1. บทนำ
ในทุกประเทศไม่ว่าจะมีระบอบการปกครองรูปแบบใด รัฐบาลจะมีหน้าที่ในการบริหารปกครองและให้บริการกิจการสาธารณะ (Public Services) แก่ประชาชนภายในประเทศของตน เช่น กิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการ การป้องกันประเทศ การสาธารณสุข และการศึกษา เป็นต้น รัฐบาลโดยหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการ เพื่อดำเนินการบริการปกครองและให้บริการสาธารณะดังกล่าว ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจึงเป็นผู้ซื้อและจัดจ้างรายใหญ่ ซึ่งมีการประมาณการณ์ว่าการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐเป็นแหล่งที่มีกำลังซื้อหรือตลาดที่ใหญ่มาก ตามรายงานขององค์การการค้าโลกพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะในส่วนของหน่วยงานของรัฐบาลกลาง (Central Government) มีปริมาณการซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการอยู่ราวประมาณ 10 – 15 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อย่างไรก็ตามตัวเลขเหล่านี้อาจมากหรือน้อยขึ้นกับระบบเศรษฐกิจด้วย และหากรวมถึงการจัดซื้อและจัดจ้างของกิจการรัฐวิสาหกิจ (State-Owned Enterprises) องค์กรมหาชนอิสระ (Independent Organizations) องค์กรกำกับดูแลอิสระ (Independent Regulators) และรัฐบาลส่วนท้องถิ่น (Local Governments) ปริมาณการจัดซื้อและจัดจ้างอาจสูงกว่านี้มาก เพราะเป็นผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อสูงและมีผลต่อสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศค่อนข้างมาก
ทุกประเทศจึงได้มีออกกฎระเบียบและกระบวนการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ (Effective and Transparency Process) จึงทำให้มีกฎระเบียบและวิธีการแตกต่างจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชน โดยทั่วไปแล้ววัตถุประสงค์หลักของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐคือต้องการให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นกระบวนการที่มีการแข่งขันที่เปิดกว้างและไม่เลือกปฏิบัติ (Open Competition and Non-Discrimination) เพื่อจะได้คุ้มค่ากับเงินงบประมาณภาครัฐที่มาจากประชาชน (Best Value for Money) แต่ในทางปฏิบัติ ด้วยปัจจัยทางมิติทางการแข่งขันระหว่างประเทศ ได้มีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะประเทศส่วนใหญ่มักใช้นโยบายการค้าระหว่างประเทศเป็นหลักในการจัดทำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น การพยายามกีดกันการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ หรือนโยบายการเลือกปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างกับบางประเทศ เป็นต้น ซึ่งการกีดกันเหล่านี้มักจะปรากฎทั้งในรูปของกฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือแนวปฏิบัติ และนำไปสู่การบิดเบือนการค้าระหว่างประเทศ
ดังนั้น ในเวทีระหว่างประเทศจึงมีความพยายามในการพัฒนาแนวปฏิบัติกฎระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยอิงหลักการพื้นฐานของบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว กล่าวคือประเทศพัฒนาแล้วรวมตัวกันร่างความตกลงหลายฝ่ายว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ (The Government Procurement Agreement: GPA) ในกรอบการเจรจาภายใต้ความตกลงแกตต์ (GATT) และความตกลงองค์กรการการค้าโลก (WTO) อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าความตกลง GPA ดังกล่าวมีประเทศพัฒนาแล้วเข้าร่วมเป็นส่วนใหญ่ แต่มีประเทศกำลังพัฒนาจำนวนน้อยที่เข้าเป็นสมาชิกในความตกลง GPA ในปัจจุบันนี้ ก็มีความพยายามขยายขอบเขตของความตกลง GPA โดยการเพิ่มจำนวนประเทศสมาชิกและขยายขอบเขตการบังคับใช้ของความตกลงในบรรดาประเทศสมาชิกด้วยกัน รวมทั้งการจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้เป็นความตกลงพหุภาคีภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก ซึ่งจะกล่าวต่อไปในรายละเอียด
2. ความเป็นมาของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ
การริเริ่มเจรจาระหว่างประเทศเกี่ยวกับความตกลงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีครั้งแรกในกลุ่มประเทศองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ในช่วงปี ค.ศ. 1960 โดยได้มีการเสนอร่างคู่มือนโยบาย กระบวนการ และวิธีปฏิบัติในการจัดซื้อโดยรัฐ (Draft Instrument on Government Purchasing Policies, Procedures and Practices) ขึ้นในปี ค.ศ. 1973 ต่อมาในการเจรจาความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีและการค้า (General Agreement on Tariff and Trade: GATT) ในรอบเคนเนดี้ (Kennedy Round) ได้มีการยกประเด็นเรื่องการใช้มาตรการการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในลักษณะที่เป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศในลักษณะอุปสรรคที่มิใช่ภาษีขึ้น (Non-Tariff Barrier) แต่ผลการเจรจาเป็นรูปเป็นร่างในการเจรจาความตกลงแกตต์รอบโตเกียว (Tokyo Round)
ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ค.ศ. 1979 (หรือนิยมเรียกว่า Government Procurement Code) เป็นความตกลงเสริม (Side Agreement) ภายใต้กรอบการเจรจาความตกลงแกตต์ (GATT) รอบโตเกียว ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ค.ศ. 1979 ได้ขยายหลักการพื้นฐานของความตกลงแกตต์ โดยเฉพาะการเพิ่มหลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และหลักห้ามเลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination) ซึ่งเดิมเป็นข้อยกเว้นไม่ใช้บังคับกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มวางหลักความโปร่งใส (Transparency) และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ดีขึ้นด้วย ต่อมาในปี ค.ศ. 1987 ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงบางบทบัญญัติและขยายขอบเขตการบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างในรอบโตเกียวไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขอบเขตการบังคับใช้ยังจำกัดและมีเพียงประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้นที่เข้าเป็นภาคีสมาชิก ตัวอย่างเช่น ความตกลงในรอบโตเกียวไม่ครอบคลุมถึงสัญญาบริการ (Service Contracts Per Se) หรือจากนโยบายที่กำหนดให้หน่วยงานจัดซื้อของภาครัฐต้องซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการท้องถิ่น (Buy National Policy) แม้สินค้าจากต่างประเทศจะราคาถูกกว่าถือว่าเป็นการเพิ่มรายได้ภาครัฐและก็เป็นภาระทางด้านภาษีแก่ประชาชน ข้อพิจารณาเหล่านี้จึงนำไปสู่การเจรจาอีกครั้งในการรอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ในที่สุดก็ได้มีประเทศสมาชิกลงนามในความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ (The Government Procurement Agreement: GPA) พร้อมกับความตกลงองค์การการค้าโลกที่เมืองมาร์ราเกซ์ ในวันที่ 15 เมษายน 2537 โดยบรรจุอยู่ในภาคผนวกที่ 4 และความตกลง GPA มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2539 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าความตกลง GPA เป็นความตกลงหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) ซึ่งผูกพันเฉพาะประเทศสมาชิกที่ผูกพันเท่านั้น ความตกลง GPA มิใช่ความตกลงพหุภาคี (Multilateral Agreement) เหมือนอย่างความตกลงองค์การการค้าโลกอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งมีผลผูกพันประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้งหมด
3. หลักการสำคัญของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ
ความตกลง GPA ได้กำหนดกรอบสิทธิและหน้าที่ของบรรดาประเทศสมาชิกในเรื่องกฎหมาย ระเบียบ กระบวนการ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งมีหลักการสำคัญดังต่อไปนี้
3.1 วัตถุประสงค์ (Objectives)
วัตถุประสงค์สำคัญของความตกลง GPA คือการเพิ่มการเปิดเสรีทางการค้าในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มากขึ้น โดยการขจัดการเลือกปฎิบัติระหว่างสินค้าและบริการของต่างชาติกับสินค้าและการบริการภายในประเทศ (Non-Discrimination Basis) ความตกลง GPA จึงกำหนดกรอบว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของประเทศสมาชิกที่จะต้องปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบ กระบวนการ และแนวปฏิบัติภายในที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของตน ให้เปิดตลาดมากขึ้นและใช้ข้อพิจารณาเชิงพาณิชย์ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยไม่เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบการทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งกระบวนการต้องมีความโปร่งใสมากขึ้นทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศด้วย
3.2 ขอบเขตการบังคับใช้ของความตกลง
3.2.1 ขอบเขตของความตกลง (Scope of Coverage)
ความตกลง GPA มิได้ให้คำจำกัดความคำว่า “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” (Government Procurement) ไว้โดยตรง แต่ในความตกลง GPA เองให้ความหมาย “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ในเชิงที่ว่าความตกลง GPA มีผลใช้บังคับกับสัญญาใด โดยรวมถึงวิธีการในลักษณะซื้อ เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ หรือผสมกัน ซึ่งเป็นการให้คำจำกัดความในเชิงลักษณะของสัญญาเท่านั้น ซึ่งยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องบริการและก่อสร้าง แม้ว่าในปี ค.ศ. 1992 ก็เคยได้มีคำจำกัดความไว้ในรายงานของคณะกรรมการระงับข้อพิพาทในคดีระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเรื่องบทบัญญัติซื้อสินค้าอเมริกา (Buy American Provision) ที่เกี่ยวกับระบบจัดทำแผนที่ด้วยโซน่าร์เพื่อสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิค โดยในรายงานฯ ระบุว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหมายความรวมถึง การจ่ายเงินโดยรัฐ รัฐบาลได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างนั้น หรือรัฐบาลเป็นเจ้าของและรัฐบาลควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว แต่การให้คำจำกัดความนี้น่าจะมุ่งเน้นที่การจัดจ้างบริการมากกว่าการจัดซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และกรณีพิพาทนี้ยังไม่มีผลทางกฎหมายแต่ประการใด
ดังนั้น ในปัจจุบันนี้คำจำกัดความ “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ยังคงไม่ชัดเจนอยู่ ซึ่งคณะทำงานว่าด้วยความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและคณะทำงานเกี่ยวกับความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (Working Party on GATS Rule: WPGR) ได้มีการพยายามตีความ “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ” ในความตกลง GPA ให้มีความชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้างมีความหมายรวมถึงสัญญาสัมปทาน (Concession) หรือสัญญาสร้าง ดำเนินการ โอน (BOT) หรือไม่ เป็นต้น
สำหรับขอบเขตของความตกลงนั้น ความตกลง GPA อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดขอบเขตการบังคับใช้ได้ โดยเฉพาะในหน่วยงานของรัฐและประเภทบริการ กล่าวคือความตกลง GPA จะใช้บังคับกับกฎหมาย กฎระเบียบ กระบวนการและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะมีการระบุไว้ในภาคผนวก 1 (Appendix I) ซึ่งเท่ากับประเทศสมาชิกสามารถระบุขอบเขตการบังคับใช้ความตกลง GPA ได้
