วันศุกร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ปัญหากฎหมายในเรื่องการสวดมนต์ในโรงเรียน

ประเด็นเรื่องการสวดมนต์ในโรงเรียนเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ ๒๐  คดีสำคัญคดีแรกคือ คดี Engel v Vitale ในปี ค.ศ. 1962 ศาลสูงสุดตัดสินว่าแนวปฏิบัติที่จัดให้มีการสวดมนต์ในวันแรกของการเปิดเรียนในมลรัฐนิวยอร์กขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ในคดี Engel นี้ ศาลสูงสุดอธิบายว่า ทั้งนี้ไม่ว่านักเรียนจะมีทางเลือกในการเข้าร่วมกับการสวดมนต์หรือไม่ก็ตาม แต่ก็ถือว่าแนวปฏิบัติดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติการนับถือศาสนา (Establishment Clause) ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากโรงเรียนสามารถสร้างแรงกดดันเชิงบังคับทางอ้อมกับคนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นให้ปฏิบัติตามพิธีกรรมทางศาสนาของคนกลุ่มมากในสังคม เพราะแรงกดดันอาจมาจากบรรดาเพื่อน ๆ โดยอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อเด็กนักเรียน ซึ่งนักเรียนหลายคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาหลักของประเทศในใจอาจไม่ประสงค์จะไม่เข้าร่วมในการสวดมนต์ แต่อาจต้องเข้าร่วมในการสวดมนต์ด้วยเพราะความกลัวถูกครหาในสังคมและหมู่เพื่อน โดยไม่อยากถูกมองว่าแปลกแยกจากเพื่อนและสังคม อันถือว่ามีอิทธิพลทางอ้อมต่อเด็กอย่างมาก คำตัดสินในคดี Engel ที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในเชิงวิชาการ แต่ไม่ใช่ประเด็นว่าเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนสามารถกำหนดเวลาสำหรับนักเรียนที่สมัครใจเข้าร่วมการสวดมนต์หรือไม่

ต่อมาประเด็นคล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นอีกในปี ค.ศ. 1985  ในคดี Wallace v Jaffree มลรัฐอาลาบาม่าได้อนุญาตให้โรงเรียนจัดให้มีช่วงเวลาบางเวลาและสถานที่บางส่วนสำหรับการสวดมนต์หรือทำสมาธิอย่างเงียบ ๆ ได้ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งเพราะไม่ได้มีการสนับสนุนความเชื่อทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งเหนือกว่าศาสนาอื่น เป็นการสะท้อนความเชื่อหรือปรัชญาส่วนบุคคลเท่านั้น นักเรียนสามารถใช้ช่วงเวลาหรือสถานที่ดังกล่าวในการทำพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อ   ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายกล่าวว่าวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติแก้ไขดังกล่าวเพื่อให้บรรดาเด็กใช้เวลาในการท่องจำคำสวดมนต์ ดังนั้น ในคดี Wallace ศาลสูงสุดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ตัดสินว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวของมลรัฐอลาบาม่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางศาสนาอย่างแท้จริง จึงตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

ในปี ค.ศ. 1992 ในคดี Lee v Weisman ศาลสูงสุดต้องตัดสินประเด็นเรื่องการสวดมนต์ในโรงเรียนในพิธีฉลองการสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนมัธยม ผู้อำนวยการโรงเรียนได้เชิญพระ/นักบวชเพื่อทำพิธีกรรมสวดมนต์และขอพรพระเจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคลในงานพิธีดังกล่าว นายไวสแมนได้ฟ้องว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อแนวปฏิบัติของบทบัญญัติการคุ้มครองทางศาสนา ศาลสูงสุดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ตัดสินว่าการทำพิธีกรรมสวดมนต์และขอพรพระเจ้าขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เนื่องจากการกระทำดังกล่าวมีระดับของการบังคับที่ยอมรับไม่ได้ เนื่องจากข้อเท็จจริงคือพิธีการฉลองการสำเร็จการศึกษาถือว่ามีความสำคัญต่อนักเรียนและะอาจส่งผลให้นักเรียนลังเลที่จะเข้าร่วมพิธีกรรมดังกล่าวเพราะนักเรียนอาจมีความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างออกไป ดังนั้น ทางเลือกของนักเรียนดังกล่าวคือนั่งต่อไปหรือเดินออกจากพิธีกรรมก่อนจะเริ่มสวดขอพรจากพระเจ้า ซึ่งทางเลือกเดินออกจากพิธีกรรม นักเรียนอาจไม่กล้าเพราะเกรงว่าจะดูเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่การยงคงนั่งอยู่ต่อไปในพิธีกรรมทางศาสนาที่ตนเองไม่นับถือหรือเชื่อก็อาจเป็นการฝืนใจ อย่างไรก็ตามแต่ความเห็นเสียงข้างน้อยกล่าวว่ากรณีดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาแต่ประการใด หากรัฐไม่ได้มีบทลงโทษกรณีไม่เข้าร่วมพิธีกรรมดังกล่าว 

โดยทั่วไปศาลมักจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำในลักษณะดังกล่าวและมีแนวโน้มที่จะตีความว่าเป็นการบังคับขืนใจหรือเป็นกรณีที่รัฐสนับสนุนศาสนา โดยเห็นได้จากแนวโน้มในคดี Santa Fe v Doe ในปี ค.ศ. 2000 พิจารณานโยบายของโรงเรียนท้องถิ่นในมลรัฐเท็กซัสที่อนุญาตให้นักเรียนเลือกนักเรียนเพื่อพูดสั้น ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ก่อนเริ่มการแข่งขันฟุตบอล ตามนโยบายแล้ว คำพูดที่เกี่ยวกับศาสนานั้นต้องเกี่ยวข้องกับกับงานและไม่ยึดติดกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือเป็นกลาง ศาลตัดสินว่านโยบายของโรงเรียนซานตาเฟ่ขัดต่อบทบัญญัติการนับถือศาสนา ศาลให้เหตุผลว่าคำพูดที่โรงเรียนให้การสนับสนุน ใช้สถานที่ของโรงเรียน และอาจทำให้นักเรียนสนับสนุน กระบวนการเลือกตั้งประกันว่าข้อความของศาสนาอาจสะท้อนความเห็นทางศาสนาของนักเรียนส่วนใหญ่ที่เป็นคริสเตียนหัวรุนแรง ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยโต้แย้งว่านโยบายโรงเรียนมีความเป็นกลางและขัดต่อรัฐธรรมนูญ



วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มีคำถามเชิงวิชาการว่าบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมญฉบับที่ 1 ของสหรัฐอเมริกาหรือบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Speech) อนุญาตให้รัฐบาลใช้คำพูดของเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้างของรัฐเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างหรือไม่เลื่อนตำแหน่งได้หรือไม่ คำตอบของศาลสูงสุดคือ ใช้ได้  โดยศาลกล่าวว่าแม้ว่าจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ให้ความคุ้มครองคำพูดหรือการแสดงออกทางการเมือง แต่ก็ไม่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะคุ้มครองหรือรับรองการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งความแตกต่างของสิทธิและสิทธิพิเศษยังคงมีอยู่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1952 ในคดี Adler v Board of Education ศาลกล่าวว่า โจทก์มีสิทธิตามรัฐในการพูดและคิด แต่ไม่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะทำงานให้กับรัฐบาล ในปี ค.ศ. 1967 ศาลสูงสุดให้ข้อสังเกตว่าหลักการสำคัญของคดี Adler ถูกปฏิเสธและแทนที่ด้วยหลักการใหม่ว่ารัฐบาลไม่ควรสามารถทำโดยทางอ้อมกับสิ่งที่ไม่สามารถทำได้โดยตรง ศาลเห็นว่าบทบาทของการจ้างงานของรัฐบาลไม่สามารถเป็นเงื่อนไขในการยกเลิกสิทธิตามรัฐธรรมนูญ  ปัญหาของศาลกลายเป็นว่าวิธีการรักษาสมดุลผลประโยชน์ของรัฐบาลในการคงไว้ซึ่งสภาวะการทำงานที่มีประสิทธิภาพกับผลประโยชน์ของลูกจ้างรายบุคคลในการแสดงออกอย่างเสรี 

ในคดี Pickering v Board of Education ศาลได้พิจารณากรณีครูโรงเรียนสาธารณะถูกไล่ออกเนื่องจากได้เขียนจดหมายลงหนังสือพิมพ์วิจารณ์คณะกรรมการโรงเรียน ศาลพิจารณากรณีดังกล่าวแล้วเห็นว่าเนือ้หาจดหมายของลูกจ้างรัฐบาลที่เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะไม่สามารถเป็นเหตุในการเลิกจ้างได้ เว้นแต่คำแถลงดังกล่าวมีเนื้อหาที่เป็นเท็จโดยจงใจหรือประมาทเลิ่นเล่อหรือคำแถลงเป็นเนื้อหาประเภทที่ก่อให้เกิดการรบกวนอย่างรุนแรงกับความสามารถในลูกจ้างในการทำงาน

ในคดี Mt. Healthy v Doyle เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างครูเนื่องได้โทรศัพท์กับผู้จัดรายการสถานีวิทยุเพื่อแจ้งเกี่ยวกับบันทึกที่ส่งถึงคุณครูทุกคนเกี่ยวกับระเบียบการแต่งกายของครูฉบับใหม่ แต่ครูได้ให้การว่ารัฐบาลได้ไล่ออกอีกเหตุผลหนึ่งว่าเนื่องจากได้ด่าทอนักเรียนด้วยภาษากาย (ชูนิ้วกลาง) ศาลได้มีคำสั่งให้มีการพิจารณาคดีใหม่เป็นประเด็นว่าครูถูกเลิกจ้างแม้ว่าครูคนดังกล่าวได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่แสดงออกในการโทรศัพท์ไปแสดงความเห็นในรายการวิทยุ ศาลกล่าวว่าหากมีการเลิกจ้างอยู่เดิม การเลิกจ้างดังกล่าวก็ชอบด้วยกฎหมาย

ในคดี Connick (1983) และคดี McPherson (1987) มีประเด็นเกี่ยวกับอะไรคือคำพูดที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ (public concern) ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากหากว่าคำพูดไม่เกี่ยวข้องกับความกังวลของสาธารณะ การปราศจากสถานการณ์ที่พิเศษอย่างยิ่งยวด การเลิกจ้างจะไม่ใช่ประเด็นของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 สำหรับศาลสูงสุดในการพิจารณาของศาล กล่าวคือในคดี Connick คำพิพากษาเสียงส่วนใหญ่ 5 ต่อ 4 ของศาลสรุปว่าคำพูดเกี่ยวกับการดำเนินงานภายในของสำนักงานอัยการเขตไม่ใช่ผลประโยชน์ของสาธารณะ ศาลยืนยันว่า ศาลยืนยันว่าการแจกจ่ายแบบสอบถามโดยเจ้าหน้าที่ที่ถูกไล่ออกจากงานเกิดประเด็นคำถามว่าการบริหารสำนักงานอาจถูกพิจารณาว่าสมเหตุสมผลที่สร้างความเสียหายเพียงพอที่มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการให้เหตุผลในการไล่ออก


คดี Branti (1980) เป็นหนึ่งในคดีที่ศาลป้องกันการไล่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากงานอันเนื่องมาจากความเชื่อทางการเมืองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ นายเบรนติเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกไล่ออกจากหน่วยงานของรัฐเพียงเพราะเขาเป็นพวกรีพับริกันและหัวหน้าคนใหม่เป็นพรรคแดโมแคท ศาลให้ความเห็นว่าในบางครั้งอาจอนุญาตให้ใช้ความพึงพอใจทางการเมืองเป็นฐานในการตัดสินใจไล่คนออกจากงานได้ เช่น ประธานาธิบดีอาจตัดสินใจไล่รัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่เขียนสุนทรพจน์ได้เนื่องเจ้าต้องการบุคคลที่มีความคิดทางเมืองที่สอดคล้องกัน แต่ในกรรีดังกล่าวตำแหน่งหน้าที่ของนายเบรนติไม่ใช่ตำแหน่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะให้ใช้ความชอบทางการเมืองมาพิจารณาไล่ออกได้อย่างเหมาะสม 

สิบปีต่อมา ในคดี Rutan v Republican Party of Illinois ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของคุกในมลรัฐอิลลินอยส์ ศาลได้ตีความขยายการคุ้มครองความเชื่อทางการเมืองในการตัดสินใจจ้างงานในครั้งแรกและการตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งเสริมและโอนย้ายตำแหน่งด้วย 

