วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พัฒนาการระบบสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา



เป็นที่ยอมรับกันว่าระบบกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาเป็นระบบที่ทันสมัยมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่หากพิจารณาตั้งแต่อดีตพบว่านโยบายสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาเองก็เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาช่วงหนึ่ง โดยมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าระบบสิทธิบัตรดีต่อการพัฒนาประเทศจริงหรือไม่ แนวคิดเรื่องระบบสิทธิบัตรนั้นสหรัฐอเมริการับมาจากยุโรป โดยเฉพาะจากอังกฤษ  เนื่องจากอเมริกาเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงแรก รัฐบาลของอังกฤษในยุคครอบครองอเมริกานั้นได้ออกสิทธิบัตรฉบับแรกราวปี ค.ศ. 1641 ในมลรัฐ Massachusetts และมีอีก 8 มลรัฐที่มีกฎหมายคล้ายกับสิทธิบัตรเป็นของตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม ระบบสิทธิบัตรของแต่ละมลรัฐในยุคแรกนั้นมีความแตกต่างและเป็นอิสระจากกัน จึงเกิดปัญหาจากความไม่สอดคล้องกันของระบบสิทธิบัตรจำนวนมาก และประเด็นขัดแย้งที่สำคัญคือ สิทธิบัตรเรือไอน้ำ (Steamship patent) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 1700 ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีการนำเรื่องสิทธิบัตรไปบรรจุในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เพราะต้องการให้มีระบบสิทธิเป็นหนึ่งเดียวกัน
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาได้ให้ความสำคัญของระบบทรัพย์สินทางปัญญามากเพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมอันเนื่องมาจากเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จึงได้บัญญัติหลักการคุ้มครองระบบทรัพย์สินทางปัญญาไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย กล่าวได้ว่าเป็นการรับรองสิทธิของผู้ประดิษฐ์และผู้สร้างสรรค์ในการได้รับสิทธิผูกขาดในงานประดิษฐ์หรืองานสร้างสรรค์ และได้ให้อำนาจแก่รัฐสภาที่จะออกกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นยุคทองของการประวัติอุตสาหกรรม แต่ต่อมาระบบสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาก็เริ่มแตกต่างและพัฒนาบนแนวทางของตนเอง ส่วนระบบของอังกฤษเองก็ได้รับอิทธิพลจากระบบสิทธิบัตรของประเทศภาคพื้นยุโรปจากการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิบัตรแห่งยุโรป (European Patent Convention: EPC)  
จุดเริ่มต้นของระบบกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1787 นาย Jame Madison และนาย Charles Pinckney ได้เสนอให้บรรจุหลักการของระบบสิทธิบัตรไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งก็ได้รับการยอมรับจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ  โดยปรากฏในมาตรา 1 ข้อ 8 วรรค 8 ว่า
“The Congress shall have power...to promote the progress of science and useful arts, by securing for limited times to authors and inventors the exclusive right to their respective writings and discoveries.”