ทั้งนี้ ภาคผนวก 1 ของความตกลง GPA สามารถแบ่งออกเป็นเอกสารแนบ (Annex) อีกห้าฉบับ คล้ายกับตารางข้อผูกพันที่จัดทำภายใต้ความตกลงแกตต์ (GATT) และความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
เอกสารแนบ 1 เป็นรายชื่อหน่วยงานของรัฐบาลกลาง
เอกสารแนบ 2 เป็นรายชื่อหน่วยงานของรัฐท้องถิ่น
เอกสารแนบ 3 เป็นรายชื่อหน่วยงานรัฐอื่น เช่น รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน เป็นต้น
เอกสารแนบ 4 เป็นประเภทบริการ (Services) ไม่ว่าจะเป็นแบบ positive หรือ negative list
เอกสารแนบ 5 เป็นสัญญาก่อสร้าง (Construction Services)
ความตกลง GPA มีผลใช้บังคับกับหน่วยงานของภาครัฐที่ระบุแจ้งไว้ภาคผนวก 1 โดยสัญญาหรือโครงการจัดซื้อจัดจ้างต้องมีมูลค่าขั้นต่ำ ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 1(Specified Thresholds) ดังนั้น ในเอกสารแนบแต่ละฉบับประเทศสมาชิกจะระบุมูลค่าขั้นต่ำของโครงการของแต่ละหน่วยงานไว้ แม้ว่าจำนวนมูลค่าขั้นต่ำของโครงการที่จัดทำของประเทศสมาชิกจะแตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปจะกำหนดมูลค่าขั้นต่ำไว้ที่ 130,000 สิทธิถอนเงินพิเศษ (Special Drawing Rights: SDR) สำหรับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง มูลค่าขั้นต่ำ 200,000 สิทธิถอนเงินพิเศษสำหรับหน่วยงานระดับท้องถิ่น และมูลค่าขั้นต่ำ 400,000 สิทธิถอนเงินพิเศษ สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และมูลค่าขั้นต่ำ 5,000,000 สิทธิถอนเงินพิเศษสำหรับสัญญาก่อสร้าง (Construction Services)
อนึ่ง ความตกลง GPA มีผลใช้บังคับกับสินค้าทุกประเภท (All Goods) เพราะความตกลง GPA ไม่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกขอยกเว้นได้ แต่ในกรณีของบริการและก่อสร้าง (Services and Construction Services) ประเทศสมาชิกสามารถขอยกเว้นได้ โดยการระบุไว้ในเอกสารแนบสี่และเอกสารแนบห้าของภาคผนวกหนึ่ง
ตารางสรุปข้อผูกพันของประเทศสมาชิกความตกลง GPA เกี่ยวกับมูลค่าขั้นต่ำของโครงการที่อยู่ในบังคับของความตกลง GPA ตามเอกสารแนบ 1-3 ของภาคผนวก 1 (2003)
SDR (Special Drawing Rights)
COUNTRY ANNEX 1 ANNEX 2 ANNEX 3
Goods Services except construction services Construction services Goods Services except construction services Construction services Goods Services except construction services Construction services
Canada 130,000 130,000 5,000,000 355,000 355,000 5,000,000 355,000 355,000 5,000,000
European Communities (and its 15 member States)
130,000 130,000 5,000,000 200,000 200,000 5,000,000 400,000 400,000 5,000,000
Hong Kong, China 130,000 130,000 5,000,000 200,000 200,000 5,000,000 400,000 400,000 5,000,000
Iceland 130,000 130,000 5,000,000 200,000 200,000 5,000,000 400,000 400,000 5,000,000
Israel 130,000 130,000 8,500,000 250,000 250,000 8,500,000 355,000 355,000 8,500,000
Japan 130,000 130,000 4,500,000
Architectural services: 450,000 200,000 200,000 15,000,000
Architectural services: 1,500,000 130,000 130,000 15,000,000
Architectural services: 450,000
Korea 130,000 130,000 5,000,000 200,000 200,000 15,000,000 450,000 450,000 15,000,000
Liechtenstein 130,000 130,000 5,000,000 200,000 200,000 5,000,000 400,000 400,000 5,000,000
Netherlands- Aruba 130,000 130,000 5,000,000 n.a. n.a. n.a. 400,000 400,000 5,000,000
Norway 130,000 130,000 5,000,000 200,000 200,000 5,000,000 400,000 400,000 5,000,000
Singapore 130,000 130,000 5,000,000 200,000 200,000 5,000,000 400,000 400,000 5,000,000
Switzerland 130,000 130,000 5,000,000 200,000 200,000 5,000,000 400,000 400,000 5,000,000
United States 130,000 130,000 5,000,000 355,000 355,000 5,000,000 250,000 or 400,000 250,000 or 400,000 5,000,000
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ความตกลง GPA อนุญาตให้ประเทศสมาชิกจำกัดพันธกรณีของตนเองได้ เพราะความตกลง GPA มิได้ใช้บังคับกับการจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภทหรือทุกโครงการ การจัดซื้อหรือจัดจ้างตามความตกลง GPA จะการจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐที่ระบุไว้ในเอกสารแนบ 1 – 3 และครอบคลุมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า บริการและสัญญาก่อสร้างที่ระบุไว้ในเอกสารแนบ 4 และ 5 ซึ่งที่มีมูลค่าโครงการสูงกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบ ทั้งนี้ ต้องระบุไว้ในภาคผนวกตั้งแต่ตอนเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก แต่อาจแก้ไขเพิ่มเติมได้ในภายหลัง
นอกจากนี้แล้ว ความตกลง GPA ยังมีภาคผนวกอื่นอีก ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องความโปร่งใส (Transparency) และกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิเช่น
ภาคผนวกสอง ระบุการประกาศโฆษณาที่แต่ละประเทศสมาชิกใช้ในการประกาศโฆษณาแจ้งเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือแผนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
ภาคผนวกสาม ระบุการประกาศโฆษณาที่แต่ละประเทศใช้ในการประกาศโฆษณาในแต่ละปีเกี่ยวกับข้อมูลรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเข้ายื่นประกวดราคาในกรณีเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบคัดเลือก
ภาคผนวกสี่ ระบุการประกาศโฆษณาที่แต่ละประเทศใช้ในการประกาศโฆษณาเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ คำวินิจฉัยศาล ข้อบังคับของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการใช้และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของความตกลง GPA นี้
3.2.2 การแก้ไขและข้อยกเว้น (Modifications and Exceptions to the Agreement)
อนึ่ง ความตกลง GPA อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนภาคผนวก 1 ถึง 4 ได้แต่ต้องดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา XXIV:6 จึงเกิดระบบเอกสารแทรก (Loose-leaf System) อันเนื่องมาจากกรณีที่ประเทศสมาชิกมักจะจัดทำความตกลงระหว่างประเทศในรูปทวิภาคีหรือภูมิภาคที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จึงทำให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพันธกรณีในภาคผนวกอยู่เป็นระยะ ๆ และการแก้ไขดังกล่าวจะมีการส่งเป็นเอกสารแจ้งประเทศสมาชิก
อย่างไรก็ตาม ความตกลง GPA เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถประเภทสินค้าหรือบริการเพื่อขอยกเว้นได้ในเอกสารแนบท้าย (Annexes) ทั้งในตอนเข้าเป็นภาคีสมาชิกและในขณะที่ความตกลง GPA มีผลใช้บังคับแล้ว โดยเฉพาะเป็นประเทศกำลังพัฒนาก็ได้รับสิทธิตามบทบัญญัติการปฏิบัติพิเศษและแตกต่าง (Special and Difference Treatment: S&D) ที่จะยกเว้นบทบัญญัติหรือหลักการพื้นฐานได้ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
นอกจากนี้ ความตกลง GPA ยังกำหนดข้อยกเว้นว่าประเทศสมาชิกอาจใช้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นกลไกเพื่อแทรกแซงหรือบรรลุนโยบายของรัฐบางประการ เช่น ใช้การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อวัตถุประสงค์ในดำเนินการตามมาตรการที่จำเป็นในคุ้มครองสาธารณะประโยชน์ หรือความปลอดภัยชีวิตของมนุษย์ พืชและสัตว์ ทรัพย์สินทางปัญญา คุ้มครองบุคคลพิการ สถาบันการกุศล และการพัฒนาฝีมือแรงงานของนักโทษในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ เป็นต้น กล่าวคือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่ต้องอยู่ภายใต้พันธกรณีของความตกลง GPA แต่เงื่อนไขของการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวต้องไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่สมเหตุสมผล (Arbitrary or Unjustification Discrimination) หรือเป็นมาตรการแฝงที่จำกัดการค้าระหว่างประเทศ (Disguised Restriction on International Trade) นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังสามารถอ้างข้อยกเว้นในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติที่เกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธและวัสดุที่ใช้ในกิจการสงคราม หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่จำเป็นทางด้านความมั่นคงของชาติหรือด้านการป้องกันประเทศ และรวมทั้งยังยกเว้นในกรณีให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาด้วย
3.2.3 การพิจารณามูลค่าขั้นต่ำของสัญญาหรือโครงการ (Valuation of Contracts)
เนื่องจากมีความกังวลว่าประเทศสมาชิกจะหลบเลี่ยงการบังคับใช้ความตกลง GPA โดยอาศัยช่องว่างของการตีความหลักเกณฑ์มูลค่าขั้นต่ำของโครงการ อย่างเช่น การแบ่งแยกโครงการออกเป็นโครงการย่อย ๆ เพื่อไม่ให้เกินมูลค่าขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในความตกลง GPA และโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้นจะไม่ต้องอยู่ในบังคับของความตกลง GPA ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ความตกลง GPA กำหนดว่าหน่วยงานของรัฐต้องไม่เลือกวิธีการคำนวณมูลค่าของโครงการหรือแบ่งเป็นโครงการย่อย ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลบเลี่ยงการบังคับใช้ความตกลง GPA นอกจากนี้ ความตกลง GPA ยังกำหนดว่า มูลค่าขั้นต่ำของโครงการจะรวมถึงทุกรูปแบบของการจ่ายเงินค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่าตัวแทนและดอกเบี้ยที่ได้รับด้วย และหากโครงการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวมีเงื่อนไขทางเลือกไว้ (Option Clauses) ก็ให้รวมมูลค่าทั้งหมดที่เป็นไปได้จำนวนสูงสุด โดยรวมถึงการจัดซื้อตามเงื่อนไขทางเลือกนั้นด้วย
ทั้งนี้ ความตกลง GPA จึงวางแนวทางในการพิจารณามูลค่าขั้นต่ำของโครงการไว้ โดยกำหนดว่าในกรณีที่โครงการจัดซื้อจัดจ้างหนึ่งมีการแบ่งเป็นสัญญาย่อยหลายฉบับหรือในสัญญาแบ่งย่อยออกไป ดังนั้น การประเมินมูลค่าของโครงการเพื่อพิจารณาว่าเกินมูลค่าขั้นต่ำหรือไม่ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) มูลค่าที่แท้จริงของสัญญาในทำนองคล้ายกันที่ตกลงกันในปีงบประมาณที่ผ่านมา หรือ 12 เดือนที่ปรับตามการเปลี่ยนแปลงของปริมาณหรือมูลค่าภายในระยะเวลา 12 เดือนถัดไป (ถ้ามี) หรือ (2) มูลค่าโดยประมาณของสัญญาในทำนองคล้ายกันภายในปีงบประมาณหรือ 12 เดือนนับจากการทำสัญญาครั้งแรก ทั้งนี้ การพิจารณามูลค่าของสัญญาตามความตกลง GPA ต้องคำนวณ ณ เวลาที่ประกาศโฆษณาเชิญชวนยื่นข้อเสนอโครงการตามมาตรา IX
สำหรับสัญญาเช่า ให้เช่า หรือเช่าซื้อสินค้าหรือบริการหรือในกรณีสัญญาที่ไม่ระบุราคาโดยรวมไว้ การคำนวณมูลค่าขั้นต่ำก็ต้องพิจารณาจากเงื่อนไขในสัญญา กล่าวคือ ในกรณีเป็นสัญญามีกำหนดระยะเวลา (Fixed Term Contract) ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 12 เดือนหรือน้อยกว่า 12 เดือน ก็ให้ถือว่ามูลค่าของสัญญาคือมูลค่าทั้งหมดของตลอดระยะเวลาตามสัญญา หากเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลานานกว่า 12 เดือน มูลค่าโดยรวมของสัญญาจะรวมถึงมูลค่าโดยประมาณของระยะเวลาส่วนที่เหลือตามสัญญาด้วย แต่สำหรับเป็นกรณีสัญญาไม่ได้ระบุระยะเวลาก็จะคำนวณโดยใช้มูลค่ารายเดือนที่ต้องจ่ายคูณกับ 48 ซึ่งในกรณีเป็นที่สงสัยก็ให้ใช้วีธีการแบบหลังนี้
