วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เสรีภาพของสื่อในสหราชอาณาจักร

แม้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรของสหราชอาณาจักรจะไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนในการประกันสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ก็ตาม แต่หลักการเสรีภาพของสื่อมวลชนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในรัฐธรรมนูญที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรของอังกฤษรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ ที่ผ่านมาศาลในสหราชอาณาจักรได้อ้างว่าหลักการตามรัฐธรรมนูญหมายความรวมถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วย

สหราชอาณาจักรได้เป็นสมาชิกของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (the European Convention of Human Rights) ที่บัญญัติหลักการเสรีภาพของการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อไว้ และต่อมาในปี ค.ศ. 1996 สหราชอาณาจักรได้ยอมรับสิทธิของบุคคลในการร้องเรียนต่อรัฐบาลในเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย เนื่องจากในการสมัครเข้าเป็นภาคีสมาชิกในคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปและศาลสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ สหราชอาณาจักรได้ถูกทักท้วงในหลายประเด็นว่า บทบัญญัติกฎหมายและแนวปฏิบัติของสหราชอาณาจักรไม่สอดคล้องกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกตามสนธิสัญญาสหภาพยุโรป ต่อมาในปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลของพรรคแรงงานได้ผ่านกฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้นและเป็นการยกระดับการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวไว้ในกฎหมายของสหราชอาณาจักรด้วย แต่ศาลในสหราชอาณาจักรได้ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงงออกมากกว่าที่กฎหมายบัญญัติหรือฝ่ายบริหารออกแนวปฏิบัติหรือให้ความคุ้มครอง

ในหลักการที่ปฏิบัติในกิจการสื่อนั้น รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ยกเลิกการออกใบอนุญาตจัดตั้งและการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1684 และรับรองสิทธิในการตีพิมพ์หนังสื่อพิมพ์ หนังสือ และแม็กกาซีนโดยไม่ต้องขอรับอนุญาตจากรัฐบาลก่อน ดังนั้น รัฐบาลจะไม่แทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อมวลชนเริ่มกลายเป็นสื่อเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทำให้เสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชนต่ออยู่ภายใต้การครอบงำของทุนแทน จึงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันค่อนข้างมากมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ทั้งนี้ สื่อมวลชนในสหราชอาณาจักรไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ยกเว้นเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม และดังนั้น จึงไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาล ในระบบเสรีประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์และแม๊กกาซีนมีเสรีภาพในการทำข่าวและตีพิมพ์ความเห็นของบทบรรณาธิการตามปรัญชาของตนเองทั้งแนวคฃิกทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยไม่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ในการรายงานต้องมีความเป็นกลาง  ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปที่สื่อมวลชนแต่ละประเภทจะมีหน่วยงานกำกับดูแลและกฎหมายควบคุมกำกับดูแลเป็นการเฉพาะแยกออกไป เช่น กฎหมายสื่อสิ่งพิมพ์และกฎหมายวิทยุและโทรทัศน์ ในสหราชอาณาจักรใช้กฎหมายทั่วไปในการควบคุมกำกับดูแลสื่อมวลชน เช่น กฎหมายละเมิดและหมิ่นประมาท กฎหมายลามกอนาจาร และการความผิดเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว  เป็นต้น เนื่องจากปรัญชาในเรื่องดังกล่าวของสหราชอาณาจักรคือเสรีนิยมที่จะไม่มีการควบคุมหรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนก่อนการนำเสนอข่าว กล่าวคือโดยหลักแล้ว บุคคลอาจสื่อสารโดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน เว้นแต่ในเรื่องที่กฎหมายกำหนด อาทิ การคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล ความลับทางราชการ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ข้อจำกัดที่สำคัญสำหรับสื่อมวลชนในสหราชอาณาจักรคือกฎหมายหมิ่นประมาทในสหราชอาณาจักรกำหนดเงื่อนไขในการพิสูจน์แก่จำเลยหรือสื่อมวลชนที่เปิดเผยไขข่าว ดังนั้น โจทก์ค่อนข้างได้เปรียบ ซึ่งได้รับการวิจารณ์ว่าก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนค่อนข้างมาก ในปี ค.ศ. 2006 กฎหมายหมิ่นประมาทได้มีการปรับปรุงแก้ไขครั้งสำคัญด้วยคำพิพากษาที่ยกเว้นภาระในการพิสูจน์แก่หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal Europe ที่เป็นจำเลยในการพิสูจน์ว่าบทความที่ถูกฟ้องว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ สถาบันเสรีภาพสื่อมวลชน (Freedom House) ได้ยกย่องคำพิพากษานี้ว่าเป็นคำพิพากษาที่สำคัญเนื่องจากส่งเสริมให้สื่อมวลชนในเสรีภาพใกนารรายงานข้อกล่าวหาต่อบุคคลสาธารณะโดยไม่ต้องเกรงกลัวในการถูกฟ้องร้องเพื่อแก้แค้นอีกต่อไป

