วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประเด็นปัญหาเรื่องการคุ้มครองการประดิษฐ์ของลูกจ้าง

บทนำ
    เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปว่าแนวคิดที่เป็นวัตถุประสงค์หลักของระบบสิทธิบัตรคือ การให้ความคุ้มครองการประดิษฐ์ของผู้ประดิษฐ์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสังคม
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วเป็นที่ยอมรับกันว่าการประดิษฐ์ส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดจากการกระทำของลูกจ้าง (Employee) โดยมีทั้งที่เป็นการกระทำการประดิษฐ์คิดค้นส่วนตัวและร่วมกันทำการประดิษฐ์ในลักษณะทีมงาน (Team work) จึงอาจถือว่าการประดิษฐ์คิดค้นของลูกจ้างเป็นจุดสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากขั้นพื้นฐานไปสู่ระดับสูง และต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่จะเกิดขึ้นมาพร้อมกับการประดิษฐ์ของลูกจ้างซึ่งลูกจ้างจะต้องเผชิญและฟันฝ่านี้ด้วย นั้นคือปัญหาเรื่องสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้าง ซึ่งปัญหาที่เกิดก็คือ สิ่งประดิษฐ์ซึ่งลูกจ้างประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานั้นมักจะไม่มีการขอรับความคุ้มครองสิทธิโดยกระบวนการสิทธิบัตรเนื่องจากสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นจะถูกโอนให้ไปเป็นสิทธิของนายจ้าง(Employers) ตามสัญญาจ้างซึ่งแฝงข้อตกลงการโอนสิทธิการประดิษฐ์ไว้ก่อนการประดิษฐ์ (Pre-invention assignment agreement) โดยปราศจากความเป็นธรรมและอำนาจต่อรอง (Unbalancing of bargaining power) ของลูกจ้าง ลูกจ้างต้องจำยอมทำสัญญาดังกล่าวเพื่อให้ได้งานหรือได้รับการว่าจ้าง
นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาอื่นๆซึ่งเป็นตัวจำกัดการแสวงหาผลประโยชน์ในเชิงการค้าของลูกจ้างซึ่งควรจะพึงได้พึงมีในสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเขาเองเป็นผู้คิดค้นเช่นข้อจำกัดซึ่งกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขตามธรรมเนียมและกฎหมายกำหนด อย่างเช่น การได้รับสิทธิในการใช้สิ่งประดิษฐ์ของนายจ้างซึ่งเรียกว่า Shop Right  หรือกรณีการบังคับให้อนุญาตให้ใช้สิทธิ (Compulsory licenses) ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
        ด้วยปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวนี้ทำให้จะต้องมีการบัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างโดยให้ครอบคลุมไปถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การเป็นเจ้าของสิทธิในสิ่งประดิษฐ์รวมทั้งการจ่ายค่าตอบแทนจากการได้ประโยชน์จากสิทธิในสิทธิบัตรนั้นด้วย(Allocation of patent)  ซึ่งในที่นี้จะทำการเปรียบเทียบหลักการและแนวคิดของระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากลูกจ้างดังกล่าวในของสามประเทศคือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศเยอรมันและประเทศญี่ปุ่น โดยผู้เขียนจะยึดแนวของประเทศสหรัฐฯเป็นหลัก และจะเป็นหลักการและแนวคิดของสิทธิในสิ่งประดิษฐ์จากลูกจ้างโดยความคุ้มครองของกฎหมายโดยสิทธิบัตรเฉพาะในส่วนที่เป็นของแต่ละประเทศเท่านั้นโดยจะไม่กล่าวรวมไปถึงที่เกี่ยวโยงเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศแต่อย่างใด

ความเป็นมาของการคุ้มครองการประดิษฐ์ของลูกจ้าง

โดยทั่วไปความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างนั้นจะเป็นไปตามธรรมเนียมและวิธีการปฏิบัติตามที่กฎหมายแต่ละประเทศกำหนด ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างนั้นโดยสรุปอาจจะพอแบ่งแยกออกเป็น 3 รูปใหญ่คือ
        1) ตราเป็นกฎหมายพิเศษมีชื่อเรียกเฉพาะ (Special law) ซึ่งบางประเทศได้ตราเป็นกฎหมายพิเศษสำหรับสิทธิของลูกจ้างในสิ่งประดิษฐ์ไว้โดยเฉพาะ เช่น ประเทศสวีเดน เดนมาร์ค เยอรมัน และสหภาพโซเวียต
2) กำหนดวางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขว่าด้วยเรื่องสิทธิในสิ่งประดิษฐ์จากลูกจ้างรวมไว้ในกฎหมายสิทธิบัตร เช่นประเทศออสเตรเลีย ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ฮอลแลนด์ อิตาลี และสหราชอาณาจักร
3) กำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในรูปข้อสัญญาหรือยึดถือหลักเกณฑ์และธรรมเนียมปฏิบัติตามระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Contract or Commom law ) การกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะนี้มักจะเป็นประเทศซึ่งใช้กฎหมายระบบคอมมอนลอว์ เช่น ประเทศสหรัฐฯ ไอร์แลนด์และนิวซีแลนด์เป็นต้น โดยจะนำกฎหมายมาบังคับใช้กับสัญญาและระเบียบการจ้างงานที่มีอยู่

ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นแม้จะยึดหลักการและแนวคิดของกฎหมายสิทธิบัตรแห่งสหพันธรัฐ (Federal patent law)เป็นพื้นฐานหลักในการวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องการจัดการสิทธิประโยชน์และการให้ความคุ้มครองสิทธิในสิทธิบัตรก็ตามแต่ก็ยังมิได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ครอบคลุมไปถึงสิทธิการประดิษฐ์ของลูกจ้างแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในเรื่องดังกล่าวนี้จะถือหลักเกณฑ์ตามกฎหมายระบบคอมมอนลอว์ของมลรัฐ (State common law) เป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาและกฎหมายแรงงาน  กล่าวโดยสรุปก็คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินแบ่งแยกสิทธิความเป็นเจ้าของในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างนั้นอยู่ที่การจะต้องพิจารณาว่าได้มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับเรื่องสิทธิและประโยชน์ในสิ่งประดิษฐ์กันไว้ก่อนหรือไม่   และหากมิได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ก็จะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญๆซึ่งเกี่ยวด้วยธรรมเนียมปกติและเงื่อนไขพิเศษซึ่งเกี่ยวข้องระหว่างความสัมพันธ์ของนายจ้างลูกจ้างมาใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาตัดสินกำหนดความเป็นเจ้าของในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างมาใช้เป็นเกณฑ์ ซึ่งในประเทศสหรัฐฯนี้จะอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายของรัฐเป็นเกณฑ์ซึ่งจะมีความแตกต่างกันระหว่างรัฐแต่ละรัฐ
           หากเปรียบเทียบกันระหว่างแนวคิดของกฎหมายสหรัฐฯกับประเทศอื่นเช่นประเทศเยอรมัน จะเห็นว่าประเทศเยอรมันได้บัญญัติกฎหมายซึ่งเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างไว้เป็นกฎหมายพิเศษต่างหาก ซึ่งรู้จักกันดีตามชื่อเรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้าง (the Act of Employees’Invention) ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ตราขึ้นและมีผลบังคับใช้ครั้งแรกในปี 1957 ต่อมาแก้ไขเพิ่มเติมในปี 1994 โดยจุดมุ่งหมายประการแรกของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ต้องการที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างซึ่งโดยส่วนใหญ่ขาดอำนาจในการต่อรองในการจ้างงานและในการทำสัญญาข้อตกลงซึ่งโดยมากได้ถูกกำหนดและจัดแบ่งความเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ไว้โดยนายจ้างอยู่แล้ว ซึ่งกฎหมายนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองถึงระบบการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Reasonable remuneration) ซึ่งจะพึงได้จากการใช้ประโยชน์ในสิ่งประดิษฐ์นั้นด้วย ทั้งนี้ยังมีจุดมุ่งหมายมุ่งไปที่การส่งเสริมให้เกิดงานนวัตกรรมซึ่งเป็นผลอีกทางหนึ่งด้วย
       ในประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายสิทธิบัตรมีผลบังคับใช้ครั้งแรกในปี 1885 มีชื่อเรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตร (Patent Monopoly Act ) ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้มีการแก้ไขหลายครั้งจนกระทั่งล่าสุดเมื่อปี 1909 เปลี่ยนชื่อเป็นพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ปี1909 แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งฉบับล่าสุดนี้ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งว่าด้วยสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างไว้โดยกำหนดให้สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ที่แท้จริงเป็นเจ้าของสิทธิในสิ่งประดิษฐ์นั้น(มิใช่นายจ้างอีกต่อไป

หลักการแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการประดิษฐ์ของลูกจ้าง
           โดยหลักการแนวคิดพื้นฐานนั้นกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อการกำหนดแบ่งสิทธิความเป็นเจ้าของสิทธิบัตรซึ่งได้จากงานประดิษฐ์ซึ่งลูกจ้างได้ทำขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ของการจ้างและตลอดจนสร้างสรรค์หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของระบบการแบ่งจ่ายเงินที่เป็นธรรมเหมาะสมกับคุณค่าของสิ่งประดิษฐ์ซึ่งได้นำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการเป็นเจ้าของสิทธิที่แท้จริงในสิทธิบัตรการประดิษฐ์ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเกิดความสัมพันธ์ในทางการที่จ้าง (Employment Relationship)ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยลูกจ้างเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของในสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในฐานะที่เขาเป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้ประดิษฐ์ที่แท้จริง (Actual and original inventor) ทั้งนี้การประดิษฐ์ที่ต้องอาศัยความชาญฉลาดและแรงงานที่อุตสาหะของลูกจ้างเหล่านี้จนกระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ในระหว่างที่ความสัมพันธ์ในการจ้างยังคงมีอยู่นั้น นายจ้างอาจอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเกิดจากลูกจ้างนั้นได้โดยอ้างเหตุผลที่ว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากลูกจ้างนั้นเป็นการกระทำของลูกจ้างในทางการที่จ้างตามปกติเป็นผลโดยตรงซึ่งเกิดจากการจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้ใช้บรรดาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ สถานที่ และตลอดจนภายใต้ค่าใช้จ่ายของนายจ้าง ซึ่งเป็นส่วนช่วยที่สำคัญก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งหากขาดสิ่งดังกล่าวเหล่านี้ลูกจ้างคงจะไม่ทำการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์นี้หรือคงจะทำการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์นี้ไม่สำเร็จ
       โดยยึดหลักแห่งความยุติธรรม กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างนั้นต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในกรณีทั่วไปที่ว่าโดยปกติในการจ้างนายจ้างมักจะทำสัญญาว่าจ้างซึ่งมีข้อตกลงว่าด้วยการโอนสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ไว้ก่อนทำการประดิษฐ์เสมอ (Pre-invention Assignment Agreement) ซึ่งทำให้ลูกจ้างในสภาวะเช่นนั้นอยู่ในฐานะเสียเปรียบในการต่อรองในเรื่องสิทธิในสิทธิบัตรนับแต่เริ่มทำงาน  ดังนั้น กฎหมายในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในการประดิษฐ์ของลูกจ้างจึงต้องได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรมในการเข้าทำสัญญาว่าจ้างซึ่งมีข้อตกลงในลักษณะที่จะทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบในกรณีนี้โดยผ่านเจตนารมณ์ออกมาในรูปของข้อกำหนดในการจำกัดความไม่เป็นธรรมดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องกำหนดนิยามคำจำกัดความของชนิดความสัมพันธ์ทางการจ้าง(เช่นจ้างแรงงานหรือทำของ)ให้ชัดเจนสำหรับกรณีดังกล่าว อีกทั้งยังจะต้องกำหนดให้ชัดเจนไปอีกว่าอย่างไรคือ การประดิษฐ์ระหว่างการจ้าง (During Employment) หรืออย่างไรคือการประดิษฐ์ภายใต้ทางการที่จ้าง (Under employment) อันจะทำให้เกิดผลที่แตกต่างกัน
        ในแนวการตัดสินของประเทศสหรัฐฯนั้น ความสัมพันธ์ในการจ้างจะพิจารณาจากสัญญาเป็นหลัก โดยทั่วไป ความหมายของลูกจ้างผู้ประดิษฐ์ (Employed Inventor) นั้นจะต้องเริ่มเกิดขึ้นจากการมีสัญญาข้อตกลงระหว่างกันมาก่อนหรือเป็นความสัมพันธ์ตามที่กฎหมายแรงงานของแต่ละรัฐกำหนด เช่น ลูกจ้างหมายถึงบุคคลซึ่งทำงานให้กับนายจ้างและได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนจากนายจ้าง โดยอาจหมายรวมไปถึง กรรมการผู้จัดการ (Director) พนักงานลูกจ้างชั่วคราว (Temporary staff) และลูกจ้างซึ่งทำงานเฉพาะเวลา (Part-time Employee) ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายของแต่ละรัฐกำหนดซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละรัฐ  เมื่อพิจารณาจากคำจำกัดความแล้วก็ยังต้องมาพิจารณากันว่าสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์แบบใด อันจะทำให้ผลการการกำหนดการแบ่งปันความเป็นเจ้าของ ค่าตอบแทนแตกต่างกันไป ซึ่งอาจพอแบ่งจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ คือ
 1. สิ่งประดิษฐ์เฉพาะเจาะจง (Specific invention)
 2. สิ่งประดิษฐ์สามัญทั่วไป (General invention)
 3. สิ่งประดิษฐ์อิสระ (Free invention)

