วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร ???

ทรัพย์สินทางปัญญามีการให้นิยามความหมายหลายรูปแบบแตกต่างกัน องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้กำหนดความหมายของทรัพย์สินทางปัญญาไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการก่อตั้งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (Convention Establishing the World Intellectual Property Organization) ไว้ว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” (intellectual property) หมายความรวมถึง สิทธิอันเกี่ยวกับงานวรรณกรรม       ศิลปกรรม และวิทยาศาสตร์ การแสดงของศิลปิน นักแสดง การดำเนินการบันทึกและแพร่เสียงแพร่ภาพการแสดงนั้น การประดิษฐ์กรรมทุกประเภทที่เกิดจากความอุตสาหะของมนุษย์ การค้นพบทาง       วิทยาศาสตร์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ และ    ชื่อหรือสิ่งกำหนดอันเกี่ยวกับการค้า การป้องกันการกระทำอันเป็นการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม      ตลอดจนสิทธิอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการสร้างสรรค์ โดยใช้ปัญญาในทางอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ วรรณกรรม และศิลปกรรม

สำหรับในทางกฎหมายนั้นมักจะให้นิยาม “ทรัพย์สินทางปัญญา” หมายถึง สิทธิตามกฎหมายอันเกี่ยวกับผลผลิตจากปัญญาของมนุษย์ เช่น สิทธิของนักประพันธ์ สิทธินักแสดง และสิทธินักประดิษฐ์ เป็นต้น

ทรัพย์สินทางปัญญามีวัตถุแห่งสิทธิเป็นนามธรรม ซึ่งสิทธิที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นสิทธิทางเศรษฐกิจในลักษณะนิเสธสิทธิ (Negative Right) ที่จะกีดกันหรือหวงห้ามผู้อื่นใช้ประโยชน์จาก   ทรัพย์สินทางปัญญาของตนที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา        บางประเภทยังรวมถึงสิทธิทางศีลธรรมหรือธรรมสิทธิด้วย (Moral Right) ฉะนั้น การได้มาและ           ใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาจำเป็นต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย กล่าวคือ ผู้สร้างสรรค์หรือผู้ประดิษฐ์ต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครอง และการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาก็จำเป็นต้องอยู่ในขอบเขตแห่งสิทธิที่กฎหมายรับรอง รวมทั้งการ     ลิดรอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นสิทธิของเอกชน (Private Right) ก็ต้องมีกฎหมายระบุไว้อย่างชัดแจ้งด้วย

ทั้งนี้ ในทฤษฎีทางกฎหมายแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญา ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ประเภทหนึ่ง และสามารถถูกแยกออกจากทรัพย์สินที่มีรูปร่างหรือจับต้องได้ ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาอาจสามารถใช้ประโยชน์ได้แยกต่างหากจากทรัพย์สินที่มีรูปร่างที่ทรัพย์สินทางปัญญานั้นรวมอยู่  เช่น การซื้อเทปเพลงหรือวิดีโอ ผู้ซื้อจะถือว่าเป็นเจ้าของเทปเพลงหรือม้วนวิดีโอในทางกายภาพเท่านั้น สำหรับกรณีของทรัพย์สินทางปัญญานั้น ผู้ซื้อได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการใช้ประโยชน์คือเพื่อฟังหรือชมเพื่อการส่วนตัวเท่านั้น การนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะหรือนำไปให้เช่าต่อนั้น เช่นกรณีของร้านอาหารที่เปิดเพลง สถานีวิทยุ ร้านให้เช่าวิดีโอ หรือร้านบริการคาราโอเกะนั้น      จำเป็นต้องได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ได้สร้างความสับสนกับประชาชนทั่วไปอยู่ค่อนข้างมาก

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่รู้จักกันว่าคือ กลไกทางกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นระบบหรือกลไกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้ผู้ประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์เปิดเผยความรู้ที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยรัฐจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประดิษฐ์และผู้สร้างสรรค์ในรูปแบบของโดยมีสิทธิผูกขาดทางกฎหมายเพื่อเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนกับการเปิดเผยดังกล่าว ทั้งนี้ สิทธิผูกขาดดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นสิทธิในทางเศรษฐกิจที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของตนเองภายในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ในการอุทิศตนทั้งแรงกายและกำลังความคิด รวมทั้ง การลงทุนต่างๆ เพื่อคิดค้นหรือสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคมขึ้นมา ซึ่งการตอบแทนดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นหรือสร้างสรรค์งานที่ดีออกมาอยู่เรื่อยๆ หลังจากหมดระยะเวลาในการให้ความคุ้มครอง ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่หมดอายุแล้วได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจ่ายค่าตอบแทนให้แก่      ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอีกต่อไป โดยทรัพย์สินทางปัญญาที่หมดอายุเหล่านั้นก็อาจเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญที่สามารถนำไปพัฒนาต่อไปจนเกิดวัฏจักรการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นพลวัตรในระบบเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังมีกลไกหลายประการในการสร้างความสมดุลเพื่อให้นวัตกรรมรุ่นต่อมาสร้างพัฒนา หรือเกิดขึ้นได้ เช่น การบังคับใช้สิทธิ ข้อยกเว้นการละเมิดสิทธิ และการใช้สิทธิอย่างเป็นธรรม เป็นต้น

