วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทางเลือกในการกำกับดูแลแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของสหรัฐอเมริกา




 
 อุปกรณ์สื่อสารที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันคือโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน (Smartphone) โดยสัดส่วนของยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากการพัฒนาความสามารถของโทรศัพท์มือถือที่แต่เดิมมีไว้สนทนากันเท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้ใช้มีกิจกรรมเพิ่มขึ้นจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เช่น การเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร การดูหนังหรือฟังเพลง การเล่มเกมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทั้งนี้เป็นผลมาจากแอพพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่มีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้นทั้งจากค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์หรือจากที่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์หลายบริษัทหันมาพัฒนาโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ โดยเชื่อว่าจะมีอัตราการดาวน์โหลดเพื่อใช้งานที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ตลาดแอพพลิเคชั่นหรือโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์จึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กล่าวอีกนัยหนึ่งว่ายากที่จะมีตลาดอื่นที่จะมีอัตราการเติบโตทางด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเท่ากับตลาดแอพพลิเคชั่นในช่วงนี้ ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากอุปสรรคในการเข้าตลาดต่ำและข้อเท็จจริงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าใคร ๆ ก็สามารถเข้าตลาดนี้ได้ขอเพียงให้มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ขั้นสูงแต่ประการใด เช่น โปรแกรม Angry Bird ซึ่งทำรายได้ได้หลายล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และอีกหลายโปรแกรมที่พัฒนาโดยเด็กระดับประถมศึกษา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะของตลาดแอพพลิเคชั่นนี้เองที่มีความหลากหลายและไม่รวมศูนย์ จึงยากที่จะประเมินมูลค่าตลาด มีการประมาณการณ์ว่าตลาดนี้มีมูลค่าอยู่ประมาณ 20.4 - 53 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาต่อปี และคาดการณ์ว่าอาจจะพุ่งสูงถึง 63.5 + 143 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
ด้วยความนิยมและเติบโตของตลาดแอพพลิเคชั่นนี้เองสร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่อตลาดที่เข้าถึงได้อย่างกว้างขวางและขยายไปได้อย่างรวดเร็ว ในหลายกรณี แอพพลิเคชั่นถือเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับลูกค้าเพื่อให้บริการซึ่งถูกควบคุมหรือถูกกำกับดูแลโดยรัฐ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลจึงมองว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวอาจเปิดช่องว่างในการกำกับดูแล และส่งผลกระทบต่อตลาดในภาพรวม โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่ในตลาดที่ต้องแบกรับต้นทุนจากการกำกับดูแล ในขณะที่แอพพลิเคชั่นที่มีบริการเหมือนหรือคล้ายคลึงกันไม่ได้ถูกกำกับดูแลและมีต้นทุนเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น

- ในมลรัฐเวอร์จิเนีย กรมยานยนต์ (Department of Motor Vehicles) ออกประกาศห้ามการให้บริการแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง Uber และ Lyft ที่ให้บริการรถยนต์โดยสารหรือแท็กซี่ โดยอ้างว่าเป็นการแชร์รถยนต์ กรมยานยนต์ประกาศว่าจะดำเนินการจับกุมผู้ให้บริการรถยนต์โดยสารหรือแท็กซี่ที่ใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว มลรัฐต่าง ๆ อีกหลายมลรัฐก็เริ่มดำเนินการตาม โดยให้เหตุผลว่าบริการดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน  เนื่องจากผู้ให้บริการรถแท็กซี่ที่มีอยู่เดิมต้องแบกรับต้นทุนค่าใบอนุญาตและต้องถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด

- ในมลรัฐนิวยอร์ค มีการร้องเรียนในทำนองเดียวกันต่อแอพพลิเคชั่น Airbnb ซึ่งเสนอบริการแก่นักท่องเที่ยวในการหาที่พักแรมราคาถูก โดยจะจัดหาอพาร์ทเม้นท์ที่ว่างให้ รัฐบาลเมืองนิวยอร์คกังวลว่าแอพพลิเคชั่น Airbnb ฝ่าฝืนกฎหมายโรงแรมเพราะบริการดังกล่าวอาจถือว่าเป็นบริการโรงแรมประเภทหนึ่งซึ่งต้องได้รับใบอนุญาต