ในปี ค.ศ. 2006 คดี Garcetti v Ceballos ศาลสูงสุดพิจารณาบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ฟ้องร้องโดยอัยการในเมืองลอสแอนเจอลิสซึ่งถูกย้ายออกจากตำแหน่งเพราะเขาได้เขียนบันทึกถึงหัวหน้าอัยการโดยวิจารณ์ความน่าเชื่อถือของคำแถลงการณ์ที่นำมาเป็นพยานหลักฐานในคดีที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลสูงสุดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เสียง ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่อ้างว่าบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ไม่ได้คุ้มครองลูกจ้างของรัฐสำหรับการมีแถลงการณ์เกี่ยกวับหน้าที่ของตน ศาลอธิบายว่าข้อเท็จจริงสำคัญในคดีคือการแสดงออกของลูกจ้างของรัฐที่ทำตามหน้าที่การงานในฐานะพนักงานอัยการของรัฐที่ให้คำปรึกษากับเจ้านายในการดำเนินการกับคดีที่ค้าง ซึ่งแตกต่างจากคดี Ceballos ที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 จากการลงโทษทางวินัย 

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อำนาจในการประกาศทำสงครามของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกากำหนดแบ่งอำนาจประกาศและทำสงครามระหว่างรัฐสภาและประธานาธิบดี การแบ่งแยกอำนาจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประกันว่าการประกาศทำสงครามต้องมีการพิจารณาละเอียดรอบคอบ มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจกัน โดยประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจบริหารในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่มีอำนาจตัดสินใจในการทำสงคราม ซึ่งถูกถ่วงดุลอำนาจรัฐสภาที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการประกาศสงครามและอนุมัติงบประมาณในการทำสงคราม  แต่ก็มีความไม่ชัดเจนของขอบเขตอำนาจทั้งสอง กล่าวคือรัฐสภาอาจมีอำนาจจำกัดหรือถ่วงดุลประธานาธิบดีในการประกาศสงคราม แต่หากไม่มีความชัดเจนในท่าทีของรัฐสภา ประธานาธิบดีก็อาจมีอิสระในการตัดสินใจเรื่องนี้ แม้ว่าในรัฐธรรมนูญจะให้อำนาจแก่รัฐสภา แต่ในทางปฏิบัติแล้วอำนาจของประธานาธิบดีมีความสำคัญทั้งนี้เนื่องจากความจำเป็นสมัยใหม่ในการตอบโต้อย่างรวดเร็วต่อภัยจากต่างประเทศและลักษณะกระบวนการตัดสินใจของรัฐสภาเองที่ค่อนข้างล่าช้าเนื่องจากเป็นองค์กรกลุ่ม 

ศาลสูงสุดไม่ค่อยได้พิจารณาคดีเกี่ยวกับอำนาจประกาศสงครามมากนัก แต่ก็มีประเด็นกฎหมายที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำทางตำรวจในเกาหลี  หรือสงครามที่ไม่ได้มีการประกาศในเวียดนาม ซึ่งศาลสูงสุดไม่ได้มีโอกาสพิจารณาตัดสินคดี แม้ว่าจะมีโอกาสสามครั้งในช่วงสงครามเวียดนาม ในระหว่างสงครามกลางเมือง ศาลประกาศสองความเห็นที่สำคัญในการตีความอำนาจการประกาศสงคราม กล่าวคือใน คดี Prize Cases (1863) ศาลสูงสุดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เสียงรับรองคำสั่งของประธานาธิบดีลินคอล์นในการสั่งยึดท่าเรือทางตอนใต้ แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวได้ออกก่อนมีการประกาศสงครามกับกลุ่มกบฏที่ออกโดยรัฐสภา ศาลพิจารณาว่าการกระทำของประธานาธิบดีลินคอล์นที่ได้รับอำนาจจากกฎหมายในปี 1795 ที่อนุญาตประธานาธิบดีให้สามารถเรียกกองทัพมาปราบปรามพวกกบฏได้ เสียงข้างน้อยที่มีความเห็นแย้งอ้างว่าการกระทำของประธานาธิบดีไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะการห้ามดังกล่าวมีความแตกต่างค่อนข้างมากจากการกระทำที่สั่งการต่อผู้ที่เข้าร่วมในการต่อต้าน สามปีต่อมา ในคดี Ex Parte Milligan ศาลตีความว่าคำสั่งของประธานาธิบดีลินคอล์นได้อนุญาตให้พิจารณาดำเนินคดีต่อทนายความแลมบดิน มิลลิแกนโดยคณะกรรมการทหาร ศาลวินิจฉัยว่าพลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาลพลเรือนแม้จะอยู่ในช่วงสงคราม ตราบเท่าที่มีศาลพลเรือนเปิดทำการอยู่ ศาลพบว่าประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกในมลรัฐอินเดียน่า แม้ว่าประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งให้มีการดำเนินคดีนายมิลลิแกนในศาลทหารเนื่องจากไม่มีการกระทำของรัฐสภารับรองไว้ อำนาจในการใช้คณะกรรมการทหารต้องได้รับอำนาจจากรัฐสภาในช่วงสงครามเท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1942 ในคดี Ex Parte Quirin ศาลสูงสุดพิจารณาประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งประธานาธิบดีรูสเวลท์ที่อนุญาตคณะตุลาการศาลทหารให้ดำเนินคดีอาญากับทหารนาซีเยอร์มันที่แอบเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อก่อการร้าย ทหารนาซีทั้งแปดคนถูกจับกุมและสารภาพว่าจะวางแผนระเบิดโรงงานอาวุธและค่ายทหารของสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดด้วยคะแนน 8 ต่อ 0 พิพากษายืนความชอบด้วยกฎหมายในการจับกุมทหารนาซีในชั้นกรรมการทหารโดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 ศาลเห็นว่าอำนาจในการพิจารณาดำเนินคดีโดยคณะตุลาการศาลทหารที่มีกฎหมายรับรองอำนาจไว้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นว่าคำสั่งประธานาธิบดีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ในการขาดการกระทำทางรัฐสภา

ในปี ค.ศ. 2006 ศาลสูงสุดตัดสินในคดี Hamdan v Rumsfield ประธานาธิบดีบุชใช้อำนาจเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีคำสั่งกักขังผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ 9-11 ในกัวตานาโม ประเทศคิวบา ก่อนขึ้นศาลทหาร ศาลสูงสุดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 เสียงปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลว่าประธานาธิบดีมีอำนาจ ในตัวเองในการออกคำสั่งให้พิจารณาคดีหรือการดำเนินคดีได้รับอนุญาตโดยรัฐสภาที่ให้อำนาจในการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กองกำลังทหารในการจัดการกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในปี ค.ศ. 2001 ในคำพิพากษาการดำเนินคดีต้องปฏิบัติตามประมวลว่าด้วยความยุติธรรมทางทหารและอนุสัญญากรุงเจนีวา แต่ความเห็นแย้งอ้างว่ารัฐสภาได้ยกเลิกเขตอำนาจเหนือคดีตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงยกฟ้อง

อำนาจประกาศสงครามของรัฐสภา
ในคดี Hamilton v Kentucky Distilleries (1919) ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของกฎหมายรัฐบาลกลางที่ออกภายใต้อำนาจประกาศทำสงครามของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา กฎหมายดังกล่าวห้ามจำหน่ายสุราหมัก รัฐสภากล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องรักษากำลังพลของประเทศและเพื่อประสิทธิผลในการผลิตอาวุธ กระสุน เรือ อาหาร และเสื้อผ้าสำหรับกองกำลังทหาร ศาลระบุว่าข้อจำกัดภายใต้ขอบอำนาจของรัฐสภาและกฎหมายดังกล่าวไม่ได้พิจารณาค่าชดเชยที่เป็นธรรม แม้ว่าหลังจากการยุติสงคราม ข้อจำกัดดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับอีก แต่ศาลก็ลังเลที่จะสรุปว่าอำนาจประกาศทำสงครามไม่มีอีกต่อไปตราบเท่าที่กองกำลังยังคงอยู่และมาตรการต่าง ๆยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ด้วย


ในปี ค.ศ. 2006 ศาลสูงสุดได้พิจารณาคำถามเกี่ยวกับกระบวนการกักขังผู้ต้องสงสัยในกัวตานาโมในคดี  Hamdan vs Rumsfield ซึ่งนายฮามแดนยอมรับว่ารัฐบาลมีอำนาจในการใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดี แต่โต้แย้งว่ากระบวนการของตุลาการศาลทหารไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าการดำเนินคดีโดยคณะตุลาการศาลทหารได้รับอำนาจจากรัฐสภาในกรณี (๑) ความผิดที่เกิดขอบเขตของสงคราม (๒) ระหว่างช่วงเวลาสงคราม  และ (๓) เป็นการกระทำความผิดในรูปแบบไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในที่สุดศาลสูงสุดตัดสินว่าการกระทำของนายฮามแดนไม่เข้าเงื่อนไขทั้งสามประการข้างต้น


เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของสหราชอาณาจักร

การสื่อสารระบบดิจิทัลเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมและการทำงานในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ เพลง และโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการตามที่ผู้บริโภคจะใช้งานและสามารถโอนย้าย คัดลอก หรือเปลี่ยนแปลงได้ง่ายภายในพริบตา ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือบริการบรอดแบนด์ที่แพร่หลายสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ในสหราชอาณาจักร อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้กว่าร้อยละ 95 ของครัวเรือนทั้งหมด ประกอบกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่ให้บริการได้ครอบคลุมทั่วถึง

รายงานดิจิทัลบริเทน (Digital Britain) เป็นเอกสารนโยบายที่จัดพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ที่ระบุวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรเพื่อประกันว่าโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่สามารถทำให้สหราชอาณาจักรสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและประกันว่าบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ความเร็วขั้นต่ำ 2 MBps สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึงแก่ทุกคนภายในปี 2012

วัตถุประสงค์หลักเชิงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมี 5 ประการประกอบด้วย
 - พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารทั้งทางสายและไร้สายให้ทันสมัยเพื่อรักษาตำแหน่งของสหราชอาณาจักรให้เป็นประเทศชั้นนำทางด้านเศรษฐกิจฐานดิจิทัล
- สร้างบรรยากาศเพื่อส่งเสริมการลงทุนและนวัตกรรมในเนื้อหาดิจิทัล การใช้งาน และบริการ
- ส่งเสริมเนื้อหาของบริการสาธารณะที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสาร
- พัฒนาทักษะดิจิทัลของประเทศในทุกระดับ
- ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์อย่างทั่วถึง ด้วยการเพิ่มการให้บริการและการใช้งานบริการบรอดแบนด์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมทั้งให้บริการสาธารณะมากขึ้น

ประเด็นสำคัญของรายงาน
- ลดช่องว่างทางดิจิทัลทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้หากต้องการใช้งาน 
- เจตนารมณ์เพื่อเพิ่มความเร็วของบริการบรอดแบนด์เป็น 50 MBps ในเขตเมืองและ 4-5 MBps ในเขตชนบท
- หน่วยงานกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (OFCOM) ได้รับหน้าที่เพิ่มเติมในการส่งเสริมการลงทุนและโครงข่ายบรอดแบนด์ยุคใหม่และจัดทำรายงานปัญหาอุปสรรคในการขยายโครงข่ายและบริการเสนอต่อรัฐบาล และมีอำนาจในการดำเนินการทางแพ่งและปกครองกับการกระทำความผิดแบ่งปันไฟล์โดยมิชอบ รวมทั้งการสั่งปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกับผู้กระทำผิดซ้ำซาก
-  การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่จ่ายแก่ BBC กรณีจ่ายหลายปี ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป และการส่งเสริมรายการทีวีสำหรับเด็กและข่าวภูมิภาค
-  ITV ต้องยังคงมีภาระให้บริการข่าวสารภูมิภาคต่อไป
- การรวมกลุ่มจัดทำข่าวสารทางเงินที่เป็นอิสระจะทดแทนข่าวภูมิภาคของ ITV โดยการรวมกลุ่มจะสามารถผลิตข่าวที่มีประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนขึ้น 
- ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในทุกระดับของการศึกษาเพื่อพัฒนากลุ่มทักษะ
- การยกเลิกกฎเกณฑ์ข้อจำกัดความเป็นเจ้าของสื่อและการครองสิทธิข้ามสื่อ  


