วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา



 นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาใช้บังคับในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1789 มีการแก้ไขปรับปรุงจำนวนทั้งสิ้น 33 ครั้ง ที่ผ่านมามีข้อเสนอขอแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติรัฐธรรมจำนวน 11,539 ฉบับ โดยเสนอต่อรัฐสภาและเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบก็จะส่งให้แต่ละมลรัฐให้ความเห็นชอบและให้สัตยาบัน  ทั้งนี้ มีการแก้ไขปรับปรุงจำนวน 27 ฉบับที่มีการให้สัตยาบันโดยมลรัฐในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขสิบครั้งแรกได้รับการยอมรับและให้สัตยาบันทันทีซึ่งเรียกโดยรวมว่า บัญญัติสิทธิพื้นฐานของพลเมือง (Bill of Rights) โดยระบุสิทธิพื้นฐานของพลเมืองที่รัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์และปกป้อง   อนึ่ง การแก้ไขปรับปรุงอีกจำนวน 6 ฉบับรัฐสภาให้ความเห็นชอบและส่งไปยังมลรัฐเพื่อให้สัตยาบัน แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบันในทางเทคนิค การแก้ไขจำนวน 4 ฉบับยังคงค้างพิจารณาอยู่และเปิดกว้างในถกเถียง อีกสองฉบับตกไปโดยปริยาย
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างรัฐบัญญัติที่เป็นกฎหมายทั่วไปกับรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดเงื่อนไขของการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่มีความเข้มงวดมากกว่า กระบวนการและเงื่อนไขของการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญปรากฎอยู่ในมาตรา  5 ของรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งกำหนดสองขั้นตอน คือ ข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญต้องได้รับความเห็นชอบและส่งให้มลรัฐให้สัตยาบันโดยในขั้นตอนแรกนั้น รัฐสภาโดยมีจำนวนเสียงส่วนใหญ่สองในสามของทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร์ และในขั้นตอนที่สอง ต้องประกอบด้วยรัฐสภาของสองในสามของจำนวนมลรัฐ เพื่อให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติที่แก้ไขปรับปรุงต้องได้รับความเห็นชอบ (สัตยาบัน) โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้  (๑) โดยความเห็นชอบของรัฐสภาจำนวน 3 ใน 4 ของจำนวนมลรัฐทั้งหมด (38 เสียงของมลรัฐ) ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือ (๒) การประชุมในวาระให้สัตยาบันของมลรัฐในการประชุมแห่งชาติ โดยต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงมลรัฐทั้งหมด (38 เสียงของมลรัฐ) ภายในระยะเวลาที่กำหนด ปัจจุบันมีการประชุมในแบบ ๑ เป็นส่วนใหญ่
ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว การแก้ไขปรับปรุงอาจถูกบล๊อกได้โดยมลรัฐ 13 มลรัฐที่อาจคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงไม่ว่าจะอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร์หรือวุฒิสภา ดังนั้น การแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถทำได้ง่าย ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความสำคัญให้กับคำพิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา เพราะการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงผลทางกฎหมายของคำพิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาโดยการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ยากยกเว้นในกรณีมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันและเป็นประเด็นที่สาธารณะโต้แย้งอย่างมาก ซึ่งศาลอาจเปลี่ยนแปลงเองในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ในหลายครั้งศาลสูงสุดเองก็ได้พิจารณายืนยันความชอบด้วยกฎหมายของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลสูงสุดพิจารณากระบวนการยื่นข้อเสนอแก้ไขปรับปรุงและการให้สัตยาบัน รวมทั้งเนื้อหาของบทบัญญัติที่แก้ไขก็ถือว่าอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาล ไม่ถือว่าเป็นคำถามทางการเมือง (Political Question) ตัวอย่างเช่น ในคดี Hawke v. Smith (1920) ศาลสูงสุดตีความว่าการให้สัตยาบันของมลลรัฐโฮไอโอในบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 ที่ถูกคัดค้านว่ารัฐธรรมนูญของมลรัฐโฮไอโอกำหนดให้มีการทำประชามติในประเด็นที่ผู้มีสิทธิลงคะแนนอาจไม่เห้นชอบด้วยกับการให้สัตยาบันของรัฐสภาของมลรัฐฯ ศาลสูงสุดสรุปว่ากฎหมายของรัฐบาลกลางกำหนดตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดเป็นการเฉพาะในการให้สัตยาบันกฎหมายของมลรัฐ จึงเหนือกว่ากระบวนการให้สัตยาบันของมลรัฐที่ขัดหรือแย้งดังกล่าว ต่อมาในคดี National Prohibition Cases, 253 US 650  (1920)  ศาลตีความรับรองความชอบด้วยกฎหมายของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 และปฏิเสธข้ออ้างว่าการห้ามการจำหน่ายหรือครอบครองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่สามารถอนุญาตได้ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญได้ ในคดีล่าสุดมีการตีความรัฐธรรมนูญว่าบทบัญญัติที่แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ได้ยกเลิกบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 โดยในคดีแรกคือคดี LaRue v. California, 409 US 109 (1972) ศาลสูงสุดสรุปว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ยอมให้มลรัฐกำกับดูแลการแสดงออกความเห็นในบาร์เหล้าหรือร้านจำหน่ายสุราได้ ซึ่งมลรัฐแคริฟอร์เนียได้ห้ามมิให้บาร์จำหน่ายเหล้าจัดให้มีการแสดงอนาจาร แม้ว่าข้อจำกัดดังกล่าวอาจละเมิดบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ก็ตาม ในปี ค.ศ. 1996 ในคดี 44 Liquormart, Inc. v. Rhode Island, 517 US 484 (1996) ศาลเห็นว่าว่าบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 แม้ว่าจะอนุญาตให้ข้อจำกัดแอลกอฮอล์อาจฝ่าฝืนบทบัญญัติพาณิชย์ (Commerce Clause) ดังนั้น ศาลจึงวินิจฉัยว่าข้อจำกัดการโฆษณาราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ละเมิดบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 ในคดี Granholm v. Heald, 544 US 460 (2005) ศาลตีความว่ามาตรา 2 ของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ไม่ได้ให้มลรัฐมีอำนาจในการเลือกปฏิบัติต่อผู้จำหน่ายไวน์ที่จำหน่ายนอกเหนือขอบเขตของมลรัฐซึ่งอาจละเมิดบทบัญญัติพาณิชย์ ศาลเสียงส่วนใหญ่ (5 ต่อ 4 เสียง) ตัดสินว่ากฎหมายของมลรัฐมิชิแกนที่ห้ามจำหน่ายไวน์แก่พลเมืองชาวมิชิแกนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มลรัฐมิชิแกนอนุญาตให้ไวน์ที่ผลิตในมลรัฐมิชิแกนเท่านั้นที่สามารถจัดส่งไวน์แก่ลูกค้าได้ แต่ห้ามพลเมืองนอกมลรัฐมิชิแกนจำหน่าย แต่ศาลให้ข้อสังเกตว่าบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 มีความชัดเจนที่ให้อำนาจแก่มลรัฐในการห้ามการจัดส่งไวน์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นโดยตรงทั้งหมดแก่ลูกค้าได้ หากมลรัฐใดประสงค์จะห้าม สำหรับความเห็นแย้งทั้งสี่เสียงเห็นว่าประวัติการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 แสดงว่าได้มีการยกเว้นกฎเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากการห้ามโดยปกติทั่วไปในการเลือกปฏิบัติตามบทบัญญัติพาณิชย์ แต่มีการตีความผิดพลาดในเชิงนโยบายมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น