วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คำขอรับสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา

ประเภทคำขอรับสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา
ระบบการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรของสหรัฐฯค่อนข้างจะสลับซับซ้อนในแง่ของการเปิดโอกาสทางเลือกให้แก่ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรสามารถเลือกวิธีการยื่นขอรับสิทธิบัตรได้ โดยปกติคำขอรับสิทธิบัตรทั่วไปเรียกว่าคำขอรับสิทธิบัตรทั่วไป (Non-provisional patent application) ซึ่งเดินตามกระบวนการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรหลัก ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
อนึ่ง นอกจากคำขอรับสิทธิบัตรแบบทั่วไปแล้ว กฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯได้ให้ทางเลือกแก่ผู้ประดิษฐ์ในการวางกลยุทธ์การขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรได้ โดยผู้ประดิษฐ์มีทางเลือกสำหรับคำขอรับประเภทอื่น ๆ ดังนี้

คำขอรับสิทธิบัตรแบบชั่วคราว (Provisional Patent Application)
คำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวเป็นลักษณะเฉพาะของระบบกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐฯ และได้รับความนิยมพอสมควรโดยเฉพาะการยื่นขอรับสิทธิบัตรของผู้ประดิษฐ์ที่ไม่จ้างตัวแทนสิทธิบัตร แม้ว่าคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวจะง่ายในการยื่นมากกว่ากรณีคำขอรับสิทธิบัตรแบบปกติ แต่ก็มีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์เฉพาะในเรื่องนี้ คำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวอาจสรุปได้ดังนี้
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ผู้ประดิษฐ์ในสหรัฐฯสามารถยื่นขอยื่นคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราว โดยผู้ประดิษฐ์ที่ยื่นคำขอมีระยะเวลาหนึ่งปีในการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตามวิธีปกติ หากผู้ประดิษฐ์ไม่ยื่นภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็จะถือว่าคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวสิ้นสุดลง โดยปกติคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวจะไม่ถูกตรวจสอบโดยสำนักงานสิทธิบัตรและจะไม่มีการรับจดทะเบียนคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวโดยตรง
วัตถุประสงค์ของคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวคือการยอมให้คำขอรับสิทธิบัตรแบบปกติสามารถอ้างสิทธิประโยชน์จากคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวได้ กล่าวคือคำขอรับสิทธิบัตรแบบปกติจะถือว่าได้มีการยื่นตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราว ทั้งนี้เพราะวันที่ยื่นก่อนตามคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวจะช่วยผู้ประดิษฐ์คนแรกในเรื่องประเด็นปัญหาเรื่องความใหม่ และยังเป็นการขยายระยะเวลาของสิทธิบัตรด้วย กล่าวคือวันที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวจะไม่ถือเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความคุ้มครองของสิทธิบัตร นอกจากนี้ ประโยชน์ของคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวคือค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมจะถูกกว่า และไม่จำเป็นต้องยื่นข้อถือสิทธิหรือเปิดเผยงานที่ปรากฏอยู่แล้วต่อสำนักงานสิทธิบัตร
