วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ลักษณะเฉพาะของทรัพย์สินทางปัญญา

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นแนวความคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์และกฎหมายที่ต้องการสร้างกลไกจูงใจให้ผู้ประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์เปิดเผยความรู้ต่อสาธารณะ โดยให้ความ          คุ้มครองแก่ผู้ประดิษฐ์และผู้สร้างสรรค์ในรูปแบบของโดยมีสิทธิผูกขาดทางกฎหมาย เพื่อเป็น              สิ่งแลกเปลี่ยน ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายมารองรับสิทธิดังกล่าวให้เหมือนกับทรัพย์สินประเภทอื่นทั่วไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญามีลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างที่แตกต่างจากทรัพย์สินทั่วไปที่มีรูปร่างจับต้องได้  จึงจำเป็นมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองในรูปแบบเฉพาะ (Sui Generic Law)

ลักษณะเฉพาะของทรัพย์สินทางปัญญา มีดังนี้
ทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง
โดยทั่วไป ทรัพย์สินทุกคนรู้จักคุ้นเคยกัน คือ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างหรือจับต้องได้ (Tangible Property) แต่ทรัพย์สินทางปัญญาถือว่า เป็นทรัพย์สินที่   ไม่มีรูปร่างหรือไม่สามารถจับต้องได้ (Intangible Property) ซึ่งโดยลักษณะแล้วยากที่ผู้ใดจะครอบครองไว้ได้ แม้จะแฝงตัวอยู่ในทรัพย์สินที่จับต้องได้ แต่ด้วยระบบกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาจึงสามารถถือครองหรือครอบครองได้ นอกจากนี้ การให้ความคุ้มครองและใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาจำเป็นต้องมีกลไกและระบบที่แตกต่างจากระบบทรัพย์สินทั่วไปในบางกรณี ดังนั้น จึงมีกฎหมายเฉพาะรองรับหรือให้ความคุ้มครองแตกต่างจากทรัพย์สินในความหมายทั่วไป

ข้อมูลหรือสารสนเทศ
ลักษณะพิเศษที่สำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาประการหนึ่ง คือ ทรัพย์สินทางปัญญาถือว่าเป็นข้อมูลหรือสารสนเทศ ซึ่งมีลักษณะเป็นสินค้ากึ่งสาธารณะ (Quasi Public Goods) ที่ไม่สามารถ     กีดกันบุคคลอื่นในการใช้ประโยชน์ได้ โดยส่วนใหญ่ทรัพย์สินทางปัญญามักจะมิใช่สินค้าโดยตัวเอง     แต่ทรัพย์สินทางปัญญามักจะเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าหรือบริการ จึงมักจะแฝงตัวอยู่ในสินค้าหรือบริการนั้น ดังนั้น ระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองข้อมูลหรือสารสนเทศที่มีค่าเหล่านี้ เพื่อให้เจ้าของข้อมูลหรือสารสนเทศสามารถใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้   คล้ายกับระบบทรัพย์สินทั่วไป เพราะจากลักษณะของทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นข้อมูลสารสนเทศ      เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองได้ลำบาก โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือการประดิษฐ์ที่ลอกเลียนได้ง่าย ซึ่งหากไม่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา บุคคลอื่นก็สามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย

สิทธิผูกขาดทางกฎหมาย
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นกลไกทางกฎหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ปรากฏแก่สังคม การให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญาให้เท่าเทียมกับทรัพย์สินอื่นทั่วไป เป็นการให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญานั้น อย่างไรก็ตาม   สิทธิผูกขาดนั้นก็เป็นสิทธิที่จำกัดเงื่อนเวลาและมีเงื่อนไขที่จำกัดการใช้สิทธิผูกขาดโดยมิชอบ              เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีสิทธิอยู่อย่างจำกัด โดยสิทธิผูกขาดที่ได้รับมักเป็นกลุ่มของ            สิทธิในการใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น สิทธิในการใช้ สิทธิในการผลิต สิทธิในการทำซ้ำ สิทธิในการจำหน่ายจ่ายแจก หรือสิทธินำเข้า เป็นต้น ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว สิทธิที่ได้รับเหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเท่านั้น คือ มีสิทธิใช้บังคับได้ภายในประเทศเท่านั้น แต่สิทธิดังกล่าวอาจได้รับการขยายความคุ้มครองในประเทศอื่นด้วย หากมีพันธกรณีระหว่างประเทศให้ความคุ้มครอง ซึ่งพันธกรณีระหว่างประเทศอาจเกิดขึ้นในสองลักษณะ คือ ความตกลงแบบทวิภาคี (Bilateral Agreement) หรือความตกลงแบบพหุภาคี (Multilateral Agreement)

การใช้ประโยชน์พร้อมกันหลายคนในเวลาเดียวกัน
แม้ว่าทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ทรัพย์สินทางปัญญาก็สามารถ    นำไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนกับทรัพย์สินประเภทอื่น เพียงแต่กลไกและวิธีการใช้ประโยชน์อาจ        แตกต่างกัน เนื่องจากลักษณะเฉพาะของทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นเพียงข้อมูลหรือสารสนเทศ ซึ่ง           การใช้ทรัพย์สินทางปัญญาโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ไม่ได้ทำให้บุคคลที่เหลือไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญานั้นได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถใช้ได้โดยหลายบุคคลในขณะเดียวกัน ดังนั้น ทรัพย์สินทางปัญญาจึงสามารถช่วยก่อให้เกิดรายได้และอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งบ่อยครั้งอาจทำรายได้มากกว่าสินค้าที่มีรูปร่าง เช่น คอมพิวเตอร์โปรแกรมหรือดนตรี เป็นต้น หากเจ้าของรู้จักใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่น ในบางกรณีการขยายกิจการ เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ไม่จำเป็นต้อง    ลงทุนเอง แต่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การขยายกิจการก็อาจดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทรัพย์สินทางปัญญายังถือว่าเป็นกลุ่มของสิทธิ ซึ่งในบางกรณีสามารถอนุญาตให้ใช้สิทธิหนึ่งสิทธิใดที่แตกต่างกันได้โดยมิได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิอื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น