นและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภค โดยเป็นการนำสื่อภาพและเสียงไปให้บริการบนเครื่องอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นการผนวกรวมบริการที่ในอดีตแยกจากกันในการให้บริการ บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นรูปแบบธุรกิจที่นำเสนอบริการที่มีนวัตกรรมล้ำยุคนำสมัยและมีมูลค่าเพิ่มเพราะเป็นการหล่อมรวมบริการสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับบริการแพร่ภาพกระจายเสียง ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์แบบสดได้ทุกสถานที่และทุกเวลา รวมทั้งเป็นบริการแบบ interactive ด้วย กล่าวคือสามารถรับชมรายการวิดีโอตามสั่งได้ (video on demand service) จึงมีการคาดการณ์ว่าบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต โดยอาจสร้างงานและมีการลงทุนในตลาดเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันนี้ ตลาดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการให้บริการแล้วในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ในสหภาพยุโรปนั้น ตลาดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือว่ายังคงอยู่ในขั้นต้นของการพัฒนา โดยมีเพียงสี่ประเทศสมาชิกเท่านั้นที่เริ่มมีการให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว คือ อิตาลี เยอร์มันนี ฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยปี ค.ศ. 2006 ถือเป็นจุดเริ่มต้นศักราชของบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และปี ค.ศ. 2007 นี้เองก็ถือเป็นเริ่มมีการให้บริการในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2008 จะมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นเนื่องจากมีการชิงแชมป์ฟุตบอลยุโรปและมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

ตารางสถานะของบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหภาพยุโรป

Technology Member states in which technology is in use
Trials Commercial launch
DVB-H AT, BE, CZ, DE, ES, FR, HU, IE,
LT, LU, NL, PT, SE, SI, UK IT, FI
DMB/DAB-IP FR, IE, NL, UK DE, UK
MediaFLO FR, UK

นอกจากธุรกิจด้านโทรคมนาคมแล้ว ยังเกิดธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์และระบบวิดีโอผ่านเครือข่ายบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรปขึ้นด้วย แต่ต้องถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้นในลักษณะทดสอบหรือลองถูกลองผิดตั้งแต่การนำเสนอเนื้อหารายการทีวี และอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผลต่อการจ่ายของผู้ใช้บริการ ดังนั้น ราคาที่นำเสนอเพื่อลองตลาดในช่วงนี้จึงต้องเรียกว่า "sweet spot" นั่นคือ เป็นราคาแบบดึงดูดใจให้มาใช้บริการกันก่อน จึงยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องโครงสร้างอัตราค่าบริการ  แต่จากรายงานการสำรวจระบุว่า สมาชิกที่ใช้บริการยินดีที่จะจ่ายเงินสำหรับดูทีวีผ่านมือถือต่อเดือนอยู่ระหว่าง 8-15 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเฉลี่ยจึงอยู่ที่ 11.75 เหรียญสหรัฐฯ และโดยทั่วไปผู้ใช้บริการจะใช้เวลาชมโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ประมาณ 20 นาทีต่อวัน แม้ว่าผู้ใช้บริการบางรายจะใช้บริการโทรทัศน์ประมาณ 30-40 นาทีต่อครั้ง และมักชมในเวลาที่แตกต่างจากบริการโทรทัศน์ทั่วไป บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับความนิยมในขณะที่มีการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะและส่วนใหญ่ชมรายการข่าวล่าสุด แต่รายการที่ได้รับความนิยมในระบบโทรทัศน์ทั่วไปก็ได้รับความนิยมเหมือนกัน

แนวนโยบายเปิดเสรีในยุโรป
