วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นโยบายส่งเสริมการใช้ประโยชน์สิทธิบัตรและนวัตกรรมของสหรัฐอเมริกา

นโยบายส่งเสริมการใช้ประโยชน์สิทธิบัตรและนวัตกรรมของสหรัฐอเมริกา

นโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากหน่วยงานรัฐไปยังภาคเอกชนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เพราถือว่าเป็นนโยบายของประเทศเสมอมา เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1862 ในสมัยประธานาธิบดี Abraham Lincoln ได้ลงนามผ่านกฎหมาย Morrill Act  ซึ่งจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นเพื่อส่งเสิมการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน โดยรัฐบาลโอนที่ดินและอุดหนุนระบบการศึกษาดังกล่าว
โดยทั่วไป การลงทุนวิจัยและพัฒนาในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในห้องทดลองของรัฐบาลกลาง ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามให้มีการนำผลงานวิจัยและพัฒนาเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมารัฐสภาสหรัฐอเมริกา (US Congress) ได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้นมาจำนวนหนึ่ง (Technology Transfer Legislations) เพื่อเป็นรากฐานของการกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเข้มแข็งของขีดความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีรายละเอียดของกฎหมายที่สำคัญ ดังนี้

ก. Bayh-Dole Act of 1980
ในอดีตก่อนปี ค.ศ.1980 รัฐบาลกลางเป็นเจ้าของสิทธิบัตรประมาณ 30,000 ฉบับแต่มีเพียง 5% ของจำนวนสิทธิบัตรทั้งหมดที่สามารถนำไปพัฒนาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ หลายสิทธิบัตรไม่มีการใช้ประโยชน์เพราะรัฐบาลไม่มีทรัพยากรในการพัฒนาต่อยอดหรือทำการตลาด ดังนั้น รัฐสภาตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงพยายามสร้างกลไกทางกฎหมายขึ้นใหม่ โดยการออกกฎหมาย Bahy-Dole Act ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือถ่ายทอดเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมกระบวนการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของการวิจัยของมหาวิทยาลัยและช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่
กฎหมาย Bayh-Dole Act มีวัตถุประสงค์หลักคือต้องการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการให้ทุนวิจัยของเงินงบประมาณภาครัฐ โดยการพยายามเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย ธุรกิจขนาดเล็ก และภาคอุตสาหกรรม  กฎหมายนี้ได้แก้ไขปรับปรุงทั้งกฎหมายสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ มีดังนี้
(1) ให้สิทธิแก่สถาบันวิจัยที่ไม่แสวงหากำไรและธุรกิจขนาดเล็กในการเลือกที่จะถือครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากเงินงบประมาณของรัฐ เว้นแต่มีสถานการณ์พิเศษที่สถานบันวิจัยพิจารณาว่าตนเองเป็นเจ้าสิทธิจะดีกว่าหรือเป็นประโยชน์มากกว่า
(2) กำหนดให้ผู้ทำวิจัยที่เลือกจะเป็นเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวต้องผูกพันตนเองในการพยายามใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา
(3) สถาบันวิจัยของรัฐยังใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาแบบไม่จำกัดเพียงรายเดียว ไม่สามารถโอนสิทธิได้ ไม่สามารถยกเลิกได้ และชำระค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิก่อน (nonexclusive, nontransferable, irrevocable, paid-up license)
(4)  สถาบันวิจัยมีสิทธิที่อนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวได้ (march-in right)
