วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2561

มุมมองกฎหมายของดาวเทียมสำรวจข้อมูลพื้นโลก

การสำรวจโลก รวมทั้งทะเลและชั้นบรรยากาศของโลกถือว่าเป็นประโยชน์ของกิจกรรมอวกาศที่ดำเนินการโดยมนุษย์ การใช้งานในลักษณะดังกล่าวเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาจากการสอดส่องภาพรวมในเชิงยุทธศาสตร์มาเป็นการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ในการพัฒนาการทำเกษตรกรรม การขุดเหมืองแร่ การพัฒนาอุตสาหกรรมและผังเมือง การควบคุมสิ่งแวดล้อม และการทหารเพื่อสันติ เป็นต้น ทั้งนี้เนื่องจากความก้าวหน้าของระดับความละเอียดและชัดเจนของข้อมูลที่ได้จากการสำรวจระยะไกลประกอบกับการเปิดตลาดในเชิงพาณิชย์ในเรื่องการใช้ประโยชน์สารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์ 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความใหม่ในการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียมยังขาดกรอบกฎหมายในการควบคุมและกำกับดูแลที่ชัดเจน ในบริบทระดับระหว่างประเทศนั้น การกำกับดูแลการใช้ข้อมูลจากอวกาศยังคงแตกต่างกัน หลักเกณฑ์และหลักการที่มีในระดับระหว่างประเทศไม่มีความชัดเจนตั้งแต่นิยามความหมายและปล่อยให้มีการตีความที่ขัดแย้งกันค่อนข้างมากในเรื่องนี้ รวมทั้งประเด็นเรื่องข้อจำกัดในประเด็นเรื่องอาณาเขตของประเทศ ประเภทของกิจกรรม หรือประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินการ  เป็นต้น

สนธิสัญญาอวกาศปี ค.ศ. 1967 (Outer Space Treaty)
กรอบกฎหมายพื้นฐานสำหรับกิจกรรมอวกาศทั้งหมดถูกกำหนดไว้ในสนธิสัญญาอวกาศซึ่งทุกประเทศสำคัญในกิจการอวกาศได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก มาตรา 1 ของสนธิสัญญาอวกาศกำหนดว่าเสรีภาพในการสำรวจและใช้ประโยชน์ในห้วงอวกาศโดยทุกรัฐ รวมทั้งดาวเทียมสำรวจระยะไกล มาตรา 2 ของสนธิสัญญาอวกาศกำหนดหลักการห้ามยึดครอง (non-appropriation principle) ที่มีผลต่อรัฐในการดำเนินกิจกรรมอวกาศ ทั้งสองมาตราสร้างความชัดเจนว่าข้อจำกัดต่อเสรีภาพของการสำรวจและการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศถูกกำหนดในระดับระหว่างประเทศในรูปของสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรืออาจเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศสำหรับประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกสนธิสัญญา นอกจากนี้ มาตรา 3 ของสนธิสัญญายังกำหนดให้กฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปมีผลใช้บังคับกับการดำเนินการในห้วงอวกาศโดยเฉพาะหลักการทั่วไปเช่นเสรีภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากห้วงอวกาศด้วย

ข้อมติองการสหประชาชาติที่ 41/65 (UN Resolution)
ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยหลักการเกี่ยวกับการสำรวจระยะไกลบนโลกจากอวกาศ (The United Nations Declaration on Principles Relating to Remote Sensing of the Earth from Outer Space) ข้อมติที่ 41/65 ในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1986 วางหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจระยะไกลไว้ ข้อมติได้รับการรับรองจากการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติที่แม้จะมิได้มีผลผูกพันทางกฎหมายห็ตาม แต่หลายครั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนในฐานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ข้อมติที่ 41/65 ได้รับการรับรองโดยเอกฉันท์และถือว่ามีนำ้หนักอย่างมากในเชิงการเมืองและศีลธรรมในเวทีระหว่างประเทศ เพราะข้อมติดังกล่าวอาจถือว่าสามารถพัฒนากลายเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ในแง่ของพันธกรณีที่ผูกพันรัฐที่เกี่ยวข้องคือหลักการข้อ 10 ที่กำหนดว่าความจำเป็นของรัฐในการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามต่อสภาพแวดล้อมโลกไปยังรัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง และหลักการข้อ 11 เรียกร้องให้รัฐที่ครอบครองข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติตามธรรมชาติมีหน้าที่แจ้งรัฐอื่นอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ หลักการข้อ 8 เพิ่มบทบาทขององค์การสหประชาชาติให้ทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งการช่วยเหลือทางเทคนิคและการประสานงานในเรื่องการสำรวจข้อมูลระยะไกลด้วย