3.3 หลักการพื้นฐาน (Basic Principles)
พันธกรณีของความตกลง GPA สามารถแบ่งได้สองส่วนหลัก ๆ คือบทบัญญัติสาระบัญญัติ (Substantive) และบทบัญญัติวิธีสบัญญัติ (Procedural) โดยในพันธกรณีที่เป็นสาระบัญญัตินั้นได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องใช้หลักประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และหลักไม่เลือกประติบัติ (Non-Discrimination) กับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ และสำหรับพันธกรณีวิธีสบัญญัติมีวัตถุประสงค์เพื่อประกันว่าประการแรกกระบวนการประมูลเป็นกระบวนการที่เปิดและโปร่งใส ซึ่งรวมทั้งยังเปิดโอกาสให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่สนใจทุกราย ประการที่สองความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจหลังการคัดเลือกผู้ชนะ และประการที่สามกระบวนการโต้แย้งที่มีการเยียวยาหากมีการฝ่าฝืนความตกลง GPA
3.3.1 หลักประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และหลักไม่เลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination)
หลักประติบัติเยี่ยงคนชาติและหลักไม่เลือกปฏิบัติในความตกลง GPA นั้นได้วางหลักการที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องประติบัติต่อสินค้า บริการและคนชาติของประเทศสมาชิกอื่นเสมือนสินค้า บริการและคนชาติของตน และต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติเป็นพิเศษต่อสินค้า บริการ หรือคนชาติใด แต่จะไม่รวมกรณีภาษีศุลกากรนำเข้า (Import Duties and Charges) หรือมาตรการที่เกี่ยวกับการค้าบริการ เนื่องจากมีกฎเกณฑ์หรือความตกลระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว
ทั้งนี้ พันธกรณีตามหลักไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Non-Discrimination) บังคับใช้กับเอกสารแนบ 1 เท่านั้น คือเฉพาะกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าของรัฐบาลกลางเท่านั้น (Central Government) สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นตามเอกสารแนบ 2 และ 3 รวมทั้งบริการและกอ่สร้างด้วย จะขึ้นอยู่กับข้อผูกพันที่ประเทศสมาชิกให้ไว้ หรือหลักเลือกปฏิบัติแบบมีเงื่อนไข (Conditional Non-Discrimination) ซึ่งโดยทั่วไปมักจะใช้หลักต่างตอบแทน (Reciprocity) กล่าวคือประเทศสมาชิกสามารถอ้างสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติได้ หากประเทศสมาชิกอื่นมิได้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้นข้อห้ามเลือกปฏิบัติภายใต้กรอบความตกลงองค์การการค้าโลก
ประเทศสมาชิกต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบการสินค้าหรือบริการของท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเนื่องจากความเป็นเจ้าของที่เป็นคนต่างชาติหรือเป็นสาขาของบริษัทต่างชาติ (Foreign Affiliation and Ownership) และประเทศสมาชิกต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบการโดยอ้างเหตุแหล่งประเทศที่ผลิตสินค้าหรือให้บริการ (Country of Production of Goods or Services) หากประเทศนั้นเป็นภาคีสมาชิกของความตกลง GPA จึงอาจกล่าวได้ว่าหลักแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) มีบทบาทค่อนข้างมากในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและความตกลง GPA ก็พยายามส่งเสริมให้ใช้หลักการตามความตกลงว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Agreement on Rules of Origin) และความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services) ภายใต้กรอบความตกลงองค์การการค้าโลก
3.3.2 หลักความโปร่งใส (Transparency)
หลักความโปร่งใส (Transparency) ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการบริหารราชการของภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย ความโปร่งใสให้ความสำคัญกับกระบวนการค่อนข้างมาก สำหรับความตกลง GPA นั้นได้วางหลักความโปร่งใสโดยครอบคลุมทั้งกฎระเบียบ แนวปฏิบัติและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตรวจสอบความถูกต้องได้ นอกจากนี้ กระบวนการที่มีความโปร่งใสจะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งหมายความรวมถึงมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นด้วย อันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ทั้งนี้ หลักความโปร่งใสภายใต้ความตกลง GPA สามารถแบ่งได้สองประเภทใหญ่ ๆ คือ ความโปร่งใสในการประกาศโฆษณา (Publication) และความโปร่งใสเกี่ยวกับกฎระเบียบของการประกาศเชิญชวน (Invitation of Tendering) กล่าวคือ ประเทศสมาชิกมีพันธกรณีต้องประกาศโฆษณาในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ การประกาศโฆษณาเชิญชวน การแจ้งผลการคัดเลือก และประกาศโฆษณากฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกต้องยื่นข้อมูลสถิติเกี่ยวกับแผนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งในเชิงจำนวนโครงการและมูลค่าของการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วย อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศพัฒนาแล้วยังพิจารณาว่าหลักความโปร่งใสในความตกลง GPA ยังคงไม่เพียงพอ จึงพยายามผลักดันให้มีการเจรจาในประเด็นเรื่องความโปร่งใสเพิ่มเติมภายใต้กรอบความตกลงองค์การการค้าโลก แต่ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามองว่าเป็นภาระค่อนข้างมากที่จะปฏิบัติตาม
3.4 กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement Procedures)
กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนแตกต่างจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชน เพราะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และภารกิจของรัฐที่หลากหลายกว่าการจัดซื้อจัดจ้างของเอกชน โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายในเรื่องความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มากกว่าความมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าเงิน ดังนั้น ในความตกลง GPA นี้ก็ให้ความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
3.4.1 กระบวนการยื่นข้อเสนอ (ฺTendering Procedures)
ความตกลง GPA ได้กำหนดวิธีการเกี่ยวกับกฎระเบียบว่าด้วยกระบวนการยื่นข้อเสนอ โดยประสงค์เปิดโอกาสที่เท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติแก่ผู้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอทั้งที่ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ และในขณะเดียวกันต้องประกันด้วยว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยสอดคล้องกับบทบัญญัติ มาตรา VII ถึง XVI ของความตกลง GPA
ในความตกลง GPA จัดแบ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Tendering Methods) ออกเป็นสามประเภทหลัก ดังนี้
(ก) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบเปิดกว้าง (Open Tendering Procedures) เป็นการเปิดโอกาสกว้างให้ทุกคนที่สนใจเข้าร่วมในการยื่นเสนอโครงการ ความตกลง GPA ส่งเสริมให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐดำเนินการด้วยวิธีการนี้ เพราะมองว่าเป็นวิธีการนี้ดีที่สุดในดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและส่งเสริมการแข่งขัน
(ข) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบคัดสรร (Selective Tendering Procedures) เป็นกระบวนการประกวดราคาที่จำกัดเฉพาะผู้ประกอบการมีคุณสมบัติเหมาะสมและลงทะเบียนไว้กับหน่วยงาน แต่ทั้งนี้ก็ต้องไม่ปิดกั้นผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้กับหน่วยงานของรัฐในการเข้าร่วมประกวดราคา ซึ่งต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขตามบทบัญญัติในมาตรา X:3 และบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องของความตกลง GPA
(ค) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบจำกัด (Limited Tendering Procedures) เป็นกระบวนการประกวดราคาที่หน่วยงานของรัฐติดต่อกับผู้ประกอบการได้ส่วนตัว แต่จะมีเงื่อนไขต่าง ๆ มากมายตามมาตรา XV ของความตกลง GPA ความตกลง GPA กำหนดว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบจำกัดนี้จะต้องไม่ใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันหรือในกรณีที่เลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบการหรือปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ
(ง) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบเจรจาต่อรองแบบแข่งขัน (Competitive Negotiation) เป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่อนุญาตให้หน่วยงานจัดซื้ออาจเจรจาโดยตรงกับผู้ประกอบการ หากได้มีการระบุไว้แต่แรกในการประกาศแจ้งเชิญชวน หรือในกรณีที่มีการประเมินวัดผลแล้ว ไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้รับการคัดเลือก แต่การดำเนินกระบวนการเจรจานี้ต้องไม่เลือกปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ความตกลง GPA ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการให้ประเทศสมาชิกใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเปิดกว้าง (Open Tendering) หรือแบบคัดสรร (Selective Tendering) เป็นหลัก สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างแบบจำกัดนั้น (Limited Tendering) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบสอบถามราคาจากแหล่งเดียว (Single Source) ควรจะใช้เป็นวิธีการสุดท้าย โดยการจำกัดการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบจำกัด ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
3.4.2 เงื่อนไขรายละเอียดทางเทคนิค (Technical Specification)
ความตกลง GPA กำหนดว่าเงื่อนไขรายละเอียดทางเทคนิค (Technical Specification) เป็นการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ของสินค้าหรือบริการที่กำหนดโดยหน่วยงานจัดซื้อ เช่น คุณภาพ การดำเนินการ ความปลอดภัยและขนาด การจัดทำ สัญลักษณ์ การบรรจุหีบห่อ เครื่องหมายและฉลาก และกระบวนการและวิธีการผลิตของสินค้าและบริการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกระบวนการประเมิน เป็นต้น ทั้งนี้ มาตรา VI วางหลักการพื้นฐานว่า เงื่อนไขรายละเอียดทางเทคนิคจะต้องไม่จัดเตรียม ยอมรับหรือใช้ในเชิงที่สร้างภาระหรืออุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการค้าระหว่างประเทศ เงื่อนไขรายละเอียดข้อเสนอทางเทคนิคที่จัดเตรียมโดยหน่วยงานจัดซื้อต้องเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการดำเนินงานมากกว่าเป็นการออกแบบหรือลักษณะของสินค้า และต้องอิงมาตรฐานระหว่างประเทศที่มีอยู่ มาตรฐานภายในประเทศที่เป็นที่ยอมรับ หรือประมวลกฎระเบียบว่าด้วยการก่อสร้าง
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันข้อจำกัดที่แอบแฝง ความตกลง GPA จึงห้ามการอ้างอิงถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือแหล่งที่มาเฉพาะและยังห้ามหน่วยงานจัดซื้อในการขอรับความช่วยเหลือหรือปรึกษาในการจัดเตรียมเงื่อนไขรายละเอียดทางเทคนิคจากบุคคลที่มีส่วนได้เสียทางการค้า ซึ่งหากมีการกระทำดังกล่าวบุคคลนั้นจะถูกห้ามจากการเข้าเสนอราคา
3.4.3 คุณสมบัติของผู้ประกอบการ (Qualification of Suppliers)