(5) กำหนดให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประดิษฐ์ที่เกิดจากผลงานวิจัยของภาครัฐได้รับความคุ้มครองจากการต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมาย Freedom of Information Act จนกระทั่งได้มีการยื่นขอรับความคุ้มครอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ก่อนกฎหมาย Bahy-Dole มีผลใช้บังคับ มหาวิทยาลัยได้รับสิทธิน้อยกว่า 250 ฉบับต่อปี ในปี ค.ศ. 2000 มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยภาครัฐในสหรัฐและแคนาดามากกว่า 330 สถาบันได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยช่วยสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรมช่วยให้ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเข้าสู่ตลาดหรือใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับเงินได้จากการอนุญาตให้ใช้สิทธิมากกว่า 200 ล้านเหรียญในปี ค.ศ. 1991 จึงกล่าวได้ว่ากฎหมาย Bayh-Dole ได้สร้างนโยบายสิทธิบัตรที่เป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานรัฐบาลกลาง โดยการสร้างแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานรัฐบาลกลางสามารถเป็นเจ้าของสิทธิบัตรได้ กล่าวคือมหาวิทยาลัยอาจยื่นขอรับสิทธิบัตรได้และต้องมีการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รายได้จากค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิจะแบ่งกันระหว่างผู้ประดิษฐ์ มหาวิทยาลัย และคณะที่ประดิษฐ์ผลงานดังกล่าว โดยรายได้ที่เหลือจะถูกใช้ในการสนับสนุนกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี กฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จดังเป้าหมายที่วางไว้ และในปัจจุบันมีหลายประเทศได้รับรูปแบบและแนวคิดของกฎหมายฉบับนี้ไปปรับใช้ในประเทศของตนเอง เช่น ประเทศญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

ข. Stevenson-Wydler Technology Innovation Act of 1980
กฎหมาย Stevenson-Wydler Technology Innovation Act ได้วางรากฐานสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในหน่วยงานของรัฐบาลกลาง โดยกฎหมายนี้ได้ตระหนักความจำเป็นของการเผยแพร่ข้อมูลของรัฐบาลกลางไปยังภาคเอกชน และยังกำหนดให้ห้องทดลองของรัฐบาลกลางต้องให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นไปด้วยความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กฎหมายนี้ได้จัดตั้งสำนักงานวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Offices of Research and Technology Applications: ORTA)  ขึ้นเพื่อควบคุมกิจการถ่ายทอดเทคโนโลยีของหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลกลาง กล่าวคือพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ORTA (โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร) จะต้องระบุและประเมินเทคโนโลยีและผลงานวิจัยที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังภาครัฐ ภาคเอกชน หรือมหาวิทยาลัยต่อไป ซึ่งหน้าที่หลักของ ORTA คือ
การประเมินโครงการวิจัยที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
การเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และเทคโนโลยีที่พัฒนาหรือรัฐบาลกลางเป็นเจ้าของที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ให้แก่รัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นและภาคอุตสาหกรรม
การช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ the National Technical Information Service (NTIS), the Federal Laboratory Consortium (FLC), the National Technology Transfer Center (NTTC) และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแหล่งวิจัยและพัฒนาของหน่วยงานรัฐบาลกลางแก่รัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นและภาคอุตสาหกรรม
การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางรัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น
การเข้าร่วมโครงการของรัฐบาลกลาง รัฐบาลมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นการถ่ายทอดเทคโนโลยี
การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติดังกล่าวทำให้หน่วยงานรัฐบาลกลางมีความง่ายและสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นเข้ามาใช้ห้องทดลองของรัฐบาลกลางได้ นอกจากนี้ การจัดตั้ง ORTA กฎหมาย Stevenson-Wydler Act ยังได้จัดตั้งโครงการ National Medal of Technology เพื่อมอบเงินรางวัลแก่บุคคลหรือบริษัทที่มีส่วนในการส่งเสริมหรือสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ดีเด่น
โดยสรุปกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้สถาบันวิจัยของรัฐต้องมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) การกระตือรือร้นในการร่วมวิจัยกับหน่วยงานของภาครัฐ มหาวิทยาลัย และองค์กรไม่แสวงหากำไร และรวมทั้งภาคอุตสาหกรรม (2) การเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัย (3) การจัดตั้งศูนย์เพื่อใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยที่ National Technical Information Service (4) การจัดให้มีสำนักงานถ่ายทอดเทคโนโลยีตามสถาบันวิจัยต่าง ๆ และ (5) การกำหนดให้สถาบันวิจัยต้องจัดสรรเงิน 0.5% ของเงินงบประมาณสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ค. Small Business Innovation Development Act of 1982
หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของบริษัทขนาดเล็กและสร้างโอกาสให้แก่บริษัทขนาดเล็กในการแข่งขัน  โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางมีหน้าที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณพิเศษ สำหรับการให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมการทำวิจัยของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะประสบความสำเร็จเพราะต่อมาได้มีโครงการต่อเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้คือ โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Technology Transfer Program: STTR)  ที่สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐ โดยการอุดหนุนเงินทุนทำวิจัยสำหรับโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างธุรกิจขนาดเล็กกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยของรัฐ
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยของรัฐสามารถขอรับการอุดหนุนทางการเงินจากหน่วยงานรัฐได้ หากเป็นการทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐไปยังภาคเอกชน โครงการนี้ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จเนื่องจากยังคงได้รับการสนับสนุนเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน
อนึ่ง โครงการวิจัยนวัตกรรมสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (SBIR) ที่เกิดจากกฎหมายพัฒนานวัตกรรมของธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Innovation Development Act) โดยเป็นโครงการความร่วมมือกับสำนักงานธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Administration) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานโดยกันส่วนไว้สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งโครงการ SBIR มีสามระยะดังนี้ โดยในระยะแรกจำนวนเงินอุดหนุนที่ให้แก่บริษัทที่สามารถแสดงว่ามีความเป็นไปได้ โดยเงินอุดหนุนน้อยกว่า 100,000 เหรียญต่อโครงการ หากโครงการในระยะแรกประสบความสำเร็จก็อาจเข้าสู่โครงการในระยะสองต่อไปได้โดยยื่นข้อเสนอใหม่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีจากโครงการในระยะแรกไปยังจุดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยเงินอุดหนุนประมาณ 750,000 เหรียญ ส่วนในระยะที่สามนั้นเป็นการนำผลของระยะที่สองไปทำการผลิตในเชิงการค้าจริง โดยจะให้การอุดหนุนโดยตรงแก่ผู้ขอรับการสนับสนุนและคู่สัญญาที่ลงทุน

ง. Trademark Clarification Act of 1984
กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม Bayh-Dole Act โดยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอนุญาตให้ใช้สิทธิและถ่ายทอดเทคโนโลยี อาทิ (1) คู่สัญญามีสิทธิได้รับค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิ (2) สถาบันวิจัยมีอำนาจในการตัดสินใจในการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (3) บริษัทเอกชนอาจขอรับอนุญาตใช้สิทธิแบบเด็ดขาด (exclusive licensing) (4) การกำหนดให้งานวิจัยที่ได้รับทุนตกเป็นของผู้ทำวิจัย และ (5) รัฐบาลมีสิทธิในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาแบบการอนุญาตให้ใช้สิทธิไม่เด็ดขาด และไม่สามารถเพิกถอนได้
กล่าวได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายฉบับนี้คือ การจัดระเบียบการถ่ายทอดเทคโนโลยีของงานวิจัยที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐไปยังภาคเอกชนให้เป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรัฐบาลสร้างกลไกกระตุ้นให้มีการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (supply side) และในขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจให้มีการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง (demand side)


