วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความเป็นมาของความตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS Agreement)


ในระหว่างการเจรจาการค้ารอบโตเกียว ปี ค.ศ. 1978 คณะทำงานกลุ่มย่อยว่าด้วยเรื่องศุลกากร (Customs Matters) ได้มีการถกกันเรื่องการสร้างกฏเกณฑ์ระหว่างประเทศว่าด้วยการป้อมปรามสินค้าปลอมแปลงในการค้าระหว่างประเทศ และก็เป็นครั้งแรกที่ได้มีการนำประเด็นเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศในเวทีการเจรจา GATT  ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1979 ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้เสนอประเด็นเรื่องสินค้าปลอมแปลงขึ้นพิจารณา และก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประชาคมยุโรป โดยมีการเสนอร่างข้อตกลงว่าด้วยมาตรการลดการนำเข้าสินค้าปลอมแปลง (Draft Agreement on Measures to Encourage the Importation of Counterfeit Goods ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า Draft Anti-Counterfeit Code) ทั้งนี้เป้าหมายหลักของร่างข้อตกลงดังกล่าวคือ การป้องปรามและขจัดการสินค้าปลอมแปลง โดยเฉพาะการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ในร่างข้อตกลงดังกล่าวได้มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ให้ประเทศสมาชิกแก้ไขกฎหมายและการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้ทรงสิทธิโดยชอบในทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยึดสินค้าที่ต้องสงสัยว่าปลอมแปลงหรือละเมิดสิทธิดังกล่าวได้ ณ พรมแดน โดยให้เหตุผลของการเสนอร่างดังกล่าวว่าสินค้าปลอมแปลงได้ก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ผลิตสินค้าโดยชอบและยังเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย  รวมทั้งการต่อสู้กับการค้าสินค้าปลอมแปลงอาจนำไปสู่การเลือกประติบัติได้ (Discrimination) ดังนั้น GATT ควรเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้
ในเรื่องดังกล่าวนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอินเดียและบราซิลได้โต้แย้งการนำประเทศเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศในเวทีของ GATT โดยให้เหตุผลว่า การนำการเจรจาการค้ามาเชื่อมโยงกับการขจัดสินค้าปลอมแปลงนั้นอาจนำไปสู่การเลือกประติบัติและอุปสรรคใหม่ ๆ ต่อการค้าอันชอบธรรม และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ซึ่งเป็นหน่วยงานพิเศษภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอยู่แล้ว ดังนั้น GATT ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว นอกจากนี้การเข้าไปยุ่งเกี่ยวของ GATT อาจก่อให้เกิดความสับสนอำนาจหน้าที่และบทบาทขององค์กร ในประเด็นนี้ได้มีการถกเถียงกันยาวนานและมีความเห็นที่ค่อนข้างจะขัดแย้งและแตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา แต่ในท้ายที่สุด ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งในการบรรจุเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้ารวมในเวทีการเจรจา GATT คือแรงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศพัฒนาใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ในตอนแรงดูจะลังเลกับเรื่องดังกล่าว หันมาให้การสนับสนุนในเรื่องนี้  และปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือสหรัฐอเมริกาค่อย ๆ ใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจบีบบังคับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาให้หันมาสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตามร่างข้อตกลงดังกล่าวก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ทันในการเจรจารอบโตเกียว ดังนั้น ร่างข้อตกลงดังกล่าวก็ต้องล้มไป
ต่อมาในการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยในปี ค.ศ. 1982 ประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้พยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดยในการปฏิญญารัฐมนตรี (Ministerial Declaration) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 1982  ได้บรรจุประเด็นเรื่องมาตรการที่เกี่ยวกับสินค้าปลอมแปลงรวมอยู่ด้วย  โดยได้ประกาศว่าบรรดาประเทศสมาชิกได้มอบหมายให้เลขาธิการของ GATT ไปดำเนินการศึกษาในเรื่องความเหมาะสมในการบรรจุเรื่องสินค้าปลอมแปลงในกรอบของ GATT และหากผลการศีกษาพบว่ามีความเหมาะสมก็ให้หารือกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น WIPO เพื่อจะหาบทสรุปที่เหมาะสมเกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายและองค์กร และในการนี้เองได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อศึกษาเรื่องนี้ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญบางส่วนจาก WIPO ด้วย  อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่มีการศึกษาในประเด็นดังกล่าวอยู่นั้น บรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ  ได้ต่อต้านการนำเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเชื่อมโยงกับการเจรจาการค้าใน GATT แต่บรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทางเอเซียที่ถูกบีบโดยอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปให้การสนับสนุนการรวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไว้ในการเจรจารอบใหม่นี้
คณะผู้เชี่ยวชาญได้สรุปถึงความเชื่อมโยงระหว่างการค้าระหว่างประเทศกับสินค้าปลอมแปลง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าคณะผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ในเรื่องสินค้าปลอมแปลงที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าเท่านั้น และคณะผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าหลักเกณฑ์ในระดับระหว่างประเทศมีความเหมาะสมมากกว่าในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่สำหรับในประเด็นเรื่องความเหมาะสมของ GATT ในการเป็นองค์กรร่วมในเรื่องการค้าสินค้าปลอมแปลงนั้น คณะผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นที่แตกแยกกัน จึงเสนอว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นทางด้านนโยบาย และไม่สามารถสรุปได้ในขั้นตอนของผู้เชี่ยวชาญ ควรปล่อยให้เป็นการตัดสินใจในระดับของการประชุมรัฐมนตรีที่ตัดสินใจในระดับนโยบาย
ต่อมาในการประชุมระดับรัฐมนตรี ณ เมือง Punta del Este ประเทศอุรุกกวัย ได้มีการบรรจุเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การค้าบริการและการลงทุนเข้าในกรอบการเจรจาการค้ารอบใหม่เข้าในวาระเพื่อพิจารณา และในปฏิญญานรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 1986 ได้ประกาศความเชื่อมโยงของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงมีความประสงค์ที่จะสร้างหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศในสินค้าปลอมแปลงภายใต้กรอบการเจรจาการค้า GATT  ดังนั้น การเจรจาว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญานี้จึงได้รวมอยู่ในการเจรจาของกลุ่ม 11 ของคณะกรรมาธิการเจรจาการค้าในหัวข้อ “ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า รวมทั้งการค้าสินค้าปลอมแปลง” การบรรจุเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไว้ภายใต้กรอบของ GATT นั้น ได้มีให้เหตุผลว่าจุดประสงค์ของการดำเนินการร่วมใน GATT นั้นมิได้มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาว่าอะไรคือสินค้าปลอมแปลงแต่อย่างใดไม่ วัตุประสงค์ที่แท้จริงคือการรับรองกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพเท่านั้น ฉะนั้น เรื่องนี้จึงมิใช่เรื่องที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจแต่ผู้เดียว WIPO มีขอบอำนาจในการสร้างมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่ขณะเดียวกัน GATT ก็มีขอบอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับการค้าสินค้าปลอมแปลงที่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ จึงไม่มีความขัดแย้งกันในเรื่องขอบอำนาจ (Jurisdiction) แต่ประการใดกับ WIPO
ภายหลังจากการที่มีการประกาศปฏิญญารัฐมนตรีที่เมือง Punta del Este ความขัดแย้งในเรื่องความเชื่อมโยงเรื่องการค้าสินค้าปลอมแปลงกับกรอบการเจรจาการค้าภายใต้ GATT ก็ยุติลง ประเทศสมาชิกจึงหันมาเจรจาตกลงกันถึงขอบเขต (Scope and Coverage) ของความตกลง TRIPS ในที่สุดก็ได้ข้อยุติว่าควรมีการเจรจาในประเด็น ดังต่อไปนี้
(1) หลักการขั้นพื้นฐานของ GATT
(2) มาตรฐานขั้นต่ำของการได้มา ขอบเขตและการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
(3) มาตรการที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอในการใช้บังคับ
(4) กระบวนการระงับข้อพิพาท
(5) บทบัญญัติช่วงปรับเปลี่ยน
(6) หลักการ หลักเกณฑ์และแนวทางเกี่ยวกับการค้าสินค้าปลอมแปลง
การเจรจาในเรื่องดังกล่าวยืดเยื้อจนกระทั่งใกล้การประชุมระดับรัฐมนตรีที่ Brussels ในเดือนธันวาคมที่จะต้องจบการเจรจารอบอุรุกกวัยที่ยืดยาวออกมากว่าที่กำหนดไว้เดิม มีร่างข้อตกลงสองร่างเสนอต่อที่ประชุมคือ ร่างข้อตกลงที่เสนอโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและแคนาดา ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแทบทุกประเภท  และอีกร่างหนึ่งเป็นของกลุ่ม 14 ประเทศกำลังพัฒนาที่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องวิธีการทางศุลกากรในการใช้บังคับสินค้าปลอมแปลงเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์เท่านั้น  ซึ่งในขณะนั้นมีปัญหาว่าควรจะเลือกร่างข้อตกลงฉบับไหนเพื่อเสนอประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน อย่างไรก็ตาม การปิดการเจรจาก็ได้เลื่อนออกไปเป็นเดือนธันวาคม 1991 การประชุมเจรจาเพื่อตกลงในร่างข้อตกลงดังกล่าวนี้จึงมีโอกาสในการประนืนอทฃมกันตลอด 1 ปี ในที่สุดที่ประชุมก็ได้ประนีประนอมท่าทีกันโดยตกลงมอบหมายให้เลขาธิการ GATT นาย Arthur Dunkel รับไปรวมและปรับปรุงแก้ไขร่างข้อตกลงทั้งสอง ท้ายที่สุดร่างข้อตกลงที่ร่างโดยนาย Dunkel ก็ได้รับการรับรองโดยเสียงส่วนใหญ่จากบรรดาประเทศสมาชิก อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ แต่เวลาก็งวดสั้นเข้ามา ประเทสสมาชิกที่ยังคงไม่เห็นด้วยในบางประเด็นของร่างข้อตกลง Dunkel ก็ตกลงที่จะรับรองร่างดังกล่าว แต่ก็ได้เพิ่มเติมเงื่อนเวลาไว้ในร่างดังกล่าวว่าในประเด็นที่ยังมีปัญหานั้น ต้องมีการมาตกลงเจรจากันใหม่ หรือเรียกว่า (Built-in Agenda) และในที่สุดความตกลง TRIPS ก็ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกและกลายเป็นข้อตกลงหนึ่งในกรรมสารสุดท้ายรอบอุรุกกวัยที่มีการลงนาม ณ เมือง Marrakech วันที่ 15 พฤษภาคม 1994

2. ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า
ข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ความตกลง TRIPS”) เป็นข้อตกลงหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงองค์การค้าโลก ความตกลง TRIPS นี้เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ครอบคลุมการคุ้มครองและบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญากว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา กล่าวคือเนื้อหาในความตกลง TRIPS นั้นครอบคลุมสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแทบทุกสาขาอุตสาหกรรม อาทิเช่น ลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สิทธิบัตร การออกแบบทางอุตสาหกรรม การออกแบบวงจรรวม และการคุ้มครองสารสนเทศที่ไม่เปิดเผย เป็นต้น
ความตกลง TRIPS ได้ก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าของบรรดาประเทศสมาชิกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศกำลังพัฒนาและด้วยพัฒนาทั่วโลก ทั้งนี้เพราะความตกลง TRIPS มีวัตถุประสงค์หลักในอันที่จะยกระดับและวางกรอบมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Standards) ต่อการให้ความคุ้มครองที่มีประสิทธิผลและเพียงพอต่อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสากลโลก  ความตกลง TRIPS มิได้วางหลักเกณฑ์เฉพาะแต่ในเรื่องมาตรฐานของการคุ้มครองเท่านั้น หากแต่ยังได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องขอบเขตของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท การบังคับใช้กฎหมาย การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกและองค์กรกำกับดูแลการปฏิบัติการตามความตกลง TRIPS ด้วย ดังนั้น ประเทศสมาชิกของความตกลง TRIPS จึงมีพันธกรณีในการอนุวัตรกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักการของความตกลง TRIPS