         1. สิ่งประดิษฐ์เฉพาะเจาะจง (Specific invention)หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากงาน” (Service invention) ก็คือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งทำขึ้นภายใต้ความประสงค์และค่าใช้จ่ายของนายจ้างกล่าวคือนายจ้างได้ว่าจ้างให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะเป็นการจ้างงานซึ่งในกรณีโดยหลักทั่วไปแล้วนายจ้างจะเป็นผู้มีสิทธิในสิ่งประดิษฐ์เฉพาะเจาะจงนี้
       2. สิ่งประดิษฐ์สามัญทั่วไป (General invention ) ก็คือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้กระทำขึ้นภายใต้ค่าใช้จ่ายของนายจ้างทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน แต่มิได้เป็นการเฉพาะเจาะจงตามความประสงค์แห่งความมุ่งหมายที่นายจ้างต้องการในทางการที่จ้าง กล่าวคือสิ่งประดิษฐ์สามัญทั่วไปซึ่งได้ทำขึ้นโดยลูกจ้างนอกวัตถุประสงค์ของการจ้างงาน นอกเหนือขอบเขตงานที่ลูกจ้างต้องทำในทางการที่จ้างแต่ในการประประดิษฐ์นั้นได้ใช้บรรดาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเวลาสถานที่ทำงานของนายจ้างทั้งหมด ซึ่งในกรณีนี้จะเกิดปัญหาในเรื่องความเป็นเจ้าของสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดขึ้นแต่การนี้ว่าจะตกแก่ฝ่ายใด ซึ่งคงต้องพิจารณาจากเงื่อนไขต่างๆซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ของการจ้างแรงงานนั้นๆ
     3. สิ่งประดิษฐ์อิสระ (Free invention ) คือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งลูกจ้างได้ทำขึ้นนอกวัตถุประสงค์ของทางการที่จ้าง นอกขอบเขตของงานซึ่งลูกจ้างต้องทำในทางการที่จ้าง และกระทำขึ้นโดยมิได้อาศัยประโยชน์จากบรรดาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ สถานที่และเวลาหรือรับความช่วยเหลือใดๆจากนายจ้าง หรือแม้แต่รายละเอียดและความคิดใดๆจากนายจ้างมาใช้ประกอบในการทำสิ่งประดิษฐ์ในการนี้ทั้งสิ้น สิทธิในสิ่งประดิษฐ์ในลักษณะนี้จึงตกเป็นของลูกจ้างอย่างแท้จริง  เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญซึ่งการทำงานต้องอาศัยความไว้วางใจเป็นพิเศษจากนายจ้าง(Fiduciary position)  ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นตำแหน่งในระดับบริหาร อาทิเช่น ผู้บริหารระดับสูง
(Corporate exclusive officer) หรือกรรมการผู้มีอำนาจ (Director) ซึ่งในกรณีนี้ต้องผูกพันที่จะต้องโอนสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นให้แก่บริษัทนายจ้าง โดยหลักการทฤษฎีงานในหน้าที่แห่งความไว้วางใจพื้นฐาน (Fiduciary duty doctrine)
             เมื่อเปรียบเทียบกับระบบกฎหมายเยอรมันกับประเทศสหรัฐฯจะเห็นว่า กฎหมายว่าการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างนั้นได้ให้นิยามคำจำกัดความของคำว่าลูกจ้างและสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างไว้ในมาตรา 4 แห่งกฎหมายดังกล่าวนี้โดยกำหนดให้ลูกจ้างหมายถึงบุคคลซึ่งถูกว่าจ้างโดยนายจ้างตามความหมายซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายแรงงาน (ประเทศเยอรมัน) ซึ่งกฎหมายว่าด้วย ว่าการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างนี้มีขอบเขตบังคับใช้กับบรรดาลูกจ้างซึ่งอยู่ในสังกัดของหน่วยงานของภาครัฐ (Public section)และภาคเอกชน (Private section) และหมายความรวมถึง ข้าราชการพลเรือน (Civil servants) ข้าราชการฝ่ายกลาโหม (Military personal) ข้าราชการสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย (University staff) แต่มิให้บังคับใช้กับกรณีลูกจ้างซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงเช่นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท หรือ  ผู้บริหารระดับสูง
           ยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายนี้ ยังให้คำจำกัดความคำว่าสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างให้หมายความถึงบรรดาสิ่งประดิษฐ์ทางเทคนิคซึ่งเกิดจากการกระทำการประดิษฐ์ในทางการที่จ้างด้วย โดยกฎหมายนี้ได้บัญญัติจำแนกสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างออกเป็น 2 ประเภทคือ
          1. สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการจ้าง (service invention)
          2. สิ่งประดิษฐ์อิสระ ( free invention )
           สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการจ้าง (service invention)  ตามกฎหมายนี้นั้นหมายถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการประดิษฐ์ของลูกจ้างที่ทำขึ้นระหว่างการจ้างงานของนายจ้าง(during term of employment) ทั้งนี้รวมไปถึงกรณีที่เป็นการประดิษฐ์ของลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานในฐานะพนักงานรัฐวิสาหกิจ(private enterprise) หรือพนักงานองค์กรของรัฐ( public authority ) หรือแม้เป็นการประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการที่ใช้เพียงองค์ความรู้ ประสพการณ์และความเชี่ยวชาญในกิจกรรมที่ทำงานในทางการที่จ้างของพนักงานลูกจ้างขององค์กรทั้งสองประเภทดังกล่าว ทั้งนี้สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดขึ้นนอกเหนือจากการดังกล่าวถือเป็นสิ่งประดิษฐ์อิสระทั้งสิ้น โดยกฎหมายได้กำหนดให้สิทธิความเป็นเจ้าของและหน้าที่ของลูกจ้างและนายจ้างมีความแตกต่างกันตามแต่ละชนิดของประเภทสิ่งประดิษฐ์
         ในประเทศญี่ปุ่นก็มีการให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างคล้ายกับของประเทศเยอรมันเช่นกัน กล่าวคือ ในกฎหมายสิทธิบัตรของประเทศญี่ปุ่นก็จำแนกสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างออกเป็น 2 ประเภทคือ สิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการจ้างและสิ่งประดิษฐ์อิสระเช่นกัน โดยได้ให้คำจำกัดความสำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการจ้างคือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการทำงานของลูกจ้างซึ่งมีลักษณะ 3 ประการคือ
             1.เป็นสิ่งประดิษฐ์ซึ่งลูกจ้างเป็นผู้ประดิษฐ์
             2. เป็นสิ่งประดิษฐ์ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปตามทางการที่จ้างหรือ ในขอบเขตธุรกิจของ
                นายจ้าง
             3. สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำในหน้าที่ของลูกจ้างทั้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา
                ที่ผ่านมาหรือขณะปัจจุบัน
              กล่าวโดยสรุปคือสิ่งประดิษฐ์ที่ลูกจ้างทำขึ้นโดยมีหน้าที่ทำในทางการที่จ้างนั้นจะต้องเป็นสิทธิแก่ลูกจ้างทั้งสิ้นไม่ว่าจะตั้งใจให้เกิดสิ่งประดิษฐ์นั้นหรือไม่ก็ตาม แนวพิจารณาของศาลประเทศญี่ปุ่นแสดงให้เห็นถึงหลักเกณฑ์ที่ว่าการพิจารณาถึงสิทธิความเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์นั้นต้องพิจารณาจากหลายๆองค์ประกอบ เช่น ตำแหน่งของลูกจ้างและความรับผิดชอบ ขอบเขตของธุรกิจตลอดจนเงื่อนไขการจ้างด้วย

