วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เงื่อนไขการขอรับความคุ้มครองของสหรัฐอเมริกา (Statutory Requirement)

เงื่อนไขการขอรับความคุ้มครองของสหรัฐอเมริกา
(Statutory Requirement)

มาตรา 101 ของกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯได้กำหนดเงื่อนไขทั่วไปสำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ว่าผู้ใดที่ประดิษฐ์หรือค้นพบกรรมวิธี เครื่องจักรกล การผลิต หรือส่วนประกอบของสิ่งต่าง ๆ ที่ใหม่และมีประโยชน์ หรือการพัฒนาปรับปรุงสิ่งเหล่านั้นใหม่และมีประโยชน์อาจได้รับสิทธิบัตรตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด  อาจกล่าวได้ว่าการประดิษฐ์นั้นที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรต้องผ่านเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

สิ่งที่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ (Patentable Subject Matter)
กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯ กำหนดประเภทของสิ่งที่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ว่าหมายความรวมถึงกรรมวิธี เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบสามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ ซึ่งตามถ้อยคำนี้หมายความครอบคลุมถึงการประดิษฐ์ทุกประเภทที่มีประโยชน์เท่าที่จะจินตนาการได้  ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯ ค่อนข้างจะเปิดกว้างมากในการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรเพราะไม่จำกัดประเภทของสิ่งที่จะขอรับสิทธิบัตรและสาขาเทคโนโลยีหรือวิทยาการ โดยเฉพาะคดี Diamond v. Chakrabarty  ในปี ค.ศ. 1980 ซึ่งศาลสูงสุดของสหรัฐฯได้ยอมรับให้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรจุลชีพ (microorganism) ที่ประดิษฐ์โดยมนุษย์ พร้อมวางหลักกฎหมายว่า “สิ่งที่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้รวมถึงสิ่งใด ๆ ภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ทำหรือผลิตโดยมนุษย์” จึงเป็นการเปิดมิติของการขอรับสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐฯ โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ หลักการในคดี Chakrabarty ได้รับการขยายความโดยศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐฯและสำนักงานสิทธิบัตร โดยยอมรับการให้ความคุ้มครองและจดทะเบียนสิทธิบัตรโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (software)  วิธีการดำเนินธุรกิจ (business methods)  กระบวนการผ่าตัดรักษา (surgical procedures) วิธีการเล่นกีฬา (method of performing sports) และลำดับของยีน (gene sequences)
ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้น กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯเป็นประเทศแรกที่ยอมรับสิทธิบัตรโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และได้มีการพัฒนากฎเกณฑ์อย่างเป็นระบบ โดยกำหนดว่าสิ่งต่อไปนี้ไม่สามารถขอรับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิบัตร
โครงสร้างข้อมูลหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลมากกว่ากระบวนการทำงานของคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรกลหรือหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ในฐานะที่เป็นผลิตภัณฑ์
การรวบรวมหรือการจัดเรียงของข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือสื่อกลางจัดเก็บข้อมูล
ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น พลังงานไฟฟ้าหรือแม่เหล็ก
ทั้งนี้ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่ถือว่าแตกต่างจากความคิดนามธรรมและกฎตามธรรมชาติ (Abstract ideas and laws of nature) จึงไม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ อย่างไรก็ตาม โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถได้รับความคุ้มครองในฐานะเป็นสิทธิบัตรกรรมวิธี (process patent) และหากถือสิทธิเกี่ยวกับโครงสร้างทางกายภาพของคอมพิวเตอร์ (Physical structure of computer)
แต่ที่ผ่านมาก็มีการประดิษฐ์บางประเภทที่ไม่สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ ตัวอย่างเช่น กฎตามธรรมชาติ (laws of nature) สิ่งพิมพ์ทั่วไป (printed matter) สูตรทางคณิตศาสตร์ (scientific and mathematical principles) กระบวนการทางความคิด (mental steps) และงานวรรณกรรมทั่วไปไม่สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้เหมือนระบบสิทธิบัตรของประเทศอื่น
ในปัจจุบันวิธีดำเนินธุรกิจ (Business method)  และกระบวนการทางการแพทย์ (Medical procedure) สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้หากเข้าเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็มีข้อจำกัดในการให้ความคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิบัตรกระบวนการทางการแพทย์และวิธีดำเนินธุรกิจ ตัวอย่างเช่น การเยียวยาการละเมิดสิทธิบัตรจะไม่ใช้บังคับกับแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ดำเนินกิจกรรมทางการแพทย์ในการรักษาหรือบำบัดโรค ในบางกรณีจำกัดค่าเสียหายในความรับผิดทางละเมิดสำหรับวิธีดำเนินธุรกิจกับผู้ละเมิดที่คิดค้นและนำไปปฏิบัติได้ภายในหนึ่งปีก่อนวันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรและมีการใช้ในเชิงพาณิชย์ก่อนวันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร
หลักเกณฑ์การพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตรวิธีการดำเนินธุรกิจของสำนักงานสิทธิบัตรนั้นเป็นไปตาม White Paper on Automated Financial or Management Data Processing Methods (Business Methods)(2000) และ Formulating and Communicating Rejections under 35 U.S.C. 103 for Applications Directed to Computer-Implemented Business Method Inventions (2000).