2.1 บทบัญญัติทั่วไปและหลักการพื้นฐาน (General Provision and Basic Principles)

2.1.1 ลักษณะและขอบเขตของพันธกรณี
ความตกลง TRIPS ได้กำหนดว่าประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการให้บทบัญญัติของความตกลง TRIPS มีผลบังคับใช้ในกฎหมายภายในของตน ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะให้ความคุ้มครองมากกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้ แต่การคุ้มครองดังกล่าวจักต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติของความตกลง TRIPS และในการอนุวัติการกฎหมายภายในนั้น ประเทศสมาชิกจะมีอิสระในการกำหนดวิธีที่ตนเองพิจารณาว่าเหมาะสมในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของ TRIPS เช่น การให้ความคุ้มครองการออกแบบสินค้าอุตสาหกรรม ประเทศสมาชิกอาจเลือกให้ความคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรหรือบัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะก็ได้ เพียงแต่ต้องให้ความคุ้มครองตามที่ความตกลง TRIPS ได้กำหนดไว้เป็นขั้นต่ำ

2.1.2 หลักการพื้นฐานของความตกลง TRIPS
ความตกลง TRIPS ได้วางหลักการเหมือนกับข้อตกลง GATT อาทิเช่น หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment)  ซึ่งกำหนดว่าประเทศสมาชิกจะต้องให้ความคุ้มครองแก่คนชาติของประเทศสมาชิกอื่นที่ไม่ด้อยไปกว่าที่ให้กับคนชาติของตนเองในเรื่องเกี่ยวกับคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored-Nation Treatment: MFN)  ที่วางหลักว่าบรรดาข้อได้เปรียบ ความอนุเคราะห์ เอกสิทธิ์ หรือความคุ้มกันต่าง ๆ ที่ประเทศสมาชิกใด ๆ ให้แก่คนชาติของประเทศสมาชิกอื่นใด คนชาติของประเทศสมาชิกอื่นทั้งปวงจะได้รับด้วยทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข  อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้นหลักการทั้งสองไว้บางประการเพื่อความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับทางปฏิบัติในความเป็นจริง เช่น การให้การปฏิบัติที่แตกต่างเนื่องจากความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือทางยุติธรรม และการปฏิบัติตามพันธกรณีตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิม เป็นต้น

2.1.3 ความสัมพันธ์กับอนุสัญญาที่มีอยู่เดิม
สำหรับความสัมพันธ์กับอนุสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่เดิมนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) อาทิเช่น อนุสัญญากรุงปารีส (Paris Convention for Protection of Industrial Property) อนุสัญญากรุงเบอร์น (Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works) อนุสัญญากรุงโรม (Rome Convention for the Protection of Performers, Producers of Phonograms and Broadcasting Organizations) หรืออนุสัญญากรุงวอชิงตันว่าด้วยการคุ้มครองวงจรรวม (Treaty on Intellectual Property in Respect of Integrated Circuits: Washington Treaty) ซึ่งความตกลง TRIPS ได้วางหลักว่าพันธกรณีภายใต้ความตกลง TRIPS นั้นมิได้ขัดแย้งกับพันธกรณีของอนุสัญญาที่มีอยู่เดิมดังกล่าวข้างต้นนั้นเพราะเจตนารมณ์แท้จริงของความตกลง TRIPS เป็นมาตรการเสริม (Supplementary) เพื่อทำให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิเช่น ความตกลง TRIPS ได้อ้างถึงพันธกรณีของอนุสัญญาอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิมด้วย ว่าประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติการตามด้วย  ทั้งนี้สาระสำคัญและรายละเอียดของการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศแต่ละอนุสัญญาจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้การคุ้มครองเป็นสำคัญด้วย

2.1.4 วัตถุประสงค์ของความตกลง TRIPS
ความตกลง TRIPS เป็นการเชื่อมโยงประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเข้ากับการค้าระหว่างประเทศ โดยในบทนำของความตกลง TRIPS ได้กล่าวเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องสนับสนุนให้มีการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีเพียงพอและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการบิดเบือนและอุปสรรคที่เกิดกับการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากการขาดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ  แต่ก็ตระหนักว่าการให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้นมิได้เป็นสิ่งเด็ดขาด (Absolute) หรือเป็นพันธกรณีเด็ดขาด (Exclusive Obligation) ถึงแม้บรรดาสมาชิกประสงค์ที่จะให้มีการลดการบิดเบือนและอุปสรรคที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศโดยคำนึงถึงความจำเป็นที่จะส่งเสริมให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิผลและเพียงพอ แต่บรรดาสมาชิกจักต้องทำให้มั่นใจด้วยว่ามาตราการและวิธีการดำเนินการที่ใช้บังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่กลายเป็นอุปสรรคต่อการค้าอันชอบธรรมและไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติในทางการค้าระหว่างประเทศ
ฉะนั้น ภายใต้หลักปรัชญาของความตกลง TRIPS การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามิได้เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดและสุดท้าย (not an end in itself) หากแต่วัตถุประสงค์ลำดับแรก ๆ ของของความตกลง TRIPS เน้นที่นโยบายสาธารณะของประเทศมากกว่า ดังจะเห็นได้จากอารัมภบทในบทนำที่กำหนดหลักการที่ให้ความสำคัญต่อจุดประสงค์ด้านนโยบายสาธารณะของระบบแห่งชาติต่าง ๆ ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งวัตถุประสงค์ด้านการพัฒนาและเทคโนโลยีด้วย  ทั้งนี้ ความตกลง TRIPS ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของข้อตกลงว่าการให้ความคุ้มครองและการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาควรจะต้องเกื้อหนุนวัตถุประสงค์ของนโยบายสาธารณะ เช่น การส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการแพร่กระจายของเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ร่วมกันของผู้ผลิตและผู้ใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีในลักษณะที่อำนวยผลต่อสวัสดิภาพทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างความสมดุลของสิทธิและพันธกรณีภายใต้ความตกลง TRIPS ให้บังเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ความตกลง TRIPS ได้กล่าวถึงหลักการที่ใช้ในการตีความความตกลง TRIPS ว่าการบัญญัติหรือแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในของตนนั้น ประเทศสมาชิกอาจใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสาธารณสุขและโภชนาการและเพื่อส่งเสริมประโยชน์สาธารณะในภาคต่าง ๆ ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีของตนภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามาตรการดังกล่าวจักต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งความตกลง TRIPS  ความตกลง TRIPS ยังได้ยอมรับถึงความจำเป็นพิเศษของประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศด้วยพัฒนาที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่ยืดหยุ่นมากที่สุดในการอนุวัตรการกฎหมายและระเบียบภายในของประเทศตามพันธกรณีของความตกลง TRIPS เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่มั่นคงและเหมาะสมขึ้นมาได้
จากวัตถุประสงค์และหลักการดังกล่าวข้างต้นของความตกลง TRIPS จะเห็นได้ถึงการแสดงออกเจตนารมณ์ของความตกลง TRIPS ในการรับรู้และให้ความสำคัญแก่สาธารณสุขและโภชนาการส่วนรวม โดยได้เปิดโอกาสให้บรรดาสมาชิกซึ่งอาจมีความจำเป็นในการใช้มาตราการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอันมิชอบโดยผู้ทรงสิทธิบัตร หรือการใช้แนวทางปฏิบัติซึ่งจำกัดการค้าโดยไม่มีเหตุผล หรือเป็นผลเสียหายต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ และเช่นเดียวกันหลักการนี้ได้แสดงถึงเจตนารมณ์เบื้องหลังถึงความจำเป็นที่ควรมีการตีความและการปรับใช้มาตราการที่เหมาะสมในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในอันที่จะไม่ก่อให้มีการใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในทางมิชอบ ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลย์ให้บังเกิดขึ้นระหว่างประชาชนผู้บริโภคของประเทศโดยรวมและสิทธิประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิบัตรที่พึงมีพึงได้

2.1.5 การสิ้นสุดแห่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Exhaustion of Rights)
ประเด็นเรื่องการสิ้นสุดแห่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญานั้น นับว่าเป็นประเด็นที่เป็นลักษณะเฉพาะกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งความตกลง TRIPS ได้แสดงเจตนารมย์ไว้อย่างชัดเจนว่าเรื่องนี้ปล่อยให้เป็นเรื่องของแต่ละประเทศ  ความตกลง TRIPS ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายเนื่องจะไม่สามารถได้ข้อสรุปที่แน่ชัดจากบรรดาประเทศสมาชิก แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าที่จริงแล้วข้อตกลง GATT ได้ครอบคลุมเรื่องดังกล่าวนี้ไว้แล้วในประเด็นการนำเข้าซ้อน เช่น มาตรา 23(1)(b) มาตรา 10 (d) และมาตรา 24 เป็นต้น อย่างไรก็ตามความตกลง TRIPS ได้กำหนดว่าหลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติและหลักการประติบัติเยี่งชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งนั้นยังคงมีผลใช้บังคับครอบคลุมในเรื่องหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสิ้นสุดแห่งสิทธิ
                                   
2.2 มาตรฐานการได้มา ขอบเขตและการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Standard Concerning the Availability, Scope and Use of Intellectual Property Rights)


(ก) ลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง (Copyrights and Related Rights)
ความตกลง TRIPS ได้กำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการให้ความคุ้มครองทั้งลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียง (“neighboring rights” or “related rights”) รวมทั้งคอมพิวเตอร์โปรแกรมด้วย ทั้งนี้ความตกลง TRIPS ได้พยายามประสานกับหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิข้างเคียงระหว่างประเทศที่มีอยู่เดิมคือ อนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม (Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic Works) อนุสัญญาลิขสิทธิ์สากล (Universal Copyright Convention) และอนุสัญญากรุงโรมว่าด้วยการคุ้มครองนักแสดง ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงและองค์การแพร่เสียงแพร่ภาพ (Rome Convention for the Protection of Performers, Producers of Phonograms and Broadcasting Organizations) ทั้งนี้ ความตกลง TRIPS ระบุว่าประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามมาตรา 1 ถึง 21 ของอนุสัญญากรุงเบอร์น ปี ค.ศ. 1971 โดยยกเว้นมาตรา 6 ทวิ เรื่องสิทธิทางศีลธรรม   ดังนั้น หลักการต่าง ๆในอนุสัญญากรุงเบอร์น จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานขั้นต่ำที่บรรดาประเทศสมาชิกของความตกลง TRIPS ที่แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของอนุสัญญากรุงเบอร์นต้องปฎิบัติตามด้วย
อนุสัญญากรุงเบอร์นได้กำหนดประเภทของงานที่ได้รับความคุ้มครอง เงื่อนของการได้รับความคุ้มครอง อายุการคุ้มครอง สิทธิของผู้สร้างสรรค์ ข้อยกเว้นสิทธิของผู้สร้างสรรค์ และบทบัญญัติพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ งานต่าง ๆ ที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้อนุสัญญากรุงเบอร์นรวมถึง งานวรรณกรรม งานศิลปกรรม งานสถาปัตยกรรม และงานภาพยนตร์ เป็นต้น ซึ่งงานต่าง ๆ เหล่านี้มุ่งเน้นที่ความสวยงามและสุนทรียภาพเป็นสำคัญ แต่ก็ได้มีการขยายประเภทของงานที่ได้รับความคุ้มครองครอบคลุมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ด้วย สำหรับสิทธิต่างๆ ของผู้สร้างสรรค์ของงานที่ได้รับความคุ้มครองคือ สิทธิทำซ้ำ สิทธิในการจำหน่ายจ่ายแจก สิทธิโฆษณา หรือสิทธิดัดแปลง เป็นต้น น่าสังเกตว่าการให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ภายใต้อนุสัญญากรุงเบอร์นไม่ต้องมีรูปแบบเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง (Without Formulation)
ความตกลง TRIPS ได้กำหนดหลักการบางอย่างเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเบอร์น จึ่งมีการกล่าวกันว่าความตกลง TRIPS เป็นอนุสัญญากรุงเบอร์นเสริม (Berne-plus) เช่น (1) การให้ความคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยกำหนดว่าประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (computer programs) ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของรหัสโปรแกรม (source code) หรือรหัสภาษาสำหรับเครื่อง (object code) ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองในลักษณะงานประเภทวรรณกรรมภายใต้อนุสัญญากรุงเบอร์น  (2) การให้ความคุ้มครองงานการรวบรวมข้อมูล (compilations of date)  และ (3) การให้ความคุ้มครองสิทธิในการเช่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์และงานภาพยนตร์ (rental rights)
นอกจากนี้ความตกลง TRIPS ยังได้บัญญัติหลักการบางอย่างซึ่งได้ปรากฏอยู่แล้ว โดยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ปรากฏความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การระบุหลักการพื้นฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์ว่า การคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นจะคุ้มครองเฉพาะการแสดงออกซึ่งความคิด (Expression of Ideas) แต่ไม่รวมถึงถึงความคิด กรรมวิธี วิธีปฏิบัติ หรือแนวความคิดทางคณิตศาสตร์  หรืออายุการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ เว้นแต่งานภาพถ่ายหรืองานศิลปะประยุกต์ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองไม่น้อยกว่า 50 ปีนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตหรือนับตั้งแต่วันที่มีการตีพิพม์หรือเผยแพร่งานดังกล่าว โดยคำนวณจากวันสุดสิ้นของปีปฏิทิน  เป็นต้น ความตกลง TRIPS ยังได้ระบุหลักการเกี่ยวกับข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ว่าประเทศสมาชิกต้องกำหนดข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นสิทธิของผู้สร้างสรรค์ได้แต่เฉพาะกรณีพิเศษบางกรณีเท่านั้น ซึ่งจะต้องไม่ขัดแย้งกับการแสวงหาผลประโยชน์โดยปกติสามัญของงาน และไม่ทำให้เสื่อมเสียโดยไม่มีเหตุผลต่อประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ทรงสิทธิ   สำหรับเรื่องสิทธิข้างเคียงนั้น ความตกลง TRIPS ก็ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องคุ้มครองสิทธินักแสดง (rights of performers) สิทธิของผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียง (rights of phonograms) และสิทธิขององค์กรแพร่ภาพกระจายเสียง (rights of broadcasting organizations)

