วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


จากแนวคิดที่สนับสนุนถึงความจำเป็นของรัฐในการเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้เปิดโอกาสให้รัฐเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการกำกับดูแล โดยผ่านการตัดสินใจหรือออกกฎเกณฑ์ทางกฎหมายหรือกำหนดนโยบายต่าง ๆ เข้ามาบังคับใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจหรือผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ตามที่รัฐได้วางไว้  แต่โดยทั่วไปแล้ว การเข้าแทรกแซงของรัฐมักจะมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายกว้าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลักดังนี้คือ วัตถุประสงค์ทางเศรษฐศาสตร์ และวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่ทางเศรษฐศาสตร์

๑ วัตถุประสงค์ทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Goals)
หน้าที่สำคัญของรัฐในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมประการหนึ่ง คือประกันให้กลไกตลาดดำรงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการที่กลไกตลาดจะสามารถดำรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นจะต้องอิงอยู่บนองค์ประกอบพื้นฐานหลายประการ ดังนี้คือ
1) มีผู้ผลิตและผู้บริโภคจำนวนมาก และมีขนาดเล็กจนเกินกว่าที่จะมีส่วนแบ่งตลาดมากพอที่จะอิทธิพลต่อการกำหนดราคาตลาดของสินค้าและบริการประเภทหนึ่ง ๆ ได้
2) ผู้ผลิตและผู้บริโภคในระบบตลาดต้องมีข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับราคาและคุณภาพของสินค้าหรือบริการได้อย่างสมบูรณ์และทันท่วงที
3) มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตหรือทรัพยากรได้อย่างเสรี
4) ผู้ซื้อสามารถจ่ายราคาส่วนเกินที่เกิดจากมูลค่าทางสังคมของสินค้าได้
5) ต้นทุนส่วนเกินของผู้ขายต้องเท่ากับต้นทุนส่วนเกินทางสังคมที่เกิดจากการผลิตสินค้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ขายต้องแบกรับต้นทุนทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนจากภายนอกแล้วส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปในราคาขายต่อไปยังผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบหลักที่จะทำให้กลไกตลาดสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะดำรงอยู่ในตลาดอุดมคติเท่านั้น ตลาดในความเป็นจริงทุกตลาดล้วนแต่มีข้อบกพร่องในบางลักษณะและบางระดับ ข้อบกพร่องของระบบตลาดจะลดสวัสดิการทางสังคม การกำกับดูแลจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นของรัฐในการช่วยขจัดหรือลดผลกระทบที่เกิดจากข้อบกพร่องเหล่านี้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ รัฐจะเข้ามาแทรกแซงการดำเนินการทางเศรษฐกิจของเอกชนโดยมีวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ คือ เมื่อกลไกของตลาดล้มเหลวหรือตลาดมีข้อบกพร่องเท่านั้น (Market failure)

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ตลาดล้มเหลวเป็นสถานการณ์ที่ตลาดไม่สามารถจัดการกับการผลิตหรือการจัดสรรสินค้าหรือบริการไปยังผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือตลาดขาดประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร และเกิดความไม่เป็นธรรมในการกระจายทรัพยากร นิยามของตลาดล้มเหลวอาจใช้ในสถานการณ์ที่ความไม่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นอย่างพลวัตร หรือเมื่อมีแนวโน้มว่าสถาบันที่ไม่ใช่ตลาดอาจดำเนินการได้มีประสิทธิภาพกว่ากลไกตลาด ทั้งนี้ ตลาดล้มเหลวมักเป็นสถานการณ์ที่กลไกตลาดไม่สามารถบรรลุผลประโยชน์สาธารณะที่คาดไว้ ดังนั้น ทฤษฎีเรื่องตลาดล้มเหลวมักจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก กล่าวคือนักเศรษฐศาสตร์มักจะใช้ทฤษฎีในรูปของตัวต้นแบบเพื่ออธิบายหรือเข้าใจสถานการณ์นั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าคำว่า “ล้มเหลว” นี้ มิได้เจตนาหมายความถึงการพังทลายของระบบเศรษฐกิจ หรือความแตกแยกในความสัมพันธ์ของตลาด ตลาดล้มเหลวเป็นข้ออ้างว่าตลาดกำลังประสบปัญหาไม่สามารถทำงานได้ตามปกติวิสัยที่จะสร้างความมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ โดยมิได้หมายความว่าตลาดกำลังกำลังล่มสลายหรือไม่มีตลาดเกิดขึ้น ในอีกแง่หนึ่งการไม่มีสถานการณ์ตลาดล้มเหลวก็มิใช่จะถือว่าเป็นกรณีประสบความสำเร็จ เพราะบางตลาดอาจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในบางกลุ่มหรือบางคนในสังคมอาจคิดว่าตลาดควรจะดีกว่านี้ไม่ว่าจะเป็นความมีเสถียรภาพ การเจริญเติบโต หรือความเท่าเทียมมากขึ้น ดังนั้น ตลาดล้มเหลวจึงเป็นนิยามทางเทคนิคไม่ใช่คำศัพท์ทั่วไป แต่ในทางวิชาการนั้น นิยามของตลาดล้มเหลวเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างสำนักความคิดต่าง ๆ และแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะมองนิยามของตลาดล้มเหลวแตกต่างกัน แต่ในบทความนี้จะอิงแนวคิดของสำนักนีโอคลาสสิกที่มองว่าความล้มเหลวของกลไกตลาดหรือตลาดที่มีข้อบกพร่องอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น การผูกขาดโดยธรรมชาติ การแข่งขันที่มากเกินไปจนทำลายกันเอง ผลกระทบจากภายนอก หรือการมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอ เป็นต้น ฉะนั้น รัฐจะเข้าไปกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจรัฐจะต้องสามารถระบุได้ว่าความล้มเหลวของตลาดเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ของความล้มเหลวของตลาดสามารถสรุปได้ ดังนี้คือ

