ที่ผ่านมาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้วางหลักการในการกำกับดูแลคำพูดเชิงพาณิชย์ (commercial speech) โดยเฉพาะการโฆษณาบนสื่อต่าง ๆ ซึ่งศาลอนุญาตให้รัฐบาลกำกับดูแลคำพูดเชิงพาณิชย์ได้เข้มงวดกว่าคำพูดทั่วไป
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือคำพูดเชิงพาณิชย์ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญน้อยกว่าคำพูดหรือการแสดงความเห็นทั่วไป โดยศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาให้เหตุผลว่าอำนาจของรัฐบาลในการกำกับดูแลกิจกรรมเชิงพาณิชย์ตามรัฐธรรมนูญค่อนข้างกว้างซึ่งรวมถึงอำนาจในการกำกับดูแลคำพูดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพาณิชย์ด้วย
นัยตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมามีข้อพิพาทหลายคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา โดยศาลสูงสุดได้วินิจฉัยกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าหรือบริการหลายฉบับซึ่งมีการฟ้องร้องว่ากีดกันการแสดงออกความเห็น เช่น ในคดี Virginia State Board of Pharmacy (1976) ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ห้ามการโฆษณายาที่ต้องมีใบสั่งของแพทย์ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ศาลสูงสุดให้ความเห็นว่าการโฆษณาหรือนำเสนอข้อมูลด้านราคามีความสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนผู้ซื้อยาค่อนข้างมาก และให้เหตุผลว่าบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่
1 คุ้มครองสิทธิในการได้รับข้อมูล (right to receive
information) และสิทธิในการพูด (right to speak) ของประชาชนด้วย อันเป็นผลประโยชน์ของเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออก ดังนั้น มลรัฐมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิดังกล่าว
ต่อมาในคดี City
of Cincinnati v Discovery Network เกี่ยวข้องกับกฎของรัฐบาลท้องถิ่นที่ห้ามวางตู้ขายหนังสือพิมพ์สำหรับแจกจ่ายสิ่งพิมพ์ที่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์เป็นหลักในเขตพื้นที่สาธารณะ
เช่น ในปลิวโฆษณาจำหน่ายสินค้าหรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
โดยวัตถุประสงค์หลักของการห้ามดังกล่าวเพื่อความสวยงามของเมือง ศาลสูงสุดสหรับอเมริกาด้วยคะแนนเสียง
6 ต่อ 3 เสียงตัดสินว่ากฎดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
โดยให้เหตุผลว่าตู้แจกจ่ายหนังสือพิมพ์บรรจุสิ่งพิมพ์เชิงพาณิชย์ไม่ได้มีความน่าเกลียดมากไปกว่าตู้หนังสือพิมพ์ทั่วไป ดังนั้น กฎดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิในการแสดงออกโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยอิงการกำกับดูแลเนื้อหาเป็นหลัก ในกรณีนี้ ศาลสูงสุดใช้เกณฑ์พิจารณาที่เข้มงวด
หลังจากนั้นอีกสี่ปีถัดมาในคดี Central Hudson Gas & Electric v Public Service Commission ศาลสูงสุดวางเกณฑ์ในการประเมินการกำกับดูแลคำพูดเชิงพาณิชย์ซึ่งใช้กันในหลายคดีในเวลาต่อมา
ในเกณฑ์ในคดี Central Hudson ตระหนักถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกำกับดูแลที่จำกัดการโฆษณาสินค้าและบริการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลอกลวงผู้บริโภค
เกณฑ์ดังกล่าวกำหนดว่ารัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าการกำกับดูแลในลักษณะดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อผลประโยชน์หลักและไม่ได้จำกัดสิทธิในคำพูดมากเกินความจำเป็น
ในคดี 44 Liquormart v
Rhode Island (1996) ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่ากฎหมายของมลรัฐที่ห้ามการโฆษณาราคาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสำคัญในหลายแง่มุม
ประการแรกศาลปฏิเสธข้อเสนอแนะในหลายคดีในอดีตว่ามลรัฐมีสิทธิในการจำกัดการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งไม่ดีงามมากกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ศาลสูงสุดระบุว่าอำนาจในการห้ามสินค้าโดยสิ้นเชิงไม่ได้ใช้อำนาจที่ลดน้อยลงในการจำกัดการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับสินค้า
ประการสุดท้ายผู้พิพากษาหลายคนเห็นว่าเกณฑ์ในการจำกัดคำพูดเชิงพาริชย์ที่ไม่ได้หลอกลวงหรือทำให้เข้าใจผิดควรถูกตรวจสอบด้วยความเข้มงวดระดับปานกลาง
ในปี ค.ศ. 2001
ศาลสูงสุดหลีกเลี่ยงการตอบคำถามในประเด็นว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมในการกำกับดุแลคำพูดเชิงพาณิชย์ในคดี United
States v United Foods และ Lorillard Tobacco
Co. v Reilly ศาลตัดสินในคดดี United Foods ว่ากฎหมายที่กำหนดให้ ผู้ที่เพาะปลูกเห็ดต้องสนับสนุนทางการเงินแก่การโฆษณาเห็ดในภาพรวมว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวทำให้เป็นคำพูดที่ไม่เต็มใจถูกบีบบังคับ
(compelled speech) และในคดี Lorillard ศาลสูงสุดตัดสินว่ากฎหลายฉบับของมลรัฐแมสซาชูเซตส์ที่จำกัดการโฆษณาสินค้าบุหรี่และยาสูบไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยยืนยันใช้เกณฑ์ในลักษณะเดียวกัน
อนึ่ง เกณฑ์ Central
Hudson มีหลักการดังนี้
การกำกับดูแลที่มีผลต่อคำพูดเชิงพาณิชย์ไม่ละเมิดบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่
1ในกรณีดังต่อไปนี้ (๑)
คำพูดที่ถูกกำกับดูแลเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย (๒)
คำพูดทำให้เข้าใจผิดหรือหลอกลวง (๓) ผลประโยชน์ของรับบาลในการจำกัดคำพูดมีสาระสำคัญมากกว่า
การกำกับดูแลดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อผลประโยชน์ของรัฐบาล และ (๔)
การกำกับดูแลมีความเหมาะสมในการทำให้บรรลุผลประโยชน์ของรัฐบาลเท่าที่จำเป็น
(โดยแคบ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น