อย่างไรก็ตาม การขยายขอบเขตสิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรของระบบสิทธิบัตรสหรัฐฯ มักได้รับการวิจารณ์จากนักวิชาการทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศว่าสำนักงานสิทธิบัตรไม่มีความจำเป็นที่จะรับจดทะเบียนหรือให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรดังกล่าว ซึ่งมีการออกสิทธิบัตรที่ไม่จำเป็นอยู่บ่อยครั้ง เช่น สิทธิบัตรวิธีการแกว่งชิงช้าที่ประดิษฐ์โดยเด็กอายุห้าขวบ (Method for Swinging on a Swing) ชุดมนุษย์ค้างคาวที่สามารถเหาะได้ (Bat boy) หรือการออกสิทธิบัตรวิธีการซื้อหนังสือผ่านระบบอินเตอร์เน็ทโดยคลิ๊กครั้งเดียวที่ยื่นขอโดย Amazon.com  ซึ่งสิทธิบัตรหลายฉบับดังกล่าวกลับกลายเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าเป็นกลไกจูงใจและส่งเสริมนวัตกรรม ซึ่งรายงานของคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯ (FTA) ได้เสนอแนะว่าศาลอุทธรณ์กลางควรใช้เกณฑ์พิจารณาขยายขอบเขตสิ่งที่จะให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร โดยพิจารณาความอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันประกอบกับเกณฑ์อื่น ๆ ในขณะที่รายงานของสภาวิจัยแห่งชาติ (National Research Council) ซึ่งเรียกว่า “STEP Report” เสนอแนะให้สำนักงานสิทธิบัตรและศาลอุทธรณ์กลางควรพิจารณาเทคโนโลยีที่แตกต่างกันให้แตกต่างกันแต่ต้องมาตรฐานต้องไม่แตกต่างกัน

เงื่อนไขความใหม่ (Novelty)
กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯกำหนดเงื่อนไขความใหม่คล้ายกับระบบสิทธิบัตรของประเทศอื่น กล่าวคือ การประดิษฐ์ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้วไม่สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักแลกเปลี่ยน (Quid pro quo) ของระบบสิทธิบัตรที่ผู้รับความคุ้มครองจำเป็นต้องเสนอสิ่งใหม่ต่อสังคมเป็นการแลกเปลี่ยนตอบแทนต่อการได้รับสิทธิเด็ดขาด ดังนั้น การประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครองจะต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนหรือยังไม่เคยมีผู้หนึ่งผู้ใดคิดค้นได้มาก่อน  ผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีจะไม่ถือว่ามีความใหม่หากองค์ประกอบทุกส่วนของผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีนั้นปรากฏในงานที่ปรากฏอยู่แล้วชิ้นหนึ่ง แต่ก็อิงหลัก doctrine of inherence ด้วยกล่าวคือการประดิษฐ์อาจไม่มีความใหม่ แม้ว่าจะพบองค์ประกอบทุกส่วนของผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีนั้นปรากฏในงานที่ปรากฏอยู่แล้วมากกว่าชิ้นหนึ่ง ถ้าหากพิจารณาได้ว่าเป็นงานชิ้นเดียวกันตามธรรมชาติของงานนั้น
ทั้งนี้ กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯได้ระบุหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความใหม่หรือการเปิดเผยต่อสาธารณชนไว้ในมาตรา 102  กล่าวคือกฎหมายกำหนดสิ่งที่จะถือว่าเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วนั้นไว้ แต่ก็ไม่ชัดเจน จึงต้องมีการพิจารณาตีความเป็นรายกรณี ซึ่งในการพิจารณาเงื่อนไขความใหม่นี้อาจต้องพิจารณาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย งานที่ปรากฏอยู่แล้วที่จะใช้ในการพิจารณาความใหม่นั้นปรากฏในมาตรา 102 (a), (e) และ (g)
อนึ่ง หลักการที่สำคัญคือการประดิษฐ์ที่จะไม่สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ ในกรณี
การประดิษฐ์ที่รู้กันในสาธารณชนก่อนการประดิษฐ์นั้นจะถูกประดิษฐ์หรือคิดค้นโดยบุคคลที่ยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร
การประดิษฐ์ที่มีการเปิดเผยในสื่อสิ่งพิมพ์มากกว่าหนึ่งปีก่อนวันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร หรือ