(ข) เครื่องหมายการค้า (Trademarks)
หลักเกณฑ์ระหว่างประเทศว่าด้วยการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้านั้นมีมานานแล้วโดยปรากำอยู่ในมาตรา 6 – 10 ในอนุสัญญากรุงปารีส ซึ่งความตกลง TRIPS ก็ได้บรรจุหลักการเหล่านั้นไว้ในความตกลง TRIPS ด้วย  ในความตกลง TRIPS ยังได้กำหนดหลักการบางอย่างเพิ่มเติมเพื่อเสริมหลักการในอนุสัญญากรุงปารีสและเพื่อความชัดเจน ตัวอย่างเช่น ความตกลง TRIPS ได้ให้คำนิยามเครื่องหมายการค้าไว้เพื่อสร้างความชัดเจนในการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ซึ่งอนุสัญญากรุงปารีสมิได้กำหนดไว้แต่อย่างใด ทั้งนี้ความตกลงได้นิยาม “เครื่องหมายการค้า” ว่าคือ สัญลักษณ์ใด ๆ หรือการรวมกันของสัญลักษณ์ที่มีลักษณะที่สามารถจำแนกสินค้าหรือบริการของกิจการหนึ่งออกจากสินค้าหรือบริการของกิจการอื่นถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้า ซึ่ง “สัญลักษณ์”นั้นรวมถึง คำ ชื่อบุคคล ตัวอักษร ตัวเลข ส่วนประกอบของภาพ การรวมกันของสี และการรวมกันของสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น  และความตกลง TRIPS ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายทางการค้าด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานขั้นต่ำในกระบวนการและดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เช่น ประเภทของเครื่องหมายการค้าที่สามารถขอรับจดทะเบียนได้ เงื่อนไขการขอรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และการประกาศจดทะเบียน การคัดค้านและการยกเลิกการจดทะเบียน เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตกลง TRIPS ได้กำหนดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนว่ามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะป้องกันมิให้บุคคลที่สามซึ่งมิได้รับอนุญาต ใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันในทางการค้ากับสินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันที่ได้จดทะเบียนไว้ หากการใช้นั้นอาจก่อให้เกิดความสับสนขึ้นได้ (Likelihood of Confusion) และความตกลง TRIPS ยังได้กำหนดต่อไปอีกว่าในกรณีที่มีการใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนกันกับสินค้าหรือบริการที่เหมือนกัน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจก่อให้เกิดความสับสนขึ้นได้  อีกทั้งความตกลง TRIPS ยังได้รับรองการให้ความคุ้มครองครอบคลุมถึงเครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองและเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง (Well-known Marks) ด้วย  แต่ก็อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดข้อยกเว้นสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าไว้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์อันชอบธรรมของเจ้าของเครื่องหมายการค้าและของบุคคลที่สามด้วย
สำหรับเรื่องอายุการคุ้มครองนั้น ความตกลง TRIPS ได้กำหนดว่าการจดทะเบียนและต่ออายุเครื่องหมายการค้าแต่ละครั้งต้องมีกำหนดไม่ต่ำกว่า 7 ปีและประเทศสมาชิกต้องยอมให้มีการต่ออายุเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนได้ตลอดไปด้วย  รวมทั้งได้กำหนดหลักการเรื่องเงื่อนไขการใช้เครื่องหมายการค้าด้วย กล่าวคือหากไม่มีการใช้เครื่องหมายการค้าภายในระยะเวลา 3 ปี หน่วยงานของรัฐก็สามารถเพิกถอนหรือยกเลิกการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้  แต่ทั้งนี้ประเทศสมาชิกจะต้องไม่กำหนดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดอื่นเป็นพิเศษสำหรับการคงไว้ซึ่งสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนด้วย  ในท้ายที่สุดความตกลง TRIPS ได้กำหนดว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้ามีสิทธิที่จะโอนเครื่องหมายการค้าโดยไม่จำเป็นต้องโอนกิจการที่ใช้กับเครื่องหมายการค้านั้นด้วย และบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory License) นั้นไม่มีผลใช้บังคับกับเครื่องหมายการค้า

(ค) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications)
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภายใต้ความตกลง TRIPS มีสองประเภท คือ ในมาตรา 22 ได้กำหนดหลักเกณฑ์บางอย่างเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ใช้กับสินค้าทุกประเภท และมาตรา 23 ได้กำหนดการให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมในเรื่องไวน์และสุรา ทั้งนี้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในความตกลง TRIPS มีความหมายคือสิ่งบ่งชี้ที่แสดงสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในดินแดนของประเทศสมาชิก หรือภูมิภาคหรือท้องถิ่นใดในดินแดนนั้น ซึ่งคุณภาพชื่อเสียง หรือลักษณะเฉพาะอื่นที่มีอยู่ของสินค้ามีส่วนที่สำคัญมาจากแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น  ซึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้ความตกลง TRIPS ต้องประกอบด้วย (1) สินค้ามีความเกี่ยวข้องกับคุณภาพ ชื่อเสียง หรือลักษณะเฉพาะอย่างอื่นที่มาจากแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น และ (2) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต้องอ้างถึงแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์
วัตถุประสงค์ของการให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ก็เพื่อต้องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบเกี่ยวกับสินค้าถึงคุณภาพ ชื่อเสียงและลักษณะพิเศษเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น และเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น ความตกลง TRIPS กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองผู้ทรงสิทธิในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยให้ผู้มีส่วนได้เสีย (interested parties) สามารถห้ามผู้หนึ่งผู้ใดใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับสินค้าที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ที่แท้จริงในลักษณะที่ทำให้สาธารณชนหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้าหรือเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม  รวมทั้งประเทศสมาชิกจะต้องปฏิเสธหรือเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีหรือประกอบด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวกับสินค้าที่มิได้มีแหล่งกำเนิดในดินแดนหรือท้องถิ่นที่ระบุหรือชี้แนะไว้ หากการใช้สิ่งบ่งชี้ดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่อาจทำให้สาธารณชนหลงผิดเกี่ยวกับสถานที่อันแท้จริงของแหล่งกำเนิดนั้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐนั้นดำเนินการเองหรือผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ  ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียภายใต้ความตกลง TRIPS อาจหมายความรวมถึงผู้ผลิตประเภทของสินค้าที่อยู่ในแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ที่มีการอ้างในสินค้า หรือผู้นำเข้าสินค้าจากแหล่งกำเนิดสินค้าที่แท้จริงด้วย แต่ความตกลง TRIPS ได้กำหนดข้อยกเว้นการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไว้หลายประการ เช่น การใช้อย่างต่อเนื่อง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่กลายเป็นชื่อสามัญทั่วไป การใช้เครื่องหมายทางการค้าที่จดทะเบียนโดยสุจริต การใช้ชื่อบุคคล และสิ่งบ่งชี้นั้นไม่มีการใช้ในประเทศแหล่งกำเนิดนั้นแล้ว เป็นต้น
ในกรณีของไวน์และสุรานั้น ประเทศสมาชิกต้องกำหนดวิธีการทางกฎหมายสำหรับผู้มีส่วนได้เสียที่จะป้องกันมิให้มีการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่แสดงไวน์และสุราที่มิได้มีแหล่งกำเนิดจากสถานที่ที่ระบุไว้ในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่แสดงไว้ แม้แต่ในกรณีที่แหล่งกำเนิดที่แท้จริงของสินค้ามีการระบุหรือใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในคำแปลหรือมีสิ่งแสดงประกอบ ในลักษณะเช่น ชนิด ประเภท แบบ การเลียนแบบ หรือถ้อยคำอย่างหนึ่งอย่างใดที่คล้ายกัน  นอกจากนี้ประเทศสมาชิกก็ต้องห้ามการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้าจำพวกไวน์และสุรา  อย่างไรก็ตาม การให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องไวน์และสุรายังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในบางประเด็น ดังนั้นในความตกลง TRIPS จึงได้กำหนดเงื่อนเวลาไว้ว่าประเทศสมาชิกต้องมาเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง (built-in agenda)  เช่น ประเด็นการจัดตั้งระบบระหว่างประเทศสำหรับประกาศแจ้งและจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับไวน์และสุรา และการเพิ่มการให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต่อบุคคล (Individual Geographical Indications) เป็นต้น

(ง) การออกแบบทางอุตสาหกรรม (Industrial Designs)
ความตกลง TRIPS ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกให้ความคุ้มครองการออกแบบทางอุตสาหกรรม ซึ่งมีความใหม่ (New) และมีความคิดริเริ่ม (Original) ซึ่งโดยหลักแล้วการออกแบบทางอุตสาหกรรมให้ความคุ้มครองรูปร่างความสวยงามของวัตถุ ซึ่งรวมถึงลายเส้น สีสัน และรูปร่าง เป็นต้น อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกอาจไม่ขยายการให้ความคุ้มครองการออกแบบทางอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมการออกแบบที่ถูกกำหนดโดยคำนึงถึงเทคนิคหรือการทำงานของแบบเป็นสำคัญก็ได้ (Functional utility)  ดังนั้น อุตสาหกรรมทางด้านสิ่งทอ เครื่องใช้ประจำบ้าน อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และรถยนต์ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการให้ความคุ้มครองการออกแบบทางอุตสาหกรรม
ผู้ทรงสิทธิการออกแบบทางอุตสาหกรรมมีสิทธิห้ามมิให้ผู้อื่นที่ไม่ได้รับความยินยอมในการทำซ้ำ ขายหรือนำเข้าสิ่งของซึ่งมีแบบซึ่งลอกเลียนเพื่อความมุ่งหมายทางการค้า ทั้งนี้อายุการให้ความคุ้มครองต้องอย่างน้อย 10 ปี แต่อย่างไรก็ตามในความตกลง TRIPS ก็ได้อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดข้อยกเว้นที่มีข้อจำกัดการคุ้มครองการออกแบบอุตสาหกรรมได้ แต่ข้อจำกัดดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของการออกแบบนั้นโดยปราศจากเหตุผล และไม่ทำให้เสื่อมเสียโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรต่อประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ทรงสิทธิ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์อันชอบธรรมของบุคคลที่สามด้วย
สำหรับกรณีของสิ่งทอนั้น ความตกลง TRIPS ได้กำหนดว่ากระบวนการขอรับความคุ้มครองการออกแบบทางอุตสาหกรรม เช่น การตรวจสอบความใหม่หรือการประกาศโฆษณา เป็นต้น โดยเฉพาะการออกแบบสิ่งทอจะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายที่สูงหรือล้าช้าโดยไม่สมเหตุสมผล  ทั้งนี้เพราะ โดยปกติการออกแบบสิ่งทอจะล้าสมัยอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงควรได้รับการคุ้มครองที่รวดเร็ว ในประเทศที่กำหนดให้มีการจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองแบบสิ่งทอ ท้ายสุดเป็นที่น่าสังเกตว่าความตกลง TRIPS ได้ให้ทางเลือกแก่ประเทศสมาชิกในการเลือกที่จะให้ความคุ้มครองการออกแบบทางอุตสาหกรรมโดยกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายลิขสิทธิ์ก็ได้