๑.๑ การผูกขาดโดยธรรมชาติ (Natural Monopoly)
การผูกขาดโดยธรรมชาติเป็นรูปแบบหนึ่งของนิยามความหมายของการผูกขาดโดยทั่วไป การผูกขาดโดยธรรมชาติเกิดขึ้นเมื่อมีตลาดสินค้าและบริการมีขนาดเล็กจนทำให้สามารถมีเพียงผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ผลิตสินค้าหรือให้บริการในตลาดแล้วดำรงอยู่รอดได้ ตัวอย่างของการผูกขาดโดยธรรมชาติ คือ กิจการไฟฟ้า กิจการประปา กิจการบริการโทรศัพท์ และกิจการรถไฟ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันในทางเศรษฐศาสตร์คำว่า การผูกขาดโดยธรรมชาติมักถูกใช้ในสองนัยที่แตกต่างกันคือ

แนวทางที่หนึ่ง หากอุตสาหกรรมใดถูกเรียกว่าเป็นกิจการผูกขาดโดยธรรมชาตินั้นก็คือบริษัทเพียงบริษัทเดียวสามารถผลิตหรือให้บริการผลิตผลได้ด้วยต้นทุนทางสังคมที่ต่ำกว่าการมีบริษัทสองบริษัทหรือมากกว่า เพราะมีการประหยัดโดยขนาดในต้นทุนทางสังคม ความหมายนี้แตกต่างจากการผูกขาดโดยทั่วไป เพราะการผูกขาดโดยธรรมชาติมิได้หมายความว่ามีบริษัทเพียงบริษัทเดียวผลิตสินค้าหรือให้บริการ แต่กรณีนี้มีความจำเป็นเพราะการมีหลายบริษัทผลิตสินค้าหรือให้บริการนั้นจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการที่มีบริษัทเดียวผลิตส้นค้าหรือให้บริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดต้นทุนกับเศรษฐกิจโดยรวม แนวคิดนี้จึงสนับสนุนให้มีการผูกขาดโดยชอบด้วยกฎหมายขึ้น แนวทางที่สอง คือ กรณีที่อุตสาหกรรมใดถูกเรียกว่าเป็นกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติหรือเรียกว่าการผูกขาดเชิงเทคนิค คือในกรณีที่บริษัทหนึ่งสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว อันเนื่องมาจากต้นทุนคงที่ที่สูงของการเข้าสู่ตลาดที่ต้นทุนโดยเฉลี่ยในระยะยาวจะลดลงหากผลิตผลเพิ่มมากขึ้น เช่น การประหยัดโดยขนาดในต้นทุนของเอกชน

แนวคิดเรื่องการผูกขาดโดยธรรมชาติพัฒนามาจากแนวคิดของ John Stuart Mill ที่ระบุไว้ในหนังสือชื่อ Principles of Political Economy ในปี ค.ศ. ๑๙๐๙ ว่าการประหยัดต่อขนาดอาจเกิดขึ้นเพื่อจำกัดจำนวนผู้ประกอบการที่จะสามารถอยู่รอดได้ในตลาดที่การแข่งขันไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งที่สูญเสียที่จะมีผู้ผลิตหลายรายในบริการสาธารณูปโภค ดังนั้น แนวคิดนี้มองว่าการผูกขาดโดยธรรมชาติมิใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ในยุคต่อมาได้ขยายแนวคิดนี้ว่า การผูกขาดโดยธรรมชาติจะเกิดขึ้นในกรณีที่กระบวนการผลิตขนาดใหญ่ที่กระทำโดยผู้ประกอบการรายเดียวจะก่อให้เกิดต้นทุนที่ต่ำที่สุดซึ่งต่ำกว่าการปล่อยให้ผู้ประกอบการหลายรายดำเนินการผลิต ดังนั้น การปล่อยให้ผู้ประกอบการรายเดียวดำเนินการผลิตย่อมเป็นผลดีแก่ผู้บริโภคเพราะก่อให้เกิดต้นทุนที่ต่ำที่สุดอันนำไปสู่ราคาของสินค้าที่ต่ำและปริมาณสินค้าที่เพียงพอแก่ความต้องการด้วย

จากแนวความคิดข้างต้นแล้ว การผูกขาดโดยธรรมชาติเป็นสิ่งที่สังคมสามารถยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกขาดโดยธรรมชาติที่เกิดจากการประหยัดจากขนาดการผลิต เพราะการให้บริการหรือผลิตสินค้าที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาตินั้น ผู้ประกอบการเพียงรายเดียวจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด กล่าวคือผู้ประกอบการเพียงรายเดียวสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริการทั้งหมดได้ หรือเป็นกรณีที่การลงทุนเบื้องต้นในอุตสาหกรรมประเภทนี้มีค่อนข้างสูงมาก ดังนั้น การมีผู้ประกอบการมากรายไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก ในทางตรงกันข้ามกลับอาจก่อให้เกิดการลงทุนที่สูญเปล่าและซ้ำซ้อน ผู้ประกอบการอาจไม่ได้กำไรจากการประกอบการที่มีการแข่งขันกัน นอกจากนี้ สินค้าหรือบริการที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติมีลักษณะพิเศษ ดังนี้
1) เป็นการให้บริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น
2) ไม่มีสินค้าหรือบริการอื่นสามารถมาทดแทนได้
3) สินค้าหรือบริการของการผูกขาดโดยธรรมชาติไม่สามารถเก็บกักตุนไว้ได้
4) สินค้าหรือบริการไม่สามารถโอนหรือแลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างผู้รับบริการ

