วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การเข้าแทรกแซงของรัฐในการกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


รูปแบบของการที่รัฐบาลทำแทรกแซงดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งแล้วแต่กรณีของปัญหาหรือสถานการณ์ โดยทั่วไปแล้ว แนวทางหรือวิธีการหลักที่ประเทศต่าง ๆ ใช้กันสามารถสรุปได้ดังนี้

๑ การวางนโยบายและวางแผน (Policy making and Planning) กล่าวคือ รัฐได้พยายามวางกรอบและแนวทางในการบริหารจัดการในภาพรวม องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านนโยบาย เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และในแต่ละกระทรวง ทบวงหรือกรมก็มักมีหน่วยงานด้านนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของแต่ละส่วนราชการขึ้นมา หรือการกำหนดให้องค์กรกำกับดูแลต้องจัดทำแผนแม่บทในการกำกับดูแลขึ้นมา

๒ การสั่งการและควบคุมดูแล (Command and control) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหรือิทธิพลของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานไว้ โดยหากพบว่ามีการฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษ ซึ่งอาจเป็นทางแพ่งหรือทางอาญา ตัวอย่างเช่น องค์กรกำกับดูแลที่รับผิดชอบด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยในหลายประเทศมักจะดำเนินคดีทางกฎหมายแก่ผู้ประกอบการที่ละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายหรือระเบียบที่กำหนดไว้ โดยทั่วไปแล้ว การบังคับตามวิธีการของสั่งการและควบคุมดูแลนั้นมักจะอยู่ในรูปของการห้ามพฤติกรรมบางรูปแบบหรือสั่งการให้ดำเนินการที่องค์กรกำกับดูแลเห็นว่าเหมาะสมหรือวางเงื่อนไขของการเข้าสู่ตลาดไว้ องค์กรกำกับดูแลที่ใช้วิธีการแบบการสั่งการและควบคุมดูแลมักจะต้องมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์ ส่วนใหญ่การกำกับดูแลแบบการสั่งการและควบคุมดูแลมักปรากฏในรูปของการวางรูปแบบมาตรฐานไว้ เช่น การกำหนดรายละเอียดของการขอรับและออกใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อตรวจสอบการเข้าสู่ตลาด หรือปรากฏในรูปของการควบคุมดูแลคุณภาพของสินค้าหรือบริการ และอาจรวมถึงกระบวนการผลิตหรือให้บริการและการจัดสรรทรัพยากรด้วย รูปแบบหนึ่งที่มักได้รับความนิยมคือการควบคุมดูแลราคาสินค้าหรือบริการ

ข้อดีของวิธีการนี้คือ จะมีการกำหนดมาตรฐานและประเภทของพฤติกรรมที่ต้องห้ามหรือถูกกำกับดูแลไว้ล่วงหน้าและเป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งสามารถนำมาใช้ตรวจสอบการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการได้และสามารถระงับพฤติกรรมต้องห้ามได้ทันที ดังนั้น การกำกับดูแลจึงค่อนข้างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย แต่ข้อเสียของวิธีการนี้คือ จะมีการเข้าไปแทรกแซงการบริหารและดำเนินการของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะถูกยึดจับไว้โดยกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพลในตลาด และยังผลไปสู่ต้นทุนในการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายสูงขึ้น รวมทั้งอาจไม่จูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนามาตรฐานการกำกับดูแลที่กำหนดไว้เดิมให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาดและเทคโนโลยี ยังผลให้เกิดการกำกับดูแลที่รุ่มร่าม จนอาจเรียกว่ากำกับดูแลมากไปเกินความจำเป็น

๓ การกำกับดูแลตนเอง (Self-regulation)  การกำกับดูแลตนเองมักเกี่ยวข้องกับองค์กรหรือสถาบันของผู้ประกอบการหรือสมาคมการค้าที่พัฒนาระบบของกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลและบังคับใช้ระหว่างบรรดาสมาชิกด้วยกันเอง ซึ่งแนวทางนี้ส่วนใหญ่เป็นระบบสมัครใจ รูปแบบง่าย ๆ ของวิธีการนี้ที่ปรากฏในปัจจุบันคือ สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เช่น สภาทนายความ แพทย์สภา หรือสภาวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าองค์กรกำกับดูแลตนเองเหล่านี้จะมีความเป็นอิสระจนรัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้เลย แต่ตามระบบแล้ว การดำเนินการขององค์กรกำกับดูแลตนเองดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลและติดตามของรัฐบาล เพื่อประกันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติและได้ปฏิบัติตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 39 กำหนดให้ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลมีหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม และ กสทช.จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ให้ความเห็นเสริมในลักษณะคู่ขนาน (peer review) ในกรณีมีการร้องเรียนเกี่ยวกับความเสียหายเนื่องจากรายการที่ออกอากาศเป็นเท็จหรือละเมิดสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจทางอ้อม

