วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นโยบายและมาตรการส่งเสริมระบบทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์


สิงคโปร์เรียนรู้จากประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีว่าการพัฒนานวัตกรรมต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย และทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นระบบ  ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ได้ริเริ่มเพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบสิทธิบัตรอย่างครบวงจรสรุปได้ดังนี้

นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ในต้นทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานวิจัยและพัฒนา เพื่อสนับสนุนกิจกรรมวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้จัดตั้งโครงการ  A*STAR ขึ้น ซึ่งก็ได้ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งสถาบันวิจัยสาธารณะ  (public research institutes: RIs)  จำนวนหนึ่ง เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตและพัฒนาภาคเทคโนโลยีเฉพาะทางในสิงคโปร์ สถาบันวิจัยถือว่ามีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาและวิจัยให้กับภาคอุตสาหกรรมหรือการจัดฝึกอบรมด้วย การนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของสถาบันวิจัย โดยได้จัดตั้งสำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบ สำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยและพัฒนาที่สำคัญ ส่วนภาคเอกชนนั้น รัฐบาลสิงคโปร์พยายามจัดให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา โดยมีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้ความร่วมมือ เช่น บริษัท Philips, Seagate และ Novartis โดยมีศูนย์วิจัยที่ทันสมัยมีการลงทุนวิจัยมูลค่าหลายล้านเหรียญต่อปี กล่าวได้ว่าศูนย์วิจัยเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยและพัฒนาที่สำคัญและช่วยพัฒนาขัดความสามารถในการวิจัยของสิงคโปร์
เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนามีความต่อเนื่องและเสริมซึ่งกันและกันกับโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ในต้นทศวรรษที่ 2000 สิงคโปร์จึงริเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาขีดความสามารถทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ภาคเอกชน ซึ่งมีโครงการหลายประเภท โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบคือ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์ (Intellectual Property Office of Singapore: IPOS) จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมความรู้ทางทรัพย์สินทางปัญญา ได้จัดให้มีโครงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา และจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) คณะกรรมการมาตรฐาน ผลิตผล และนวัตกรรม (Standards, Productivity and Innovation Board: SPRING Singapore) องค์การพัฒนาสื่อสารและสารสนเทศ (Infocomm Development Authority: IDA) บรรษัทสิงคโปร์ระหว่างประเทศ (International Enterprise Singapore: IE Singapore) องค์การพัฒนาสื่อ (Media Development Authority: MDA) และสำนักงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิจัย (Agency for Science, Technology and Research: A*STAR) โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์เป็นหน่วยงานกลางในพัฒนาให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่เน้นทรัพย์สินทางปัญญา


นโยบายส่งเสริมการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร
รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีมาตรการส่งเสริมในการกระตุ้นให้มีการขอรับความคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา โดยการจัดตั้งโครงการเรียกว่า “กองทุนขอรับสิทธิบัตร” (Patent Application Fund Plus) กล่าวคือกองทุนนี้จะให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือแก่ธุรกิจของประเทศในการยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรจำนวนสูงถึง 140,000 เหรียญสหรัฐต่อรายบริษัท
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวนี้ค่อนข้างได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีประโยชน์ โดยที่ผ่านมามีการใช้เงินตามโครงการไปแล้วถึง 5.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายสำหรับคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังไม่ดีพอ ยังคงมีการลอกเลียนแบบหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงอยู่ ทั้งในประเทศเองและในประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดแรงจูงใจเพียงพอที่จะให้นักประดิษฐ์หรือผู้สร้างสรรค์ชาวสิงคโปร์ขอรับความคุ้มครองมากนักตามที่คาดหวังไว้ โครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board: EDB)

นโยบายส่งเสริมการใช้ประโยชน์สิทธิบัตร
นโยบายการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรมีหลายโครงการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้
- นโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและการลงทุนร่วมเสี่ยง (Encouraging Techno-entrepreneurship and venture capital)
เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นในสิงคโปร์และสร้างผู้ประกอบการที่มีความรู้หรือทักษะทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ริเริ่มโครงการ Technoeneueurship Investment Fund หรือ Technopreneurship 21 (T21) ในราวปี ค.ศ. 1999 ซึ่งมีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อดึงดูดการลงทุนในสิงคโปร์ โดยมีการให้การอุดหนุนทางด้านการเงินแก่ภาคเอกชนหลายวิธี เพื่อสร้างโครงข่ายของกองทุนเสี่ยง (network of venture funds) และจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าและศักยภาพของทรัพย์สินทางปัญญาและผลงานนวัตกรรม การบริหารและจัดการความเสี่ยง รวมทั้งประสานงานและติดต่อกับภาคอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร
นโยบายนี้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยรัฐบาลได้ลงทุนด้านการศึกษามานานเพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมากที่สามารถทำงานในกิจการลงทุนร่วมเสี่ยงได้หากบุคลากรเหล่านั้นมีเงินทุนและความช่วยเหลือในการจัดตั้งบริษัทขนาดเล็ก รัฐบาลจึงได้สนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจลงทุนเสี่ยงกล่าวคือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจได้กำหนดมาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้เกิดธุรกิจลงทุนเสี่ยงและบริษัทจัดการเงินทุนเสี่ยง ในปลายปี ค.ศ. 1999 ประมาณหนึ่งในสามของอุตสาหกรรมธุรกิจเสี่ยงได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ในปี ค.ศ. 1999 มีกองทุนร่วมเสี่ยงถึง 9 กองทุนได้ลงทุนประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่ดีรับสิทธิพิเศษด้านภาษี EDB ยังคงให้การสนับสนุนด้วยมาตรการจูงใจต่าง ๆ แก่อุตสาหกรรมที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการศูนย์กลางของนักวิชาชีพกิจการร่วมลงทุนเสี่ยง
ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบหลายฉบับเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินธุรกิจแบบกิจการร่วมเสี่ยง (Joint venture) เช่น กฎหมายล้มละลายหรือกฎหมายธนาคาร นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมให้เกิดศูนย์กลางทางวิทยาศาสตร์ที่ใกล้มหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นแหล่งบ่มเพาะเทคโนโลยีและกิจการที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่
- โครงการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดโครงการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในสิงคโปร์ที่ประสงค์จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีสิทธิได้รับการอุดหนุนตามโครงการนี้จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดทะเบียนในสิงคโปร์และต้องมีคนสิงคโปร์เป็นเจ้าของอย่างน้อยร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าน้อยกว่า 15 ล้านสิงคโปร์และต้องมีพนักงานลูกจ้างน้อยกว่า 200 คน
อนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์กำหนดโครงการเป็นสองระยะคือ
ระยะแรก SCOPE IP™ เป็นโครงการที่ปรึกษาที่วิเคราะห์สำหรับการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา โดยโครงการนี้จะช่วยบริษัทให้เข้าใจการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองในเชิงกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจหรือแผนการตลาดของบริษัท ทั้งนี้ SCOPE IP™ ถือว่าเป็นโครงการด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในสิงคโปร์ที่ช่วยตรวจสอบกระบวนการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทในสิงคโปร์ โดยอิงกรอบโปรโตคอลการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ (the International IP Management Protocol: IPMP)  ซึ่งจะตรวจสอบและประเมินกระบวนการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาใน 8 สาขา IE Singapore และ SPRING สนับสนุนโครงการนี้โดยให้เงินทุนอุดหนุนแก่ผู้ร่วมโครงการครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่ปรึกษา
การให้บริการ SCOPE-IP เป็นเสมือนบริการเสริมของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ โดยมีเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทสามารถประเมินตนเองผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งผู้บริหารสามารถตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองที่มีอยู่ได้ ซึ่งบ่อยครั้งมักจะละเลยหรือไม่คิดว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งมีเครื่องมือที่ช่วยในการประเมินข้อดีและข้อด้อยของทรัพย์สินทางปัญญาที่ตนเองมีอยู่ในการบริหารจัดการของบริษัท
ระยะสอง การพัฒนาความสามารถจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Management Capability Development) ซึ่งเริ่มต้นในราวกลางปี ค.ศ. 2004 โดยมีขอบเขตและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ การตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญา (IP Audit) การศึกษาและฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Education and Training) การวิจัยทรัพย์สินทางปัญญา (IP Intelligence and Research) การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแบบกลุ่ม (IP Portfolio Management) กลยุทธ์ทรัพย์สินทางปัญญา (IP Strategy) การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา (IP Valuation) และการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Licensing)  เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายสูงสุดถึงร้อยละ 50 สำหรับค่าที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร อุปกรณ์ และการได้มาซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ในระยะเริ่มต้นของระยะนี้มุ่งเน้นที่การบริหารจัดการแบบกลุ่ม (portfolio management) กล่าวคือ เป็นการช่วยเหลือให้บริษัทสามารถระบุและจัดการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาในลักษณะกลุ่มได้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับแผนธุรกิจหรือแผนกลยุทธ์ของบริษัท
- โครงการ IP Parade
คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) และสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ (IPSO) ก็พยายามส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาโดยการร่วมกันจัดให้มีตลาดนัดทรัพย์สินทางปัญญา (ใช้ชื่อว่า IP Parade) ในราวปี ค.ศ. 2003 เพื่อส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกลุ่มธุรกิจ และเป้าหมายอีกประการหนึ่งเป็นการประกาศนโยบายว่าต้องการให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของทรัพย์สินทางปัญญาในภูมิภาคนี้ โดยโครงการ IP Parade จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการอำนวยความสะดวกให้มีการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินทางปัญญาและแพร่กระจายนวัตกรรมระหว่างบริษัททั้งในสิงคโปร์เองและระหว่างประเทศ โครงการ IP Parade อาจถือว่าเป็นโครงการเสริมของโครงการ SurfIP portal ของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์
- โครงการ SURFIP
รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงความสำคัญของฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา จึงจัดให้มีการให้บริการแหล่งข้อมูลออนไลน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (SURFIP) ซึ่งให้บริการบริการก้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจรโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การให้บริการเปิดกว้างแก่ทั้งธุรกิจและบุคคลธรรมดาทั่วไป และเครือข่ายผู้ให้บริการทรัพย์สินทางปัญญา (Singapore Network of IP Service Providers: SNIPS) ที่จัดให้มีรายนามของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาในสิงคโปร์
- โครงการ IP Strategic Business Unit
หน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วยงานได้ลงทุนสร้างขีดความสามารถทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเสริม ตัวอย่างเช่น หน่วยงานธุรกิจยุทธศาสตร์ทรัพย์สินทางปัญญา (IP Strategic Business Unit) ของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ได้ส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นผู้ให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดบริษัทต่างชาติให้ลงทุนในสิงคโปร์และมีกิจกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง

นโยบายพัฒนาด้านบุคลากร
รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงความขาดแคลนของผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่จะมาช่วยชี้แนะให้ภาคเอกชนนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้มีการจัดตั้งสถาบันวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Academy) ขึ้นในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2003 เพื่อหน้าที่สร้างทรัพยากรบุคคลด้านทรัพย์สินทางปัญญาและเพื่อร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา จึงเสมือนสถาบันการศึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่คอยจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ ทั้งในหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว หรือหลักสูตรสำหรับผู้บริหารหรือนักวิจัย ที่ผ่านถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ
นอกจากสถาบันวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังสนับสนุนโครงการส่งเสริมกิจกรรมทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ โดยมีหน่วยงานอื่นดำเนินการ เช่น ศูนย์บริหารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Centre for Management of Science and Technology: (CMOST) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และสถาบันการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี (Exploit Technologies) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานภายใต้ A*STAR ศูนย์บริหารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ศูนย์วิทยาการทรัพย์สินทางปัญญามีภารกิจหลักในการส่งเสริมการวิจัยที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและดำเนินการวิจัยร่วมกับสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศ หน่วยงานเหล่านี้ถือเป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาในแบบบริการเสริมควบคู่กับมาตรการอื่น

มาตรการจูงใจอื่น ๆ (Incentives)
รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดให้มีมาตรการจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุน การพัฒนานวัตกรรม และบุคลากร เช่นเพื่อดึงดูดให้มีการลงทุนภายในประเทศมากขึ้น คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจได้ให้แรงจูงใจด้านภาษีและทุนวิจัยและพัฒนาแก่บริษัทข้ามชาติที่มีการวิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์ โดยมองว่าบริษัทข้ามชาติเหล่านี้จะสร้างงานและพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์ สำหรับบริษัทท้องถิ่นในสิงคโปร์เอง คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ก็จัดให้มีมาตรการจูงใจหลายประการ เช่น การให้ทุนวิจัยและพัฒนา มาตรการหักลดหย่อนทางภาษีในค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร หรือกองทุนการใช้ประโยชน์สิทธิบัตรเพื่อส่งเสริมให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยการลดต้นทุนในการขอรับสิทธิบัตรของบริษัท รวมทั้งมีมาตรการทางการเงินในการจูงใจให้บริษัทส่งบุคลากรฝึกอบรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการจัดตั้งหน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นในบริษัท (IP Unit) นอกจากนี้ ยังจัดให้ความช่วยเหลือเพื่อลดภาระของบริษัทโดยส่งเสริมให้มีการใช้บุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกัน
โครงการ Proof of Concept (POC) และโครงการ Startup Enterprise Development Scheme (SEEDS) จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และการก่อตั้งบริษัทใหม่ ๆ กล่าวคือ รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนแก่บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองเพื่อให้บริษัทสามารถดึงดูดนักลงทุนอื่นต่อไปได้ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจใหม่มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน รัฐบาลสิงคโปร์ได้ริเริ่มหลายโครงการที่เสริมสร้างความสามารถของบริษัทท้องถิ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เช่น โครงการ A*STAR เริ่มโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการด้วยการยกระดับเทคโนโลยี (Growing Enterprises with Technology Upgrade: GET-UP) ซึ่งให้ความช่วยเหลือบริษัทท้องถิ่นในเรื่องบุคลากรและความช่วยเหลือทางเทคนิค นอกจากนี้ ภายใต้โครงการ A*STAR ภาคธุรกิจสามารถยืมตัวนักวิจัยของภาครัฐได้ EDB และ IDA ได้จัดตั้งโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท้องถิ่น (Local Industry Upgrading Programme: LIUP) ขึ้น เพื่อให้บริษัทข้ามชาติและบริษัทท้องถิ่นมีความร่วมมือกันในการพัฒนาการวิจัยและพัฒนา
ในการช่วยเหลือธุรกิจในการพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สำนักงานสิทธิบัตรของสิงคโปร์ได้จัดตั้งโครงการสร้างสรรค์ ใช้ประโยชน์และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (IP - Creation, Exploitation and Protection: IP-CEP) ขึ้น โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงานภาครัฐและหอการค้าและสมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ  โครงการนี้วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และจัดให้มีข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบระเบียบ เปิดกว้างให้เอกชนเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในภาคอุตสาหกรรมด้วย
นอกจากนี้แล้ว สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ยังได้พัฒนาโครงการต่อเนื่องขึ้นมาเรียกว่าโครงการจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Asset Management: IAM)  เพื่อช่วยเหลือธุรกิจที่มีทรัพย์สินทางปัญญาในการยกระดับความสามารถในการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง กล่าวคือเนื่องจากบริษัทท้องถิ่นของสิงคโปร์เองที่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นของตนเองเริ่มมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้เริ่มมีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนามากขึ้นและซื้อกิจการขนาดเล็กเพื่อขยายการลงทุน บริษัทที่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองเหล่านี้มีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการดึงดูดบุคลากรและหุ้นส่วนทางการค้าที่เหมาะสม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลสิงคโปร์ได้วางกรอบนโยบายให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมดังนี้
การจัดให้มีกลไกของการร่วมลงทุนเสี่ยง (venture capital) จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมให้บริษัทเหล่านี้มีโอกาสทางด้านการเงิน ซึ่งสามารถขยายการลงทุนหรือการค้าได้ พร้อมทั้งอาจใช้กลไกของการจับคู่หุ้นส่วนทางธุรกิจที่เหมาะสมได้  
การจัดให้มีที่ปรึกษาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถให้ความช่วยเหลือด้านการจดทะเบียนและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่ม
การจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีและบรรยากาศที่จูงใจให้ภาคเอกชนสร้างนวัตกรรม
การจัดให้มีหลักสูตรด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้บุคลากรทั้งด้านที่เป็นผู้บริหาร นักวิทยาสตร์และวิศวกรเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาได้
ส่งเสริมให้สถาบันวิจัยมีการร่วมวิจัยข้ามสาขาวิทยาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในการวางกลยุทธ์ด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบและตอบสนองกับความต้องการของตลาด
