วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นโยบายการคุ้มครองสิทธิบัตรของสิงคโปร์

ในอดีตระบบทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์เป็นระบบที่รับแบบอย่างมาจากระบบของอังกฤษ เนื่องจากเคยเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ คือตั้งแต่ปี ค.ศ. 1937 กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิบัตรของสหราชอาณาจักร (The Registration of UK Patent Laws) มีผลใช้บังคับขยายรวมถึงประเทศสิงคโปร์ด้วยในฐานะที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งภายในระบอบการปกครองของสหราชอาณาจักร สิงคโปร์จึงมิได้มีระบบการรับจดทะเบียนและการตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นของตนเอง กล่าวคือ บุคคลที่ประสงค์จะขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศสิงคโปร์ต้องขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหราชอาณาจักร (UK Intellectual Property Office) ก่อน และเมื่อได้รับความคุ้มครองหรือได้รับสิทธิบัตรจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหราชอาณาจักรแล้ว จึงสามารถขอรับความคุ้มครองในประเทศสิงคโปร์ได้ โดยการแจ้งยืนยันสิทธิของตน (confirmation) พร้อมแสดงหลักฐานการได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ระยะเวลาและขอบเขตของสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศสิงคโปร์นั้น ก็จะได้เท่าที่ได้รับความคุ้มครองในสหราชอาณาจักร ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จึงเท่ากับว่าสิงคโปร์ยอมรับสิทธิบัตรของสหราชอาณาจักร โดยไม่มีระบบสิทธิบัตรเป็นของตนเอง เพราะคนชาติสิงคโปร์เองก็ต้องไปยื่นขอรับสิทธิบัตรในสหราชอาณาจักรก่อนจะมาขอรับรองสิทธิในสิงคโปร์
ต่อมาแม้ว่าสิงคโปร์จะได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้วก็ตาม  กฎหมายสิงคโปร์ก็ยังคงยึดถือระบบเดิมเรื่อยมา โดยอยู่ภายใต้ระบบการจดทะเบียนของกฎหมายสิทธิบัตรของสหราชอาณาจักรตามกฎหมายสิทธิบัตรปี ค.ศ. 1937 (UK Patent Act of 1937) แต่สิงคโปร์ก็ได้พัฒนาระบบรับจดทะเบียนซ้ำ (Re-registration) สิทธิบัตรที่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรมาแล้วจากสหราชอาณาจักรหรือประเทศสมาชิกอนุสัญญาสิทธิบัตรยุโรปขึ้น กล่าวคือ หากผู้ใดได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้วในสหราชอาณาจักรหรือได้รับสิทธิบัตรยุโรปภายในสามปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิบัตรจะต้องมาจดทะเบียนในสิงคโปร์ หากประสงค์จะได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรภายในสิงคโปร์ หลักการแทบทุกอย่างยังคงอิงหลักกฎหมายสิทธิบัตรของสหราชอาณาจักร
จนกระทั่งปี ค.ศ. 1994  รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้พัฒนาเป็นระบบการจดทะเบียนของตนเองโดย ออกกฎหมายสิทธิบัตรฉบับใหม่ คือกฎหมายสิทธิบัตรฉบับปี ค.ศ. 1994 ได้ยกเลิกระบบจดทะเบียนซ้ำของสหราชอาณาจักร และสร้างระบบจดทะเบียนสิทธิบัตรของตนเอง กล่าวคือผู้ประดิษฐ์สามารถจดทะเบียนสิทธิบัตรโดยตรงกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์โดยมิต้องไปจดทะเบียนที่สหราชอาณาจักรก่อน สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองแก่สิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งขยายครอบคลุมถึงการผลิต ใช้ ขาย และนำเข้า ส่วนสิทธิบัตรกระบวนการนั้นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองนอกจากจะคุ้มครองกระบวนผลิตแล้ว ยังครอบคลุมถึงการขายและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการด้วย อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่ากฎหมายสิทธิบัตรของสิงคโปร์นั้นก็ยังคงอิงระบบกฎหมายสิทธิบัตรของสหราชอาณาจักร โดยยึดบทบัญญัติของกฎหมายสิทธิบัตรฉบับปี ค.ศ. 1977 ของสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบ (UK Patent Act of 1977)  ซึ่งแยกสิทธิบัตรการออกแบบ (Design patent) จากกฎหมายสิทธิบัตรที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะสิทธิบัตรการประดิษฐ์เท่านั้น (Utility patent)