ความเห็นเชิงปรึกษาของตุลาการ (Adviory Opinion)

โดยทั่วไปนั้น ความเห็นของศาลยุติธรรมที่เกิดจากประเด็นการปรึกษาหารือซึ่งเป็นความเห็นที่ไม่ได้มีผลในการพิจารณาพิพากษาคดี แต่เป็นการให้คำปรึกษาในเรื่องกฎหมายหรือการตีความกฎหมายเท่านั้นมักจะถือว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยบางประเทศมีขั้นตอนกระบวนการที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติอาจขอให้ศาลให้คำปรึกษาประเด็นกฎหมาย ในบางประเทศศาลถูกห้าในการให้คำปรึกษหรือให้ความเห็นใด ๆ ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาพิจารณาว่าเงื่อนไขสำหรับคดีหรือข้อพิพาทที่ศาลจะมีอำนาจพิจารณาปรากฎในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอมเริกาที่ห้ามศาลสหพันธรัฐในการให้คำปรึกษาหารือ ดังนั้น ก่อนที่ศาลจะรับฟังคดี ศาลจะต้องพิจารณาว่าคู่กรณีมีผลประโยชน์ที่จับต้องได้เป้นประเด็นของคดี และต้องมีความพร้อมในการจะตัดสินโดยทางศาลในเวลาที่ศาลจะตัดสินคดี ในอดีตประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันเคยมีหนังสือขอความเห้นทางกฎหมายจากสษลสูงสุด ซึ่งประธานศาลสูงสุดในขณะนั้นจอห์น เจย์ตอบกลับว่าอาจละเมิดการแบ่งแยกอำนาจของศาลสูงสุด ศาลที่ให้ความเห็นหรือคำปรึกษาหรือเห็นว่าประธานาธิบดีสามารถเชื่อคำปรึกษาหารือของหน่วยงานภายในฝ่ายบริหารตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ประธานาธิบดีมีอำนาจให้เจ้าหน้าที่สูงสุดของหน่วยงานฝ่ายบริหารให้ความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรในหัวข้อที่อยูในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว เช่น การสอยถามประเด็นข้อกฎหมายกับสำนักงานอัยการสูงสุด ในศตวรรษที่ผ่านมาศาลได้ยกฟ้องคดีต่าง ๆ เพราะไม่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นจริงระหว่างคู่กรณี ดังนั้น ความเห็นดังกล่าวจึงถือเป็นเพียงคำปรึกษาหารือ

ศาลของหลายมลรัฐถูกห้ามในการให้คำปรึกษาหารือ แม้วา่จะมีข้อยกเว้นจากข้อจำกัดดังกล่าว ในบางมลรัฐ เช่น มลรัฐโรดไอแลนด์อนุญาตให้ผู้ว่าการรัฐขอให้ศาลสูงสุดของมลรัฐตีความประเด็นความชอบด้วยกฎหมายของรัฐธรรมนูญ บางมลรัฐกำหนดให้ศาลสูงสุดให้คำปรึกษาหารือในบางเรื่องบางประเด็น เช่น การยื่นของแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของมลรัฐว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา แปดมลรัฐมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอนุญาตหรือกำหนดให้ศาลสูงสุดมลรัฐในการให้คำปรึกษากับผู้ว่าการรัฐหรือรัฐสภาของมลรัฐได้ เช่น โคโลราโด้ ฟอริด้า เมนน์ แมสซาซูเส็จ มิชิแกน นิวแฮมเชียร์ โรดไอแลนด์ และดาโกต้าใต้ สำหรับมลรัฐอาลาบาม้าและดาลาแวร์กำหนดให้ศาลสูงสุดของมลรัฐมีอำนาจให้คำปรึกษาได้ตามกฎหมายทั่วไป

ทั้งนี้ คำปรึกษาดังกล่าวต้องไม่สับสนกับประเด็นคำถามที่ยื่นถามโดยศาลหนึ่งไปยังอีกศาลหนึ่ง ซึ่งอนุญาตให้ศาลสหพันธรัฐที่มีประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแล้วและคำพิพากาาของศาลสหพันธรัฐอาจมีผลต่อกฎหมายของมลรัฐทั้งหมดหรือบางส่วน เช่นในคดี Erie หรือคดีล้มละลาย บ่อยครั้งศาลสูงสุดของมลรัฐได้ตอบคำถามในประเด็นกฎหมายของมลรัฐ ซึ่งศาลสหพันธรัฐจะนำไปใช้ในการพิจารณาคดีของตนเอง เช่น คดี Pullman abstention เพราะศาลมลรัฐในสภาวการณ์ดังกล่าวได้ให้ความเห็นที่มีผลกระทบต่อคดีที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น จะไม่ถือว่าเป็นกรณีการให้คำปรึกษาหารือ

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทีอำนาจในการให้ความเห็นตามหมวด 4 (Chapter IV) ของกฎหมายซึ่งเป็นภาคผนวกของปฏิญาณสหประชาชาติ (United Nations Charter) เมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ความเห็นดังกล่าวไม่มีผลผูกพัน แต่ศาสตราจารย์ Pieter H.F. Bekker โต้แย้งว่าการไม่มีผลผูกพันไม่ได้หมายความว่าคำปรึกษาหารือดังกล่าวจะไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมาย เพราะการให้เหตุผลทางกฎหมายที่อยู่ในคำปรึกษาหารือ ดังกล่าวสะท้อนมุมมองของศาลที่มีอำนาจในประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวที่กำหนดให้คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันในคดีอื่น ๆ ด้วย ที่สำคัญ คำปรึกษาหารือดังกล่าวมาจากกฎหมายและมีอำนาจในการให้คำปรึกษา ประกอบกับประกาศโดยหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ
แต่คำปรึกษาหารือมักจะมีประเด็นโต้แย้งกันบ่อยครั้ง เพราะประเด็นคำถามมีกจะเป็นประเด็นที่ท้าทายและวิพากษ์วิจารณ์กันมาก หรือเพราะข้อพิพาทถูกจัดการในลักษณะนำคดีมาสู่ศาลทางอ้อม คดีและคำปรึกษาหารือที่นำมาสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้บตั้งแต่ตั้งในปี ค.ศ. 1946 มีจำนวน 161 คดี อำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีจำกัด มีเพียงประเทศสมาชิกที่จะฟ้องร้องต่ออีกประเทศสมาชิกได้และต้องได้รับความยินยอมจากประเทศสมาชิกที่ถูกฟ้องร้องดัวย อย่างไรก็ตามหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ เช่น ที่ประชุมใหญ่ทั่วไปขององค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly) มีอำนาจในการยื่นประเด็นคำถามเพื่อขอปรึกษาหารือได้ แม้ว่าความเห็นในการให้คำปรึกษาหารือจะไม่มีผลผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม ความเห็นดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นการตีความว่าอะไรคือกฎหมายระหว่างประเทศ

ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights)
ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของอเมริกาสามารถให้คำปรึกษาที่ยื่นโดยหน่วยงานและประเทศสมาชิกขององค์การประเทศอเมริกา (Organization of American States) ที่เกี่ยวกับการตีความอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งอเมริกา (American Convention of Human Rights) หรือกฎหมายอื่น ๆ เกี่ยกวับสิทธิมนุษยชนในอเมริกา รวมทั้งมีอำนาจในการให้คำปรึกษาหารือในประเด็นว่ากฎหมายภายในประเทศและร่างกฎหมายสอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาหรือไม่


วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การคุ้มครองสิทธิภายในบ้านภายใต้รัฐธรรมนูญ


ในบทความนี้ ขอนำเสนอแนวคำพิพากษาของศาลสูงสุดของสำหรับอเมริกาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของบุคคลภายในบ้านที่อยู่อาศัย ขอเริ่มในคดี Poe v. Ullman (1961) ศาลสูงสุดได้วินิจฉัยว่ากฎหมายของมลรัฐคอนเน็ตติกัตที่ห้ามการใช้อุปกรณ์ควบกำเนิดนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยการที่เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิส่วนตัวภายในบ้านของจำเลย ต่อมาในคดี  Griswold v Connecticut ศาลก็ยืนยันแนวคำพิพากษาเช่นเดิม ซึ่งคำว่าบ้านปรากฏสองครั้งในบทบัญญัติสิทธิพลเมือง คำว่า "บ้าน" ปรากฏในบทบัญญัติประกาศสิทธิมนุษยชนที่ระบุว่าผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในบ้าน บทบัญญัติแก้ไขฉบับที่ 3 ห้ามทหารเข้าไปตรวจค้นภายในบ้านของประชาชนโดยปราศความยินยอมของเจ้าของบ้านในช่วงสงบสุข บทบัญญัติดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาที่ต่อต้านกฎหมายตรวจค้นของอังกฤษที่ใช้บังคับในช่วงก่อนปฏิวัติอเมริกา

ไม่น่าแปลกใจที่บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 มีข้อพิพาทเกิดขึ้นน้อย ศาลอุทธรณ์เขตสองวางหลักการพื้นฐานในคดี Engblom v Carey (1982) ว่าสิทธิที่ถูกสร้างขึ้นใช้บังคับกับมลรัฐได้โดยผ่านบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 และมีแนวโน้มที่จะขัดกับคำพิพากษาของมลรัฐนิวยอร์กในการบรรจุทหารในการทำหน้าที่เป็นยามรักษาการณ์ประจำตามบ้านในระหว่างที่มีการประท้วงหยุดงานของพัศดี ในขณะที่ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่าบ้านที่รัฐเป็นเจ้าของที่เกี่ยวกับคดีนี้ไม่ถือเป็นบ้านตามความหมายของรัฐธรรมนูญ   
   

บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ได้ระบุถึง "บ้าน" (house) ไว้ในลักษณะเป็นสถานที่ซึ่งบุคคลมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการตรวจค้นและยึดโดยไม่สมเหตุสมผล ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาตีความการคุ้มครองบ้านครอบคลุมถึงการตรวจค้นทั้งในบ้านและบริเวณใกล้บ้านด้วย ในคดีที่สำคัญคือคดี  Kyllo v United States ในปี ค.ศ. 2001 ที่ศาลพิจารณาว่าการถ่ายภาพบ้านด้วยอุปกรณ์วัดคลื่นความร้อนเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่ามีการปลูกกัญชาขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ หรือไม่ ศาลการใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพแบบวัดคลื่นความร้อนถือเป็นการตรวจค้นที่ขัดต่อความคาดหวังเรื่องความเป็นส่วนตัวที่สมเหตุสมผลของเจ้าของบ้าน เมื่อการกระทำดังกล่าวทำให้เกิดข้อมูลเกี่ยวกับบ้าน รายละเอียดทั้งหลายถือเป็นรายละเอียดส่วนตัวเพราะพื้นที่ทั้งหมดถือว่ามีความปลอดภัยจากสายตาของรัฐบาล

ประเด็นที่น่าสนใจคือคดีที่ศาลพิจารณาข้อโต้แย้งว่ากิจกรรมที่อาจถูกลงโทษทางอาญาเมื่อกระทำนอกบ้าน หากกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นภายในบ้านย่อมรับความคุ้มครอง  ตัวอย่างเช่น ในคดี Stanley v Georgia (1969) ศาลสูงสุดมีความเห็นเอกฉันท์ว่าการครอบครองวัตถุหรือสิ่งลามกอนาจารภายในบ้านย่อมได้รับความคุ้มครอง แม้ว่ามลรัฐจะมีอิสระในการลงโทษการขายหรือจัดจำหน่ายวัตถุหรือสิ่งลามากดังกล่าว แต่ผู้พิพากษาบางคนแย้งว่าสแตนลีนย์เป็นคดีบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 หรือฉบับที่ 4 แต่ยังคงมีความชัดเจนว่าการปรากฏบ้านในภาพยนตร์ลามกถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญ ในคดี Ravin v State (1975) ศาลสูงสุดมลรัฐอลาสก้าใช้เหตุผลด้านความเป็นส่วนตัวของคดีสแตนลีนย์เป็นขั้นตอนที่ว่าการครอบครองกัญชาสำหรับบริโภคเองเป็นการส่วนตัวได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญของมลรัฐอลาก้า