จ. Federal Technology Transfer Act of 1986
กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายอีกฉบับที่แก้ไขกฎหมาย Stevenson-Wydler Act โดยเฉพาะในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ
(1) กำหนดหน้าที่ของห้องทดลองของหน่วยงานรัฐบาลกลาง รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต้องมีหน้าที่ให้การก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีในความรับผิดชอบของตน โดยถือว่าเป็นเกณฑ์หนึ่งที่ใช้ในการวัดประเมินผลการทำงาน
(2) นักประดิษฐ์ของสถาบันวิจัยของรัฐ (GOGO) ต้องได้รับค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ผลงานประดิษฐ์ของตนเองอย่างน้อย 15% จากค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ
(3) กฎหมายยังอนุญาตให้พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐเข้ามีส่วนร่วมในการนำการประดิษฐ์ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
(4) การจัดตั้งความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของรัฐเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกำหนดกรอบนโยบายที่เกี่ยวข้องด้วย
(5) กำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลกลางต้องให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจของสหรัฐอเมริกาในการถ่ายทอดเทคโนโลยี
(6) จัดตั้ง Federal Laboratory Consortium (FLC) ในฐานะเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมถึงการฝึกอบรม การให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือทางเทคนิคสำหรับโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือทางเทคนิคด้วย ตัวอย่างเช่น
(๑) การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค คือ หากตัวแทนของบริษัท มหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานรัฐบาลอื่นร้องขอความช่วยเหลือทางเทคนิคต่อห้องทดลองของรัฐบาลกลาง รัฐบาลกลางก็จะจัดหานักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมไปให้ความช่วยเหลือ โดยจะมีการทำสัญญาระหว่างหน่วยงาน
(๒) การอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Patent licenses) วิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอีกวิธีคือกฎหมายส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐบาลกลางที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรต้องอนุญาตให้ภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยใช้สิทธิสัญญาร่วมวิจัยและพัฒนา (Cooperative Research and Development Agreements - CRADAs) วิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในรูปแบบของสัญญา CRADAs นี้เป็นการส่งเสริมให้มีการร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน โดยหน่วยงานของรัฐบาลกลางอาจจะสนับสนุนด้านบุคลากร อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก และหน่วยงานคู่สัญญาอาจลงทุนด้วยเงินหรือบุคลากรหรืออุปกรณ์ก็ได้ความร่วมมือด้านการศึกษา (Educational partnerships) เป็นวิธีการที่จัดให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานการศึกษาท้องถิ่น โดยมีสัญญาความร่วมมือที่ห้องทดลองของรัฐบาลกลางจะอนุญาตให้ยืมอุปกรณ์และบุคลากรไปช่วยสอนหรือช่วยเหลือในลักษณะของที่ปรึกษาในด้านการพัฒนาโครงการวิจัย การฝึกอบรม หรือการเรียนการสอนได้ นอกจากนี้ นักศึกษาก็อาจได้รับเครดิตการเรียนจากการทำงานในโครงการวิจัยในโครงการดังกล่าว
(๓) สัญญาความร่วมมือ (Cooperative agreements) เป็นสัญญาที่ห้องทดลองของรัฐบาลกลางจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัย อุตสาหกรรม หน่วยงานไม่แสวงหากำไรหรือหน่วยงานท้องถิ่น โดยหน่วยงานรัฐบาลกลางจะสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินกับคู่สัญญาเพื่อสนับสนุนการวิจัย แต่สัญญาดังกล่าวจะพิจารณาโดยการเปิดให้ประมูลหรือแข่งขันกัน
(๔) การให้ทุน (Grants) เป็นสัญญาให้ทุนระหว่างหน่วยงานรัฐบาลกลางกับสถาบันการศึกษา สถาบันไม่แสวงหากำไรหรือหน่วยงานรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัย โดยมีกระบวนการให้ทุนซึ่งเปิดกว้างและมีการแข่งขันระหว่างผู้ขอทุนด้วยกันเอง

