วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การละเมิดในระบบสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา (Infringement)

การละเมิดในระบบสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา (Infringement)
การละเมิดสิทธิบัตรเป็นการทำ ใช้ หรือขายการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรภายในประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตภายในอายุของสิทธิบัตร หากสิทธิบัตรถูกละเมิด เจ้าของสิทธิบัตรอาจฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลสหพันธรัฐ โดยอาจร้องขอคำสั่งห้ามหรือเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย ซึ่งในการดำเนินคดีละเมิดนั้น จำเลยอาจโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของสิทธิบัตรหรืออ้างว่าการกระทำของตนไม่เป็นการละเมิดตามกฎหมาย โดยปกติการละเมิดจะถูกพิจารณาจากถ้อยคำในข้อถือสิทธิเป็นหลัก และนำไปเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ที่ถูกกล่าวหา กล่าวคือ ถ้าข้อถือสิทธิครอบคลุมถึงการประดิษฐ์ที่ถูกกล่าวหาตามตัวอักษรโดยชัดแจ้ง ถือว่ามีการละเมิดตามตัวอักษร (Literal infringement) แต่ถ้าสิ่งที่จำเลยกระทำไม่อยู่ภายใต้กรอบหรือขอบเขตของข้อถือสิทธิ การกระทำดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิด
อย่างไรก็ตามในกรณีที่ข้อถือสิทธิไม่ได้ครอบคลุมการประดิษฐ์ที่ถูกกล่าวหาตามตัวอักษรก็มิได้หมายความว่าจะไม่เป็นการละเมิด หากการประดิษฐ์ที่ถูกกล่าวหานั้นมีสาระสำคัญเหมือนกับการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตร หรือที่มีคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอยและทำให้เกิดผลในทำนองเดียวกันกับลักษณะของการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตร (substantially the same function) แม้ว่าจะไม่ตรงกันที่เดียว อาจถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิตามหลักการเทียบเท่า (Doctrine of Equivalents)  แนวคิดนี้พัฒนามาจากคำพิพากษาของศาลสูงสุดในคดี Winans v. Dennmend  และคดี Graver Tank & Mfg. Co. v. Linde Air Products Co.  เหตุผลสำคัญของการตีความหลักความเทียบเท่านั้นก็คือการป้องกันการฉ้อฉลต่อสิทธิบัตร ซึ่งผู้กระทำละเมิดอาจอาศัยช่องว่างของการตีความตามตัวอักษรหลบหลีกสิทธิตามสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม ไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนสำหรับหลักความเทียบเท่า ศาลจะพิจารณาเป็นรายกรณี โดยพิจารณาจากถ้อยคำในข้อถือสิทธิ รายละเอียดการประดิษฐ์ งานที่ปรากฏอยู่แล้ว และอาจนำสืบความเห็นผู้เชี่ยวชาญก็ได้
การดำเนินคดีละเมิดนั้นต้องปฏิบัติตามกฎว่าด้วยกระบวนการพิจารณาคดีในศาลสหพันธรัฐ ซึ่งต้องเริ่มต้นคดีในศาลชั้นต้น (District Court) และอาจอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์กลางของสหพันธรัฐ (Court of Appeals for the Federal Circuit) ในบางครั้ง ศาลสูงสุด (Supreme Court) อาจรับพิจารณาก็ได้ หากรัฐบาลสหรัฐฯละเมิดสิทธิบัตร เจ้าของสิทธิบัตรอาจขอเยียวยาจากศาลได้ในศาล United States Claims Court รัฐบาลอาจใช้การประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรโดยไม่ต้อได้รับอนุญาตจากเจ้าของสิทธิบัตรก่อน แต่เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน
ตามกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯ การฟ้องร้องดำเนินคดีละเมิดสิทธิบัตรไม่สามารถเริ่มได้ก่อนวันที่สิทธิบัตรได้รับการจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม กฎหมายให้ความคุ้มครองก่อนรับจดทะเบียนโดยให้สิทธิแก่เจ้าของสิทธิบัตรที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนการใช้สิทธิก่อนวันที่สิทธิบัตรได้รับการจดทะเบียน  แต่เจ้าของสิทธิบัตรต้องแสดงว่าการละเมิดเกิดขึ้นหลังจากวันที่ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรและผู้กระทำละเมิดได้รับหนังสือเตือนแล้ว
อนึ่ง ตามระบบกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯนั้น การละเมิดมีสองประเภทหลัก ๆ คือ