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนพบบ่อยในเรื่องการรักษาความมั่นคงของชาติ โดยจากรายงานของสถาบันเสรีภาพสื่อมวลชนได้ระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ 1970-1990 สหราชอาณาจักรนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์มากประเทศหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะในยุคนายกรัฐมนตรีแท็กเชอร์เนื่องจากระบบการเมืองเอื้อต่อการเซ็นเซอร์สื่อมวลชน ประกอบการความไม่ชัดเจนในกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิในเรื่องนี้ สถาบันทางการเมืองหรือรัฐบาลได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาจึงมีอิทธิพลต่อเสรีภาพในข้อมูลข่าวสารและการเฟื้องฟูของกฎหมายปกป้องความลับ แต่ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 2000 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายเสรีภาพข้อมูงข่าวสาร (Freedom of Information Act) ทำให้เสรีภาพสื่อมวลชนเริ่มดีขึ้นตามลำดับ

กฎหมายความลับราชการ (the Official Secrets Act) ใช้กฎหมายอาญาในการป้องกันการเปิดเผยความลับของรัฐ ในสหราชอาณาจักร ข้าราชการพลเรือนต้องมีหน้าที่เก็บรักษาความลับ และจะมีการปกป้องหรือคุ้มครองผู้ที่เปิดเผยความลับเพื่อเปิดโปงการกระทำผิดกฎหมาย การล่วงละมเิดอำนาจศาลกำหนดให้การคุ้มครองการเปิดเผยแหล่งข่าวของผู้สื่อข่าว และการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในความธำรงซึ่งความยุติธรรม ความมั่นคงแห่งชาติ หรือการป้องกันการกระทำผิดอาญา

การคุ้มครองสิทธิของผู้สื่อข่าวในสหราชอาณาจักรมีสองคุณลักษณะที่แตกต่างจากสหภาพยุโรป ประการแรกในสหราชอาณาจักร สิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชนในสหราชอาณาจักรได้รับความคุ้มครองจากสื่อมวลชนน้อยกว่าในสหภาพยุโรปค่อนข้างมาก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือสื่อมวลชนในสหราชอาณาจักรมีเสรีภาพในการทำข่าวรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลได้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในสหราชอาณาจักรไม่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยสิทธิความเป็นส่วนตัว (privacy) ส่งผลให้การทำข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนในราชอาณาจักรค่อนข้างเฟื้องฟู แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดหนังสือพิมพ์ประเภทแทบลอย์จำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้มีการออกกฎมากำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น และความแตกต่างประการที่สองคือสหราชอาณาจักรไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิในการตอบ (right of reply) สำหรับสื่อมวลชนดังเช่นในประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ในสหราชอาณาจักรสื่อมวลชนใช้กลไกการกำกับดูแลตนขององค์กรสื่อมวลชนเป็นหลักในเรื่องดังกล่าว กล่าวคือสื่อมวลชนมีกรอบประมวลจริยธรรมในการกำหนดวางมาตรฐานในเรื่องดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น