แต่เนื่องจากในระยะแรกของการจัดตั้งระบบสิทธิบัตรเป็นของตนเอง สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสิงคโปร์ (Intellectual Property Office of Singapore: IPSO) ก็ยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญและระบบการตรวจสอบสิทธิบัตรที่ดี ดังนั้น ในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรก็ได้ขอความร่วมมือให้สำนักงานสิทธิบัตรของออสเตรเลีย (Australia Patent Office) และสำนักงานสิทธิบัตรของประเทศพันธมิตรเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวแทน ซึ่งเมื่อสำนักงานสิทธิบัตรออสเตรเลียได้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรเสร็จแล้วก็จะจัดส่งคำเห็นมาให้กับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสิงคโปร์  เพื่อรับจดทะเบียนสิทธิบัตร ซึ่งคล้ายกับระบบของสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PCT) โดยที่สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้มีอำนาจรับจดทะเบียนสิทธิบัตร สำนักงานสิทธิบัตรของต่างประเทศเพียงแต่ทำรายงานหรือความเห็นประกอบเท่านั้น
แต่ต่อมาในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1995  ก็ได้มีการแก้ไขอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่ผูกพันไว้ตามความตกลงทริปท์ (TRIPS Agreement) และปรับปรุงแก้ไขปัญหาทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น โดยมีสาระสำคัญดังนี้
นิยามของการประดิษฐ์ที่สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ (patentability) เหมือนกับกรณีของระบบสิทธิบัตรยุโรป (European Patent)
ความใหม่ใช้หลักความใหม่ทั่วโลก (worldwide novelty) ทั้งกรณีสิ่งพิมพ์และการใช้งานการประดิษฐ์ก่อนวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ทั้งนี้ เนื้อหาหรือรายละเอียดทั้งหมดของคำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นก่อนในสิงคโปร์จะทำลายความใหม่ของคำขอหลังจากวันนั้นหรือวันที่ยื่นคำขอครั้งแรก
แก้ไขมาตรา 55 เรื่องการบังคับใช้สิทธิให้สอดคล้องกับมาตรา 31 ของความตกลงทริปท์ โดยศาลสูง (High Court) ของสิงคโปร์จะเป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งการบังคับอนุญาตใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (compulsory licensing)
แก้ไขมาตรา 61 มาตรา 65 มาตรา 65A มาตรา 65B และมาตรา 65C ให้สอดคล้องกับมาตรา 31 โดยจำกัดสถานการณ์ที่รัฐบาลจะสามารถบังคับอนุญาตใช้สิทธิ และกำหนดลักษณะและขอบเขตของการบังคับใช้สิทธิไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น สิทธิการใช้สิทธิบัตรโดยรัฐบาลอาจถูกระงับโดยศาลสูง หากมีการร้องขอจากคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียว่าสถานการณ์ที่ก่อให้การบังคับใช้ได้สิ้นสุดลงแล้ว
แก้ไขมาตรา 67(1) ให้สอดคล้องกับมาตรา 46 ของความตกลงทริปท์  ซึ่งให้อำนาจศาลสูง (High Court) ในการระงับกระทำการหรือทำลายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ละเมิดได้