การละเมิดโดยตรง (Direct infringement)
การละเมิดทางตรงตามกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯ กำหนดว่าบุคคลใดที่ละเมิดโดยตรงต่อสิทธิบัตรหมายถึงการทำ ใช้ เสนอขาย หรือขายการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรในสหรัฐฯ หรือนำเข้าการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรมายังประเทศสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตในระยะเวลาการให้ความคุ้มครองตามกฎหมาย  ซึ่งการพิจารณาว่ามีการละเมิดสิทธิบัตรหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาข้อถือสิทธิและรายละเอียดการประดิษฐ์ของสิทธิบัตรและเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีที่ถูกกล่าวว่ากระทำละเมิดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การละเมิดสิทธิบัตรก็มีข้อยกเว้นตามหลักสิ้นสุดแห่งสิทธิ (Exhaustion of right) หรือ การขายครั้งแรก (First sale doctrine) ที่ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรคนต่อมาได้ใช้หรือขายต่อหรือซ่อมแซมผลิตภัณฑ์นั้นก็จะไม่ต้องรับผิดละเมิดต่อเจ้าของสิทธิบัตร ซึ่งหลักการนี้เป็นการจำกัดอำนาจผูกขาดของเจ้าของสิทธิบัตรและรักษาสมดุลการค้าและผลประโยชน์ที่สังคมควรได้รับจากระบบสิทธิบัตร

การละเมิดทางอ้อม (Indirect infringement)
นอกจากการละเมิดทางตรงแล้ว กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯ ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดโดยทางอ้อม ซึ่งหมายถึงการกระทำของบุคคลใดที่เป็นการจูงใจ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นกระทำละเมิดสิทธิบัตรโดยตรง หรือการขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับการละเมิดสิทธิบัตรให้แก่บุคคลอื่นโดยรู้ว่าลิตภัณฑ์นั้นได้ทำขึ้นหรือดัดแปลงโดยพิเศษเพื่อใช้ในการดำเนินการตามกรรมวิธีที่ได้รับสิทธิบัตร  ซึ่งการละเมิดทางอ้อมในสหรัฐฯสามารถแบ่งได้สองประเภทคือ การมีส่วนร่วมในการละเมิด (Contributory infringement)   และการชักจูงให้มีการละเมิด (Induced infringement)  
กรณีความผิดชักจูงให้กระทำละเมิดนั้นเป็นการกระทำที่มีพฤติกรรมในลักษณะจูงใจให้ผู้อื่นกระทำละเมิดโดยตรง โดยรู้ว่าเป็นการละเมิดเกิดขึ้นจากการชักจูงของตน กรณีนี้ ผู้ชักจูงมิได้เป็นผู้กระทำละเมิดโดยตรง แต่มีบุคคลอื่นเป็นผู้ละเมิดโดยตรง เช่น การเปิดเผยวิธีการละเมิดสิทธิบัตร หรือชี้นำวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดสิทธิบัตร เป็นต้น
การมีส่วนร่วมในการละเมิดได้แก่การกระทำโดยให้การช่วยเหลือการละเมิดโดยตรง เช่น การขายอุปกรณ์เสริมหรือส่วนประกอบสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดสิทธิบัตร หรือการขายเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่ละเมิดสิทธิบัตร เป็นต้น โดยผู้ขายรู้ว่าส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ที่จะหน่ายนั้นได้ทำขึ้นมาหรือดัดแปลงขึ้นเพื่อกระทำละเมิดโดยตรง ทั้งนี้ กรณีที่จะมีการละเมิดโดยมีส่วนร่วมกระทำผิดจะต้องปรากฏว่ามีการกระทำของบุคคลอื่นที่เป็นกรณีละเมิดโดยตรง  อย่างไรก็ตามหากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ใดที่แม้จะถูกดัดแปลงเพื่อการใช้ในทางละเมิดสิทธิบัตร แต่หากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าอื่นด้วยและเป็นการใช้โดยชอบด้วยกฎหมาย การจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ดังกล่าวอาจไม่ถือว่าเป็นการละเมิดโดยมีส่วนร่วมก็ได้ จึงต้องพิจารณาเป็นรายกรณี

การละเมิดในรูปแบบอื่น
นอกจากการละเมิดโดยตรงและทางอ้อมแล้ว กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐยังกำหนดว่ากรณีดังต่อไปนี้ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเจ้าของสิทธิบัตร
อุปกรณ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตรได้ถูกปรับรื้อใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาต และกรณีดังกล่าวมิใช่การซ่อมแซมทั่วไป
แม้ว่ากรรมวิธีที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรที่ดำเนินการนอกอาณาเขตประเทศสหรัฐฯ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากกรรมวิธีดังกล่าวได้นำเข้ามาในสหรัฐฯ (Section 271(g))
ส่วนประกอบที่จำหน่ายในสหรัฐฯ เพื่อนำไปประกอบขายเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในต่างประเทศ หากมีการทำหรือประกอบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปดังกล่าวในสหรัฐฯ ก็ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด (Section 271(f))
คำขอ Abbreviated New Drug Application (ANDA) ที่ยื่นต่อสำนักงานอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ที่เกี่ยวกับยาที่ได้รับสิทธิบัตรโดยบุคคลอื่นและมีการกล่าวอ้างว่าสิทธิบัตรของบุคคลอื่นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Section 271(e)).