 ในปี ค.ศ. 2005 คณะกรรมการสหภาพยุโรปเริ่มตระหนักว่าธุรกิจแพร่ภาพกระจายเสียงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นโอกาสสำคัญสำหรับยุโรปในการรักษาและขยายความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการแพร่ภาพกระจายเสียงเพราะทุกวันนี้ยุโรปยืนอยู่บนทางเลือกว่าจะตัดสินใจเป็นผู้นำระดับโลกเนื่องจากใช้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามมาตรฐานระบบ GSM ที่พัฒนาโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยุโรปเองหรือจะยอมให้ภูมิภาคอื่นได้ส่วนแบ่งตลาดจากตลาดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ แนวทางเฝ้าดู (Wait-and-see) ไม่ใช่ทางเลือก จึงเป็นช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมและรัฐบางยุโรปต้องให้ความสำคัญกับบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ การแนะนำและให้บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรปค่อนข้างช้าในขณะที่คู่แข่งขันได้รุดหน้าไปด้วยความรวดเร็ว หากยุโรปยังไม่มีแผนดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม อาจสูญเสียศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น อัตราการขยายตัวของบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียมีประมาณ 10% แต่การขยายตัวในอิตาลีซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ก้าวหน้าที่สุดในยุโรปยังคง 1%
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าตลาดโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่อาจมีมูลค่า 20 พันล้านยูโรก่อน ค.ศ. 2011 โดยอาจมีลูกค้าประมาณ 500 ล้านทั่วโลก คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงเล็งเห็นว่าบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่จะสามารถสร้างงานและโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ผลิตเนื้อหารายการ ผู้ให้บริการและผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานในยุโรป รวมทั้งอาจนำเสนอบริการมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ แก่ประชาชนในยุโรป ดังนั้น คณะกรรมมาธิการสหภาพยุโรปประกาศชัดเจนว่าในระยะต้นนี้จะมีแนวนโยบายทางการควบคุมในแบบกำกับดูแลน้อยเท่าที่จำเป็น (light touch regulatory approach) เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุนและส่งเสริมให้เกิดากรแข่งขันในตลาดที่เพิ่งจะเกิดใหม่นี้  อนึ่ง ตามรายงาน “Communication on Strengthening the Internal Market for Mobile TV” คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาว่ามีสามปัจจัยหลักในการดำเนินการบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่

1. มาตรฐานทางเทคนิค (Technical Standard)
ปัจจุบันนี้ บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่มีหลายเทคโนโลยีในการส่งแพร่ภาพกระจายเสียงในยุโรป  คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปมีนโยบายที่จะให้มีมาตรฐานร่วมกันเพื่อลดการกระจัดกระจายของตลาดที่เกิดจากทางเลือกทางเทคนิคหลายทางสำหรับการให้บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังเช่นความสำเร็จในมาตรฐานของระบบ GSM ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยอมรับทั่วไปที่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในต้นทศวรรษที่ 1980 ซึ่งปัจจุบันนี้ระบบเทคโนโลยี DVB-H (Digital Video Broadcasting for Handhelds) เป็นเทคโนโลยีที่มีการทดลองใช้ในยุโรปแล้ว 18 ประเทศและเริ่มแพร่หลายทั่วโลก ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงจัดเตรียมที่จะบรรจุระบบ DVB-H ของบริษัทโนเกียเป็นมาตรฐานที่สหภาพยุโรปยอมรับ และส่งเสริมให้ใช้ในประเทศสมาชิก แต่ปัจจุบันนี้ คณะกรรมการสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาพัฒนาการของตลาดอย่างใกล้ชิดและมีแผนงานที่จะยื่นข้อเสนอมาตรฐานร่วมดังกล่าวในปี ค.ศ. 2008  ตากากจำเป็นและเหมาะสม คณะกรรมการสหภาพยุโรปอาจกำหนดบังคับใช้ระบบ DVB-H ซึ่งเทคโนโลยี DVB-H สามารถส่งสัญญาณได้ด้วยคุณภาพที่ดีและลดการใช้แบ๊ตเตอรี่และสามารถส่งสัญญาณได้ถึง 55 ช่อง อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมแพร่ภาพกระจายเสียงคัดค้านท่าทีดังกล่าวของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเพราะอยากให้เป็นไปตามกลไกตลาด