ข้อดีของวิธีการกำกับดูแลแบบนี้คือองค์กรกำกับดูแลมักมีระดับของความตั้งใจและผูกพันสูงในการกำกับดูแลกันเองมากกว่าจะให้รัฐเข้ามากำกับดูแล จึงมีการวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานหรือพฤติกรรมต้องห้ามของบรรดาสมาชิกไว้อย่างชัดเจน เข้มงวด และมีรายละเอียดต่าง ๆ ค่อนข้างครบถ้วน นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายก็ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพ ในแง่ของภาครัฐนั้นวิธีการนี้คือให้อุตสาหกรรมจัดการบริหารกันเอง ดังนั้น ต้นทุนในการกำกับดูแลจึงต่ำและรูปแบบและมาตรฐานของการกำกับดูแลจึงมักจะเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมมากกว่าการที่รัฐเข้าไปแทรกแซง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ก็สามารถดำเนินการได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพกว่า แต่ข้อเสียของวิธีการนี้คือ เป็นที่หวั่นวิตกว่าองค์กรกำกับดูแลจะเข้าข้างสมาชิกของตนมากกว่าจะให้ความคุ้มครองผู้บริโภคเพราะองค์กรกำกับดูแลตนเองอาจกำหนดกฎเกณฑ์หรือตัดสินเข้าข้างพวกเดียวกัน เพื่อรักษาภาพพจน์โดยรวมขององค์กรและอาจปิดกลั้นการตรวจสอบจากกลุ่มผู้บริโภค ทั้งนี้ บ่อยครั้งที่กระบวนการพิจารณามักจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะและขาดความโปร่งใสเท่าที่ควร ประกอบกับทางภาครัฐมักไม่ควรกล้าเข้าไปตรวจสอบเพราะเกรงจะถูกกล่าวหาว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซงโดยมิชอบ

๔ การให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจ (Economic Incentive) เป็นทางเลือกที่นิยมใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้วิธีการแบบสั่งการและควบคุมดูแล ซึ่งถือว่าเป็นการกำกับดูแลที่ค่อนข้างเข้มงวดและกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างละเอียด วิธีการกำกับดูแลแบบจูงใจถูกนำเสนอให้ใช้เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการให้สอดคล้องกับประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้ประกอบการโดยการใช้สัญญา การให้เงินทุนสนับสนุน ภาษี การอุดหนุน และเครื่องมือจูงใจอื่น ๆ ตัวอย่างของการให้แรงจูงใจคือ การกำหนดอัตราภาษีแตกต่างกันระหว่างน้ำมันที่ผสมตะกั่วและน้ำมันปราศจากสารตะกั่ว โดยรัฐบาลมักจะส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วมากกว่าน้ำมันที่ผสมสารตะกั่ว เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่ากับน้ำมันที่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเท่ากับเป็นการลงโทษในขณะเดียวกันการจัดเก็บอัตราภาษีที่ต่ำกว่าของน้ำมันไร้สารตะกั่วก็อาจเป็นการส่งเสริมให้ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือในบางกรณีองค์กรกำกับดูแลอาจใช้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ผลิตหรือกระบวนการผลิตที่รักษาสิ่งแวดล้อม

ข้อดีของมาตรการจูงใจดังกล่าวคือการดำเนินการอาจไม่แพงและลดการใช้ดุลพินิจขององค์กรกำกับดูแล เพราะการลงโทษหรือให้รางวัลทางการเงินเพื่อเป็นการจูงใจนั้นจะทำหน้าที่เป็นกลไกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคเอง จึงกล่าวได้ว่ามีการแทรกแซงจากองค์กรกำกับดูแลน้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความอันตรายของการยึดจับด้านการกำกับดูแล เพราะปฏิสัมพันธ์ทางตรงระหว่างองค์กรกำกับดูและผู้ถูกกำกับดูแลก็ลดน้อยลง ผู้ถูกกำกับดูแลจึงมีอิสระในการตัดสินใจและดำเนินการมากกว่ากรณีการกำกับดูแลแบบสั่งการและควบคุม นอกจากนี้ การใช้วิธีการนี้ยังช่วยลดต้นทุนและภาระของการใช้และรวบรวมข้อมูล แต่ปัญหาสำคัญคือการกำกับดูแลโดยใช้แรงจูงใจนั้นยากที่จะคาดเดาผลลัพธ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการกำกับดูแลและไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น เพราะการบังคับใช้ก็ไม่มีความยืดหยุ่น ประกอบกับกฎเกณฑ์จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากต้องใช้หลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วยค่อนข้างมากในการออกแบบ ซึ่งหากออกแบบผิดก็จะไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ปัญหาที่ต้องการแก้ไขอาจยังคงอยู่ นอกจากนี้ หากไม่มีกลไกการตรวจสอบและบังคับใช้ที่ดี ผู้ประกอบการที่ถูกกำกับดูแลอาจหลบเลี่ยงมาตรการจูงใจที่เป็นเท่าหรือใช้กลยุทธ์เพื่อให้ได้รับมาตรการจูงใจที่เป็นรางวัล ดังนั้น องค์กรกำกับดูแลต้องมีมาตรการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการช่องว่างของระบบ ข้อบกพร่องอีกประการหนึ่งคือวิธีการแรงจูงใจนั้นใช้ได้กับการดำเนินการที่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ แต่หากเป็นกรณีที่พฤติกรรมหรือการดำเนินการดังกล่าวไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์หรือเป็นเพียงอุบัติเหตุ ระบบจูงใจทางเศรษฐศาสตร์อาจใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