- แอพพลิเคชั่นเกี่ยวข้องกับอาหารจำนวนมากที่นำเสนอผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการจัดงานเลี้ยงแก่คนแปลกหน้าเพื่อหาเพื่อน หรือแก่คนยากจนเพื่อการกุศล สำนักงานอาหารและยากังวลว่าการให้บริการอาหารตามช่องทางดังกล่าว อาจเป็นช่องว่างในการกำกับดูแลซึ่งปัจจุบันมีการกำกับดูแลที่เข้มงวด รวมทั้งบริการด้านสุขภาพที่ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยสุขภาพ การตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และการให้คำปรึกษาด้านอาหารเพื่อสุขภาพหรือให้ข้อมูลด้านการแพทย์ ซึ่งสำนักงานอาหารและยากังวลว่าแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เหล่านี้อาจมีมูลเหตุจูงใจแฝง เช่น การโฆษณา หรือบางบริการอาจเป็นบริการทางการแพทย์ที่ผู้ให้บริการต้องได้รับใบอนุญาตและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการให้บริการดังกล่าวได้

- กรมขนส่งอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบของบริการแอพพลิเคชั่นนำทางบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากการใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นการใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

หากพิจารณาในมุมมองของตลาดพบว่านวัตกรรมของบริการต่าง ๆ ที่นำเสนอผ่านแอพพลิเคชั่นเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิมได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มการแข่งขันในตลาด แต่นวัตกรรมดังกล่าวก็สร้างปัญหาแก่ระบบการกำกับดูแลที่มีอยู่เดิมในตลาดซึ่งสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดและต้นทุนแก่ผู้ประกอบการไว้ ดังนั้น ผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดจึงต่อต้านการใช้แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการในทำนองเดียวกับตนเอง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลห้ามการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นหรือให้อยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลแบบเดียวกันเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น กลุ่มผู้บริโภคกล่าวว่านโยบายของรัฐบาลที่ห้ามหรือกำกับดูแลการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบทางลบต่อผู้บริโภค ลดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมและการแข่งขันในตลาด รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ มีการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ที่ลดลงที่เกิดจากความล่าช้าหากมีการตรวจสอบหรือกำกับดูแลแอพพลิเคชั่นโดยรัฐบาล ซึ่งมีการประเมินว่า Apple Apps Store มีแอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลด ซึ่งในหนึ่งปีเฉลี่ยแล้วมีการดาวโหลด 40,000 ครั้งต่อแอพพลิเคชั่นและในราคา 10 เซ็นต์ต่อการดาวน์โหลดหนึ่งครั้ง Apple Apps Store มีการเพิ่มแอพพลิเคชั่นใหม่ให้ดาวโหลด 20,000 แอพพลิเคชั่นต่อเดือนหรือ 240,000 ต่อปี ดังนั้น หากมีการตรวจสอบและกำกับดูแลแอพพลิเคชั่นโดยรัฐบาลอาจส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1 พันล้านเหรียญต่อปี ซึ่งเป็นการประเมินข้อมูลจากผู้ประกอบการายใหญ่รายเดียวเท่านั้น เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ นอกจากนี้ ยังไม่รวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลดทอนแรงจูงใจที่เกิดจากการกำกับดูแลและประโยชน์แอพพลิเคชั่นดี ๆ ต้องถูกชะลอการใช้งาน

สำหรับทางเลือกที่มีการพิจารณากันในเบื้องต้น โดยพิจารณาในแง่มองของการแข่งขันหรือภาระการถูกกำกับดูแลที่ไม่เป็นธรรม มีดังนี้

ทางเลือกแรก ควรใช้กรอบการกำกับดูแลในปัจจุบันให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่นด้วย เพื่อให้บริบทของการแข่งขันเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายทางเลือกนี้

ทางเลือกที่สอง ควรยกเลิกกรอบการกำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือลดการกำกับดูแล พร้อมเปิดเสรีตลาด อันจะส่งผลเพิ่มการแข่งขันและลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนและผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลาย ทันสมัย ราคาลดลง และมีทางเลือกมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดอาจไม่ชอบใจ

ทางเลือกที่สาม รัฐบาลเลือกไม่ทำอะไรปล่อยให้เทคโนโลยี การแข่งขัน และกลไกตลาดทำงานไปเรื่อย ๆ ซึ่งในท้ายที่สุดระบบการกำกับดุแลแบบเดิมจะลดบทบาทลงเอง แต่ต้องใช้ระยะเวลาและไม่แน่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไร ผู้ประกอบการายเดิมอาจปรับตัวเข้ามาให้บริการแข่งขันผ่านทางแอพพลิเคชั่นด้วย ทางเลือกนี้ รัฐบาลใช้กับกรณีบริการ VoIP ที่แข่งขันกับบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวนี้ต้องติดตามกันดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น