การประดิษฐ์ได้มีการใช้กันเผยแพร่หรือถูกเสนอขายต่อสาธารณมากกว่าหนึ่งปีก่อนวันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร
แม้ว่ากฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯได้อนุญาตให้มีการนับวันย้อนหลัง (Grace period) ได้ภายในระยะเวลาหนึ่งปี แม้จะมีการขายหรือเปิดเผยการประดิษฐ์ต่อสาธารณะแล้วก็ตาม จึงทำให้ผู้ประดิษฐ์ยังคงมีสิทธิยื่นคำขอภายหลังได้ แต่ห้ามยื่นเกินระยะเวลาดังกล่าวตามที่กฎหมายห้ามไว้ (Statutory bar)  ซึ่งหลักการนี้แตกต่างจากระบบสิทธิบัตรของประเทศอื่น ๆ ที่ไม่อนุญาตหรือยกเว้นไว้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติผู้ประดิษฐ์หรือตัวแทนสิทธิบัตรแล้วก็มักจะยื่นคำขอสิทธิบัตรก่อนวันที่จะเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนเพื่อให้มีสิทธิในการยื่นสิทธิบัตรในระบบสิทธิบัตรระหว่างประเทศได้ ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าหลักเกณฑ์ระยะเวลาที่กฎหมายห้ามนั้นไม่ใช่หลักความใหม่ แต่มีความคล้ายกับหลักความใหม่เท่านั้น เพราะหลักความใหม่นั้นการประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้จะถูกทำลายความใหม่ได้เฉพาะการประดิษฐ์หรืองานอื่นเท่านั้น การประดิษฐ์ตัวมันเองไม่สามารถทำลายความใหม่ได้เพราะอิงวันที่ประดิษฐ์ แต่ในขณะหลักเกณฑ์ระยะเวลาที่กฎหมายห้ามนั้นอิงวันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร วัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์ระยะเวลาที่กฎหมายห้ามนั้นก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประดิษฐ์รอที่จะยื่นคำขอรับสิทธิบัตรนานเกินไปอันจะเป็นการเอาเปรียบต่อสังคม หลักเกณฑ์นี้ทำให้ผู้ประดิษฐ์ต้องรีบยื่นคำขอรับสิทธิบัตร มิฉะนั้นจะสูญเสียสิทธิในการประดิษฐ์ของตนเอง

เงื่อนไขความมีประโยชน์ (Usefulness)
กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯระบุว่าการประดิษฐ์จะต้องมีประโยชน์ (Useful)  ซึ่งจากถ้อยคำในกฎหมายสิทธิบัตรพบว่าความมีประโยชน์นั้นเชื่อมโยงกับเงื่อนไขว่าสิ่งที่จะขอรับสิทธิบัตรมีวัตถุประสงค์ที่มีประโยชน์ ซึ่งรวมถึงสามารถทำงานได้จริง เช่น เครื่องจักรที่ไม่สามารถทำงานได้ก็จะไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ แต่ก็จะเป็นต้องทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาด  ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรจะต้องแสดงให้เห็นเพียงเล็กน้อยว่าการประดิษฐ์สามารถมีผลในทางปฏิบัติได้ก็พอ ซึ่งอาจแสดงให้เห็นเพียงการใช้ประโยชน์เพียงประการเดียวก็ได้  แต่ก็ต้องผ่านเกณฑ์ในเรื่องความมีประโยชน์เฉพาะ (Specific utility) ที่จะต้องแสดงให้เห็นการประดิษฐ์นั้นสามารถทำงานได้จริง ซึ่งนายทะเบียนสิทธิบัตรมักจะใช้เกณฑ์นี้ในการปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรที่มีแนวโน้มว่าไม่สามารถทำงานได้จริงในทางปฏิบัติ
แต่ก็มิใช่ว่าผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่จะถือว่ามีประโยชน์ตามกฎหมายสิทธิบัตร เช่น หากผลิตภัณฑ์นั้นมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือผิดกฎหมาย  การประดิษฐ์ที่ไม่ปลอดภัยเพียงพอ  การประดิษฐ์ที่หลอกลวงหรือทำให้ผู้บริโภคสับสนหลงผิด  หรือกรรมวิธีการผลิตที่ผลิตแต่สิ่งที่ไม่มีประโยชน์  เป็นต้น
โดยปกติเงื่อนไขความมีประโยชน์นั้นมักจะไม่ยาก แต่ก็มีในบางสาขาวิทยาการที่ไม่สามารถพิสูจน์ความมีประโยชน์ได้ โดยเฉพาะในกรณีของสาขาเคมีหรือเทคโนโลยีชีวภาพที่มีการค้นพบสารเคมีหรือวัสดุใหม่ (New material or chemical substance) แต่ผู้ประดิษฐ์ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ใดได้