ฉะนั้น การใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดไม่เหมาะสมที่จะนำมาเยียวยาหรือบังคับการผูกขาดโดยธรรมชาติ การแทรกแซงของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาดโดยธรรมชาติคือ รัฐมักจะคงปล่อยให้ผู้ผูกขาดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่จะกำหนดกรอบการกำกับดูแล เช่น การกำหนดระดับอัตราของราคาสินค้าหรือบริการ โดยใช้หลักเกณฑ์ต้นทุนของบริการ ซึ่งในทางทฤษฎีวิธีการนี้ทำให้สังคมยังคงได้รับประโยชน์ของการประหยัดโดยขนาดของการผลิตหรือการประหยัดโดยขอบเขตอยู่ โดยไม่มีผลในทางลบจากการผูกขาดเพราะต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตลดต่ำลงในขณะที่ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การผูกขาดโดยธรรมชาติจึงมักเป็นข้ออ้างที่รัฐใช้ในการเข้าไปแทรกแซงในธุรกิจบางประเภท โดยการเข้าไปดำเนินการเอง เช่น การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินการเองในหลายกิจการ

ประเด็นที่พึงสังเกตคือ ลักษณะของการผูกขาดโดยธรรมชาติ มีลักษณะเป็นพลวัตรซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยและแรงผลักดันภายนอกหลายประการ เพราะหากปัจจัยดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไป  เช่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ขนาดของตลาด หรือการเกิดขึ้นใหม่ของสินค้าทดแทน ระดับของการผูกขาดโดยธรรมชาติก็อาจจะมีความรุนแรงที่ลดน้อยลง หรือหมดสิ้น ๆ ไปก็ได้ ตัวอย่างจะเห็นได้จากอุตสาหกรรมสายการบินหรือกิจการโทรศัพท์ประจำที่ที่แต่เดิมเคยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการผูกขาด แต่ในปัจจุบันนี้ หลาย ๆ ประเทศมีการเปิดเสรีโดยอนุญาตให้หลายบริษัทสามารถแข่งขันกัน

๑.๒ การมีข้อมูลข่าวสารที่ไม่เพียงพอ (Inadequate Information)
องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งของการดำรงอยู่ของตลาดที่มีประสิทธิภาพก็คือ การมีข้อมูลข่าวสารให้กับทุกคนอย่างเสรีและเพียงพอต่อการตัดสินใจ ผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ต่างก็มีความรู้อย่างสมบูรณ์ในเรื่องข้อมูลข่าวสารของตลาดและราคาของสินค้าที่ซื้อขายกัน กล่าวคือ การรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของราคาตลาด คุณภาพ ปริมาณการซื้อขายและแหล่งที่สามารถซื้อหาสินค้าได้อย่างเพียงพอที่สามารถใช้ในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ไม่มีใครสามารถมาหลอกลวงหรือกำหนดราคาที่แตกต่างไปจากผู้ประกอบการรายอื่นได้ ดังนั้น ถ้าผู้ขายรายใดตั้งราคาสินค้าไว้สูงกว่าผู้ขายรายอื่นๆ  ผู้ซื้อที่มีข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอก็ย่อมจะไม่ซื้อจากผู้ขายรายนั้น แต่จะไปซื้อรายที่ถูกกว่า อย่างไรก็ตาม ในยุคที่มีตลาดที่ซับซ้อน ผู้ซื้อหรือผู้ขายไม่อาจหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมีการปกปิดข้อมูลหรือข้อมูลที่สามารถเข้าสู่ได้มีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติถึงแม้จะมีข้อมูลสมบูรณ์และสามารถเข้าถึงได้ ประชาชนทั่วไปก็ไม่สามารถที่จะรับรู้หรือเข้าใจและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ในทางเศรษฐศาสตร์ ความไม่เท่าเทียมของข้อมูลเกิดขึ้นเมื่อในการดำเนินกิจกรรมหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งมีข้อมูลมากกว่าหรือน้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง โดยทั่วไป ฝ่ายผู้ขายหรือให้บริการมักจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการมากกว่าฝ่ายผู้ซื้อ อย่างไรก็ตามสถานการณ์อาจกลับกันก็ได้ ตัวอย่างของสถานการณ์ของผู้ขายมีข้อมูลมากกว่าผู้ซื้อคือ ผู้ประกอบการขายรถมือสอง หรือผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น ส่วนตัวอย่างของกรณีที่ผู้ซื้อมีข้อมูลดีกว่าผู้ขายคือการทำประกันชีวิต หรือการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่นั้น ผู้ขออนุญาตใช้คลื่นความถี่วิทยุย่อมรู้มูลค่าของการใช้ประโยชน์มากกว่าหน่วยงานกำกับดูแล เป็นต้น การมีข้อมูลข่าวสารที่ไม่เพียงพอนั้น ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากสินค้าที่ดีหรือราคาถูกกว่าอาจไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าตามกลไกตลาด การแข่งขันไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบการ  และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่ดีและมีประสิทธิภาพ กลไกตลาดจึงถูกบิดเบือนจากที่ควรจะเป็น ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายไม่สามารถตัดสินใจเลือกจัดซื้อหรือจัดหาสิ่งที่มีประโยชน์สูงสุดให้กับตนเองได้แล้ว การมีข้อมูลข่าวสารที่ไม่เพียงพอยังสร้างต้นทุนทางสังคมในหลายลักษณะตามมาอีกด้วย เช่น ก่อให้เกิดการขาดแคลนการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในระดับที่ควรจะเป็น การดำรงอยู่ของอำนาจตลาดอันเป็นผลมาจากการหลอกลวงผู้บริโภคเป็นหลัก และท้ายสุดคือการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพต่อสังคมโดยรวม
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นก็คือเมื่อใดก็ตามผู้ผลิตมีความพยายามที่จะสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภคอย่างจงใจ การใช้หนทางที่มีอยู่เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่ตนไม่สามารถเป็นไปได้ทางปฏิบัติ หรือมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หรือในกรณีผู้บริโภคขาดความพร้อมหรือความสามารถในการประเมินข้อมูลที่มีอยู่ ในกรณีต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐก็มีความจำเป็นที่จะต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซง โดยการออกกฎเกณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการจัดหา หรือเรียกร้องให้มีการแสดงข้อมูลที่ดีขึ้นทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมอาหารและยา ผู้บริโภคอาจได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อที่จะช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อที่ถูกต้องตามที่ต้องการหรือเหมาะสม รัฐบาลจึงบังคับให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอต่อผู้บริโภค อย่างในกรณีของกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารหรือยาจำเป็นต้องปิดสลากบอกรายละเอียดของส่วนประกอบหรือส่วนผสมที่ใช้ในการผลิต และผลที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพจากการใช้ยาดังกล่าว หรือในธุรกิจหลักทรัพย์ รัฐกำหนดห้ามการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่จริงหรือไม่สมบูรณ์ โดยมีเจตนาบิดเบือนหรือไม่สุจริต และการใช้ข้อมูลที่ตนเองมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อต้องการคุ้มครองนักลงทุนได้รับข้อมูลที่เพียงในการตัดสินใจและรักษาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมต่อนักลงทุนทุกฝ่าย รวมทั้งเป็นการรักษาความเชื่อมั่นของตลาดในภาพรวม  หรือในกิจการโทรคมนาคม ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่อาจไม่สามารถรับรู้ปริมาณการใช้งานของตนเอง คุณภาพของบริการ และยากที่จะคาดการณ์การเรียกเก็บเงินรายเดือน โดยเฉพาะกิจการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง องค์กรกำกับดูแลจึงเข้ามาส่งเสริมให้ผู้บริโภครับทราบและสามรถตรวจสอบเกี่ยวกับคุณภาพบริการหรือปริมาณการใช้งานของตนเอง รวมทั้งความถูกต้องของใบเรียกเก็บเงินได้