สิทธิของผู้ประดิษฐ์และสิทธิความเป็นเจ้าของในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้าง
           
         กล่าวโดยทั่วไป กฎหมายสิทธิบัตรของประเทศสหรัฐฯ ได้วางหลักการยื่นคำขอสิทธิบัตรไว้ โดยกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรนั้นจะต้องเป็นผู้ทำการประดิษฐ์ที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอำนาจในการยื่นคำขอก็ได้ (กรณีมอบอำนาจให้ตัวแทน) และนอกจากนี้สิทธิบัตรหรือคำขอสิทธิบัตรนั้นยังสามารถโอนไปยังบุคคลอื่น ๆ ได้โดยมีหนังสือโอนสิทธิเป็นลายลักษณ์อักษรเสมือนการโอนทรัพย์สินของผู้โอนนั้นเอง ดังนั้นผู้ประดิษฐ์ก็สามารถที่จะโอนความเป็นเจ้าของสิทธิบัตรให้แก่บุคคลอื่นโดยมีหนังสือโอนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ แม้ว่าจะได้โอนสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของไปแล้ว ตัวผู้ประดิษฐ์ที่แท้จริงก็สามารถมีชื่อในคำขอสิทธิบัตรในฐานผู้ประดิษฐ์ได้ด้วย โดยแนวคิดหลักการแห่งความยุติธรรมของกฎหมาย (natural law) โดยมีเจตนารมณ์ให้ระลึกและทราบถึงตัวผู้ประดิษฐ์ที่แท้จริง และเคารพสิทธิผู้ประดิษฐ์ตามหลักมนุษยธรรมสิทธิในกฎหมายลิขสิทธิ์ (The doctrine of moral right) โดยสิทธิของผู้ประดิษฐ์อาจมีความแตกต่างกับสิทธิความเป็นเจ้าของตามความหมายของการโอนสิทธิ ความเป็นเจ้าของสิทธิบัตร (assignment) กับการโอนสิทธิ (transfer) ในสิทธิบัตร (การโอนความเป็นเจ้าของคือโอนไปทั้งสิทธิบัตรและสิทธิด้วย)
โดยหลักทั่วไป กฎหมายของรัฐนั้นจะบังคับรับรองสิทธิของนายจ้างในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างตามสภาพความสัมพันธ์การจ้างงาน โดยพื้นฐานแล้วศาลจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า สิทธิความเป็นเจ้าของลูกจ้างนั้นจะตกเป็นของลูกจ้างผู้ทำการประดิษฐ์ จากงานที่ทำลูกจ้างมิได้มีหน้าที่ผูกพันที่จะต้องทำการโอนสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ให้แก่ลูกจ้างเสมอไปไม่ แต่อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นหลักทั่วไปนี้ 3 ข้อคือ
1. ลูกจ้างได้รับการว่าจ้างจากนายจ้างให้ทำการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์นั้นโดยตรง (มิใช่กรณีทำการตกลงโอนสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ไว้ก่อน) (อาจเทียบได้ทับการจ้างทำของ)
2. ลูกจ้างได้ใช้บรรดาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ตลอดเวลาและสถานที่ของนายจ้างในการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์นั้น กรณีเช่นนี้นายจ้างจะมิได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ แต่จะมีสิทธิใช้ประโยชน์ในสิ่งประดิษฐ์นั้น (Shop Right)
3. ทั้งลูกจ้างและนายจ้างได้แสดงเจตนาตกลงกันอย่างชัดเจน บรรดาสิ่งประดิษฐ์ใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากลูกจ้างนั้นตกเป็นของนายจ้างทั้งสิ้น
โดยเหตุที่คุณสมบัติของสิทธิบัตรสามารถโอนสิทธิไปให้บุคคลอื่นได้นั้น ทำให้นายจ้างถือโอกาสใช้วิธีกำหนดเป็นข้อตกลงการโอนสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ก่อนการประดิษฐ์ไว้กับลูกจ้างก่อนซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อการได้รับสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างอย่างมาก
โดยทั่วไปศาลจะยอมรับบังคับให้ตามข้อตกลงการโอนสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ก่อนการประดิษฐ์ โดยยึดถือหลักเกณฑ์อิสระในการแสดงเจตนาเข้าทำสัญญา (Basis of freedom-of-contract principle) โดยศาลจะพิจารณาบังคับให้ตามข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป โดยจะพิจารณาว่าข้อตกลงดังกล่าวมีความสมบูรณ์ในการแสดงเจตนาหรือไม่ โดยจะนำปัจจัยอื่น ๆ เงื่อนไขระยะเวลา และสาระสำคัญของข้อสัญญาประกอบการพิจารณา
ในบางรัฐของสหรัฐฯ ได้มีการออกกฎหมายพิเศษ (Special statute) เพื่อบังคับใช้กับกรณีปัญหาความไม่เป็นธรรมในการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เนื่องจากนายจ้างมักอยู่ใยฐานะที่เหนือกว่าในการเจรจาบีบบังคับให้ลูกหนี้ปฏิบัติตาม และมีทั้งสิ้น 8 รัฐ ซึ่งได้ออกกฎหมาย ซึ่งว่าด้วยการกำหนดแบ่งสิทธิ (Allocation of rights) ซึ่งเกิดจากสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้าง และการมีผลบังคับของข้อตกลงในสัญญาโอนสิทธิสิ่งประดิษฐ์ก่อนการประดิษฐ์ เช่นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าลูกจ้างได้ทำงานการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐืโดยมิได้อาศัยระยะเวลางานที่จ้าง ด้วยเครื่องไม้เครื่องมืออำนวยความสะดวกของเขาเอง รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็มิได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของนายจ้างเลย หรือเป็นธุรกิจที่คาดการณ์ไว้ก่อน (Anticipated business) เหล่านี้ กฎหมายแห้งรัฐกำหนดบังคับให้ข้อตกลงในลักษณะที่กำหนดให้ลูกจ้างต้องโอนสิทธิ (Assign) ในบรรดาสิทธิบัตรทั้งหลายของลูกจ้างให้แก่นายจ้างไว้ล่วงหน้านั้น ให้ถือว่าข้อตกลงลักษณะนี้เป็นโมฆะ (Void) ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา
เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายของเยอรมันกับกฎหมายของสหรัฐฯ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เห็นว่า กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้าง ซึ่งได้จัดแบ่งแยกสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างออกเป็น 2 ประเภท คือสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากงาน และสิ่งประดิษฐ์อิสระตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น กฎหมายได้กำหนดให้นายจ้างมีสิทธิเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของในสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเกิดจากงานนี้ได้โดยวิธีแจ้งหนังสือทวงถาม อ้างสิทธิความเป็นเจ้าของต่อลูกจ้าง ภายในระยะเวลา 4 เดือน หลังจากที่ได้รับรายงานการประดิษฐ์จากลูกจ้างแล้ว นอกจากนี้ตาม กฎหมายยังแบ่งประเภทของการเรียกร้องสิทธิออกเป็น 2 ประเภท คือ การเรียกร้องแบบไม่มีข้อจำกัดสิทธิ (Unlimited claims) กับการเรียกร้องแบบมีข้อจำกัดสิทธิ (Limited claims) ซึ่งแตกต่างกันตรงที่ว่าหากนายจ้างเรียกร้องแบบไม่มีข้อจำกัดสิทธิ นายจ้างจะได้รับสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างอย่างชนิดผูกขาด (Exclusive right)   ในการเรียกร้องสิทธิแบบไม่มีข้อจำกัดสิทธินั้น บรรดาสิทธิทั้งหลายซึ่งเกิดจากสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการจ้างจะโอนไปสู่นายจ้างทั้งหมดแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสิทธิอย่างเป็นธรรมจากนายจ้างผู้เรียกร้องสิทธิดังกล่าวนั้น
