วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลักความเป็นกลางของโครงข่ายโทรคมนาคม (Network Neutrality)


หลักความเป็นกลางของโครงข่ายโทรคมนาคม (Network Neutrality) เป็นหลักการของสถาปัตยกรรมการทำงานของโครงข่ายโทรคมนาคม กล่าวคือโครงข่ายโทรคมนาคมทำงานภายใต้หลักการความเป็นกลางสามหลักการคือ การไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination) การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection) และการเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคม (Access) หลักการเหล่านี้สามารถใช้กับโครงข่ายโทรคมนาคม โดยการควบคุมกำกับการทำงานของโครงข่ายโทรคมนาคม ไม่ใช่เนื้อหาหรือแนวปฏิบัติทางธุรกิจของผู้ประกอบการโครงข่ายโทรคมนาคม แท้ที่จริงแล้ว การทำงานของโครงข่ายโทรคมนาคมแตกต่างจากเนื้อหาหรือข้อมูลบนโครงข่ายโทรคมนาคม ความเป็นกลางของโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นแนวทางอธิบายโครงสร้างสถาปัตยกรรมการทำงานของโครงข่ายอินเตอร์เน็ทของโลก แทบทุกประเทศบริหารจัดการโครงข่ายอินเตอร์เน็ทเพียงบางส่วนของโครงข่ายอินเตอร์เน็ทระดับโลกได้ยอมรับหลักการความเป็นกลางของโครงข่าย แม้แต่ประเทศจีนซึ่งมีแนวนโยบายปิดกั้นข้อมูลหรือเนื้อหาบางประเภทก็ยังไม่ฝ่าฝืนหลักความเป็นกลางของโครงข่าย
หลักความเป็นกลางของโครงข่ายโทรคมนาคมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหลักปลายทางถึงปลายทาง (End to end principle) ตามหลักการนี้ โครงข่ายทั่วไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์โดยไม่สนใจในความจำเป็นในการทำงานของอุปกรณ์ แต่สำหรับโครงข่ายอัจฉริยะ (intelligent network) มีความแตกต่างระหว่างประเภทของข้อมูลที่วิ่งบนโครงข่ายโทรคมนาคมและปฏิบัติข้อมูลแต่ละประเภทแตกต่างกัน เนื่องจากความแตกต่างที่จำเป็นของรูปแบบของข้อมูล (data format)
ตามทฤษฎีความเป็นกลางของโครงข่ายนี้เกิดจากความเชื่อที่ว่าโครงข่ายโทรคมนาคมที่มีความเป็นกลางทางเทคโนโลยีจะส่งเสริมนวัตกรรม หรือพัฒนาการของนวัตกรรมของเทคโนโลยีสารเทศ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม เช่น บริษัทโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ทต้องไม่ได้รับอนุญาตให้กำหนดว่าโครงข่ายโทรคมนาคมจะทำงานหรือใช้งานอย่างไร หรือต้องไม่มีอำนาจในการห้ามโปรแกรมบางประเภท หรือห้ามใช้อุปกรณ์บางประเภทในการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม หรือสามารถเลือกปฏิบัติต่อการวิ่งของทราฟฟิกไปยังบางเว็บไซต์
ข้อถกเถียงของความเป็นกลางของโครงข่ายโทรคมนาคมเกิดขึ้นในแนวความคิดอื่นในกฎหมายสื่อสาร เช่น กฎระเบียบของผู้ให้บริการสาธารณะ (common carrier) และแนวทางของคำตัดสินกรณีคอมพิวเตอร์ (computer inquiries decision) แนวคิดความเป็นกลางของโครงข่ายเกิดขึ้นในราวทศวรรษที่ 1990 โดยเฉพาะในสภาพยุโรป โดยคณะกรรมาธิการสภาพยุโรปด้านสังคมสารสนเทศ (EU Information Society) ได้จัดทำรายงาน Bangemann ในปีเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 ในรายงานดังกล่าวได้เสนอแนะว่าการกำกับดูแลโครงข่ายโทรคมนาคมต้องการการเชื่อมต่อโครงข่ายและการทำงานประสานร่วมกันระหว่างโครงข่ายโทรคมนาคม (Interoperability) ต่อมาแนวคิดนี้ได้ขยายและพัฒนากลายเป็นเอกสารปกเขียวของสหภาพยุโรปเรื่องการหล่อมรวมเทคโนโลยี (EU Green Paper on Convergence) โดยเฉพาะหลักการเรื่องความเป็นกลางทางเทคโนโลยี ซึ่งอ้างอิงไปยังสถาปัตยกรรมของโครงข่ายโทรคมนาคมและเรื่องอื่นด้วย ในตอนแรกนั้น ข้อเสนอเรื่องความเป็นกลางของโครงข่ายโทรคมนาคมนี้อธิบายถึงระบบการกำกับดูแลที่ไม่เข้มงวดหรือค่อนข้างผ่อนคลายโดยการวางหลักการที่ไม่ยุ่งยากและใช้งานได้ง่าย แต่แนวคิดนี้ก็ได้รับการวิพากวิจารณ์ว่าอาจก่อให้เกิดการถดถอยและรุกล้ำเข้าไปยุ่งกับภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากผู้ประกอบโทรคมนาคม
บางฝ่ายมีข้อคิดเห็นว่าความเป็นกลางทางของโครงข่ายโทรคมนาคมเริ่มต้นในราวกลางปี ค.ศ. 2002 โดยกลุ่มชื่อ High Tech Broadband Coalition ซึ่งประกอบด้วยผู้พัฒนาของ Amazon.com, Google, และ Microsoft อย่างไรก็ตาม แนวคิดความเป็นกลางทางของโครงข่ายโทรคมนาคมพัฒนาเป็นรูปเป็นร่างคือ กลุ่มนักวิชาการทางกฎหมาย ซึ่งได้แก่ ศาสตราจารย์  Tim Wu และศาสตราจารย์ Lawrence Lessig รวมทั้งประธานคณะกรรมการกิจการสื่อสารของสหรัฐอเมริกา (FCC) Michael Powell ได้สนันสนุนแนวคิดความเป็นกลางของโครงข่ายโทรคมนาคม ที่จริงแล้วแนวคิดความเป็นกลางของโครงข่ายปรากฏอยู่ในกฎระเบียบโทรคมนาคมมานาน
ข้อเสนอกฎหมายความเป็นกลางของโครงข่ายได้รับการคัดค้านจากกลุ่มอุตสาหกรรมเคเบิ้ลทีวีและโทรคมนาคม และจากนักวิชาการทั้ง conservative และ libertarian เช่น ศาสตราจารย์ Christopher Yoo และ Adam Thierer ของสถาบัน CATO กลุ่มที่คัดค้านแนวคิดความเป็นกลางของโครงข่ายเห็นว่า หลักความเป็นกลางของโครงข่ายมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดกฎระเบียบที่กำกับดูแลอินเตอร์เน็ทค่อนข้างมาก และการวางกฎดังกล่าวจะชะลอการลงทุนในธุรกิจโครงข่าย เช่น wireless broadband และยังเป็นการปฏิเสธผู้ประกอบการโครงข่ายในการสร้างบริการที่แตกต่าง แนวคิดคัดค้านนี้ขัดแย้งกับวิวัฒนาการของความเป็นกลางของโครงข่ายที่เกิดการถดถอยของการกำกับดุแลที่รุกล้ำและการลงทุนสร้างโครงข่าย จำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ และภาคเทคโนโลยีที่ต้องการรูปแบบที่เป็นกลางและเปิดกว้างในการดำเนินธุรกิจ
ในราวปลายทศวรรษที่ 1990 และต้นทศวรรษที่ 2000 ผู้บริโภคเริ่มที่จะติดตั้งอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ทและใช้บริการอินเตอร์เน็ทใหม่ ๆ มากขึ้น ปฏิกิริยาของผู้ประกอบการบรอดแบนด์คือการกำหนดเงื่อนไขไง้ในสัญญาให้บริการที่จำกัดกิจกรรมของผู้ใช้บริการ ตัวอย่างเช่น บริษัท Cox Cable กำหนดเงื่อนไขจำกัดผู้ใช้บริการโครงข่ายเอกชนเสมือน และบริษัท AT&T ในฐานะผู้ประกอบการเคเบิ้ลมีคำเตือนสำหรับผู้ใช้บริการว่าการใช้บริการ Wi-Fi สำหรับโครงข่ายภายในบ้านถือเป็นการขโมยบริการและเป็นความผิดทางอาญาระดับสหพันธรัฐ  ตัวอย่างเหล่านี้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติในกรณีของบรอดแบนด์ นาย Michael Powell ประธานกรรมการกิจการสื่อสารได้ประกาศหลักการไม่เลือกปฏิบัติที่เรียกว่า หลักเสรีภาพของโครงข่าย (Network Freedom) ซึ่งประกอบด้วยหลักสี่ประการคือ
