การประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ เป็นผลิตผลจากภูมิปัญญาของมนุษย์ ซึ่งเกิดหรือวิวัฒนาการเนิ่นนานมาแล้ว นับแต่ยุคดึกดำบรรพ์มนุษย์เริ่มทำการประดิษฐ์เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย และสร้างความเป็นอยู่ของตนให้สะดวกสบายขึ้น เช่น การคิดประดิษฐ์วงล้อสำหรับเกวียนเพื่อใช้ขนสิ่งของการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ และการพัฒนาการประดิษฐ์อาวุธง่ายๆ จำพวกมีด ดาบ และธนูเพื่อใช้ในการล่าสัตว์หรือป้องกันตัว เป็นต้น ทั้งนี้ ความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมเป็นลักษณะพิเศษ หรือความสามารถพิเศษของมนุษย์ที่มีเหนือสัตว์ประเภทอื่นในโลก จึงทำให้มนุษย์สามารถครอบครองโลกนี้ได้ เพราะมนุษย์สามารถหาวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและเอาตัวรอดโดยใช้สติปัญญาสร้างนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาจนกลายเป็นอารยธรรมของมนุษยชาติจนกระทั่งย่างเข้าสู่ยุค อารยธรรมโบราณ
มนุษย์เริ่มทำการประดิษฐ์ด้วยเหตุผลอีกประการหนึ่ง คือ เพื่อสนองตอบความอยากรู้ อยากเห็น ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางวิทยาการในด้านต่างๆ และเกิดการสะสมความรู้จนกลายเป็นอารยธรรมสมัยใหม่ และเมื่อสังคมมนุษย์เริ่มเข้าสู่ยุคปฏิบัติอุตสาหกรรมที่มีการใช้นวัตกรรมพัฒนาความสามารถในการผลิตเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องทอผ้า เครื่องพิมพ์ และเครื่องจักรต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้แนวความคิดในการประดิษฐ์และนวัตกรรมก็ได้ เปลี่ยนแปลงไปเป็นความต้องการรางวัลหรือการตอบแทนในทางเศรษฐกิจมากกว่าชื่อเสียงเกียรติคุณ เพื่อยกระดับฐานะทางสังคมตามแนวทางของลัทธิทุนนิยม ด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆ ใน ยุคนั้น ระบบทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้รับการพัฒนาให้เป็นกลไกที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการค้นคิดประดิษฐ์หรือ สร้างสรรค์ เพื่อการผลิตหรือเปิดเผยนวัตกรรมใหม่ในสังคม จากแนวความคิดดังกล่าว ผลก็คือ จำนวน สิ่งประดิษฐ์จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา แต่การลอกเลียนการประดิษฐ์เพื่อแย่งตลาดผู้บริโภคก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเริ่มมีแนวความคิดอันเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของการประดิษฐ์ขึ้น โดยเฉพาะสมัยยุคกลางในยุโรปนั้น การสะสมทางปัญญาเป็นแนวทางที่รัฐส่วนใหญ่ให้การยอมรับและสนับสนุนแนวความคิดด้านทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น ระบบสิทธิบัตร และระบบลิขสิทธิ์ จึงค่อยๆ เจริญงอกงามอย่างรวดเร็วตามลำดับ
ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์พบว่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาในยุคเริ่มแรกสุดเกิดขึ้นใน ยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการใช้กันปัจจุบัน กล่าวคือ ในกฎหมายของเวนิช ปี ค.ศ. 1474 ได้พยายามสร้างระบบสิทธิบัตรให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งได้ให้สิทธิผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวแก่บุคคลที่ประดิษฐ์สิ่งใหม่ และศตวรรษที่ 15 กษัตริย์อังกฤษได้มีการมอบสิทธิพิเศษในเชิงผูกขาดแก่ ผู้ผลิตสินค้าหรือพ่อค้า โดยการให้เอกสารสิทธิบัตร (Letters Patent) ซึ่งจะมีตราประทับของกษัตริย์ รับรอง และจากพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏ คือ กษัตริย์เฮนรี่ที่ 6 ได้มอบเอกสารสิทธิบัตรแก่นาย John of Utyman ในปี ค.ศ. 1449 ซึ่งเอกสารสิทธิบัตรดังกล่าวให้สิทธิผูกขาดเป็นเวลา 20 ปีสำหรับการผลิตแก้ว เพื่อจะนำมาใช้ในการทำกระจก อย่างไรก็ตาม นักวิชาการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับแม่แบบของกฎหมายผูกขาด (the Statute of Monopolies) ปี ค.ศ. 1623 ของประเทศอังกฤษมากกว่า ซึ่งอยู่ใน รัชสมัยพระราชินี Elizabeth I กฎหมายฉบับนี้มีอิทธิพลต่อการบัญญัติกฎหมายสิทธิบัตรสมัยใหม่ของประเทศต่างๆ โดยการอนุญาตให้สิทธิผูกขาดเป็นเวลา 14 ปีแก่เจ้าของการประดิษฐ์ที่ใหม่และเป็นประโยชน์
สำหรับกรณีของลิขสิทธิ์นั้น เมื่อเครื่องพิมพ์ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยนาย Johannes Gutenberg ในราวปี ค.ศ. 1450 สิ่งประดิษฐ์นี้ได้ก่อให้เกิดระบบลิขสิทธิ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เนื่องจากสมัยนั้นเป็น ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ บรรดาผลงานด้านวรรณกรรมต่างๆ ได้ถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ อย่างกว้างขวาง แต่ก็มีการลักลอบตีพิมพ์ผลงานวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งปัญหา ดังกล่าว ทำให้สำนักพิมพ์ที่ได้รับสิทธิในการพิมพ์เผยแพร่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้มีการเรียกร้องให้มีระบบการจดทะเบียนสิ่งพิมพ์ขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการลักลอบพิมพ์โดยมิได้รับอนุญาตจาก เจ้าของสิทธิ และพระราชินีแมรี่ที่สองก็ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยการให้สิทธิผูกขาดแก่ สำนักพิมพ์ในการพิมพ์หนังสือ และหนังสือที่จะจำหน่ายได้ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักพิมพ์ก่อน ต่อมาในปี ค.ศ. 1710 ก็ได้มีการประกาศใช้กฎหมาย Statute of Anne ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์ และกฎหมายฉบับนี้ก็ได้กลายเป็นแม่แบบของกฎหมายลิขสิทธิ์ในหลายประเทศ จวบจนกระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นับว่าช่วงที่เทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ได้ช่วย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่สำคัญต่างๆ เช่น การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองใหญ่ การขยายโครงข่ายการคมนาคม การลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นของภาคเอกชน และการขยายตัวด้านการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น กล่าวได้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งมี รากฐานจากแนวความคิดทุนนิยมนั้นได้มีส่วนอย่างมากในการพัฒนาแนวความคิดด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดเป็นระบบจนกระทั่งเป็นระบบกฎหมายในปัจจุบัน