       ในทำนองเดียวกันนี้การเรียกร้องสิทธิชนิดมีข้อจำกัดสิทธินั้นนายจ้างจะได้รับสิทธิชนิดไม่ผูกขาดในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการจ้างได้โดยการแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นหนังสือ สิทธิประเภทดังกล่าวนี้มีลักษณะคล้ายกับสิทธิ Shop Right ในประเทศสหรัฐฯอย่างไรก็ตามหากนายจ้างขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ลูกจ้างสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  ภายในระยะเวลา 2 เดือน (ไม่ระบุว่านับแต่เมื่อใดสันนิษฐานว่านับแต่เมื่อลูกจ้างรายงานผลการประดิษฐิ์สิ่งประดิษฐ์แก่นายจ้างทราบ ลูกจ้างอาจร้องขอให้นายจ้างดำเนินการเข้าถือสิทธิแบบไม่มีข้อจำกัดสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อนายจ้างจะได้ทำการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับตน) หรือขอให้ยกเลิกการยึดหน่วงเช่นนั้น แล้วคืนสิทธิใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากสิ่งประดิษฐ์นั้นคืนสู่ลูกจ้างผู้ประดิษฐ์ได้ด้วย นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากงานสามารถกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์อิสระได้โดยใน 3 กรณีคือ
1. เมื่อนายจ้างยินยอมสละสิทธิโดยมีหนังสือสละสิทธิเป็นลายลักษณ์อักษร
2. เมื่อนายจ้างตกลงจะขอถือสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ (ซึ่งเกิดจากงาน) เป็นแบบชนิดมีข้อจำกัดสิทธิ ทั้งที่มีสิทธิจะถือสิทธิแบบไม่มีข้อจำกัดสิทธิเช่นนั้น หรือ
3. เมื่อนายจ้างมิได้ใช้สิทธิเรียกร้อง ภายใน 4 เดือน นับแต่เมื่อได้รับทราบรายงานการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์จากลูกจ้างแล้ว หรือมิได้ใช้สิทธิทักท้วงภายในระยะเวลา 2 เดือน นับแต่เมื่อลูกจ้างร้องขอให้สละสิทธิ
ทั้งนี้จะเห็นว่าข้อสำคัญอยู่ตรงที่ว่านายจ้างจะต้องมีระยะเวลา 4 เดือนในการประกาศเรียกร้องสิทธิในสิ่งประดิษฐ์เป็นของตน ซึ่งหากนายจ้างมิได้ดำเนินการดังกล่าว สิทธิในสิ่งประดิษฐ์นั้นย่อมตกเป็นของลูกจ้างโดยสิ้นเชิง โดยนายจ้างไม่มีสิทธิโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น
อีกประการหนึ่ง กฎหมายเยอรมันได้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิทธิในสิ่งประดิษฐ์อิสระนั้นตกเป็นสิทธิของลูกจ้างโดยปกติ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงสงวนสิทธิที่ทำไว้กับลูกจ้างก่อนแล้ว ทั้งนี้แม้นายจ้างไม่มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องสิ่งประดิษฐ์อิสระนี้ก็ตาม แต่กฎหมายก็ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของลูกจ้างที่จะต้องแจ้งสิทธิในสิ่งประดิษฐ์เป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่นายจ้างทราบโดยมิชักช้า (Without delay) ซึ่งการแจ้งที่ว่านั้น (Notification) ลูกจ้างต้องบรรยายข้อสาระสำคัญต่าง ๆ ของแนวคิดซึ่งทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์นั้น (Pertinent circumstances) รวมทั้งประเมินบรรดาทรัพย์สินของลูกจ้างซึ่งใช้ในการนี้ด้วย (Employee’s assessment of his own contribution) ซึ่งในการนี้กฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีเวลา 3 เดือน ที่จะทำการคัดค้านว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากงานมิใช่สิ่งประดิษฐ์อิสระ (ตามที่ลูกจ้างกล่าวอ้างสิทธิ) หากคำคัดค้านของนายจ้างตกไป สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจะตกเป็นสิทธิของลูกจ้างโดยสมบูรณ์ นอกจากลูกจ้างมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งให้นายจ้างทราบดังกล่าวแล้ว ลูกจ้างยังต้องทำการยื่นข้อเสนอให้นายจ้างได้ขออนุญาตใช้สิทธิแบบไม่ผูกขาดอีกด้วย เว้นแต่สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายสายธุรกิจของนายจ้างเลย (Outside the line business) จะเห็นว่าท้ายที่สุดแล้วกฎหมายเยอรมันก็ยังคงกำหนดข้อจำกัดสำหรับการทำสัญญาการโอนสิทธิก่อนการประดิษฐ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างเพื่อลดช่องว่างความเสียเปรียบในสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ในสิทธิซึ่งถือเป็นเอกสิทธิของลูกจ้าง (Employee’s statutory rights) เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน หากเปรียบเทียบกฎหมายของประเทศเยอรมันกับประเทศญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นว่ากฎหมายสิทธิบัตรของประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดหลักทั่วไปให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างนั้น แม้ว่าสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในขอบเขตในทางการที่อ้างก็ตาม แต่ถึงกระนั้นก็ตามนายจ้างก็ยังคงมีสิทธิ 2 ประการในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างในทางกรณีจ้างนั้น คือ
1. นายจ้างได้รับสิทธิในการได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบชนิดไม่ผูกขาด (Non-exclusive license) ในสิ่งประดิษฐ์นั้น ตลอดจนสามารถใช้ประโยชน์ในสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากลูกจ้างนั้นโดยมิต้องจ่ายค่าตอบแทน (Compensation) แต่ประการใด
2. นายจ้างอาจทำการเจรจาตกลงขอรับสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างไว้ก่อนเป็นการล่วงหน้าโดยทำเป็นสัญญา ข้อตกลงหรือกำหนดไว้เป็นข้อบังคับในการทำงานให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามนั้นก็ได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างต้องมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมจากนายจ้างในกรณีดังกล่าว นอกจากนี้สำนักงานสิทธิบัตรของประเทศญี่ปุ่นยังได้ประกาศใช้ข้อบังคับซึ่งว่าด้วยเรื่องรูปแบบข้อตกลงสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากงาน (Model set of service invention) ให้มีผลบังคับใช้กับบริษัทเอกชน (ซึ่งเป็นนายจ้าง) ซึ่งมีการทำสัญญาโอนสิทธิการประดิษฐ์ก่อนการประดิษฐ์กับลูกจ้างด้วย