1. ผู้ใช้บริการมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าถึงเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ทตามที่ต้องการ
2. ผู้ใช้บริการมีสิทธิในการใช้โปรแกรมและบริการตามที่ตนเองต้องการภายใต้กรอบกฎหมาย
3. ผู้ใช้บริการมีสิทธิเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายตามที่ตนเองต้องการซึ่งต้องไม่เป็นอันตรายต่อโครงข่าย และ
4. ผู้ใช้บริการมีสิทธิในการแข่งขันกับผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้ให้บริการโปรแกรรมและบริการอินเตอร์เน็ท และผู้ให้บริการเนื้อหา
ต่อมาในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 2005 คณะกรรมการกิจการสื่อสารได้มีแถลงการยอมรับหลักการดังกล่าวข้างต้น และจากแรงกดดันของคณะกรรมการกิจการสื่อสารและกลุ่มผู้บริโภค ผู้ให้บริการบรอดแบนด์เริ่มผ่อนผันข้อจำกัดของตนเอง ในคดี Madison River ต้นปี ค.ศ. 2005 คณะกรรมการกิจการสื่อสารได้แสดงความสนับสนุนหลักความเป็นกลางของโครงข่ายโดยการกำหนดค่าปรับแก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมท้องถิ่นที่ปิดกั้นบริการ VoIP ดังที่ ประธานกรรมการกิจการสื่อสาร นาย Powell กล่าวว่า อุตสาหกรรมต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการคุ้มครองผู้ใช้บริการ หากอินเตอร์เน็ทยังคงเป็นรูปแบบที่เปิดสำหรับนวัตกรรม อย่างไรก็ตามคดีนี้ไม่ถือว่าเป็นแนวทางเพราะกฎหมายมีการแก้ไข
ในราวปลายปี ค.ศ. 2005 ได้มีการยื่นเสนอบทบัญญัติเกี่ยวกับความเป็นกลางของโครงข่ายหลายร่างกฎหมาย โดยส่วนใหญ่เป็นร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมายโทรคมนาคมปี ค.ศ. 1996 กล่าวคือบทบัญญัติเหล่านี้วางหลักให้ผู้ประกอบการอินเตอร์เน็ทต้องยอมให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงโปรแกรม เนื้อหา หรือบริการได้ อย่างไรก็ตามมีบทบัญญัติยกเว้นไว้ที่อนุญาตให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ทสามารถเลือกปฏิบัติได้ในกรณีเพื่อความมั่นคงหรือการเสนอบริการพิเศษเช่นบรอดแบนด์วีดิโอ
ในวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2006 ผู้แทนราษฎร์รัฐมิชิแกนซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อรับฟังร่างกฎหมายว่าด้วยโอกาส การส่งเสริม และความมีประสิทธิภาพของการสื่อสาร (Communications Opportunity, Promotion, and Efficiency Act of 2006) ในราวเดือนเมษายน 2006 ปรากฎว่ามีกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดความเป็นกลางของโครงข่าย โดยมีการยื่นหนังสือสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการด้วย เหตุผลหลักของการสนับสนุนแนวคิดความเป็นกลางของโครงข่ายคือโครงข่ายที่มีการเลือกปฏิบัติจะบิดเบือนตลาดที่ขึ้นอยู่กับโครงข่ายและในท้ายที่สุดจะชะลอความเจริญเติบโตของประเทศด้วย ตัวอย่างเช่น หากโครงข่ายเลือกปฏิบัติโดยสนับสนุนการทำงานของเครื่องมือสืบค้น A มากกว่าเครื่องมือสืบค้น B เครื่องมือสืบค้น A อาจกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด แม้ว่าที่จริงแล้วเครื่องมือสืบค้น B อาจมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ หากโครงข่ายเลือกที่จะใช้โครงข่ายที่นิยมใช้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น Gopher อาจชะลอการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ เช่น World Wild Web อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โครงข่ายที่เลือกปฏิบัติอาจหยุดนวัตกรรมของโปรแกรมเนื่องจากมีการใช้โปรแกรมที่มีอำนาจเหนือตลาดในปัจจุบัน ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับนวัตกรรมคือนวัตกรรมถือว่าเป็นตัวเร่งคามเจริเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากโครงข่ายมีการเลือกปฏิบัติก็จะนำไปสู่การลดลงของนวัตกรรม อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะชะลอตัวช้าลง
สำหรับเหตุผลของผู้คัดค้านแนวคิดความเป็นกลางของโครงข่ายมีสามประการคือการเลือกปฏิบัติอาจเป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมการลงทุนในโครงข่ายในอนาคต หากผู้ประกอบการบรอดแบนด์ได้รับอนุญาตให้เรียกเก็บค่าบริการสูงขึ้นสำหรับบริการอีเมล์และปิดกั้นบริการ Gmail ผู้ประกอบการก็จะมีรายได้มากขึ้นเพื่อสร้างโครงข่ายที่ทันสมัยขึ้น และผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถให้บริการที่ราคาต่ำกว่าได้ ทั้งนี้ มีเหตุผลหักล้างว่าการเลือกปฏิบัติส่งผลให้ผู้ประกอบการบรอดแบนด์มีรายได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันต้นทุนของการพัฒนานวัตกรรมคุ้มค่าพอหรือไม่ ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากคอขวดของโครงข่ายเพื่อขยายอำนาจผูกขาดจากการให้บริการโครงข่ายแก่ภาคบริการอื่น เช่น บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น คำถามคือการอนุญาตให้มีการเลือกปฏิบัติเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการส่งเสริมการขยายโครงข่าย หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่านี้คือ มีแนวทางบิดเบือนตลาดน้อยกว่าหรือไม่ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการในการสร้างโครงข่าย เช่น ใช้มาตรการภาษีหรือเงินอุดหนุนจากภาครัฐ
เหตุผลประการที่สองที่คัดค้านความเป็นกลางของโครงข่ายคือเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความแออัด โครงข่ายที่มีความเป็นกลางถือเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) ซึ่งทำให้เกิดปัญหาโศกนาตกรรมร่วม (tragedy of common) และปัญหาส่วนร่วม (collective action) ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเลือกปฏิบัติระหว่างผู้ใช้บริการหรือการใช้เพื่อประกันการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดของโครงข่าย ตัวอย่างเช่น หากโปรแกรมใช้ข้อมูลร่วมกัน (filesharing program) ใช้ทราฟฟิกมาก ผู้ประกอบการโครงข่ายควรจะได้รับอนุญาตให้ปิดกั้นได้ แต่ก็มีเหตุผลแย้งว่ามีแนวทางบิดเบือนอื่นที่จะจัดการกับปริมาณแบนด์บวิดท์ เพราะการปิดกั้นหรือเลือกปฏิบัติกันโปรแกรมบางโปรแกรมเป็นการบิดเบือนมากกว่า