วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เครื่องมือที่ใช้ในการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ


ดังจะเห็นได้จากในเบื้องต้นแล้วว่าการเข้าแทรกแซงของรัฐนั้นจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากเหตุผลประการใดบ้าง ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการกำหนดเครื่องมือและเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ตรงเป้าตรงประเด็นและได้ประโยชน์คุ้มค่ากับต้นทุนในการดำเนินงาน ในทางวิชาการจึงได้กำหนดรูปแบบของเครื่องมือที่มีไว้เพื่อใช้ในการกำกับดูแลดังกล่าว เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ โดยทั่วไป เครื่องมือหลักที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมีดังนี้

๑ การควบคุมราคา (Price Controls)
การควบคุมราคาเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมกำกับดูแลที่นิยมใช้กันมาก การควบคุมราคาถูกนำมาใช้มากในการควบคุมกำกับดูแลตลาดที่การผูกขาดโดยธรรมชาติ กล่าวคือ การควบคุมราคาจะใช้เพื่อควบคุมการมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดของผู้ประกอบการที่ผูกขาด เพราะผู้ประกอบการประเภทนี้สามารถกำหนดราคาให้สูงเกินกว่าราคาตลาดที่มีการแข่งขันได้ตามอำเภอใจ การควบคุมกำกับดูแลนี้อยู่บนพื้นฐานแนวความคิดความมีประสิทธิภาพในการจัดสรรและเพื่อรักษาดุลยภาพของระบบตลาด โดยทั่วไปการควบคุมราคาสินค้าหรือบริการจะใช้กับกิจการสาธารณูปโภค  ในทางทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์วิธีการควบคุมราคายังถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือเพื่อบรรลุนโยบายบางประการของรัฐบาล ในบางครั้งการควบคุมราคาถูกนำมาใช้ในตลาดที่มีการแข่งขันอยู่แล้วด้วย โดยอาจใช้เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ การจัดสรรความมั่งคั่งใหม่ หรือการป้องกันมิให้มีการฉวยโอกาสในกรณีมีการขาดแคลน อย่างเช่น การกำหนดราคาให้แตกต่างในระหว่างกลุ่มผู้บริโภค โดยกำหนดผู้บริโภคบางกลุ่มต้องจ่ายแพงกว่า เพื่อนำไปสนับสนุนผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่ง

อนึ่ง การควบคุมราคาเป็นมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้โดยออกเป็นกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ เพื่อให้ราคาในการตกลงซื้อขายสินค้าหรือบริการประเภทหนึ่งประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยทั่วไป การควบคุมกำหนดราคาของสินค้าหรือบริการมีหลายรูปแบบ เช่น การควบคุมราคาขั้นสูง การควบคุมราคาขั้นต่ำ การควบคุมราคาที่แตกต่างหลายระดับ หรือการควบคุมราคาตามต้นทุนของสินค้าหรือบริการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลเรื่องราคาก็อาจไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาในบางสถานการณ์ เช่น การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นบางประเภท ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องจากการขาดข้อมูลข่าวสาร ผู้บริโภคเกิดความนิยมในช่วงสั้น ๆ หรือราคาสินค้าถูกบิดเบือนโดยบุคคลภายนอก จึงอาจมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการอื่น ๆ มาประกอบ

ตัวอย่างเช่น ในกิจการโทรคมนาคม องค์กรกำกับดูแลมักจะมีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยกวับอัตราค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถกีดกันคู่แข่งขนที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดโดยการปฏิเสธหรือล่าช้าในการเชื่อมต่อโครงข่าย หรือการเรียกเก็บค่าเชื่อมต่อราคาสูงแก่คู่แข่งขัน หรือให้การเชื่อมต่อคุณภาพต่ำ หลักเกณฑ์ดังกล่าวอาจครอบคลุมถึงรวมถึงการกำหนดอัตราค่าตอบแทน วิธีการคิดต้นทุนและโมเดลต้นทุน การประกาศอัตราค่าบริการ แนวปฏิบัติการให้ข้อมูลโครงข่าย และข้อเสนอการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายมาตรฐาน เป็นต้น หรือในบางประเทศ องค์กรกำกับดูแลอาจมีอำนาจกำกับดูแลผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดให้ขายบริการในราคาขายส่งแก่คู่แข่งขันเพื่อขายต่อบริการแก่ลูกค้าได้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวต้องการจัดการปัญหาเรื่องผลกระทบของโครงข่าย การกำกับดูแลสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น และปัญหาการอุดหนุนไขว้และการตัดราคาเพื่อทำลายคู่แข่งขัน เป็นต้น หรือในตลาดโทรคมนาคมที่มีการผูกขาดหรือกึ่งผูกขาดไม่มีการแข่งขันที่เพียงพอ องค์กรกำกับดูแลอาจกำกับดูแลอัตราค่าบริการในรูปแบบการควบคุมผลตอบแทนการลงทุน (Rate of Return Regulation) หรือควบบุมเพดานราคา (Price Cap Regulation) เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและประโยชน์สาธารณะ