(จ) สิทธิบัตร (Patents)
ในความตกลง TRIPS ได้ขยายขอบเขตของสิทธิบัตรให้ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีทุกสาขา รวมทั้งสิทธิบัตรยาและเทคโนโลยีชีวภาพด้วย  กล่าวคือ มาตรา 27 ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีในทุกสาขาเทคโนโลยี โดยมีเงื่อนไขว่าการประดิษฐ์นั้นเป็นสิ่งใหม่ (Novelty) โดยเกี่ยวข้องกับขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventive Step) และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ (Industrial Application) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการให้มีสิทธิบัตรตลอดจนสิทธิในสิทธิบัตรนั้น ประเทศสมาชิกจะต้องให้โดยไม่มีการเลือกประติบัติ (without discrimination) ในเรื่องสถานที่ของสิ่งประดิษฐ์ (the place of invention) สาขาของเทคโนโลยี (the field of technology) และไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะถูกนำเข้าหรือผลิตในประเทศนั้น (whether products are imported or locally produced)
อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกสามารถยกเว้นไม่ให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์ในบางลักษณะได้ เช่น
- การประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- วิธีวินิจฉัย อายุรกรรม และศัลยกรรมสำหรับมนุษย์หรือสัตว์
- สัตว์ และพืช ที่มิใช่จุลชีพ
- กรรมวิธีทางชีววิทยาที่จำเป็นสำหรับการผลิตพืชและสัตว์ ที่มิใช่กรรมวิธีทางชีววิทยาและจุลชีววิทยา
อย่างไรก็ตามความตกลง TRIPS ก็ยังได้ตระหนักถึงความจำเป็นทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา จึงได้มีบทบัญญัติผ่อนผันให้ว่าหากประเทศสมาชิกใดที่ยังไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยามาก่อน ก็สามารถชะลอการให้ความคุ้มครองไว้ระยะหนึ่ง คือ 5 ปี สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและ 10 ปีสำหรับประเทศด้วยพัฒนา แต่ในระหว่างเวลาที่ผ่อนผันนั้น ประเทศสมาชิกที่ได้รับการยกเว้นนั้น ยังคงต้องปฏิบัติการตามพันธกรณีบางประการเพื่อรองรับการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร เช่น การรับคำขอสิทธิบัตรล่วงหน้า (Mail-Box Rule) การตรวจสอบคำขอสิทธิโดยใช้มาตรฐานเทคโนโลยีขณะยื่นขอรับสิทธิบัตรหรือ การให้สิทธิการทำตลาดแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Marketing Right) เป็นต้น  ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดต่อไป
ความตกลง TRIPS ได้กำหนดให้อายุการคุ้มครองสิทธิบัตรมีอย่างน้อยอายุ 20 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตร และอายุการคุ้มครองสิทธิตามบทบัญญัตินี้รวมถึงสิทธิบัตรยาด้วย  กล่าวคือประเทศสมาชิกจะให้ความคุ้มครองยาวกว่า 20 ปีก็ได้ แต่จะให้ความคุ้มครองสั้นกว่าไม่ได้ เช่น บางประเทศอาจขยายระยะเวลาการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปเนื่องจากต้องการชดเชยระยะเวลาของสิทธิบัตรที่ต้องสูญเสียไประหว่างขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนยา  และสำหรับการเพิกถอนหรือยกเลิกสิทธิบัตรก่อนหมดอายุนั้น ความตกลง TRIPS ได้กำหนดว่าประเทศสมาชิกจะต้องให้โอกาสกับผู้ทรงสิทธิบัตรสามารถร้องขอต่อศาลที่จะทบทวนคำวินิจฉัยเหล่านั้นได้
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ความตกลง TRIPS ได้ขยายขอบเขตและสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรกว้างขึ้น อาทิเช่น ผู้ทรงสิทธิบัตรสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ใช้ เสนอขาย ขายหรือนำเข้าซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิบัตร หรือผู้ทรงสิทธิบัตรในกรรมวิธีมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้กรรมวิธี และการใช้ เสนอขาย ขายหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากกรรมวิธีที่ได้รับสิทธิบัตร นอกจากนี้ ความตกลง TRIPS ยังรองรับว่าผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิที่จะโอนหรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิก็ได้  แต่สำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธินั้น ความตกลง TRIPS ได้อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดมาตรการควบคุมหรือจำกัดการใช้สิทธิบัตรโดยมิชอบได้ (Control of Patent Abuse)  เช่น การออกกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือเพื่อควบคุมมิให้ผู้ทรงสิทธิบัตรใช้วิธีการที่มีผลให้เกิดการจำกัดทางการค้าหรือเป็นผลเสียหายต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ความตกลง TRIPS ได้ระบุว่าประเทศสมาชิกสามารถกำหนดหลักการสิ้นสุดของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้ด้วย (Exhaustion of Intellectual Property Rights)  ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรที่มีอยู่เหนือผลิตภัณฑ์ภายใต้สิทธิบัตร เมื่อผู้ทรงสิทธิบัตรได้นำผลิตภัณฑ์นั้นออกจำหน่ายหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น
สำหรับสิทธิบัตรในกรรมวิธีนั้น ความตกลง TRIPS ยังได้กำหนดให้มีข้อสันนิษฐานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ทรงสิทธิบัตรในกรรมวิธีว่า ในกรณีที่มีการพิสูจน์การละเมิดสิทธิบัตรในกรรมวิธีในทางแพ่งนั้น ประเทศสมาชิกต้องรับหลักการเหล่านี้ไว้ในกฎหมายภายในของตัวเองว่าในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิสงสัยว่าผู้ใดมีการใช้สิทธิบัตรของผู้ทรงสิทธิเพราะผลิตภัณฑ์มีลักษณะที่เหมือนคล้ายกัน ผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าตนได้ใช้กรรมวิธีอย่างอื่นที่แตกต่าง หากพิสูจน์ไม่ได้ก็จะถือว่าผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างนั้นได้ผลิตขึ้นโดยยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรและมีโอกาสอย่างมากที่ผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นก็จะถูกตัดสินว่าว่ามีความผิดในฐานละเมิดสิทธิบัตรตามที่กล่าวอ้าง  จึงกล่าวได้ว่าบทบัญญัตินี้เป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดให้แก่เจ้าของสิทธิบัตรและผลักภาระต่าง ๆ ทั้งทางกฎหมายและต้นทุนไปยังผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น หลักการการผลักภาระการพิสูจน์นี้อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาภายในประเทศค่อนข้างมาก
นอกจากการกำหนดสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรไว้ ความตกลง TRIPS กำหนดหลักการเกี่ยวกับข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิตามสิทธิบัตรไว้ด้วย (Exceptions to rights conferred) ทั้งนี้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิที่ได้เปิดเผยเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิผูกขาดกับผลประโยชน์ของสาธารณะที่ต้องการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และเป็นไปตามแนวความคิดพื้นฐานของระบบสิทธิบัตรที่ต้องการส่งเสริมความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มิใช่ต้องการกีดขวางการพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ความตกลง TRIPS ได้กำหนดเฉพาะหลักการกว้าง ๆ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดของข้อยกเว้นแต่อย่างใด กล่าวคือมาตรา 30 ของความตกลง TRIPS ได้เปิดโอกาสให้ประกาศสมาชิกสามารถกำหนดให้มีข้อยกเว้นที่มีข้อจำกัดต่อสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้ทรงสิทธิบัตรได้ โดยสามารถอนุญาตให้สิทธิแก่บุคคลที่สามในการนำเอาการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรไปใช้ได้โดยมิจำต้องขออนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตรและไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีเงื่อนไขว่าข้อยกเว้นดังกล่าว จักต้องเข้าตามหลักเกณฑ์ครบทั้ง 3 ประการ (Three steps test)  คือ
1. การกระทำดังกล่าวต้องมีลักษณะที่จำกัด
2. ต้องไม่ขัดแย้งอย่างไม่มีเหตุผล ต่อการแสวงประโยชน์ตามปกติของสิทธิบัตร
3. ต้องไม่เป็นที่เสื่อมเสียโดยไม่มีเหตุผล ต่อผลประโยชน์ต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของเจ้าของสิทธิบัตร โดยคำนึงถึงสิทธิอันชอบธรรมของบุคคลที่สาม  ซึ่งมุ่งที่จะสร้างผลประโยชน์ในทางสมดุลย์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ทรงสิทธิบัตร
อย่างไรก็ดี ข้อยกเว้นดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายกรณี ๆ ไป โดยประเทศสมาชิกมีอิสระในการที่จะกำหนดขอบเขตแนวทางในการนำข้อยกเว้นดังกล่าวไปปรับใช้ต่อกฎหมายภายในของตน ข้อยกเว้นที่มีการกำหนดกันทั่วไปในประเทศต่าง ๆ อาทิเช่น
การนำเข้ามาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร หากผู้ทรงสิทธิบัตรได้ขายผลิตภัณฑ์  หรือการนำเข้ามาในประเทศที่ไม่ได้ให้การคุ้มครองสิทธิบัตรแก่ผลิตภัณฑ์เช่นว่านั้น (Parallel Import)
การกระทำใด ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ในทางพาณิชย์ (Private Use)
การกระทำใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัย  (Experimental use)  แต่ทั้งนี้ จักต้องไม่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ตามปกติของผู้ทรงสิทธิบัตร และไม่ทำให้เสื่อมเสียต่อประโยชน์อันชอบธรรมของผู้ทรงสิทธิบัตรเกินสมควร
การเตรียมยาเฉพาะราย ตามใบสั่งแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ
การผลิตผลิตภัณฑ์หรือการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรโดยสุจริตก่อนวันยื่นขอรับสิทธิบัตรหรือก่อนวันประกาศโฆษณาสิทธิบัตร (Prior Use)
การวิจัยหรือทดลองผลิตภัณฑ์ยาเพื่อขอขึ้นทะเบียนยา โดยผู้ขอมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิต จำหน่าย ซึ่งยา generic ที่มีคุณสมบัติเทียบเคียงยาตามสิทธิบัตรทันทีภายหลังจากสิทธิบัตรดังกล่าวสิ้นอายุลง
นอกจากนี้ ความตกลง TRIPS ยังได้กำหนดหลักการเรื่องการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) ไว้ด้วย ซึ่งมาตรการบังคับใช้สิทธิเป็นมาตรการทางกฎหมายที่รัฐใช้เพื่อบีบบังคับให้มีการใช้งานการประดิษฐ์ภายในประเทศ โดยรัฐจะออกหนังสืออนุญาตให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่ประสงค์จะนำเอาการประดิษฐ์ไปใช้ประโยชน์ โดยไม่จำเป็นต้องขอรับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร มาตรการบังคับใช้สิทธิส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกรณีการไม่มีการใช้งานในสิทธิบัตรนั้น (Non-working of patent) การใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการบังคับใช้สิทธิเป็นข้อยกเว้นหลักการผู้ทรงสิทธิบัตรเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive rights) ในการใช้และแสวงหาประโยชน์ผลประโยชน์ตามปกติของสิทธิบัตรอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ความตกลง TRIPS ได้บัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยกฎหมายบังคับหรือการอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยผู้ทรงสิทธิบัตรไม่สมัครใจต่อเมื่อมีเหตุผลสมควรเข้าตามหลักเกณฑ์กำหนด  โดยมาตรา 31 ของความตกลง TRIPS ได้ระบุถึงเงื่อนไขการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตร และยังรวมถึงการใช้โดยรัฐบาลหรือบุคคลที่สามซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโดยการอนุญาตให้มีการใช้ดังกล่าว จักพิจารณาตามสภาพการณ์ที่สมควรในแต่ละกรณี
ความตกลง TRIPS ได้วางเงื่อนไขเบื้องต้น (precondition) สำหรับกรณีทั่วไปในการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิดังกล่าว ต่อเมื่อมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าก่อนการใช้ดังกล่าว ผู้ขอใช้ได้แสดงความพยายามที่จะขออนุญาตใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจากผู้ทรงสิทธิบัตร โดยได้เสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอสมควรแล้ว แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ภายในระยะเวลาอันสมควร แต่บางกรณีเงื่อนไขเบื้องต้นดังกล่าว อาจถูกยกเว้นได้หากเป็นกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินหรือสภาพการณ์เร่งด่วนอื่น ๆ ของประเทศ หรือเป็นการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์
ในมาตรา 31 ของความตกลง TRIPS ได้วางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการที่รัฐบาลของประเทศสมาชิกจะอนุญาตให้มีการบังคับการใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) ได้ มีดังนี้
ขอบเขตและระยะเวลาของการใช้ดังกล่าว จะถูกจำกัดตามความมุ่งประสงค์ของการที่ได้รับอนุญาตและไม่เกินกว่าพฤติการณ์อันจำเป็นและในกรณีของเทคโนโลยีกึ่งตัวนำจะใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ที่มิใช่เชิงพาณิชย์เท่านั้น
การบังคับใช้สิทธิดังกล่าวจักต้องไม่เป็นการเฉพาะหรือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (Non-exclusive) ซึ่งหมายความว่าผู้ทรงสิทธิบัตรยังคงมีสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตรายอื่น ๆ ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรของตนได้โดยอิสระและผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอนุญาตให้ผู้อื่นต่อไปอีกได้
ผู้รับอนุญาตจากการบังคับใช้สิทธิจะไม่สามารถโอนใบอนุญาตให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่จะโอนกิจการหรือชื่อเสียงในทางการค้าที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ดังกล่าว
การอนุญาตให้ใช้ดังกล่าวจะต้องเป็นไปเพื่อสนองตลาดและความต้องการของประชาชนภายในประเทศเท่านั้นเป็นสำคัญ ไม่สามารถใช้เพื่อการผลิตที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายต่างประเทศ
ผู้ทรงสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนที่เพียงพอตามสภาพการณ์แห่งกรณีโดยคำนึงถึงคุณค่าทางเศรษฐกิจของการอนุญาต
การบังคับใช้สิทธินี้จะต้องถูกยกเลิกได้หากปรากฎว่าเหตุแห่งการอนุญาตได้หมดสิ้นไปและสถานการณ์เหล่านั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีก
ความสมบูรณ์ทางกฎหมายของคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือการกำหนดค่าตอบแทนการอนุญาตนั้น ๆ จะต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาทบทวนทางศาลหรือองค์กรอิสระอื่น ๆ
ในกรณีที่มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ในสิทธิบัตร (“สิทธิบัตรที่สอง”) ซึ่งไม่อาจแสวงหาประโยชน์ได้โดยไม่ละเมิดสิทธิบัตรอีกรายหนึ่ง (“สิทธิบัตรที่หนึ่ง”) ให้ใช้เงื่อนไขเพิ่มเติมว่าสิทธิบัตรที่สองต้องมีวามเกี่ยวข้องกับควาก้าวหน้าทางเทคนิคที่สำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมากเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกอ้างสิทธิในสิทธิบัตรที่หนึ่ง ทั้งนี้เจ้าของสิทธิบัตรที่หนึ่งจะมีสิทธิในการอนุญาตให้ใช้รวมบนเงื่อนไขที่มีเหตุผลในการบังคับใช้สิทธิ และการบังคับใช้สิทธิเช่นว่านั้นจะโอนมิได้ เว้นแต่จะโอนพร้อมกับสิทธิบัตรที่สอง
นอกจากนี้ ความตกลง TRIPS ยังอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถเพิกถอน (Revocation) หรือริบคืน (Forfeiture) สิทธิบัตรหากมีเหตุผลที่สมควรและเหมาะสม อาทิเช่น กรณีสิทธิตามสิทธิบัตรมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ การออกสิทธิบัตรที่ไม่ถูกต้อง หรือกรณีไม่มีการใช้งานสิทธิบัตรนั้นจริงภายในประเทศ แม้ว่าความตกลง TRIPS ไม่ได้ระบุเหตุที่จะเพิกถอนหรือริบคืนสิทธิและเงื่อนไขที่ประเทศสมาชิกจะสามารถเพิกถอนหรือริบคืนสิทธิบัตรไว้อย่างชัดเจนก็ตาม แต่ในอนุสัญญากรุงปารีสข้อ 5(A)(2)-(3)  ได้กำหนดเงื่อนไขไว้สองประการเกี่ยวกับเรื่องนี้ และความตกลง TRIPS ก็ได้อ้างถึงไว้ด้วยว่าให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามด้วย  กล่าวคือการประเทศสมาชิกจะเพิกถอนหรือริบคืนสิทธิบัตรได้ก็ต่อเมื่อมีการบังคับใช้สิทธิบัตรแล้วและมาตรการนั้นไม่เพียงพอที่จะป้องกันการใช้สิทธิบัตรโดยมิชอบ และจะต้องปล่อยให้ระยะเวลาผ่านไปอย่างน้อยสองปีก่อน