ล่าสุดในคดี Frisby v Shultz แสดงให้เห็นว่าที่พิจารณากฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับบ้าน ศาลศูงสุดได้ให้เหตุผลในการจำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญไว้ กล่าวคือในคดีนี้ ศาลสูงสุดตัดสินยืนยันกฎหมายที่ห้ามมิให้มีการประท้วงในเขตพื้นที่ชุมชนอยู่อาศัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วยการประท้วงในสถานที่สาธารณะต้องไม่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวของเจ้าของบ้าน


วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การต่อสู้เพื่อสิทธิลงคะแนนเสียงของสตรี




จุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้งของผู้หญิงเกิดขึ้นจากปฏิญาณ "Declaration of Sentiments" ที่จัดทำในการประชุมใหญ่เรื่องสิทธิผู้หญิงครั้งแรกในเมืองซีราคิวส์ ปี ค.ศ. 1852  ซูซาน แอนโทนีได้ต่อสู้และโต้แย้งว่าผู้หญิงควรมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง  ในระหว่างการยกร่างบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการขยายสิทธิลงคะแนนเสียงของทาสที่ได้รับการปลดปล่อยเป็นเสรี กลุ่มดังกล่าวพยายามผลักดันอย่างมากให้ขยายครอบคลุมถึงกลุ่มสตรีด้วย แต่ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ

ในปี ค.ศ. 1872 ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งฟ้องร้องต่อศาลหลายคดีในประเด็นว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิพิเศษ (Privilege) ของประชาชนสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นของผู้หญิงด้วยตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับที่ 14 นอกจากนี้ ยังมีการฟ้องร้องคดีอาญากับนางซูซาน แอนโทนีที่ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1872 ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในคดีแรกศาลสูงสุดวางหลักการไว้ในคดี Minor vs Happersett (1875) ซึ่งศาลตัดสินด้วยมติเอกฉันท์ว่าบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิพิเศษและการคุ้มกัน และบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ไม่ได้ขยายครอบคลุมถึงสิทธิลงคะแนนเสียงของผู้หญิง กลุ่มสนับสนุนจึงได้หันไปรณรงค์กับมลรัฐและรัฐสภาให้ออกกฎหมายรับรอง 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1878 ได้มีการยื่นเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ขยายสิทธิลงคะแนนเสียงของผู้หญิง ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความพยายามยื่นข้อเสนอในลักษณะดังกล่าวแทบทุกปีเป็นระยะเวลา 41 ปี 

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1890 อาณาเขตไวโอมิ่งในขณะนั้นอนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อไวโอมิ่งได้รับอนุญาตให้เป็นมลรัฐของสหรัฐอเมริกา จึงกลายเป็นมลรัฐแรกที่อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก่อนปี ค.ศ. 1900 มลรัฐยูท่าห์ โคโลราโด และไอดาโฮ ก็ออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งเช่นเดียวกับมลรัฐไวโอมิ่ง ในปี ค.ศ. 1912 พรรคก้าวหน้าของธีโอโด รูสเวลส์กลายเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1919 การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสาม และต้องได้รับการให้สัตยาบันจากมลรัฐต่าง ๆ ด้วย ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1920 มลรัฐทางตอนใต้ของประเทศคัดค้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยได้มีการประชุมที่มลรัฐเทนเนสซี่ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปการให้สัตยาบัน ซึ่งในที่สุดมลรัฐทางใต้ได้ลงมติให้ความเห็นชอบให้สัตยาบันด้วยคะแนนเสียงแบบฉิวเฉียด 


วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

สิทธิในการทำแท้งในสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกาศตวรรษที่ 20 ไม่มีคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดใดที่มีการวิจารณ์มากเท่ากับ คดี Roe v. Wade ซึ่งตัดสินในปี ค.ศ. 1973  ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่า ผู้หญิงมีสิทธิในการเลือกที่จะทำแท้งในระหว่างแรกของระยะเวลาการตั้งครรภ์ ทนายของฝ่าย Roe ฟ้องร้องว่าบทบัญญัติของกฎหมายมลรัฐเท็กซัสซึ่งห้ามการทำแท้ง เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตของมารดาที่ตั้งครรภ์ ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหลายมาตรา อาทิ บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 การปฏิเสธการให้ความคุ้มครองที่เท่าเทียมกัน และการฝ่าฝืนบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 ซึ่งระบุว่าสิทธิบางประการไม่ได้บรรจุอยู่ในบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งแปดฉบับแรกเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป

ทั้งนี้ ศาลในคดี Roe v. Wade เลือกที่จะอิงตามคำวินิจฉัยของบทบัญญัติกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย (Due Process) ของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 และที่เรียกว่า "สิทธิส่วนตัว" (Right of Privacy) ที่ได้รับความคุ้มครองตามคำวินิจฉัยเดิมในคดี Griswold v. Connecticut ที่เกี่ยวกับการห้ามการใช้ จำหน่าย และจ่ายแจกอุปกรณ์คุมกำเนิด ในคดี Planned Parenthood v. Casey ได้กลับหลักคำพิพากษาคดี Roe v. Wade ซึ่งคดี Casey นี้ศาลได้ยึดหลักการกำกับดุแลการทำแท้งโดยใช้เกณฑ์ใหม่ คือ การกำกับดูแลดังกล่าวสร้างภาระเกินสมควรแก่สิทธิของผู้หญิงในการเลือกทำแท้งหรือไม่ 

ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 คดี Gonzales v Carhart ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้รับรองกฎหมายรัฐบาลกลางที่ห้ามการทำแท้งบางกรณี (partial birth abortions) รัฐสภาประกาศกระบวนการการทำแท้งในการตั้งครรภ์ระยะหลังที่ไม่ต้องมีความเห็นทางการแพทย์ว่า "ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์" สมาคมแพทย์บางสมาคมไม่เห็นด้วยความคำวินิจฉัยของศาลและศาลไม่ได้วินิจฉัยการออกกฎหมายที่ผู้หญิงอาจโต้แย้งว่า กระบวนการดังกล่าวเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาสุขภาพของตน แม้ว่าในระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการนำผลมาท้าทาย ทางเลือกดังกล่าวอาจไม่มีทางรอดมากนัก  แพทย์ที่อยู่ระหว่างในระหว่างการทำแท้งที่ต้องตัดสินกระบวนการทำแท้งบางกรณีที่มีความอันตรายน้อย กฎหมายว่าด้วยการแสดงภาพทารกในครรภ์ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในมลรัฐแคโรไลน่าเหนือและอีกหลายมลรัฐได้ออกกฎหมายที่ห้ามผู้หญิงทำแท้ง เว้นแต่จะมีการตรวจสอบด้วยการทำอัลตร้าซาว์นและแพทย์แสดงรูปภาพทารกให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เห็น กฎหมายดังกล่าวถูกท้าทายว่าขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 โดยในปี ค.ศ. 2011 ศาลชั้นต้นของสหพันธ์รัฐในเขตมลรัฐแคโรไลน่าเหนือได้มีคำสั่งระงับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวโดยใช้เกณฑ์การพิจารณาแบบเคร่งครัดและให้เหตุผลว่ากฎหมายดังกล่าวฝ่าฝืนสิทธิของแพทย์ตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เนื่องจากเป็นการคำพูดที่ถูกบังคับ (Compelled speech) โดยการบังคับให้แพทย์ต้องแสดงภาพทารกจากการอัลตร้าซาว์นกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และมลรัฐไม่มีอำนาจหรือผลประโยชน์ในการบังคับดังกล่าวและไม่ได้มีมาตรการที่เฉพาะอย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนป่วยจากความทุกข์ทั้งทางจิตใจและอารมณ์ในภายหลังอย่างเพียงพอ แต่ศาลไม่ได้ใช้หลักกระบวนการชอบด้วยกฎหมายในสารบัญญัติ (substantive due process claim)


อำนาจในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน

สหรัฐอเมริกาถือเป็นรัฐบาลที่มอยู่ภายใต้กฎหมาย โดยต้องใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือระบุไว้เท่านั้น ดังนั้น รัฐสภาและรัฐบาลสามารถใช้อำนาจได้ตามเท่าที่รัฐธรรมระบุไว้เท่านั้น อำนาจของรัฐสภาที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญมีหลายประการ โดยเฉพาะในมาตรา 1 วรรค 8 ทั้งนี้ อำนาจที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งมีการถกเถียงกันอย่างมากในช่วงก่อตั้งประเทศคืออำนาจในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน (Spending power) 

ในรัฐธรรมนูญมาตรา 1 วรรค 8 ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจในการกำหนดและจัดเก็บภาษีอากรเพื่อใช้หนี้และนำไปใช้จ่ายปกป้องประเทศและเสริมสร้างความผาสุกของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1987 คดี South Dakota vs Dole ศาลสูงสุดพิจารณาว่ากฎหมายของรัฐบาลกลางที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่งมีอำนาจระงับเงินงบประมาณที่รัฐบาลกลางอุดหนุนมลรัฐได้ร้อยละ 5 หากมลรัฐยอมให้บุคคลอายุต่ำกว่า 21 ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปรากฏว่ามลรัฐดาโกต้าใต้อนุญาตให้บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จึงถูกระงับเงินอุดหนุนในการก่อสร้างถนน มลรัฐดาโกต้าใต้จึงดำเนินการฟ้องร้องรัฐมนตรีโยอ้างว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ กล่าวคือเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของรัฐสภาในการใช้จ่ายเงินโดยมิชอบ ทั้งที่ควรจะต้องออกกฎหมายกำหนดอายุของบุคคลที่ห้ามซื้อหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกรณีดังกล่าว ศาลวางหลักเกณฑ์ 4 ขั้นตอนในการประเมินความชอบด้วยรัฐธรรมสำหรับโครงการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลกลาง เช่น (1) อำนาจในการใช้จ่ายเงินต้องเป็นไปเพื่อสวัสดิภาพและผาสุกของประเทศ (2) เงื่อนไขการอุดหนุนต้อมีความชัดเจน (3) เงื่อนไขต้องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของรัฐบาลกลางตามโครงการหรือแผนงานของประเทศ และ (4) อำนาจในการใช้จ่ายไม่สามารถใช้เพื่อจูงใจให้มลรัฐกระทำสิ่งซึ่งอาจทำให้มลรัฐขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลพิจารณาว่าเงื่อนไขการอุดหนุนเป็นการจูงใจทางการเงินสำหรับมลรัฐดาโกต้าใต้ออกกฎหมายกำหนดอายุห้ามดื่มมากกว่าการบังคับทางการเงินเพื่อให้ดำเนินการตามที่ชี้แนะถึงความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ที่แตกต่าง หากสัดส่วนที่สูงขึ้นของอุดหนุนที่ถูกระงับ สำหรับความเห็นเสียงข้างน้อยเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินชอบด้วยรัฐธรรมนูญหากเกี่ยวข้องกับเงินอุดหนุนของรัฐบาลต้องมีการใช้จ่าย

ในปี ค.ศ. 2012 ศาลสูงสุดได้พิจารณาประเด็นว่าบทบัญญัติกฎหมายการรักษาพยาบาลในราคาที่เป็นธรรม (Affordable Care Act) ซึ่งใช้เงินงบประมาณจากกองทุนของรัฐบาลกลางที่เรียกเก็บจากมลรัฐที่ไม่สามารถขยายบริการสาธารณสุขมูลฐานได้อย่างทั่วถึงอยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐสภาสหรัฐฯ หรือไม่ ซึ่งในคดี National Federation of Independent Business v Sebelius ศาลสูงสุดตัดสินว่านโยบายข่มขู่มลรัฐว่าจะระงับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนจากกองทุนการช่วยเหลือด้านรักษาพยาบาลของรัฐบาลกลาง หากมลรัฐไม่สามารถขยายการให้บริการได้อย่างทั่วถึงตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน ถือว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลให้ความเห็นว่ากองทุนของรัฐบาลกลางที่ถูกระงับเป็นส่วนร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมดของมลรัฐถือว่าเป็นสัดส่วนสำคัญที่มลรัฐไม่มีทางเลือกอื่น แต่ต้องยอมตามรัฐสภา ดังนั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการขยายการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวฝ่าฝืนหักการอำนาจในการใช้จ่ายที่ไม่สามารถใช้บังคับกับมลรัฐด้วยการออกกฎหมายหรือบังคับให้มลรัฐเข้าร่วมในโครงการของรัฐบาล ศาลได้ชี้ความแตกต่างจากคดี South Dakota v Dole ที่ตัดสินว่าการที่มลรัฐดาโกต้าใต้สูญเสียเงินอุดหนุนเป็นสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของเงินงบประมาณของมลรัฐ


การตัดสินประหารชีวิต

ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาพิจารณาการบังคับใช้โทษประหารชีวิตในทศวรรษที่ 1940-1950 ในแต่ละคดีศาลสูงสุดได้รับรองการกระทำของมลรัฐโดยมิได้มีการกล่าวถึงความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของโทษประหารชีวิต ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1947 ศาลสูงสุดได้พิจารณาคดีวิลลี่ ฟรานซิส (Willie Francis) ซึ่งเป็นนักโทษในมลรัฐหลุยเซียน่าที่ในครั้งแรกถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยการช็อคด้วยไฟฟ้าแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องพบกับความเจ็บปวดทรมาน และมาประสบความสำเร็จในครั้งที่สองด้วยวิธีการช็อคด้วยไฟฟ้า ซึ่งนายฟรานซิสอ้างว่าความวิตกกังวลจากประสบการณ์ครั้งแรกที่ต้องนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าทำการต้องนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าในครั้งที่สองถือว่าเป็นการลงโทษที่โหดร้ายและผิดธรรมชาติ แต่ศาลสูงสุดยังคงยืนยันด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เสียงว่าความทารุณโหดร้ายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการลงโทษอยู่แล้วและไม่ถูกคาดหมายว่าจะไม่มีความโหดร้ายจากการลงโทษได้อยู่แล้ว

ในปี ค.ศ. 1958 คดี Trop v Dulles ศาลสูงสุดวินิจฉัยด้วยคะแนนเสีย 5 ต่อ 4 เสียงที่ยกเลิกสัญชาติถือเป็นการลงโทษสำหรับการก่ออาชญากรรมที่โหดร้ายและผิดธรรมชาติ ซึ่งศาลได้วางหลักการว่าเพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์สำหรับคดีต้องโทษประหารชีวิตในอนาคต โดยให้เหตุผลว่าบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 เรียกร้องให้การลงโทษต้องสอดคล้องกับมาตรฐานเหมาะสมตามทำนองครองธรรม
ในทศวรรษที่ 1960 กองทุนต่อสู้ทางกฎหมายของสมาคม NAACP ที่นำโดยศาตราจารย์แอนโทนี อาร์มเตอร์ดัมได้รณรงค์ต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตอย่างเข้มข้น โดยเสนอให้ระงับการลงโทษประหารชีวิตไว้ชั่วคราว ซึ่งประสบความสำเร็จในชั้นแรก กล่าวคือมลรัฐต่าง ๆ ยอมระงับการลงโทษประหารชีวิตไว้ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 5 ปี และสมาคมคาดว่าการรณรงค์ดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด
ต่อมาในคดี Furman v Georgia (1972) ศาลสูงสุดมีมติด้วยคะแนน 5 ต่อ 4 เสียงในการยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตด้วยเหตุผลอาจก่อให้เกิดการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ โดยมีคำพูดประชดประชันว่าการตัดสินลงโทษประหารชีวิตในสหรัฐอเมริกาเหมือนกับการเสี่ยงโชคซึ่งเปรียบเทียบได้กับการถูกฟ้าผ่า ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่สรุปว่าไม่ควรจะมีการลงโทษประหารชีวิตในสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป แต่ก็ไม่เป็นไปตามนั้น ในปี ค.ศ. 1976 คดี Gregg v. Georgia ศาลสูงสุดยืนยันว่ากระบวนการลงโทษประหารชีวิตฉบับใหม่ของมลรัฐจอร์เจียชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีเกณฑ์ที่ชัดเจนเพียงพอในการพิจารณาลดการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษประหารชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายฉบับเดิม และในคดีดังกล่าวศาลพิจารณาสองขั้นตอนในขั้นตอนแรกศาลพิจารณาว่ามีความผิดหรือไม่ และในขั้นตอนที่สองศาลจะพิจารณาว่าควรลงโทษประหารชีวิตหรือไม่ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจึงกลายเป็นรูปแบบและแนวทางของกฎหมายลงโทษประหารชีวิตของมลรัฐอื่น ๆ ในเวลาต่อมา ในชั้นของการพิจาราลงโทษประหารชีวิต คณะลูกขุนมีหน้าที่ต้องพิจารณามีเหตุหรือปัจจัยลดหย่อนหรือเพิ่มโทษสำหรับการก่ออาชญากรรมของจำเลย 

อย่างไรก็ตาม ศาลยังคงต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายลงโทษประหารชีวิต เช่น เป็นผู้ลงมือฆาตกรรมหรือไม่ เป็นผู้เยาว์หรือไม่ เป็นผู้มีความบกพร่องทางสมองหรือทางจิตหรือไม่  หรือเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมหรือไม่ เป็นต้น คดีที่น่าสนใจคดีหนึ่งคือ McCleskey v. Kemp (1987) ซึ่งมีการใช้ผลการศึกษาที่แสดงว่าฆาตกรที่ฆ่าคนผิวขาวมักจะถูกลงโทษประหารชีวิตมากกว่าการฆ่าคนผิดสีอย่างมาก  ศาลสูงสุดยังคงยืนยันความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการลงโทษประหารชีวิตอยู่ดี ต่อมาในปี ค.ศ. 2002 ศาลสูงสุดในคดี Atkins v Virginia ตัดสินด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 เสียงว่าการลงโทษประหารชีวิตไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหากใช้กับผู้มีความบกพร่องทางสมอง  การลงโทษประหารชีวิตผู้มีความบกพร่องหรือพิการทางสมองผิดหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ดี ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวถูกหยิบยกมาใช้อีกครั้งในคดี Roper v Simmons ในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งศาลด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เสียงตัดสินว่าไม่ควรลงโทษประหารชีวิตกับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ณ เวลาที่ก่ออาชญากรรม ซึ่งได้รับการวิจารณ์ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาการลงโทษประหารชีวิตเยาวชน เนื่องจากคำพิพากษาในคดี Roper เป็นการกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เมื่อ 16 ปีที่แล้วที่กำหนดโทษประหารชีวิตบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี


วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

คดี Lawrence v. Texas (2003)


ในคดี Lawrence v. Texas (2003) ศาลสูงสุดตัดสินว่ากฎหมายของมลรัฐห้ามการสังวาสที่ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะระหว่างเพศเดียวกัน (homosexual sodomy) ขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากฝ่าฝืนสิทธิส่วนบุคคล คดีดังกล่าวเริ่มจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นจับกุมนายจอห์น ลอว์เร้นท์เนื่องจากได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์วุ่นวายและใช้อาวุธในอพาทเม้นท์ของนายจอห์น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับพบว่านายจอห์นกำลังมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ทั้งสองคนจึงถูกควบคุมตัวและตั้งข้อกล่าวว่าฝ่าฝืนกฎหมายพฤติกรรมรักร่วมเพศของมลรัฐเท็กซัส  ซึ่งทั้งสองคนถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับ ต่อมานายจอห์นได้อุทธรณ์โดยอ้างว่ากฎหมายพฤติกรรมรักร่วมเพศขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศซึ่งฝ่าฝืนสิทธิส่วนตัว (Right to privacy) และบทบัญญัติการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันของรัฐธรรมนูญ ศาลอุทธรณ์ของมลรัฐเท็กซัสตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นตามแนวคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดี Bowers v. Hardwick (1986) ซึ่งตัดสินรับรองว่ากฎหมายต่อต้านการสังวาสผิดธรรมชาติของมลรัฐจอร์เจียไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายจอห์นจึงอุทธรณ์ตอศาลสูงสุดในปี ค.ศ. 2003

ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 เสียง ตัดสินว่ากฎหมายพฤติกรรมรักร่วมเพศขัดต่อรัฐธรรมนูญและกลับคำพิพากษาที่ลงโทษนายจอห์น ศาลสูงสุดให้เหตุผลว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 เรื่องกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการตัดสินใจที่จะมีสัมพันธ์กับใคร ประเด็นในคดีนี้แตกต่างจากคดี Bower ซึ่งวางหลักว่าบทบัญญัติกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ไม่ได้ระบุถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนรักร่วมเพศในการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นการตีความที่ผิดพลาด ประเด็นในคดีนี้ไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของคนรักร่วมเพศ แต่เป็นสิทธิส่วนตัวในบ้าน และสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจของผู้ใหญ่  ศาลอธิบายว่าความสัมพันธ์ทางเพศของบุคคลซึ่งมีกิจกรรมภายในบ้านถือเป็นเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ ศาลยังปฏิเสธวิธีการระบุสิทธิในคดี Bower ที่อ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีของสหรัฐอเมริกาว่าไม่เคยให้ความคุ้มครองคนรักร่วมเพศ ศาลอ้างว่านับตั้งแต่คดี Griswold v. Connecticut (1965) ถึงคดี Roe v. Wade (1973) สิทธิขั้นพื้นฐานได้รับการตีความอย่างกว้าง แม้ว่ากิจกรรมที่ถูกห้ามตามกฎหมาย เช่น การทำแท้ง อาจได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีควรได้รับการทบทวน เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายต่อต้านการสังวาสผิดธรรมชาติแทบจะไม่เคยมีการบังคับใช้กับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นที่บ้านหรือที่ส่วนตัว ไม่เคยมีการลงโทษคู่เกย์เลยจนกระทั่งทศวรรษที่ 1970 ในปี ค.ศ. 2003 มลรัฐสี่มลรัฐยังคงบังคับใช้กฎหมายการสังวาสผิดธรรมชาติต่อคนรักร่วมเพศ และในหลายมลรัฐได้ยกเลิกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ผู้พิพากษา Sandra Day O'Connor ให้ความเห็นว่าเนื่องจากกฎหมายห้ามการสังวาสที่ผิดธรรมชาติของรักร่วมเพศ แต่ไม่ห้ามการสังวาสผิดธรรมชาติที่ต่างเพศกันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะขยายการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันไปยังสิทธิของคนรักร่วมเพศ (rights to gays) 

ในคดี Lawrence v. Texas ถือว่าเป็นคดีที่มีความความสำคัญในสองแง่ กล่าวคือ ประการแรกคำพิพากษานี้วางหลักการว่ากิจกรรมรักร่วมเพศโดยสมัครใจในสถานที่ส่วนบุคคลถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และประการที่สอง สิทธิขั้นพื้นฐานหรือกิจกรรมที่ได้รับความคุ้มครองซึ่งเป็นหลักการของเสรีภาพต้องตีความในเชิงกว้าง ไม่ใช่การยึดประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีในการตีความ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนมองมุมหรือวิธีการตีความของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาครั้งสำคัญ


หลักกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม


ประเด็นที่ถกเถียงกันมาในช่วงหลังนี้เกี่ยวกับบทบัญญัติสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง เสรีภาพการแสดงออก กับบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หก การประกันสิทธิผู้ต้องหาคดีอาญาในกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมโดยลูกขุนที่เป็นกลาง ซึ่งที่ผ่านมาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้วางหลักการพื้นฐานไว้ดังนี้