เนื่องจากแนวปฏิบัติในหลายประเทศที่มีระบบการเก็บรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมหรือมีประสบการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐมาแล้ว เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการประกาศเชิญชวนและยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วย ความตกลง GPA ก็ยอมรับแนวปฏิบัติดังกล่าว โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถออกแนวทางเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอ แต่กระบวนการดังกล่าวต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้แล้ว ความตกลง GPA ยังมีการวางหลักการและเงื่อนไขอื่นอีกเพื่อรองรับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ เช่น ในการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอต้องประกาศแจ้งโดยมีระยะเวลาที่เหมาะสมเพียงพอที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นข้อเสนอได้ และเงื่อนไขต้องจำกัดเฉพาะที่จำเป็นเพื่อประกันคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ในพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการ หน่วยงานจัดซื้อต้องไม่พิจารณากิจกรรมของผู้ประกอบการเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ควรรวมถึงกิจกรรมหรือประสบการณ์ของผู้ประกอบการที่ดำเนินการนอกราชอาณาจักรด้วย สำหรับกระบวนการและระยะเวลาที่จำเป็นต่อการคัดเลือกนั้นต้องไม่เลือกปฏิบัติ และในกรณีที่หน่วยงานจัดซื้อมีรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าข่ายหรือมีคุณสมบัติเหมาะสมอยู่แล้ว หน่วยงานจัดซื้อจะต้องไม่ปิดโอกาสผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าวการเข้าร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดด้วย กล่าวคือ หลังจากประกาศเชิญชวนแล้ว หน่วยงานจัดซื้อต้องดำเนินกระบวนการคัดเลือกด้านคุณสมบัติแก่ผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมยื่นข้อเสนอที่ไม่อยู่ในรายชื่อทันที และหลังจากที่การตัดสินด้านคุณสมบัติแล้วจะต้องแจ้งให้ทราบคำวินิจฉัยและรวมถึงการแจ้งผู้ที่ถูกเพิกถอนออกจากรายชื่อด้วย หน่วยงานจัดซื้อต้องใช้วิธีการเดียวกันในการพิจารณาคุณสมบัติ และหน่วยงานจัดซื้อต้องให้เหตุผลทันทีที่มีการร้องขอจากผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับการคัดเลือก หากได้รับการร้องขอ อนึ่ง ประเทศสมาชิกต้องทำให้กระบวนการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ประกอบการของหน่วยงานจัดซื้อเป็นไปในทำนองเดียวกัน
3.4.4 การเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Invitation for Participate Intended Procurement)
กระบวนการเชิญชวนยื่นข้อเสนอเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายรับทราบและเข้ามาแข่งขันให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ความตกลง GPA ได้กำหนดว่าการเชิญชวนยื่นข้อเสนอต้องมีการประกาศโฆษณาในเอกสารที่ระบุไว้โดยหน่วยงานของรัฐ เช่น ราชกิจจานุเบกษา หนังสือพิมพ์ หรือวารสารระหว่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนอต้องประกอบด้วยข้อมูลในการประกาศโฆษณา ดังต่อไปนี้ พร้อมทั้งระบุว่าการจัดซื้อจัดจ้างนี้อยู่ภายใต้ความตกลง GPA ด้วย
• ลักษณะและคุณภาพ รวมทั้งแนวทางหรือวิธีการในการจัดซื้อจัดจ้าง
• รูปแบบหรือวิธีการของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างว่าเป็นแบบเปิดกว้าง คัดสรร หรือเจรจาต่อรอง
• วันที่เริ่มดำเนินการและวันสุดท้ายที่ต้องจัดส่งสินค้าหรือบริการ
• ที่อยู่และระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอโครงการและวันสุดท้ายในการรับข้อเสนอโครงการ รวมทั้งภาษาที่ใช้ในข้อเสนอโครงการ
• ที่อยู่ของหน่วยงานที่ตัดสินใจคัดเลือกทำสัญญาและให้ข้อมูลจำเป็น อย่างเช่น ข้อมูลรายละเอียดทางเทคนิคและเอกสารอื่นที่สำคัญ เป็นต้น
• เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเทคนิค การวางประกันหรือข้อมูลอื่นที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องยื่นต่อหน่วยงานจัดซื้อ
• จำนวนและเงื่อนไขในการชำระเงินสำหรับเอกสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง
• ประเภทของการจัดซื้อจัดจ้างว่าเป็นการ จัดซื้อ จัดจ้าง เช่า หรือเช่าซื้อ เป็นต้น
อนึ่ง การประกาศเชิญชวนเข้าร่วมยื่นข้อเสนอต้องประกอบด้วยข้อมูลตามรายการข้างต้น โดยอย่างน้อยที่สุดต้องระบุข้อมูล ดังต่อไปนี้
• สาระสำคัญของโครงการ
• ระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอ
• สถานที่ติดต่อ เพื่อร้องขอเอกสารโครงการ
• ข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอควรยื่นหรือแสดงในข้อเสนอโครงการ
• สถานที่ติดต่อของหน่วยงานจัดซื้อในการขอเอกสารเพิ่มเติม
ในกรณีเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบคัดสรร (Selective Tendering) หากหน่วยงานจัดซื้อมีรายชื่อของผู้ประกอบการอยู่แล้ว หน่วยงานจะต้องประกาศรายชื่อทุกปี โดยมีรายการข้อมูลดังต่อไปนี้การระบุรายการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ เงื่อนไขของผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอยู่ในรายชื่อและวิธีการที่ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลและเงื่อนไขดังกล่าว และระยะเวลาที่มีผลใช้บังคับของรายชื่อและรูปแบบของการต่อระยะเวลา เป็นต้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่มีสิทธิยื่นข้อเสนอ
อนึ่ง หลังจากประกาศโฆษณาเชิญชวนแล้ว แต่ก่อนที่ระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการเปิดหรือการรับข้อเสนอตามที่ระบุไว้ในประกาศหรือเอกสารการประมูล หากความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือตีประกาศดังกล่าว หน่วยงานจัดซื้ออาจแก้ไขหรือการออกประกาศใหม่นั้นด้วยวิธีการเดิม และกรณีที่มีการแจ้งข้อมูลสำคัญแก่ผู้ประกอบการายใดรายหนึ่ง ก็ต้องแจ้งให้ผู้ประกอบการรายอื่นทราบด้วย โดยต้องให้ระยะเวลาที่เพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นเหล่านั้นสามารถพิจารณาข้อมูลและจัดทำข้อเสนอที่เปลี่ยนแปลงไปได้
3.4.5 กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบคัดสรร (Selection Procedures)
ความตกลง GPA กำหนดว่า ในกรณีหน่วยงานจัดซื้อประสงค์จะใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบคัดสรรนั้น หน่วยงานจัดซื้อจะต้องเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมยื่นข้อเสนอให้ได้จำนวนมากที่สุดทั้งชาวต่างชาติและภายในประเทศ เพื่อประกันให้เกิดการแข่งขันระดับระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ โดยที่ผู้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอจะได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ (Fair and Non-Discriminatory Manner)
ในกรณีมีการจัดทำรายชื่อของผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกทางด้านคุณสมบัติมาแล้ว หน่วยงานจัดซื้ออาจไม่ต้องประกาศแจ้งแบบเปิดกว้างเป็นการทั่วไปและหน่วยงานจัดซื้ออาจเลือกที่จะเชิญชวนผู้ประกอบการบางรายจากรายชื่อดังกล่าว แต่ต้องให้โอกาสแก่ผู้ประกอบรายอื่นที่อยู่ในรายชื่อที่สนใจเข้าร่วมยื่นข้อเสนออย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดสรรก็ไม่ได้ปิดโอกาสผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ผ่านเงื่อนไขทางด้านคุณสมบัติ กล่าวคือความตกลง GPA กำหนดว่าผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ผ่านเงื่อนไขทางด้านคุณสมบัติมีสิทธิยื่นข้อเสนอและข้อเสนอจะต้องได้รับการยอมรับและพิจารณา หากมีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนการด้านคุณสมบัติได้ แต่จำนวนของผู้ประกอบการในการเข้าร่วมอาจจะถูกจำกัดได้เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การร้องขอเข้าร่วมยื่นข้อเสนอโดยวิธีการคัดสรรนี้อาจยื่นข้อเสนอทางเทเล็กซ์ โทรเลข หรือโทรสารก็ได้ ซึ่งเป็นการเปิดกว้างในวิธีการติดต่อสื่อสาร แต่ก็มิได้ระบุถึงการติดต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไว้อย่างชัดเจน
3.4.6 ข้อจำกัดด้านระยะเวลา (Time Limit for Tendering and Delivery)
เนื่องจากข้อจำกัดด้านระยะเวลาอาจเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะกีดกันผู้ประกอบการในการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการ ดังนั้น ความตกลง GPA จึงให้ความสำคัญ โดยกำหนดเป็นหลักการว่า ระยะเวลาต้องเพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติและภายในประเทศมีเวลาเตรียมตัวและยื่นข้อเสนอประกวดราคา ซึ่งระยะเวลาที่ถือว่าเพียงพอดังกล่าวต้องพิจารณาปัจจัยดังนี้ประกอบด้วย เช่น ความยากง่ายของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ขอบเขตของการให้ผู้อื่นรับช่วงต่อ ระยะเวลาในการจัดส่งเอกสารข้อเสนอประกวดราคาทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ ความล่าช้าที่ใช้ในการส่งเอกสารประกาศแจ้งไปยังผู้สนใจประกวดราคา เป็นต้น หน่วยงานจัดซื้อต้องพิจารณาถึงความล่าช้าในการประกาศโฆษณาเชิญชวนด้วย เมื่อกำหนดวันสุดท้ายในการรับข้อเสนอ
ความตกลง GPA กำหนดว่าในกรณีประกวดราคาแบบเปิดกว้างต้องให้มีระยะเวลาในการรับข้อเสนออย่างน้อย 40 วันนับตั้งแต่วันประกาศโฆษณาเชิญชวน สำหรับการประกวดราคาแบบคัดสรรที่ไม่ใช้รายชื่อผู้ประกอบการอยู่แล้วระยะเวลายื่นข้อเสนอโครงการต้องไม่น้อยกว่า 25 วันนับตั้งแต่วันประกาศโฆษณา ระยะเวลารับข้อเสนอโครงการต้องไม่น้อยกว่า 40 วันนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศเชิญชวน และระยะเวลารับข้อเสนอโครงการในการประกวดราคาแบบจำกัดที่มีการใช้รายชื่อผู้ประกอบการต้องไม่น้อยกว่า 40 วันนับตั้งแต่วันที่ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนอ
ทั้งนี้ ในกรณีพิเศษ ระยะเวลาการดำเนินการอาจสั้นลงเหลือเพียง 10 วัน แต่ต้องเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนมาก หรือลดเหลือ 24 วัน หากเป็นกรณีเป็นการประกาศอย่างต่อเนื่องที่เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ลดลงเหลือ 10 ถึง 24 วันนี้ จะต้องเป็นกรณีที่มีการประกาศเชิญชวนที่จัดทำแยกต่างหาก ซึ่งประกาศโฆษณาไปแล้วอย่างน้อย 40 วันแต่ไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันที่ประกาศโฆษณาครั้งแรก
นอกจากนี้ ความตกลง GPA ยังกำหนดข้อจำกัดระยะเวลาสำหรับการจัดส่งสินค้าหรือให้บริการไว้ด้วย โดยกำหนดเป็นหลักการว่าการกำหนดวันที่ต้องจัดส่งสินค้าหรือสิ้นสุดการให้บริการต้องคำนึงถึงความยากง่ายของโครงการจัดซื้อจัดจ้าง การจ้างช่วง ขอบเขตของการกระจายงาน และระยะเวลาจริงที่ต้องใช้ในการผลิต จัดเก็บ หรือขนส่งสินค้า เป็นต้น
3.4.7 เอกสารโครงการจัดซื้อจัดจ้าง (Tender Documentation)
เอกสารโครงการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเอกสารที่แจ้งให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ในความตกลง GPA กำหนดว่าเอกสารโครงการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องแจ้งให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการจัดซื้อจัดจ้างทราบในรายละเอียดหรือข้อมูลสำคัญที่เพียงพอในการเตรียมการยื่นข้อเสนอ ทั้งนี้ เอกสารโครงการจัดซื้อจัดจ้างต้องประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
• ที่อยู่ของหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างที่จัดส่งข้อเสนอประกวดราคา
• ที่อยู่ที่จัดส่งเอกสารข้อเสนอประกวดราคาเพิ่มเติม