ดังนั้น ปัจจุบันนี้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาทางเลือกสองทางเลือก โดยทางเลือกแรกนั้นคือการมีมาตรฐานเดียวทั่วสหภาพยุโรป ซึ่งอาจมีประโยชน์ในแง่ของความประหยัดโดยขนาด (Economies of scale) การเริ่มดำเนินการได้รวดเร็ว อุปกรณ์มีราคาถูกกว่า และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของสหภาพยุโรป แต่ปัจจัยที่สำคัญสำหรับการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ความตกลงระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมด้านมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจมีกฎหมายรองรับให้ถือเป็นมาตรฐานที่ถูกบังคับ สำหรับทางเลือกที่สองคือปล่อยให้แต่ละประเทศสมาชิกตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีได้เองเพราะอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศจำเป็นต้องมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและลดต้นทุนที่เกิดจากปรับเปลี่ยนระบบเทคโนโลยีสำหรับต้นทุนที่อุตสาหกรรมได้ลงทุนไปแล้วในมาตรฐานที่แตกต่างออกไป ซึ่งแนวทางนี้จะลดภาระด้านการจัดการของสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก
2. คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Spectrum)
ปัจจัยความสำเร็จในการให้บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่คือการจัดสรรคลี่นความถี่วิทยุให้แก่บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในระดับสหภาพยุโรป ปัจจุบันนี้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะกำลังกำหนดยุทธศาสตร์ของยุโรปในเรื่องความแตกต่างของดิจิตอล (Digital Divide) โดยเฉพาะในประเด็นคลื่นความถี่วิทยุจะจัดสรรให้พร้อมกับแนวนโยบายการหยุดให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงระบบอนาล็อคและปรับเปลี่ยนเป็นระบบการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดิจิตอลในปี ค.ศ. 2012 กล่าวคือคณะกรรมาธิการยุโรปได้ร้องขอประเทศสมาชิกให้จัดสรรคลื่นความถี่แก่การเผยภาพกระจายเสียงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เร็วที่สุด ปัจจัยที่สำคัญคือการว่างของคลื่นความถี่วิทยุ UHF ที่สามารถใช้ได้จากการหยุดให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อค ซึ่งเส้นตายที่จะหยุดให้บริการคือปี ค.ศ. 1012 นอกจากนี้ คณะกรรมการสื่อสารด้านความแตกต่างดิจิตอล (Commission Communication on the Digital Dividend) ได้วางแผนในการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุเหล่านั้น โดยเฉพาะช่วงคลื่นความถี่ UHF band (470-862 MHz) ซึ่งพร้อมจะจัดสรรให้ได้ และถือว่าเป็นคลื่นความถี่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย แต่ตามการใช้คลื่นความถี่วิทยุดังกล่าวก็มีข้อจำกัดโดยนโยบายของแต่ละประเทศในเรื่องความแตกต่างด้านดิจิตอลและการขาดการประสานงานกันของประเทศสมาชิก ดังนั้น คณะกรรมการดังกล่าวก็ได้ร้องขอให้ประเทศสมาชิกพิจารณาระบุช่วงคลื่นสำหรับบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในนโยบายความแตกต่างด้านดิจิตอล
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการเริ่มเปิดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอีกช่วงคลื่นหนึ่งเรียกกว่า L-band (1452-1492 MHz) เพื่อสำรองในกรณีที่ไม่สามารถจัดสรรคลื่นช่วง UHF ได้ การใช้คลื่นความถี่เหล่านี้มีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี คณะกรรมการได้จัดทำข้อเสนอในการใช้คลื่นความถี่ช่วงนี้เพื่อให้สามารถครอบคลุมเทคโนโลยีและบริการที่หลากหลายได้

