วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กระบวนการหลังจากรับจดทะเบียนสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา (Post-grant Proceeding)


เมื่อมีการรับจดทะเบียนสิทธิบัตร เจ้าของสิทธิบัตรอาจร้องขอแก้ไขสิทธิบัตร โดยการยื่นคำขอจดทะเบียนใหม่ (Reissue)  เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดหรือขยายขอบเขตของข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรที่ได้รับ แต่กฎหมายจะจำกัดระยะเวลาที่อาจร้องขอจดทะเบียนสิทธิบัตรใหม่ไว้กล่าวคือต้องภายในสองปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตร ทั้งนี้ การร้องขอให้จดทะเบียนสิทธิบัตรนั้น ผู้ยื่นคำร้องจะต้องไม่มีพฤติกรรมที่ฉ้อฉล (Deceptive conduct)  การอนุญาตให้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรใหม่นั้นเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับเจ้าของสิทธิบัตรที่จะเตรียมความพร้อมในการยื่นฟ้องร้องการละเมิดสิทธิบัตรหรือการอนุญาตให้ใช้ได้ แต่หากเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เช่น พิมพ์ผิด หรือพิมพ์ตกหล่น เป็นต้น เจ้าของสิทธิบัตรสามารถร้องขอให้นายทะเบียนสิทธิบัตรออกใบรับรองความถูกต้องให้แทน (Certificates of correction) ในการยื่นคำข้อดังกล่าวเจ้าของสิทธิบัตรต้องชำระค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด  เว้นแต่เป็นกรณีที่เป็นความผิดพลาดของสำนักงานสิทธิบัตรเอง
ส่วนการตรวจสอบสิทธิบัตรซ้ำนั้น (Re-examination) เป็นกระบวนการร้องขอให้สำนักงานสิทธิบัตรพิจารณาตรวจสอบสิทธิบัตรใหม่อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากพบงานที่ปรากฏอยู่แล้วใหม่หรือการขยายงานที่ปรากฏอยู่แล้วที่เกี่ยวกับความสามารถในการขอรับสิทธิบัตร การขอตรวจสอบซ้ำอาจดำเนินการร้องขอโดยบุคคลใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเอง ผู้ประดิษฐ์หรือบุคคลที่สาม หรือแม้กระทั่งนายทะเบียนสิทธิบัตรเอง  ในการตรวจสอบสิทธิบัตรซ้ำนั้น นายทะเบียนสิทธิบัตรอาจยกเลิกข้อถือสิทธิที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้หรืออาจยืนยันข้อถือสิทธิที่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ หรืออาจยอมรับการแก้ไขข้อถือสิทธิ โดยนายทะเบียนสิทธิบัตรจะต้องออกหนังสือรับรอง (Certificate) เพื่อยืนยันคำสั่งดังกล่าว
ระบบกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐเริ่มมีบทบัญญัติการตรวจสอบสิทธิบัตรซ้ำในปี ค.ศ. 1981 ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการโดยกฎหมาย Optional Inter Partes Reexamination Procedure Act of 1999 ซึ่งอนุญาตให้บุคคลที่สามให้ความเห็นเพิ่มเติมในกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตรซ้ำได้ ซึ่งมีทางเลือกดำเนินการแบบ Ex Parte Reexamination หรือ Inter Partes Reexamination กล่าวคือในระหว่างการตรวจสอบสิทธิบัตรซ้ำแบบ Inter Partes Reexamination บุคคลภายนอกอาจยื่นหนังสือแสดงความเห็นของตนเองเกี่ยวกับการตรวจสอบซ้ำสิทธิบัตรต่อสำนักงานสิทธิบัตรได้และอาจร้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และการคัดค้านของสำนักงานสิทธิบัตรเพื่อให้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสิทธิบัตรได้ด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้จำกัดประเด็นของการร้องขอตรวจสอบสิทธิบัตรซ้ำของบุคคลภายนอกไว้
