วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สิทธิตามสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา

สิทธิตามสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา
ขอบเขตของสิทธิตามสิทธิบัตร (Scope of Right to Exclude)
สิทธิของเจ้าของสิทธิบัตรต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกฎหมายก็กำหนดสิทธิของเจ้าของสิทธิบัตรในลักษณะสิทธิในการกีดกัน (Right to exclude) โดยห้ามบุคคลอื่นในการทำ ผลิต ขาย เสนอขายหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตร กล่าวอีกนัยหนึ่งเจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้ประโยชน์จากการประดิษฐ์ สิทธิตามสิทธิบัตรจึงเป็นสิทธิในเชิงปฎิเสธ (Negative right)
ขอบเขตของสิทธิตามสิทธิบัตรนั้นต้องพิจารณาจากข้อถือสิทธิ กล่าวคือก่อนที่จะพิจารณาว่าผู้ใดละเมิดสิทธิหรือไม่ ในเบื้องต้นก็ต้องพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นมีขอบเขตแห่งสิทธิกว้างมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องพิจารณาจากข้อถือสิทธิ ถ้าขอบเขตแห่งสิทธิของการประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรครอบคลุมการประดิษฐ์ที่ถูกกล่าวหาแล้ว ก็จะถือว่าการกระทำนั้นเป็นการละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตร ดังนั้น การตีความขอบเขตของข้อถือสิทธิจึงมีความสำคัญมากเพราะถือเป็นหัวใจหลักของสิทธิบัตร
ในสหรัฐฯ เอกสารที่จะนำมาใช้ในการตีความขอบเขตแห่งสิทธินั้นคือ ข้อถือสิทธิ รายละเอียดการประดิษฐ์ เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำขอรับสิทธิบัตรในแฟ้มของสำนักงานสิทธิบัตร (Prosecution history) เช่น การแก้ไขข้อถือสิทธิหรือรายละเอียดการประดิษฐ์และข้อถือสิทธิ หรือหลักฐานตอบโต้ระหว่างนายทะเบียนสิทธิบัตรกับผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร เป็นต้น นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่อาจรวมถึงความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญด้วย
กฎหมายสหรัฐฯ ระบุไว้ชัดเจนว่าสิทธิบัตรมีคุณสมบัติของทรัพย์สินเอกชน (private property) จึงอนุญาตให้มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือโอนสิทธิตามสิทธิบัตรได้ ซึ่งการโอนสิทธิตามสิทธิบัตรจะต้องกระทำเป็นหนังสือ การโอนสิทธิตามสิทธิบัตรควรจะบันทึกไว้ต่อสำนักงานสิทธิบัตร ทั้งนี้ กฎหมายสิทธิบัตรอนุญาตให้คำขอรับสิทธิบัตรที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ (pending patent) ก็จะสามารถขายหรือโอนได้
เจ้าของสิทธิบัตรสามารถโอนสิทธิทั้งหมดหรือบางส่วนของความเป็นเจ้าของสิทธิบัตรได้สามรูปแบบ คือ รูปแบบแรกเจ้าของสิทธิบัตรโอนผลประโยชน์หรือสิทธิทั้งหมดให้แก่บุคคลอื่น รูปแบบที่สองเจ้าของสิทธิบัตรแบ่งผลประโยชน์ทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลอื่น และรูปแบบที่สามเจ้าของสิทธิบัตรโอนผลประโยชน์ทั้งหมดภายในระยะเวลาหรือภายในขอบเขตพื้นที่ที่กำหนด  ทั้งนี้ การโอนสิทธิตามสิทธิบัตรจะไม่สามารถบังคับใช้ได้กับบุคคลที่ซื้อผลิตภัณฑ์ต่อมาหรือผู้รับจำนองโดยมีค่าตอบแทนหากบุคคลนั้นไม่ทราบหรือรู้การโอนสิทธิเช่นว่านั้นก่อนเว้นแต่การโอนสิทธิจะได้มีการบันทึกภายในสามเดือนนับตั้งแต่วันที่มีการซื้อหรือรับจำนอง

ระยะเวลาการให้ความคุ้มครอง
ก่อนปี ค.ศ. 1995 สิทธิบัตรการประดิษฐ์มีอายุความคุ้มครอง 17 ปีนับแต่วันที่รับจดทะเบียนสิทธิบัตร แต่ในบางกรณีอาจได้รับการขยายอายุออกไปได้ในกรณีอยู่ภายใต้การพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแล เช่น องค์การอาหารและยา (Food and Drug Agency)  หลังจากปี ค.ศ. 1995 เมื่อสหรัฐฯได้เจ้าเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) อายุความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ขยายเป็น 20 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร แต่สิทธิเริ่มนับตั้งแต่วันที่รับจดทะเบียนสิทธิบัตร สำหรับหลักเกณฑ์การขยายระยะเวลาก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่ขยายได้สูงสุดไม่เกินห้าปี