๒ การควบคุมการเข้าสู่ตลาดและการออกจากตลาด ( Entry and Exit Controls)
การกำกับดูแลอาจอยู่ในรูปของการจำกัดการเข้าสู่ตลาดหรือออกจากตลาดของผู้ประกอบการในกิจการบางประเภท โดยการกำหนดเงื่อนไขของการเข้าสู่หรือออกจากตลาดของผู้ประกอบการหรือคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้าสู่ตลาดในกฎหมาย หรือให้อำนาจผู้กำกับดูแลเป็นผู้มีอำนาจตัดสินว่าเมื่อไรและอย่างไรสามารถเข้าสู่ตลาดหรือหยุดให้บริการได้ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลการบริการวิชาชีพที่สำคัญต่าง ๆ คือต้องการให้ความคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถรู้ว่าคนไหนมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะให้บริการในเรื่องเฉพาะเหล่านั้นได้ และบริการเหล่านี้มีความสำคัญต้องอาศัยความรู้ความสามารถเฉพาะทาง อย่างเช่น การบริการทางวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทนายความหรือสถาปนิก เป็นต้น นอกจากนี้ อาจมีการจำกัดการเข้าสู่กิจการบางประเภท โดยเฉพาะกิจการสาธารณูปโภค เช่น กิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า กิจการประปา กิจการขนส่ง หรือกิจการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแลกิจการประเภทนี้ คือต้องการจัดสรรการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือปกป้องรักษาระบบการกำกับดูแลการผูกขาดโดยธรรมชาติที่สมดุลและมีประสิทธิภาพแล้ว

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในบางกิจการอาจมีการใช้การจำกัดการเข้าสู่ตลาดควบคู่ไปกับการกำหนดควบคุมอัตราราคาขั้นต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดการแข่งขันที่ทำลายกันเองหรือการแข่งขันที่มากเกินไป ทั้งนี้เพราะหากไม่มีการจำกัดการเข้าสู่ตลาด การควบคุมเฉพาะการกำหนดอัตราราคาขั้นต่ำ อาจนำไปสู่การลงทุนที่มากเกินไปในตลาดนั้นและมีการแข่งขันสูงหากเป็นกิจการที่มีแรงจูงใจสูงในการลงทุน ซึ่งต่อมาการลงทุนที่มากเกินไปอาจนำไปสู่การลดลงของกำไรของบริษัท จนอาจกลายเป็นตลาดที่มีการทำลายกันเอง เห็นได้ชัดในกิจการขนส่งทั้งทางบกและทางอากาศ โดยมีการจำกัดจำนวนผู้ที่เข้ามาประกอบการในธุรกิจประเภทนี้และกำหนดอัตราค่าโดยสารหรือค่าขนส่งขั้นต่ำไว้ด้วย เพื่อให้บริษัทที่เข้ามาประกอบการสามารถดำเนินการอยู่ได้ โดยไม่มีการตัดราคากัน จนทำให้บางบริษัทต้องออกจากการแข่งขันจากธุรกิจประเภทนี้ไป

การกำกับดูแลการออกจากตลาดนั้นได้บังคับห้ามบริษัทหยุดกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนจากหน่วยงานของรัฐที่ดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐอาจจะอนุญาตให้บริษัทหยุดให้บริการได้ หากการหยุดกิจการนั้นไม่มีผลกระทบกระเทือนกับความจำเป็นของสังคม เหตุผลและเงื่อนไขที่สำคัญที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการหยุดให้บริการของผูกประกอบการ มีดังนี้
(1) เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ผู้ประกอบการที่ผูกขาดหรือเกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณูปโภคไม่ควรจะอนุญาตให้หยุดการให้บริการหรือผลิตสินค้าเพียงเพราะเหตุผลว่าการดำเนินกิจการขาดทุนหรือไม่มีกำไร
(2) ในบางกรณี หากมีการหยุดให้บริการอาจก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงทางสังคม เช่น การหยุดให้บริการทางสาธารณสุข สวัสดิการทางสังคม หรือความปลอดภัยของประชาชนในสังคม เป็นต้น
(3) ผู้ประกอบการประเภทอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้บริการหรือสาธารณูปโภคนั้น ๆ ต้องการความมั่นใจและเชื่อใจในเสถียรภาพและมั่นคงของการดำเนินการให้บริการ มิฉะนั้นอาจไม่มีการลงทุนในกิจการ อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้สาธารณูปโภคหรือบริการนั้น และนำไปสู่ผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์