• ภาษาที่ใช้ในข้อเสนอประกวดราคา ในกรณีที่หน่วยงานจัดซื้ออนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นข้อเสนอภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา แต่ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งหนึ่งที่เป็นภาษาทางการขององค์การการค้าโลก
• วันที่และระยะเวลาในการส่งข้อเสนอประกวดราคา
• ระยะเวลา และสถานที่สำหรับการส่งข้อเสนอประกวดราคา รวมทั้งบุคคลที่มีอำนาจในการเปิดซองประกวดราคา
• เงื่อนไขทางเทคนิคและเศรษฐกิจหรือการค้ำประกัน
• เงื่อนไขรายละเอียดทางเทคนิคที่สมบูรณ์ของสินค้าหรือบริการ รวมทั้งใบรับรอง แผนผัง ภาพวาด และเอกสารประกอบอื่น ๆ
• เงื่อนไขที่ใช้ในการตัดสินคัดเลือก รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่มิใช่ราคาที่จะใช้ในการพิจารณาประเมินผลข้อเสนอประกวดราคา
• เงื่อนไขและสกุลเงินที่ใช้
• เงื่อนไขอื่น ๆ
ในกรณีที่หน่วยงานจัดซื้ออาจอนุญาตให้ผู้ประกอบการยื่นเอกสารโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้หลายภาษา ความตกลง GPA กำหนดว่าต้องเป็นภาษาทางการขององค์การการค้าโลกอย่างน้อยหนึ่งภาษาด้วย เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน เป็นต้น
อนึ่ง สำหรับการส่งเอกสารนั้น ในกรณีเป็นวิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเปิดกว้างและคัดสรร หากได้รับคำร้องขอจากผู้ประกอบการที่สนใจ หน่วยงานจัดซื้อจะต้องจัดส่งเอกสารโครงการจัดซื้อจัดจ้างให้และตอบข้อซักถามที่เกี่ยวข้องโดยทันที แต่ต้องพึงระวังว่าการตอบข้อซักถามดังกล่าวไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นเสียประโยชน์
3.4.8 การยื่นและรับข้อเสนอ (Submission and Receipt of Tenders)
หลังจากผู้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอได้เตรียมตัว ขั้นตอนต่อไปในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างคือการยื่นข้อเสนอ และรับข้อเสนอ รวมทั้งการเปิดรับข้อเสนอ ซึ่งความตกลง GPA กำหนดว่าการยื่นข้อเสนอต้องยื่นเป็นลายลักษณ์อักษร หรืออาจเป็นจดหมาย โทรเลขหรือแฟกซ์ก็ได้ แต่ห้ามการยื่นข้อเสนอทางโทรศัพท์ และอาจให้โอกาสผู้ยื่นข้อเสนอแก้ไขข้อผิดพลาดที่ไม่ตั้งใจในระหว่างการเปิดซองข้อเสนอและการตัดสินใจคัดเลือกคู่สัญญา แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ความตกลง GPA กำหนดว่าห้ามลงโทษผู้ประกอบการที่ข้อเสนอยื่นล่าช้า หากความล่าช้านั้นมิใช่ความผิดของผู้ประกอบการ แต่เกิดจากความผิดของหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างเอง
3.4.9 การเปิดซองข้อเสนอและการตัดสินใจเลือกคู่สัญญา (Opening of Tenders and Awarding of Contracts)
ขั้นตอนการเปิดซองข้อเสนอและตัดสินใจคัดเลือกคู่สัญญามีความสำคัญมากและต้องการความโปร่งใสค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ความตกลง GPA จึงวางหลักการไว้ว่าการเปิดซองข้อเสนอต้องกระทำตามกระบวนการที่เป็นปกติวิสัยและต้องสอดคล้องกับหลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination)
สำหรับการตัดสินใจเลือกคู่สัญญานั้น ความตกลง GPA กำหนดหลักการพื้นฐานในการพิจารณาคัดเลือกไว้ว่าหน่วยงานต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งหรือเอกสารข้อเสนอและการปฎิบัติตามเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีการยื่นข้อเสนอทางด้านราคาที่ต่ำมากผิดปกติ (Abnormal Low Tender) หน่วยงานจัดซื้ออาจสอบถามไปยังผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อยืนยันว่าผู้ยื่นข้อเสนอสามารถดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาได้ก่อน จึงจะเลือกได้เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการ
ในการตัดสินใจเลือกคู่สัญญานั้น หน่วยงานจัดซื้อต้องพิจารณาที่ความสามารถในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาได้ และข้อเสนอใดที่เสนอราคาต่ำที่สุดหรือข้อเสนอใดที่ดีที่สุดตามหลักเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ การตัดสินใจคัดเลือกคู่สัญญานั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และต้องไม่ใช้เงื่อนไขทางเลือก (Option Clauses) ในลักษณะที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบังคับใช้ตามความตกลง GPA
3.4.10 กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบเจรจาต่อรองแบบแข่งขัน (Competitive Negotiation)
ความตกลง GPA อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยการเจรจาต่อรองแบบแข่งขันได้ โดยต้องระบุหรือแจ้งให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างทราบตั้งแต่การประกาศโฆษณาเชิญชวน หรือในกรณีดำเนินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างวิธีโดยวิธีปกติแล้ว ไม่มีข้อเสนอใดเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการประเมินผลที่กำหนดไว้ วิธีการจัดซื้อจัดจ้างเจรจาต่อรองนี้ต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์สำคัญที่จะระบุข้อดี-ข้อด้อยของข้อเสนอโครงการ และหน่วยงานจัดซื้อต้องเก็บรักษาข้อเสนอดังกล่าวเป็นความลับ โดยเฉพาะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายหนึ่งรายใดเป็นการเฉพาะ รวมทั้งต้องไม่เลือกปฏิบัติ โดยการประกันว่าการตัดสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ระบุไว้ในประกาศหรือเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง และหากมีการแก้ไขหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขหรือเงื่อนไขทางเทคนิคจะต้องแจ้งไปยังผู้เข้าร่วมที่ยังเหลืออยู่ และผู้เข้าร่วมที่เหลือต้องได้รับโอกาสยื่นข้อเสนอใหม่หรือแก้ไขตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในกรณีที่การเจรจาสามารถสรุปได้ ผู้เข้าร่วมทุกคนที่เหลืออยู่สามารถยื่นข้อเสนอสุดท้ายได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้
3.4.11 การจัดซื้อจัดจ้างแบบจำกัด (Limited Tendering)
ทั้งนี้ ความตกลง GPA กำหนดห้ามหน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแบบจำกัด (Limited Tendering) หากวิธีการดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้เข้าร่วมเสนอราคาหรือคุ้มครองผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการภายในประเทศ และมาตรา XV ของความตกลง GPA จำกัดการใช้การประมูลแบบจำกัดในกรณีดังต่อไปนี้
• ในกรณีไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอในการประกวดราคาแบบเปิดกว้างหรือคัดสรร หรือเป็นกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอฮั่วราคาหรือสมรู้ร่วมคิดกัน หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขสำคัญในข้อเสนอ หรือผู้ประกอบการไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างไรก็ตามเงื่อนไขเดิมในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งแรกต้องไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกคู่สัญญา
• สำหรับงานทางด้านศิลปกรรม (Works of Art) หรืองานเกี่ยวกับสิทธิผูกขาดหรือทรัพย์สินทางปัญญา หรือไม่มีการแข่งขันอันเนื่องมาจากเหตุผลทางเทคนิค (Technical Reasons) หากผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นสามารถจัดซื้อจัดหาได้จากแหล่งเฉพาะและไม่ทางเลือกอื่นที่สมเหตุสมผล
• ในกรณีที่ฉุกเฉินเร่งด่วนซึ่งหน่วยงานของรัฐไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า หากการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีธรรมดาไม่สามารถกระทำได้ให้ทันการณ์
• สินค้าที่เป็นชิ้นส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนทดแทนจากผู้ประกอบการเดิม หรือการติดตั้งและบริการเพิ่มเติม ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการเดิมแล้ว อุปกรณ์หรือบริการไม่สามารถทดแทนกันได้ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์
• การจัดซื้อสินค้าต้นแบบหรือสินค้างวดแรกซึ่งพัฒนาตามเงื่อนไขที่ว่าจ้างหรือจัดซื้อโดยหน่วยงานจัดซื้อ โดยเฉพาะสัญญาวิจัยและพัฒนา สัญญาศึกษาวิจัย หรือสัญญาพัฒนาต้นแบบ เป็นต้น ซึ่งหากสัญญานั้นสิ้นสุดลง การจัดซื้อจัดจ้างต่อเนื่องต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา VII ถึง XIV
• บริการรับเหมาก่อสร้างเพิ่มเติมที่มิได้รวมอยู่ในสัญญาก่อสร้างเดิมมีความจำเป็นและภายใต้สถานการณ์ที่มิสามารถคาดหมายได้ เพื่อให้งานเสร็จสมบูรณ์ตามโครงการก่อสร้างเดิม หากมูลค่าของบริการเพิ่มเติมไม่เกินกึ่งหนึ่งของสัญญาเดิม และการแยกสัญญาออกจากสัญญาโครงการเดิมอาจทำให้ประสบกับความยุ่งยากทางด้านเทคนิคและเศรษฐกิจ รวมทั้งก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อหน่วยงานจัดซื้อ
• สำหรับบริการก่อสร้างใหม่ที่ประกอบด้วยบริการก่อสร้างคล้ายกับเงื่อนไขในสัญญาก่อสร้างฉบับแรกที่ทำสัญญาไว้แล้ว และหน่วยงานจัดซื้อเห็นว่าเกี่ยวข้องกับสัญญาก่อสร้างฉบับแรก หากประกาศการจัดซื้อจัดจ้างตามสัญญาเริ่มแรก การจัดซื้อจัดจ้างบริการก่อสร้างใหม่อาจดำเนินการโดยวิธีจำกัดได้
• สินค้าที่จัดซื้อในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตร (Commodity Market)
• สำหรับการจัดซื้อที่หากดำเนินการโดยรวดเร็วจะเป็นประโยชน์อย่างมากมาย อย่างเช่น การขายเลหลังของบริษัทที่ไม่ใช้ผู้ประกอบการปกติทั่วไป หรือการขายทิ้งสินทรัพย์ของธุรกิจที่ล้มละลาย แต่ไม่ใช้กับกรณีการซื้อปกติจากผู้ประกอบการทั่วไป
• สัญญาการประกวดการออกแบบ (Design Contest) ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการอิสระที่มีอำนาจตัดสินใจ (Independent Jury) หากประกาศการประกวดเชิญชวนผู้สนใจที่เหมาะสมสอดคล้องกับบทบัญญัติในความตกลง GPA
3.4.12 การตรวจสอบการตัดสินใจ (Public scrutiny of award decision)
ในเรื่องการจัดซื้อของภาครัฐ เป็นเรื่องธรรมดาที่มักจะมีการร้องทุกข์หรือกล่าวหาเกี่ยวกับการตัดสินเลือกผู้เข้าทำสัญญากับรัฐ โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ โดยอ้างว่ากรณีดังกล่าวมีการแทรกแซงจากการเมืองหรือคอรัปชั่น ความตกลงฯ จึงพยายามให้มีกระบวนการตรวจสอบแนวปฏิบัติที่ไม่ดีดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดดังต่อไปนี้
ประกาศการตัดสินใจเลือกผู้เข้าทำสัญญา โดยระบุลักษณะและจำนวนของสินค้าหรือบริการที่ครอบคลุมตามสัญญา
ชื่อและที่อยู่ของผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำสัญญา
มูลค่าของสัญญาของผู้ได้รับการคัดเลือก
ข้อเสนอต่ำสุดและข้อเสนอสูงสุด
นอกจากนี้ หากผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกร้องขอ หน่วยงานจัดซื้อจะต้องแสดงเหตุผลในการปฏิเสธหรือมาตรฐานการคัดเลือกให้ทราบ
เมื่อมีการตัดสินใจคัดเลือกคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ความตกลง GPA กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องประกาศโฆษณาผลของการตัดสินเลือกคู่สัญญาภายใน 72 วันหลังจากมีการตัดสินใจ ทั้งนี้ ประกาศโฆษณาดังกล่าวประกอบด้วยเนื้อหาดังต่อไปนี้ ลักษณะและคุณภาพของสินค้าหรือบริการ ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา วันที่ตัดสินใจเลือกคู่สัญญา ชื่อและที่อยู่ของผู้ได้รับการคัดเลือกหรือที่ชนะการประมูล มูลค่าของสัญญา ข้อเสนอสูงสุดและข้อเสนอที่ต่ำสุด ประเภทของกระบวนการที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้าง หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างจะต้องแจ้งให้ผู้เข้าร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างทันทีที่มีการตัดสินใจคัดเลือกผู้ชนะ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ได้รับการคัดเลือกสามารถร้องขอและมีสิทธิได้รับคำอธิบายและเหตุผลของการตัดสินใจทันที
