วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

กระบวนการยื่นขอรับสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา (Patent Applications)


กระบวนการยื่นขอรับสิทธิบัตรของสหรัฐฯ นั้นอาจเริ่มตั้งแต่การร่างรายละเอียดการประดิษฐ์เพื่อยื่นขอรับสิทธิบัตร และรวมถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ยื่นขอสิทธิบัตรกับสำนักงานสิทธิบัตรฯ ซึ่งค่อนข้างจะมีความยุ่งยากอันเนื่องมาจากต้องใช้ทักษะและความรู้ทั้งทางด้านกฎหมายและเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์นั้น โดยส่วนใหญ่จึงมักให้ทนายสิทธิบัตร (Patent attorney) เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง กระบวนการในการยื่นขอรับสิทธิบัตรของสหรัฐฯ สรุปได้ดังนี้

ผู้มีสิทธิยื่นขอรับสิทธิบัตร
ตามกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯนั้น ผู้ประดิษฐ์เท่านั้นที่จะมีสิทธิยื่นขอรับสิทธิบัตร ดังนั้น คำขอรับสิทธิบัตรในสหรัฐฯต้องยื่นโดยผู้ประดิษฐ์ ซึ่งแตกต่างจากระบบสิทธิบัตรของประเทศอื่น ๆ ที่อนุญาตให้เจ้าของการประดิษฐ์มีสิทธิยื่นคำขอ กล่าวคือ ในระบบสิทธิบัตรของสหรัฐฯ คำขอรับสิทธิบัตรและคำสาบานจะต้องลงนามโดยผู้ประดิษฐ์ว่าตนเองเป็นผู้ประดิษฐ์ที่แท้จริง (True inventor) ในกรณีที่ผู้ประดิษฐ์เสียชีวิต คำขอรับสิทธิบัตรอาจกระทำโดยทายาทหรือผู้จัดการมรดก หรือในกรณีที่ผู้ประดิษฐ์เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ก็ให้ตัวแทนตามกฎหมายมีอำนาจลงนามยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแทน หรือในกรณีที่ผู้ประดิษฐ์คนใดคนหนึ่งปฏิเสธที่จะยื่นขอรับสิทธิบัตรหรือไม่สามารถหาตัวได้ ผู้ประดิษฐ์ร่วมหรือผู้ที่มีผลประโยชน์ในการประดิษฐ์นั้นอาจมีสิทธิที่จะยื่นขอรับสิทธิบัตรในนามของผู้ประดิษฐ์นั้น ในกรณีที่ผู้ประดิษฐ์เสียชีวิต ตัวแทนตามกฎหมายอาจเป็นผู้มีสิทธิยื่นขอรับแทนก็ได้
ในการพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้ประดิษฐ์นั้น (Invetorship) กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯกำหนดว่าผู้ประดิษฐ์จะต้องเป็นผู้มีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำหรือคิดค้นการประดิษฐ์จริง นายจ้างหรือผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินในการวิจัยไม่ถือว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ แต่บางครั้งผู้ที่ลงมือทำการประดิษฐ์ก็อาจจะไม่ถือว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ หากเป็นการดำเนินการตามความคิดของผู้อื่น ซึ่งหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเป็นผู้ประดิษฐ์ต้องพิจารณาขั้นตอนของการประดิษฐ์ประกอบด้วย
(๑) การคิดค้น (Conception)  และ
(๒) การนำไปปฏิบัติได้จริง (Reduction to practice)
กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯถือว่าบุคคลที่คิดค้นความคิดอาจพิจารณาว่าเป็นผู้ประดิษฐ์ หากผู้ใดแจ้งเท็จว่าตนเองเป็นผู้ประดิษฐ์ก็อาจได้รับโทษทางอาญา การพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้ประดิษฐ์นั้นจะต้องปรึกษาหารือกับตัวแทนสิทธิบัตร เพราะบุคคลที่ให้การสนับสนุนทางการเงินไม่ถือว่าเป็นผู้ประดิษฐ์และไม่สามารถยื่นขอรับสิทธิบัตรร่วมด้วยได้