ตัวอย่างเช่น ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 20 กำหนดว่าผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งสะท้อนแนวคิดตามหลักกฎหมายมหาชนเรื่องความต่อเนื่องของบริการสาธารณะด้วย

๓ การจัดสรรหรือกระจายความมั่งคั่ง (Wealth Allocation)
การจัดสรรความมั่งคั่งเป็นเครื่องมือกำกับดูแลที่มีวัตถุประสงค์ทางสังคม โดยที่รัฐจะเข้ามากำกับดูแลการจัดสรรความมั่งคั่งหรืออำนาจระหว่างผู้ประกอบการและประชาชนผู้บริโภคหรือใช้บริการ รวมทั้งระหว่างผู้บริโภคด้วยกันที่ต่างประเภทกัน ทั้งนี้เพราะในตลาดที่ไม่มีการกำกับดูแลมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการสะสมความมั่งคั่งเป็นกระจุก รัฐจึงจำเป็นต้องจัดสรรหรือกระจายความมั่งคั่งใหม่เพื่อให้ประชาชนสามารถได้รับบริการหรือสินค้าที่จำเป็น โดยไม่จำต้องใช้กลไกทางด้านภาษีและการคลัง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับนโยบายการจัดสรรหรือกระจายความมั่งคั่ง คือ การอุดหนุนข้ามกิจการ โดยการบังคับหรือวางกฎเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจบางประเภทต้องดำเนินธุรกิจหรือให้บริการอีกประเภทหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญ จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เป็นธุรกิจที่ไม่มีกำไรหรือมีกำไรน้อย ทั้งนี้เพราะต้องการให้มีผู้มารับภาระในธุรกิจที่ไม่มีกำไร ซึ่งอาจไม่มีผู้ใดต้องการเข้ามาดำเนินการ นโยบายของการอุดหนุนข้ามกิจการจะดึงดูดใจให้มีผู้เข้ามารับดำเนินการธุรกิจที่ไม่มีกำไร โดยผู้ประกอบการสามารถถ่ายโอนกำไรจากธุรกิจที่มีกำไรมากมาเฉลี่ยการขาดทุนในธุรกิจที่ไม่ทำกำไรได้ หรือกรณีการกำหนดอัตราค่าบริการแบบก้าวหน้าก็ถือได้ว่าอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดสรรหรือกระจายความมั่งคั่ง เช่น กิจการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าหรือประปา และรวมทั้งนโยบายเรื่องการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงหรือการกระจายการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

นอกจากนี้ กฎหมายป้องกันการตั้งราคาแตกต่างก็อาจถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดสรรหรือกระจายความมั่งคั่ง ทั้งนี้เพราะการตั้งราคาแตกต่างมักเกิดกับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ไม่มีอำนาจในการต่อรองมากนัก บริษัทหรือผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถตั้งราคาได้ตามความพอใจและทำให้ได้รับกำไรมหาศาล ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อการแข่งขัน เช่น กิจการโทรคมนาคม หรือกิจการขนส่ง เป็นต้น ดังนั้น กฎหมายประเภทนี้จะส่งเสริมการประกอบธุรกิจของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งปกป้องการแข่งขันที่อาจถูกบิดเบือนโดยการใช้อำนาจและความมั่งคั่งทางตลาด

๔ การกำหนดมาตรฐานหรือคุณภาพ (Standard Setting)
การกำหนดมาตรฐานของสินค้าหรือบริการเป็นวิธีการกำกับดูแลของรัฐที่สำคัญประเภทหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภค อันเนื่องมาจากผู้ประกอบการอาจผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการได้ ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมสายการบินมีการแข่งขันที่เข้มข้น มีการตัดราคาค่าโดยสารจนกระทั่งต่ำมาก เนื่องจากการตัดราคาค่าโดยสารทำให้บริษัทสายการบินหลายสายไม่สามารถได้กำไรจากการประกอบธุรกิจ บริษัทเหล่านี้เพื่อความอยู่รอดในธุรกิจจึงจำเป็นต้องลดการบริการอื่น ๆ หรือจำนวนคนงาน ที่สำคัญคือรวมทั้งการลดการตรวจตราบำรุงรักษาเครื่องบิน ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้ความคุ้มครองและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ โดยการกำหนดมาตรฐานหรือคุณภาพของการให้บริการ โดยเฉพาะการตรวจซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินให้มีสภาพที่ปลอดภัยสำหรับการบินทุกครั้ง ซึ่งในกิจการขนส่งในสาขาอื่นก็เช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางถนนหรือทางน้ำ การกำกับดูแลมาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เพราะการละเลยมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาจนำไปสู่อุบัติเหตุและความเสียหายอื่นติดตามมา