ในคดีแรก Sheppard v Maxwell เกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมที่โด่งดังซึ่งเชื่อกันว่าได้รับแรงบันดาลใจจากรายการทีวีและภาพยนตร์เรื่อง Fugitive กล่าวคือนายเชฟเฟิร์ดผู้ถูกกล่าวหาในคดีฆาตกรรมภรรยาสาวเมื่อ 12 ปีที่แล้วชนะคดีหลังจากทนายความนายลี เบลลีย์ได้ยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งใช้กลยุทธ์กล่าวหาว่าศาลสูงสุดถูกอิทธิพลและแรงกดดันจากสื่อมวลชน ดังนั้น ในการพิจารณาคดีในครั้งแรกจึงขัดต่อหลักการกระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม  ในที่สุดนายเชฟเฟิร์ดก็ได้รับการพิจาราว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักฐานที่นายเชฟเฟิร์ดแสดงต่อศาลว่าสื่อมวลชนที่ขาดการควบคุมกำกับดูแลได้เรียกร้องให้มีการจับกุมนายเชฟเฟิร์ดและกล่าวหาว่าเป็นคนโกหก ตีพิมพ์เรื่องราวว่านายเชฟเฟิร์ดปฏิเสธเข้ารับการทดสอบเครื่องจับเท็จและตรวจสอบรูปภาพในสถานที่เกิดเหตุ พร้อมชี้นำว่าอาวุธที่ใช้การสังหารภรรยาคือเครื่องมือผ่าตัด ศาลสูงสุดจึงตัดสินว่าการดำเนินคดีดังกล่าวอยู่ภายใต้บรรยากาศที่สื่อมวลชนสร้างสถานการณ์เร่งเร้าและมีการชี้แนะว่าศาลควรตัดสินใช้มาตรการที่เข้มงวดในการคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาภายใต้กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม 
ใน 10 ปีต่อมา ศาลพิจารณาว่าความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มงวดของศาลในคดีฆาตกรรมในมลรัฐเนวาด้า คดี Nebraska Press v Stuart  พิจารณาว่าคำสั่งห้ามสื่อมวลชนตีพิมพ์หรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการสารภาพของจำเลยในคดีอาญาหรือปัจจัยอื่นส่งผลร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหาอย่างมีนัยสำคัญว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ   ศาลสูงสุดตัดสินโดยมติเอกฉันท์คำสั่งห้ามดังกล่าวฝ่าฝืนบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งที่คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก คำสั่งก้ามดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญเมื่อสามารถอธิบายเหตุผลที่สมเหตุสมผลได้และเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นในการกำกับดูแลเพื่อปกป้องกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ความเห็นของผู้พิพากษาอีกสามท่านเห็นพ้องว่าคำสั่งห้ามดังกล่าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการข้อห้ามล่วงหน้า (prior restraints) ที่มักถูกพิจารณาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ผู้พิพากษาอีกสองท่านแสดงความสงสัยเชิงกังวลว่าคำสั่งห้ามดังกล่าวอาจคาบเส้นว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ในคดี Gentile v State Bar of Nevada (1991) ศาลพิจารณาว่าทนายจำเลยในคดีอาญาอาจถูกลงโทษโดยเนติบัณฑิตยสภาของมลรัฐสำหรับการพูดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณาคดี ในประเด็นแรก ผู้พิพากษา 5 ท่านเห็นด้วยว่ารัฐธรรมนูญอนุญาตให้รัฐสามารถกำหนดข้อจำกัดการพูดหรือการแสดงออกของทนายที่ไม่อนุญาตให้พูดกับผู้สื่อข่าว ในขณะที่ผู้พิพากษาอีก 4 ท่านยืนยันว่าการจำกัดการแสดออกหรือการพูดของทนายความสมเหตุสมในแง่ของการปกป้องประโยชน์สาธารณะและบังคับใช้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่โจทก์ในคดีนี้ชนะในการอุทธรณ์เนื่องจากผู้พิพากษาเสียงข้างมากท่านหนึ่งเห็นด้วยในประเด็นว่าการลงโทษโจทก์นั้นไม่ชอบเนื่องจากไม่ได้มีการเตือนหรือแจ้งให้ทราบอย่างเหมาะสม


วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทางเลือกในการกำกับดูแลแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของสหรัฐอเมริกา




 
 อุปกรณ์สื่อสารที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบันคือโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน (Smartphone) โดยสัดส่วนของยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากการพัฒนาความสามารถของโทรศัพท์มือถือที่แต่เดิมมีไว้สนทนากันเท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้ใช้มีกิจกรรมเพิ่มขึ้นจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ เช่น การเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร การดูหนังหรือฟังเพลง การเล่มเกมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทั้งนี้เป็นผลมาจากแอพพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่มีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้นทั้งจากค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์หรือจากที่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์หลายบริษัทหันมาพัฒนาโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือ โดยเชื่อว่าจะมีอัตราการดาวน์โหลดเพื่อใช้งานที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ตลาดแอพพลิเคชั่นหรือโปรแกรมประยุกต์บนโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์จึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กล่าวอีกนัยหนึ่งว่ายากที่จะมีตลาดอื่นที่จะมีอัตราการเติบโตทางด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเท่ากับตลาดแอพพลิเคชั่นในช่วงนี้ ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากอุปสรรคในการเข้าตลาดต่ำและข้อเท็จจริงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าใคร ๆ ก็สามารถเข้าตลาดนี้ได้ขอเพียงให้มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ขั้นสูงแต่ประการใด เช่น โปรแกรม Angry Bird ซึ่งทำรายได้ได้หลายล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และอีกหลายโปรแกรมที่พัฒนาโดยเด็กระดับประถมศึกษา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากลักษณะของตลาดแอพพลิเคชั่นนี้เองที่มีความหลากหลายและไม่รวมศูนย์ จึงยากที่จะประเมินมูลค่าตลาด มีการประมาณการณ์ว่าตลาดนี้มีมูลค่าอยู่ประมาณ 20.4 - 53 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาต่อปี และคาดการณ์ว่าอาจจะพุ่งสูงถึง 63.5 + 143 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
ด้วยความนิยมและเติบโตของตลาดแอพพลิเคชั่นนี้เองสร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องผลกระทบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่อตลาดที่เข้าถึงได้อย่างกว้างขวางและขยายไปได้อย่างรวดเร็ว ในหลายกรณี แอพพลิเคชั่นถือเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับลูกค้าเพื่อให้บริการซึ่งถูกควบคุมหรือถูกกำกับดูแลโดยรัฐ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลจึงมองว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวอาจเปิดช่องว่างในการกำกับดูแล และส่งผลกระทบต่อตลาดในภาพรวม โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่ในตลาดที่ต้องแบกรับต้นทุนจากการกำกับดูแล ในขณะที่แอพพลิเคชั่นที่มีบริการเหมือนหรือคล้ายคลึงกันไม่ได้ถูกกำกับดูแลและมีต้นทุนเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น

- ในมลรัฐเวอร์จิเนีย กรมยานยนต์ (Department of Motor Vehicles) ออกประกาศห้ามการให้บริการแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง Uber และ Lyft ที่ให้บริการรถยนต์โดยสารหรือแท็กซี่ โดยอ้างว่าเป็นการแชร์รถยนต์ กรมยานยนต์ประกาศว่าจะดำเนินการจับกุมผู้ให้บริการรถยนต์โดยสารหรือแท็กซี่ที่ใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าว มลรัฐต่าง ๆ อีกหลายมลรัฐก็เริ่มดำเนินการตาม โดยให้เหตุผลว่าบริการดังกล่าวสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ให้บริการรถแท็กซี่ที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน  เนื่องจากผู้ให้บริการรถแท็กซี่ที่มีอยู่เดิมต้องแบกรับต้นทุนค่าใบอนุญาตและต้องถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด

- ในมลรัฐนิวยอร์ค มีการร้องเรียนในทำนองเดียวกันต่อแอพพลิเคชั่น Airbnb ซึ่งเสนอบริการแก่นักท่องเที่ยวในการหาที่พักแรมราคาถูก โดยจะจัดหาอพาร์ทเม้นท์ที่ว่างให้ รัฐบาลเมืองนิวยอร์คกังวลว่าแอพพลิเคชั่น Airbnb ฝ่าฝืนกฎหมายโรงแรมเพราะบริการดังกล่าวอาจถือว่าเป็นบริการโรงแรมประเภทหนึ่งซึ่งต้องได้รับใบอนุญาต

- แอพพลิเคชั่นเกี่ยวข้องกับอาหารจำนวนมากที่นำเสนอผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการจัดงานเลี้ยงแก่คนแปลกหน้าเพื่อหาเพื่อน หรือแก่คนยากจนเพื่อการกุศล สำนักงานอาหารและยากังวลว่าการให้บริการอาหารตามช่องทางดังกล่าว อาจเป็นช่องว่างในการกำกับดูแลซึ่งปัจจุบันมีการกำกับดูแลที่เข้มงวด รวมทั้งบริการด้านสุขภาพที่ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยสุขภาพ การตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และการให้คำปรึกษาด้านอาหารเพื่อสุขภาพหรือให้ข้อมูลด้านการแพทย์ ซึ่งสำนักงานอาหารและยากังวลว่าแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เหล่านี้อาจมีมูลเหตุจูงใจแฝง เช่น การโฆษณา หรือบางบริการอาจเป็นบริการทางการแพทย์ที่ผู้ให้บริการต้องได้รับใบอนุญาตและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการให้บริการดังกล่าวได้

- กรมขนส่งอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบของบริการแอพพลิเคชั่นนำทางบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากการใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นการใช้โทรศัพท์ในขณะขับขี่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

หากพิจารณาในมุมมองของตลาดพบว่านวัตกรรมของบริการต่าง ๆ ที่นำเสนอผ่านแอพพลิเคชั่นเป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดและแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิมได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มการแข่งขันในตลาด แต่นวัตกรรมดังกล่าวก็สร้างปัญหาแก่ระบบการกำกับดูแลที่มีอยู่เดิมในตลาดซึ่งสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดและต้นทุนแก่ผู้ประกอบการไว้ ดังนั้น ผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดจึงต่อต้านการใช้แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการในทำนองเดียวกับตนเอง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลห้ามการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นหรือให้อยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลแบบเดียวกันเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น กลุ่มผู้บริโภคกล่าวว่านโยบายของรัฐบาลที่ห้ามหรือกำกับดูแลการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าว อาจส่งผลกระทบทางลบต่อผู้บริโภค ลดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมและการแข่งขันในตลาด รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ มีการประเมินมูลค่าผลประโยชน์ที่ลดลงที่เกิดจากความล่าช้าหากมีการตรวจสอบหรือกำกับดูแลแอพพลิเคชั่นโดยรัฐบาล ซึ่งมีการประเมินว่า Apple Apps Store มีแอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลด ซึ่งในหนึ่งปีเฉลี่ยแล้วมีการดาวโหลด 40,000 ครั้งต่อแอพพลิเคชั่นและในราคา 10 เซ็นต์ต่อการดาวน์โหลดหนึ่งครั้ง Apple Apps Store มีการเพิ่มแอพพลิเคชั่นใหม่ให้ดาวโหลด 20,000 แอพพลิเคชั่นต่อเดือนหรือ 240,000 ต่อปี ดังนั้น หากมีการตรวจสอบและกำกับดูแลแอพพลิเคชั่นโดยรัฐบาลอาจส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1 พันล้านเหรียญต่อปี ซึ่งเป็นการประเมินข้อมูลจากผู้ประกอบการายใหญ่รายเดียวเท่านั้น เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ นอกจากนี้ ยังไม่รวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลดทอนแรงจูงใจที่เกิดจากการกำกับดูแลและประโยชน์แอพพลิเคชั่นดี ๆ ต้องถูกชะลอการใช้งาน

สำหรับทางเลือกที่มีการพิจารณากันในเบื้องต้น โดยพิจารณาในแง่มองของการแข่งขันหรือภาระการถูกกำกับดูแลที่ไม่เป็นธรรม มีดังนี้

ทางเลือกแรก ควรใช้กรอบการกำกับดูแลในปัจจุบันให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชั่นด้วย เพื่อให้บริบทของการแข่งขันเท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายทางเลือกนี้

ทางเลือกที่สอง ควรยกเลิกกรอบการกำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือลดการกำกับดูแล พร้อมเปิดเสรีตลาด อันจะส่งผลเพิ่มการแข่งขันและลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนและผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลาย ทันสมัย ราคาลดลง และมีทางเลือกมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดอาจไม่ชอบใจ

ทางเลือกที่สาม รัฐบาลเลือกไม่ทำอะไรปล่อยให้เทคโนโลยี การแข่งขัน และกลไกตลาดทำงานไปเรื่อย ๆ ซึ่งในท้ายที่สุดระบบการกำกับดุแลแบบเดิมจะลดบทบาทลงเอง แต่ต้องใช้ระยะเวลาและไม่แน่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อไร ผู้ประกอบการายเดิมอาจปรับตัวเข้ามาให้บริการแข่งขันผ่านทางแอพพลิเคชั่นด้วย ทางเลือกนี้ รัฐบาลใช้กับกรณีบริการ VoIP ที่แข่งขันกับบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวนี้ต้องติดตามกันดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร


วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การตรวจค้นข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือ


ในยุคเศรษฐกิจฐานดิจิตอล ประเด็นปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐบาลในกิจกรรมที่ใช้ระบบสื่อสารดิจิตอลก็ได้รับการท้าทาย แต่ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการค้น ซึ่งในปี 2014 นี้เอง ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาในคดี Riley v. California (case No. 13-132 and 13-212, 2014 BL 175779, 2014 WL 2864483, 2014 U.S. LEXIS 4497 (U.S. June 25, 2014)) ได้ตัดสินว่าแม้ว่าตามหลักทั่วไปเมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการตรวจค้นร่างกายของผู้ต้องสงสัยและพื้นที่รอบ ๆ ได้ เพื่อรักษาวัตถุพยานที่สำคัญและเพื่อความปลอดภัยของพนักงานเจ้าหน้าที่เอง การกระทำดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ซึ่งเรียกว่าหลัก Search Incident to Arrest (SITA) หรือ Chimel Rule แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจตรวจค้นโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในเหตุการณ์ในตอนจับกุมได้โดยไม่มีหมายค้น

ในขณะที่เมื่อสองปีที่แล้วในวันที่ 24 เดือนเมษายน ค.ศ. 2012 ศาลสูงสุดบราซิลมีคำตัดสินในลักษณะที่ตรงกันข้าม ในคดีเลขที่ H.C 91.867 ซึ่งศาลสูงสุดบราซิลตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่จำเป็นต้องมีหมายค้นในการเข้าถึงข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ในคดีดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นมือปืนรับจ้างที่มีชื่อเสียงได้รับการว่าจ้างให้ลงมือสังหารเหยื่อ ในการเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบตารางนัดหมายของจำเลยในโทรศัพท์มือถือทั้งสองเครื่องซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานที่ซัดทอดไปยังผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างที่ต้องสงสัยโต้แย้งว่าเป็นพยานหลักฐานดังกล่าวขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการฝ่าฝืนสิทธิที่จะไม่ถูกดักฟังในการสื่อสารถึงกันโดยไม่มีหมายค้น
ศาลสูงสุดบราซิลตัดสินว่าการตรวจค้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่า แม้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐบราซิล ปี ค.ศ. 1988 มาตรา 5 วรรค LVI วางหลักกฎหมายว่าพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายจะไม่สามารถใช้ในการพิจารณาของศาลได้ เรียกว่าหลัก Illegal Trails Inadmissibility ซึ่งโดยทั่วไปศาลตีความว่ารวมถึงการตรวจค้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยตามทฤษฎีผลไม้พิษ (Theory of Poisoned Tree Fruits) และรัฐธรรมนูญของบราซิลระบุอีกว่าการดักฟังการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากศาล เช่น การดักฟังการสนทนาระหว่างจำเลยกับทนายความไม่สามารถนำมาเป็นพยานในชั้นการพิจารณาของศาลได้ ดังนั้น แม้ว่าตามหลักการแล้วหมายค้นอาจมีความจำเป็นในกรณีที่ต้องมีการดักฟัง แต่ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าในการตรวจค้นเครื่องโทรศัพท์มือถือไม่ได้มีลักษณะเช่นเดียวกับการดักฟังโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าตรวจสอบข้อมูลตารางนัดจากเครื่องโทรศัพท์ที่พบอยู่กับจำเลยซึ่งใช้ในการติดต่อสื่อสารก่อนลงมือสังหาร อนึ่ง ศาลได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเอกสารกระดาษที่มีเบอร์โทรศัพท์ที่เขียนด้วยลายมือของจำเลยในกระเป๋าเสื้อ ศาลจึงมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นคดีอาญาที่มีความร้ายแรง และชั่งน้ำหนักแล้วว่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่าสิทธิส่วนตัวของจำเลย ทั้งนี้ ผู้พิพากษาเมนเดสอ้างทฤษฎีพยานหลักฐานของศาลสหรัฐอเมริกาในคดี Nix v. Williams (1984) ซึ่งใช้ในคดีดังกล่าวเพราะการยึดเครื่องโทรศัพท์มักดำเนินตามด้วยกระบวนการทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะการโทรครั้งสุดท้าย

โดยสรุป เมื่อเปรียบเทียบคำพิพากษาทั้งสองคดีมีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้ ประเด็นแรกรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและบราซิลมีความแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาห้ามการตรวจค้นหรือยึดโดยไม่สมเหตุสมผล แต่รัฐธรรมนูญของบราซิลห้ามการดักฟังการสื่อสารถึงกัน ดังนั้น ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาและบราซิลจึงวิเคราะห์ขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวแตกต่างกัน นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าในระบบกฎหมายของบราซิล คำพิพากษาของศาลสูงสุดบราซิลไม่ผูกพันศาลอื่น การอนุญาตให้ศาลมุ่งเน้นข้อเท็จจริงเฉพาะเจาะจงของคดีมากกว่าการวางหลักกฎหมายทั่วไป นอกจากนี้ ในข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีมีความแตกต่างกัน คดีของศาลบราซิลเกี่ยวข้องกับตรวจค้นเครื่องโทรศัพท์ในปี ค.ศ. 2004 ในช่วงเวลาที่เครื่องโทรศัพท์มีข้อมูลส่วนตัวน้อยมากกว่าในช่วงที่คดี Riley ตัดสิน ทั้งสองศาลได้พยายามรักษาสมดุลของประโยชน์สาธารณะในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมกับสิทธิส่วนตัวของจำเลย ในคดีของบราซิลเกี่ยวข้องกับกรณีของมือปืนที่ได้รับการว่าจ้างฆ่าคน ในขณะที่คดี Riley เกี่ยวกับยาเสพติด ศาลบราซิลให้ความสำคัญกับความร้ายแรงของคดีอาญา ในแต่ละประเทศ การคาดการณ์อาจยาก เมื่อเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งอาจมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการยึดสิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ laptop และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น Facebook, Twitter และ Instagram เป็นต้น ซึ่งน่าสนใจว่าศาลจะตัดสินใจอย่างไรกับกรณีดังกล่าว ต้องติดตามดูกันต่อไป

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การกำกับดูแลการล๊อบบี้

ปัจจุบัน การล๊อบบี้กลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกที่มีมูลค้าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาและใช้บุคลากรจำนวนมากมาย ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2010 การล๊อบบี้สำหรับรัฐบาลกลางในสหรัฐอเมริกามีการใช้จ่ายเงินสูงกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2013 บุคคลที่มีอาชีพล๊อบบี้ซึ่งลงทะเบียนไว้กับรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาจำนวน 11,400 คนการลดลงเล็กน้อยจากจำนวนที่ลงทะเบียนไว้เดิมในปี ค.ศ. 2007 ที่มีจำนวน 14,800 คน ในแคนาดา จำนวนของผู้มีอาชีพล๊อบบี้ในระดับรัฐบาลกลางมีมากกว่า 5,000 คน ในยุโรป มีจำนวนนักล๊อบบี้เกือบ 6,000 คนที่สมัครใจลงทะเบียนไว้กับสหภาพยุโรป 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ได้มีการทำวิจัยการล๊อบบี้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา พบว่าอุตสาหกรรมการเงิน ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์มีการใช้จ่ายเงินสูงถึง 480,000 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทในปี ค.ศ. 2006 จำนวน 300,000 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทในอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง และจำนวน 200,000 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทสำหรับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ดังนั้น ความกังวลเรื่องการล๊อบบี้ โดยมีการเรียกร้องเรื่องความโปร่งใสในการตัดสินของภาครัฐ เนื่องจากการล๊อบบี้มักจะให้ข้อมูลและเบื้องหลังที่มีประโยชน์แก่ผู้ตัดสินใจของภาครัฐ และอนุญาตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงการพัฒนาและนำนโยบายสาธารณะไปสู่การปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม การล๊อบบี้ก็อาจนำไปสู่การสร้างอิทธิพลที่มิชอบและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่ส่งผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะและนโยบายสาธารณะได้ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา กรณีที่โด่งดังคือ นายแจ๊ค อัมรามอฟซึ่งเป็นนักล๊อบบี้เรื่องการเปิดบ่อนคาสิโนโดยใช้สิทธิของชนพื้นเมือง โดยมีค่าใช้จ่ายในการล๊อบบี้สูงถึง 85 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และได้เบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่บริษัทที่ว่าจ้างและยักยอกเงินไว้บางส่วน รวมทั้งในอีกคดีหนึ่งได้ข่มขู่บริษัทที่เคยว่าจ้างว่าจะเปิดเผยข้อมูลการล๊อบบี้ที่ผิดกฎหมาย และยังมีกรณีที่มอบของขวัญและบริจาคเงินแก่นักการเมืองเพื่อให้ลงคะแนนสนับสนุนร่างกฎหมาย ในที่สุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลกิจกรรมการล๊อบบี้ที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น Legislative Transparency and Accountability Act โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่กำกับดูแล

ด้วยเหตุผลและความกังวลใจดังกล่าวข้างต้น ประเทศต่าง ๆ เริ่มออกกฎและระเบียบเพื่อกำกับดูแลกิจกรรมการล๊อบบี้ และในเวทีระหว่างประเทศเองจึงมีความพยายามริเริ่มให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่สร้างความโปร่งใสและความรับผิดของการล๊อบบี้ ซึ่งองค์กรความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์กฎการกำกับดูแลการล๊อบบี้ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการกำกับดูแลตนเองด้วย แล้วแจกแจงองคืประกอบสำคัญของการกำกับดูแลได้ดังนี้ 
- นิยามของนักล๊อบบี้ และกิจกรรมของการล๊อบบี้ที่ถูกกำกับดูแลต้องมีความชัดเจน
- ข้อกำหนดการเปิดเผยต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ล๊อบบี้และกิจกรรมล๊อบบี้ เช่น วัตถุประสงค์ ผู้ได้รับประโยชน์ แหล่งเงินสนับสนุน และเป้าหมายของการล๊อบบี้ 
- กฎและแนวปฏิบัติที่กำหนดมาตรฐานของพฤติกรรมที่คาดหวัง เช่น การหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับ การขัดแย้งของผลประโยชน์ และการป้องกันการฉ้อฉล เป็นต้น
- กระบวนการติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และกลไก รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย 
- ความเป็นผู้นำองค์กรส่งเสริมวัฒนธรรมของความซื่อสัตย์และความโปร่งใสของการปฏิบัติประจำวันโดยการเปิดเผยข้อมูลสม่ำเสมอและการตรวจสอบเพื่อประกันการปฏิบัติตามกฎ 

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สื่อลามกอนาจารกับเสรีภาพการแสดงออก

หนึ่งในประเด็นที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลการแสดงออกความเห็นที่มีความซับซ้อนคือประเด็นเรื่องลามกอนาจาร ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้วางเกณฑ์ในการพิจารณาหลายเกณฑ์เพื่อพิจารณาว่าอะไรที่รัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสื่อลามกและถูกห้าม ซึ่งทุกวันนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่างอยู่ ความยากในการกำหนดนิยามของสื่อลามกสามารถสรุปได้จากความเห็นของผู้พิพากษาสจ๊วตในคดี Jacobellis v. Ohio, 378 US 184 (1964) ที่กล่าวว่า "ฉันรู้ว่าอะไรคือลามกอนาจารเมื่อฉันเห็นมัน" (I know it when I see it) ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติเองก็มีปฏิกิริยาต่อคำพิพากษาดังกล่าว จึงพยายามสร้างแนวทางที่ชัดเจนขึ้น โดยคณะกรรมาธิการล๊อคฮาร์ทในปี ค.ศ. 1970 ได้เสนอแนะให้ยกเลิกการลงโทษทางอาญาทั้งหมดสำหรับสื่อลามกอนาจร เว้นแต่สื่อลามกอนาจรเด็กหรือการจำหน่ายจ่ายแจกสื่อลามกอนาจารแก่เด็กและผู้เยาว์ และอีกคณะกรรมาธิการมีสซี่ที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีเรแกนได้เสนอแนวทางที่แตกต่างออกไป กล่าวคือแนะนำให้บังคับใช้กฎหมายเดิมต่อไปในการกำกับดูแลสื่อลามกอนาจารที่รุนแรงแม้ว่าผู้อ่านหรือผู้ชมจะเป็นผู้ใหญ่ก็ตาม