(ฉ) การออกแบบผังภูมิวงจรรวม (Layout Designs of Integrated Circuits)
ความตกลง TRIPS ได้บรรจุหลักการและบทบัญญัติบางมาตราในอนุสัญญากรุงวอชิงตัน (Treaty on Intellectual Property in Respect of Integrated Circuits 1989)  และเพิ่มเติมหลักการบางประการ เช่นขอบเขตของการให้ความคุ้มครอง ข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิ และอายุความคุ้มครอง เป็นต้น เพื่อให้มีความชัดเจนและยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าอนุสัญญากรุงวอชิงตันก็ยังไม่มีผลบังคับใช้เนื่องจากมีการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกไม่ครบตามที่กำหนด ดังนั้น ความตกลง TRIPS จึงเป็นการผลักดันให้อนุสัญญากรุงวอชิงตันมีผลใช้บังคับบางส่วนโดยปริยาย แต่ใช้หลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติและการประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งแทนหลักการต่างตอบแทน (Reciprocity) ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญากรุงวอชิงตัน ทั้งนี้ ในอนุสัญญากรุงวอชิงตันได้กำหนดนิยามของการออกแบบผังภูมิวงจรรวม  เงื่อนไขของการให้ความคุ้มครอง มาตรฐานขั้นต่ำของการให้ความคุ้มครอง และข้อยกเว้นสิทธิ เป็นต้น
ภายใต้ความตกลง TRIPS ผู้ทรงสิทธิมีสิทธิอนุญาตหรือห้ามการนำเข้า การขาย การจำหน่ายเพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ซึ่งการออกแบบผังภูมิวงจรรวม วงจรรวมที่ประกอบด้วยการออกแบบผังภูมิที่ได้รับการคุ้มครอง หรือวัตถุที่ประกอบด้วยวงจรรวมซึ่งดังกล่าวเฉพาะในกรณีที่วงจรรวมนั้นมีการออกแบบผังภูมิซึ่งทำซ้ำขึ้นโดยผิดกฎหมาย  ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาจเลือกให้ระบบของการให้ความคุ้มครองโดยระบบจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ หากให้ความคุ้มครองโดยระบบจดทะเบียนอายุของการให้ความคุ้มครองคือ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ยื่นขอรับจดทะเบียนหรือแสวงหาประโยชน์ครั้งแรกไม่ว่าที่ใดในโลก แต่หากประเทศสมาชิกนั้นไม่บังคับการจดทะเบียน อายุการให้ความคุ้มครองคือ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มแสวงหาประโยชน์ครั้งแรกไม่ว่าที่ใดในโลก หรือประเทศสมาชิกอาจเลือกให้ความคุ้มครอง 15 ปี นับตั้งแต่วันที่สร้างสรรค์การออกแบบนั้นก็ได้  นอกจากนี้ ความตกลง TRIPS ได้กำหนดว่าการกระทำบางอย่างไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ทรงสิทธิการออกแบบผังภูมิวงจรรวม เช่น การละเมิดโดยที่ผู้ละเมิดนั้นไม่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าตนเองได้ละเมิด (innocent infringement) หรือเป็นการทำซ้ำแบบผังภูมิวงจรรวมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิศวกรรมย้อนรอย (reverse engineering) หรือเพื่อการศึกษาวิจัย ประเมินและวิเคราะห์เป็นต้น  ฉะนั้น การให้ความคุ้มครองการออกแบบผังภูมิวงจรรวมนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตวงจรรวม อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ

(ช) ข้อมูลที่ไม่เปิดเผยและความลับทางการค้า (Undisclosed Information and Trade Secrets)
ความตกลง TRIPS ได้สร้างปรากฎการณ์ที่สำคัญคือการสร้างหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศว่าด้วยให้ความคุ้มครองความลับทางการค้าหรือข้อมูลที่ไม่เปิดเผย  รวมทั้งแนวปฏิบัติต่อข้อมูลที่ยื่นเสนอต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ได้อ้างถึงหลักการในมาตรา 10 ทวิ ของอนุสัญญากรุงปารีสเป็นกรอบของการให้ความคุ้มครอง ซึ่งความตกลง TRIPS ได้กำหนดว่าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีสิทธิในการป้องกันมิให้ข้อมูลที่อยู่ในความควบคุมของตนโดยชอบด้วยกฎหมายถูกเปิดเผย เอาไป หรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมในลักษณะที่ขัดกับแนวปฏิบัติในเรื่องซื่อตรงต่อกันในเชิงพาณิชย์  ทั้งนี้ ข้อตกลงที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้ความตกลง TRIPS จะต้อง (1) เป็นข้อมูลที่เป็นความลับ (Secret) (2) เป็นข้อมูลที่มีคุณค่าในเชิงพาณิชย์อันเนื่องมาจากเป็นความลับ (Valuation) และ (3) เป็นข้อมูลได้รับการเก็บรักษาความลับหรือควบคุม โดยมีขั้นตอนหรือกระบวนการที่สมเหตุสมผล (Reasonable step)
นอกจากนี้ ความตกลง TRIPS ยังได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้ความคุ้มครองข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งรัฐได้กำหนดให้ต้องส่งมอบหรือเสนอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตให้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและเคมีภัณฑ์ทางเกษตร เพื่อมิให้มีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม

(ซ) การควบคุมทางปฏิบัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขันในการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสัญญา
ความตกลง TRIPS ตระหนักว่าในความจริง ผู้ทรงสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอาจใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นสิทธิผูกขาดโดยชอบด้วยกฎหมายโดยมิชอบ เช่น การกำหนดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดใดที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อการค้าหรือการแข่งขัน และขัดขวางต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี  ดังนั้น ความตกลง TRIPS จึงอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือข้อกำหนดเกี่ยวสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่จำกัดการแข่งขันดังกล่าวได้ รวมทั้งประเทศสมาชิกอาจใช้มาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันหรือควบคุมแนวปฏิบัติเช่นว่านั้น เช่น ข้อกำหนด Grant-back ข้อกำหนดห้ามโต้แย้งความสมบูรณ์ของสัญญาหรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา หรือข้อกำหนดพ่วงขาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ความตกลง TRIPS ก็ยังได้กำหนดกระบวนการปรึกษาขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทในกรณีของประเทศสมาชิกหนึ่งกล่าวหาว่าผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอีกประเทศหนึ่งได้ละเมิดกฎหมายหรือกฎระเบียบว่าด้วยการจำกัดการอนุญาตให้ใช้สิทธิ

2.3 การบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Enforcement of Intellectual Property Rights)
ส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของความตกลง TRIPS คือบทบัญญัติการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ในความตกลง TRIPS ได้วางหลักการขั้นพื้นฐานขั้นต่ำสำหรับประเทศสมาชิกที่จะต้องปฎิบัติตามเพื่อให้การค็มครองทรัพย์สินทางปัญญามีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ผู้ทรงสิทธิบัตรยังมีสิทธิต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากในการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Enforcement of IPRs) กล่าวคือ ความตกลง TRIPS ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม  ซึ่งบรรดาประเทศสมาชิกต้องอนุวัตรการตามด้วย ตัวอย่างเช่น กระบวนการพิจารณาความทางแพ่ง ทางปกครองและทางอาญาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทรงสิทธิบัตรสามารถร้องขอต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ของประเทศสมาชิกที่จะระงับการเข้าออกของสินค้าที่สงสัยว่าละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตน (Special requirements related to border measures) การร้องขอวิธีการบังคับชั่วคราว (Provisional measures) และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายหรือมาตรการเยียวยาได้กว้างขวางมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ มาตรา 41 ของความตกลง TRIPS กำหนดหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้หลักประกันในบทบัญญัติกฎหมายหรือระเบียบภายในของตนบนหลักการพื้นฐานเหล่านี้ คือ กระบวนการเกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องมีความรวดเร็วในการใช้บังคับและป้องกันการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กระบวนการเหล่านี้จะต้องเป็นธรรมและเที่ยงธรรม รวมทั้งต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน ล่าช้าและมีค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร แต่อย่างไรก็ตามกระวนการเหล่านี้จะต้องไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าอันชอบธรรมและปกป้องกันมิให้มีการสิทธิดังกล่าวโดยมิชอบ สำหรับคำวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรและมีเหตุผลประกอบ  รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีในกระบวนการพิจารณาสามารถขอให้มีการพิจารณาทบทวนคำวินัจฉัยของฝ่ายบริหารต่อศาลหรือหน่วยงานอิสระ
นอกจากนี้ ความตกลง TRIPS ยังได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาทางแพ่ง ทางปกครองและทางอาญา รวมทั้งมาตรการทางด้านศุลกากรด้วย  ซึ่งความตกลง TRIPS ได้พยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิกมอบหมายอำนาจในส่วนการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้กับศาลเป็นหลัก เช่น กำหนดศาลจะมีอำนาจดังต่อไปนี้ คือ สั่งให้คู่กรณีที่ครอบครองเอกสารต้องส่งมอบเอกสาร ออกคำสั่งชั่วคราวเพื่อห้ามการกระทำละเมิดหรือเพื่อรักษาพยานหลักฐาน สั่งให้ทำลายหรือทิ้งสินค้าที่ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา สั่งให้ผู้ละเมิดชำระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และดำเนินคดีอาญาในกรณีการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าและสินค้าลิขสิทธิ์อย่างจงใจ เป็นต้น สำหรับหน่วยงานศุลกากรก็มีอำนาจในการกักสินค้าที่ต้องสงสัยว่าละเมิดไม่ให้ออกไปสู่ช่องทางการค้า

2.4 การได้มาและการคงไว้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง (Acquisition and Maintenance of Intellectual Property Rights and Related Inter-Partes)
ความตกลง TRIPS ได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับการได้มาและคงไว้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในระดับระหว่างประเทศ จึงกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาจกำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์บางอย่าง เช่น ขั้นตอนกระบวนการ ขอรับความคุ้มครอง หรือรูปแบบของการขอรับความคุ้มครอง เป็นต้น ที่ให้ผู้ขอรับความคุ้มครองหรือผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาต้องปฏิบัติตาม แต่ทั้งนี้เงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นจะต้องสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับหลักการของความตกลง TRIPS   และยังได้เน้นย้ำว่ากระบวนการหรือขั้นตอนการขอรับความคุ้มครอง เช่น กระบวนการจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้า เป็นต้น ประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการให้ความคุ้มครองโดยมิชักช้าเกินเหตุอันสมควร  นอกจากนี้ คำสั่งต่าง ๆ เกี่ยวกับการเพิกถอน ยกเลิกหรือกระทบต่อสิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญานั้น ประเทศสมาชิกจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องขอให้มีการทบทวนคำสั่งหรือคำตัดสินเหล่านั้นได้ โดยศาลหรือหน่วยงานที่เป็นอิสระ

2.5 การยุติและระงับข้อพิพาท (Dispute Prevention and Settlement)
ความตกลง TRIPS ได้วางหลักเรื่องความโปร่งใส (Transparency) เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งคำวินิจฉัยของศาลและทางบริหาร โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องจัดพิมพ์และเปิดเผยกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งคำวินิจฉัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในข้อตกลงนี้เป็นภาษาประจำชาติเพื่อให้เป็นการทราบกันโดยทั่วไปและต้องแจ้งให้คณะมนตรีทราบด้วย รวมทั้งตอบข้อซักถามจากประเทศสมาชิกอื่นที่มีข้อสงสัยด้วย
สำหรับการปรึกษาและระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับความตกลง TRIPS นั้น มาตรา 64 ของความตกลง TRIPS ได้อิงหลักการระงับข้อพิพาทตามมาตรา 22 และ 23 ของข้อตกลง GATT 1994 แต่ก็ได้ผ่อนผันการใช้หลัก Non violation complaint ในข้อ 1 (b) และ (c) ของมาตรา 23  ออกไปจนถึงปี ค.ศ. 2000 ทั้งนี้เพื่อผ่อนผันให้ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดได้มีช่วงเวลาปรับเปลี่ยนการให้ความคุ้มครองอย่างอิสระและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

2.6 บทบัญญัติว่าด้วยบทเฉพาะกาล (Transitional Arrangements)
ความตกลง TRIPS ได้ตระหนักถึงสถานภาพทั้งทางกฎหมาย เศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกที่มีไม่เท่าเทียมกันในการที่จะปฎิบัติการตามพันธกรณีของความตกลง TRIPS ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ความตกลง TRIPS จึงได้ให้ระยะเวลาเป็นพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาที่จะปฎิบัติตามพันธกรณีของความตกลง TRIPS เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถยกระดับพื้นฐานทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจและระบบกฎหมายให้มั่นคงและเหมาะสมขึ้นมาได้ก่อน  กล่าวคือความตกลง TRIPS ได้กำหนดเงื่อนเวลาว่าประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้วต้องดำเนินการอนุวัตรการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 มกราคม 2539  ส่วนประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและประเทศสมาชิกที่เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากระบบวางแผนจากส่วนกลางไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจะต้องอนุวัตรการตามพันธกรณีของความตกลง TRIPS ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มกราคม 2543 ยกเว้นหลักการพื้นฐานในเรื่องหลักการประติบัติเยี่ยงคนชาติและหลักประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งที่ต้องดำเนินการปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539   สำหรับประเทศด้อยพัฒนานั้นต้องอนุวัตรการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 มกราคม 2549  
สำหรับการให้ความคุ้มครองสิ่งที่มีอยู่เดิมนั้น ความตกลง TRIPS ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่าประเทศสมาชิกไม่มีความจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองสิ่งที่มีอยู่เดิม   และสิ่งที่ตกเป็นสมบัติสาธารณะแล้วด้วย (Public Domain) ก่อนวันที่ความตกลง TRIPS จะมีผลใช้บังคับกับประเทศสมาชิกนั้น   แต่สำหรับกรณีของผลิตภัณฑ์ยาและเคมีภัณฑ์ทางเกษตรนั้น ความตกลง TRIPS ได้กำหนดหลักการไว้เป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิ่งที่มีอยู่เกิมก่อนที่ประเทศสมาชิกจะเริ่มให้ความคุ้มครอง กล่าวคือนับตั้งแต่ความตกลง TRIPS เริ่มมีผลบังคับใช้ (1 มกราคม 2538) ประเทศสมาชิกที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิบัตยาหรือเคมีภัณฑ์เกษตรตามบทเฉพาะกาลมีหน้าที่ต้องสร้างมาตรการหรือกระบวนการรองรับให้มีการยื่นสิทธิบัตรการประดิษฐ์เหล่านั้นได้ (Mail Box Rule) ในระหว่างนั้นและให้ใช้มาตรฐานหรือเกณฑ์ของเทคโนโลยี ณ ขณะที่ยื่นเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร เมื่อประเทศสมาชิกนั้นเริ่มให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรเหล่านั้นตามความตกลง TRIPS นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องให้สิทธิในการทำการตลาดแต่เพียงผู้เดียว (Exclusive Marketing Rights) ด้วยหลังจากผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรเหล่านั้นได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบให้วางจำหน่ายได้ ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิยาและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นการชั่วคราว

2.7 บทบัญญัติว่าด้วยองค์กรและอื่น ๆ (Institutional Arrangements; Final Provisions)
ความตกลง TRIPS ยังได้จัดตั้งคณะมนตรีสำหรับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Council for TRIPS) โดยจะมีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินการตามความตกลง TRIPS โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการตามพันธกรณีของบรรดาประเทศสมาชิก และจัดให้สมาชิกมีโอกาสในการปรึกษาหารือกันในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในเรื่องต่าง ๆ เช่น การดำเนินการะงับข้อพิพาท หรือการอนุวัติการตามพันธกรณีความตกลง TRIPS เป็นต้น
คณะมนตรี TRIPS ได้ทำความตกลงกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อร่วมมือและประสานงานกันในการดูแลหลักเกณฑ์การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะการปฏิบัติตามพันธะกรณีภายใต้ความตกลง TRIPS การประกาศโฆษณาและแปลข้อมูลทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและวิชาการแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดเพื่อให้สามารถยกระดับการให้ความคุ้มครองทรัพยสินทางปัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ลดทอนความสามรถในการแข่งขันของประเทศนั้น

3. การเจรจารอบใหม่
หลังจากการประชุมรอบอุรุกกวัย องค์การการค้าโลกก็ได้จัดให้มีการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสามครั้ง คือการประชุมที่สิงค์โปร์ ในปี ค.ศ. 1996 การประชุมที่เจนีวาในปี ค.ศ. 1998 และการประชุมรอบล่าสุดสุดที่ซีแอตเติล ในช่วงปลายปี 1999 (วันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม ค.ศ. 1999) การประชุมรัฐมนตรี WTO นี้เป็นการประชุมระดับสูงซึ่งจะมีการกำหนดนโยบายการค้า (Policy-making body) ทั้งนี้ ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งองค์การการค้าโลก (The Agreement on Establishing the World Trade Organization) ได้กำหนดให้ต้องมีการประชุมรัฐมนตรี WTO อย่างน้อยสองครั้งต่อปี
ในการประชุมที่ซีแอตเติลนั้นมีความสำคัญค่อนข้างมากเพราะจะมีการทบทวนบางประเด็นที่ครบเงื่อนเวลาหรือประเด็นที่ยังคงคั่งค้างอยู่ที่เกิดจากการอนุวัติการตามความตกลงต่าง ๆ  และประเทศสมาชิกหลายประเทศได้ยื่นข้อเสนออื่น ๆนอกเหนือจากประเด็นที่อยู่ในกรอบการเจรจาเดิมด้วย โดยขอเปิดการเจรจาสำคัญหัวข้อใหม่ ๆ หลายหัวข้อ เช่น ความโปร่งใสในการจัดซื้อของรัฐ นโยบายการแข่งขัน เป็นต้น
สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความตกลง TRIPS นั้น มีหลายประเด็นที่มีการเสนอว่าควรจะเปิดให้มีการเจรจาในการประชุมรัฐมนตรีที่ซีแอตเติล ทั้งที่เป็นประเด็นที่ความตกลง TRIPS นั้นเองบังคับให้มีการทบทวนหรือเจรจาใหม่ (built-in agenda) แต่ยังรวมถึงประเด็นปัญหาเรื่องการปฏิบัติการตามพันธะกรณีของความตกลง TRIPS ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วย ประเด็นในความตกลง TRIPS ที่ได้วางหมายกำหนดการให้มีการนำเข้าเจรจาในการประชุมที่ซีแอตเติล มีดังนี้
(1) มาตรา 23 เรื่องการคุ้มครองเพิ่มเติมแก่สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับไวน์และสุรา
- การกำหนดให้ความคุ้มครองพิเศษแก่สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าไวน์และสุรา นอกเหนือไปจากการที่ให้แก่สินค้าอื่น ๆ
- การกำหนดให้มีการเจรจาเพื่อจัดตั้งระบบการประกาศแจ้งและจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิสาสตร์ระหว่างประเทศ สำหรับสินค้าไวน์และสุรา