ยกเลิกมาตรา 13(2) ให้สอดคล้องกับมาตรา 27(3) ของความตกลงทริปท์ โดยการขยายขอบเขตสิ่งที่สามารถขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตร (Patentability) เพราะมาตรา 13(2) ได้กำหนดรายการสิ่งที่ถือว่าไม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ เช่น การค้นพบ (Discovery) หรือกฎทางคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่านายทะเบียนสิทธิบัตรจะไม่สามารถปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรด้วยเหตุไม่สามารถขอรับความคุ้มครองได้
อายุการคุ้มครองสิทธิบัตรยี่สิบปีนับตั้งแต่วันขอรับสิทธิบัตร ค่าธรรมเนียมจะต้องชำระตั้งแต่ปีที่สี่และชำระเป็นรายปี
นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1995 เป็นต้นมา กฎหมายสิทธิบัตรของสิงคโปร์อนุญาตให้มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรโดยอ้างวันที่ยื่นครั้งแรกในต่างประเทศได้ (Priority date) แต่กระบวนการพิจารณารับจดทะเบียนของสิงคโปร์ก็ถือว่ามีลักษณะเฉพาะ (sui generis) เมื่อพิจารณาควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือกระบวนการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรของสิงคโปร์เป็นระบบประเมินตนเอง (Self-assessment) เพราะสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาสิงคโปร์จะไม่ดำเนินการตรวจสอบด้วยตนเอง แต่จะส่งคำขอรับสิทธิบัตรตรวจสอบไปยังสำนักงานสิทธิบัตรของต่างประเทศเพื่อขอให้ช่วยทำรายงานสืบค้นหรือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร หรือผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรอาจยื่นรายงานผลการตรวจสอบสิทธิบัตร (Examination report) ที่ได้รับจากสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศต่อสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์เองก็ได้ เพื่อประกอบการพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตร
อนึ่ง ในระหว่างการยื่นขอรับสิทธิบัตรนั้นจะไม่เปิดโอกาสให้มีการคัดค้านหรือโต้แย้งคำขอรับสิทธิบัตรจากบุคคลภายนอก การพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือไม่เป็นเรื่องระหว่างนายทะเบียนสิทธิบัตรและผู้ยื่นคำรับสิทธิบัตรเท่านั้น ซึ่งเมื่อผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรได้ยื่นรายงานการตรวจสอบสิทธิบัตรแล้วไม่ว่ารายงานตรวจสอบดังกล่าวจะเป็นคุณหรือเป็นโทษกับผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสามารถยื่นขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตรได้ หากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณารับจดทะเบียนสิทธิบัตรตามมาตรา 30 ของกฎหมายสิทธิบัตรให้กับผู้ขอรับสิทธิบัตร ก็จะถือว่าผู้ขอรับสิทธิบัตรกลายเป็นเจ้าของสิทธิบัตรและมีสิทธิตามกฎหมายในสิงคโปร์ ดังนั้น ที่เรียกว่าระบบสิทธิบัตรของสิงคโปร์เป็นระบบประเมินตนเองก็เพราะกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นยกระบวนการแบบกล่าวหาอย่างเป็นทางการ มีแต่เจ้าของสิทธิบัตรเท่านั้นที่รู้จุดอ่อนจุดแข็งของสิทธิบัตรของตนเอง ดังนั้น เจ้าของสิทธิบัตรจึงมีความเสี่ยงในการถูกคัดค้านหรือฟ้องร้อง และสิทธิบัตรอาจถูกเพิกถอนได้ง่าย หากเปรียบเทียบก็คล้ายกับระบบอนุสิทธิบัตรของไทย ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องคดีในศาลได้ง่ายเพราะจะมีการร้องแย้งในประเด็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของสิทธิบัตร
