วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การให้คำจำกัดความ "คอร์รัปชั่น"

คำว่า "คอร์รัปชั่น" มีที่มาจากคำในภาษาลาตินว่า "corruptus"   หรือ "corrumpere" ซึ่งหมายความทำให้เสียหาย (spoil) หรือทำให้แตกเป็นชิ้นๆ (break into pieces) คอรัปชั่นเกิดขึ้นในแทบทุกระดับในสังคมและทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ในยุคโลกาภิวัตร ธุรกรรมข้ามประเทศกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ซึ่งทำให้เกิดโอกาศคอร์รัปชั่นระหว่างประเทศได้มากขึ้น แต่นิยามคำว่า "คอร์รัปชั่น" ในระดับระหว่างประเทศยังไม่ชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทั้งทางด้านกฎหมายและการเมือง ดังนั้น ทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกันของคำว่าคอร์รัปชั่นของแต่ละประเทศตามบริบทและมุมมองของตนเอง


อนุสัญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการคอรัปชั่น (UNCAC) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อสู้กับการให้สินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ  (OECD Antibribery Convention) ซึ่งเป้นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องคอร์รัปชั่นก็ไม่ได้ให้นิยามไว้ เพียงแต่ระบุรูปแบบของการกระทำผิดคอร์รัปชั่นไว้ ดังนี้
1. การให้สินบน (Bribery)
2. การกรรโชก (Extortion)
3. การจ่ายเพื่อการอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment)
4. การสมรู้ร่วมคิด (Collusion)
5. การหลอกลวง (Fraud)
6. การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (Obstruction of Justice)
7. การยักยอก การเบียดบัง หรือยักย้ายทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่รัฐ (Embezzlement, misappropriation or other diversions of property by a public official)
8. การใช้อิทธิพลทางการค้า (Trading Influence)
9. การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ (Abuse of function)
10. การร่ำรวยผิดปกติ (Illicit enrichment)
11. การฟอกเงิน (Money laundering)
12. ผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interests)

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) อธิบายคำว่าคอร์รัปชั่นว่าหมายถึงการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนเพื่อได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน การใช้อำนาจโดยมิชอบไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อได้รับเงินหรือประโยชน์อื่นๆ เป็นการส่วนตน

ธนาคารโลก (World Bank) ให้คำจำกัดความคอร์รัปชั่นว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตัว

สถาบันความโปร่งใสสากล (Transparency International หรือ TI) ให้ความหมายว่าเป็นการใช้อำนาจที่ได้รับมอบหมายโดยมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตัว อันเป็นการทำร้ายผู้อื่นที่ต้องพึ่งพาความซื่อสัตย์ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจดังกล่าว

การประชุมว่าด้วยข้อตกลงโลกขององค์การสหประชาชาติ (UN Global Compact) เสนอแนะว่าในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นและหลักการที่ 10 ดังนี้
1. ภายใน (Internal): ในขั้นตอนแรกควรมีนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่นภายในองค์กรและในการดำเนินธุรกิจ
2. ภายนอก (External): รายงานการดำเนินงานต่อต้านคอร์รัปชั่นในการสื่อสารหรือประชาสัมพันธ์ประจำปี รวมทั้งความคืบหน้าในการดำเนินการ พร้อมยกตัวอย่าง
3. ร่วมกัน (Collective):  สร้างการร่วมมือกันกับภาคอุตสาหกรรมและกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ

ทั้งนี้ คอร์รัปชั่นมีทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน กล่าวคือด้านอุปสงค์จะเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือนิติบุคคลที่อำนวยความสะดวกในการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นวิธีการให้ประโยชน์หรือได้เปรียบโดยไม่เหมาะสมในหลายรูปแบบ เพื่อต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นอย่างมีประสิทธิผล นโยบายในเรื่องนี้จำเป็นต้องพิจารณาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานควบคู่กันไปพร้อมกัน ดังนั้น มาตรการที่ใช้อยู่อาจไม่เพียงพอในการดำเนินกับบุคคลที่รับสินบน และมีความจำเป็นที่ต้องมีการป้องกัน ระงับ หรือลงโทษมิให้เกิดในทางด้านอุปทาน (หรือผู้ให้) ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น