วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

อำนาจในการประกาศทำสงครามของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกากำหนดแบ่งอำนาจประกาศและทำสงครามระหว่างรัฐสภาและประธานาธิบดี การแบ่งแยกอำนาจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประกันว่าการประกาศทำสงครามต้องมีการพิจารณาละเอียดรอบคอบ มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจกัน โดยประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจบริหารในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่มีอำนาจตัดสินใจในการทำสงคราม ซึ่งถูกถ่วงดุลอำนาจรัฐสภาที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการประกาศสงครามและอนุมัติงบประมาณในการทำสงคราม  แต่ก็มีความไม่ชัดเจนของขอบเขตอำนาจทั้งสอง กล่าวคือรัฐสภาอาจมีอำนาจจำกัดหรือถ่วงดุลประธานาธิบดีในการประกาศสงคราม แต่หากไม่มีความชัดเจนในท่าทีของรัฐสภา ประธานาธิบดีก็อาจมีอิสระในการตัดสินใจเรื่องนี้ แม้ว่าในรัฐธรรมนูญจะให้อำนาจแก่รัฐสภา แต่ในทางปฏิบัติแล้วอำนาจของประธานาธิบดีมีความสำคัญทั้งนี้เนื่องจากความจำเป็นสมัยใหม่ในการตอบโต้อย่างรวดเร็วต่อภัยจากต่างประเทศและลักษณะกระบวนการตัดสินใจของรัฐสภาเองที่ค่อนข้างล่าช้าเนื่องจากเป็นองค์กรกลุ่ม 

ศาลสูงสุดไม่ค่อยได้พิจารณาคดีเกี่ยวกับอำนาจประกาศสงครามมากนัก แต่ก็มีประเด็นกฎหมายที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำทางตำรวจในเกาหลี  หรือสงครามที่ไม่ได้มีการประกาศในเวียดนาม ซึ่งศาลสูงสุดไม่ได้มีโอกาสพิจารณาตัดสินคดี แม้ว่าจะมีโอกาสสามครั้งในช่วงสงครามเวียดนาม ในระหว่างสงครามกลางเมือง ศาลประกาศสองความเห็นที่สำคัญในการตีความอำนาจการประกาศสงคราม กล่าวคือใน คดี Prize Cases (1863) ศาลสูงสุดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เสียงรับรองคำสั่งของประธานาธิบดีลินคอล์นในการสั่งยึดท่าเรือทางตอนใต้ แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวได้ออกก่อนมีการประกาศสงครามกับกลุ่มกบฏที่ออกโดยรัฐสภา ศาลพิจารณาว่าการกระทำของประธานาธิบดีลินคอล์นที่ได้รับอำนาจจากกฎหมายในปี 1795 ที่อนุญาตประธานาธิบดีให้สามารถเรียกกองทัพมาปราบปรามพวกกบฏได้ เสียงข้างน้อยที่มีความเห็นแย้งอ้างว่าการกระทำของประธานาธิบดีไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะการห้ามดังกล่าวมีความแตกต่างค่อนข้างมากจากการกระทำที่สั่งการต่อผู้ที่เข้าร่วมในการต่อต้าน สามปีต่อมา ในคดี Ex Parte Milligan ศาลตีความว่าคำสั่งของประธานาธิบดีลินคอล์นได้อนุญาตให้พิจารณาดำเนินคดีต่อทนายความแลมบดิน มิลลิแกนโดยคณะกรรมการทหาร ศาลวินิจฉัยว่าพลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาลพลเรือนแม้จะอยู่ในช่วงสงคราม ตราบเท่าที่มีศาลพลเรือนเปิดทำการอยู่ ศาลพบว่าประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกในมลรัฐอินเดียน่า แม้ว่าประธานาธิบดีไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งให้มีการดำเนินคดีนายมิลลิแกนในศาลทหารเนื่องจากไม่มีการกระทำของรัฐสภารับรองไว้ อำนาจในการใช้คณะกรรมการทหารต้องได้รับอำนาจจากรัฐสภาในช่วงสงครามเท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1942 ในคดี Ex Parte Quirin ศาลสูงสุดพิจารณาประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งประธานาธิบดีรูสเวลท์ที่อนุญาตคณะตุลาการศาลทหารให้ดำเนินคดีอาญากับทหารนาซีเยอร์มันที่แอบเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อก่อการร้าย ทหารนาซีทั้งแปดคนถูกจับกุมและสารภาพว่าจะวางแผนระเบิดโรงงานอาวุธและค่ายทหารของสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดด้วยคะแนน 8 ต่อ 0 พิพากษายืนความชอบด้วยกฎหมายในการจับกุมทหารนาซีในชั้นกรรมการทหารโดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 ศาลเห็นว่าอำนาจในการพิจารณาดำเนินคดีโดยคณะตุลาการศาลทหารที่มีกฎหมายรับรองอำนาจไว้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นว่าคำสั่งประธานาธิบดีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ในการขาดการกระทำทางรัฐสภา