นอกจากนี้ ระบบสิทธิบัตรของสิงคโปร์ยังสงวนสิทธิหรือคุ้มครองนายทะเบียนสิทธิบัตรและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร (Immunity) โดยกฎหมายสิทธิบัตรกำหนดว่านายทะเบียนสิทธิบัตรและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรไม่ต้องรับรองความชอบด้วยสิทธิบัตรที่รับจดทะเบียนตามกฎหมายของสิทธิบัตรและตามสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่สิงคโปร์เข้าเป็นภาคีสมาชิก และไม่ต้องรับผิดในการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรตามกฎหมายสิทธิบัตร หากมีความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบหรือสืบค้นตามกฎหมายกำหนด  ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของกฎหมายสิทธิบัตรของสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ แนวคิดและแนวปฏิบัติของกฎหมายสิทธิบัตรสิงคโปร์เริ่มหันไปอิงระบบกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกามากขึ้น ตัวอย่างเช่น การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 2001 (Patent Act of 2001) เป็นเริ่มเปิดกว้างในการตีความขอบเขตของการประดิษฐ์ที่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขอรับสิทธิบัตรก็ผ่อนคลาย เพื่อให้ขอรับสิทธิบัตรได้ง่าย แต่ใช้ระบบการควบคุมคุณภาพของสิทธิบัตรภายหลังจากให้สิทธิบัตรไปแล้ว (post grant process) ทั้งนี้ อาจจะสะท้อนนิตินโยบายส่งเสริมการขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรของสิงคโปร์เพื่อให้สอดรับกับนโยบายส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาและพัฒนานวัตกรรม ดังนั้น ปัจจุบันระบบกฎหมายสิงคโปร์จึงมีลักษณะผสมผสาน
ต่อมาในปี ค.ศ. 2004 กฎหมายสิทธิบัตรก็ได้รับการแก้ไขปรับปรุงอีกครั้งหนึ่ง  โดยได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินคดีและกระบวนการหลังออกสิทธิบัตรแล้ว การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการปรับปรุงแนวปฏิบัติให้เหมาะสมและปฏิบัติตามพันธกรณีที่สิงคโปร์ผูกพันตามความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา (US-Singapore Free Trade Agreement: USSFTA) โดยได้มีการแก้ไขกฎระเบียบสิทธิบัตรด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขนี้สรุปได้ดังนี้
สร้างทางเลือกให้แก่ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร โดยยอมให้มีกระบวนยื่นคำขอแบบทางด่วน (Fast track) ซึ่งค่าธรรมเนียมการรับจดทะเบียนต้องชำระภายในระยะเวลา 42 เดือน ในขณะที่กระบวนการแบบธรรมดาจะสามารถชำระค่าธรรมเนียมได้ภายในระยะเวลา 60 เดือน
สิงคโปร์ต้องยอมรับหลักสิ้นสุดแห่งสิทธิระดับระหว่างประเทศของสิทธิบัตร (international exhaustion of patent rights) ซึ่งห้ามการนำเข้าซ้อนของสินค้าที่ละเมิดสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
จำกัดอำนาจในการบังคับอนุญาตให้ใช้สิทธิ (compulsory licenses) โดยเหลือเพียงสองเหตุผลคือการเยียวยาพฤติกรรมกีดกันหรือขัดต่อการแข่งขันและการใช้ในลักษณะที่มิใช่เชิงพาณิชย์ในกรณีฉุกเฉิน แต่ต้องเป็นการใช้ที่อนุญาตโดยรัฐบาลเท่านั้น และเจ้าของสิทธิบัตรต้องได้รับค่าตอบแทนด้วย ซึ่งถือว่าจำกัดกว่าหลักเกณฑ์ตามความตกลงทริปท์
จำกัดเหตุผลในการเพิกถอนสิทธิบัตร เพื่อป้องกันการเพิกถอนสิทธิบัตรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น การกระทำในลักษณะเป็นการแจ้งข้อมูลเท็จ การหลอกลวง การไม่เปิดเผยรายละเอียดอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการเพิกถอนสิทธิบัตร
การยอมรับหลัก Bolar provision ที่อนุญาตให้บุคคลที่สามใช้หรือทดลองสิทธิบัตรยา ตลอดจนใช้ข้อมูลสิทธิบัตรได้ในระหว่างที่สิทธิบัตรนั้นยังไม่หมดอายุ โดยไม่ถือเป็นการละเมิด หากเป็นการกระทำเพื่อขอรับสิทธิการทำตลาด