การเข้าถึงข้อมูล
หลักการสำคัญในข้อมติที่ 41/65 กล่าวถึงประเด็นการเข้าถึงข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากการสำรวจข้อมูลระยะไกลในการบริหารการใช้ที่ดินโดยรัฐบาล หลักการในข้อที่ 6 กำหนดว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวต้องคำนึงถึงอธิปไตยของประเทศที่ถูกสำรวจระยะไกล (sensed state) และหลักการข้อที่ 5 เรียกร้องให้เปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือกับรัฐที่ถูกสำรวจระยะไกลบนพื้นฐานของเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน และหลักการข้อที่ 7 กำหนดให้รัฐที่ทำการสำรวจระยะไกล (sensing state)  ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่มีแก่รัฐที่สนใจบนเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน อย่างไรก็ตาม หลักการข้อที่ 12 กำหนดว่าสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลภูมิศาสตร์ของรัฐที่ถูกสำรวจระยะไกลต้องอยู่บนพื้นฐานไม่เลือกปฏิบัติและค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐที่ทำการสำรวจระยะไกลจะผ่านเงื่อนไขทั้งสองหลักการดังกล่าวแล้วก็ตาม รัฐที่ทำการสำรวจระยะไกลมีดุลพินิจที่ยืดหยุ่นในการพิจารณาไม่อนุญาตรัฐที่ถูกสำรวจระยะไกลในข้อมูลบางประเภทก็ได้ ในประเด็นนี้ชัดเจนว่ารัฐที่ถูกสำรวจระยะไกลไม่มีสิทธิในการเปิดกั้นการสำรวจระยะไกลสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศตนเองได้ และไม่มีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวหรือสิทธิพิเศษก่อนผู้อื่นในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เสรีภาพในการการเก็บรวบรวมข้อมูลเหนือกว่าหลักการอธิปไตยในการควบคุมข้อมูลภูมิประเทศตนเอง

การอนุวัตรการกฎหมายภายในประเทศ
จากกรอบกฎหมายระหว่างประเทศกล่าวมาแล้วข้างต้นถือว่าเป็นกรอบอย่างกว้างแม้จะระบุประเด็นทางกฎหมายจำนวนหนึ่ง แต่ในการใช้บังคับในทางปฏิบัติกับดาวเทียมสำรวจระยะไกลนั้นยังต้องการหักเกณฑ์ที่ชัดเจนในรายละเอียดอีกจำนวนหนึ่งในหลายประเด็น เช่น ประเด็นเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของข้อมูลดาวเทียม (ลิขสิทธิ์) การชดเชยในความเสียหายที่เกิดจากการอ่านข้อมูลผิดพลาด คุณค่าของข้อมูลในเชิงพยานหลักฐานในชั้นศาล เป็นต้น ซึ่งประเด็นที่กล่าวมานั้นเกี่ยวข้องกับระบบกฎหมายที่แต่ละประเทศอาจมีหลักการและแนวคิดที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในบทความนี้จะเน้นเฉพาะหลักการเรื่องความรับผิดชอบระหว่างประเทศและความรับผิดระหว่างประเทศตามสนธิสัญญาอวกาศโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างรัฐบาล (inter-government organization) และหน่วยงานภาคเอกชนในฐานะที่เป็นผู้เล่นสำคัญนอกเหนือจากรัฐ ประการแรกในมาตรา 6 ของสนธิสัญญาอวกาศที่ระบุหลักการความรับผิดชอบระหว่างของกิจกรรมแห่งชาติที่ดำเนินการโดยหน่วยงานที่มิใช่รัฐบาลและต้องประกันว่ากิจกรรมดังกล่าวต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และประการที่สอง ตามมาตรา 7 ของสนธิสัญญาอวกาศและอนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดปี ค.ศ. 1972 ที่กำหนดหลักความรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ทั้งสองหลักการนี้มุ่งเน้นเป้นภาระหน้าที่ของรัฐในฐานะผู้ดำเนินการกิจกรรมอวกาศเป็นหลัก