ข้อจำกัดสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้าง

โดยทฤษฎีแล้ว สิทธิในการใช้สิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างหรือที่เรียกว่า Shop Right ของประเทศสหรัฐฯ นั้น เป็นสิทธิซึ่งกฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดให้นายจ้างมีสิทธิใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้าง (ซึ่งถือเป็นสิทธิของลูกจ้าง) โดยมิจำต้องจ่ายค่าตอบแทนแต่อย่างใดทิ้งสิ้น สิทธิ Shop Right นั้นโดยปกติไม่เพียงแต่จะนำมาอ้างใช้กับการจ้างตามลักษณะความสัมพันธ์ของการจ้างงานเท่านั้น แต่ยังสามารถยกขึ้นใช้กับกรณีที่คู่กรณีผูกพันกันโดยสัญญาข้อตกลงอีกด้วย สิทธิ Shop Right ได้ตกแนวคิดพื้นฐาน (Basic notion) ที่ว่าลูกจ้างแล้วโดยปกติย่อมจะใช้บรรดาอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ ตลอดเวลาและสิ่งอำนวยความสะดวกของนายจ้างในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งประดิษฐ์เสมอ แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาว่าในการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกจากนายจ้างจะต้องอยู่ในลักษณะที่พอสมควรแก่การที่จะก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์นั้นด้วย ซึ่งหากได้ใช้ไปเพียงเล็กน้อยก็ไม่อาจจะอ้างสิทธิ Shop Right ได้ นอกจากนี้ Shop Right ยังเป็นสิทธิที่สามารถนำมาใช้ยืนยันต่อสู้คดีในศาล ในกรณีมีการฟ้องละเมิดสิทธิบัตรได้ด้วย ซึ่งก่อนที่จะมีคำตัดสินของคดี Dublier หลักการของ Shop Right (Shop Right doctrine) นั้นยึดหลักการพื้นฐานเรื่องกฎหมายปิดปาก (Equitable estopped) หรือการให้อนุญาตโดยปริยาย (implied license) ที่ว่าสิทธิ Shop Right  ย่อมเกิดมีขึ้นถึงแม้ว่าการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์จะเกิดขึ้นนอกขอบเขตแห่งการจ้าง เช่น การประดิษฐ์อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของลูกจ้างที่บ้านของลูกจ้างเองนอกเวลาการจ้าง ซึ่งทฤษฎี Shop Right นี้อาจกำหนดขึ้นโดยอาศัยพื้นฐานหลักเกณฑ์ ลาภมิควรได้ (Unjust enrichment) ประกอบกับหลักหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากงานนอกสั่ง (Quasi-contract) หรือ การไม่ใช้สิทธิตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เสียสิทธิไปและถูกบังคับตามกฎหมายปิดปาก (Laches) ร่วมอยู่ด้วยกัน
นอกจากนี้ศาลยังกำหนดหลักเกณฑ์ของสิทธิ Shop Right  เพิ่มอีกว่า สิทธิ Shop Right นั้น เป็นสิทธิซึ่งไม่อาจโอนไปสู่บุคคลอื่นได้ (Non-transferable) ไม่ใช่สิทธิผูกขาด (non-exclusive) และหาใช่สิทธิซึ่งสามารถนำไปใช้โดยไม่จ่ายค่าสิทธิไม่ (Royalty-free right) ซึ่งการที่ใช้สิทธิ Shop Right นั้นนายจ้างสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งประดิษฐ์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานในธุรกิจของตนเท่านั้น (Line of employers’ business) ข้อสำคัญก็คือ นายจ้างยังมีสิทธิ Shop Right อยู่แม้ว่าสัญญาจ้างจะได้สิ้นสุดแล้วก็ตาม โดยสิทธิ Shop Right จะเกิดมีขึ้นและใช้ได้ไปจนตลอดอายุของสิทธิบัตร แต่อย่างไรก็ตามสิทธิในการใช้ Shop Right นั้นก็ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่ที่ต้องพิจารณากันว่านายจ้างได้ใช้สิทธิ Shop Right  ในปกติธุรกิจของตนหรือไม่ (the Nature of the employer’s business) ซึ่งต้องพิจารณาจากลักษณะของสิ่งประดิษฐ์และสภาพแห่งความสัมพันธ์การจ้างงานประกอบด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือว่า นายจ้างไม่อาจจ้างและใช้สิทธิ Shop Right กับงานนอกธุรกิจปกติของตนได้ และขณะเดียวกันนายจ้างก็ไม่อาจอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้หรือสิทธิ Shop Right ไปยังบุคคลอื่นได้เช่นกัน ซึ่งได้มีกลุ่มผู้วิจารณ์ให้ความเห็นว่า กรณีสิทธิ Shop Right นี้อาจจะตกทอดไปสู่ผู้ที่ทำการซื้อกิจการทั้งหมดของนายจ้างไปด้วยก็ได้ (Entire business) ซึ่งผู้ซื้อกิจการไปก็จะได้รับทอดสิทธิ Shop Right ได้เช่นกัน
กรณีของประเทศเยอรมันนั้น กฎหมายว่าด้วยสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างของเยอรมันนั้นได้สอดแทรกหลักการ Shop Right ไว้เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีข้อแตกต่างจากของสหรัฐฯ บ้างเล็กน้อยเพียงบางส่วน กล่าวคือกฎหมายของเยอรมันได้กำหนดหลักให้เมื่อเกิดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นอย่างน้อยที่สุดลูกจ้างต้องทำการเสนอการอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบไม่ผูกขาด (Non-exclusive) แก่นายจ้างในการใช้สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างนั้น ซึ่งกรณีนี้มีเงื่อนไขว่านายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนสิทธิพอสมควรแก่การใช้สิ่งประดิษฐ์นั้น ซึ่งก็เป็นลักษณะสิทธิ Shop Right คล้ายของสหรัฐฯ โดยมีหลักการคล้าย ๆ กัน คือสิทธิดังกล่าวนี้ก็ไม่อาจโอนให้กันได้และต้องใช้ในปกติธุรกิจของนายจ้างหรือกิจกรรมลักษณะการลงทุนของนายจ้างเท่านั้น (แต่เยอรมันมิได้ให้จำกัดความของสิทธิลักษณะ Shop Right เป็นการเฉพาะไว้)
กรณีประเทศญี่ปุ่น กฎหมายสิทธิบัตรของประเทศญี่ปุ่นก็ได้กำหนดสิทธิลักษณะเดียวกัน สิทธิ Shop Right ไว้แก่นายจ้างเช่นเดียวกัน กล่าวคือให้นายจ้างมีสิทธิใช้ประโยชน์ในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างชนิดไม่ผูกขาด (Non-exclusive) โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนสิทธิ แต่ให้สิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ตกเป็นของลูกจ้างแทน โดยภายใต้บังคับที่ว่านายจ้างต้องจดทะเบียนสิทธิการใช้ลักษณะนี้ (Non-exclusive right) ไว้ต่อสำนักงานสิทธิบัตรจึงเกิดผลผูกพันต่อผู้โอนหรือผู้อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ชนิดผูกขาด (Exclusive right) ในสิทธิบัตร
นอกจากนี้ในส่วนของการได้มาซึ่งสิทธิลักษณะ Shop Right ของญี่ปุ่นนั้นยังกำหนดให้นายจ้างสามารถได้รับสิทธิลักษณะผูกขาดนี้ โดยการทำเป็นสัญญาข้อตกลงกำหนดกันไว้ล่วงหน้า โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่ลูกจ้างอย่างเป็นธรรมด้วย