ในระบบสิทธิบัตรของสหรัฐฯ หากคำขอรับสิทธิบัตรสองฉบับได้ยื่นอ้างข้อถือสิทธิเดียวกัน (Interference)  สำนักงานสิทธิบัตรอาจประกาศว่ามีการแย้งกันและอาจกำหนดให้ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรทั้งสองมาที่สำนักงานสิทธิบัตรเพื่อพิจารณาตัดสินว่าผู้ใดเป็นผู้ประดิษฐ์คนแรก ในระหว่างการพิจารณาการแย้งกันของสิทธิบัตร คู่กรณีอาจยื่นพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่สนับสนุนหรือโต้แย้งสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นที่น่าสนใจว่าภาระการพิสูจน์ของคู่กรณีจะแตกต่างกัน กล่าวคือ เจ้าของสิทธิบัตรหรือคำขอรับสิทธิบัตรที่ถูกคัดค้าน (มักเรียกว่า Senior Party) ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นผู้ประดิษฐ์คนแรก จึงเพียงแต่นำสืบหักล้างข้อโต้แย้งของคู่กรณีอีกฝ่ายเท่านั้น สำหรับคู่กรณีที่คัดค้าน (มักเรียกว่า Junior Party) มีภาระการพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้ประดิษฐ์คนแรก จึงต้องนำสืบย้อนไปถึงวันที่คิดค้น (conception date) และวันที่สามารถนำความคิดนำสู่การปฏิบัติได้สำเร็จ  (Reducing the invention to practice)
ทั้งนี้ สำนักงานสิทธิบัตร โดยคณะกรรมการอุทธรณ์และการคัดค้านจะดำเนินกระบวนการพิจารณาคล้ายระบบศาลยุติธรรม  หากคู่กรณีไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ก็สามารถอุทธรณ์ต่อไปยังศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐฯ ต่อไปได้ตามกฎหมาย
บทบัญญัติเรื่องการคัดค้านนี้เป็นลักษณะเฉพาะของกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นผู้ประดิษฐ์คนแรก (First to invent system)  เพราะเป็นการยอมให้บุคคลที่ไม่สามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรได้ทันเวลาสามารถคัดค้านความเป็นผู้ประดิษฐ์ของคำขอรับสิทธิบัตรหรือสิทธิบัตรที่ได้รับการจดทะเบียนไปแล้วได้


การอุทธรณ์
ก่อนปี ค.ศ. 1982 การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรจะต้องอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ในแต่ละภูมิภาค (Regional Circuit Court) แต่หลักจากมีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์กลางในปี ค.ศ. 1982 การอุทธรณ์ทุกคดีเกี่ยวกับสิทธิบัตรต้องยื่นต่อศาลอุทธรณ์กลางเท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วศาลอุทธรณ์กลางยังมีเขตอำนาจเหนือประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิบัตรด้วย ตัวอย่างเช่น คดีกีดกันการแข่งขันที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรก็อยู่ภายใต้ศาลอุทธรณ์
เกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐฯในคดีสิทธิบัตรนั้นค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับประเภทของคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัย กล่าวคือ หากเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ตัดสินในประเด็นข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์จะกลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นเมื่อพบว่ามีความผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัดเจนเท่านั้น (Clearly erroneous) แต่หากเป็นคำตัดสินของคณะลูกขุน ศาลอุทธรณ์กลางจะกลับคำวินิจฉัยเฉพาะในกรณีที่พบว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอที่ลูกขุนจะตัดสินเช่นว่านั้น
สำหรับในคำตัดสินที่ให้การเยียวยาในชั้นสืบพยานหรือเป็นคำพิพากษานั้น ศาลอุทธรณ์กลางจะกลับคำตัดสินหรือคำพิพากษาหากพบว่าคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นมีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (Abuse of discretion)  สำหรับในประเด็นข้อกฎหมายนั้น เช่น การตีความข้อถือสิทธิ ศาลอุทธรณ์จะทบทวนตามมาตรฐาน de novo  กล่าวคือสามารถตรวจสอบหลักฐานและประเด็นข้อกฎหมายได้ ทั้งนี้ หากศาลอุทธรณ์ได้กลับคำตัดสินหรือคำวินิจฉัยไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนของศาลชั้นต้น คดีก็จะยังคงอยู่ที่ศาลชั้นต้น ซึ่งอาจต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาใหม่หรือปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลอุทธรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น