บทบาทขององค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาล
บทบาทขององค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาลส่งผลให้เกิดผลกระทบที่กว้างขวางในประเด็นหลักความรับผิดชอบ (responsibility) และความรับผิด (liability) ตามหลักความรับผิดชอบระหว่างประเทศ ใช้บังคับเมื่อกิจกรรมที่ดำเนินการในอวกาศโดยองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาล แม้ว่าในกรณีดังกล่าวจำเป็นความรับผิดชอบร่วมกันขององค์การระหว่างรัฐบาลเอง รัฐในองค์การระหว่างรัฐบาลดังกล่าวต้องไม่ปกปิดการดำเนินการในกิจกรรมสำรวจระยะไกลที่ละเมิดหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับระหว่างประเทศ โดยถือเป็นหนัาที่และความรับผิดชอบในการประกันว่าองค์การระหว่างประเทศนั้นไม่ได้ดำเนินการใดๆอันเป็นละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ  ส่วนความรับผิดระหว่างประเทศนั้น ตามอนุสัญญาว่าด้วยความรับผิด ค.ศ. 1972 องค์การระหว่างรัฐบาลมีิสถานะลำดับรองที่จะต้องรับผิดในบางขอบเขต รัฐสมาชิกจะมีความรับผิดโดยตรงก่อน และในลักษณะเดียวกับหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยการจดทะเบียน ค.ศ. 1975 ที่อนุญาตให้องค์การระหว่างรัฐบาลมีสิทธิในการขอจดทะเบียนดาวเทียมและดำเนินการร่วมกันกับรัฐอื่นได้ ตัวอย่างเช่น องค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency หรือ ESA) มีสิทธิได้รับสถานะเช่นว่านั้น

การใช้งานเชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน
ในการใช้งานเชิงพาณิชย์และความเกี่ยวข้องของภาคเอกชนในกิจกรรมการสำรวจข้อมูลระยะไกลมีประเด็นปัญหาหลายประการ ตั้งแต่เรื่องการอนุญาตและการรับรอง  เนื่องจากหลักการกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดหลักการในเรื่องความรับผิดชอบ (responsibility) และความรับผิด (liability) ที่เกิดจากกิจกรรมอวกาศที่ดำเนินการโดยเอกชน ดังนั้น มีความจำเป็นสำหรับรัฐในการออกกฎหมายเพื่ออนุวัตรการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ที่ผ่านมามีเพียงไม่กี่ประเทศที่ออกกฎหมายในเรื่องนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สวีเดน สหราชอาณาจักร รัสเซีย แอฟริกาใต้ ยูเครน ออสเตรเลีย และบราซิล เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมีประเทศ อาร์เจนติน่า แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นที่มีกฎหมายภายในประเทศที่ใกล้เคียงแต่ถือว่ายังไม่มีการควบคุมกำกับดูแลกิจกรรมอวกาสที่ดำเนินการโดยเอกชนอย่างเหมาะสม จึงถือว่าในเรื่องนี้ยังต้องส่งเสริมให้ประเทศต่างๆเข้าใจและเห็นถึงความจำเป้นในการมีหลักเกณฑท์ทางกฎหมายที่ชัดเจนและโปร่งใสในเรื่องนี้มากขึ้นเพื่อให้การควบคุมกำกับดูแลกิจกรรมอวกาศของภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

บทสรุป
กรอบกฎหมายระหว่างประเทศหลักที่เกี่ยวข้องในเรื่องการสำรวจข้อมูลพื้นโลกได้วางหลักการและเงื่อนไขสำหรับกิจกรรมในการเก้บรวบรวมและใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียม ในขณะที่กรอบกฎหมายภายในประเทศโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับภาคเอกชนนั้นมีการกำหนดในรายละเอียดในการกำกับดูแล คำถามที่เกิดขึ้นคือผลกระทบที่อาจเกิดจากการบังคับใช้ในประเด็นที่เกี่ยวกับอวกาศอันเป็นประเด็นระหว่างประเทศ เช่น การใช้ข้อมูลดาวเทียมสำรวจ ซึ่งแม้ในทางปฏิบัติยังไม่ค่อยมีปรากฎข้อพิพาท ทำให้ยากในการประเมินผลกระทบดังกล่าว ตัวอย่างเช่น วิธีการในการกำหนดความรับผิดและจัดการกับแนวทางที่แตกต่างกันในการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจ หรือวิธีการสร้างสมดุลในการกำหนดสิทธิของเจ้าของดาวเทียมและเจ้าของข้อมูลในประเด็นเรื่องข้อมูลที่ได้มาจากดาวเทียมสำรวจ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังคงไม่มีความชัดเจนในทางกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น