ค่าตอบแทนในการใช้สิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้าง
ตามที่เคยกล่าวมาแล้วข้างต้นว่าโดยปกติแล้วลูกจ้างมักจะถูกจำกัดการได้รับสิทธิและเป็นเจ้าของ (Ownership) สิทธิในสิ่งประดิษฐ์จากนายจ้างโดยวิธีการทำสัญญาข้อตกลงโอนสิทธิก่อนการประดิษฐ์ไว้ในสัญญาจ้างหรือโดยสิทธิ Shop Right ก็ตาม
ในประเทศสหรัฐฯ นั้น ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้สำหรับลูกจ้างในส่วนงานของรัฐบาลตามกฎหมายสหพันธรัฐกำหนด (Federal statutory law) แต่กฎหมายก็มิได้กำหนดอัตราค่าตอบแทนในกรณีใช้ประโยชน์ในสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างแต่อย่างใด แต่กระนั้นรัฐบาลสหรัฐฯก็ได้กำหนดโปรแกรมการส่งเสริมไว้ (Incentive programs) เพื่อกระตุ้นให้ลูกจ้างของหน่วยงานรัฐทำนวัตกรรมคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ   โดยกำหนดไว้ในระเบียบที่ 5 U.S.C.4502 ซึ่งกำหนดไว้ให้รัฐบาลจ่ายเงินบำเหน็จตอบแทน (Cash awards) ไม่เกิน 5,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ  แก่ลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ (Federal employees) ซึ่งมีผลงานสิ่งประดิษฐ์เป็นที่ปรากฏ ซึ่งนอกจากนี้สำนักงานใหญ่แห่งตัวแทนสหพันธรัฐ (the Head of the federal agency) ยังกำหนดระเบียบให้ลูกจ้างที่มีผลงานสิ่งประดิษฐ์เป็นที่ยอมรับในระดับชั้นนำสามารถร้องขอค่าสวัสดิการสังคม (Civil service commission) เป็นเงินถึง 25,000 ดอลล่าห์เป็นการตอบแทนได้อีกด้วย และนอกจากนี้สิ่งสำคัญก็คือ หากใช้สิทธิเรียกค่าตอบแทนในกรณีพิเศษนี้ในศาล (กรณีไม่พอใจค่าตอบแทนที่ให้) ศาลอาจพิจารณากำหนดเงินรางวัลให้มากกว่าค่าตอบแทนที่กำหนดกันไว้ในสัญญาของรัฐบาลในเรื่องสิ่งประดิษฐ์นี้ได้ด้วย
ในประเทศเยอรมัน กฎหมายของประเทศเยอรมันได้กำหนดระเบียบว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนและกระบวนการการระงับข้อพิพาทในเรื่องค่าตอบแทนสิทธิไว้โดยเฉพาะเช่นกัน ซึ่งโดยปกติจำนวนค่าตอบแทนและเงื่อนไขในการจ่ายมักจะกำหนดไว้ในข้อตกลงและพิจารณาตามข้อตกลงเป็นแนวทาง ข้อกฎหมายได้กำหนดแนววิธีการไว้ 3 วิธี สำหรับการคำนวณค่าตอบแทน คือ
1. การอนุญาตแบบเทียบเคียง (license analogy) โดยจะอาศัยพื้นฐานของยอดสุทธิการขาย (net sales) ซึ่งนายจ้างได้รับจากการใช้ประโยชน์ (exploitation) ในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งจากลูกจ้างเป็นหลัก โดยกรณีรวมถึงการขออนุญาตให้ทำการ (บังคับ) อนุญาตให้ใช้สิทธิด้วย (granting of licenses)
2. กำหนดโดยวิธีให้ลูกจ้างได้รับเป็นเปอร์เซ็นต์ตายตัวของจำนวนยอดสะสม (certain percentage) ซึ่งนายจ้างใช้สิ่งประดิษฐ์นั้นในธุรกิจของนายจ้างเอง
3. การประมาณราคา (free evaluation) โดยตีราคาค่าสิ่งประดิษฐ์โดยอาศัยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ (participation factor) มาประกอบการพิจารณาตีราคา ซึ่งคล้ายกับการประเมินแบบเทียบเคียง คือพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมโดยอาจอาศัยพื้นฐานที่อัตราส่วนระหว่างสัดส่วนของการลงทุนของลูกจ้าง (employee’s contribution) สิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งได้รับจากนายจ้าง นอกจากวิธีการคำนวณแล้วกฎหมายยังกำหนดในส่วนของรายละเอียดในกระบวนการยุติข้อขัดแย้งไว้ในกฎหมาย โดยกำหนดรูปแบบตามกฎหมายแต่ละเรื่องเฉพาะไว้ด้วย เช่นการระงับข้อพิพาทกรณีประเมินค่าตอบแทน สิทธิความเป็นเจ้าของในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการจ้าง หรือการยื่นคำขอไว้ด้วย