นอกจากนี้ การกำกับดูแลในเรื่องการกำหนดมาตรฐานหรือคุณภาพอาจมีวัตถุประสงค์ทางสังคมที่หลากหลาย เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยของสินค้า การปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม หรือการคุ้มครองคนงาน เป็นต้น โดยรัฐอาจบังคับโดยการลงโทษทางอาญา การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการ การปรับทางแพ่ง หรือใช้วิธีจูงใจแบบอื่น ๆ ตัวอย่างของการกำกับดูแลโดยการกำหนดมาตรฐาน คือ ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ รัฐได้วางมาตรฐานของการผลิตรถยนต์เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร หรือในอุตสาหกรรมยาก็มีระเบียบหลักเกณฑ์ เรื่องคุณภาพมาตรฐานสำหรับยาว่าต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพจากหน่วยงานของรัฐก่อนที่จะสามารถวางจำหน่ายได้ รวมทั้งในกิจการการศึกษาด้วย รัฐก็ได้วางหลักเกณฑ์เรื่องคุณภาพของสถานที่และคุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอนของสถานศึกษาเอกชน เพื่อรักษามาตรฐานการศึกษาในสังคม หรือในกิจการแพร่ภาพกระจายเสียงที่ รัฐโดยส่วนใหญ่ได้วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับตัวเนื้อหาสาระของสิ่งที่จะถูกส่งออกแพร่ภาพหรือกระจายเสียง โดยห้ามการเผยแพร่บางสิ่งที่ขัดกับหลักศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือกำหนดให้องค์กรแพร่ภาพกระจายเสียงมีหน้าที่ต้องเผยแพร่นโยบายของรัฐบาลหรือข่าวสารที่สำคัญ เป็นต้น

๕ การใช้ภาษีและสิ่งจูงใจอื่น ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ (Taxes and Other Economic Incentives)
ในการกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภท การมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่บังคับหรือควบคุมผู้ประกอบการอาจบังคับใช้ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ได้ยากในบางกรณี ดังนั้น แทนที่จะใช้การบังคับเพื่อให้ผู้ประกอบการทำตามมาตรการที่รัฐมุ่งประสงค์ รัฐบาลอาจใช้ระบบภาษีหรือวิธีจูงใจอื่น เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม อย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้รณรงค์ทั้งผู้ผลิตสินค้าและประชาชนให้ผลิตสินค้าหรือชื้อสินค้าที่ผลิตโดยกรรมวิธีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด โดยการกำหนดสัญลักษณ์เพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าเป็นสินค้าที่ผลิตโดยรักษาสิ่งแวดล้อมหรือถูกใช้โดยไม่ทำลายรักษาสภาพแวดล้อม และรัฐบาลยังใช้กลไกทางด้านภาษีมาจูงใจให้ผู้ประกอบการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยรัฐได้กำหนดประเภทของเทคโนโลยีที่ช่วยลดมลพิษ หากผู้ประกอบการได้ใช้เทคโนโลยีที่รัฐสนับสนุนให้ใช้จะได้รับการหักหรือลดภาษีในอัตราก้าวหน้า

วัฎจักรของการกำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า หน้าที่หลักของรัฐบาลในระบบเศรษฐกิจแบบเสรี คือการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสวัสดิการของประชาชน รัฐบาลพยายามที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์เหล่านี้ โดยใช้หลายวิธีการ  เช่น การวางนโยบายมุ่งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ การเพิ่มการจ้างงาน การยกระดับมาตราฐานการศึกษาของประชาชน การสร้างความเท่าเทียม การส่งเสริมนวัตกรรม การยกระดับมาตราฐานการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชน ดังนั้น กฏเกณฑ์การควบกำกับดูแลเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยรัฐบาลบรรลุความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น