๑.๓ ผลกระทบภายนอก (Externalities)
ผลกระทบภายนอกในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึง กิจกรรมที่ส่งผลกระทบในทางบวกและลบต่อกิจกรรมอื่น โดยที่กิจกรรมอื่นที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้นไม่มีส่วนในรายจ่ายหรือรับค่าใช้จ่าย ผลกระทบจากภายนอกจะเกิดขึ้นเมื่อต้นทุนของเอกชนหรือผลประโยชน์ของเอกชนไม่เท่ากับต้นทุนสังคมหรือประโยชน์ของสังคม และความล้มเหลวของกลไกตลาดเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยหรือต้นทุนจากภายนอกเข้ามาแทรกแซง โดยส่วนใหญ่ปัจจัยหรือต้นทุนจากภายนอกเกิดจากสังคม ซึ่งไม่ได้คิดคำนวณรวมไว้ในต้นทุนของการบริโภคหรือการผลิต ปัญหาของต้นทุนจากภายนอกมักเกี่ยวข้องกับสินค้าสาธารณะ เช่น การปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศอากาศหรือแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น ซึ่งบ่อยครั้งมักเรียกว่า “spillover”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของผลกระทบจากภายนอกคือ ในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าอาจปลดปล่อยฝุ่นควัน และอากาศก็ถือเป็นสินค้าหรือสมบัติสาธารณะที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วม โดยทั่วไปต้นทุนนี้ไม่ได้รวมไว้ในต้นทุนการผลิตสินค้า หรือกรณีตัวอย่างเช่น บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์อาจกำหนดราคาของยางรถยนต์ไว้ต่ำเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าของตน โดยไม่รวมต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำอันสืบเนื่องมาจากกระบวนการผลิตยางรถยนต์ ราคาของยางรถยนต์จึงไม่ได้สะท้อนต้นทุนแท้จริงของการผลิตที่มีต่อสังคม หากไม่มีการกำหนดต้นทุนในการขจัดหรือรักษาสิ่งแวดล้อมให้บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น หากมิได้มีกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลที่เหมาะสม ผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทนี้มิได้รับผิดชอบภาระในเรื่องมลภาวะที่เกิดขึ้นกับสินค้าสาธารณะ นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติระบบตลาดก็ไม่ได้ให้แรงจูงใจในการลดมลพิษหรือรักษาสิ่งแวดล้อม ในทางเศรษฐศาสตร์อาจเรียกสถานการณ์ลักษณะนี้ว่า โศกนาฏกรรมของส่วนรวม (Tragedy of the Commons)

ดังนั้น จึงมีนักวิชาการเห็นว่า  หากขาดการกำกับดูแลที่เหมาะสมในเรื่องนี้ อันเนื่องมาจากระบบตลาดที่ขาดการควบคุมในปัญหาดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดการปลดปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น หากไม่มีการควบคุมโรงงานในการปลดปล่อยมลพิษ โรงงานก็จะนิ่งเฉยไม่ยอมลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีที่ช่วยลดมลพิษ เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันด้านราคา อันเนื่องมาจากต้นทุนของสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น การกำกับดูแลของรัฐในเรื่องนี้ที่เหมาะสมจึงอาจต้องใช้วิธีการทั้งการบังคับควบคุม และการใช้ระบบจูงใจ โดยเฉพาะในเรื่องอัตราค่าบริการหรือราคาสินค้าที่ในการผลิตมีส่วนก่อให้เกิดมลพิษหรือมลภาวะ เพราะอัตราราคาของสินค้าหรือบริการไม่ได้สะท้อนถึงต้นทุนแท้จริงที่เกิดขึ้นกับสังคมสำหรับการผลิตหรือให้บริการ ซึ่งอาจส่งผลให้มีการบริโภคเกินความจำเป็นเพราะราคาต่ำกว่าที่ควรจะเรียกเก็บจากผู้บริโภค หรือรัฐอาจดำเนินการจัดเก็บภาษีจากผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ

๑.๔ การแข่งขันที่ทำลายกันเอง (Destructive Competition)
แม้ว่าการแข่งขันจะเป็นสถาบันหลักที่สำคัญประการหนึ่งที่รัฐจะต้องประกันให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม เพราะจะนำมาสู่การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในบางครั้งการแข่งขันที่มากเกินไปในภาคอุตสาหกรรมหรือตลาดหนึ่ง ๆ นอกจากจะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังนำความสูญเสียอย่างมหาศาลมาสู่สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย ในทางเศรษฐศาสตร์ การแข่งขันที่ทำลายกันเองหมายถึง ตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีแนวโน้มส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องออกจากตลาดเพราะไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่ด้อยประสิทธิภาพในการแข่งขันหรือมีทุนทรัพย์ต่ำ ผลที่อาจเกิดขึ้นคือเกิดสภาพการแข่งขันที่ทำลายกันเอง ซึ่งก็จะทำลายความมีประสิทธิภาพของระบบตลาดด้วย เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการแข่งขันสูงและส่งผลให้มีความสามารถในการผลิตสินค้าหรือบริการมากเกินความต้องการของตลาด จึงเกิดมีการตัดราคาของสินค้าและค่าบริการ จนทำให้ผู้ประกอบการบางราย โดยเฉพาะรายย่อยที่มีทุนน้อยต้องออกจากการแข่งขันที่เข้มข้น ส่งผลให้กลไกของตลาดที่มีการแข่งขันโดยเสรีต้องสูญเสียดุลยภาพไป ซึ่งในที่สุดอาจจะกลายเป็นตลาดที่รวมตัวกันสูงมีแนวโน้มที่จะผูกขาดและขาดแรงจูงใจในการปรับปรุงเทคโนโลยีหรือลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งปรับปรุงบริการหรือสินค้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะไม่เป็นผลดีต่อระบบตลาดและผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 1930-1970 เกิดการแข่งขันที่ทำลายกันเองในอุตสาหกรรมขนส่ง เช่น กิจการรถไฟ สายการบินและการขนส่งสินค้าทางบกโดยรถบรรทุก อันเนื่องมาจากมีผู้ประกอบการขนส่งในตลาดจำนวนมากและการแข่งขันเกิดขึ้นสูงมาก จนผู้ประกอบการต้องใช้กลยุทธ์ลดอัตราค่าบริการจนบ่อยครั้งลดต่ำกว่าต้นทุนการขนส่งเพื่อให้สามารถดำรงอยู่รอดในตลาดได้ ผู้ประกอบการที่มีเงินทุนหรือสายป่านยาวกว่าก็สามารถยืนหยัดในตลาดได้ แต่ผู้ประกอบการรายเล็กก็ต้องค่อย ๆ ออกจากตลาดไป ในขณะเดียวกันผลกระทบที่เกิดจากากรลดราคาต่ำกว่าต้นทุนก็คือคุณภาพการให้บริการก็ลดลง ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการและผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน บ่อยครั้งเกิดข้อพิพาทระหว่างกัน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลใช้วิธีการควบคุมราคาขั้นต่ำและกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคหรือความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเรื่องการแข่งขันมากเกินไปได้รับการวิจารณ์อย่างมากจากนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมโดยเฉพาะสำนักชิคาโกที่เห็นว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่ใช่กรณีตลาดล้มเหลวที่รัฐต้องเข้าไปแทรกแซง กลไกตลาดจะทำงานเอง แม้จะต้องใช้ระยะเวลาบ้าง รัฐไม่ควรตีตนไปก่อนไข้ เพราะการเข้าไปแทรกแซงอาจส่งผลร้ายต่อตลาดกว่าการไม่แทรกแซงก็ได้

๑.๕ เหตุผลอื่น ๆ
นอกจากเหตุผลหลัก ๆ ที่อธิบายมาแล้วข้างต้น การเข้าไปแทรกแซงของรัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์อื่นอีก มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

๑.๕.๑ กำไรที่ไม่สมควรได้รับ (Windfall profits)
ผู้ประกอบการจะได้รับกำไรที่ไม่สมควรได้รับหรือบางครั้งเรียกว่าค่าเช่าทางเศรษฐกิจ หรือกำไรส่วนเกินที่ไม่สมควรได้รับ หากสามารถพบแหล่งปัจจัยการผลิตที่ถูกกว่าค่อนข้างมากหากเปรียบเทียบกับปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ในตลาด เช่น การค้นพบวิธีการผลิตใหม่ที่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมาก หรือการขุดพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นต้น ซึ่งในบางกรณีรัฐจำเป็นต้องเข้าไปกำกับดูแลเพื่อให้เกิดการจัดสรรความมั่งคั่งกระจายไปยังผู้เสียภาษีหรือผู้บริโภคให้ได้รับประโยชน์จากกำไรหรือความมั่งคั่งดังกล่าวอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้ การกำกับดูแลจะสมเหตุสมผลมากหากกำไรที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเกิดโดยอุบัติเหตุหรือมิได้เกิดจากความสามารถของผู้ประกอบการนั้น แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการมีการวางแผนการลงทุนหรือดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงเนื่องจากจะไปบั่นทอนแรงจูงในการลงทุนหรือวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้สินค้าใหม่  และเท่ากับเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดโดยไม่มีเหตุผลสมควร

