ในสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้วินิจฉัยในเรื่องนี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1990 ในคดี Cruzan v. Director, Missouri Department of Health, 497 U.S. 261 (1990) โดยศาลสูงสุดพิจารณารับรองในการตัดสินใจจะตาย (Right to die) ตามคำพิพากษาศาลสูงสุดของมลรัฐมิซูรี่ โดยศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาเสียงส่วนใหญ่ (5 ต่อ 4 เสียง) ให้เหตุผลว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามมลรัฐมิซูรี่ในการกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องสามารถยืนยันหลักฐานที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ (Clear and convincing evidence) ของนางแนนซี่ ครูซานผู้ป่วยอาการโคม่าที่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์มีความต้องการยุติชีวิตของตนเอง ซึ่งในคดีดังกล่าวปรากฎหลักฐานชัดเจนว่ามีความยินยอมและเป็นความต้องการของครอบครัวเธอที่จะถอดสายอุปกรณ์ช่วยชีวิตของนางครูซาน ในคดีนี้ผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่ตัดสินว่าสิทธิที่จะตายเป็นเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเรื่องกระบวนการชอบด้วยกฎหมาย (Due Process Clause) โดยศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาสนับสนุนว่ากรณีนี้ปรากฎหลักฐานที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงว่าผู้ป่วยประสงค์ที่จะให้มีการถอดสายช่วยชีวิต ผลจากคำพิพากษาดังกล่าวได้วางหลักการว่าต้องปรากฎว่ามีหลักฐานของความประสงค์ของคนป่วยว่าประสงค์ที่ชัดเจนที่จะยุติการรักษาหรือต้องการให้ถอดสายอุกรณ์ช่วยชีวิต
ในเจ็ดปีต่อมาหลังจากคดี Cruzan v. Director, Missouri Department of Health
ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญประเด็นสิทธิที่จะตายอีกครั้งในสองคดีที่มีการโต้แย้งว่ากฎหมายอาญาที่จะลงโทษการฆ่าตัวตายที่แพทย์ให้ความช่วยเหลือโดยถือเป็นมีความผิดกฎหมายอาญา
ศาลชั้นต้นในมลรัฐวอชิงตันและมลรัฐนิวยอร์คตัดสินว่ากฎหมายอาญาดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ
ซึ่งในชั้นศาลอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาคเก้าได้ตัดสินบนพื้นฐานว่ากระบวนการชอบด้วยกฎหมายของสิทธิส่วนตัว
(Privacy right) สำหรับศาลอุทธรณ์ภาคสองตัดสินบนพื้นฐานของหลักกฎหมายการคุ้มครองที่เท่าเทียมกัน (equal protection) ต่อมาในชั้นศาลสูงสุดได้ตัดสินกลับคำวินิจฉัยของทั้งสองศาลอุทธรณ์และยืนยันว่ากฎหมายอาญาดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
แม้ว่าศาลสูงสุดจะเคยตัดสินในคดี Cruzan ว่าโดยยอมรับในสิทธิที่จะตายโดยการปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์
แต่ศาลสูงสุดกล่าวว่าไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญใดรองรับสิทธิที่จะช่วยฆ่าตัวตาย
ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 ในคดี Gonzales v. Oregon, 546 U.S. 243 (2006) ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาตัดสินคดีสิทธิที่จะตายอีกคดีหนึ่ง
แม้ว่าจะเป็นคดีกฎหมายปกครองก็ตาม ไม่ใช่ประเด็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ผู้พิพากษาเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3 เสียง)
ตัดสินว่าอัยการสูงสุดของสหรัฐอเมริกาใช้อำนาจเกินขอบเขตตามกฎหมายสารควบคุม (The Federal Controlled Substance Act)เมื่ออัยการดำเนินคดีต่อนายแพทย์ในมลรัฐรัฐโอเรกอนที่สั่งจ่ายยาอันตรายตามกฎหมายมลรัฐการตายอย่างมีศักดิ์ศรี
(Oregon Death with Digdity Act) คำพิพากษาดังกล่าววินิจฉัยว่ากฎหมายทางการแพทย์อยู่ในขอบเขตอำนาจของมลรัฐและสำนักงานอัยการของสหรัฐอเมริกาหรือรัฐบาลกลางไม่มีอำนาจแทรกแซงตามหลักกฎหมายสหพันธ์รัฐ
(Federalism Principle) และดังนั้น กฎหมายสารควบคุมไม่ได้ให้อำนาจแก่อัยการสูงสุดในการสั่งห้ามการใช้สารอันตรายในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้ตายซึ่งกฎหมายมลรัฐได้อนุญาต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินเลือกที่จะยุติชีวิตตนเองให้ตายอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยความช่วยเหลือจากแพทย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น