ต่อมาในปี ค.ศ. 1790 รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรก กฎหมายสิทธิบัตรฉบับแรกนี้ค่อนข้างจะสั้นมีเพียงเจ็ดมาตราเท่านั้นและมีโครงสร้างของระบบสิทธิบัตรที่ไม่ซับซ้อน กล่าวคือกฎหมายให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแห่งรัฐ (the Secretary of State) รัฐมนตรีว่าการประทรวงสงคราม (the Secretary of War) และอัยการสูงสุด (the Attorney General) เป็นผู้มีอำนาจในการออกสิทธิบัตรให้แก่นักประดิษฐ์ ระยะเวลาการให้ความคุ้มครองในระยะแรกนั้นคือระยะเวลาสิบสี่ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิบัตร  ซึ่งตามหลักกฎหมายเก่าของอังกฤษ แต่ปัจจุบันได้ขยายเป็นระยะเวลายี่สิบปีตามมาตรฐานสากล สำหรับกระบวนการยื่นคำขอรับความคุ้มครองนั้นต้องยื่นแก่ Secretary of State เพื่อพิจารณาในฐานะเป็นผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร ซึ่ง secretary of State ในช่วงนั้นคือ Thomas Jefferson (ต่อมาเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา) ซึ่งต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรค่อนข้างมากในฐานะเป็นนายทะเบียนสิทธิบัตร จึงทำให้มีการยื่นข้อเสนอแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในเวลาต่อมา
ในปี ค.ศ. 1793 รัฐสภาสหรัฐฯได้ออกกฎหมายสิทธิบัตรฉบับใหม่ยกเลิกฉบับปี ค.ศ. 1790 โดยอิงแนวความคิดของนาย Thomas Jefferson ซึ่งมีเนื้อหาหรือตัวบทกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะการระบุสิ่งที่จะให้ความคุ้มครองไว้ชัดเจนว่า กฎหมายสิทธิบัตรมุ่งประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่  “any new and useful art, machine, manufacture, or composition of matter, or any new and useful improvement [thereof].”  และจำกัดสิทธิการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรให้แก่ชาวอเมริกาเท่านั้น แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1800 ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรอีกครั้งหนึ่งโดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในสหรัฐอเมริกานานกว่าสองปีสามารถขอรับความคุ้มครองภายใต้ระบบสิทธิบัตรได้ และประเด็นที่น่าสนใจคือมีบทลงโทษที่ค่อนข้างหนักสำหรับการละเมิดสิทธิบัตร
ทั้งนี้ ระบบกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาเริ่มใช้หลักการ first to invent หรือหลักผู้ประดิษฐ์คิดค้นก่อนย่อมมีสิทธิได้รับสิทธิบัตรก่อน ซึ่งแตกต่างจากประเทศทางยุโรปที่ยึดถือหลักการ first to file หรือหลักผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ย่อมมีสิทธิได้รับสิทธิบัตรก่อน เพราะตีความบทบัญญัติกฎหมายว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรต้องเป็นผู้ประดิษฐ์คนแรกและที่แท้จริง (the first and true inventor) ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็ยึดมั่นในหลักการนี้มาโดยตลอดแม้ว่าในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะใช้หลัก first to file ก็ตาม หลักการ first to invent จะพิจารณาสิ่งประดิษฐ์ที่จะได้รับความคุ้มครองคือในขั้นตอนการคิดประดิษฐ์ (conception of the invention) และการทำให้แนวคิดปฏิบัติได้จริง (reduction to practice of the invention)  กล่าวคือหากผู้ประดิษฐ์มีแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และสามารถทำแนวคิดดังกล่าวให้เป็นจริงในทางปฏิบัติได้ วันเวลาดังกล่าวก็จะเป็นวันที่ประดิษฐ์ได้เป็นครั้งแรกและผู้ที่ประดิษฐ์ได้ก่อนก็มีสิทธิที่ดีกว่าในการขอรับสิทธิบัตร  ซึ่งจะแตกต่างจากหลักการของ first to file ที่ใช้วันที่ยื่นคำขอรับความคุ้มครองเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิก่อนในการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร
ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรอีกหลายครั้งในปี ค.ศ. 1836, 1870 และ 1874 โดยกฎหมายฉบับแก้ไขปี ค.ศ. 1836 ได้จัดให้มีระบบการตรวจสอบสิทธิบัตรขึ้น (Patent examination) โดยการจัดตั้งสำนักงานสิทธิบัตรขึ้น (Patent Office) ในกระทรวงแห่งรัฐ (Department of State) เพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรและจดทะเบียนสิทธิบัตร ซึ่งถือว่าเป็นระบบสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นคุณภาพของสิทธิบัตร และกำหนดให้มีการทำคำสาบานว่าเป็นผู้ประดิษฐ์คนแรก (Inventor’s oath) นอกจากนี้ กฎหมายสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1836 ยังได้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับคนต่างชาติและถิ่นที่อยู่ของผู้ขอรับสิทธิบัตร แต่ก็ยังคงมีจัดเก็บค่าธรรมเนียมแตกต่างกันระหว่างคนชาติสหรัฐอเมริกาและคนต่างชาติ ตัวย่างเช่นคนชาติสหรัฐอเมริกาหรือบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐสหรัฐอเมริกาต้องเสียค่าธรรมเนียมเพียง 30 เหรียญ หากเป็นคนอังกฤษต้องเสียค่าธรรมเนียม 500 เหรียญ แต่สำหรับคนชาติอื่นทั่วไปเสียค่าธรรมเนียม 300 เหรียญ
ในช่วงปีทศวรรษที่ 1870 ถึง 1880 ระบบกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐก็เริ่มเข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้นอันเนื่องมาจากความรุ่งเรืองของระบบทรัพย์สินทางปัญญาในระดับระหว่างประเทศ กล่าวคือในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดองค์กรระหว่างประเทศขึ้นมากมายอย่างเช่นองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO)  ซึ่งส่งผลให้เกิดความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นหลายฉบับ เช่น อนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Paris Convention for the Protection of Industrial Property)    ในปี ค.ศ. 1883 และสหรัฐอเมริกาก็เข้าเป็นภาคสมาชิกในปี ค.ศ. 1887 ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกายอมรับสิทธิยื่นคำขอก่อนในต่างประเทศ (priority) และยกเลิกข้อจำกัดที่เลือกปฏิบัติต่อคนชาติประเทศสมาชิกอนุสัญญากรุงปารีสด้วยกัน (non-discrimination) เพราะสหรัฐอเมริกาเริ่มมีเทคโนโลยีของตนเองที่จะนำเสนอบ้างแล้ว
โดยทั่วไป พัฒนาการของระบบสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาในยุคแรก ๆ ก็มิสามารถทัดเทียมกับทางยุโรปได้เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังล้าหลังทางยุโรป แต่ก็ได้มีความพยายามจากอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาที่หาหนทางรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทางยุโรป ซึ่งก็ได้รับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลและรัฐสภา ไม่ว่าจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนหรือการกีดกันการจดทะเบียนสิทธิบัตรจากต่างชาติ ทั้งนี้ ความนิยมในระบบสิทธิบัตรมีสูงในราวยุคศตวรรษที่ 19 เพราะแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐ Abraham Lincoln เคยกล่าวว่าระบบสิทธิบัตรเป็นเหมือนการเติมเชื้อเพลิงของผลประโยชน์เข้าไปในกองไฟแห่งความเป็นอัจฉริยะ (The Patent System added the fuel of interest to the fire of genius)  จึงแสดงให้เห็นถึงนโยบายส่งเสริมระบบสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาได้เป็นอย่างดีว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ระบบศาลยุติธรรมในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ยังได้ช่วยสร้างกฎเกณฑ์ในรายละเอียดของระบบสิทธิบัตรด้วย โดยการวางหลักกฎหมายสำคัญในการวินิจฉัยข้อพิพาทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลยุติธรรมในช่วงเวลาดังกล่าวตัดสินเอื้อเจ้าของสิทธิบัตรบ่อย และต่อมารัฐสภาก็ได้นำหลักกฎหมายเหล่านี้บรรจุเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร เมื่อมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตร อาทิ หลักความไม่ชัดเจน (Non-obviousness) หลักการเปิดเผยที่สามารถให้บุคคลที่อยู่ในสาขาวิทยาการนั้นทำหรือใช้งานได้ (enablement) และข้อยกเว้นกรณีเป็นการใช้เพื่อทดลอง (Experimental use)