ทั้งนี้ หลักฐานที่มักใช้แสดงยืนยันว่าเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นคือ สมุดจดงานของนักประดิษฐ์ (Inventor’s Notebook) และต้นแบบที่ใช้งาน (Working Model) ต่อมาสำนักงานสิทธิบัตรได้จัดให้มีโครงการ Disclosure Document Program (DDP) โดยอนุญาตให้ผู้ประดิษฐ์ยื่นคำอธิบายการประดิษฐ์ของตนเองในเบื้องต้นได้เพื่อแสดงว่าตนเองได้คิดค้นคนแรก ซึ่งวันที่ยื่นต่อสำนักงานสิทธิบัตรจะถือว่าเป็นการแสดงหลักฐานวันที่คิดค้นการประดิษฐ์ได้ก่อนที่จะมีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในภายหลัง
ในกรณีที่การประดิษฐ์เกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบจ้างแรงงานนั้น (Work for hire) หลักทั่วไปคือลูกจ้างผู้ประดิษฐ์จะถือว่าเป็นเจ้าของการประดิษฐ์นั้น หากไม่ได้มีข้อตกลงระบุไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายเป็นคุณแก่ลูกจ้าง แต่ในกรณีเป็นจ้างทำของซึ่งมีสัญญากำหนดขอบเขตของงานชัดเจนเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ นายจ้างถือว่าเป็นเจ้าของการประดิษฐ์ ซึ่งในทางปฏิบัติบริษัทใหญ่ ๆมักกำหนดให้ลูกจ้างต้องลงชื่อในสัญญาโอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้แก่บริษัท ในกรณีที่นายจ้างไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร แต่กฎหมายก็เปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถใช้การประดิษฐ์ได้แบบการอนุญาตที่ไม่เด็ดขาดและห้ามโอนต่อได้ โดยมิได้จ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิ เรียกว่า Shop right หากเป็นกรณีที่ลูกจ้างได้ใช้สถานที่ อุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกของนายจ้างหรือเวลาในการทำงาน  คดีที่สำคัญคือ McElmurry v. Arkansas Power & Light Co.
กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯกำหนดหน้าที่ของการดำเนินการยื่นขอรับสิทธิบัตรว่าต้องกระทำด้วยความซื่อสัตย์และเจตนาสุจริต (Candor and good faith) ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวนี้ครอบคลุมถึงผู้ประดิษฐ์ ทนายความสิทธิบัตรและผู้รับมอบอำนาจ การละเมิดหน้าที่ดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข้อมูลผิดหรือละเว้นนำเสนอข้อมูลที่สำคัญต่อสำนักงานสิทธิบัตร กฎหมายถือว่าพฤติกรรมที่มิชอบ (Inequitable conduct) เช่นการให้ชื่อผู้ประดิษฐ์ที่ผิดหรือไม่ยื่นข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับงานที่ปรากฏอยู่แล้ว หรือยื่นคำแถลงการณ์ที่บิดเบือนหรือแจ้งเท็จ
ทั้งนี้ กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯ ไม่เลือกปฏิบัติต่อสัญชาติของผู้ประดิษฐ์ ผู้ประดิษฐ์ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็สามารถยื่นขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตรในสหรัฐฯได้ เหมือนเช่นคนชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปตามหลักการของความตกลงทริปท์


คำขอรับสิทธิบัตร
โดยทั่วไป สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้ากำหนดว่ารายละเอียดการประดิษฐ์มักประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
ชื่อการประดิษฐ์
การอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ตามคำขอรับสิทธิบัตร
คำแถลงเกี่ยวกับสิทธิของรัฐบาล
ความเป็นมาของการประดิษฐ์ เช่น สาขาวิทยาการของการประดิษฐ์และการอธิบายศิลปะวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์
บทสรุปการประดิษฐ์
การอธิบายภาพวาดโดยย่อ
รายละเอียดการประดิษฐ์โดยละเอียด โดยรวมถึงวิธีการประดิษฐ์ที่ดีที่สุด
ข้อถือสิทธิ
บทสรุปการเปิดเผย

รายละเอียดการประดิษฐ์ (Specification)
รายละเอียดการประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งขอคำขอรับสิทธิบัตร ซึ่งเป็นการอธิบายการประดิษฐ์ว่ามีการจัดทำหรือใช้การประดิษฐ์อย่างไร ดังนั้น รายละเอียดการประดิษฐ์จึงถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิทธิบัตร ตามกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯ กำหนดว่ารายละเอียดการประดิษฐ์ต้องอธิบายให้บุคคลทั่วไปในสาขาวิทยาการในแขนงนั้นสามารถทำหรือใช้งานได้ (Enabling) และต้องอธิบายวิธีการที่ดีที่สุดของการประดิษฐ์ (best mode) โดยทั้งสองเงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบังคับให้ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรต้องดำเนินการ  เพราะถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างสิทธิผูกขาดกับการเปิดเผยความรู้ที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะอันเป็นวัตถุประสงค์ของระบบสิทธิบัตร
เงื่อนไขการอธิบายการประดิษฐ์ให้สามารถทำหรือใช้งานการประดิษฐ์ได้นั้น (Enablement) กำหนดว่าคำขอรับสิทธิบัตรต้องอธิบายรายละเอียดการประดิษฐ์อย่างละเอียดสมบูรณ์ ชัดเจน และถูกต้องเพื่อให้บุคคลในสาขาวิทยาการนั้นสามารถทำหรือใช้งานการประดิษฐ์ได้ โดยปกติคำขอรับสิทธิบัตรมักจะอธิบายรายละเอียดอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนโดยเปรียบเทียบกับงานที่ปรากฏอยู่ก่อน (prior arts)  ศาลอุทธรณ์กลางได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหลัก Enablement ไว้ในคดี In re Wand  ว่าปัจจัยควรใช้ในพิจารณาว่าคำขอรับสิทธิบัตรได้ให้ข้อมูลหรือธิบายรายละเอียดเพียงพอและชัดแจ้งตามเกณฑ์ของกฎหมายหรือไม่ มีดังนี้ จำนวนของการทดลองหรือทดสอบที่จำเป็น แนวทางหรือแนวปฏิบัติที่ให้ไว้ในคำขอรับสิทธิบัตร ตัวอย่างของการใช้งานจริง ลักษณะของการประดิษฐ์ งานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว ทักษะของผู้ที่เกี่ยวข้องในสาขาวิทยาการนั้น การคาดการณ์ของวิทยาการ และขอบเขตของสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเหล่านั้นต้องพิจารณา ณ ขณะที่ผู้ประดิษฐ์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร กล่าวคือการพัฒนาต่าง ๆ ของงานที่ปรากฏอยู่แล้วหรือวิทยาการเทคโนโลยีจะไม่สามารถนำมาใช้พิจารณาเงื่อนไขเรื่อง Enablement
เงื่อนไขวิธีการที่ดีที่สุด (best mode) กำหนดว่าคำขอรับสิทธิบัตรต้องอธิบายรายละเอียดการประดิษฐ์อย่างสมบูรณ์อย่างน้อยหนึ่งวิธี โดยต้องนำเสนอรวมวิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งคิดค้นโดยผู้ประดิษฐ์เพื่อดำเนินงานการประดิษฐ์ การไม่อธิบายวิธีการที่ดีที่สุดอาจทำให้สิทธิบัตรที่ได้รับจดทะเบียนไปแล้วมิชอบ ซึ่งอาจถูกเพิกถอนได้ เหตุผลเบื้องหลังของหลักการนี้คือเป็นการประกันว่าสาธารณะจะได้รับทราบวิธีการที่มีประโยชน์ที่สุดของเทคโนโลยีที่ผู้ประดิษฐ์ทราบ และเป็นการอนุญาตให้คู่แข่งขันสามารถแข่งขันกับเจ้าของสิทธิบัตรด้วยความเท่าเทียมกันหลังจากสิทธิบัตรหมดอายุ อย่างไรก็ตาม หลักการนี้มักถูกวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมและไม่มีประโยชน์เพราะยากที่จะพิสูจน์ในทางปฏิบัติว่าผู้ประดิษฐ์ได้เปิดเผยวิธีการที่ดีที่สุดจริง  ซึ่งศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐฯได้วางหลักเกณฑ์ไว้ในคดี Chemcast Corp. v. Arco Industries Corp.   และคดี Bayer AG v. Schein Pharmaceuticals  โดยศาลได้กำหนดเกณฑ์ในการทดสอบในสองส่วน (Two part test) คือ ในส่วนแรกผู้ประดิษฐ์รู้หรือทราบว่าวิธีการที่อ้างในคำขอรับสิทธิบัตรดีที่สุดหรือไม่ ณ เวลาที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร ถ้าผู้ประดิษฐ์ไม่ทราบวิธีการที่ดีที่สุด ณ เวลานั้นก็ไม่ถือว่าละเมิดหลัก best mode และต้องพิสูจน์ต่อไปในประเด็นที่สองว่ามีการเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์เพียงพอที่จะให้บุคคลที่มีทักษะในสาขาวิทยาการนั้นสามารถทำหรือดำเนินการตามวิธีการที่ดีที่สุดได้หรือไม่
อนึ่ง รายละเอียดในยกร่างคำขอสิทธิบัตรเป็นไปตาม Guidelines for Examination of Patent Applications under 35 U.S.C. § 112, ¶1, "Written Description" Requirement (2000)

เอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับการประดิษฐ์ (Cross-Reference to Related Applications)
กฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯ กำหนดให้ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรมีหน้าที่ต้องอ้างถึงคำขอรับสิทธิบัตรที่อยู่ระหว่างการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ที่ยื่นขอรับหากในคำขอรับสิทธิบัตรได้อ้างถึงประโยชน์หรือความสัมพันธ์กับคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าว   โดยให้ระบุเลขคำขอรับสิทธิบัตรหรือคำขอรับสิทธิบัตรระหว่างประเทศที่ยื่นในสหรัฐฯ วันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร และระบุความสัมพันธ์ของคำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวหรือรวมทั้งการอ้างถึงคำขอรับสิทธิบัตรก่อนหน้านั้นด้วย   การอ้างอิงงานที่ปรากฏก่อนหน้านั้นถือเป็นหน้าที่ของผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร  หากพบว่ามีการละเลยอย่างจงใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิบัตรในภายหลังได้ หากข้อมูลดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อการพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตร
นอกจากนี้ หากผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานรัฐบาลกลาง ในคำขอรับสิทธิบัตรจะต้องระบุสิทธิของการประดิษฐ์ให้ชัดเจนว่าเกิดขึ้นตามเงื่อนไขการให้ทุนวิจัยของหน่วยงานรัฐบาลกลาง ทั้งนี้ เพราะมีกฎหมายกำหนดสิทธิความเป็นเจ้าของไว้แตกต่างจากหลักการทั่วไปในกฎหมายสิทธิบัตร