ข้อต่อสู้ในคดีละเมิด (Defenses)
โดยทั่วไป ผู้ที่ถูกกล่าวว่าละเมิดสิทธิบัตรมักจะนำหลักฐานมาแสดงว่าการกระทำของตนไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตร (Non-infringement) โดยอ้างดังต่อไปนี้
ข้อถือสิทธิมิได้มีการอ่านและตีความที่ถูกต้อง
ผู้ถูกกล่าวหากระทำภายใต้ขอบเขตของการรับอนุญาตให้ใช้สิทธิ
ผู้ถือกล่าวหาได้รับการอนุญาตโดยปริยาย (Implied license)
การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการใช้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการทดลองและไม่ได้มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์
ผู้ถูกกล่าวหากระทำภายใต้ขอบเขตของมาตรา 35 U.S.C. 271 § (e)(1)
ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิกระทำได้ตามข้อยกเว้นของหลักการความเท่าเทียม (Reverse doctrine of equivalents)
เจ้าของสิทธิบัตรไม่มีสิทธิใช้หลักความเท่าเทียมเนื่องจากถูกปิดปากในชั้นยื่นขอรับสิทธิบัตร (prosecution-history estoppels)
ผู้ถูกกล่าวหาใช้การประดิษฐ์บนเรือ อากาศยานหรือยานยนต์ของต่างประเทศที่เข้ามาในสหรัฐฯเป็นการชั่วคราวหรือโดยอุบัติเหตุ
แต่ข้อต่อสู้หลักที่นิยมใช้ในคดีละเมิดคือการโต้แย้งสิทธิในสิทธิบัตรคือการโต้แย้งว่าสิทธิบัตรมิชอบด้วยกฎหมาย (Invalidity) หรือข้อถือสิทธิมิชอบด้วยกฎหมาย  โดยทั่วไปโจทก์เจ้าของสิทธิบัตรมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ทุกองค์ประกอบของอย่างน้อยข้อถือสิทธิข้อหนึ่งว่าถูกละเมิดและการละเมิดได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ในกรณีของสิทธิบัตรกระบวนการทางการแพทย์ที่รับจดทะเบียนหลังจากปี ค.ศ. 1996 ผู้ละเมิดสิทธิบัตรอาจยกข้อต่อสู้ว่ากฎหมายให้ข้อยกเว้นไว้ได้ (Safe harbor defense)
ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดโต้แย้งว่าสิทธิบัตรได้รับการจดทะเบียนโดยมิชอบ โดยอาจเหตุผลดังต่อไปนี้ เช่น ข้อถือสิทธิไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือใช้งานได้จริง การประดิษฐ์นั้นไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ การประดิษฐ์ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ผู้ประดิษฐ์ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรมิได้เป็นผู้ประดิษฐ์ที่แท้จริง รายละเอียดการประดิษฐ์ไม่ได้เปิดเผยเพียงพอให้สามารถทำงานหรือใช้งานการประดิษฐ์ได้ และการประดิษฐ์ขาดความใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้แล้ว กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯ ยังได้กำหนดข้อต่อสู้เรื่องการใช้สิทธิบัตรโดยมิชอบ (Patent misuse) ขึ้น  หากเป็นกรณีที่เจ้าของสิทธิบัตรใช้สิทธิบัตรในทางที่เป็นการลดหรือกีดกันการแข่งขัน เช่น การทำสัญญาพ่วงขายสินค้า (tying arrangement) หรือการบังคับให้ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบชุด เป็นต้น กล่าวได้ว่าการใช้สิทธิบัตรในลักษณะที่เป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust law) แม้จะไม่ได้เข้าข่ายละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด แต่ก็อาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิบัตรโดยมิชอบ ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวว่ากระทำละเมิดสามารถยกเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อต่อสู้ได้ โดยผู้ที่ถูกกล่าวว่ากระทำละเมิดมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่ามีการใช้สิทธิบัตรโดยมิชอบ ซึ่งหากศาลเห็นด้วยก็จะส่งผลให้เจ้าของสิทธิบัตรก็จะไม่มีสิทธิบังคับใช้สิทธิบัตรตามกฎหมายหรือจำกัดสิทธิในการเยียวยาตามกฎหมาย  คดีสำคัญที่วางหลักกฎหมายในเรื่องนี้ไว้คือ Heaton-Peninsular Button-Fasteners Co. v. Eureka Specialty Co., 77 F. 288 (6th Cir. 1996) คดี Motion Picture Patents co. v. Universal Film Co., 243 U.S. 502 (1917) และคดี Morton Slat co. v. G.S. Suppiger Co., 314 U.S. 488 (1941)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น