สำหรับสิทธิบัตรที่ได้รับการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1995 และสิทธิบัตรที่ที่ได้รับการจดทะเบียนหลังจากคำขอรับสิทธิบัตรยื่นก่อนวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1995 จะมีอายุความคุ้มครองอัตโนมัติ 20 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหรือ 17 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิบัตร โดยขึ้นอยู่กับทางเลือกไหนยาวนานกว่า
อนึ่ง ระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรได้มีการแก้ไขหลายครั้ง กฎหมายคุ้มครองการประดิษฐ์คนชาติอเมริกา (American Inventors Protection Act)  กำหนดว่าระยะเวลาสำหรับกระบวนการพิจารณาในการออกหรือรับจดสิทธิบัตรในแต่ละขั้นตอนไว้ กล่าวคือ กำหนดระยะเวลาว่าภายใน 14 เดือนสำนักงานสิทธิบัตรจะต้องมีคำสั่งครั้งแรกต่อผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรและต้องออกคำสั่งตอบชี้แจงภายใน 4 เดือนหลังจากนั้น และในขั้นตอนการรับจดทะเบียนจะต้องมีคำสั่งภายใน 4 เดือนนับตั้งแต่วันชำระค่าจดทะเบียนสิทธิบัตรโดยสรุปสำนักงานสิทธิบัตรต้องดำเนินกระบวนการออกสิทธิบัตรให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นจริง เว้นแต่ความล่าช้าดังกล่าวเกิดจากการยื่นคำขอแบบต่อเนื่องหรือมีการอุทธรณ์โดยผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ตามกฎหมายกำหนดว่าหากสำนักงานสิทธิบัตรไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าของสิทธิบัตรจะมีสิทธิขยายระยะเวลาการให้ความคุ้มครองได้เท่าที่เกิดความล่าช้า  นอกจากนี้ เจ้าของสิทธิบัตรอาจขอขยายระยะเวลาได้หากมีความล่าช้าอันเนื่องมาจากมีการคัดค้านหรืออุทธรณ์เกิดขึ้น (Declaration of the Interference) ไม่ว่าในชั้นของคณะกรรมการอุทธรณ์และการคัดค้านของสำนักงานสิทธิบัตรหรือในชั้นศาลสหพันธรัฐ
สำหรับกรณีของสิทธิบัตรยามีบทบัญญัติเฉพาะในเรื่องการขยายระยะเวลาการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยา กล่าวคือการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรยานั้นไม่ได้ให้สิทธิแก่เจ้าของสิทธิบัตรในการทำการตลาดหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาได้ทันที เนื่องจากการทำการตลาดหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ก่อนเพื่อตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ยามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจริง ในทางปฏิบัติระบบอนุญาตของสำนักงานอาหารและยาค่อนข้างจะล่าช้า บ่อยครั้งสิทธิบัตรยามีระยะเวลาทำการตลาดไม่กี่ปีก็จะหมดอายุการให้ความคุ้มครองแล้ว ผลจึงทำให้บริษัทยาได้ร้องขอให้รัฐสภาสหรัฐฯออกกฎหมายขยายระยะเวลาเป็นการเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมยา ในปี ค.ศ. 1984 รัฐสภาสหรัฐฯก็ได้ผ่านกฎหมาย Drug Price Competition and Patent Term Restoration Act of 1984 (P.L. 98-417) หรือนิยมเรียกว่า Hatch-Waxman Act ที่ขยายระยะเวลาของสิทธิบัตรยาที่เกิดจากความล่าช้าในการอนุญาตของสำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ โดยอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรได้เท่ากับระยะเวลาที่ที่ล่าช้าจากการอนุมัติให้ทำตลาดได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็จำกัดระยะเวลาสูงสุดที่ขยายได้ไม่เกิด 5 ปีและระยะเวลาที่เหลือของสิทธิบัตรยาอันเนื่องจากการตรวจสอบคำขอยาใหม่ (NDA) ต้องไม่เกิน 14 ปี ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าของสิทธิบัตรในการขอขยายระยะเวลาที่สูญเสียไปและเจ้าของสิทธิบัตรยังคงมีหน้าที่ในการชำระค่าธรรมเนียมอายุสิทธิบัตรอยู่เหมือนเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น