วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

การใช้สิทธิในลิขสิทธิ์โดยมิชอบในสหรัฐอเมริกา

หลักการใช้สิทธิโดยมิชอบในกฎหมายลิขสิทธิ์คล้ายคลึงกับหลักการใช้สิทธิโดยมิชอบของกฎหมายสิทธิบัตร การใช้สิทธิโดยมิชอบตามกฎหมายสิทธิบัตรเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของสิทธิบัตรกำหนดเงื่อนไขการใช้สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรกับการซื้อสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิบัตรที่จัดจำหน่ายโดยเจ้าของสิทธิบัตร ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวพยายามขยายขอบเขตของสิทธิบัตรโดยไม่ถูกต้อง และดังนั้น เจ้าของสิทธิบัตรที่นำคดีไปสู่ศาลถือว่ามาศาลด้วยมือที่ไม่สะอาดและศาลจะปฏิเสธการบังคับใช้สิทธิบัตรจนกว่าการใช้สิทธิโดยมิชอบจะสิ้นสุดลง และผลดังกล่าวไม่ได้มีอยู่อีกต่อไป การใช้สิทธิโดยมิชอบไม่จำเป็นต้องโต้แย้งต่อผู้กระทำละเมิด การใช้สิทธิโดยมิชอบสามารถใช้โต้แย้งกับการฟ้องละเมิดสิทธิบัตร ก่อนปี ค.ศ. 1990 เกิดหลายคดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยมิชอบตามกฎหมายสิทธิบัตร แต่ไม่มีเกิดขึ้นในกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ในปี ค.ศ. 1990 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดี Lasercomb America v. Reynolds. (911 F.2d 970, 15 USPQ2d 1846 (4th Cir. 1990))ได้ยอมรับหลักการใช้สิทธิโดยมิชอบเช่นเดียวกับกฎหมายสิทธิบัตร กล่าวคือบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ได้ผลิตโปรแกรมช่วยออกแบบคอมพิวเตอร์ซึ่งนายเรย์โนลด์และบริษัทของเขาได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ นายเรย์โนลด์ได้ใช้สิทธิเกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ เพราะนายเรย์โนลด์ได้ค้นพบวิธีการหลีกเลี่ยงระบบจำกัดสิทธิจำนวนการใช้งาน บริษัทเลเซอร์คลอมบ์ได้ฟ้องดำเนินคดีนายเรย์โนลด์ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ นายเรย์โนลด์อ้างว่าแม้จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์จริง แต่ไม่ควรต้องมีความรับผิดเพราะบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ใช้สิทธิตามกฎหมายลิสิทธิ์โดยมิชอบในข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งศาลเห็นด้วยกับข้อต่อสู้ดังกล่าว ในข้อตกลงดังกล่าว ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิต้องตกลงที่จะไม่พัฒนาโปรแกรมช่วยการออกแบบคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลา 99 ปี ซึ่งเกินระยะเวลาการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายซึ่งมีระยะเวลาเพียง 75 ปี ศาลตีความว่าบริษัทเลเซอร์คลอมบ์พยายามขยายเงื่อนไขและขอบเขตของงานลิขสิทธิ์เกินที่กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดไว้ และเป็นการป้องกันบุคคลอื่นมิให้พัฒนาโปรแกรม ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบของบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ ศาลจึงปกิเสธการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์กับนายเรย์โนลด์ ประเด็นที่น่าสนใจคือนายเรย์โนลด์และบริษัทไม่เคยลงนามในข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิกับบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ แต่ก็อาจไม่มีความแตกต่างเพราะบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ใช้สิทธิโดยมิชอบในการกำหนดให้บุคคลอื่นลงนามในข้อตกลงและศาลระบุว่าไม่สามารถฟ้องร้องการละเมิดสิทธิได้จนกระทั่งจัยกเลิกการใช้สิทธิโดยมิชอบ
ข้อต่อสู้การใช้สิทธิในลิขสิทธิ์โดยมิชอบคล้ายกับกรณีการต่อสู้ในประเด็นการป้องกันการผูกขาดที่เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ใช้สิทธิผูกขาดตามกฎหมายลิขสิทธิ์โดยไม่ชอบ แต่ในคดี Lasercomb ศาลวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ประเด็นการใช้สิทธิโดยมิชอบจะใช้ได้เมื่อการใช้สิทธิโดยมิชอบไม่ได้ถึงระดับของการละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด ในเรื่องการใช้สิทธิในลิขสิทธิ์โดยมิชอบนั้นเป็นกรณีที่มีการหลอกลวงสำนักงานลิขสิทธิ์ กล่าวคือบุคคลที่จดทะเบียนลิขสิทธิ์แจ้งข้อมูลเท็จหรือปกปิดข้อมูลที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในงานที่ทำในขอบเขตการที่จ้างแรงงาน ซึ่งตามกฎหมายแล้วเจ้าของลิขสิทธิ์คือนายจ้าง แต่กรณีนี้ลูกจ้างมาอ้างความเป็นเจ้าของ ซึ่งหากลูกจ้างที่จดทะเบียนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ดำเนินการฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องร้องอาจยกข้อโต้แย้งในเรื่องดังกล่าวได้ ซึ่งศาลจะไม่บังคับใช้กฎหมายในกรณีดังกล่าว คดี Lasercomb ได้รับการยอมรับและอ้างในหลายคดี แต่ก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายการใช้สิทธิโดยมิชอบ
ในคดี Atari v. Nintendo (975 F.2d 832, 24 USPQ2d 1015 (Fed. Cir. 1992)) ศาลอุทธรณ์ใช้ข้อโต้แย้งการใช้สิทธิโดยมิชอบในการไม่การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ แต่จะปฏิเสธข้อต่อสู้การใช้โดยชอบธรรม (fair use) แม้ว่ามีการใช้ที่มีลักษณะเป็นการใช้โดยชอบธรรม แต่เพราะจำเลยได้หลอกลวงสำนักงานลิขสิทธิ์เพื่อให้ได้สำเนาโค้ดต้นแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) และนำคดีสู่ศาลด้วยมือที่ไม่สะอาด จำเลยไม่สามารถใช้ข้อต่อสู้การใช้ที่ชอบธรรมได้ในกรณีนี้ ในขณะที่ข้อต่อสู้ประเด็นการใช้สิทธิโดยมิชอบมักรู้จักว่าเป็นสถานการณ์ที่บุคคลพยายามใช้สิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์เกินขอบเขตการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การลงโทษกรณีของการใช้สิทธิโดยมิชอบคือการไม่บังคับใช้สิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการสูญเสียสิทธิตามกฎหมาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น