ฉ. Executive Order 12591 of 1987 on Facilitating Access to Science and Technology
คำสั่งประธานาธิบดีฉบับนี้ กำหนดว่าสถานวิจัยที่เป็นของรัฐและรัฐเป็นผู้ดำเนินการ (GOGO) สามารถทำสัญญาร่วมวิจัยและพัฒนากับสถานวิจัยของรัฐอื่น รวมทั้งมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนได้ สถาบันวิจัยจะประเมินคู่สัญญาว่ามีศักยภาพและโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีการจัดตั้ง โครงการร่วมเทคโนโลยี (Technology Share Program) และศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานกับมหาวิทยาลัย (Basic Science and Technology Centers) ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของประกาศนี้คือเพื่อประกันว่าหน่วยงานรัฐบาลกลางและห้องทดลองของรัฐบาลกลางต้องให้ความช่วยเหลือแก่มหาวิทยาลัยและภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กในการขยายฐานเทคโนโลยีโดยการถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ จากห้องทดลองของรัฐบาลกลางไปสู่การพัฒนาสินค้าหรือกระบวนการผลิตใหม่ ๆ
ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐบาลกลางมีหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนี้
(๑) โอนอำนาจไปยังห้องทดลองที่รัฐบาลเป็นเจ้าของและบริหารงานเอง (government-owned, government-operated Federal laboratories)
(๒) ทำสัญญาร่วมวิจัยกับห้องทดลองของหน่วยงานรัฐอื่นหรือของมหาวิทยาลัยหรือภาคเอกชน
(๓) อนุญาตให้ใช้สิทธิ โอนสิทธิ หรือสละสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่พัฒนาโดยห้องทดลองภายใต้สัญญาร่วมวิจัย
(๔) ระบุหรือส่งเสริมให้บุคคลที่เป็นตัวแทนของห้องทดลองหน่วยงานรัฐกับมหาวิทยาลัยหรือเอกชนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่พัฒนาจากการร่วมวิจัย
(๕) การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือผลงานวิจัยที่พัฒนาโดยห้องทดลองของรัฐบาลกลางแก่มหาวิทยาลัยหรือภาคเอกชน
(๖) ส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีจากห้องทดลองหรือการร่วมวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และอนุญาตให้ผู้ร่วมวิจัยนำไปขอจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ และ
(๗) สร้างกลไกแรงจูงใจเพื่อตอบแทนแก่ผู้ประดิษฐ์อย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้แล้ว ประกาศนี้ยังได้กำหนดให้มีโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันไม่ว่าจะเป็นโครงการแบ่งปันเทคโนโลยี (Technology sharing program) เพื่อให้หน่วยงานทั้งหลายมาร่วมกันกำหนดทิศทางการวิจัยร่วมกันและแบ่งปันข้อมูลกัน รวมทั้งการส่งเสริมมีโครงการร่วมมือกันสามฝ่ายระหว่างหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัยและกลุ่มอุตสาหกรรม หรือกรณีโครงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี (Technology exchange) ที่ยอมให้หน่วยงานของรัฐแลกเปลี่ยนหรือยืมตัวบุคลากรระหว่างกันได้ หรือโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ (International science and technology) ที่อนุญาตหน่วยงานรัฐบาลสามารถทำสัญญาเข้าร่วมวิจัยและพัฒนากับหน่วยงานวิจัยหรือองค์กรอุตสาหกรรมของต่างประเทศได้ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน

ช. National Competitiveness Technology Transfer Act
กฎหมายฉบับนี้แก้ไขกฎหมาย Stevenson-Wydler Technology Innovation Act โดยกำหนดหน้าที่ของห้องทดลองที่รัฐบาลกลางเป็นเจ้าของ แต่อนุญาตให้เอกชนดำเนินการ (government-owned, contractor-operated laboratories - GOCO) ต้องดำเนินนโยบายถ่ายทอดเทคโนโลยีของรัฐบาลกลาง และยังได้วางกรอบนโยบายเรื่องสัญญาร่วมวิจัยและพัฒนา (Cooperative Research and Development Agreements: CRADAs) ซึ่งสัญญาร่วมวิจัยและพัฒนานี้เป็นสัญญาระหว่างบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐบาลที่ทำงานวิจัยร่วมกัน โดยรัฐบาลหวังว่าสัญญาร่วมวิจัยนี้เป็นแรงจูงใจในการเร่งการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยการสนับสนุนรัฐบาลกลางไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตามโครงการตามสัญญา CRADA นี้ไม่ได้ปิดกั้นหน่วยงานอื่นที่มิใช่ภาครัฐในการเข้าร่วมวิจัยด้วย เช่นอาจสนับสนุนด้านเงินทุนวิจัย บุคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการวิจัยและพัฒนา ในขณะที่หน่วยงานรัฐบาลกลางอาจสนับสนุนทรัพยากรในทำนองเดียวกัน (นอกจากเงินสนับสนุนวิจัย) โดยตรงแก่หน่วยงานนั้น CRADA ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ดังนี้