๑.๕.๒ อันตรายทางจรรยาบรรณ (moral hazard)
อันตรายทางจรรยาบรรณ คือ สถานการณ์ที่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ซื้อหรือผู้แบกรับต้นทุนได้ใช้บริการหรือบริโภคสินค้าหรือบริการแทนผู้ซื้อหรือผู้แบกรับต้นทุน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้บุคคลที่ใช้บริการหรือบริโภคสินค้าไม่ตระหนักหรือคำนึงถึงข้อจำกัดทางทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่เพื่อที่จะใช้สำหรับการบริโภคสินค้าดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ใช้บริการหรือบริโภคสินค้าโดยมีผู้อื่นชำระเงินให้จะใช้ประโยชน์จากบริการนั้น โดยมิได้คำนึงถึงต้นทุนที่ต้องจ่ายไป ผลในทางเศรษฐศาสตร์คือทำให้มีการใช้ทรัพยากรไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่สอดคล้องกับหลักการจัดสรรทรัพยากรในทางเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น รัฐจึงต้องเข้ากำกับดูแลในสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ อันตรายทางจรรยาบรรณคล้ายกับกรณีของสินค้าสาธารณะ เพราะบุคคลอื่นเป็นผู้จ่ายแทนผู้บริโภคที่สมควรต้องจ่ายเพื่อการใช้สินค้าหรือบริการนั้น ผลที่อาจเกิดขึ้นก็คืออาจมีการใช้สินค้าหรือบริการเกินความจำเป็นเพราะผู้ใช้บริการไม่ต้องรับผิดชอบหรือคำนึงถึงต้นทุนของสินค้าหรือบริการเหล่านั้น  ซึ่งที่จริงแล้วต้นทุนเหล่านี้อาจตกเป็นภาระแก่สังคมโดยรวม ตัวอย่างเช่น ในกิจการประกันวินาศภัยหรือประกันสังคมที่มีบุคคลที่ต้องการเอาเปรียบจากผลโยชน์ที่จะได้รับจากการประกันภัย หรือการให้ความช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคมหรือบริการรักษาพยาบาลฟรี เป็นต้น

๑.๕.๔ อำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน (unequal bargaining power)
ความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจต่อรองเกิดจากข้อสมมุติฐานที่ว่าการจัดสรรทรัพยากรที่ดีหรือมีประสิทธิภาพที่สุดจะบรรลุได้โดยผ่านกลไกตลาด  ซึ่งวางอยู่บนข้อสมมุติฐานที่ว่าคู่กรณีแต่ละฝ่ายมีอำนาจการต่อรองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งก็ปล่อยให้เป็นไปตามหลักเสรีภาพในการเจรจาสัญญา แต่ในบางกรณีที่อำนาจเจรจาต่อรองไม่เท่าเทียมกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎเกณฑ์เข้ามาถ่วงดุลเพื่อชดเชยความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าว ซึ่งพัฒนาการในเรื่องนี้ในอดีตเกิดจากผู้พิพากษาที่ใช้หลักความยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ แต่ต่อมาหลักการนี้ก็ได้พัฒนากลายเป็นหลักในประมวลกฎหมายหรืออยู่ในกฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง เหตุผลที่รัฐจะเข้าไปกำกับดูแลก็ดูจะเหมาะสมเพื่อปกป้องผลประโยชน์บางประการ เช่น ในกฎหมายแรงงานที่ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างเพื่อปกป้องมิให้ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรืออย่างในกรณีที่มีการเจรจาเพิ่มค่าจ้าง รวมทั้งมาตรฐานการทำงานและความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งนี้เพราะกฎหมายเล็งเห็นว่าส่วนใหญ่ลูกจ้างมักจะไม่มีอำนาจต่อรองในการเจรจาสิ่งเหล่านี้ รัฐจึงต้องเข้าไปปกป้องคุ้มครอง ในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักการเรื่องสัญญามาตรฐาน ซึ่งเป็นรูปแบบสัญญาที่ไม่อนุญาตให้มีการเจรจาต่อรอง หากจะทำสัญญาก็ต้องยอมรับเงื่อนไขตามสัญญา แต่หากไม่ยอมรับเงื่อนไขในสัญญาก็ไม่สามารถขอเจรจาแก้ไขเงื่อนไขสัญญาได้ โดยเฉพาะในกรณีที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือในทางปฏิบัตินั้นผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภครายย่อยมักจะเสียเปรียบและไม่อยู่ในสถานะที่จะเจรจาต่อรองได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงเข้ามากำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค จึงกำหนดไม่ให้ฝ่ายบริษัทผู้ให้บริการแก้ไขเงื่อนไขสัญญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตก่อนจากหน่วยงานที่กำกับดูแล อย่างเช่น ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 51 ให้อำนาจ กสทช. กำหนดสัญญามาตรฐานสำหรับการให้บริการโทรคมนาคมได้ หรือมาตรา 27 ให้อำนาจ กสทช. ตรวจสอบสัญญาการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม นอกจากนี้แล้ว นโยบายในหลายประเทศนั้น แม้รัฐมีอำนาจแทรกแซงการควบคุมการผูกขาดของผู้ซื้อ (Monopsony) เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองผู้ขายหรือผู้ผลิตตามกฎหมายป้องกันการผูกขาด แต่รัฐมักมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้มีการยกเว้นจากกฎหมายป้องกันการผูกขาด โดยอนุญาตให้ผู้ขายที่จะสามารถรวมตัวกันในการต่อรองกับผู้ซื้อได้ และเหตุผลนี้เองที่เป็นรากฐานในการอนุญาตให้มีการรวมตัวกันได้ของการรวมกลุ่มของหมู่บ้านชาวประมง สหภาพแรงงาน และสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