๕ การแจ้งหรือเปิดเผยข้อมูล (Disclosure or Informing) วิธีการกำกับดูแลโดยการแจ้งหรือเปิดเผยข้อมูลคือการที่รัฐมีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการเปิดเผยบนผลิตภัณฑ์หรือแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคตามที่กำหนด วิธีการนี้ไม่ได้มีการกำกับดูแลกระบวนการผลิต ปัจจัยการผลิตที่ใช้ จำนวนผลิตภัณฑ์ หรือราคาของผลิตภัณฑ์ โดยมากจะห้ามมิให้ผู้ประกอบการแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จต่อผู้บริโภคหรือนำเสนอข้อมูลที่ทำให้ผู้บริโภคสับสนหลงผิด หรือในบางกรณีองค์กรกำกับดูแลอาจกำหนดให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอแก่ผู้บริโภคเพื่อสามารถใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างถูกต้อง เช่น ข้อมูลด้านราคา คุณภาพ วิธีการใช้ และการดูแลรักษา เป็นต้น  ในการกำกับดูแลด้วยวิธีการนี้อาจเป็นการบังคับหรือใช้วิธีสมัครใจก็ได้

ข้อดีของวิธีการนี้คือวิธีการนี้นับว่าเป็นการแทรกแซงของภาครัฐที่น้อยมากและมีประโยชน์มากในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นน้อย การที่รัฐไม่เข้าไปควบคุมกำกับดูแลกระบวนการผลิต ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการมีอิสระในการผลิต ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการกระจายสินค้าของผู้ประกอบการ แล้วปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินใจเอง โดยภาครัฐไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงหรือตัดสินใจแทนผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาของวิธีการนี้คือการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคละเลยไม่ใส่ใจเอง แต่ในสินค้าบางประเภทนั้นข้อมูลที่แสดงมาอาจไม่ช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคได้เลย เพราะเป็นข้อมูลทางเทคนิคที่ยากจะเข้าใจ ซึ่งการกำกับดูแลแบบสั่งการและควบคุมอาจจะดีกว่าเพราะหากภาครัฐเข้าไปควบคุมกำกับดูแลนั้น ภาครัฐมีผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ในบางกรณีต้นทุนของการเปิดเผยข้อมูลอาจสูงมาก

๖ การดำเนินการเอง (Acting directly) รัฐบาลสามารถที่จะกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเข้าไปลงมือดำเนินการเองหรือควบคุมนโยบายเอง ไม่ว่าจะเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการหรือทำสัญญาสัมปทานหรืออนุญาตให้เอกชนดำเนินการแทน ตัวอย่างเช่น กิจการสาธารณูปโภคหรือกิจการขนส่งส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ข้อดีของวิธีการนี้คือรัฐสามารถประกันคุณภาพของการให้บริการและอนุญาตให้ภาครัฐวางแผนการลงทุนระยะยาวได้ เพราะบ่อยครั้งหากเป็นโครงการที่มีการลงทุนหรือความเสี่ยงสูง ภาคเอกชนอาจไม่มีเงินลงทุนเพียงพอหรือไม่สามารถทำได้โดยผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ภาครัฐต้องเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือต้องการจัดการโครงข่าย แต่ข้อเสียของวิธีการนี้คือมีการใช้เงินลงทุนจากภาครัฐในการอุดหนุนโครงการ ซึ่งอาจทำให้ขาดแรงจูงใจในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมตามที่ตลาดต้องการ และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือการที่ภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการโครงสร้างพื้นฐานก็มักจะมีประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองติดตามมา

๗ การระงับข้อพิพาท (Dispute settlement) เป็นการแทรกแซงโดยรัฐเฉพาะในกรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างเอกชนและไม่อาจตกลงกันได้ รัฐในฐานะที่เป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือที่สุดและมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแล เช่น ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 26 กำหนดว่าในกรณีที่มีการปฏิเสธไม่ให้ใช้โครงข่ายโทรคมนาคมหรือมีข้อที่ตกลงกันไม่ได้ในการเจรจาทำสัญญาการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม คู่กรณีมีสิทธิร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น