ในประเทศญี่ปุ่น กฎหมายสิทธิบัตรของประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่เป็นตามจากนายจ้าง ในกรณีที่นายจ้างได้รับสิทธิบัตรจากสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดขึ้นจากงาน หรือเมื่อนายจ้างได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิแบบผูกขาดตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดไว้ระหว่างกัน หรือโดยข้อบังคับการทำงาน หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ก็ดี นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นธรรมในการใช้สิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากงานหรือสิ่งประดิษฐ์อิสระนั้น โดยจำนวนค่าตอบแทนจะพิจารณาจากผลกำไรซึ่งนายจ้างจะได้รับจากการใช้สิ่งประดิษฐ์ในธุรกิจของนายจ้างนั้น ประกอบกับสัดส่วนซึ่งนายจ้างได้มีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใดในการประดิษฐ์ แต่กฎหมายของญี่ปุ่นมิได้กำหนดวิธีการคำนวณค่าตอบแทน หรือระยะเวลาเงื่อนไขแห่งการจ่ายค่าตอบแทนไว้แต่อย่างใด

บทสรุป
โดยสรุปแล้ว การให้ความคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากลูกจ้างตามกฎหมายนั้น โดยปกติจะเกิดจากปัญหาของกฎหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ปัญหาแรกคือ ตามกฎหมายแล้วทั้งนายจ้างหรือลูกจ้างควรมีสิทธิความเป็นเจ้าของในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการจ้างดีกว่ากัน
ปัญหาต่อมา ปัจจัยอะไรคือสิ่งที่ทำให้สิทธิการเป็นผู้ประดิษฐ์ของลูกจ้างได้รับสิทธิขยายครอบคลุมไปถึงสิ่งประดิษฐ์จากการจ้าง อย่างเช่นผู้ประดิษฐ์ในทางการที่จ้างควรได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ และหากว่าสมควรได้รับ ค่าตอบแทนที่พอสมเหตุสมผลและเป็นธรรมควรเป็นเงินเท่าใด
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น กฎหมายว่าด้วยความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ดังตัวอย่างในสามประเทศแนวหน้า ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างมากตามที่ได้กล่าว โดยในประเทศสหรัฐฯ นั้นกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการจ้างนั้นจะยึดถือพื้นฐานของกฎหมายว่าด้วยสัญญาและกฎหมายแรงงานในแต่ละรัฐมาเป็นแนวปฏิบัติทั้งที่เป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) และที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Statutory) ระบบของกฎหมายสหรัฐฯในเรื่องนี้ได้วางหลักข้อจำกัดขอบเขตที่แน่นอนในเรื่องสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างที่มีในสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเกิดจากการจ้างไว้เช่นกรณี Shop Right เป็นสำคัญ แต่มิได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องค่าตอบแทนสำหรับผู้ประดิษฐ์ในทางการที่จ้างไว้ สำหรับกรณีทั่วไปเพียงแต่กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้เฉพาะผู้ประดิษฐ์ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสหพันธรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละรัฐไว้เท่านั้น
เปรียบเทียบกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งเกิดจากลูกจ้างของประเทศเยอรมันซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องสิทธิประดิษฐ์ของลูกจ้างไว้อย่างชัดเจน โดยกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างนั้นได้กำหนดเกณฑ์การแบ่งขอบเขตสิทธิความเป็นเจ้าของในสิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการจ้างของลูกจ้างและการจ่ายเงินตอบแทนไว้ตลอดกฎหมายในเรื่องดังกล่าวของประเทศญี่ปุ่นก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้คล้ายคลึงกับเยอรมัน แต่มิได้กำหนดรายละเอียด (รายละเอียดน้อยกว่า) กล่าวคือญี่ปุ่นได้สอดแทรกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างซึ่งเกิดจากการจ้างไว้ในกฎหมายสิทธิบัตรและกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการประเมินค่าและการจ่ายเงินค่าตอบแทนเป็นแนวทางให้ใช้ปฏิบัติกันแยกต่างหาก
จากรายละเอียดข้างต้นนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าระบบกฎหมายของสหรัฐฯ ในเรื่องการคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างนั้นมีเจตนารมย์เป็นความสนใจในการให้ความคุ้มครองในเรื่องดังกล่าวนี้ค่อนข้างน้อย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์ของลูกจ้างยังมีมีความชัดเจนเพียงพอ มีความเหลื่อมล้ำ เพราะได้วางหลักเกณฑ์โดยึดถือหลักเกณฑ์พื้นฐานจากกฎหมายว่าด้วยสัญญาและกฎหมายแรงงานของรัฐแต่รัฐเป็นหลัก ข้อแต่ละรัฐก็จะมีความแตกต่างไป ซึ่งมีเพียงรัฐบางรัฐเท่านั้นที่ได้ออกกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขข้อห้ามการทำสัญญาข้อตกลงการโอนสิทธิก่อนการประดิษฐ์ไว้ ซึ่งจะให้การยกเว้นในกรณีที่เป็นลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น แต่ระบบของประเทศเยอรมันและญี่ปุ่นมิได้กำหนดสิทธิการได้รับค่าตอบแทน อันเนื่องมาจากการใช้สิ่งประดิษฐ์ซึ่งเกิดจากการจ้างไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เห็นควรว่ากฎหมายของสหรัฐฯควรจะได้กำหนดสิทธิผู้ประดิษฐ์ของลูกจ้างในเรื่องสิทธิการรับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมไว้จากนายจ้าง โดยอาจรวมอยู่ในรูปของกฎหมายสัญญาสำเร็จรูป (Uniform Law) หรือสอดแทรกไว้ในกฎหมายสิทธิบัตรแห่งสหพันธรัฐ หรือแยกบัญญัติเป็นกฎหมายพิเศษแห่งสหพันธรัฐไว้ต่างหาก เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ประดิษฐ์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีแรงจูงใจที่จะทำการประดิษฐ์คิดค้นต่อไปเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากแนวคิดเรื่องสิทธิค่าตอบแทนที่เป็นธรรมของลูกจ้างนั้น ถือเป็นกลไกที่สำคัญของนโยบายสิทธิบัตรและกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

ผู้เขียน

เฉลิมชัย ก๊กเกียรติกุล
กนกศักดิ์ ทองพาณิชย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น