4.3 แนวคิดการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

แนวความคิดหรือเหตุผลในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีหลากหลายเหตุผล   แตกต่างกัน โดยเหตุผลหลักๆ มีดังนี้
เหตุผลทางเศรษฐกิจ
เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประดิษฐ์โดยให้ความคุ้มครองหรือสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจใน      การหาประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวภายในระยะเวลาหนึ่ง หลังจากหมดอายุความคุ้มครองนั้น ทรัพย์สินทางปัญญานั้นถือว่าเป็นสมบัติสาธารณะ (Public Domain) ที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้        ซึ่งสิ่งจูงใจทางด้านเศรษฐกิจดังกล่าวจะกระตุ้นให้มีการเปิดเผยข้อค้นพบใหม่ๆ ต่อสาธารณะ        เพราะการเปิดเผยการประดิษฐ์จะทำให้บุคคลอื่นในสังคมสามารถศึกษาและเข้าใจเกี่ยวกับการประดิษฐ์นั้น โดยสามารถนำไปปรับปรุงหรือพัฒนาต่อไปได้ อันจะนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาการต่อไปอย่างต่อเนื่องเป็นพลวัตร และจะมีผลพ่วงต่อเนื่องไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และในแง่ของผู้ประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ก็จะมีกำลังใจหรือกำลังทรัพย์ในการพัฒนาการประดิษฐ์หรืองาน  สร้างสรรค์ใหม่ๆ ออกสู่สังคมเรื่อยๆ เนื่องจากมีรางวัลตอบแทนในการลงทุนลงแรง นอกจากนี้ การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญายังเป็นการกระตุ้นให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนเพื่อที่จะทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาก
ตัวอย่างเช่น ระบบสิทธิบัตรมีส่วนช่วยต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในการทำการตลาดและการหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากการประดิษฐ์หลายประการ          เช่น ช่วยสร้างแรงจูงใจในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ การเพิ่มผลผลิตและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ  ช่วยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ประโยชน์             สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีใหม่ในทางอุตสาหกรรมและยังส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งการลงทุนจาก      ต่างชาติ หรือช่วยเป็นตัวเร่งในการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ของสิ่งประดิษฐ์และมีความสามารถใน      การถ่ายโอนการใช้ที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

เหตุผลทางด้านศีลธรรม
วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญา คือ การให้ความคุ้มครองแก่   ผู้ประดิษฐ์และผู้สร้างสรรค์ โดยเหตุผลในเชิงความยุติธรรมและเป็นธรรม กล่าวคือ ผู้ประดิษฐ์หรือ     สร้างสรรค์ที่ได้ลงทุนลงแรงทั้งเงินทอง เวลา และสติปัญญาในการประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ ไม่ต้องการให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ โดยการเอาทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่นไปโดยมิชอบ รัฐจึงมีความจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงโดยการให้ความคุ้มครองทางกฎหมาย เพราะหากปราศจากการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายก็จะเป็นการบั่นทอนกำลังใจของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างผลงานดีออกสู่สังคม เพราะผู้ประดิษฐ์หรือผู้สร้างสรรค์อาจรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม นอกจากนี้ หากไม่มีระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอาจก่อให้เกิดวัฒนธรรมของการไม่เคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นในสังคมด้วย นอกจากนี้ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายังประสงค์จะให้เกียรติแก่ผู้สร้างสรรค์และ   ผู้ประดิษฐ์ในการแสดงชื่อว่าตนเองเป็นผู้ประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์ โดยเฉพาะระบบลิขสิทธิ์นั้น ผู้สร้างสรรค์มีสิทธิที่จะห้ามผู้อื่นมิให้กระทำการบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลง หรือกระทำการให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของผู้สร้างสรรค์ และถือว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้สร้างสรรค์หรือผู้ประดิษฐ์ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น