เงื่อนไขของคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวต้องรวมถึงการอธิบายการประดิษฐ์ แต่จำเป็นไม่ต้องยื่นข้อถือสิทธิ และรายละเอียดการประดิษฐ์ที่ต้องแสดงวิธีการที่ดีที่สุดและสามารถทำหรือใช้งานได้ (Best mode and enablement requirements) ซึ่งหากคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวไม่ครบถ้วนตามเงื่อนไขดังกล่าวที่กฎหมายกำหนดจะส่งผลให้ไม่สามารถใช้อ้างอิงในคำขอรับสิทธิบัตรแบบปกติ คำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวต้องมีภาพวาดที่จำเป็นต่อการเข้าใจการประดิษฐ์ ชื่อของผู้ประดิษฐ์ ค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ ($75 ต่อผู้ประดิษฐ์) และชื่อการประดิษฐ์ตามหลักเกณฑ์และรูปแบบที่กฎหมายกำหนด
ปัญหาประการหนึ่งของคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวคือว่าอาจมีความชัดเจนว่าการอธิบายรายละเอียดการประดิษฐ์ต้องแสดงวิธีการที่ดีที่สุดและสามารถทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้จนกระทั่งคำขอรับสิทธิบัตรแบบทั่วไปได้ยกร่างเสร็จ พร้อมกับข้อถือสิทธิ เพราะสองเงื่อนไขนี้ถูกวิเคราะห์เชื่อมโยงกับคำขอรับสิทธิบัตร หากไม่มีข้อถือสิทธิจะเป็นการยากที่จะพิจารณาหากวิธีการที่ดีที่สุดมีการเปิดเผยอย่างเพียงพอ แต่ในทางปฏิบัติคำขอรับสิทธิบัตรชั่วคราวได้ยกร่างด้วยความเร่งรีบและไม่ครบเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

คำขอรับสิทธิบัตรต่อเนื่อง (Continuation applications)
ในบางครั้งผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรอาจยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่องจากคำขอรับสิทธิบัตรเดิมหลักที่ได้ยื่นไว้แล้ว ซึ่งคำขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่องนี้เป็นวิธีการที่ง่ายและสะดวกที่จะอ้างถึงคำขอรับสิทธิบัตรที่เคยยื่นไว้แล้ว โดยทั่วไปคำขอรับสิทธิบัตรต่อเนื่องมักเป็นการเพิ่มเติมข้อถือสิทธิของการประดิษฐ์เดิมที่ได้เปิดเผยไว้แล้วในคำขอรับสิทธิบัตรก่อนที่ยังไม่ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือมีการละทิ้งคำขอ ในทางปฏิบัติแล้ว คำขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่องสามารถใช้รายละเอียดการประดิษฐ์เดียวกับคำขอรับสิทธิบัตรหลักและกฎหมายยอมให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสามารถอ้างนับวันยื่นย้อนหลังได้ (filing date priority) โดยทั่วไป คำขอรับแบบต่อเนื่องนี้มีประโยชน์ในกรณีที่นายทะเบียนสิทธิบัตรได้ยอมรับข้อถือสิทธิบางข้อ แต่ปฏิเสธข้อถือสิทธิบางข้อ หรือในกรณีผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรสามารถคิดค้นวิธีการอื่นสำหรับการประดิษฐ์เพิ่มเติมจากการประดิษฐ์เดิม
ในกรณีที่สำนักวานสิทธิบัตรมีคำสั่งสุดท้ายปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรบางส่วน ผู้ยื่นขอรับสิทธิบัตรอาจร้องขอให้มีการตรวจสอบแบบต่อเนื่องได้ (Request for continued examination: RCE) ซึ่งผู้ประดิษฐ์ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แต่คำร้องดังกล่าวทำให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมีสิทธิโต้แย้งกับนายทะเบียนสิทธิบัตรต่อไปได้ ซึ่งคล้ายกับการอุทธรณ์แต่เป็นการอุทธรณ์เพียงบางส่วน
