สำนักกฎหมายบ้านเมือง หรือปฎิธานนิยม (Positive
law) หรือในภาษาลาตินเรียกว่า ius positum ซึ่งถือว่าเป็นสำนักคิดทางกฎหมายที่สำคัญของโลกและทรงอิทธิพลมากสำนักหนึ่งในวงการนิติปรัชญามาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
แนวคิดของสำนักนี้มีรากฐานมาจากนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น จอห์น
ออสติน (John Austin) เจอรีมี เบ็นทรัม (Jeremy
Bentham) ในช่วงยุคศตวรรษที่ 18 และ 19
ตามลำดับ ต่อมาได้รับการพัฒนาแพร่หลายโดยเฮอร์เบริท ฮาร์ท (Herbert
Hart) และโจเซฟ เรซ (Joseph Raz) ที่สร้างกรอบความคิดให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม
ซึ่งเป้าหมายของการวิเคราะห์กฎหมายตามแนวคิดนี้คือเพื่อช่วยให้เข้าใจว่ากฎหมายของประเทศคือ
สิ่งที่เป็นอยู่และไม่ใช่สิ่งที่ควรจะเป็น (Law of the land as it is and
not as it ought to be) ดังนั้น
สำนักคิดนี้จึงมุ่งเน้นการระบุกฎหมายในฐานะที่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยบุคคลหรือองค์กรที่มีอำนาจในการตรากฎหมาย
และไม่ใช่วิธีการที่ควรสร้างกฎหมายขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ
สำนักกฎหมายบ้านเมืองเป็นปรัชญาของสำนักความคิดทางกฎหมายที่เน้นในการอธิบายกฎหมายที่เป็นรูปธรรม
เมื่อกล่าวถึง “กฎหมาย” นักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองจะอธิบายว่า
ผู้ให้กำเนิดกฎหมายคือ “รัฏฐาธิปัตย์” (Sovereign) คือ มนุษย์
ดังที่ จอห์น ออสติน ได้อธิบายว่า “กฎหมาย คือคำสั่งคำบัญชาของรัฎฐาธิปัตย์”
จึงทำให้คำสั่งของบุคคลใดหรือองค์กรใดที่ไม่ใช่รัฎฐาธิปัตย์
จึงไม่อยู่ในความหมายของกฎหมาย
สำนักความคิดทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองอธิบายว่า รัฎฐาธิปัตย์ คือ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
และกฎหมายจึงเกิดจากมนุษย์เป็นผู้สร้างและขึ้นอยู่กับระบอบการปกครอง
แนวความคิดดังกล่าวจึงแตกต่างจากแนวความคิดของกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) ที่เชื่อว่ากฎหมายมาจากเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีฐานะเหนือกว่ากฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นมาให้ความสำคัญกับ
"เหตุผล"
ของมนุษย์และได้ให้ความสำคัญกับการออกกฎหมายมาจำกัดความไร้เหตุผลของจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น
จอห์น
ออสตินให้คำจำกัดความกฎหมายบ้านเมืองว่าเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจอธิปไตยทางการเมืองซึ่งจะมีการลงโทษกับบุคคลที่ไม่เชื่อฟังคำสั่ง
ดังนั้น กฎหมาย จึงประกอบด้วยองค์ประกอบสามประการ คือ
1. อธิปไตยทางการเมือง (Political sovereign)
2. คำสั่งของผู้มีอำนาจ (Command)
3. การบังคับใช้หรือบทลงโทษ (Sanction)
ทั้งนี้ จอห์น ออสตินเห็นว่าสังคมใดที่ไม่มีอำนาจอธิปไตยจะไม่มีกฎหมายในแง่นี้
อำนาจอธิปไตยถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมที่แสดความเป็นอิสระทางการเมือง
ส่วนองค์ประกอบของคำสั่งนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่สร้างหน้าที่ด้วยการมีการบังคับใช้เพื่อให้มีการปฏิบัติตาม
คำสั่งของผู้มีอำนาจจึงไม่สามารถแยกออกจากหน้าที่และการบังคับใช้ได้
กล่าวอีกนัยหนึ่งเมื่อมีการกำหนดหน้าที่แสดงว่ามีคำสั่งเกิดขึ้น
หน้าที่เกิดจากการมีอยู่ของการบังคับใช้ให้ปฏิบัติหรือการลงโทษกรณีไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
นอกจากนี้ ออสตินได้วางหลักการเพิ่มเติมว่า กรณีที่เป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นหรือสำคัญควรต้องมีการประกาศแจ้งให้ทราบ
แต่การประกาศกฎหมายดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นกฎหมายใหม่
แต่เป็นการทำให้ชัดเจนหรือตีความกฎหมายเท่านั้น
และผู้มีอำนาจอาจยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมได้
สำหรับกรณีที่กฎหมายที่ไม่ได้ระบุบทลงโทษโทษไว้ก็ยังคงเป็นกฎหมาย
เพียงแต่เป็นกรณีขาดตกบกพร่อง
ตามแนวคิดสำนักคิดกฎหมายบ้านเมืองมองว่ากฎหมายและหลักศีลธรรมแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด
กฎหมายไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรม
แต่ยังยอมรับว่ากฎหมายมักจะสะท้อนหลักศีลธรรมของมนุษย์ในสังคมนั้น
ฮาร์ทเชื่อว่าหลักศีลธรรมปรากฎในจักรวาล แต่ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นกฎหมายที่ผูกพันบังคับเช่นกฎหมาย
ไม่จำเป็นเสมอไปที่กฎหมายจะตอบสนองหลักศีลธรรม แม้ว่าบ่อยครั้งจะสอดคล้องกัน
นอกจากนี้ สำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองเห็นว่าทุกคนต้องนับถือกฎหมายเพราะกฎหมายเกิดจากผู้มีอำนาจและกฎหมายเป็นเครื่องกำหนดระเบียบวินัยของสังคม
ดังนั้น ตามแนวความคิดนี้ กฎหมายไม่อาจวางระเบียบหรือกฎเกณฑ์ตายตัวได้
หากแต่มอบอำนาจในการใช้ดุลยพินิจให้แก่ผู้ใช้กฎหมายในอันที่จะเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ให้
เพื่อความยืดหยุ่นและยุติธรรม
การใช้ดุลยพินิจของนักกฎหมายย่อมเคียงคู่กับการตีความกฎหมายในทุกระดับ
การใช้ดุลยพินิจไปในทางหนึ่งทางใดแม้จะไม่พึงปรารถนาแก่ผู้เกี่ยวข้องก็มิอาจกล่าวหาได้ว่าผู้นั้นปฏิบัติผิดกฎหมายหรือประพฤติมิชอบ
เมื่อใดที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจ
นักกฎหมายควรใช้ดุลยพินิจไปในทางที่สอดคล้องกับ “มโนธรรม ศีลธรรม
และความต้องการของสังคม"
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าแนวคิดกฎหมายบ้านเมืองแตกต่างจากกฎหมายธรรมชาติที่ประกอบด้วยสิทธิที่ดั้งเดิมที่ไม่ได้มาจากกฎหมายที่มนุษย์กำหนดแต่มาจากพระเจ้า
ธรรมชาติหรือเหตุผล กฎหมายบ้านเมืองจึงได้รับการอธิบายว่าใช้บังคับในบางช่วงเวลา
ในบางสถานที่ ซึ่งกฎหมายบ้านเมืองจะประกอบด้วยกฎหมายที่เป้นลายลักษณ์อักษร เช่น
พระราชบัญญัติ หรืออาจเป็นคำพิพากษา
กฎหมายบ้านเมืองจึงมักถูกกำหนดลักษณะเป็นกฎหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงในการยกร่างหรือบัญญัติขึ้นหรือยอมรับโดยผู้ที่มีอำนาจ
เช่น รัฐบาลหรือรัฐสภา
นอกจากนี้ โทมัส แมคเค็นซี่ (Thomas Mackenzie) ได้แบ่งประเภทกฎหมายเป็นสี่ประเภท คือกฎหมายบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์ (divide
positive law) กฎหมายธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์ (divide natural
law) กฎหมายบ้านเมืองของประเทศอิสระ (positive law of
independent states) และกฎหมายระหว่างประเทศ (law of
nations) กฎหมายบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของศาสนาและมาจากพระคัมภีร์วิวรณ์
ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายธรรมชาติศักดิ์สิทธิ์ที่อิงหลักเหตุผลโดยไม่อิงพระคัมภีร์วิวรณ์
ประเภทที่สามกฎหมายบ้านเมืองของประเทศอิสระเป็นกฎหมายที่บัญญัติโดยอำนาจสูงสุดในรัฐนั้น
ซึ่งแนวคิดนี้แตกต่างจากโทมัส อาควินัส (Thomas Aquinas) ที่ไม่แบ่งแยกความแตกต่างระหว่างกฎหมายบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์และกฎหมายบ้านเมืองที่มนุษย์สร้างขึ้น
เพราะไม่ได้มีเงื่อนไขว่าเป็นบุคคลใดที่บัญญัติกฎหมายไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือพระเจ้า
แต่นักวิชาการอื่นเห็นแตกต่าง เช่น โทมัส ฮอบส์ และจอห์น ออสตินที่เชื่อในหลักอำนาจอธิปไตยสูงสุด
(Ultimate Sovereign) ซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียวและไม่สามารถแบ่งแยกได้
อำนาจอธิปไตยชั่วคราวไม่มีจริงจึงปฏิเสธกฎหมายบ้านเมืองศักดิ์สิทธิ์
แต่ก็ยังยอมรับหลักกฎหมายธรรมชาติ
โดยยอมรับว่ากฎหมายบ้านเมืองต้องอยู่ภายใต้กฎหมายธรรมชาติ
ผู้มีอำนาจที่มีอำนาจอธิปไตยมีความรับผิดชอบในการแปลความหมายของกฎหมายธรรมชาติเป็นกฎหมายบ้านเมืองมนุษย์
วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556
สำนักกฎหมายบ้านเมือง หรือปฏิธานนิยม (Positive law)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ดิฉันเป็นนักศึกษากฎหมาย ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านบทความนี้ รู้สึกประทับใจสำนวนในการเขียนที่ใช้ภาษาไม่ซับซ้อนจนเกินไปมากๆเลยค่ะ ขอชื่มชมค่ะ
ตอบลบสุดยอดครับ
ตอบลบ