วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ระบบการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา



ระบบสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาเป็นระบบผู้ใดประดิษฐ์ก่อนมีสิทธิดีกว่า (First to invent) ซึ่งแตกต่างจากระบบสิทธิบัตรของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ใช้ระบบผู้ใดยื่นคำขอรับสิทธิบัตรก่อนมีสิทธิดีกว่า (First to file)  ทั้งนี้ เพราะสหรัฐฯ มองว่าระบบผู้ใดประดิษฐ์ก่อนมีสิทธิก่อนนั้นเป็นธรรมต่อผู้ประดิษฐ์คิดค้นและรัฐธรรมนูญเองก็กำหนดไว้ในทำนองต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประดิษฐ์ แต่ในทางปฏิบัติแล้วระบบผู้ใดประดิษฐ์ก่อนมีสิทธิดีกว่านั้นยากที่จะพิจารณาตัดสินใครประดิษฐ์ได้ก่อนกัน ในขณะที่ระบบผู้ใดยื่นคำขอรับสิทธิบัตรก่อนมีสิทธิดีกว่านั้นง่ายแก่การพิสูจน์สิทธิ เพราะอิงหลักว่าการยื่นก่อนเป็นสิทธิที่กฎหมายสันนิษฐานให้สิทธิในการได้รับสิทธิบัตร (prima facie right) เพื่อจะจูงใจให้ยื่นก่อนหรือเปิดเผยการประดิษฐ์ก่อน ด้วยลักษณะเฉพาะของระบบสิทธิบัตรของสหรัฐฯนี้เองทำให้มีความแตกต่างจากระบบสิทธิบัตรอื่นในหลาย ๆ ประเด็น เช่น ข้อห้ามตามกฎหมายในเรื่องความใหม่ (statutory bar) หลักการประกาศโฆษณา (publication) สิทธิการอ้างวันยื่นย้อนหลัง (priority date) การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราว (provisional application) ค่าธรรมเนียมต่ออายุสิทธิบัตร (maintenance fee) และหลักการบังคับอนุญาตให้ใช้สิทธิ (compulsory license) เป็นต้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือพระราชบัญญัติสิทธิบัตรปี ค.ศ. 1952  (35 U.S. Code) ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทหลักที่กำหนดสาระสำคัญของกระบวนการรับจดทะเบียนสิทธิบัตร (Patent Prosecution) เงื่อนไขการขอรับสิทธิบัตร (Patentability) สิทธิและหน้าที่ของเจ้าของสิทธิบัตร (Right and duty of patentee) และการจัดตั้งสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (the United States Patent and Trademark Office: USPTO) เพื่อเป็นหน่วยงานควบคุมและกำกับดูแลในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า
ภายใต้ระบบสิทธิบัตรของสหรัฐฯ ได้แบ่งสิทธิบัตรเป็นสามประเภทคือ
- สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Utility Patent) ซึ่งให้ความคุ้มครองออกให้แก่ผู้ที่ประดิษฐ์ หรือค้นพบ กรรมวิธี (process) เครื่องจักร (machine) ผลิตภัณฑ์ (article of manufacture) หรือ การประกอบกันของสิ่งต่างๆ (compositions of matter) ซึ่งใหม่ และเป็นประโยชน์ (useful) หรือ ใหม่และเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงสิ่งต่างๆดังกล่าว โดยให้ความคุ้มครองเป็นระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่วันยื่นขอรับสิทธิบัตร
- สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent) ซึ่งให้ความคุ้มครองการออกแบบสำหรับสิ่งของของการผลิตที่มีความใหม่ สร้างสรรค์ และมีการตบแต่งเพื่อสวยงาม สิทธิบัตรการออกแบบมีหลักเกณฑ์คล้ายกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่ที่สำคัญสิทธิบัตรการออกแบบสิทธิบัตรจะต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทำงานเป็นหลัก (not primarily functional) อายุความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์คือ 17 ปีนับตั้งแต่วันยื่นขอรับสิทธิบัตร ตามข้อมูลของสำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐฯ มีการยื่นขอรับสิทธิบัตรการออกแบบจำนวนประมาณร้อยละสิบของจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรทั้งหมด ทั้งนี้เพราะสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์มีความทับซ้อนกับการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งมีต้นทุนในการให้ความคุ้มครองที่ถูกกว่าและได้รับความคุ้มครองอัตโนมัติ จึงได้รับความนิยมน้อยเว้นแต่ในผลิตภัณฑ์บางประเภทที่ต้องการได้รับความคุ้มครองที่เข้มแข็งกว่าระบบลิขสิทธิ์ จึงมาขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
- สิทธิบัตรพืช (Plant Patent) ซึ่งให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่ไม่ใช้เพศในการขยายพันธ์ (asexually reproduced)  เช่น การใช้หน่อ ตา ราก ใบ หรือส่วนประกอบอื่นของพืชนอกจากเมล็ดในการขยายพันธุ์ ทั้งนี้ เงื่อนไขการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรพืชคือจะต้องมีความใหม่ (New) และมีลักษณะบ่งเฉพาะ (Distinct)  กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นี้เป็นระยะเวลา 14 ปีนับตั้งแต่วันยื่นขอรับสิทธิบัตร  สิทธิบัตรพืชจะให้ความคุ้มครองพืชทั้งหมด ดังนั้น คำขอรับสิทธิบัตรจะมีเพียงข้อถือสิทธิข้อเดียว คำขอรับสิทธิบัตรพืชมีรูปแบบคล้ายกับคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เพียงแต่ต้องยื่นภาพวาดหรือภาพถ่ายเกี่ยวกับพืชที่จะขอรับความคุ้มครองประกอบด้วย ซึ่งอาจเป็นภาพสีก็ได้ นอกจากสิทธิบัตรพืชแล้ว สหรัฐฯ ยังมีระบบคุ้มครองพันธุ์พืชที่แยกจากระบบสิทธิบัตรภายใต้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช (Plant Variety Protection Act)  ซึ่งให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชที่ใช้เพศในการขยายพันธุ์ โดยมีสำนักงานคุ้มครองพันธุ์พืช (Plant Variety Protection Office) ของกระทรวงเกษตรกรรมเป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ ระยะเวลาการให้ความคุ้มครองคือ 18 ปี
เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายสหรัฐอเมริกา ต้องยื่นคำขอต่อสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (USPTO) ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบเพื่อพิจารณาว่าการประดิษฐ์นั้นควรจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรหรือไม่ โดยจะมีขั้นตอนและเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น