3. กรอบการกำกับดูแล (Regulatory Framework)
เนื่องจากแนวทางการกำกับดูแลบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีความแตกต่างกัน เพราะปัจจุบันไม่มีกลไกการอนุญาตทางกฎหมายอื่นแทนที่ระบบการอนุญาตทั่วไป (General authorization) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในนโยบายการกำกับดูแลและอาจส่งผลให้เกิดการกีดกันการแข่งขันในระดับสหภาพยุโรป คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปพิจารณาว่าบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นบริการใหม่ จึงไม่ควรถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ขั้นตอนในการพัฒนากรอบการกำกับดูแลคือ การจัดให้มีการแลกเปลี่ยนของแนวปฏิบัติที่ดีของแต่ละประเทศสมาชิก และหารือเพื่อกำหนดกรอบแนวทางกำกับดูแลการอนุญาตบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อนในระดับสหภาพยุโรป แล้วค่อยวางกรอบในการกำกับดูแลร่วมกันในมิติอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต หากเห็นว่าจำเป็น
ในการดำเนินการกำหนดกรอบกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2006 โดยการพยายามสนับสนุนการจัดตั้งสภาธุรกิจแพร่ภาพกระจายเสียงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งยุโรป (European Mobile Broadcasting Council: EMBC) เพื่อส่งเสริมบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรป โดยเป็นการรวบรวมบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้ผลิตเนื้อหารายการและระบบซอฟท์แวร์  อย่างไรก็ตาม สภาการแพร่ภาพกระจายเสียงบนโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งยุโรปไม่สามารถตกลงกันได้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจึงต้องเข้ามาแทรกแซงและสนับสนุนการเริ่มดำเนินการให้บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรป
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกได้จัดทำนโยบายผ่านกลุ่มนโยบายคลื่นความถี่วิทยุ โดยอุตสาหกรรมก็ได้เข้ามีส่วนในการสนทนากับคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับข้อกำหนดคลื่นความถี่วิทยุและรูปแบบธุรกิจ ซึ่งคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะเก็บรวบรวมเพื่อพัฒนานโยบายบริการโทรทัศน์บนระบบอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุโรปโดยจะประกาศในเอกสารสหภาพยุโรปเรื่อง การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตลาดภายในสำหรับบริการโทรทัศน์บนระบบอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ (Strengthening the Internal Market for Mobile TV)
ทั้งนี้ แนวนโยบายหลักของคณะกรรมาธิการสหภาพคือการประกันการแข่งขันที่เท่าเทียมกันทั่วยุโรป คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้ประกาศเผยแพร่เอกสารปรึกษาหารือใหม่ แต่การดำเนินการทบทวนดังกล่าวอาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งอาจล่าช้าเกินไป อีกแนวนโยบายหนึ่งคือใช้มาตรการที่ไม่ผูกพันทางกฎหมาย โดยร่วมกันวางกรอบแนวทางอนุญาตบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้นตามความเหมาะสมของการให้บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปยังสนับสนุนการพัฒนาบริการโทรทัศน์บนระบบอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยการอุดหนุนเงินทุนวิจัย ตามโครงการกรอบการวิจัยครั้งที่ 6 ระหว่างปี ค.ศ. 2002-2006 ประมาณ 40 ล้านเหรียญยูโรของเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้กับการวิจัยโดยตรงหรือโดยอ้อมที่เกี่ยวกับบริการโทรทัศน์บนระบบอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่

แนวทางการเปิดเสรีของประเทศสมาชิก

อิตาลี
