วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

คดี Lawrence v. Texas (2003)


ในคดี Lawrence v. Texas (2003) ศาลสูงสุดตัดสินว่ากฎหมายของมลรัฐห้ามการสังวาสที่ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะระหว่างเพศเดียวกัน (homosexual sodomy) ขัดต่อรัฐธรรมนูญเนื่องจากฝ่าฝืนสิทธิส่วนบุคคล คดีดังกล่าวเริ่มจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกค้นจับกุมนายจอห์น ลอว์เร้นท์เนื่องจากได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์วุ่นวายและใช้อาวุธในอพาทเม้นท์ของนายจอห์น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับพบว่านายจอห์นกำลังมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ทั้งสองคนจึงถูกควบคุมตัวและตั้งข้อกล่าวว่าฝ่าฝืนกฎหมายพฤติกรรมรักร่วมเพศของมลรัฐเท็กซัส  ซึ่งทั้งสองคนถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับ ต่อมานายจอห์นได้อุทธรณ์โดยอ้างว่ากฎหมายพฤติกรรมรักร่วมเพศขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนรักร่วมเพศซึ่งฝ่าฝืนสิทธิส่วนตัว (Right to privacy) และบทบัญญัติการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันของรัฐธรรมนูญ ศาลอุทธรณ์ของมลรัฐเท็กซัสตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นตามแนวคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดี Bowers v. Hardwick (1986) ซึ่งตัดสินรับรองว่ากฎหมายต่อต้านการสังวาสผิดธรรมชาติของมลรัฐจอร์เจียไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ นายจอห์นจึงอุทธรณ์ตอศาลสูงสุดในปี ค.ศ. 2003

ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกาด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 เสียง ตัดสินว่ากฎหมายพฤติกรรมรักร่วมเพศขัดต่อรัฐธรรมนูญและกลับคำพิพากษาที่ลงโทษนายจอห์น ศาลสูงสุดให้เหตุผลว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 เรื่องกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการตัดสินใจที่จะมีสัมพันธ์กับใคร ประเด็นในคดีนี้แตกต่างจากคดี Bower ซึ่งวางหลักว่าบทบัญญัติกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ไม่ได้ระบุถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนรักร่วมเพศในการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นการตีความที่ผิดพลาด ประเด็นในคดีนี้ไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานของคนรักร่วมเพศ แต่เป็นสิทธิส่วนตัวในบ้าน และสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจของผู้ใหญ่  ศาลอธิบายว่าความสัมพันธ์ทางเพศของบุคคลซึ่งมีกิจกรรมภายในบ้านถือเป็นเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ ศาลยังปฏิเสธวิธีการระบุสิทธิในคดี Bower ที่อ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีของสหรัฐอเมริกาว่าไม่เคยให้ความคุ้มครองคนรักร่วมเพศ ศาลอ้างว่านับตั้งแต่คดี Griswold v. Connecticut (1965) ถึงคดี Roe v. Wade (1973) สิทธิขั้นพื้นฐานได้รับการตีความอย่างกว้าง แม้ว่ากิจกรรมที่ถูกห้ามตามกฎหมาย เช่น การทำแท้ง อาจได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีควรได้รับการทบทวน เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายต่อต้านการสังวาสผิดธรรมชาติแทบจะไม่เคยมีการบังคับใช้กับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นที่บ้านหรือที่ส่วนตัว ไม่เคยมีการลงโทษคู่เกย์เลยจนกระทั่งทศวรรษที่ 1970 ในปี ค.ศ. 2003 มลรัฐสี่มลรัฐยังคงบังคับใช้กฎหมายการสังวาสผิดธรรมชาติต่อคนรักร่วมเพศ และในหลายมลรัฐได้ยกเลิกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ผู้พิพากษา Sandra Day O'Connor ให้ความเห็นว่าเนื่องจากกฎหมายห้ามการสังวาสที่ผิดธรรมชาติของรักร่วมเพศ แต่ไม่ห้ามการสังวาสผิดธรรมชาติที่ต่างเพศกันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะขยายการคุ้มครองที่เท่าเทียมกันไปยังสิทธิของคนรักร่วมเพศ (rights to gays) 

ในคดี Lawrence v. Texas ถือว่าเป็นคดีที่มีความความสำคัญในสองแง่ กล่าวคือ ประการแรกคำพิพากษานี้วางหลักการว่ากิจกรรมรักร่วมเพศโดยสมัครใจในสถานที่ส่วนบุคคลถือเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และประการที่สอง สิทธิขั้นพื้นฐานหรือกิจกรรมที่ได้รับความคุ้มครองซึ่งเป็นหลักการของเสรีภาพต้องตีความในเชิงกว้าง ไม่ใช่การยึดประวัติศาสตร์และจารีตประเพณีในการตีความ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนมองมุมหรือวิธีการตีความของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาครั้งสำคัญ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น