(2) มาตรา 27.3 เรื่องสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรได้
มีสองประเด็นคือการกำหนดว่าประเทสสมาชิกอาจไม่ให้ความคุ้มครองด้านสิทธิบัตรแก่พืชและสัตว์ที่ไม่ใช่จุลชีพ และกระบวนการชีวภาพที่จำเป็นสำหรับการผลิตพืชหรือสัตว์ที่ไม่ใช่กระบวนการทางชีววิทยา และจุลชีววิทยา (Non-biological and Microbiological Processes)  ได้มีการ เสนอให้ปรับปรุง Article 27.3.b เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น จุลชีพที่ประเทศสมาชิกจะต้องให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรนั้น จำกัดเฉพาะจุลชีพที่ได้รับการพัฒนาหรือปรับปรุงขึ้นใหม่และต้องไม่รวมถึงจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ
สำหรับในประเด็นในเรื่องการให้ความคุ้มครองพันธุ์พืช ไม่ว่าจะโดยระบบสิทธิบัตรหรือระบบกฎหมายเฉพาะ (Effective Sui Generis System)  คัดค้านการตีความคำว่าระบบ Effective Sui Generis ตามที่ปรากฏใน Article 27.3.b หมายความถึงระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์ใหม่ ฉบับปี 1991 (International Convention for the Protection of New Varieties of Plants หรือ UPOV) เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ผนวกหลักการรับรองสิทธิของเกษตรกรและสิทธิชุมชน สิทธิในสารพันธุกรรมรวมทั้งการแจ้งแหล่งที่มาของสารพันธุกรรม เพิ่มเติมเข้าไปในข้อตกลง TRIPS กล่าวคือเป็นการเสนอให้นำหลักการของ CBD มาผนวกในข้อตกลง TRIPS ด้วยและมีประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศได้เสนอท่าทีดังกล่าวต่อ WTO แล้ว
สถานภาพของกฎหมายไทยปัจจุบันได้ปฏิบัติตามพันธกรณีตาม Article 27.2.b แล้ว สำหรับการคุ้มครองพันธุ์พืชนั้น ประเทศไทยได้เลือกให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชภายใต้ระบบกฎหมายเฉพาะ (Effective Sui Generis System) ประเด็นปัญหาคือ พรบ. พันธุ์พืชของไทยนั้นถือว่าเป็นกฎหมายเฉพาะที่มีประสิทธิภาพตามข้อตกลง TRIPS หรือไม่ เพราะ พรบ.พันธุ์พืชของไทยมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างจากข้อตกลง International Convention for the Protection of New Varieties of Plants หรือ UPOV  ตัวอย่างเช่น กฎหมายไทยบรรจุเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีอยู่เดิมและผสมผสานหลักการบางอย่างของ CBD ไว้ด้วย ดังนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าคณะผู้เจรจาของไทยควรต้องยืนยันว่ากฎหมายเฉพาะตามความหมายของข้อตกลง TRIPS นั้นไม่ได้หมายความถึงเฉพาะข้อตกลง International Convention for the Protection of New Varieties of Plants หรือ UPOV เท่านั้น
ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบางประเทสได้เสนอให้เพิ่มเติมหลักการบางอย่างของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) มาใช้ในความตกลง TRIPS เช่น การตระหนักถึงสิทธิในอธิปไตยของรัฐเหนือทรัพยากรชีวภาพ การแบ่งปันผลประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น

(3) มาตรา 64.2 เรื่องการระงับข้อพิพาท non-violation complaint
ความตกลง TRIPS ได้กำหนดห้ามไม่ให้นำเอาบทบัญญัติของมาตรา 23.1 (b) และ (c) ของความตกลง GATT เรื่อง non-violation complaint มาบังคับใช้กับความตกลง TRIPS เว้นแต่จะพ้นกำหนดเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1995 หลายประเทศได้เสนอขอให้มรการขยายระยะเวลาขอข้อตกเว้นนี้ออกต่อไปอีก

(4)  มาตรา 65  เรื่องการอนุวัติการของประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด
ประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา

       
        อย่างไรก็ตามการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 3 ณ นครซีแอตเติลนั้น ไม่ประสบความสำเร็จดังที่ตั้งเป้าหมายไว้เพราะประเด็นทางการค้าหลาย ๆ ประเด็นยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือบรรลุข้อตกลงกันได้ โดยประธานฯ ในที่ประชุม คือ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา นางชาร์ลีน บาร์เชฟสกี้ได้ขอหยุดพักการประชุมและมอบหมายให้ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก นายไมค์ มัวร์รับไปดำเนินการต่อที่นครเจนีวา โดยหารือกับประเทศสมาชิกว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุนั้นสืบเนื่องมาจาก (1) เวลาอันมีจำกัดในการประชุม ซึ่งตามตารางเวลาที่กำหนดไว้คือ 4 วัน แต่ก็ต้องเสียเวลาไปวันครึ่งอันเนื่องมาจากการปิดกั้นหน้าประตูสถานที่ประชุมของกลุ่มองค์กรที่มิใช่รัฐต่าง ๆ (NGOs) เพื่อขัดขวางมิให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเข้าร่วมประชุมได้ (2) การประชุมครั้งนี้ได้บรรจุประเด็นและเนื้อหาของการประชุมไว้มากเกินไป ประกอบกับประเด็นและเนื้อหาเหล่านั้นมีความยากและสลับซับซ้อน ซึ่งประเทศสมาชิกยังมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถปรับท่าทีเข้าหากันได้ภายในระยะเวลาอันมีอยู่ค่อนข้างจะจำกัด (3) ในบางประเด็นนั้นประเทศสมาชิกมีความเห็นที่แตกต่างกันค่อนข้างมากและมีท่าทีที่ค่อนข้างแข็งกร้าวในจุดยืนของตนเอง จึงยากที่จะมีการประนีประนอมได้ภายในระยะเวลาอันสั้น อาทิ เช่น ความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มเคร์นและสหรัฐอเมริกากับกลุ่มสหภาพยุโรปในเรื่องสินค้าเกษตร หรือความเห็นที่แตกต่างกันของสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นในเรื่องการทุ่มตลาด เป็นต้น  (4) วัฒนธรรมของการประชุม WTO ที่ต้องการให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพไปพร้อม ๆ กันนั้น ทำให้การประชุมต้องยืดเยื้อออกไปเพราะ WTO ประกอบด้วยประเทศสมาชิกถึง 135 ประเทศ แต่มีเวลาจำกัดเพียง 4 วัน จึงทำให้ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ และ (5) ท่าทีของสหรัฐอเมริกาในประเด็นเรื่องการค้าและแรงงาน ที่สหรัฐอเมริกาได้มีท่าที่สนับสนุนให้เชื่อมโยงเรื่องแรงงานเข้ากับการค้า และต้องการให้อยู่ภายใต้กรอบการเจรจาการค้าของ WTO ประกอบกับการจัดตั้งคณะทำงานว่าด้วยเรื่องการค้าและแรงงานอย่างไม่เป็นทางการได้สร้างความไม่พอใจแก่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ รวมทั้งยังเป็นการทำลายบรรยากาศการประชุมเจรจาด้วย
ทั้งนี้ องค์การการค้าโลกก็ได้พยายามสร้างความเชื่อมั่นของประเทศสมาชิกต่อองค์การการค้าให้กลับคืนมา (Confidence-building)

4. ผลกระทบที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นจากความตกลง TRIPS
ก. ผลกระทบที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
ความตกลง TRIPS เป็นข้อตกลงที่มีข้อถกเถียงกันอย่างมากในการเจรจารอบอุรุกวัยในแง่ของวัตถุประสงค์และผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะประเด็นการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ความเห็นในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการตามพันธกรณีของความตกลง TRIPS ของประเทศกำลังพัฒนานั้นแตกแยกออกเป็นสองฝ่ายหลัก ๆ ที่แตกต่างกันสุดขั้ว กล่าวคือในมุมมองของซีกโลกตะวันตกหรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความเห็นชอบต่อการคุ้มครองสิทธิบัตรยาตามความตกลง TRIPS มีความเห็นว่าการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้นก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา และยังเป็นการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วย  นอกจากนี้การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยานั้นยังเป็นแรงกระตุ้นและการเพิ่มขึ้นของการวิจัยและพัฒนายาในระดับท้องถิ่นโดยบริษัทผู้ผลิตภายในประเทศ ผลที่จะตามมาก็คือก่อให้เกิดการพัฒนายาที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของตนและระบบสาธารณสุขของประเทศดีขึ้น รวมทั้งยังส่งผลให้มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นสำหรับเทคโนโลยีขั้นสูงดังกล่าว เสริมสร้างบรรยากาศความเป็นไปได้ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยา และที่สำคัญที่สุดคือ การมีสิทธิบัตรยาส่งผลให้มีการผลิตยาใหม่ ๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนโดยส่วนรวม
แต่ขณะที่ความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยส่วนใหญ่เป็นความเห็นของประเทศกำลังพัฒนาที่กลับมองว่าการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาตามความตกลง TRIPS ก่อให้เกิดผลร้ายต่อประเทศกำลังพัฒนามากกว่าเป็นผลดี ทั้งนี้เพราะการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาจะก่อให้เกิดราคายาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายค่าอนุญาตใช้สิทธิ (Royalty Fee) แก่บริษัทยาของประเทศพัฒนาแล้ว การลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้เพิ่มขึ้นจริงในประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหมือนเดิม เพราะบรรษัทยาข้ามชาติเล็งเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนทุกประเทศและความตกลง TRIPS ทำให้บรรษัทยาข้ามชาติเหล่านี้มีความวางใจที่ส่งยาสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปออกขายในประเทศกำลังพัฒนาได้อย่างสบายใจมากขึ้น เพราะได้รับความคุ้มครองตามความตกลง TRIPS อยู่แล้ว ดังนั้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่สามารถเกิดขึ้นจริง นอกจากนี้การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยายังส่งผลให้บริษัทยาภายในประเทศที่มีขนาดเล็กและไม่มีการทำวิจัยและพัฒนานั้นต้องออกจากตลาดไปเพราะไม่สามารถจะแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างชาติได้
ในการประเมินผลกระทบของความตกลง TRIPS ที่อาจเกิดขึ้นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยประกอบในการพิจารณาหลายประการ เช่น โครงสร้างทางการตลาด สถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภค นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับยา เป็นต้น ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ส่งผลให้แนวความคิดเห็นของแต่ละประเทศมีความหลายหลายแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองในระดับมหภาคและจุลภาคระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) และประเทศกำลังพัฒนา (Developing Countries) ดังนั้น ในส่วนนี้จะแบ่งการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้

1. ผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรม


2. ผลกระทบต่อการแข่งขัน


3. ผลกระทบต่อการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยี


4. ผลกระทบต่อราคาสินค้า


5. ผลกระทบต่อสังคมและสาธารณสุข



5. ข้อเสนอแนะในการรับมือกับผลกระทบจากความตกลง TRIPS
เมื่อได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรยาของความตกลง TRIPS ผลกระทบส่วนใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นไปในทางลบมากกว่าทางบวก ผู้วิจัยจึงขอเสนอมาตรการและกลไกบางอย่างเพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าวให้อยู่บนพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีของประเทศไทยที่จะรองรับได้และไม่ขัดกับพันธกรณีของความตกลง TRIPS ด้วยนั้น มาตรการและกลไกเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม ดังนี้

5.1 มาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันการใช้สิทธิโดยมิชอบของผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
5.1.1  มาตรการควบคุมการใช้สิทธิโดยมิชอบ (Abuse of Patent Rights) กล่าวคือความตกลง TRIPS ได้เปิดช่องให้ประเทศสมาชิกสามารถออกกฎเกณฑ์หรือมาตรการที่เหมาะสมเพื่อควบคุมการใช้สิทธิโดยมิชอบของผู้ทรงสิทธิบัตร ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาจบัญญัติมาตรการเหล่านี้ไว้ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตรหรือกฎหมายป้องกันการผูกขาดหรือกฎหมายอื่นก็ได้ เพื่อป้องกันการใช้สิทธิบัตรโดยมิชอบ ตัวอย่างเช่น
- ข้อกำหนดพ่วงขาย (Tie-in clause)
- ข้อกำหนดถ่ายทอดเทคโนโลยีคืน (Grant-back clause)
- ข้อกำหนดห้ามผู้อนุญาตทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
- ข้อกำหนดห้ามหรือจำกัดปริมาณการส่งออก
- ข้อกำหนดเรื่องการกำหนดราคาขาย
- ข้อกำหนดจำกัดปริมาณการผลิต การขายหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์
- ข้อกำหนดห้ามผู้รับอนุญาตฟ้องร้องหรือต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์
- ข้อกำหนดที่กำหนดให้ผู้รับอนุญาตชำระค่าตอบแทนจากสิทธิบัตรที่หมดอายุแล้ว
- ข้อกำหนดจำกัดอำนาจการจัดการของผู้รับอนุญาต  เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาจกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ไว้ในกฎหมายสิทธิบัตรหรือกฎหมายอื่นก็ได้ เช่น กฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายว่าด้วยสัญญาไม่เป็นธรรม หรือกฎหมายป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เป็นต้น
5.1.2 มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) กล่าวคือความตกลง TRIPS ได้เปิดช่องให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตรได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ในความตกลง TRIPS กล่าวคือ ในกรณีที่พบว่ามีการขายยาภายใต้สิทธิบัตรในราคาที่สูงเกินสมควรหรือไม่เพียงพอสนองต่อความต้องการของประชาชนในประเทศไทยโดยไม่มีเหตุอันสมควร ความตกลง TRIPS อนุญาตให้นำมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing) มาบังคับใช้ต่อผู้ทรงสิทธิบัตรได้ ทั้งนี้หากพฤติการณ์แวดล้อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อคำนึงถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนผู้บริโภคส่วนรวม รัฐบาลสามารถอนุญาตให้บุคคลอื่น (ที่มิใช่ผู้ทรงสิทธิบัตร) ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรนั้นได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร
ทั้งนี้ในการบังคับใช้สิทธิดังกล่าว รัฐควรสร้างมาตรการอื่น ๆมารองรับด้วยเพื่อให้การบังคับใช้สิทธิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีขั้นตอนการดูดซับเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ หรือมีการประสานงานในการแพร่กระจายเทคโนโลยี เป็นต้น
5.1.3 มาตรการนำเข้าซ้อน (Parallel Import) เนื่องจากความตกลง TRIPS ไม่ห้ามในการบังคับใช้มาตรการนำเข้าซ้อน (International parallel import) โดยอนุญาตให้มีการนำเข้าซึ่งผลิตภัณฑ์ยาภายใต้สิทธิบัตรเดียวกันจากประเทศอื่นซึ่งมีราคาต่ำกว่า โดยจะเป็นกลไกที่จะสร้างการแข่งขันในด้านราคา มิให้ถูกผูกขาดโดยบุคคลเพียงรายเดียว มาตรการนี้จะส่งผลดีในแง่ของราคายาที่ลดลง เสริมสร้างการแข่งขันในตลาด และกระตุ้นให้มีการปรับปรุงคุณภาพของยา ในขณะเดียวกัน อาจสร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อผู้ทรงสิทธิบัตรยานั้น
5.1.4 ข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิในกรณีที่เป็นการวิจัยหรือทดลอง (Experimental Use Exception) โดยทั่วไป กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาได้ยกเว้นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีเป็นการวิจัยหรือพัฒนา จะเห็นได้ชัดในกรณีของสิทธิบัตรยา ได้ยกเว้นเรื่องนี้ไว้เพื่อให้สามารถทำการวิจัยและทดลองในระหว่างอายุสิทธิบัตร ทำให้ย่นระยะเวลาระหว่างจุดเวลาที่สิทธิบัตรยาหมดอายุและระยะเวลาที่ยา generic สามารถออกวางจำหน่ายได้ และเพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทผู้ผลิตยา generic สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาล่วงหน้าก่อนที่สิทธิบัตรจะหมดอายุ

5.2 มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรม



5.3



6. บทสรุป

         
ความตกลง TRIPS ได้กำหนดมาตราฐานขั้นต่ำในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต่อประเทศสมาชิกของ WTO ซึ่งเหมาะสมต่อการนำไปปฏิบัติในประเทศที่พัฒนาแล้วมากกว่า โดยมิได้ตระหนักถึงระดับความแตกต่างของการพัฒนาประเทศระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาเช่น ประเทศไทย ความเป็นจริงดังกล่าวส่งผลให้การเจรจารอบอุรุกวัยในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญามิได้ก่อให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริงในประเทศที่ด้อยศักยภาพกว่า แต่กลับเพิ่มภาระและช่องว่างให้แก่ประเทศกำลังพัฒนามากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บทบัญญัติของข้อตกลง  TRIPS ได้ส่งผลกระทบที่น่าจับตามองต่อภาคอุตสาหกรรมยา และประชาชนผู้บริโภคโดยรวม
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายควรศึกษา ทบทวนและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะนโยบายยาในระดับชาติ (National drug policy) ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์และกรอบแนวทางที่สำคัญต่อกฎหมายสิทธิบัตรในปัจจุบัน รวมทั้งเสริมสร้างกลไกหรือเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการลงทุนวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ทุกส่วนจักส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการเข้าถึงยาของผู้บริโภคทั่วไปภายในประเทศ  ตัวอย่างเช่น การให้น้ำหนักความสำคัญแก่บทบัญญัติที่สำคัญยิ่ง (sensitive provisions) ในความตกลง TRIPS โดยเฉพาะหลักการทั่วไปที่เกี่ยวข้องต่อการคุ้มครองสุขภาพ หน้าที่ในการใช้สิทธิบัตรในราชอาณาจักร (obligation to exploit the patent locally) การป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และสิทธิทางการตลาดแต่เพียงผู้เดียวในระหว่างช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงก่อนรับจดทะเบียนสิทธิบัตร (the exclusive marketing rights during transition period)  บทบัญญัติเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อประสิทธิภาพในการนำไปใช้ปฏิบัติ นอกจากนี้การอนุญาตให้มีการนำเข้าซ้อนยาภายใต้สิทธิบัตรที่มีราคาต่ำกว่าในประเทศอื่น ถ้าปรากฏว่ามีการขายยาดังกล่าวในราคาสูงเกินสมควร และเป็นยาที่อยู่ในรายการที่จำเป็นของ WHO มาตราการเช่นนี้ควรถูกระบุไว้ในกฎหมายสิทธิบัตรภายในของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างสมดุลภาพระหว่างสิทธิเด็ดขาดของผู้ทรงสิทธิบัตรยา และหน้าที่รับผิดชอบของผู้ทรงสิทธิบัตรต่อสังคมส่วนรวม



เอกสารอ้างอิง

Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights.
Bale, H.E., (1997), Patent Protection and Pharmaceutical Innovation, 29 N.Y.U.J. Intl.&Pol. 95.
Beier, FK, and Schricker, G., (1996), From GATT to TRIPs-The Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights, ICC Studies.
Correa, C.M., (1999), Intellectual Property Rights and the Use of Compulsory licenses: Options for Developing Countries, TRADE Working Papers, South Centre.
Cottier, T., and Meitinger, I., (1998), The TRIPS Agreement without a Competition Agreement?, Trade and Competition in the WTO and Beyond Conference, Institute of Europe and International Economic Law.
Das, B.L., (1999), The World Trade Organization: A Guide to the Framework for International Trade, Zed Books Ltd.
Fink, C., and Braga, C.A.P., (1999), How Stronger Protection of Intellectual Property Rights Affects International Trade Flows, Working Paper, World Bank.
ICC., (1996), Intellectual Property and International Trade: A Guide to the Uruguay Round TRIPS Agreement, ICC Publication.
Jackson, J.H., (1997), The World Trading System: Law and Policy of International Economic Relations, MIT Press.
Juma, C., (1999), Intellectual Property Rights and Globalization: Implementations for Developing Countries, Science, Technology and Innovation Discussion Paper No. 4, Center for International Development, Harvard University.
Maskus, K.E., (1999), Competition Policy and Intellectual Property Rights in Developing Countries: Interests in Unilateral Initiatives and a WTO Agreement, The WTO/World Bank Conference on Developing Countries’ in a Millennium Round Paper, World Bank.
_____, (1999), Intellectual Property Issues for the New Round, Preparing for the Seattle Ministerial Conference Paper, Institute for International Economics.
_____, (2000), Intellectual Property Rights in the World Economy, (forthcoming), Institute of International Economics: Washington D.C.
_____, (2000), Regulatory Standards in the WTO: Comparing Intellectual Property Rights with Competition Policy, Environmental Protection, and Core Labor Standards, Institute of International Economics: Washington D.C.
MASIPAG, TEBTEBBA Foundation and GRAIN, (1999), Patenting Life? (A Primer on the TRIPs Review).
Mossinghoff, G.J., (1987), Research-Based Pharmaceutical Companies: The Need for Improved Patent Protection Worldwide, 2 J. L. & Tech. 307.
Panagariya, A., (1999), TRIPs and WTO: An Uneasy Marriage, paper presented at WTO Seminar.
Rothnie, W.A., (1993), Parallel Imports, Sweet & Maxwell.
Schankerman, M., (1998), How Valuable is Patent Protection? Estimates by Technology Field, 29 RAND J. Eco. 77.
Schrader, D., (1996), Enforcement of Intellectual Property Rights under the GATT 1994 TRIPS Agreement, CRS Report for Congress, The Library of Congress.
Smarzynska, B.K., (1999), Composition of Foreign Direct Investment and Protection of Intellectual Property Rights in Transition Economies, Working Paper, World Bank.
Subramanian, A., (1999), TRIPS and Developing Countries: The Seatle Round and Beyond, Harvard University/ International Monetary Fund.
Verspagen, B., (1999), The Role of Intellectual Property Rights in Technology Transfer, Paper for the WIPO Arab Regional Symposium on the Economic Importance of Intellectual Property Rights, ECIS, Eindhoven University of Technology and MERIT, Maastricht University.
Vocke, M., (1997), Investment Implications of Selected WTO Agreements and the Proposed Multilateral Agreement on Investment, IMF Working Paper, IMF.
WHO, (1997), Globalization and Access to Drugs: Perspectives on the WTO/TRIPS Agreement, DAP Series No.7.
____, (1998), International Trade Agreements and Their Implications on Health, SEA/RC51/Inf.5.
____, (1998), TRIPS and the Health Sector in the South East Asia Region, WHO.
____, (1996), The Uruguay Round and Health: The Agreement of the World Trade Organization—A Review of Its Impact on Health in Countries of the South-East Region, WHO.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น