องค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสารของอิตาลี (AGCom) ได้เริ่มกำกับดูแลบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2006 เพื่อให้ทันกับการเริ่มแพร่ภาพกระจายเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 2006 ณ ประเทศเยอร์มันนี (FIFA World Cup Germany 2006) หลังจากที่เริ่มมีการแพร่ภาพกระจายเสียงในระบบดิจิตอลระบบ DVB-H mobile TV Multiplex ครั้งแรกในต้นเดือนมิถุนายน โดยค่าย “La3” ที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ UMTS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Hutchison Whampoa และต่อมาค่ายที่สองเริ่มให้บริการในช่วงใกล้เคียงกันคือบริษัท TIM (Telecom Italia’s mobile division) และบริษัท Vodafone Italy ปัจจุบัน ตลาดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอิตาลีคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการสูงถึง 7 ล้านคนในภายในปี ค.ศ. 2010 และคาดว่าจะมีรายได้ประมาณสามพันล้านเหรียญยูโร
สำหรับกระบวนการยื่นขออนุญาตนั้น องค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสารของอิตาลีได้ยึดหลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี โดยจะไม่มีการไม่เลือกปฏิบัติต่อระบบเทคโนโลยีที่จะให้บริการ ทุกเทคโนโลยีอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันที่ใช้บังคับกับโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินทั่วไปทั้งผู้ให้บริการเนื้อหาและผู้ให้บริการโครงข่ายด้วย
ทั้งนี้ องค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสารอิตาลีกำกับดูแลผู้ให้บริการเนื้อหารายการ ผู้ให้บริการเข้าใช้โครงข่ายอย่างมีเงื่อนไข และผู้ให้บริการโครงข่ายแตกต่างกัน โดยมีใบอนุญาตแยกกันและกรอบกำกับดูแลแตกต่างกัน กล่าวคือ กระทรวงสื่อสารของอิตาลีได้อนุญาตแก่ผู้ให้บริการเนื้อหาและผู้ให้บริการเข้าใช้โครงข่ายอย่างมีเงื่อนไข คล้ายกับกรณีการกำกับดูแลบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินประจำที่ระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นแนวทางการอนุญาตทั่วไป (General authorization) คือกระทรวงสื่อสารต้องออกการอนุญาตภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ หากผู้ยื่นคำขอปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้ครบถ้วน เช่น โครงสร้างองค์กรของบริษัท สถานะทางการเงินของบริษัทที่มั่นคง และประวัติอาชญากรรมของผู้บริหาร นอกจากนี้ ผู้ยื่นคำขอยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเนื้อหารายการหรือโปรแกรมที่จะแพร่ภาพกระจายเสียงในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการเนื้อหาและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานทางเทคนิคของการส่งสัญญาณในฐานะผู้ให้บริการเข้าใช้โครงข่ายอย่างมีเงื่อนไข
สำหรับบริการโครงข่ายโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น องค์กรกำกับดูแลอิตาลีอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การอนุญาตเฉพาะตัว (individual licenses) แต่ก็มีความชัดเจนว่าผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตสำหรับให้บริการโครงข่ายภาคพื้นดินประจำที่ระบบดิจิตอลถือว่าได้รับอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงบนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย หากยื่นคำขอเพิ่มเติมแก่กระทรวงสื่อสารของอิตาลี ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป นอกจากหลักเกณฑ์เรื่องการออกใบอนุญาตแล้ว การกำกับดุแลเรื่องการผูกขาดก็ใช้บังคับกับผู้ประกอบการโครงข่ายด้วย

สหราชอาณาจักร
