วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คดีเผาธงชาติ


 การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ "Symbolic expression" เป็นคำที่ใช้อธิบายการแสดงออกความคิดเห็นที่ผสมผสานองค์ประกอบเชิงพฤติกรรม ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ในการตีความในหลายคดีว่าการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ในหลายคดีเป็นคดีที่มีการวิจารณ์ค่อนข้างมาก ซึ่งคดีที่โดดเด่นคือคดี  Texas vs Johnson, 491 US 397 (1989) ศาลได้กลับคำวินิจฉัยในการพิพากษาความผิดทางอาญากับคนที่แสดงออกความไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลโดยการเผาธงชาติ คดีนี้จึงเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเผาสัญลักษณ์อย่างอื่นซึ่งศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาพฤติกรรมที่แสดงออกดังกล่าว เช่น ในคดี United States v. O'Brien, 391 US 367 (1968) ซึ่งเป็นกรณีที่นายพอล โอไบอันได้เผาใบฉลากเกณฑ์ทหาร จึงถูกฟ้องร้องโทษฐานเจตนาทำลายใบฉลากเกณฑ์ทหาร ศาลสูงสุดยืนยันว่านายโอไบอันมีความผิดตามกฎหมาย แต่ใช้เกณฑ์ใหม่เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประท้วง โดยศาลสูงสุดระบุว่ารับรองความชอบด้วยกฎหมายของกฎหมายที่กำกับดูแลพฤติกรรมที่แสดงออกอาจมีความผิด หากวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายไม่เกี่ยวข้องกับการกีดกันการแสดงออกความคิดเห็น กรณีดังกล่าวนี้กฎหมายกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมายไว้แคบอย่างชัดเจน และกฎหมายเปิดช่องทางเลือกอื่นให้แสดงออกได้ เกณฑ์นี้นิยมเรียกว่าเกณฑ์โอไบอัน แต่มีนักวิชาการวิจารณ์คำพิพากษานี้อย่างกว้างขวาง
ในปี ค.ศ. 1970 นายแดเนียล สแชทแต่งชุดทหารและแสดงละครล้อเลียนต่อต้านสงครามในสถานที่เกณฑ์ทหารในมลรัฐฮูสตัน ศาลเห็นว่านายแดเนียลไม่มีความผิดในการสวมชุดทหารเพราะเป็นการแสดงละครไม่ได้มีเจตนาลบหลู่ทหาร กฎหมายที่ใช้ดำเนินคดีนายแดเนียลไม่ได้แบ่งแยกความแตกต่างของเนื้อหาของการแสดงออกและขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ในหลายปีต่อมา นายฮาโรลด์ สเป็นส์ถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายการใช้ธงชาติอย่างไม่เหมาะสมด้วยการแขวนธงชาติที่มีเครื่องหมายสันติภาพติดบนหน้าต่างของห้องพัก ศาลสูงสุดตัดสินว่าข้ออ้างของมลรัฐที่ต้องการส่งเสริมให้มีการเคารพธงชาติหรือรักษาธงชาติไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชาติไม่เกี่ยวข้องกับการจำกัดการแสดงออก จึงวินิจฉัยให้นายแดเนียลไม่ต้องรับผิด
ท้ายที่สุด ในคดี   Texas vs Johnson ศาลสูงสุดได้กลับคำพิพากษาที่ลงโทษการเผาธงชาติ ซึ่งในขณะนั้นมลรัฐ 48 มลรัฐได้มีกฎหมายห้ามลบลู่ธงชาติ ศาลสรุปว่าการเผาธงชาติเป็นคำพูดประเภทหนึ่งซึ่งได้รับความคุ้มครองและพิจารณาต่อไปว่าการลบหลู่ธงชาติของนายจอห์นสันมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารข้อความทางการเมือง และศาลให้ความเห็นต่อไปว่ากฎหมายที่เป็นกลางในการกำกับดูแลเนื้อหา เช่น กฎหมายที่ใช้บังคับกับการเผาธงชาติที่เป็นการทั่วไปอาจชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อมาในปี ค.ศ. 1989 รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายคุ้มครองธงชาติเนื่องจากรัฐสภาไม่พึงพอใจแนวทางคำพิพากษาของศาลสูงสุดในคดีจอห์นสัน ศาลสูงสุดในคดี United States v. Eichman, 496 US 310 (1990) ยังคงตัดสินเข้าข้างผู้ประท้วงที่จุดไฟเผาธงชาติหน้ารัฐสภาซึ่งศาลวินิจฉัยว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นความพยายามในการจำกัดคำพูดหรือการแสดงออกที่ไม่พึงพอใจของรัฐบาล คำพิพากษาดังกล่าวนำไปสู่ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะลงโทษพฤติกรรมหรือการกระทำที่เผาหรือลบหลู่ธงชาติ แต่ก็ไม่สำเร็จ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น