นอกจากนี้แล้ว ยังมีคำขอรับสิทธิบัตรอีกประเภทหนึ่งคือคำขอรับสิทธิบัตรต่อเนื่องบางส่วน (Continuation-in-part patent หรือ CIP application) ซึ่งมีการอ้างนับวันยื่นย้อนหลังจากคำขอรับสิทธิบัตรหลัก แต่ลักษณะพิเศษของคำขอรับสิทธิบัตรต่อเนื่องบางส่วนคือเป็นคำขอรับสิทธิบัตรที่เพิ่มเนื้อหาโดยมิได้เปิดเผยในคำขอรับสิทธิบัตรหลัก แต่คำขอรับสิทธิบัตรมีบางส่วนที่เหมือนกับรายละเอียดการประดิษฐ์ในคำขอรับสิทธิบัตรหลัก ทั้งนี้ จะต้องมีผู้ประดิษฐ์เหมือนกันอย่างน้อยหนึ่งคนในทั้งคำขอรับสิทธิบัตรทั้งสองฉบับ วัตถุประสงค์ของบทบัญญัตินี้คือเพื่อส่งเสริมให้มีการสามารขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ที่พัฒนาเพิ่มเติมหลังจากคำขอรับสิทธิบัตรหลักเดิมได้มียื่นไว้แล้ว
ในปัจจุบันนี้ กฎว่าด้วยสิทธิบัตรได้อนุญาตให้ผู้ประดิษฐ์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่องได้อย่างไม่เข้มงวดเพื่อขยายขอบเขตสิทธิบัตร จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนในประเด็นของสิทธิตามสิทธิบัตรว่าขอบเขตของสิทธิตามสิทธิบัตรจะขยายต่อไปเท่าไร จึงมีการเสนอให้มีการจำกัดสิทธิในการยื่นแบบต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของระบบสิทธิบัตรอย่างแท้จริง แต่ก็มีความขัดแย้งกันเพราะกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และนักประดิษฐ์อิสระสนับสนุนให้มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่อง แต่ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์โปรแกรมและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และหน่วยงานของรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับหลักการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่องและเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายและแนวปฏิบัติดังกล่าว

คำขอรับสิทธิบัตรแบบแยกส่วน (Divisional applications)
คำขอรับสิทธิบัตรแบบแยกส่วนเป็นกรณีที่มีการแยกคำขอรับสิทธิบัตรจากคำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ยื่นไว้เดิม โดยคำขอรับสิทธิบัตรที่แยกออกมานั้นมีส่วนสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกับการประดิษฐ์ที่ยื่นขอไว้ในเดิม  ทั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้ถือวันเดิมที่เคยยื่นไว้ตามคำขอรับสิทธิบัตรหลักเป็นวันยื่นขอรับสิทธิบัตรที่แยกออกมา แต่ต้องแยกยื่นออกมาก่อนวันที่มีการออกหรือรับจดทะเบียนสิทธิบัตรหลักฉบับเดิม ในทางปฏิบัติ โดยทั่วไปคำขอรับสิทธิบัตรแบบแยกนี้มักใช้ในกรณีที่มีข้อคัดค้านความเป็นเอกภาพ (Unity) ของสิทธิบัตร  เมื่อนายทะเบียนสิทธิบัตรมีคำสั่งให้จำกัดการประดิษฐ์เพียงอันเดียวในหนึ่งคำขอรับสิทธิบัตร อาจกล่าวได้ว่าคำขอรับสิทธิบัตรแบบแยกส่วนเป็นประเภทหนึ่งของคำขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่องบางส่วน (Continuation-in-part patent)
ทั้งนี้ การขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่องหรือแบบแยกส่วนได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อต่อผู้ขอรับสิทธิบัตรมากเกินไปเพราะยอมให้มีการกล่าวอ้างเหตุผลหรือนำเสนอหลักฐานซ้ำต่อนายทะเบียนสิทธิบัตร แม้ว่าจะได้มีการปฏิเสธไปแล้วและที่สำคัญคือยอมให้มีการแก้ไขข้อถือสิทธิและข้อผิดพลาดโดนไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งบางครั้งเป็นการกระทำภายหลังที่คำขอรับสิทธิบัตรดังกล่าวได้ประกาศโฆษณาไปแล้ว การแก้ไขข้อถือสิทธิและข้อผิดพลาดดังกล่าวจะไม่ได้รับการตรวจสอบจากบุคคลภายนอกจนกระทั่งมีการออกสิทธิบัตร นอกจากนี้ ระบบคำขอรับสิทธิบัตรแบบต่อเนื่องและแบบแยกส่วนยังทำให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรใช้กลยุทธที่ยืดระยะเวลาการขอรับสิทธิบัตรออกไปได้หลายปีโดยไม่มีการตรวจสอบจากสาธารณะในระหว่างกระบวนการยืดเยื้อแต่ประการใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น