ในสหราชอาณาจักร องค์กรกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (OFCOM) กำลังทำการทบทวนนโยบายความแตกต่างของดิจิตอล (Digital Dividend Review) ซึ่งมีเป้าหมายจัดให้มีบริการโทรทัศน์ระบบ UHF จำนวน 14 ช่องที่เผยแพร่ตามหลักเกณฑ์การเปลี่ยนระบบดิจิตอล (Digital Switchover) สำหรับการให้บริการรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ สามารถใช้กับมากกว่าหนึ่งบริการมาตรฐาน เช่น บริการความคมชัดสูง (High Definition: HD) หรือบริการโทรทัศน์บนเครื่องมือถือ หากบริการโทรทัศน์บนเครื่องมือถือได้รับการจัดสรรในบางช่องโทรทัศน์ เทคโนโลยีที่แตกต่างรวมถึง DVB-H และ FLO (Qualcomm mobile TV technology) อาจสามารถแข่งขันใช้ในช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ ได้
องค์กรกำกับดูกิจการสื่อสารของสหราชอาณาจักรมีท่าทีชัดเจนว่าแม้ว่าจะไม่เห็นว่าการเปลี่ยนเข้าระบบดิจิตอลจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์จนกระทั่งปี ค.ศ. 2012 ในสหราชอาณาจักร แต่มีการพิจารณาให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุบางคลื่น ‘III band’ โดยจะสงวนไว้สำหรับ DAB, private mobile radio (PMR) และ Programme Managing and Special Events (PMSE) และอีกร้อยละ 20 ของความสามารถในการรองรับบริการ DAB จะสงวนไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่มิใช่วิทยุ (non-radio purposes) การสงวนดังกล่าวครอบคลุมบริการแพร่ภาพกระจายเสียงบริการโทรทัศน์บนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อเทคโนโลยีเหมือนกรณีของอิตาลี เพราะสามารถรองรับระบบ DAB-IP (ie DAB standards that enable internet protocol transport over DAB) และบริการอื่น ๆ  เช่น บริการ Movio ของบริษัท BT
ตามแผนงานแล้ว องค์กรกำกับดูแลกิจการสารสื่อสารของสหราชอาณาจักรตัดสินใจอนุญาตคลื่นความถี่ช่วง L-band เพื่อประมูลในปลายปี ค.ศ. 2007 โดยจะไม่มีการเลือกบริการหรือเทคโนโลยีที่จะให้บริการ ปล่อยให้ผู้ประกอบการแข่งขันกับกับผู้สนใจให้บริการธุรกิจไร้สายความเร็วสูงเช่นกรณีของ WiMAX  บริการวิทยุระบบดิจิตอลผ่านดาวเทียม หรือผู้แพร่ภาพกระจายเสียงรายอื่น
สำหรับการให้บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหราชอาณาจักรนั้น บริษัท Arqiva ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินทั้งระบบอานาล็อคและดิจิตอลได้ทดลองให้บริการโทรทัศน์บนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเมือง oxford ซึ่งมีผู้ใช้บริการของบริษัท O2 ซี่งเป็นระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จำนวน 375 ราย โดยเปิดให้บริการ 36 ช่อง การทดลองใช้เทคโนโลยี DVB-H ในสภาพความเป็นจริง บริษัท Arqiva สร้างโครงข่ายโดยมีตัวส่งสัญญาณ 8 เครื่องบนช่อง 31 ของระบบ UHF ซึ่งได้รับใบอนุญาตทดลองและพัฒนาเฉพาะจาก OFCOM และบริษัท BT เองก็ให้บริการ BT Movio ซึ่งให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบขายส่งแก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่อื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยี DAB ซึ่งบริษัท BT เป็นรายแรกที่วางโครงข่ายบริการโทรทัศน์บนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหราชอาณาจักร

เยอร์มันนี
ในเยอร์มันนีนั้น การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงเป็นของรัฐบาลมลรัฐ โดยห้ามลรัฐทางเหนือได้ร่วมกันส่งเสริมเทคโนโลยีบริการโทรทัศน์บนระบบอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ DVB-H ที่เป็นโครงการนำร่องที่ใช้ในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ. 2006 ซึ่งผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเยอร์มันนีมีสี่รายประกอบด้วยบริษัท E-Plus, O2, T-Mobile และ Vodafone D2 ได้ร่วมกันให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงในสี่เมืองสำคัญ โดยร่วมมือกับรายการโทรทัศน์ 14 รายการและรายการวิทยุอีก 6 รายการ แต่ก็มีประเด็นปัญหาทางกฎหมายในเรื่องการผูกขาด กล่าวคือสำนักงานแข่งขันทางการค้าของรัฐบาลกลางกำลังตัดสินใจว่าความร่วมมือดังกล่าวของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติกฎหมายป้องกันการผูกขาดและว่าโครงการนำร่องสามารถขยายเป็นโครงการระยะยาวขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งในที่สุดสำนักงานแข่งขันทางการค้าก็พิจารณาอนุญาตการรวมตัวดังกล่าวด้วย