3.4.13 กระบวนการโต้แย้ง (Challenge Procedures)
ความตกลง GPA กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องเรียนและพิจารณาตรวจทานการตัดสินใจของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รวมทั้งจัดให้มีมาตรการเยียวยาแก่ผู้เสียหายด้วย ทั้งนี้ องค์กรอิสระที่ว่านี้อาจเป็นศาลหรือองค์กรอื่นที่มีดุลพินิจอิสระก็ได้ โดยต้องจัดให้มีกระบวนการพิจารณากรณีโต้แย้งที่มีความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ รวดเร็ว โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดกว้างต่อสาธารณะและทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องเก็บรักษาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้เป็นเวลาอย่างน้อยสามปี เพราะอาจจำเป็นต้องนำมาใช้ในการพิจารณาในกระบวนการโต้แย้ง นอกจากนี้ ความตกลง GPA ยังกำหนดว่าผู้ประกอบการที่มีส่วนได้เสียอาจร้องเรียนตามกระบวนการโต้แย้งหรือแจ้งหน่วยงานจัดซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดนับตั้งแต่รู้หรือควรรู้ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่ควรน้อยกว่าสิบวัน
ในกรณีที่การโต้แย้งได้รับการทบทวนโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่มิใช่ศาล คำวินิจฉัยดังกล่าวต้องสามารถเสนอต่อศาลให้ทบทวนได้หรือต้องดำเนินการตามกระบวนการหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในความตกลง GPA สำหรับกรณีที่เป็นองค์กรอิสระที่มิใช่ศาลเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการรับเรื่องราวร้องเรียนนั้น กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนต้องให้ดังต่อไปนี้
• ผู้ร้องเรียนสามารถรับฟังการพิจารณาข้อร้องเรียน
• ผู้ร้องเรียนสามารถแต่งตั้งตัวแทนได้
• ผู้ร้องเรียนสามารถเข้าร่วมในกระบวนการพิจารณา
• กระบวนการพิจารณาต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ
• คำวินิจฉัยต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและให้เหตุผลในการวินิจฉัยนั้นด้วย
• มีกระบวนการสืบพยาน
• สามารถเปิดเผยเอกสารหลักฐานต่อองค์กรรับเรื่องร้องเรียนหรือโต้แย้ง
ทั้งนี้ องค์กรรับเรื่องร้องเรียนหรือข้อโต้แย้งดังกล่าวต้องมีอำนาจที่จะออกคำสั่งหรือมาตรการชั่วคราวก่อนวินิจฉัย (Rapid Interim Measures) เพื่อแก้ไขเยียวยาการละเมิดความตกลงและรักษาโอกาสทางการค้าของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจรวมถึงการระงับหรือหยุดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยต้องคำนึงผลเสียของการออกมาตรการดังกล่าวและผลประโยชน์สาธารณะประกอบกัน ซึ่งถือว่าเป็นการอนุญาตให้ใช้มาตรการเยียวยาในเชิงป้องกันได้ (Restitutio in Integrum) โดยเฉพาะเพื่อป้องกันปัญหาการคัดเลือกคู่สัญญาโดยมิชอบ ซึ่งมีประสิทธิผลมากกว่าการเยียวยาหรือมาตรการแก้ไขภายหลัง (Ex Post)
นอกจากนี้ องค์กรรับเรื่องร้องเรียนหรือข้อโต้แย้งต้องมีอำนาจที่จะแก้ไขเยียวยาหรือชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่อาจจำกัดเฉพาะการเตรียมข้อเสนอโครงการหรือการโต้แย้งคัดค้านเท่านั้น และกระบวนการโต้แย้งควรมีการประเมินผลคำวินิจฉัยด้วย แต่ที่สำคัญคือกระบวนการโต้แย้งต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของผู้ที่มีส่วนได้เสีย
3.5 บทบัญญัติว่าด้วยการประติบัติที่พิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment)
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าความตกลงฯ นี้มีประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมน้อยมาก ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนากังวลว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบหรือกระบวนการจัดซื้อของตน หากเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยเฉพาะหลักการที่กำหนดให้มีการซื้อสินค้าจากภายในประเทศหรือจากผู้ประกอบภายในประเทศ และบทบัญญัติที่ให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก
ความตกลง GPA ได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการประติบัติที่พิเศษและแตกต่างไว้ (Special and Differential Treatment) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดที่จะเข้าร่วมในความตกลง GPA ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ที่ให้เป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาแบ่งได้สามประเภทคือ
3.5.1 การขอยกเว้นบทบัญญัติของความตกลง (Agreed Exclusion)
ความตกลง GPA อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) สามารถเจรจาผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักการของความตกลงได้ระยะเวลาหนึ่ง เช่น อาจกำหนดให้บางหน่วยงานที่ไม่อยู่ในบังคับของความตกลงฯ หรือขอผ่อนผันการใช้หลักประติบัติเยี่ยงคนชาติกับสินค้าหรือบริการบางประเภทเพื่อจัดซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการภายในประเทศในราคาหากราคาดังกล่าวสูงกว่าราคาสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการต่างประเทศ เป็นต้น การขอยกเว้นดังกล่าวสามารถดำเนินการได้สามวิธีดังนี้
• การเจรจาเข้าเป็นภาคีสมาชิก (Negotiation) ในระหว่างกระบวนการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลง GPA ประเทศกำลังพัฒนาได้รับสิทธิพิเศษหรือแต้มต่อในการเจรจาขอยกเว้นการบังคับใช้หลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติสำหรับหน่วยงานบางหน่วยงาน สินค้า หรือบริการบางประเภท แต่ต้องเป็นไปตามมาตรา V:1 (a)-(c) นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกสามารถเจรจาขอยกเว้นการบังคับใช้หลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติกับบางหน่วยงาน สินค้าหรือบริการบางประเภท ในกรณีที่ประเทศกำลังพัฒนาได้เข้าร่วมในความตกลงทางการค้าในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน แต่ทั้งนี้ต้องประเมินเป็นกรณีเฉพาะเป็นราย ๆ ไป
• การขอแก้ไขเอกสารแนบฝ่ายเดียว (Unilateral amendment of the coverage lists) ความตกลง GPA อนุญาตให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถร้องขอแต้มต่อหลังจากเข้าร่วมความตกลงแล้วได้ โดยการร้องขอแก้ไขเอกสารแนบที่เคยยื่นผูกพันไว้ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการต้องเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา XXIV:6 โดยพิจารณาถึงความจำเป็นทางการค้าและทางการคลังของประเทศที่ร้องขอด้วย
• การอนุญาตโดยคณะกรรมการฯ (Authorization of the Committee) หลังจากความตกลง GPA มีผลใช้บังคับแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาสามารถร้องขอต่อคณะกรรมการ GPA ที่จะขอสิทธิประโยชน์พิเศษหรือแต้มต่อสองวิธีการคือ การขอยกเว้นหลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) สำหรับหน่วยงานบางหน่วยงาน สินค้า หรือบริการบางประเภทที่อยู่ในเอกสารแนบที่ได้ยื่นไว้ แต่ต้องเป็นกรณีที่พิเศษ โดยต้องพิจารณาเป็นรายกรณีและใช้เกณฑ์ตามมาตรา V:1 (a)-(c)ในการพิจารณา และอีกวิธีหนึ่งคือการร้องขอยกเว้นบางหน่วยงาน สินค้าหรือบริการบางประเภทที่อยู่ในเอกสารแนบที่ได้ยื่นไว้ แต่ต้องเป็นกรณีที่ประเทศกำลังพัฒนาได้เข้าร่วมในความตกลงทางการค้าในระดับภูมิภาค และต้องใช้เกณฑ์ตามมาตรา V:1 (a)-(c) ในการพิจารณาและพิจารณาเป็นรายกรณีไป
3.5.2 บทบัญญัติเกี่ยวกับการหักกลบลบหนี้ (Use of Offset)
ความตกลง GPA ในปี 1979 มิได้ห้ามการหักกลบลบหนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง แต่ในความตกลง GPA ปี 1994 กำหนดห้ามการหักกลบลบหนี้ (Offset) กล่าวคือประเทศสมาชิกต้องไม่ใช้การหักกลบลบหนี้ในกระบวนการกำหนดคุณสมบัติหรือคัดเลือกผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอ หรือในการประเมินผลและตัดสินใจทำสัญญา โดยการอ้างว่าเป็นมาตรการที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมดุลการชำระเงินของประเทศให้สมดุลโดยการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ การอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยี เงื่อนไขการลงทุน หรือมาตรการอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
แต่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับการยกเว้นจากการข้อห้ามใช้การหักกลบลบหนี้ โดยในมาตรา XXVI:2 กำหนดว่าในตอนเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก ประเทศกำลังพัฒนาอาจเจรจาขอใช้การหักกลบลบหนี้ แต่ข้อยกเว้นดังกล่าวต้องใช้อย่างจำกัด เฉพาะกับการกำหนดคุณสมบัติในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น แต่ไม่ใช้กับการตัดสินใจคัดเลือกคู่สัญญา อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำหรับการหักกลบลบหนี้นี้ต้องมีความชัดเจนและไม่เลือกปฏิบัติ และต้องระบุไว้ในภาคผนวกที่ 1 ของแต่ละประเทศ
3.5.3 การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (Technical Assistance)
ความตกลง GPA ยังให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นภาคีสมาชิกในการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่ให้บริการข้อมูล (Information Center) ดังต่อไปนี้
กฎหมาย ระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อของรัฐ
ที่อยู่ของหน่วยงานภาครัฐที่อยู่ภายใต้ความตกลงฯ
ลักษณะและปริมาณสินค้าหรือบริการที่จัดซื้อหรือจัดหา รวมทั้งข้อมูลของการประมูลในอนาคต (ถ้ามี)
สำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developing Countries: LDC) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ถึงแม้จะมิใช่ประเทศสมาชิกความตกลง GPA ก็ตาม โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกความตกลง GPA ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว หากได้รับการร้องขอจะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมผู้ยื่นข้อเสนอโครงการในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและต้องให้ความช่วยเหลือผู้ยื่นข้อเสนอโครงการและผู้ประกอบการสินค้าที่ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานทางเทคนิคเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
4. การบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อโดยรัฐ
มาตรา XX ของความตกลง GPA ได้กำหนดเงื่อนไขให้ประเทศสมาชิกต้องจัดตั้งกลไกการเปิดประมูลภายในประเทศ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถฟ้องร้องหรือร้องเรียนในกรณีที่การเปิดประมูลหรือกระบวนการประมูลขัดกับหลักการหรือเงื่อนไขภายใต้ความตกลง GPA
4.1 การระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement)
ความตกลง GPA กำหนดหลักการระงับข้อพิพาทไว้ ซึ่งมีผลผูกพันประเทศสมาชิก โดยให้นำหลักการระงับข้อพิพาทของความตกลงองค์การการค้าโลกมาใช้บังคับ แต่ในกรณีที่มีความขัดแย้งก็ให้ใช้บังคับตามบทบัญญัติของความตกลง GPA ซึ่งบทบัญญัติบางประการของ GPA ก็มีความแตกต่างออกไปในบางเรื่อง ทั้งนี้ การระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลง GPA นี้มีจำกัดเฉพาะกับประเทศสมาชิกของความตกลง GPA เท่านั้น กล่าวคือประเทศสมาชิกของ GPA เท่านั้นมีสิทธิแต่งตั้งคณะกรรมการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body)