แนวความคิดของรัฐสมัยใหม่เชื่อว่า รัฐบาลมีความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ที่จะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลอุตสาหกรรมอยู่สม่ำเสมอ รวมทั้งโครงสร้างและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกันว่าหลักเกณฑ์ต่างๆที่ใช้กำกับดูแลอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมและสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลรวมทั้งคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา การกำกับดูแลอุตสาหกรรมของรัฐในแง่เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ รัฐจะเข้ากำกับดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ต่อเมื่อกลไกของตลาดล้มเหลวในการทำหน้าที่กำกับดูแลระบบตลาด ในการกระบวนการสร้างกฎเกณฑ์กำกับดูแลเหล่านี้ ประการแรก การกำหนดหรือระบุสาเหตุที่จะต้องทำการกำกับดูแลจำเป็นจะต้องมีการกำหนดว่าเป็นเหตุผลใด เช่น ด้านเศรษฐศาสตร์ หรือสังคม  และถ้าเป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหรือระบุสาเหตุที่ทำให้กลไกตลาดล้มเหลว ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างตลาดและปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในตลาดหรืออุตสาหกรรม ประการที่สอง รัฐจะต้องวางหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่เหมาะสมและมีประสิทธิเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยในขั้นตอนนี้จะเป็นการเลือกวิธีการนำเครื่องมือมาใช้ในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ดำเนินการควรจะต้องตรวจสอบหาถึงความเป็นไปได้ของวิธีการหลาย ๆ วิธีเพื่อมาใช้เป็นตัวเลือก ซึ่งในการคัดเลือกนั้นควรจะต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่ได้รับและต้นทุนที่ต้องสูญเสียไปด้วย โดยเฉพาะการประเมินให้อยู่ในรูปของตัวเงิน และเปรียบเทียบกับทุกวิธี อย่างไรก็ตาม รัฐในบางครั้งอาจตัดสินใจผิดพลาดในการสร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแล (Mismatch) ซึ่งอาจเกิดจากการที่รัฐระบุสาเหตุที่ทำให้กลไกตลาดล้มเหลวผิดพลาด หรือเกิดจากรัฐเลือกใช้มาตรการที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งการขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าว ปัญหาเหล่านี้มักเรียกว่าความล้มเหลวของรัฐ (Government Failure) ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแลใหม่ (Re-regulation) ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่มักอ้างอิงถึงการปรับเปลี่ยนจากระบบดำเนินการเองโดยรัฐมาเป็นการการดำเนินการโดยเอกชน (Privatization) และรัฐกลายมาเป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลแทน

นอกจากนี้ ก็ยังมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกำหนดกฏเกณฑ์การกำกับดูแลเหล่านี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเงื่อนไขทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่อาจส่งผลให้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่มีอยู่เดิมล้าสมัยและอาจกลายเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม  จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการกำกับดูแล หรือการลดการกำกับดูแล เพื่อต้องการทำให้ตลาดกลับสู่ดุลยภาพที่มีการแข่งขันโดยเสรีอีกครั้ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในอดีตกิจการโทรคมนาคมหรือการผลิตกระแสไฟฟ้าถือว่าเป็นกิจการที่ควรผูกขาดโดยรัฐหรือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว เพราะมีลักษณะเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ส่งผลขจัดลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติของกิจการเหล่านี้ ทำให้กิจการเหล่านี้สามารถเปิดให้มีการแข่งขันได้ หรือมีการปฏิรูปการกำกับดูแลอุตสาหกรรมหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมด้วย อาทิเช่น อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมขนส่ง เป็นต้น