เพราะแนวทางการรวมตัวของทั้งสี่บริษัทนี้จะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อจัดหาเนื้อหารายการและสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการ แต่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะทำการตลาดในบริการโทรทัศน์บนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่แยกกันและจะแข่งขัน นอกจากนี้ยังอาจจัดให้มีรูปแบบธุรกิจแบบขายปลีกขายส่งด้วยโดยใช้โครงข่ายเดียวกัน การรวมตัวดังกล่าวไม่ได้สร้างโครงข่าย DVB-H เพราะสิทธิในการสร้างและดำเนินการโครงข่ายจะต้องได้รับอนุญาตแยกต่างหากจากองค์กรกำกับดูแลกิจการสาธารณูปโภค คือBundesnetzagentur (BNetzA)  ซึ่งผู้ประกอบการร่วมดังกล่าวจะไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตดังกล่าว การร่วมกันลงทุนและใช้ทรัพยากรร่วมกันไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงข่าย ผู้ประกอบการมุ่งที่จะให้ต้นทุนมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับอีกสี่มลรัฐคือ Hamburg, Lower Saxony, Berlin และ Brandenburg ได้ดำเนินกระบวนการเปิดยื่นข้อเสนอ โดยใช้วิธีการคัดเลือกแบบ beauty contest ซึ่งผู้ชนะจะได้รับใบอนุญาตสองฉบับคือใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายและใบอนุญาตให้บริการเนื้อหารายการ ปรากฎมีบริษัทที่สนใจยื่นขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่และใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงจำนวนมาก รวมทั้งผู้ประกอบการแพร่ภาพกระจายเสียงรายอื่น เช่น Premiere, ProSiebenSat.1 และ the RTL Group ผลปรากฎว่าบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ Fernsehen Deutschland ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุในแทบทุกมลรัฐและวางแผนที่จะนำเสนอรายการโทรทัศน์สามหรือสี่รายการและรายการวิทยุสองรายการ
โดยสรุป ในการเปิดเสรีตลาดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของสหภาพยุโรปกำลังเผชิญประเด็นปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่คือระบบการอนุญาต การจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ และมาตรฐานทางเทคนิคมากกว่าประเด็นทางด้านการให้บริการในเชิงพาณิชย์และนวัตกรรม คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้เริ่มพิจารณาวางนโยบายเพื่อส่งเสริมตลาดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างจริงจัง เช่น การประสานงานเรื่องความถี่วิทยุในระดับยุโรปและกำหนดมาตรฐานร่วมทางเทคนิคเพื่ออนุญาตให้มีการให้บริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้บรรจุรวมอยู่ในวาระของโครงการความแตกต่างด้านดิจิตอลที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนจากการแพร่ภาพกระจายเสียงโทรทัศน์ระบบอนาล็อคเป็นระบบดิจิตอลด้วย โดยสหภาพยุโรปคาดหวังไว้กับตลาดบริการโทรทัศน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่อนข้างสูงมากและวางนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมให้พร้อมกับการแข่งขันที่คาดว่าจะเข้มข้นขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย

เอกสารอ้างอิง:
Commission of the European Communities, Strengthening the Internal Market for Mobile TV, Commission Staff Working Document, SEC (2007) 981.
David Tilson, Mobile TV and Video: The Emerging Story in the USA and the United Kingdom, 2006.
Freshfields Bruckhaus Deringer, Mobile TV Regulation in EU, August 2006.
Peter Curwen, Technical Innovations: Mobile Television, Communications & Strategies, No. 62, 2rd Quarter 2006, p 183-194.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น