แนวทางที่เป็นกลางมากกว่าในการจัดการแบนด์วิดท์โดยใช้กับผู้ใช้บริการ เช่น การจำกัดปริมาณการใช้ของผู้ใช้บริการ เช่น X กิกาไบทต่อเดือนหลังจากอัตราการใช้ลดลง แทนที่จะห้ามการเชื่อมต่อแบบ peer to peer แต่ผู้ประกอบการบางรายก็ยืนยันว่าไม่ต้องการเรียกเก็บค่าบริการตามปริมาณการใช้ เพราะในทางปฏิบัติทำได้ยากและเพราะทำให้อัตราค่าบริการเปลี่ยนไปทำให้เกิดการแข่งขันลำบากหรือไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด แทนที่ผู้ให้บริการเสนอให้เรียกเก็บจากผู้ให้บริการเนื้อหาเพื่อทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปแทนผู้ใช้บริการ
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือการลดการกำกับดูแล กล่าวคือหลักความเป็นกลางของโครงข่ายจะทำให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงและการแทรกแซงจะส่งผลให้เกิดผลกระทบข้างเคียง แต่ผู้ที่สนับสนุนก็แย้งว่าการแทรกแซงของรัฐในกรณีนี้เป็นประโยชน์ การแทรกแซงของคณะกรรมการกิจการสื่อสารน่าจะเพียงพอแล้ว การออกกฎหมายจะทำให้ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับหลัก common carrier ที่ใช้กับผู้ประกอบการโครงข่ายมานานแล้ว แต่ก็ได้รับการแย้งว่าผู้ให้บริการโครงข่ายส่วนใหญ่ผูกขาดและจำเป็นที่รัฐต้องเข้าไปกำกับดูแล เพราะหากผู้ผูกขาดใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบในการกีดกันคู่แข่งในการเข้าใช้โครงข่าย
แนวโน้มที่มีผลต่อการถกเถียงคือ
ปริมาณการใช้แบนด์วิดท์ที่เพิ่มขึ้น เช่น เกมส์ออนไลน์ การดาวโหลดเพลงและวีดีโอ
การพัฒนาของเทคโนโลยีโครงข่ายที่ให้บริการบรอดแบนด์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและต้นทุนการให้บริการถูกลง
การอุดหนุนของภาครัฐในการสร้างโครงข่ายบรอดแบนด์ เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และในบางเมืองก็มีโครงการอุดหนุนการสร้างโครงข่ายไร้สาย
ปริมาณการใช้โครงข่ายไร้สายภายในบ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เพื่อนบ้านสามารถแบ่งใช้บริการอินเตอร์เน็ทได้ ซึ่งทำให้รายได้ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ทลดลง
โทรคมนาคมแบบออดิโอและวิดีโอที่ใช้แบนวิดท์สูง เช่น เทคโนโลยี IPจะคุกคามรายได้ของกิจการอินเตอร์เน็ทของผู้ประกอบการโทรคมนาคม
ข้อเสนอเรื่องความเป็นกลางของโครงข่ายปรากฏในหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมในข้อเสนอ อาทิ
1. หลักประติบัติต่อคนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favored Nation) ผู้ประกอบการต้องเสนอการส่งผ่านแก่ทุกบริษัทบนเงื่อนไขที่เท่าเทียมกันและต้องไม่เลือกปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบการ
2. การต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อบิท ผู้ประกอบการต้องส่งผ่านชุดของข้อมูลโดยไม่เลือกปฏิบัติและต้องไม่ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลเฉพาะเจาะจงในชุดข้อมูลใด
3. เพียงพอและเป็นสินค้า หากผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับแบนด์วิดท์ ผู้ประกอบการต้องปล่อยวางอย่างเพียงพอและต้องอนุญาตให้มีบริการที่ไม่ให้ความสำคัญที่ดีอย่างพียงพอให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ
4. ผู้ประกอบการอาจแบ่งกลุ่มของผู้ใช้บริการ แต่ต้องเสนอบริการเดียวกันต่อเนื้อหา โปรแกรมใช้งาน และผู้ให้บริการ
5. กรณีเป็นโครงข่ายเอกชน ผู้ประกอบการอาจเลือกปฏิบัติหากเป็นโครงข่ายของตนเอง แต่ต้องไม่เลือกปฏิบัติระหว่างโครงข่าย
ความเป็นกลางของโครงข่ายได้กลายเป็นกฎหมายแล้วในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น สำหรับในสหรัฐอเมริกา ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นมาตรฐานโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ได้นำเสนอแนวคิดนี้ ได้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้เรียกให้ผู้แทนจากอุตสาหกรรมมาให้ปากคำเกี่ยวกับมาตรฐาน ซึ่งกลุ่มผู้ให้บริการโปรแกรมบนโครงข่ายยักษ์ใหญ่หกรายได้ให้การสนับสนุนคือ บริษัท IAC/InterActiveCorp, Amazon, และ Google รวมทั้งกลุ่มไม่แสวงหากำไร เช่น  Consumer Federation of America, Public Knowledge, the Media Access Project, และ Free Press โดยอ้างว่าการยอมให้ผู้ประกอบการบรอดแบนด์ควบคุมสิ่งที่ผู้คนเห็นและปฏิบัติบนออนไลน์อาจจะทำลายหลักการที่ส่งเสริมให้อินเตอร์เน็ทเจริญเติบโต แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังมีความเห็นเป็นกลาง เช่น บริษัท TechNet และ Cisco
สำหรับกลุ่มที่ต่อต้านแนวคิดนี้ประกอบด้วยสองกลุ่มหลักคือกลุ่มบริษัท Bell และเคเบิ้ล แต่ก็มีบริษัทเคเบิ้ลเช่น บริษัท Comcast มีท่าทีผสม โดยกล่าวว่าความเป็นกลางของโครงข่ายเป็นสิ่งที่ปรารถนา แต่กฎระเบียบที่ออกมายังไม่ถูกต้อง ในขณะที่บริษัท Bell พยายามให้โครงข่ายมีความไม่เป็นกลางและมีชั้น ประเด็นข้อถกเถียงในเรื่องนี้มีความสลับซับซ้อนในแง่ของการแข่งขัน เพราะกฎระเบียบอาจจะสร้างโอกาสใหม่ให้แก่บริษัทเล่นเกมส์เพื่อประโยชน์ของตนเองและกีดกันคู่แข่งขัน ประสบการณ์จากกฎหมายโทรคมนาคมปี ค.ศ. 1996 ทำให้เห็นว่าผลของกฎหมายความเป้นกลางของโครงข่ายอาจจะสร้างพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับผู้ให้บริการเนื้อหาในการฟ้องร้องเพื่อกำหนดอัตราค่าบริการหรือปิดกั้นได้ เพราะกฎระเบียบที่ผลักดันมาจากการขาดการแข่งขันในบริการบรอดแบนด์ ด้วยเหตุนี้เองผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบบไร้สายในเมืองจะเกี่ยวข้องกับข้อถกเถียงนี้มาก เพราะบริการดังกล่าวจะเปลี่ยนบริบทของการแข่งขัน นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ในการให้บริการบรอดแบนด์บนสายไฟฟ้าก็ส่งผลต่อหลักการความเป็นกลางของโครงข่าย แต่ที่ผ่านมาแม้มีการวางโครงข่ายเพิ่มเติมก็เกิดการแข่งขันขึ้นน้อยมาก ดังนั้น ในการกำหนดนโยบายสาธารณะในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงมีการต่อสู้ของกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง โดยมีผลประโยชน์ทางธุรกิจอันมหาศาลเป็นเดิมพัน การสร้างเหตุผลและข้อโต้แย้งของฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านล้วนพยายามสร้างความชอบธรรมแก่ฝ่ายตน จึงควรต้องติดตามในเรื่องนี้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น