แต่ในช่วงยี่สิบปีหลังของศตวรรษที่ 19 ต่อไปยังศตวรรษที่ 20 เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถือว่าเป็นยุคที่นโยบายสิทธิบัตรถูกละเลยไป โดยนโยบายกฎหมายป้องกันการผูกขาดเข้ามาบดบังไปแทบจะทั้งหมด เนื่องจากเกิดแนวความคิดว่าสิทธิบัตรเป็นการผูกขาดที่ขัดขวางการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ แนวความคิดดังกล่าวนำเสนอโดยกลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเยลที่ระบุว่าระบบสิทธิบัตรเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตความตกต่ำทางด้านเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา กล่าวได้ว่าแนวความคิดดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อสหรัฐอเมริกาอยู่นานหลายสิบปี โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าวทั้งรัฐบาลและศาลได้ใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust law) มาจำกัดการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร ซึ่งในช่วงนั้นได้มีการรวมตัวกันผูกขาดเกิดขึ้นด้วย (cartel) ในช่วงทศวรรษที่ 1930 อันนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงของชาติที่เกิดจากการรวมตัวผูกขาดของสิทธิบัตร เช่น อุปกรณ์เครื่องจักรผลิต tungsten carbide และยางสังเคราะห์ เป็นต้น คณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งชาติชั่วคราว (Temporary National Economic Committee) ได้ทำการไต่สวนกรณีดังกล่าว และนำไปสู่การฟ้องร้องในศาล ซึ่งศาลก็บังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรดังกล่าว แต่ให้รัฐบาลจ่ายค่าตอบแทนอนุญาตให้ใช้สิทธิในอัตราที่สมเหตุสมผล
ในช่วง ค.ศ. 1940-1950 ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาแทบจะเพิกถอนสิทธิบัตรทุกคดี คือบ่อยครั้งที่ศาลมักจะตัดสินว่าการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing) หรือการบังคับสิทธิตามสิทธิบัตร (patent enforcement) ที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Sherman Act)  เป็นโมฆะ คดีที่สำคัญคือ U.S. v. General Electric Co. et al.  และ Hensley Equip. Co. v. Esco Corp.  นอกจากนี้ศาลยังได้กำหนดมาตรฐานของการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นไว้สูงมาก (Inventiveness)  เช่น ในคดี Cuno Eng. Corp. v. The Automatic Device Corp.  และAtlantic & Pacific Tea Co. v. Supermarket Equipment Corp.  โดยศาลให้เหตุผลว่าการให้สิทธิผูกขาดควรจะต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ หากสิ่งประดิษฐ์นั้นง่ายต่อการคิดค้นหรือค้นพบ การให้สิทธิผูกขาดตามสิทธิบัตรจะส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าผลดี (to be patentable an invention must "reveal the flash of creative genius not merely the skill of the calling.)
แนวคิดดังกล่าวมีมาตลอดในช่วงสงครามโลกและยุคเศรษฐกิจตกต่ำ กฎหมายสิทธิบัตรถูกบดบังโดยแนวคิดของกฎหมายป้องกันการผูกขาดและมาตรการประดิษฐ์ที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย (subjective inventiveness tests) จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นปัจจัยที่ลดแรงจูงใจการประดิษฐ์และเป็นอุปสรรคต่อระบบสิทธิบัตร ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินไม่เอื้อต่อสิทธิบัตรแทบจะทุกคดี สิทธิบัตรแทบทุกฉบับถูกเพิกถอนหรือไม่สามารถใช้บังคับสิทธิได้
ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกามุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น เพราะตระหนักถึงความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทำให้สหรัฐอเมริกาชนะสงครามได้ ประกอบกับหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาก็ขยับมาอยู่ในสถานะประเทศชั้นนำทางด้านเศรษฐกิจของโลก ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงหันมาให้การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้แนวนโยบายการส่งเสริมนวัตกรรมและแนวคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่ขัดแย้งกันก็ได้สร้างความสับสนอย่างมาก รัฐบาลจึงได้ดำเนินนโยบายทบทวนระบบสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาอย่างจริงจัง โดยได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1952 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับจนกระทั่งปัจจุบันนี้ (หมวดที่ 35 ของประมวลกฎหมายสหรัฐอเมริกา) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายสิทธิบัตรนี้เป็นตอบสนองคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในช่วงปี ค.ศ. 1930-1950 และปรับปรุงแนวปฏิบัติของสำนักงานสิทธิบัตรให้มีความคล่องตัวและทันสมัยมากขึ้นด้วย พร้อมทั้งเพิ่มหลักการขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นด้วย (non-obviousness test) ทดแทนหลักมาตรฐานการประดิษฐ์ (Subjective inventiveness test) ซึ่งพัฒนาจนกลายเป็นเกณฑ์ของสหรัฐอเมริกาเอง