ข้อถือสิทธิ (Claims)
คำขอรับสิทธิบัตรต้องประกอบด้วยข้อถือสิทธิซึ่งต้องระบุและอ้างอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งผู้ขอรับสิทธิบัตรถือว่าเป็นการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิบัตร เพราะข้อถือสิทธิจะอธิบายสิ่งที่อธิบายขอบเขตของสิทธิบัตรที่ได้รับความคุ้มครอง โดยปกติข้อถือสิทธิมักอธิบายสิ่งที่เป็นการประดิษฐ์และอ้างถึงลักษณะที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าการประดิษฐ์ตามคำขอแตกต่างจากสิทธิบัตรอื่นหรืองานที่ปรากฏอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามข้อถือสิทธิจะต้องไม่ระบุรายละเอียดที่ไม่สำคัญของการประดิษฐ์ เพราะข้อถือสิทธิจะเป็นตัวกำหนดขอบเขตของสิทธิผูกขาดของเจ้าของสิทธิบัตร
ในทางปฏิบัติถ้อยคำที่ใช้มักเริ่มว่า “I [or We] claim” หรือ “What is claimed is” และถ้อยคำในข้อถือสิทธิจะต้องตรงและระบุว่าอะไรที่ผู้ร่างสิทธิบัตรต้องการจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตรภายในหนึ่งประโยค แต่ถ้อยคำในข้อถือสิทธิไม่จำเป็นเสมอไปที่จะเป็นความหมายธรรมดาทั่วไป ผู้ยกร่างอาจกำหนดให้มีความหมายเฉพาะก็ได้ แต่ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าหมายความถึงอะไรและขอบเขตแค่ไหนเพียงใด ดังนั้น การร่างและแก้ไขข้อถือสิทธิมักมีส่วนที่เป็นเทคนิคและมีผลทางกฎหมาย ผู้ร่างจึงจำเป็นต้องมีทักษะทั้งทางเทคนิคและกฎหมาย
เมื่อคำขอรับสิทธิบัตรได้รับการตรวจสอบโดยสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า นายทะเบียนสิทธิบัตรจะเปรียบเทียบข้อถือสิทธิกับงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้ว หากข้อถือสิทธิกว้าง นายทะเบียนจะปฏิเสธข้อถือสิทธินั้นในส่วนที่ครอบคลุมหรือซ้ำซ้อนกับงานที่ปรากฏอยู่แล้วและคำขอรับสิทธิบัตรอาจถูกปฏิเสธ แต่หากข้อถือสิทธิแคบเกินไป สิทธิบัตรจะมีมูลค่าน้อยเพราะสิทธิของสิทธิจะแคบไปด้วย ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งขัน
อนึ่ง รูปแบบการร่างข้อถือสิทธิที่สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐฯยอมรับมีหลายวิธี เช่น Dependent claims, Functional claims, Product-by-process claims, Jepson claims, Markush claims หรือ Definiteness เป็นต้น ซึ่งแนวทางการตีความขอบเขตของข้อถือสิทธิของแต่ละวิธีก็จะแตกต่างกัน จึงขึ้นอยู่กับเทคนิคของผู้ร่างข้อถือสิทธิจะประยุกต์ใช้

ภาพวาดของการประดิษฐ์ (Drawings)
คำขอรับสิทธิบัตรอาจประกอบด้วยภาพวาดการประดิษฐ์ก็ได้ ไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องมีในคำขอรับสิทธิบัตร ตัวอย่างเช่น ในคำขอรับสิทธิบัตรโปรแกรมคอมพิวเตอร์มักจะมีภาพวาดแสดงหรืออธิบายรายละเอียดของการประดิษฐ์ ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าภาพวาดต้องแสดงลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิและต้องเป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น โดยทั่วไป สำนักงานสิทธิบัตรฯ จะไม่อนุญาตให้ยื่นภาพวาดสีและใช้ภาพถ่าย เว้นแต่กรณีที่นายทะเบียนสิทธิบัตรจะเห็นสมควร ทั้งนี้ กฎของสิทธิบัตรกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของภาพวาดไว้อย่างละเอียด

การสาบานตน (Oath)
กฎหมายกำหนดว่าผู้ยื่นคำขอจะต้องสาบานตนหรือปฏิญาณตนว่าตนเองเป็นผู้ประดิษฐ์ดั่งเดิมและคนแรก (Original and first inventor) โดยในคำสาบานกำหนดถ้อยคำตามที่กฎหมายกำหนดและกฎของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า โดยการสาบานตนต้องกระทำต่อหน้า notary public หรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับคำสาบาน ส่วนการปฏิญาณตนต้องลงนามโดยผู้ประดิษฐ์หรือผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายยื่นสิทธิบัตร  ทั้งนี้ หากผู้ประดิษฐ์ตามหรือเสียสติหรือเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ตัวแทนตามกฎหมายอาจเป็นผู้มีอำนาจลงนามแทน  หรือหากเป็นกรณีที่ผู้ประดิษฐ์หายสาบสูญหรือปฏิเสธลงนามในคำสาบานหรือปฏิญาณตน บุคคลที่มีผลประโยชน์ในการประดิษฐ์อาจลงนามโดยให้เหตุผลประกอบ
โดยทั่วไปในเอกสารคำสาบานจะต้องประกอบด้วยชื่อ สัญชาติ และที่อยู่ของผู้สาบานตน  ซึ่งมักจะมีถ้อยคำว่าผู้สาบานตนได้อ่านและเข้าใจเนื้อหาในรายละเอียดประดิษฐ์และเชื่อว่าตนเองเป็นผู้ประดิษฐ์ดั่งเดิมและคนแรก และรู้ว่ามีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญเหล่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น