ในยุคเศรษฐกิจฐานดิจิตอล ประเด็นปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐบาลในกิจกรรมที่ใช้ระบบสื่อสารดิจิตอลก็ได้รับการท้าทาย แต่ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการค้น ซึ่งในปี 2014 นี้เอง ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาในคดี Riley v. California (case No. 13-132 and 13-212, 2014 BL 175779, 2014 WL 2864483, 2014 U.S. LEXIS 4497 (U.S. June 25, 2014)) ได้ตัดสินว่าแม้ว่าตามหลักทั่วไปเมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการตรวจค้นร่างกายของผู้ต้องสงสัยและพื้นที่รอบ ๆ ได้ เพื่อรักษาวัตถุพยานที่สำคัญและเพื่อความปลอดภัยของพนักงานเจ้าหน้าที่เอง การกระทำดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ซึ่งเรียกว่าหลัก Search Incident to Arrest (SITA) หรือ Chimel Rule แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีอำนาจตรวจค้นโทรศัพท์มือถือที่อยู่ในเหตุการณ์ในตอนจับกุมได้โดยไม่มีหมายค้น
ในขณะที่เมื่อสองปีที่แล้วในวันที่ 24 เดือนเมษายน ค.ศ. 2012 ศาลสูงสุดบราซิลมีคำตัดสินในลักษณะที่ตรงกันข้าม ในคดีเลขที่ H.C 91.867 ซึ่งศาลสูงสุดบราซิลตัดสินว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่จำเป็นต้องมีหมายค้นในการเข้าถึงข้อมูลบนโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ในคดีดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นมือปืนรับจ้างที่มีชื่อเสียงได้รับการว่าจ้างให้ลงมือสังหารเหยื่อ ในการเข้าจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบตารางนัดหมายของจำเลยในโทรศัพท์มือถือทั้งสองเครื่องซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานที่ซัดทอดไปยังผู้ว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างที่ต้องสงสัยโต้แย้งว่าเป็นพยานหลักฐานดังกล่าวขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการฝ่าฝืนสิทธิที่จะไม่ถูกดักฟังในการสื่อสารถึงกันโดยไม่มีหมายค้น
ศาลสูงสุดบราซิลตัดสินว่าการตรวจค้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่า แม้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐบราซิล ปี ค.ศ. 1988 มาตรา 5 วรรค LVI วางหลักกฎหมายว่าพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายจะไม่สามารถใช้ในการพิจารณาของศาลได้ เรียกว่าหลัก Illegal Trails Inadmissibility ซึ่งโดยทั่วไปศาลตีความว่ารวมถึงการตรวจค้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยตามทฤษฎีผลไม้พิษ (Theory of Poisoned Tree Fruits) และรัฐธรรมนูญของบราซิลระบุอีกว่าการดักฟังการสื่อสารผ่านโทรศัพท์ไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากศาล เช่น การดักฟังการสนทนาระหว่างจำเลยกับทนายความไม่สามารถนำมาเป็นพยานในชั้นการพิจารณาของศาลได้ ดังนั้น แม้ว่าตามหลักการแล้วหมายค้นอาจมีความจำเป็นในกรณีที่ต้องมีการดักฟัง แต่ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าในการตรวจค้นเครื่องโทรศัพท์มือถือไม่ได้มีลักษณะเช่นเดียวกับการดักฟังโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าตรวจสอบข้อมูลตารางนัดจากเครื่องโทรศัพท์ที่พบอยู่กับจำเลยซึ่งใช้ในการติดต่อสื่อสารก่อนลงมือสังหาร อนึ่ง ศาลได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเอกสารกระดาษที่มีเบอร์โทรศัพท์ที่เขียนด้วยลายมือของจำเลยในกระเป๋าเสื้อ ศาลจึงมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นคดีอาญาที่มีความร้ายแรง และชั่งน้ำหนักแล้วว่าจะเป็นประโยชน์สาธารณะมากกว่าสิทธิส่วนตัวของจำเลย ทั้งนี้ ผู้พิพากษาเมนเดสอ้างทฤษฎีพยานหลักฐานของศาลสหรัฐอเมริกาในคดี Nix v. Williams (1984) ซึ่งใช้ในคดีดังกล่าวเพราะการยึดเครื่องโทรศัพท์มักดำเนินตามด้วยกระบวนการทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะการโทรครั้งสุดท้าย
โดยสรุป เมื่อเปรียบเทียบคำพิพากษาทั้งสองคดีมีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้ ประเด็นแรกรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและบราซิลมีความแตกต่างกัน รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาห้ามการตรวจค้นหรือยึดโดยไม่สมเหตุสมผล แต่รัฐธรรมนูญของบราซิลห้ามการดักฟังการสื่อสารถึงกัน ดังนั้น ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาและบราซิลจึงวิเคราะห์ขอบเขตของการคุ้มครองสิทธิส่วนตัวแตกต่างกัน นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าในระบบกฎหมายของบราซิล คำพิพากษาของศาลสูงสุดบราซิลไม่ผูกพันศาลอื่น การอนุญาตให้ศาลมุ่งเน้นข้อเท็จจริงเฉพาะเจาะจงของคดีมากกว่าการวางหลักกฎหมายทั่วไป นอกจากนี้ ในข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีมีความแตกต่างกัน คดีของศาลบราซิลเกี่ยวข้องกับตรวจค้นเครื่องโทรศัพท์ในปี ค.ศ. 2004 ในช่วงเวลาที่เครื่องโทรศัพท์มีข้อมูลส่วนตัวน้อยมากกว่าในช่วงที่คดี Riley ตัดสิน ทั้งสองศาลได้พยายามรักษาสมดุลของประโยชน์สาธารณะในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมกับสิทธิส่วนตัวของจำเลย ในคดีของบราซิลเกี่ยวข้องกับกรณีของมือปืนที่ได้รับการว่าจ้างฆ่าคน ในขณะที่คดี Riley เกี่ยวกับยาเสพติด ศาลบราซิลให้ความสำคัญกับความร้ายแรงของคดีอาญา ในแต่ละประเทศ การคาดการณ์อาจยาก เมื่อเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งอาจมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการยึดสิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ laptop และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น Facebook, Twitter และ Instagram เป็นต้น ซึ่งน่าสนใจว่าศาลจะตัดสินใจอย่างไรกับกรณีดังกล่าว ต้องติดตามดูกันต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น