วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

การเชื่อมต่อโครงข่ายในบริบทการค้าบริการระหว่างประเทศ

การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมถือเป็นหลักการพื้นฐานในการกำกับดูแลการแข่งขันในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากสภาพการณ์ที่มีการผูกขาดไปสู่การสถาปนาระบบการแข่งขันเสรี กล่าวคือสภาพการณ์ที่มีบริบทการผูกขาดโดยผู้ประกอบการายใหญ่ (incumbent operator) มีอำนาจควบบุมโครงสร้างที่จำเป็น (essential facility) มักจะปฏิเสธการเข้าถึงหรือการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองเพื่อรักษาสภาพการณ์ที่ได้เปรียบจากการแข่งขัน นโยบายหรือเหตุผลเบื้องหลังของการบังคับให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องมีหน้าที่เชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมหรือโครงสร้างงที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ในการบังคับดังกล่าวมักรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการเชื่อมต่อโครงงข่ายโทรคมนาคมไว้ด้วยเพื่อมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้านราคาและกีดกันการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหม่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควรในการเลือกลักษณะโครงข่ายโทรคมนาคมที่จำเป็นต้องใช้ในการให้บริการ บ่อยครั้งอาจรวมถึงการกำหนดให้มีการโอนย้ายเลขหมายโทรคมนาคมได้อิสระ (number portability)
นโยบายการเชื่อมต่อดครงข่ายถือเป็นมาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อจัดการกับปัญหาอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดในระบบผูกขาดเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการายเดิมที่เป็นรายใหญ่ในตลาดมักมีอำนาจเหนือตลาดและสามารถใช้อำนาจตลาดโดยมิชอบเพื่อลดการแข่งขันโดยการลดแรงจูงใจหรือกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่โดยการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายสูง  อย่างไรก็ตาม นโยบายเชื่อมต่อโครงข่ายก่อให้เกิดต้นทุนในตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะส่งผลต่อผู้ประกอบการรายเดิมโดยจะลดแรงจูงใจผู้ประกอบการายเดิมในตลาดในการลงทุนโครงข่ายโทรคมนาคมโดยเฉพาะการลงทุนในระบบเทคโนโลยีใหม่ หากนโยบายอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมไม่สร้างสมดุล นักวิชาการบางคนเห็นว่านโยบายเชื่อมต่อโครงข่ายอาจสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเข้าสู่ตลาดมากเกินไปซึ่งอาจทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันหากมีการกำหนดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมต่ำเกินไป
นอกจากการกำกับดูแลทางเทคนิคแล้ว โดยทั่วไปในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมักเกิดข้อพิพาทด้านการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมจำนวนมาก เพราะข้อตกลงเชื่อมต่อโครงข่ายเป้นการต่อรองเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน จึงยากที่จะตกลงกันได้โดยสันติ ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างกลไกการระงับข้อพิพาทดังกล่าวเป็นการเฉพาะโดยต้องมีกลไกการพิจารณาที่รวดเร็วและต้องใช้ผู้พิจารณาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค การตัดสินข้อพิพาทที่ล่าช้าจะส่งผลได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหม่อาจจะต้องออกจากตลาดไป หากไม่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายได้โดยเร็ว
ความท้าทายในการกำกับดูแลการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมประการหนึ่งคือการพิจารณาหรือการกำหนดต้นทุนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าควรมีการรวมต้นทุนในอดีตของการสร้างโครงข่ายไว้ในค่าเชื่อมต่อโครงข่ายด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องข้อมูลต้นทุนโครงข่ายซึ่งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ประเด็นในเรื่องนี้จึงมีพัฒนาที่หลากหลาย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หลายประเทศจึงสร้างหลักการกำกับดูแลแบบอสมมาตร (asymmetric regulation) สำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมโดยการกำหนดภาระหน้าที่ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดิมในตลาดเป็นหลัก และมักจะไม่กำหนดภาระหน้าที่การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ นอกจากนี้ นโยบายการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมอาจมีความแตกต่างกันในตลาดบริการ กล่าวคือ นโยบายการเชื่อมต่อโครงข่ายมักใช้กับตลาดโทรศัพท์พื้นฐาน (fixed line) แต่มักจะไม่ใช้นโยบายเชื่อมต่อโครงข่ายกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile) ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวอาจแตกต่างในบริบทของประเทศกำลังพัฒนาที่โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานยังขาดแคลนและไม่สามารถขยายได้ทั่วประเทศ ในขณะที่โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่แตกต่างกัน และในกรณีของโทรศัพท์เคลื่อนที่เกิดปัญหาอื่นประกอบ เช่น การผูกขาดปลายทาง (mobile termination monopoly) และการโรมมิ่งระหว่างประเทศ (roaming) ซึ่งปัจจุบันเป็นประเด็นร้อนในเวทีระหว่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น