ในการเลือกเครื่องมือกำกับดูแลนั้น  รัฐควรเลือกใช้เครื่องมือที่มีความยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการได้มีทางเลือกเป็นอันดับแรกก่อนและเมื่อไม่ได้ผลจึงค่อยใช้เครื่องมือที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ และรัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีความร่วมรับผิดชอบต่อการกำกับดูแลมากขึ้นเท่าไรโอกาสที่การควบคุมกำกับดูแลนั้นจะประสบความสำเร็จก็มากขึ้นเท่านั้น โดยต้องให้โอกาสแก่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายและกฎอย่างเพียงพอด้วย จึงเป็นที่มาของแนวคิดการกำกับดูแลร่วมกัน (Co-regulation) อย่างเช่น การสร้างประมวลจริยธรรมในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวงการสื่อสารมวลชนหรือกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ   และปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่องค์กรกำกับดูแลต้องพึงระลึกคือกระบวนการกำกับดูแล (Regulatory process) ที่ต้องมีความโปร่งใส คำสั่งหรือกฎต้องมีความเหมาะสม ได้สัดส่วน สมเหตุสมผล และสามารถถูกตรวจสอบได้ รวมทั้งมีสิทธิได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสโต้แย้งและแสดงหลักฐานได้ หากได้รับผลกระทบจากการกำกับดูแล ดังจะเห็นได้จากกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ควรต้องคำนึงคือในหลายกรณีนั้นการตัดสินใจเลือกเครื่องมือหรือแนวทางกำกับดูแลนั้นมักมีการแลกเปลี่ยนระหว่างวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน หรือกลายอีกนัยหนึ่งคือ นอกเหนือจากเกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการแล้ว การกำกับดูแลมักจะก่อให้เกิดผลกระทบอีกด้านหนึ่งเสมอ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องตระหนักถึงในผลกระทบดังกล่าวด้วย ตัวอย่างเช่น การกำกับดูแลอาจก่อให้เกิดผลประโยชน์แต่ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดต้นทุนแก่ผู้ถูกกำกับดูแลซึ่งในท้ายที่สุดก็จะผลักภาระต้นทุนดังกล่าวไปยังผู้บริโภค หรือกรณีที่รัฐกำกับดูแลอัตราค่าบริการอย่างไม่สมเหตุสมผล ก็อาจส่งผลในทางลบที่จะลดแรงจูงใจในการลงทุนหรือพัฒนานวัตกรรมของผู้ถูกกำกับดูแลได้ ดังนั้น การกำกับดูแลของรัฐจำเป็นต้องมีการทบทวนหรือปรับปรุงอยู่เสมอเพื่อให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพและเหมาะสมอยู่ตลอด (Better Regulation)

การปฏิรูปการกำกับดูแล (Regulatory Reform) คือการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนหรือรักษาสภาพการแข่งในตลาด โดยหลักการ วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปการควบคุมกำกับดูแลคือ การปรับปรุงให้การดำเนินการของผู้ประกอบมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้มีการแข่งขันและนวัตกรรมมากขึ้น กล่าวในรายละเอียดคือ การปฏิรูปการกำกับดูแลมุ่งที่จะส่งเสริมให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าและบริการลดลง คุณภาพสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ การปฏิรูปการกำกับดูแลก็พยายามจะลดภาระทางธุรกิจของผู้ประกอบการในการดำเนินการ การเพิ่มความโปรงใสในการดำเนินงานและตัดสินใจของหน่วยงานรัฐ และปรับปรุงระบบการบริหารงานของรัฐให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น การปฏิรูปกรอบการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของสหภาพยุโรปในปี ค.ศ. 2002 เนื่องจากสภาพแวดล้อมทั้งทางตลาดและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยมีการปรับปรุงแนวคิดเกี่ยวกับการเปิดเสรีและกำกับดูแลโครงข่ายโดยมีความเป็นกลางทางเทคโนโลยี และแนวทางการกำหนดนิยามตลาด (Market definitions) และการวิเคราะห์และระบุผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญใหม่ (Significant Market Power หรือนิยมเรียกย่อ ๆ ว่า SMP) ให้สอดคล้องกับบริบทและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคหลอมรวมระหว่างกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ในขณะที่การลดการควบคุมกำกับดูแล (Deregulation) หมายถึง การยกเลิกการกำกับดูแลทั้งหมดหรือการลดบทบาทของรัฐในการกำกับดูแลอุตสาหกรรม โดยการลดหรือผ่อนคลายเงื่อนไขกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการกำกับดูแลกิจการในอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีมากขึ้นโดยระบบตลาดหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของรัฐที่มีอยู่อาจไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สอดค้องกับความต้องการของสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีรัฐอาจไม่ยกเลิกระเบียบกฎเกณฑ์การกำกับดูแลทั้งหมด จำเป็นต้องคงการกำกับดูแลอุตสาหกรรมในบางรูปแบบไว้ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากผลในทางลบที่อาจเกิดจากการแข่งขันอย่างเสรี บ่อยครั้งที่การลดการกำกับดูแลกลายเป็นวิธีการหนึ่งหรือส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการกำกับดูแล ซึ่งในท้ายที่สุดหากรัฐลดบทบาทในการเข้าไปแทรแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเป็นหลัก กิจกรรมดังกล่าวก็กลายเป็นตลาดที่แข่งขันเสรีอีกครั้งหนึ่ง กระบวนการเหล่านี้ในทางวิชาการเรียกว่า “วัฎจักรของการกำกับดูแล”



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น