ในปี ค.ศ. 1958 รัฐสภาได้ว่าจ้างให้นักวิชาการทำการศึกษาวิจัยการทบทวนระบบสิทธิบัตรในแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ เรียกรายงานฉบับนั้นว่า “Machulp Report” ซึ่งได้ระบุว่ายากที่จะบอกว่าระบบสิทธิบัตรในปัจจุบันมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศจริงหรือไม่ แต่ก็ยากที่จะยกเลิกระบบกฎหมายสิทธิบัตรที่มีมาอย่างยาวนาน ดังนั้น ผลสรุปคือเกิดความไม่แน่ใจในผลกระทบของการยกเลิกระบบสิทธิบัตร จึงเห็นว่าคงระบบสิทธิบัตรไว้จะดีกว่าการยกเลิก ดังนั้น จึงถือว่าในช่วงนี้เป็นยุคแห่งความสับสนในระบบสิทธิบัตรที่เกิดจากศาลและรัฐสภา
ทั้งนี้ รัฐสภาจึงได้วางนโยบายระบบสิทธิบัตรใหม่ โดยการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยการแสดงความชัดเจนในการสนับสนุนระบบสิทธิบัตรอย่างชัดเจนแก้ไขแนวคิดของศาล กล่าวคือกฎหมายสิทธิบัตรฉบับใหม่ได้ลดเงื่อนไขเกี่ยวกับขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Nonobviousness or inventive step requirement) ที่เข้มงวดที่ตั้งไว้โดยศาลลงและลดนโยบายการต่อต้านการผูกขาด กล่าวได้ว่านโยบายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาเริ่มชัดเจนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และศาลในยุคหลังก็ได้เริ่มเปลี่ยนแนวคำตัดสินใหม่ให้สอดคล้องกันแนวนโยบายของกฎหมายสิทธิบัตรฉบับใหม่ด้วย ดังปรากฏในคำพิพากษาสำคัญสามคดีคือ คดี Graham v. John Deere , Calmar, Inc. v. Cook Chemical Co., Colgate-Palmolive Co. v. Cook Chemical Co.  และ Adams v. Jones
  ต่อมาได้มีการทบทวนนโยบายสิทธิบัตรอีกครั้งหนึ่งในราวปี ค.ศ. 1978-1979 ในสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ โดยมีงานวิจัยเรื่องนโยบายนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบสิทธิบัตรหลายประการ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในขณะนั้นได้มีข้อเสนอแนะปรับปรุงระบบสิทธิบัตรใหม่หลายประการ เช่น การปรับปรุงระบบการตรวจสอบสิทธิบัตร การจัดตั้งศาลอุทธรณ์กลางสำหรับสิทธิบัตร (Court of Appeals for the Federal Circuit: CAFC)  ซึ่งถือว่ามีผลกระทบอย่างมากต่อระบบสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมาเพราะได้วางหลักกฎหมายสำคัญอยู่ตลอดมาจนปัจจุบัน  และรัฐบาลก็ได้การออกกฎหมายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เช่น กฎหมาย Bayh-Dole Act และกฎหมาย Stevenson-Wydler Act  เป็นต้น ซึ่งกลไกและมาตรการเหล่านี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญของระบบสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา เพราะในขณะนั้นทางยุโรปเองก็ได้พัฒนาระบบสิทธิบัตรแข่งกับทางสหรัฐอเมริกาคือได้จัดตั้งสำนักงานสิทธิบัตรแห่งยุโรปขึ้น (European Patent Office) ตามความตกลงสิทธิบัตรแห่งยุโรป และในช่วงเวลานั้นเองก็เกิดสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรขึ้น (Patent Cooperation Treaty)  ที่กำหนดกระบวนการเดียวสำหรับการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ระหว่างประเทศ กล่าวคือคำขอเดียวมีผลเท่ากับยื่นคำขอในหลายประเทศและผลของการสืบค้นสิทธิบัตรก็มีผลต่อหลายประเทศ แต่ก็มิได้มีผลเป็นการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรของแต่ละประเทศ
ต่อมาหลังจากปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมาถือว่าเป็นยุคทองของระบบสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกา เพราะมีการผลักดันนโยบายส่งเสริมระบบสิทธิบัตร (Pro-Patent Policy) ในยุคประธานาธิบดีโรนัล เรแกน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบจากการแข่งขันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการแข่งขันจากญี่ปุ่นและยุโรป จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับระบบสิทธิบัตรใหม่ โดยได้เชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศด้วย โดยมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1984 โดยเฉพาะการสร้างกลไกเพื่อลดความขัดแย้งในบริษัทยา (the Drug Price Competition and Patent Term Restoration Act)  และในปี ค.ศ. 1988 ก็ได้เพิ่มเติมหลักการเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันการใช้สิทธิในสิทธิบัตรโดยมิชอบ (the Patent Misuse Reform Act)