ตามหลักการและวัตถุประสงค์ของระบบทรัพย์สินทางปัญญาสมัยใหม่ พบว่า สิทธิใน ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวใจหลักที่สร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของ เอกชนในฐานะผู้ประดิษฐ์หรือผู้สร้างสรรค์ กล่าวคือ ระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลไกที่จูงใจให้มีการเผยแพร่ความรู้หรือวิทยาการใหม่ๆ สู่สังคมโดยการให้ผลประโยชน์จูงใจทางด้านเศรษฐกิจเป็นการ ตอบแทนแก่ผู้ที่เปิดเผยความรู้ที่มีประโยชน์เหล่านั้น และสิ่งที่ตอบแทนนั้นปรากฏในรูปของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นสิทธิผูกขาดทางกฎหมายแก่สิ่งประดิษฐ์หรืองานสร้างสรรค์ โดยผู้ประดิษฐ์ ผู้สร้างสรรค์สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิดังกล่าวเหล่านั้นแต่ผู้เดียวเหมือนเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง โดยสามารถโอนหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ได้หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาสามารถห้ามผู้อื่นใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของตนได้
สำหรับระบบทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศนั้นเริ่มต้นวางรากฐานโดยระบบอนุสัญญาระหว่างประเทศสองฉบับ คือ อนุสัญญาปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ค.ศ. 1883 (Paris Convention for the Protection of Industrial Property) และอนุสัญญาเบอร์นว่าด้วย การคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม ค.ศ. 1886 (Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works) นอกจากนี้ อนุสัญญาว่าด้วยการก่อตั้งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Convention Establishing the World Intellectual Property Organization) ซึ่งไม่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยตรง แต่เป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการ คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยผ่านทางความร่วมมือระหว่างรัฐ และร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วยในอนุสัญญาฉบับนี้ โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ได้รับการสถาปนาในฐานะเป็นหนึ่งในหน่วยงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ และในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือระหว่างประเทศอันเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและมีบทบาทสำคัญมากต่อระบบทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ
นอกจากนี้แล้ว ในปี ค.ศ. 1995 เกิดเวทีการเจรจาระหว่างประเทศใหม่ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศภายใต้กรอบของความตกลงองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) โดยประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 140 ประเทศ ต้องยอมรับและปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยการค้าเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Agreement on Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights - TRIPS Agreement) ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรฐานการให้ความคุ้มครองขั้นต่ำและการบังคับใช้กฎหมายครอบคลุมการให้ความคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญาแทบทุกประเภท เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การออกแบบทาง อุตสาหกรรม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ความลับทางการค้า และการออกแบบผังภูมิวงจรรวม เป็นต้น จากแนวคิดในความตกลง TRIPS นับว่าเป็นมิติใหม่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่นำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาผูกกับการค้าระหว่างประเทศ จึงทำให้แนวความคิดการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วและกดดันให้ประเทศต่างๆ ยกระดับการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เทียบเทียมกับแนวปฏิบัติของอารยประเทศที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาเนิ่นนานแล้ว
กล่าวโดยสรุป แนวความคิดพื้นฐานของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์มักเกี่ยวข้องกับหลักการยอมรับและให้รางวัลแก่เจ้าของสิ่งประดิษฐ์และงานสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้น กิจกรรมสร้างสรรค์และนวัตกรรม และเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ จากปัญหาต้องใช้ความรู้นำไปสู่ จินตนาการแล้วนำไปสู่นวัตกรรม ซึ่งก็จะกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา และ ท้ายที่สุดก็เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งวัฏจักรของเทคโนโลยีนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไป อย่างเป็นพลวัตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น