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ศาลสูงสุดต้องเผชิญกับประเด็นเรื่องภาพลามกอนาจาร แต่มักไม่รวมถึงหนังสือที่มีการเขียนอธิบายกิจกรรมทางเพศ การต่อสู้ทางกฎหมายของสื่อที่ล่อแหลมดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับงานประพันธ์หรือนวนิยายที่มีชื่อเสียง เช่น  James Joyce's Ulysses หรือ  D. H. Lawrence's Lady Chatterly's Lover แต่คดีที่โด่งดังอีกคดีคือคดีนักร้องวงแร็พ Two Live Crew ที่ร้องเพลงที่มีเนื้อหาทางเพศที่ชัดแจ้ง ซึ่งถูกดำเนินคดีโดยมลรัฐฟอริด้า แต่ในที่สุดศาลยกฟ้อง
             
ในคดี Stanley v Georgia (1969) ถือว่ามีความสำคัญโดยศาลสูงสุดได้สรุปว่ากฎหมายของมลรัฐจอร์เจียไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 การกำหนดบทลงโทษบุคคลที่ครอบครองสื่อลามกเป้นการส่วนตัว แม้ว่าการจำหน่ายหรือแจกจ่ายสื่อลามกดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลวินิจฉัยต่อว่าทุกคนมีสิทธิในการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของตนเองภายในสถานที่ส่วนบุคคลหรือในบ้านของตนเอง แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1990 ศาลสูงสุดวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 ว่าการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญสำหรับการครอบครองสื่อลามกเป้นการส่วนตัวไม่ครอบคลุมถึงสื่อลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็ก

ในคดี Smith v California เกี่ยวกับร้านขายหนังสือลามก ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 กำหนดให้รัฐบาลมีหน้าที่พิสูจน์มากกว่าเพียงว่าร้านขายหนังสือมีหนังสือลามกที่ต้องห้ามไว้จำหน่าย รัฐบาลต้องพิสูจน์ว่าเจ้าของร้านหนังสือรู้ว่าตนเองขายหนังสือลามกเพื่อจะได้ไม่มีผลกระทบข้างเคียงกับคำพูดที่อาจได้รับความคุ้มครอง  

ต่อมาในคดี Miller v California กำหนดว่าเกณฑ์สมัยใหม่เกี่ยวกับสื่อลามก ศาลสูงสุดได้วางหลักเกณฑ์ใหม่ในการวินิจฉัยกฎหมายห้ามสื่อลามกว่า (1) สื่อลามกที่ต้องห้ามต้องวาดหรืออธิบายพฤติกรรมทางเพศในลักษณะที่กระทำผิดอย่างชัดแจ้ง (2) พฤติกรรมดังกล่าวต้องถูกระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน และ (3) งานดังกล่าวต้องขาดคุณค่าและต้องดึงดูดให้เกิดผลประโยชน์ในทางเพศ แต่อะไรคือการกระทำผิดอย่างชัดเจนจะถูกกำหนดโดยการใช้ค่านิมของชุมชน แต่คำต้ดสินของคณะลูกขุนในหลายคดีอยู่ภายใต้การทบทวนทางรัฐธรรมนูญอย่างอิสระตามคำวินิจฉัยในคดี Jenkins v Georgia ที่วางกรอบไว้


วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คดีเกี่ยวกับสิทธิของคนรักร่วมเพศ

ในคดี Bowers v. Hardwick (1986) ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของคนรักร่วมเพศในการมีพฤติกรรมทางเพศโดยสมัครใจแม้จะในสถานที่ส่วนบุคคล คดีนี้เริ่มในปี ค.ศ. 1982 เมื่อตำรวจในเมืองแอ็ทแลนต้าเข้าไปที่พักอาศัยของนายไมเคิล ฮาร์ดวิทเพื่อจับกุมในข้อหาขัดขืนหมายเรียกโดยไม่มารายงานตัวในข้อหาดื่มเครื่องดื่มมึนเมาในที่สาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อนร่วมบ้านได้ปล่อยให้ตำรวจเข้าบ้านและตำรวจได้ตรวจค้นนายฮาร์ดวิทภายในบ้านและพบว่าประตูห้องเปิดแง้มอยู่ จึงบุกเข้าไปเพื่อจับกุมและพบว่านายฮาร์ดวิทและเพื่อนชายกำลังมีความสัมพันธ์ทางเพศ ทั้งคู่ถูกจับกุมในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายพฤติกรรมวิปริตทางเพศของมลรัฐจอร์เจีย นายฮาร์ดวิทฟ้องมลรัฐจอร์เจียโดยอ้างว่ากฎหมายพฤติกรรมวิปริตทางเพศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลังจากนายฮาร์ดวิทชนะในคดี มลรัฐจอร์เจียจึงอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1986

ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ว่าสิทธิของผู้รักร่วมเพศในการกระทำที่วิปริตทางเพศซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ ศาลสูงสุดโต้แย้งว่าสิทธิส่วนตัวที่ได้รับความคุ้มครองโดยบทบัญญัติกระบวนการชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิในการรักร่วมเพศ ในขณะที่สิทธิส่วนตัวคุ้มครองในแง่มุมการแต่งงาน การคุมกำเนิด ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการเลี้ยงดูเด็กจากการแทรกแซงของมลรัฐ ซึ่งไม่ได้ฝห้ความคุ้มครองคนรักร่วมเพศเพราะไม่มีความเชื่อมโยงกับการแต่งงาน ครอบครัว หรือการคุมกำเนิดในขณะที่กิจการรักร่วมเพศได้มีการแสดงออก

ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าสิทธิในการมีพฤติกรรมวิปริตทางเพศไม่ใช่สิทธิพื้นฐานในตัวมันเองที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติกระบวนการชอบด้วยกฎหมาย ศาลสูงสุดโต้แย้งว่าบทบัญญัติที่คุ้มครองจากการแทรกแซงของมลรัฐที่ประกอบด้วยสิทธิพื้นฐานที่เป็นกิจกรรมที่สื่อให้เห็นถึงแนวคิดของเสรีภาพที่ถูกกำกับดูแล ที่มาและพื้นฐานดั้งเดิมของสังคมสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดไม่พบกฎหมายที่ตีความคำว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศ ในฐานะเป็นสิทธิพื้นฐานที่สมควรได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ศาลสูงสุดให้ข้อสังเกตว่าพฤติกรรมวิปริตถูกห้ามในมลรัฐดั้งเดิมทั้ง 13 รัฐและอีก 50 มลรัฐจนกระทั่งปี ค.ศ. 1961 ในขณะที่มีคำพิพากษา Bowers ในปี ค.ศ. 1986 พฤติกรรมดังกล่าวถือมีความผิดเกือบครึ่งหนึ่งของมลรัฐทั้งหมด

ในท้ายที่สุดศาลสูงสุดปฏิเสธข้อโต้แย้งของนายฮาร์ดวิทว่าแม้ว่าพฤติกรรมวิปริตทางเพศไม่ใช่สิทธิพื้นฐานที่ต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของมลรัฐที่ไม่สมเหตุสมผลที่โต้แย้งว่ากฎหมายมลรัฐจอร์เจียสมเหตุสมผลแม้ว่าวัตถุประสงค์ทำใช้ด้วยด้วยกฎหมายด้ายเหตุผลทางจริยธรรม ศาลสูงสุดยืนยันว่ากฎหมายทั้งหมดมีรากฐานมากจากศีลธรรมและถูกตีตกเพราะศีลธรรมอาจตีกฎหมายทั้หมดตกไปได้ ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่ากฎหมายจอร์เจียชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกล่าวหาว่านายฮาร์ดวิทชอบแล้ว 

ในคดี Bowers v. Hardwick ส่งผลต่อกลุ่มคนรักร่วมเพศค่อนข้างมาก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2003 ในคดี Lawrence v. Texas ศาลสูงสุดประกาศว่ากฎหมายต่อต้านพฤติกรรมวิปริตทางเพศของมลรัฐเท็กซัสไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาระบุว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิพื้นฐานของบุคคลผู้ใหญ่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศเป็นการส่วนตัว 



วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อะไรคือเสรีภาพในการพูด


บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ได้ให้ความคุ้มครองการจำกัดเสรีภาพการพูดและการแสดงออก แต่มีประเด็นว่าอะไรคือ การพูด (Speech) ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ในปี ค.ศ. 1968 มีขอบเขตแค่ไหน ?  ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวในคดี United States v. O'Brien, 391 U.S. 367 (1968) ซึ่งเป็นกรณีที่นายโอไบอันซึ่งเผาใบฉลากเกณฑ์ทหาร (draft card) ในระหว่างที่มีการคัดเลือกทหารเกณฑ์ ซึ่งนายโอไบอันได้อ้างว่าการกระทำเผาฉลากดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 เพื่อการกระทำดังกล่าวต้องการแสดงออกเพื่อคัดค้านการเข้าไปทำสงครามเวียดนามของรัฐบาล ศาลสูงสุดพิจารณาว่านายโอไบอันถูกลงโทษสำหรับพฤติกรรมซึ่งเผาใบฉลากเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ใช่สิ่งที่นายโอไบอันพยายามจะแสดงออกเกี่ยวกับการต่อต้านสงคราม โดยศาลสูงสุดวางเกณฑ์ในการพิจารณาว่าทั้งองค์ประกอบของคำพูดและพฤติกรรมนำเสนอว่ากฎของรัฐบาลมีเหตุผลเพียงพอ หากอยู่ภายใต้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ หากมีผลประโยชน์ของรัฐบาลที่สำคัญ หากผลประโยชน์ของรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับการจำกัดหรือกีดกันการแสดงออก และหากเป็นข้อจำกัดต่อเสรีภาพตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ไม่ได้มากกว่าผลประโยชน์ดังกล่าว

อนึ่ง เกณฑ์ในคดีโอไบอันได้ถูกศาลใช้เป็นบรรทัดฐานในคดีต่อ ๆ มา เช่น ในคดี Texas v.  Johnson ศาลสูงสุดพิจารณาการประท้วงนโยบายของรัฐบาลซึ่งผู้ประท้วงได้เผาธงชาติ ณ การประชุมพรรครีพับรีกัน ศาลสูงสุดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เสียงได้กลับคำพิพากษาที่ตัดสินให้นายจอห์นสันมีความผิดในฐานเผาธงชาติเนื่องจากการเผาดังกล่าวครบองค์ประกอบของการสื่อสารเพื่อสื่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 และเป็นคำพูดที่ประท้วงดังกล่าวตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ในคดี  Buckley v Valeo ยกประเด็น ว่าเงินในรูปของการบริจาครณรงค์หาเสียง หรือค่าใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงเป็นรูปแบบหนึ่งขิงคำพูดหรือไม่ ศาลสูงสุดตัดสินว่าอาจจะเป็นโดยให้ข้อสังเกตว่าการรณรงค์ในสมัยใหม่เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ใช้เงิน

ในคดี South Florida Free Beaches v Miami ที่ตัดสินโดยศาลอุทธรณ์เขต 11 ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าข้อโต้แย้งที่ว่าการบังตับใช้กฎหมายของเมืองไมอามี่ ที่ห้ามการเปลือยกายในสถานที่สาธารณะเป็นการจำกัดสิทธิตามบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ซึ่งโจทก์ต้องการสื่อสารปรัชญาว่าร่างการมนุษย์เป็นหนึ่งเดียว ศาลไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งดังกล่าว และให้ความเห็นว่าการเปลือยกายต้องเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่แสดงออก เช่น การเต้น หรือละคร เพื่อยกประเด็นของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1  

ในคดี Doe v Reed (2010) ศาลสูงสุดได้พิจารณาว่าคำร้องขอรัฐบาลจัดทำการออกเสียงประชามติเป็นคำพูดภายใต้ความหมายของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 หากเป็นคำพูดตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 การเปิดเผยชื่อของผู้ร้องโดยรัฐเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ตุลาการ 8 คนเห็นด้วยว่าการลงนามในคำร้องขอจัดทำประชามติเป็นการกระทำที่แสดงออกที่สื่ออยู่ในบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 แต่ผู้พิพากษาสกาเลียเห็นว่าการลงนามเป็นการกระทำทางนิติบัญญัติ จึงไม่อยู่ภายใต้สิทธิเสรีภาพของคำพูดหรือการแสดงออก แต่เห็นด้วยว่าประเด็นในคดีนี้คือ ผู้ลงนามในคำร้องดังกล่าวมีสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 หรือไม่ในปกปิดชื่อหรือตัวตนของผู้ยื่นคำร้อง ตุลาการทั้ง 8 คนเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่มีสิทธิ แม้ว่าสภาพการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นของการจัดให้มีการทำประชามติอาจก่อให้เกิดสิทธิในการปกปิดชื่อตนเอง