การขยายอายุความคุ้มครองสิทธิบัตรตามแนวปฏิบัติของสหรัฐเมริกาหากหน่วยงานรัฐชักช้าในการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรหรืออนุญาตให้ทำการตลาด คือจะถือว่าล่าช้าหากไม่รับจดทะเบียนภายในระยะเวลาสี่ปีนับตั้งแต่วันยื่นคำขอหรือสองปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นขอตรวจสอบสิทธิบัตร ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินห้าปี
การยอมรับรับจดทะเบียนสิทธิบัตรในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งรวมทั้งสิ่งมีชีวิตอาทิ สัตว์และพืช
หลักเกณฑ์ตาม USSFTA ถือว่าเป็นต้นแบบของความตกลงการค้าเสรีที่สหรัฐเมริกาใช้ในการเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อยกระดับการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาสูงทัดเทียมกับระบบสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาและหวังว่าจะไปกระตุ้นการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศอื่นต่อไป
ในปี ค.ศ. 2005 ได้มีการแก้ไขกฎว่าด้วยสิทธิบัตร (Patent Amendment Rule of 2005) เพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติในการขอรับและจดทะเบียนสิทธิบัตรให้มีความง่าย สะดวกรวดเร็ว และชัดเจน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การสร้างความชัดเจนในเรื่องของการยื่น block extension เป็น 39 เดือนนับจากวันที่ยื่นครั้งแรกในต่างประเทศ การปรับปรุงฟอร์มการแก้รายละเอียดการประดิษฐ์ และการจัดระบบยื่นคำขอสิทธิบัตรและติดต่องานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออินเตอร์เน็ท เป็นต้น
นับตั้งแต่สิงคโปร์มีระบบกฎหมายของตนเอง จำนวนสิทธิบัตรที่ได้รับการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1995 มีสิทธิบัตรที่ได้รับจดทะเบียนจำนวน 1,750 สิทธิบัตร และหากเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 2005 มีสิทธิบัตรได้รับการจดทะเบียนจำนวน 7,680 สิทธิบัตร
ล่าสุดในปี ค.ศ. 2007 สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของสิงคโปร์ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎว่าด้วยสิทธิบัตร ซึ่งยกระดับมาตรฐานของตัวแทนสิทธิบัตร โดยกำหนดให้ตัวแทนสิทธิบัตรที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ต้องยื่นขอรับใบรับรองใหม่นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป และรัฐบาลสิงคโปร์ได้เสนอขอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรต่อรัฐสภาของสิงคโปร์เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty: PTC)  ที่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 เมษายน 2007 ทั้งนี้ กฎของสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) ใหม่มีความยืดหยุ่นขึ้น โดยจะอนุญาตให้ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรสามารถรื้อฟื้นสิทธิในการนับวันยื่นย้อนหลัง (priority date) หากยื่นคำขอรื้อฟื้นก่อน 14 เดือนนับตั้งแต่วันที่ยื่นครั้งแรกในต่างประเทศ ซึ่งกฎหมายสิทธิบัตรของสิงคโปร์ปัจจุบันผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรจะต้องยื่นภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่วันที่ยื่นครั้งแรกตามหลักเกณฑ์อนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม (Paris Convention)  การแก้ไขกฎหมายเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลายื่นออกไปอีกสองเดือน อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขจำกัดการรื้อฟื้นหรือการขยายระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรต้องนำเสนอหลักฐานเพื่อแสดงเหตุผลว่าเป็นการหลงลืมมิใช่เกิดจากความตั้งใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น