เงื่อนไขความชัดแจ้งหรือขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Nonobviousness)
กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯกำหนดว่าการประดิษฐ์ที่สามารถขอรับความคุ้มครองจะต้องเป็นสิ่งที่มีส่วนประกอบหรือมีลักษณะทางเทคนิคที่ก้าวหน้าขึ้นจากเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว โดยจะต้องมีการทดสอบว่าการประดิษฐ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเกินไปหรือไม่ใช่สิ่งที่ชัดแจ้งสำหรับผู้ที่มีความรู้ในวิทยาการแขนงนั้น ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่าเงื่อนไขความชัดแจ้ง หลักการนี้ในประเทศอื่น ๆ เรียกว่าขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventive step) หลักการนี้ใช้ครั้งแรกในระบบสิทธิบัตรสหรัฐฯ ในราวปี ค.ศ. 1851 ในคดี Hotchkiss v. Greenwood  ต่อมาได้กำหนดหลักการนี้ไว้ในกฎหมายมาตรา 103
ในการพิจารณาขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นนั้น กฎหมายสิทธิบัตรกำหนดให้ใช้หลักว่าการประดิษฐ์ที่จะนำมาขอรับสิทธิบัตรเป็นสิ่งที่บุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาวิทยาการในแขนงนั้นสามารถที่จะคาดเห็นหรือสามารถที่จะทำการพัฒนาและคิดค้นการประดิษฐ์อย่างเดียวกันได้หรือไม่ ถ้าผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวสามารถคาดเห็นหรือทำการคิดค้นการประดิษฐ์เช่นว่านั้นได้ก็ต้องถือว่าการประดิษฐ์นั้นเป็นสิ่งชัดแจ้งเกินไปและง่ายเกินไป ไม่สมควรที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรการพิจารณาว่าการประดิษฐ์นี้มีความชัดแจ้งหรือไม่นั้น กฎหมายให้เปรียบเทียบการประดิษฐ์ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรกับงานที่ปรากฏอยู่แล้ว (Prior arts) ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาปรับปรุงขึ้นอย่างชัดแจ้งหรือไม่
แต่ในทางปฏิบัติการทดสอบนี้ถือว่ายากในการพิจารณาตัดสินใจ กล่าวคือหากนายทะเบียนสิทธิบัตรตรวจสอบพบว่าลักษณะต่าง ๆ ทุกประการของการประดิษฐ์สามารถพบหรือเหมือนกับสิทธิบัตรฉบับใดฉบับหนึ่ง นายทะเบียนสิทธิบัตรจะปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรเพราะขาดความใหม่ แต่หากไม่มีสิทธิบัตรฉบับใดมีลักษณะครบทุกประการของการประดิษฐ์ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร นายทะเบียนสิทธิบัตรก็จะพยายามทดลองรวมลักษณะต่าง ๆที่เหมือนหรือสอดคล้องกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตร ซึ่งหากสามารถรวมกันได้นายทะเบียนสิทธิบัตรก็มักจะปฏิเสธโดยอ้างว่าเป็นการรวมของงานที่ปรากฏอยู่แล้วที่ชัดแจ้ง (Obvious combination) อย่างไรก็ตาม จะต้องมีเหตุผลบางประการในการรวมสองสิทธิบัตรเข้าด้วยกัน ที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์บางประเภทถือว่าสามารถขอรับสิทธิบัตรได้ เช่น การเปลี่ยนสารหรือวัสดุหรือการเปลี่ยนขนาด  ซึ่งสำนักงานสิทธิบัตรใช้เกณฑ์ที่เรียกว่า เกณฑ์ข้อแนะนำ (suggestion test) ซึ่งห้ามนายทะเบียนสิทธิบัตรใช้ความรู้ประสบการณ์และสามัญสำนึกของตนเองโดยปราศจากข้อเสนอแนะเฉพาะของงานที่ปรากฎอยู่ก่อนสำหรับการสนับสนุนการรวมกันของ งานที่ปรากฎอยู่ก่อน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ได้รับการวิจารณ์คือเกณฑ์ที่ศาลอุทธรณ์กลางให้ความสำคัญอย่างกับปัจจัยความสำเร็จทางธุรกิจ (commercial success) โดยถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญในการพิจารณาเกณฑ์ความไม่ชัดเจน รายงานของคณะกรรมาธิการการค้าสหรัฐฯเสนอให้พิจารณาเป็นรายกรณีและควรให้ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นผู้มีภาระการพิสูจน์ในเรื่องนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น