๑.๕.๕ ความขาดแคลน (Scarcity)
ในทางเศรษฐศาสตร์ ความขาดแคลนคือความไม่เพียงพอของทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการ กล่าวอีกนัยหนึ่งอุปทานที่จำกัดของสินค้าหรือบริการมีน้อยกว่าอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยทั่วไปสินค้าหรือบริการที่ขาดแคลนเพราะความมีอยู่อย่างจำกัดของทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยการผลิต ดังนั้น จึงมีความพยายามประกันให้มีการใช้ประโยชน์หรือจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ความขาดแคลนจึงจัดการได้ด้วยการเลือกวิธีการที่ให้มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าดังกล่าวเพราะแต่ละคนสามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรในระบบการค้า ซึ่ง ระบบกลไกราคาจะปรับตัวเองโดยจะรักษาสมดุลย์ของอุปสงค์และอุปทาน

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติเป็นการยากที่จะนำกลไกราคาหรือกลไกตลาดมีปรับใช้ในการจัดสรรและใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในบางสถานการณ์ รัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแลแทน เพื่อให้สามารถบรรลุผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น คลื่นความถี่วิทยุมีจำนวนจำกัดในการกระจายให้ใช้ประโยชน์ในกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ ดังนั้น รัฐจึงต้องเข้ามาดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และออกให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์หรือวิทยุ แต่ในบางครั้งการจัดสรรโดยผ่านการกำกับดูแลนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากความล้มเหลวของอุปทานอย่างทันทีทันใด ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความยากลำบากแก่ผู้ที่ไม่สามารถจะแบกรับราคาที่สูงขึ้นของสินค้าดังกล่าวได้ เช่น กรณีสินค้าบางประเภทขาดแคลนในบางช่วงเวลาหรือบางสถานการณ์ แต่ก็ต้องพึ่งระลึกว่าการแทรกแซงของรัฐต้องดำเนินการให้ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นก็อาจส่งผลร้ายต่อตลาด อย่างเช่นในกรณีน้ำมันปาล์มที่พึ่งเกิดขึ้น

๑.๕.๖ การปกป้อง (Paternalism)
แนวความคิดเรื่องการปกป้องมีรากฐานมาจากทัศนคติและนโยบายแบบระดับชั้นของระบบครอบครัว ซึ่งมักอนุญาตให้บุพการีตัดสินใจแทนบุตรได้ แม้ว่าจะขัดแย้งกับเจตจำนงของบุตรก็ตาม เพราะเชื่อว่าบุพการียอมหวังดีกับบุตรของตนเอง และการดำเนินการของบุพการีก็เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบุตรตนเอง ซึ่งอิงตามแนวคิดแบบพ่อปกครองลูกหรือ  patriarchy ที่พัฒนาจากแนวคิดกรีกโบราณต่อไปยังสมัยกษัตริย์ปกครอง โดยถือว่ากษัตริย์เปรียบเสมือนพ่อและประชาชนก็เสมือนลูกที่ต้องเชื่อฟังพ่อ และแนวคิดนี้ก็ยังได้รับการฝังรากลึกว่ารัฐบาลที่สืบทอดอำนาจทางปกครองมาจากระบอบกษัตริย์ก็มีอำนาจเหล่านี้อยู่  แนวคิดของการปกป้องนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของความไม่เชื่อใจในความมีเหตุผลของผู้บริโภคจะไปกันได้กับแนวคิดของกลไกตลาดเสรีที่วางอยู่บนพื้นฐานของการมีอิสระที่จะตัดสินใจของปัจเจกชนต่าง ๆ ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่  แต่แนวคิดเรื่องปกป้องก็ยังมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของรัฐมากในบางเรื่องบางประการ โดยเฉพาะในกรณีที่คู่สัญญามีอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือเพื่อปกป้องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้อื่นที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี ดังนั้น รูปแบบของกฎเกณฑ์จึงออกมาในเชิงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ประสงค์จะปกป้องและคุ้มครองประชาชนในภาพรวม

การอธิบายแนวคิดนี้ในทางเศรษฐศาสตร์คือในบางกรณีในบางครั้งผู้ที่ทำการตัดสินใจจะมีข้อมูลข่าวสารครบถ้วนสมบูรณ์ที่จะสามารถใช้ในการตัดสินใจได้ แต่แม้กระนั้นก็ดีบุคคลดังกล่าวก็ยังอาจตัดสินใจผิดพลาดได้ ซึ่งจากปัจจัยนี้เองทำให้รัฐจำเป็นจะต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซง การให้เหตุผลของการปกป้องได้แก่รัฐรู้ดีกว่าบุคคลต่าง ๆ ว่าบุคคลดังกล่าวต้องการอะไรและอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุคคลผู้นั้น ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจความสามารถของผู้ซื้ออาจวางอยู่บนความไม่สามารถของวิญญูชนที่จะประเมินข้อมูลดังกล่าวเหมือนดังเช่นในกรณีการใช้บริการวิชาชีพต่าง ๆ หรือกรณีที่แม้ว่าวิญญูชนสามารถรับทราบหรือประเมินข้อมูลได้อย่างชัดแจ้ง โดยแต่บุคคลที่ไม่มีเหตุผลมักจะมีแนวโน้มที่จะไม่ดำเนินการดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายได้ เช่น การกำหนดกฎจราจรไม่ให้ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การกำหนดช่วงเวลาแสดงรายการในโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน การกำหนดให้ติดตั้งระบบเข็มขัดนิรภัยหรือถุงลมนิรภัยในรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือการห้ามจำหน่ายสุราแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น