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดเกี่ยวกับสิทธิบัตรนี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีแผนแม่บทแต่ประการใด แต่เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันทั้งทางรัฐบาล รัฐสภา ศาล และภาคเอกชน ตัวอย่างเช่น รัฐสภาก็ได้ปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติหลายมาตราของกฎหมายสิทธิบัตร และได้มีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐฯ (CAFC)  เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยคดีอุทธรณ์เกี่ยวกับสิทธิบัตรเป็นการเฉพาะ การขยายขอบเขตอำนาจของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ประกอบกับนโยบายและมาตรการในการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในโครงการร่วมวิจัยและพัฒนา และโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีประสบความสำเร็จ จึงทำให้ภาคเอกชนสนใจในระบบสิทธิบัตรมากขึ้น ดังนั้น ศาลได้ก็เริ่มเปลี่ยนแนวความคิดต่อสิทธิบัตร ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาในคดี Diamond v. Chakrabaty  ในปี ค.ศ. 1980 และคดี Diamond v. Diehr   ในปี ค.ศ. 1981 และขณะเดียวกันศาลอุทธรณ์กลางสหรัฐฯ (CAFC) ก็ได้ตัดสินตามกรอบของศาลสูงสุดสหรัฐฯ
ต่อมาก็ได้มีการเชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรเข้ากับมิติทางการค้าระหว่างประเทศด้วย โดยในรายงาน “Global Competition: The New Reality” ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานของประธานาธิบดีว่าด้วยขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1983-1985 (รายงานฉบับนี้เรียกกันว่า Young Report ) ได้เสนอแนะให้ส่งเสริมการให้ความคุ้มครองทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการประดิษฐ์ทางด้านคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศ โดยการใช้นโยบายทางด้านการต่างประเทศ อาจกล่าวได้ว่ารายงานนี้เป็นจุดก่อให้เกิดบทบัญญัติมาตรา 301 ในกฎหมาย the Omnibus Trade Act of 1988  และส่งผลในการผลักดันข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS Agreement)   ในกรอบของความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มีเนื้อหาครอบคลุมกล่าวคือเนื้อหาในความตกลง TRIPS นั้นครอบคลุมสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแทบทุกสาขาอุตสาหกรรม อาทิเช่น ลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สิทธิบัตร การออกแบบทางอุตสาหกรรม การออกแบบวงจรรวม และการคุ้มครองสารสนเทศที่ไม่เปิดเผย เป็นต้น   โดยมีการยกระดับมาตรฐานการให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นด้วยในระดับโลก รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกและองค์กรกำกับดูแลการปฏิบัติการตามความตกลง TRIPS ด้วย
การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรครั้งสำคัญล่าสุดในปี ค.ศ. 1999 คือ กฎหมายการคุ้มครองนักประดิษฐ์อเมริกา (American Inventors Protection Act of 1999)  โดยได้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎหมายสิทธิบัตรให้สอดคล้องกับการแข่งขันระหว่างประเทศมากขึ้น ตัวอย่างเช่น
การกำหนดให้บริษัทให้บริการเกี่ยวกับส่งเสริมการประดิษฐ์ (Invention promoter) ต้องเปิดเผยข้อมูลกับผู้ใช้บริการก่อนที่มีการลงนามผูกพันในสัญญาให้บริการส่งเสริมการประดิษฐ์ ข้อมูลที่ต้องเปิดเผยต้องมีจำนวนของการประดิษฐ์ซึ่งบริษัทส่งเสริมการประดิษฐ์ได้ดำเนินการให้บริการในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จำนวนของผู้ใช้บริการกับบริษัท จำนวนของผู้ใช้บริการที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการใช้บริการหรือได้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการประดิษฐ์ และชื่อที่อยู่ของบริษัทส่งเสริมการประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