เนื่องจากความตกลง GPA เป็นความตกลงแบบหลายฝ่ายมิใช้ความตกลงแบบพหุภาคี ดังนั้น ความตกลง GPA ไม่รวมถึงการตอบโต้ข้ามความตกลงหรือข้ามสาขา (Cross-retaliation) เช่น การยกเลิกสิทธิประโยชน์ตามความตกลง GPA ไม่อาจใช้เป็นข้ออ้างในการระงับข้อผูกพันอื่น ๆ ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกได้ หรือในทางกลับกันการที่ประเทศสมาชิกอื่นละเมิดพันธกรณีตามความตกลงอื่นภายใต้กรอบความตกลงองค์การการค้าโลก ประเทศสมาชิกที่ถูกละเมิดก็ไม่สามารถยกเลิกหรือระงับโครงการจัดซื้อจัดจ้างตามที่ผูกพันไว้ในความตกลง GPA ได้ เพื่อตอบโต้ประเทศสมาชิกที่ละเมิดได้ นอกจากนี้ องค์กรระงับข้อพิพาทจะมีอำนาจในการหารือระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการเยียวยาข้อพิพาท หากการเพิกถอนมาตรการละเมิดเป็นไปไม่ได้
ที่ผ่านมามีกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบความตกลงองค์การค้าโลกที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีดังต่อไปนี้
• Japan – Procurement of a Navigation Satellite เป็นกรณีพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นในประเด็นเรื่องขอบเขตของการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้นในความตกลงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐรอบโตเกียว (Tokyo Round Agreement)
• United States – Measures Affecting Government Procurement (Massachusetts State Prohibiting Contracts with Firms Doing Business with or in Myanmar) เป็นกรณีพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเกี่ยวกับพันธกรณีผูกพันตามความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกับกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลระดับท้องถิ่น
• Korea – Measures Affecting Government Procurement (Procurement Practices of the Korean Airport Construction Authority) เป็นกรณีพิพาทระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเกี่ยวกับการก่อสร้างสนามบินในประเด็นขอบเขตของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้กรอบของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ทั้งนี้ ข้อพิพาททั้งสามกรณีเป็นเรื่องที่ควรศึกษาเพราะได้มีการตีความบทบัญญัติของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (GPA) และวางหลักกฎหมายสำคัญของความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไว้หลายประเด็น ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดในรายงานฉบับถัดไป
4.2 บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน (Institutions)
ความตกลง GPA ได้จัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Committee on Government Procurement) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก โดยทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงและการขยายขอบเขตของความตกลง ความตกลง GPA กำหนดว่าคณะกรรมการฯ ต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อให้โอกาสแก่ประเทศสมาชิกในการปรึกษาหารือกันในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีตามความตกลง GPA ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ อาจแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
ประเทศสมาชิกมีหน้าที่ต้องรายงานเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแก่คณะกรรมการฯ รวมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้วย และความตกลง GPA ยังส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อย่างเช่น การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Procurement) หรือระบบการประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เปิดกว้าง ไม่เลือกปฏิบัติ และมีประสิทธิภาพด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรม
นอกจากการทบทวนประจำปีโดยคณะกรรมการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Committee on Government Procurement) แล้ว ความตกลง GPA ยังกำหนดให้มีการเจรจาภายในสามปีนับตั้งแต่วันที่ความตกลง GPA มีผลใช้บังคับ เพื่อปรับปรุงและขยายขอบเขตของความตกลง GPA ซึ่งในปัจจุบันคณะกรรมการว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ทบทวนสามประเด็นหลักคือ ความเรียบง่ายและปรับปรุงของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การขยายขอบเขตความตกลง และ การขจัดข้อจำกัดที่เลือกปฏิบัติให้หมดไป เป็นต้น อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์หลักจริง ๆ ก็คือการขยายประเทศสมาชิกของความตกลง GPA และขอบเขตการบังคับใช้ของความตกลง GPA
5. การเจรจารอบต่อไป
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าความตกลง GPA เป็นความตกลงหลายฝ่ายภายใต้กรอบความตกลงพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (Plurilateral Agreement) ที่เริ่มต้นจากการสร้างกลไกการเข้าสู่ตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วต้องการให้ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีผลใช้บังคับกับสมาชิกองค์การการค้าโลกทุกประเทศ จึงได้พยายามผลักดันให้มีการเจรจาเรื่องนี้ในแบบของความตกลงพหุภาคี (Multilateral Agreement) ภายใต้กรอบในความตกลงองค์การการค้าโลก แต่ก็ถูกคัดค้านโดยประเทศกำลังพัฒนาที่พยายามลดกรอบการหารือในเรื่องนี้ให้เหลือเพียงเฉพาะเรื่องความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น ทำให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งแรกที่สิงคโปร์ เมื่อปี 2539 ได้มีมติให้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความโปร่งใสของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยคำนึงถึงนโยบายของแต่ละประเทศ และให้ใช้ผลของการศึกษาดังกล่าวมาจัดทำเป็นประเด็นรวมอยู่ในความตกลงที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิก WTO ทั้งหมดเข้าร่วมเป็นสมาชิกของความตกลงได้
ต่อมาในการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2542 ที่เมืองซีแอตเติ้ล สหรัฐฯ ได้ประกาศเป็นการทั่วไปต้องการให้มีการลงนามในความตกลงเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐใน โดยเห็นว่าการดำเนินงานมีความก้าวหน้าเพียงพอที่จะทำเป็นความตกลงพหุภาคี และสหรัฐฯ ได้ร่วมกับเกาหลี ฮังการีและสิงคโปร์ เสนอร่างความร่างความตกลงเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ก็ได้เสนอร่างของตนต่อคณะทำงานฯ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าการดำเนินการจะต้องมีความก้าวหน้าอย่างเพียงพอก่อน
ร่างปฏิญญารัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเติลมีเนื้อหาให้มีการเจรจาเรื่องนี้ และให้สรุปผลการเจรจาจัดทำเป็นความตกลงว่าด้วยความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐให้ได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 โดยการเจรจาต้องคำนึงถึงนโยบายชาติและอยู่บนพื้นฐานองค์ประกอบความตกลงฯ ที่คณะทำงานฯ ได้เคยพิจารณา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติลล้มเหลวจึงทำให้ไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้สหรัฐฯ ได้ประกาศเป็นการทั่วไปต้องการให้มีการลงนามในความตกลงเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2542 ที่เมืองซีแอตเติ้ล โดยเห็นว่าการดำเนินงานมีความก้าวหน้าเพียงพอที่จะทำเป็นความตกลงพหุภาคี และสหรัฐฯ ได้ร่วมกับเกาหลี ฮังการีและสิงคโปร์ เสนอร่างความร่างความตกลงเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ส่วนญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป ก็ได้เสนอร่างของตนต่อคณะทำงานฯ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าการดำเนินการจะต้องมีความก้าวหน้าอย่างเพียงพอก่อน
แม้ว่าร่างปฏิญญารัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเติล มีเนื้อหาให้มีการเจรจาเรื่องนี้ และให้สรุปผลการเจรจา จัดทำเป็นความตกลงว่าด้วยความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐให้ได้ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกครั้งที่ 4 โดยการเจรจาต้องคำนึงถึงนโยบายชาติและอยู่บนพื้นฐานองค์ประกอบความตกลงฯ ที่คณะทำงานฯ ได้เคยพิจารณา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ซีแอตเติลล้มเหลวจึงทำให้ไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้
ต่อมาในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่สี่ ณ โดฮา ที่ประชุมได้ยอมรับปฏิญาณรัฐมนตรี (Doha Ministerial Declaration) ซึ่งระบุว่าควรจัดให้มีการเจรจาความตกลง GPA โดยจำกัดขอบเขตเฉพาะในเรื่องความโปร่งใสขึ้นในการประชุมระดับรัฐมนตรีในรอบต่อไปและการเจรจาควรอยู่ภายใต้กรอบงานของคณะทำงานด้านความโปร่งใส (Working Group on Transparency) ซึ่งคณะทำงานด้านความโปร่งใสจะมุ่งเน้นที่บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสของความตกลงระหว่างประเทศ กฎหมายและกระบวนการ รวมทั้งได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐจากแหล่งต่างๆ เช่น ธนาคารโลก คณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ (UNCITRAL) เอเปค (APEC) และระเบียบของประเทศต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาและจัดทำเป็นประเด็นที่จะรวมอยู่ในความตกลง และยังให้ความสำคัญการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการเสริมสร้างขีดความสามารถทางด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศกำลังพัฒนาด้วย อาจกล่าวได้ว่าเป็นการส่งเสริมให้นำหลักธรรมรัฐ (Good Governance) มาใช้ในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะหากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสมากขึ้น โอกาสในการคอรัปชั่นและหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างลดลง และเพิ่มการแข่งขันในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น
อนึ่ง ประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 5 ได้มีมติให้การเจรจาความตกลงว่าด้วยความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยเป็นแบบฉันทามติแบบเปิดเผย และการเจรจาจะจำกัดเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐเท่านั้น และไม่ห้ามสมาชิกให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ รวมทั้งไม่มีพันธะในเรื่องการเปิดตลาดมี ซึ่งเป้าหมายหลักคือ ต้องการให้พัฒนากลายเป็นความตกลงระหว่างประเทศแบบพหุภาคี (Multilateral Agreement) ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยคณะทำงานด้านความโปร่งใสต้องรายงานต่อ General Council ของ WTO ทุกปี
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่มีการเจรจาในความตกลงว่าด้วยความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างมีดังต่อไปนี้
• นิยามและขอบเขตของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
• วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง
• การประกาศข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
• ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการจัดซื้อจัดจ้าง การเชิญชวนและกระบวนการด้านคุณสมบัติ
• ข้อจำกัดด้านระยะเวลา
• ความโปร่งใสของคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติ
• ความโปร่งใสเกี่ยวกับการตัดสินใจคัดเลือกคู่สัญญา
• กระบวนการทบทวนภายในประเทศ
• เรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับความโปร่งใส
• ข้อมูลที่ต้องให้กับรัฐบาลอื่น