๒ วัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่ทางเศรษฐศาสตร์ (Non-Economic Goals)
โดยทั่วไประเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจมุ่งเน้นเรื่องความมีประสิทธิภาพ และประเด็นในเรื่องตลาด อุปสงค์ อุปทาน และราคา ทั้งนี้ ระเบียบกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจสามารถวิเคราะห์ได้ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค แต่ขณะที่ระเบียบกฎเกณฑ์กำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบนี้มุ่งเน้นประเด็นทางด้านสังคมและเกี่ยวกับนโยบายการจัดสรรทรัพยากร และสามารถถูกวิเคราะห์โดยเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ แต่ที่จริงแล้วโดยส่วนใหญ่ระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมมีวัตถุประสงค์ทั้งทางเศรษฐศาสตร์และไม่ใช่ทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือบางครั้งระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำกับดูแลทางสังคมถูกนำมาใช้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องกลไกตลาดล้มเหลว

ในบางอุตสาหกรรมหรือบางสถานการณ์  รัฐจะเข้าแทรกแซงอุตสาหกรรมด้วยมีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่ทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือรัฐพยายามมิให้ระบบตลาดในอุตสาหกรรมนั้นขัดแย้งกับคุณค่าในสังคมหรือทางเลือกของสังคม กล่าวคือหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น รัฐต้องทำหน้าที่ประสานความขัดแย้งของระบบตลาดและมูลค่าของสังคม และมุมมองทางด้านที่ไม่ใช่ทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาทางจริยธรรมในระบบตลาดได้มีผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ในสังคม ระบบตลาดอิงอยู่บนมูลค่าของสินค้าหรือวัตถุ ขาดการคำนึงถึงมูลค่าทางสังคม เช่น บริการทางการแพทย์หรือน้ำประปาถือว่าเป็นสินค้าทางศีลธรรม (Moral goods) หรือบริการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐานที่รัฐจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถบริโภคหรือใช้บริการดังกล่าว เป็นต้น

ดังนั้น ระบบตลาดมีข้อบกพร่องในแง่ของคุณค่าทางสังคม (Social value) ดังนี้
(1) ในการตัดสินใจว่าในการผลิตและการจัดสรรสินค้า ตลาดไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างความต้องการ (Demand) หลักการ (Principle) และความจำเป็น (Need) ในระบบตลาด
(2) สมาชิกในการแลกเปลี่ยนในระบบตลาดไม่มีพันธะทางกฎหมายใดๆ ในกรณีก่อนมีการแลกเปลี่ยนหรือ ซื้อขายสินค้า โดยที่ไม่มีสัญญาระหว่างกัน (Pre-contractual Obligation)
(3) โดยทั่วไปในทางปฏิบัติ อำนาจในตลาดของผู้ประกอบการคืออำนาจในทางการเงินและความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งอาจเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะทำลายดุลภาพของตลาดในบางสถานการณ์
(4) ระบบตลาดขาดกลไกที่ดีที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นและไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้วยระบบตลาดได้ ผู้ประกอบการนั้นมีเพียงหนทางเดียวคือการออกจากระบบตลาด

ระบบตลาดอาจจะส่งเสริมให้เกิดมูลค่าทางสินค้าเพิ่มขึ้น แต่ระบบกลไกในสังคมอาจถูกทำลายหรือลดคุณค่าที่สำคัญทางสังคมลง ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นสังคมที่เน้นแต่วัตถุ หากขาดการการใส่ใจทางมูลค่าสังคมในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมบางประเภทที่มีผลกระทบหรืออิทธิพลต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ตัวอย่างของการกำกับดูแลทางสังคม เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุหรือโทรทัศน์ การอนุญาตผลิตหรือจำหน่ายยารักษาโรค  การกระจายบริการสาธารณสุขและการศึกษา การสร้างระบบประกันสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าในปัจจุบัน การกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐได้ถูกสร้างและพัฒนามากขึ้นในเรื่องการคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อม รัฐก็ได้ประดิษฐ์วิธีการกำกับดูแลแบบใหม่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้มาตรการจูงใจ ภาษีอากร หรือการอุดหนุน เป็นต้น

รัฐอาจสร้างกฎเกณฑ์หรือมาตรการการกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นโยบายทางสังคมหรือการเมือง ตัวอย่างเช่น
การกำหนดนโยบายกระจายความมั่งคั่งไปสู่ชนบทหรือผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เช่น บริการทางการแพทย์ บริการโทรคมนาคมขั้นพื้นฐาน บริการไฟฟ้า  โดยการวางกฎเกณฑ์บังคับผู้ประกอบการต้องให้บริการอย่างเท่าเทียมกับชนบทที่ห่างไกล หากได้รับสัมปทานจากรัฐ หรือเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
การกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าหรือการให้บริการ เช่น การควบคุมคุณภาพความปลอดภัยของอาหารและยารักษาโรค
การกำกับดูแลเนื้อหารายการของกิจการโทรทัศน์และกิจการวิทยุกระจายเสียง โดยเฉพาะการคุ้มครองเด็กและเยาวชน
การใช้มาตรการสนับสนุนทางการเงินในกิจการที่เกี่ยวกับสินค้าสาธารณะ เช่น การศึกษา บริการสาธารณสุข หรือ การประกันสังคม เป็นต้น
การจัดสรรน้ำมันหรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินอย่างภัยพิบัติจากธรรมชาติ
การควบคุมและกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจากการที่สินค้านั้นมีราคาสูง
การห้ามจำหน่ายอวัยวะหรือยาเสพติด แม้ว่าโดยหลักกฎหมายทั่วไปทุกคนจะมีเสรีภาพในการทำสัญญาก็ตาม
การกำกับดูแลการวิจัยและพัฒนา หรือการทำสัญญาที่ขัดต่อศีลธรรมและจารีตประเพณีของสังคม
การจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในกิจการพลังงานหรือสินค้าที่การผลิตก่อใหเกิดมลภาวะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น