วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

สัญญาอัจฉริยะคืออะไร? (Smart Contract)

สัญญาอัจฉริยะ (smart contract) หมายความถึงสัญญาที่สามารถบังคับใช้ได้ตัวเองโดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป้นต้องมีบุคคลที่สามเป็นตัวกลาง สัยญาอัจฉริยะจะถูกเขียนขึ้นในรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เขียนเป็นหนังสือในรูปของภาษากฎหมายที่ยกร่างโดยนักกฎหมาย โปรแกรมดังกล่าวสามารถกำหนดเงื่อนไขและผลลัพธ์ที่จำกัดได้เช่นเดียวกันกับเอกสารกฎหมายที่ใช้กันในปัจจุบัน แต่ก็ไม่เหมือนสัญญาในปัจจุบัน กล่าวคือสัญญาอัจฉริยะสามารถป้อนหรือนำเข้าข้อมูลสารสนเทศแล้วประมวลผลออกมาเป็นเงื่อนไขของสัญญา รวมทั้งสามารถดำเนินการตามเงื่อนไขได้ตามที่กำหนดไว้เพื่อให้เกิดผลตามสัญญา

ข้อความคิดเรื่องสัญญาอัจฉริยะได้ถูกพัฒนาในปี ค.ศ. 1994 โดยนายนิค ซสาโบ (Nick Szabo) ซึ่งเป็นทั้งนักคอมพิวเตอร์ นักรหัสวิทยา และนักกฎหมาย แต่ในยุคนั้นยังไม่สามารถใช้เป็นแนวปฏิบัติงานได้จริงเพราะโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยียังไม่สามารถสนับสนุนได้เพียงพอ  ปัจจุบันนี้ ด้วยความก้าวหน้าของโปรโตคอลของการเข้ารหัสและเทคโนโลยีบล๊อกเชนทำให้แนวคิดเรื่องสัญญาอัจฉริยะดังกล่าวได้รับการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

หากจะอธิบายอย่างง่ายๆ คือว่า สัญญาอัจฉริยะเป็นสคริปท์ที่เขียนโดยอัตโนมัติ สามารถทำซ้ำได้ และเป็นหน่วยย่อยที่แยกออกจากกันได้ ซึ่งปกติมักจะทำงานบนระบบเทคโนโลยีบล๊อกเชนที่นำเสนอเงื่อนไขสัญญาแบบฝ่ายเดียวเพื่อให้คอมพิวเตอร์ตัดสินใจและดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หากผู้ใช้งานตกลงจะทำสัญญาดังกล่าว คือเมื่อผู้ใช้งานต้องการซื้อสินค้าหรือบริการที่ใช้ระบบสัญญาอัจฉริยะ เมื่อมีการตอบตกลงตามเงื่อนไขที่ผู้ขายกำหนดไว้ สคริปท์หรือโค้ดข้อความดังกล่าวจะถูกส่งไปจัดเก็บไว้ในบล๊อกซึ่งระบุที่อยู่ไว้เฉพาะ แล้วบล๊อกดังกล่าวจะถูกส่งเข้าระบบเทคโนโลยีบล๊อกเชนเพื่อกระจายไปยังโครงข่ายให้รับรองและจัดเก็บเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและปลอดภัย เมื่อมีการรับรองและจัดเก็บโดยระบบเทคโนโลยีบล๊อกเซนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว สคริปท์ในบล๊อกดังกล่าวจะถูกส่งเพิ่มเข้าไปในระบบบล๊อกที่เชื่อมต่อกัน (chain) และเมื่อมีการดำเนินการเงื่อนไขตามสัญญาครบถ้วน เช่น มีการชำระเงิน ยืนยันตัวบุคคลผู้ทำสัญญา และกรอกข้อมูลครบถ้วน  หรือเกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในสัญญา การทำธุรกรรมจะถูกส่งไปยังบล๊อกเชนที่บรรจุสัญญาไว้และระบบจะทำงานตามสคริปท์หรือโค้ดข้อความ (หรือเงื่อนไขของสัญญา) โดยผู้ขายจะดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญา คือ จัดส่งสินค้าหรือให้บริการ เป็นต้น ซึ่งมีคนเปรียบเทียบว่าคล้ายกับการซื้อของจากเครื่องขายของโดยอัตโนมัติ (vending machine) เพียงแต่ทำบนระบบเทคโนโลยีบล๊อกเชนที่มีความยุง่ยากและซับซ้อนกว่า กล่าวคือหากผู้ซื้อสินค้าหยอดเหรียญตามราคาสินค้า เครื่องก็จะจัดสินค้าให้ทันที