ส่งเสริมผู้ร่วมวิจัยในการขยายเงินทุนและทรัพยากรวิจัยและพัฒนา
กำหนดวิธีการในการแบ่งปันความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ความคิด และข้อมูล โดยรัฐบาลกลางจะให้ความคุ้มครองข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ
อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลกลางทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานร่วมวิจัยและอนุญาตให้หน่วยงานร่วมวิจัยสามารถเข้าถึงความเชี่ยวชาญของหลายสาขาวิทยาการของหน่วยงานรัฐบาลกลางได้
อนุญาตให้หน่วยงานร่วมวิจัยตกลงจัดสรรเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการร่วมวิจัยหรือตกลงให้หน่วยงานร่วมวิจัยสามารถรับอนุญาตใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผลงานวิจัยได้
อนุญาตให้หน่วยงานรัฐบาลกลางให้ความคุ้มครองข้อมูลที่เกิดจาก CRADA เป็นความลับเป็นระยะเวลาห้าปี

ซ. National Technology Transfer and Advancement Act
กฎหมาย National Technology Transfer and Advancement Act (NTTAA) มีผลใช้บังคับในปี ค.ศ. 1995 กฎหมายฉบับนี้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับและกำหนดทิศทางใหม่แก่หน่วยงานรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ (๑) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น (๒) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างธุรกิจและหน่วยราชการรัฐบาลกลางโดยการให้เข้าถึงและใช้ห้องทดลองของรัฐบาลกลางได้ และส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถขอรับอนุญาตใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาแบบเด็ดขาดได้ (exclusive license) สำหรับทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากความร่วมวิจัยของหน่วยงานรัฐบาลกลาง กล่าวได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนามาตรฐานทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่โดยการกำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลกลางใช้มาตรฐานที่พัฒนาโดยภาคเอกชน โดยเฉพาะมาตรฐานที่พัฒนาโดยองค์กรพัฒนามาตรฐาน

ญ. Cooperative Research and Technology Enhancement (CREATE) Act
กฎหมายนี้ผ่านเป็นกฎหมายในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2004 วัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้คือการส่งเสริมความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาระหว่างมหาวิทยาลัย อุตสาหกรรม และรัฐบาล กฎหมายนี้ได้ระบุประเด็นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของสิทธิบัตรภายใต้ความร่วมมือการวิจัยและพัฒนา กฎหมายนี้ได้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรมาตรา 103 โดยอนุญาตให้สามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่เกิดจากการร่วมวิจัยที่มีหลายฝ่ายเข้าร่วม การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการตอบสนองคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์กลางในคดี OddzOn Products, Inc. v. Just Toys, Inc.  ซึ่งวางหลักว่าการขาดสัญญาโอนของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งก่อนเริ่มต้นวิจัย การแบ่งปันข้อมูลระหว่างทีมวิจัยอาจส่งผลให้ไม่สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในการประดิษฐ์นั้นได้ เพราะอาจถือว่าไม่ผ่านหลักความชัดแจ้ง (Nonobviousness) ตามกฎหมาย คำพิพากษาดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าอาจเป็นส่งผลเป็นอุปสรรคหรือชะลอความร่วมมือวิจัยระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนและขัดต่อนโยบายของรัฐสภาที่ต้องการส่งเสริมการร่วมวิจัย
นอกจากกฎหมายต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีกฎหมายย่อย ๆ อีกหลายฉบับ ตัวอย่างเช่น