การปรับเปลี่ยนอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบริการใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิให้ชัดเจนและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติทางการค้าในปัจจุบัน กล่าวคือกำหนดข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิบัตรแก่บุคคลที่ได้ประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์นั้นได้หนึ่งปีก่อนที่วันที่ยื่นขอรับคำขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร และมีการใช้สิ่งประดิษฐ์นั้นออกหาผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ก่อนวันที่ยื่นขอรับคำขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร (First inventor defense)
การขยายอายุการให้ความคุ้มครองคำขอรับสิทธิบัตร (Patent term guarantee) ในกรณีที่เกิดจากความล่าช้าของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าเอง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับตั้งแต่วันยื่นคำขอ หากชักช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดกฎหมายก็ขยายอายุความคุ้มครองให้ จึงเท่ากับเป็นการสร้างหรือยกระดับมาตรฐานการทำงานของสำนักงานสิทธิบัตรฯ และในขณะเดียวกันก็สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิตามคำขอรับสิทธิบัตร
การจัดให้มีระบบการประกาศคำขอรับสิทธิบัตรภายใน 18 เดือนสำหรับคำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นครั้งแรกในต่างประเทศ (Domestic publication of patent application published abroad) ซึ่งเดินตามแนวทางของระบบสิทธิบัตรยุโรป เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและขจัดปัญหาการฟ้องร้องผู้ใช้สิทธิบัตรโดยสุจริตที่อาจเกิดตามมาภายหลัง หรือที่นิยมเรียกว่า submarine patent problem
การจัดให้มีกระบวนการขอตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรซ้ำโดยบุคคลที่สาม (Inter Partes Reexamination Procedure) เพื่อให้ระบบการจดทะเบียนสิทธิบัตรมีการความโปร่งใสมากขึ้นเพราะบุคคลภายนอกสามารถขอตรวจสอบความสมบูรณ์หรือความชอบด้วยกฎหมายของสิทธิบัตรได้
การจัดตั้งให้สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (USPTO) เป็นองค์กรอิสระสังกัดกระทรวงพาณิชย์ (Department of Commerce) กล่าวคือ สำนักงานฯมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการดำเนินงานในกิจการของสำนักงานฯอย่างเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้กำกับดูแลด้านนโยบายของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ในประเด็นเรื่องนี้มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในรัฐสภาโดยเฉพาะในเรื่องของเงินรายได้จำนวนมหาศาลของสำนักงานฯ ว่าควรจะจัดสรรอย่างไร
ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ในปี ค.ศ. 2002 คือ the Intellectual Property and High Technology Technical Amendments Act of 2002  และล่าสุดในปี ค.ศ. 2005 ได้มีการเสนอร่างกฎหมายชื่อ Patent Reform Act of 2005 (H.R. 2795) โดยวุฒิสมาชิก Lamar S. Smith ซึ่งเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรฉบับปี ค.ศ. 1952 ครั้งใหญ่ โดยการรับข้อเสนอแนะจากรายงานปี ค.ศ. 2003 ของคณะกรรมการการค้าสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission)  และรายงานปี ค.ศ. 2004 ของ National Academy of Science  ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวคือการเปลี่ยนจากระบบ first to invent เป็น first to file การขยายหลักการสิทธิของผู้ใช้อยู่ก่อน (prior user right) การประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร (patent publication) การอนุญาตให้บุคคลที่สามคัดค้านก่อนรับจดทะเบียนสิทธิบัตร การขยายหลักการใช้สิทธิตรวจสอบสิทธิบัตรซ้ำหลังรับจดทะเบียนสิทธิบัตรและกระบวนการคัดค้านสิทธิบัตร (reexamination and opposition) การยกเลิกหลัก best  mode การปรับปรุงหลักละเมิดโดยเจตนา (willful infringement) การปรับปรุงหลักพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรม (inequitable conduct)  และการจำกัดการขอคำสั่งห้ามชั่วคราว (injunction) เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น