• กระบวนการระงับข้อพิพาทในองค์การการค้าโลก
• ความร่วมมือทางเทคนิคและการประติบัติที่พิเศษและแตกต่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
ในการประชุมของคณะทำงานฯ ช่วงปี 2545-2546 ได้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับคำจำกัดความและขอบเขต (definition and scope) วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง (procurement methods) ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนภายในประเทศ (information on national legislation and procedures) ข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการจัดซื้อจัดจ้าง (information on procurement opportunities) กระบวนการประมูลและการ คัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น (tendering and qualification procedures) และระยะเวลา (time-period) ซึ่งประเทศสมาชิกมีความเห็นที่ต่างกัน ดังนี้
- อินเดีย: ประเทศกำลังพัฒนาให้ความเห็นในเรื่องความโปร่งใสไว้ตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 ที่สิงคโปร์ว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐเป็นเครื่องมือในการนำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติ ดังนั้น อาจมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดให้เฉพาะผู้ประกอบการภายในเท่านั้น ประเทศสมาชิกไม่มีพันธกรณีที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายภายใน ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีที่โดฮา ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการศึกษาเรื่องนี้ต่อไป และตัดประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับความโปร่งใสออก
- มาเลเซีย: เห็นว่าคำจำกัดความ ไม่ควรรวมการค้าบริการเพราะเป็นเรื่องที่ต้องเจรจาภายใต้ กรอบความตกลง GATS และควรตัดเรื่องระยะเวลาทิ้งไป
- จาไมกา: สนับสนุนให้ตัดเรื่องกำหนดระยะเวลาของขั้นตอนการประมูลออก
- สหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดาและสวิตเซอร์แลนด์: คัดค้านถ้อยแถลงของทั้ง 3 ประเทศข้างต้น
- มอร็อคโคและเวเนซุเอลา เห็นด้วยที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนภายในประเทศ สำหรับการแปลกฎหมายและขั้นตอนดังกล่าว เป็นภาษาทางการของ WTO สหภาพยุโรปเห็นว่าการแปลเป็นภาษาใดภาษาหนึ่งก็น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งไทยให้ความเห็นว่าการแปลอย่างเป็นทางการจะใช้เวลามาก
- หลายประเทศให้ความเห็นเกี่ยวกับการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประมูล ว่าหากจะให้ข้อมูลบางเรื่อง และพอสังเขปก็คงทำได้ ซึ่งไทยให้ความเห็นว่าส่วนราชการทั่วประเทศมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐตลอดปี ซึ่งเป็นภาระมากพอควร และเสนอให้จำกัดเฉพาะโครงการใหญ่ๆ (mega project) โดยเฉพาะในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา
- ประเทศกำลังพัฒนาให้ความสนใจประเด็นการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและการเสริมสร้างสมรรถนะ โดยไทยเสนอให้ภาคเอกชนร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการและการสัมมนาที่เลขานุการคณะทำงานฯ จัด แต่มาเลเซียเห็นว่าหากเป็นการสัมมนาในระดับภูมิภาค ควรจำกัดเฉพาะภาครัฐ แต่หากเป็นระดับประเทศก็ไม่ขัดข้อง
- ออสเตรเลียเสนอเอกสารเกี่ยวกับวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเห็นว่า รัฐบาลควรมีสิทธิเลือกวิธีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้การจัดซื้อเป็นไปตามจุดประสงค์ที่ต้องการ ทั้งนี้ การเลือกวิธีจัดซื้อจัดจ้างจะต้องมีความซื่อสัตย์และสามารถชี้แจงเหตุผลได้ เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อผู้ประมูลอย่างยุติธรรม นอกจากนั้น ควรมีแนวทางดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวกับการขัดผลประโยชน์และข้อมูลที่เป็นความลับ และจำเป็นต้องมีเอกสารเกี่ยวกับการตัดสินใจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบ
ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 5 เมื่อปี 2546 ที่แคนคูน ได้มีการจัดทำร่างปฏิญญารัฐมนตรี (ฉบับวันที่ 13 กันยายน 2546) โดยกำหนดให้เริ่มการเจรจาทำความตกลงฯ ตามรูปแบบ (modalities) ที่ปรากฏในร่าง Annex D ซึ่งสมาชิกมีความเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ดังนี้
- ประเทศพัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ สนับสนุนให้เริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ หลังการประชุมที่แคนคูน โดยเห็นชอบในหลักการของร่าง Annex D
- ประเทศกำลังพัฒนา เช่น กลุ่ม ACP (กลุ่มแอฟริกา LDCs 12 ประเทศ) บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เห็นว่าไม่พร้อมที่จะทำการเจรจาทำความตกลงฯ โดยเห็นควรให้คณะทำงานฯ ทำการศึกษาต่อไป และไม่ยอมรับร่าง Annex D ดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นไปตามข้อเสนอของประเทศพัฒนา
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 5 ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยังไม่มีมติที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร นอกจากเรื่องความโปร่งใสแล้ว ยังมีการเจรจาของคณะทำงานเกี่ยวกับความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (Working Party on GATS Rule: WPGR) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการในการเจรจาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวกับบริการภายใต้กรอบความตกลงพหุภาคี (Multilateral Agreement) ดังปรากฏในมาตรา XII: 2 แต่อย่างไรก็ตาม การเจรจาของคณะทำงาน WPGR ก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก โดยประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องคือเรื่องกฎระเบียบภายในประเทศ (Domestic Regulation)
6. การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ในขณะนี้มีประเทศที่ประสงค์จะเข้าเป็นภาคีสมาชิกคือ Bulgaria, Estonia, Jordan, Kyrgyz Republic, Latvia, Panama, Chinese Taipei และมีประเทศอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าสังเกตการณ์อยู่ในขณะนี้ ซึ่งหากประเทศไทยประสงค์ที่จะเข้าเป็นภาคีสมาชิกของความตกลง GPA จะต้องมีภารกิจหลายอย่างในการเตรียมการเพื่อสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิก อย่างเช่น การปรับปรุงแก้ไขและสร้างความชัดเจนเรื่องกฎระเบียบและแนวปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและบัญญัติต่าง ๆ ที่ความตกลง GPA กำหนดไว้ พร้อมทั้งจัดเตรียมดำเนินการต่อไปนี้
• การระบุรายชื่อหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคให้ชัดเจนลงไปด้วยว่ามีหน่วยงานใดบ้างที่จะผูกพันภายใต้ความตกลง GPA
• การระบุประเภทหรือสาขาบริการและการก่อสร้างว่าครอบคลุมงานใดบ้างที่จะผูกพันภายใต้ความตกลง GPA
• การระบุมูลค่าหรือการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวว่าควรจะกำหนดไว้ที่ระดับใด (Threshold) ซึ่งถ้ามูลค่าสูงกว่าระดับนี้แล้วก็จะอยู่ภายใต้ความครอบคลุมของความตกลง GPA และห้ามมูลค่าต่ำกว่าจะอยู่นอกกรอบความตกลง GPA
• การระบุแต้มต่อที่ประเทศไทยต้องการสงวนไว้หรือร้องขอตามบทบัญญัติว่าด้วยการประติบัติที่พิเศษและแตกต่าง (S&D)
• การเตรียมเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นภาษาทางการขององค์การการค้าโลก เช่น ภาษาอังกฤษ ในด้านการแจ้งประกาศการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและประกาศผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญา การจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติในการเข้าประมูล
• การตีพิมพ์กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งหมด
• การระบุรายชื่อหนังสือพิมพ์หรือวารสารระหว่างประเทศที่ประเทศจะประกาศโฆษณาโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของความตกลง GPA
7. ข้อคิดจากประสบการณ์ของประเทศสมาชิก
ในปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศได้ลงนามเป็นสมาชิกความตกลง GPA แต่มีประเทศกำลังพัฒนาเพียงสามประเทศเท่านั้นที่เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก แต่ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นก็ถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว คือ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศฮ่องกง-จีน จากการศึกษาของ UNCTAD พบว่าสาเหตุที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดยังลังเลใจที่จะเข้าร่วมในความตกลง GPA มีดังนี้
• ด้วยทัศนะที่ว่าประเทศกำลังพัฒนามักจะลังเลใจที่จะเข้าร่วมความตกลง GPA เพราะเกรงว่าจะเป็นการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วน่าจะได้เปรียบในทางการแข่งขันมากกว่า เพราะความตกลง GPA ไม่ได้สร้างความเท่าเทียมกันระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาน่าจะเสียเปรียบแก่ประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก โดยเฉพาะบริษัทหรืออุตสาหกรรมภายในประเทศที่กำลังเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาไม่น่าจะประมูลแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้วได้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการขาดดุลบัญชีชำระเงินของประเทศ
• มีแนวโน้มว่าอาจมีการพัฒนาการค้าของประเทศกำลังพัฒนาในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะอิงอยู่กับหลักการและแนวปฏิบัติในระดับภูมิภาค (Regional Regime) เช่น เขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) มากกว่าในระดับระหว่างประเทศ (International Regime) ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) เพราะพันธกรณีของความตกลง GPA ค่อนข้างสูงสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและแนวปฏิบัติค่อนข้างมาก
• สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาอาจได้รับจากการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลง GPA อาจไม่สำคัญมากนักเพราะแนวปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยกระบวนการประมูลเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันอยู่แล้วและในทางปฏิบัติสำหรับประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาน้อยซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องกู้ยืมเงินหรือได้รับเงินช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วหรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) หรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้น ซึ่งเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือดังกล่าวบางครั้งก็มีเงื่อนไขที่กำหนดให้ประเทศผู้ขอกู้ต้องจัดซื้อสินค้าหรือจัดจ้างบริการจากประเทศผู้ให้กู้หรือบริจาคเหล่านั้น ดังนั้น การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลง GPA จึงไม่จำเป็นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความตกลง GPA ในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ประเทศสิงคโปร์ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดซื้อโดยรัฐ (Transparency in Government Procurement) และมีความพยายามผลักดันให้กลายเป็นความตกลงหนึ่งของการเจรจาภายใต้กรอบของ WTO ซึ่งจะมีผลผูกพันประเทศสมาชิก WTO ทั้งหมด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น