กฎหมาย Japanese Technical Literature Act of 1986  ซึ่งกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์เก็บรวบรวม แปล และแจกจ่ายเอกสารและวรรณกรรมด้านวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น เพื่อเผยแพร่ความรู้ของญี่ปุ่นต่อสาธารณะ ทั้งนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มท้าทายสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น คอมพิวเตอร์ วงจรรวม ใยแก้วนำแสง และหุ่นยนต์ เป็นต้น และส่วนหนึ่งของความสำเร็จของญี่ปุ่นคือ รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายระดับประเทศในการเก็บรวบรวม แปล และใช้ข้อมูลเทคโนโลยีของต่างประเทศ โครงการดังกล่าวนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รับความร่วมมือจาก National Bureau of Standards, International Trade Administration, National Technical Information Service, และ Patent and Trademark Office
กฎหมาย National Cooperative Research Act of 1984  ซึ่งกระตุ้นให้มีการร่วมวิจัยและพัฒนาระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกันเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดยการยกเว้นจากความผิดตามกฎหมายป้องกันการผูกขาด โดยเฉพาะความรับผิดในความเสียหายเชิงลงโทษสำหรับบริษัทสหรัฐฯที่จะแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรด้านวิจัยและพัฒนาระหว่างกัน ซึ่งผลของกฎหมายนี้ก่อให้เกิดโครงการความร่วมมือวิจัยที่สำคัญขึ้น เช่น Semiconductor Research Corporation (SRC) และ Microelectronics and Computer Technology Corporation (MCC)
กฎหมาย Technology Transfer Commercialization Act of 2000 ซึ่งมุ่งส่งเสริมกระบวนการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีของการประดิษฐ์ของรัฐบาลกลาง พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในทางดานเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันระหว่างประเทศ
กฎหมาย Omnibus Trade and Competitiveness Act  ซึ่งกำหนดบทบาทของ National Bureau of Standards ในฐานะเป็น National Institute of Standards and Technology (NIST) และกำหนดให้มีหน้าที่จัดตั้งโครงการ Advanced Technology Program เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของสถาบันด้วย และจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตระดับภูมิภาค (Regional Manufacturing Technology Transfer Centers) รวมทั้งจัดตั้ง Clearinghouse ของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องนวัตกรรมของหน่วยงานระดับมลรัฐและท้องถิ่น นอกจากนี้ กฎหมายนี้ยังขยายข้อกำหนดการจ่ายค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิแก่ลูกจ้างที่มิใช่เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐของสถาบันวิจัยรัฐบาลกลาง เพื่อจูงใจแก่นักวิจัยที่ใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐ
กฎหมาย American Technology Preeminence Act 1991  ซึ่งขยายขอบเขตความร่วมมือของห้องทดลองรัฐบาลกลางและกำหนดว่าทรัพย์สินทางปัญญาอาจเป็นส่วนของร่วมทุนได้ รวมทั้งการอนุญาตให้หน่วยงานรัฐบาลกลางสามารถยกอุปกรณ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่เหลือแก่สถาบันการศึกษาได้
โดยสรุป ในหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้มีการพยายามผลักดันกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และจากทิศทางของกฎหมายต่าง ๆ ข้างต้น แสดงให้เห็นว่ารัฐสภาสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้จ่ายในการลงทุนทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น (2) การให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่มีขนาดเล็ก (3) การส่งเสริมกิจกรรมร่วมวิจัยและพัฒนาระหว่างบริษัท (4) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัย (5) การสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างสถาบันวิจัยภาครัฐและมหาลัยไปยังภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรม และ (6) การให้สิ่งจูงใจสำหรับการพัฒนาการประดิษฐ์ใหม่ที่มีคุณภาพ ซึ่งความพยายามเหล่านี้มุ่งที่จะขจัดปัญหาหรืออุปสรรคต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีของภาคเอกชนและให้สิ่งจูงใจเพื่อส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น