นอกจากนี้ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ได้พัฒนาทรัพยากรด้านทรัพย์สินทางปัญญาหลายอย่างเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิจัยและพัฒนา เช่น Intellectual Property Education and Resource Centre (IPERC) เป็นหน่วยงานด้านการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งจัดให้มีแหล่งข้อมูลด้านทรัพย์สินทางปัญญา คลินิกปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา สัมมนาด้านทรัพย์สินทางปัญญา และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นต้น


การบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตร
สำหรับการบังคับใช้กฎหมายนั้น ประเทศสิงคโปร์แม้จะถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงอยู่มีมากมาย แต่ก็ปรากฏว่ามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในระดับที่สูงมากคือประมาณ 50%  และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ประเทศสิงคโปร์อยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch list) ของสำนักงานตัวแทนการค้าของสหรัฐอเมริกา (USTR) ดังนั้น จึงได้มีการจัดตั้ง IPR Warrant Union เพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการปราบปรามสินค้าปลอมแปลงและเลียนแบบ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงและเป็นสินค้าละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะงานเพลง ภาพยนตร์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในอยู่ในรูปของ CD-ROM และ DVD จึงมีการออกกฎหมายควบคุมการผลิตแผ่นซีดี (Manufacture of Optical Dics Act)
หน่วยงานที่รับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายหลัก คือกรมตำรวจอาชญากรรมคดีเศรษฐกิจ (Commercial Crime Division) และต่อมาย้ายมาสังกัดกรมสืบสวนคดีอาญา (Criminal Investigation Department-CID) ในระยะแรกนั้น การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญานั้นเอกชนเจ้าของสิทธิต้องช่วยตนเอง (self-help approach) เป็นหลักหรือกล่าวได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ของเจ้าของสิทธิในการดำเนินคดี โดยต้องแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการจับกุมมิฉะนั้นก็มิอาจดำเนินการได้ แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการบังคับคดีเป็นคล้ายกับความผิดอาญาแผ่นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการจับกุมได้เองหากพบการละเมิด
ทั้งนี้ หากเป็นการบังคับใช้กฎหมายในเขตพรมแดนนั้น กรมศุลกากร (Singapore Customs) จะเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยมีอำนาจตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายการนำเข้าและส่งออก ประกอบกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวคือเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีอำนาจในการยึดหรือกักสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่จะนำเข้าหรือส่งออกจากประเทศสิงคโปร์ได้ รวมทั้งมีอำนาจในการตรวจสอบสินค้าที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้แม้จะเป็นสินค้าที่ส่งผ่านแดน (Transit goods) แต่ต้องเป็นกรณีที่มีการร้องหรือแจ้งโดยเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นกระบวนการคล้ายกับการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐอเมริกา
สำหรับศาลที่มีอำนาจวินิจฉัยคดีข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีที่ฟ้องร้องทางแพ่งคือศาลชั้นต้น (Subordinate Courts) หรือศาลสูง (High Court) ทั้งนี้ หากคู่กรณีประสงค์จะอุทธรณ์คำตัดสินของศาลชั้นต้นก็สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลสูง (High Court) หรือศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) แล้วแต่กรณีว่าเป็นการตัดสินโดยศาลใด ในการขอเยียวยาทางแพ่งสำหรับการละเมิดสิทธิบัตรนั้น ศาลสามารถออกคำสั่งชั่วคราวหรือคำสั่งห้ามการกระทำที่เป็นการละเมิดได้ รวมทั้งกำหนดค่าเสียหายให้แก่เจ้าของสิทธิผู้ได้รับความเสียหายได้ สำหรับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญานั้นมีบทบาทเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายและยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น
แม้ว่าทางรัฐบาลพยายามส่งเสริมการปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจัดตั้งโปรแกรมการเผยแพร่ความรู้ความ โดยเฉพาะปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในสถานศึกษา ซึ่งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานหนังสือหรือบทความการศึกษาค่อนข้างมากในประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลจึงจัดตั้งโครงการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวนี้ค่อนข้างมาก และเนื่องจากมีการผลิตซีดีรอมเกิดขึ้นโดยมิชอบ ในปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้ออกกฎหมายการผลิตแผ่นซีดี (Manufacture of Optical Discs Act) ในปี ค.ศ. 2004  ซึ่งควบคุมการตั้งโรงงานผลิตแผ่นซีดีรอมและการนำเข้าเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในการผลิตด้วย โดยมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา
การบังคับใช้สิทธิของสิงคโปร์นั้น สามารถทำได้ทั้งทางแพ่งและอาญา สำหรับวิธีการระงับข้อพิพาทสามารถทำได้ทั้งในและนอกศาล ในการระงับข้อพิพาทนอกศาลทำโดยการเจรจา การไกล่เกลี่ย และอนุญาโตตุลาการ ผู้มีสิทธิฟ้องคดีในสิงคโปร์กำหนดให้เจ้าของสิทธิ ในบางกรณีผู้รับอนุญาตแต่ผู้เดียว (Exclusive Licensee) สามารถฟ้องคดีเองได้โดยไม่ต้องรับมอบอำนาจจากผู้เป็นเจ้าของสิทธิ ในเรื่องการคุ้มครองชั่วคราวนั้น สิงคโปร์กำหนดให้ทำโดยยื่นคำร้องต่อศาล สำหรับการเยียวยาในการละเมิดของสิงคโปร์นั้น ให้มีการเยียวยาทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง โดยการเยียวยาในทางอาญาจะมีโทษจำคุก ปรับ และส่งมอบสิ่งละเมิดและสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดแก่โจทก์ ความผิดที่ละเมิดเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ส่วนการเยียวยาในทางแพ่งนั้น จะอยู่ในรูปของค่าเสียหายซึ่งกำหนดให้เป็นดุลยพินิจของศาล
หลังจากมีแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสิงคโปร์ก็ตกลงร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดของรัฐบาลช่วยลดสินค้าลอกเลียนแบบอย่างมาก มูลค่าของที่ยึดได้ในปี ค.ศ. 2003 ประมาณ 19 ล้านเหรียญมากกว่าในปี ค.ศ. 2002 ถึงสามเท่า ตำรวจสิงคโปร์ร่วมมือกับ FBI ของสหรัฐอเมริกาบุกเข้าทะลายแหล่งละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ทสองแห่ง ซึ่งกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ด้านงานดนตรีและภาพยนตร์ ก่อนมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ สิงคโปร์ได้จัดตั้งโครงการช่วยเหลือตนเองในการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยปฏิบัติต่อการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแตกต่างจากความผิดอาญาฐานลักทรัพย์ โดยการกำหนดภาระหน้าที่ในการพิสูจน์แก่เจ้าของสิทธิในการขอเข้าตรวจค้นและดำเนินคดีในศาล แต่หลังจากมีความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา (USSFTA) ก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่ โดยยกระดับความคุ้มครองสูงขึ้น เช่น บทบัญญัติที่กลับภาระการพิสูจน์ใหม่ และให้ถือว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นความผิดที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย มิใช่ภาระของภาคเอกชนเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น ซึ่งถือว่าสร้างบรรยากาศด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้แล้วรัฐบาลยังพยายามสร้างบรรยากาศการลงทุนเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม โดยหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานได้เข้าไปแทรกแซงในวัฎจักรของทรัพย์สินทางปัญญา ตัวอย่างเช่น IPOS, A*STAR, EDB, IE Singapore และ MDA ได้ประสานงานร่วมกันจัดโครงการร่วมกันเป็นครั้งคราวเพื่อส่งเสริมหรือกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น สมาคมการค้าและหอการค้ามักได้รับเชิญเข้าร่วมอยู่เสมอ โดยจะอนุญาตให้มีการแบ่งปันทรัพยากรและร่วมกันส่งเสริมระบบทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงาน MDA, IE Singapore และ SPRING Singapore จึงพัฒนาโครงการเฉพาะขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ตระหนักความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมความใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาแก่อุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น MDA และ IP Academy ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเกี่ยวกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอยู่เป็นระยะ ๆ  เพราะจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์จึงร่วมมือกับภาคเอกชนจัดให้มีโครงการ HIP Alliance (Honour Intellectual Property Alliance) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในทรัพย์สินทางปัญญาและกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา ตัวอย่างเช่น สถานีวิทยุ Power 98 เป็นสถานีประชาสัมพันธ์หลักของโครงการนี้ โดยจะมีภาพยนตร์และเพลงประกอบในการดึงดูดใจ  เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ลอกเลียนแบบ และละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์ประสงค์จะสร้างวัฒนธรรมของระบบทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาจึงจัดให้มีโครงการ iperckidz ในโรงเรียน โดยการให้การศึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่เด็กและเยาวชน ทั้งนี้ โครงการ iperckidz จัดให้มีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจและดึงดูดใจให้เด็กและเยาวชนสนใจและเข้าใจความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เว็บไซต์ การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ การ์ตูน และคู่มือเรียนรู้สำหรับเด็ก เป็นต้น  นอกจากนี้ โครงการนี้ยังดำเนินการเชิงรุก โดยการจัดให้มีกิจกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามโรงเรียนทั่วสิงคโปร์ การส่งเสริมให้มีนักเรียนตัวอย่างด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างเรื่องสืบสวนสอบสวนคดีด้านทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้นักเรียนสนใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น