ในปี ค.ศ. 2006 ศาลสูงสุดตัดสินในคดี Hamdan v Rumsfield ประธานาธิบดีบุชใช้อำนาจเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่มีคำสั่งกักขังผู้ต้องสงสัยในเหตุการณ์ 9-11 ในกัวตานาโม ประเทศคิวบา ก่อนขึ้นศาลทหาร ศาลสูงสุดด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 3 เสียงปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของรัฐบาลว่าประธานาธิบดีมีอำนาจ ในตัวเองในการออกคำสั่งให้พิจารณาคดีหรือการดำเนินคดีได้รับอนุญาตโดยรัฐสภาที่ให้อำนาจในการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กองกำลังทหารในการจัดการกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในปี ค.ศ. 2001 ในคำพิพากษาการดำเนินคดีต้องปฏิบัติตามประมวลว่าด้วยความยุติธรรมทางทหารและอนุสัญญากรุงเจนีวา แต่ความเห็นแย้งอ้างว่ารัฐสภาได้ยกเลิกเขตอำนาจเหนือคดีตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงยกฟ้อง

อำนาจประกาศสงครามของรัฐสภา
ในคดี Hamilton v Kentucky Distilleries (1919) ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญของกฎหมายรัฐบาลกลางที่ออกภายใต้อำนาจประกาศทำสงครามของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา กฎหมายดังกล่าวห้ามจำหน่ายสุราหมัก รัฐสภากล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องรักษากำลังพลของประเทศและเพื่อประสิทธิผลในการผลิตอาวุธ กระสุน เรือ อาหาร และเสื้อผ้าสำหรับกองกำลังทหาร ศาลระบุว่าข้อจำกัดภายใต้ขอบอำนาจของรัฐสภาและกฎหมายดังกล่าวไม่ได้พิจารณาค่าชดเชยที่เป็นธรรม แม้ว่าหลังจากการยุติสงคราม ข้อจำกัดดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับอีก แต่ศาลก็ลังเลที่จะสรุปว่าอำนาจประกาศทำสงครามไม่มีอีกต่อไปตราบเท่าที่กองกำลังยังคงอยู่และมาตรการต่าง ๆยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ด้วย


ในปี ค.ศ. 2006 ศาลสูงสุดได้พิจารณาคำถามเกี่ยวกับกระบวนการกักขังผู้ต้องสงสัยในกัวตานาโมในคดี  Hamdan vs Rumsfield ซึ่งนายฮามแดนยอมรับว่ารัฐบาลมีอำนาจในการใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดี แต่โต้แย้งว่ากระบวนการของตุลาการศาลทหารไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าการดำเนินคดีโดยคณะตุลาการศาลทหารได้รับอำนาจจากรัฐสภาในกรณี (๑) ความผิดที่เกิดขอบเขตของสงคราม (๒) ระหว่างช่วงเวลาสงคราม  และ (๓) เป็นการกระทำความผิดในรูปแบบไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในที่สุดศาลสูงสุดตัดสินว่าการกระทำของนายฮามแดนไม่เข้าเงื่อนไขทั้งสามประการข้างต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น