ทั้งนี้ ลักษณะเฉพาะของสัญญาอัจฉริยะประกอบด้วย
- รูปแบบของดิจิทัล (digital form) คือจะอยู่ในรูปของคอมพิวเตอร์ เช่น โค้ด ข้อมูล และโปรแกรมคอมพิวเตอร์
- การฝังรวม กล่าวคือเงื่อนไขของสัญญาหรือผลลัพธ์ที่ต้องดำเนินการจะถูกฝังรวมในโค้ดของคอมพิวเตอร์ในโปรแกรม
- การดำเนินการโดยวิธีการทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินและการกระทำอื่นๆ ดำเนินการด้วยเทคโนโลยีและยึดตามเงื่อนไข
- ไม่สามารถเพิกถอนได้ เมื่อได้เริ่มแล้ว ผลลัพธ์ของสัญญาอัจฉริยะได้ถูกเข้ารหัสและกำหนดให้ระบบเทคโนโลยีทำงานโดยไม่สามารถระงับได้กลางคันหรือระกว่างดำเนินการตามกระบวนการ เว้นแต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ สัญญาอัจฉริยะสามารถเป็นโค้ดเพื่อแสดงถึงประเภทของรูปแบบของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นการใช้งานข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ธุรกรรมหรือการกระทำที่ง่าย เช่น การโพสท์ข้อความในฟอรั่ม ไปถึงกิจกรรมที่ซับซ้อน เช่น การทำสัญญากู้ยืมเงินและวางหลักทรัพย์ประกัน รวมทั้งสัญญาในอนาคตที่ซับซ้อนมากๆ ได้ด้วย ตัวอย่างของสัญญาอัจฉริยะที่ใช้ในธุรกิจการเงิน มีดังนี้
- สัญญากู้ยืมเงิน พร้อมสัญญาวางหลักประกันเินการกู้ หากผู้กู้ยืมเงินไม่ชำระค่างวดตามสัญญา สัญญาอัจฉริยะก็จะยกเลิกกุญแจดิจิทัลโดยอัตโนมัติที่อนุญาตให้ผู้กู้ยืมเงินเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ที่วางเป้นหลักประกันได้ เป็นต้น
- สัญญามรดกที่จะดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์สินโดยอัตโนมัติตามสัญญามรดก เมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต
- สัญญาวางเงินหรือทรัพย์สินไว้กับบุคคลที่สาม (escrow) โดยสัญยาอัจฉริยะจะสร้างบัญชีเอสโครว์ขึ้นเพื่อติดตามการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายระหว่างคู่สัญญา กล่าวคือเมื่อมีการส่งมอบสินค้าครบถ้วนแล้ว ระบบจะโอนเงินให้ผู้ขายโดยอัตโนมัติ
- สัญญาควบคุมกระเป๋าสกุลเงินเข้ารหัส ซึ่งสามารถใช้ในการควบคุมหรือกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินด้วยสกุลเงินดิจิทัลแบบซับซ้อนได้
- ตลาดทุนและหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันนี้มีการทดลองใช้งานสัญญาอัจฉริยะในการออกพันธบัตรอัจฉริยะ (smart bond) และใช้ในการบริหารตลาดหลักทรัพย?เอกชน กล่าวคือสัญญาอัจฉริยะจะควบคุมติดตามการดำเนินการของทรัพย์สินดิจิทัลและไม่ใช่ดิจิทัลได้

ประเด็นท้าทายคือ ปัจจุบันในการดำเนินการตามสัญญาอัจฉริยะในทางปฏิบัตินั้นยังคงมีประเด็นทางกฎหมายอยู่หลายประการ ดังนี้
- ในทางปฏิบัติ สัญญาอัจฉริยะเป็นเพียงซอฟแวร์ที่ดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลที่ทำงานบนเทคโนโลยีบล๊อกเชน ซึ่งปัจจุบันการใช้งานยังไม่แพร่หลาย
- การยอมรับเป็นสัญญาตามกฎหมาย สัญญาอัจฉริยะยังมีประเด็นเชิงกฎหมายว่าเป็นสัญยาที่ผูกพันตามกฎหมายหรือไม่ เพราะระบบกฎหมายซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์มีเงื่อนไขและองค์ประกอบของการเป็นสัญญาที่แตกต่างกัน และยังไม่มีความชัดเจนว่าศาลหรือฝ่ายบริหารจะยอมรับสัญยาอัจฉริยะเป็นสัยยาที่มีผลผูกพันตามกฎหมายหรือไม่
- ความยืดหยุ่น สัญญาอัจฉริยะใช้การสันนิษฐานว่าคู่สัญญาสามารถพิจารณาเจรจาเงื่อนไขสัญญาได้ก่อนทำนิติกรรม แต่ในทางปฏิบัติสัญญาอาจตกลงกันไม่ตรงตามความมุ่งหมายเพราะอาจมีสิ่งที่เกิดขึ้นหลังมีการทำสัญญาซึ่งคู่สัญญาอาจไม่คาดถึงมาก่อน สัญญาอัจฉริยะควรมีกลไกที่อนุญาตให้คู่สัญญาแก้ขสัญญาได้หากเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังขาดความยืดหยุ่นในเรื่องนี้
- การยอมรับสัญยาอัจฉริยะ กล่าวคือ แม้ปัจจุบันจากมีหลายธุรกรรมใช้สัญญาอัจฉริยะแล้วในเชิงพาณิชย์ แต่ในการพัฒนาระบบสัญญาอัจฉริยะยังมีอยู่ในวงจำกัด
- ความรับผิดตามกฎหมาย กล่าวคือสัญญาอัจฉริยะสร้างความท้าทายอย่างมากแก่ผู้กำกับดุแลเพราะยอมให้สร้างบริการแบบ peer to peer ขึ้นแบบอัตโนมัติและไม่รวมศูนย์กลางหรือผ่านคนกลาง เช่น บริการ Uber หรือ Airbnb ที่สามารถเชื่อมต่อผู้คนและบริหารเรื่องการชำระเงินได้โดยไม่มีคนกลาง หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอาจต้องปรับเปลี่ยนรุปแบบหรือแนวทางการกำกับดูแลในบางเรื่องไปเลย

โดยสรุป วัตถุประสงค์ของสัญญาอัจฉริยะคือต้องการให้บุคคลสามารถทำธุรกรรมกับบุคคลแปลกหน้าบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางที่เชื่อถือได้เป็นผู้รับรอง เทคโนโลยีบล๊อกเชนประกันว่าทุกคนจะได้เห็นสิ่งเดียวกันและเชื่อถือได้ สัญญาอัจฉริยะพัฒนามาจากระบบกฎหมาย แต่ยังคงไม่ชัดเจนในเรื่องการยอมรับในปัจจุบัน ซึ่งต้องติดตามในประเด็นนี้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น