วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

การใช้สิทธิโดยมิชอบในกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา


ตามกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive rights) ในการกีดกันบุคคลอื่นจากการทำ ใช้ หรือขายสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของสิทธิบัตรอาจเลือกที่จะใช้ประโยชน์สิทธิตามสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวโดยอาจเลือกที่จะไม่ยอมอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการประดิษฐ์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม สิทธิผูกขาดในสิ่งประดิษฐ์ของเจ้าของสิทธิบัตรไม่ได้มีได้ไม่จำกัด ในบางสถานการณ์ บุคคลที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีละเมิดสิทธิบัตรอาจยกข้อโต้แย้งว่าเจ้าของสิทธิบัตรใช้สิทธิโดยมิชอบก็ได้ (patent misuse) หากศาลรับฟังและเห็oด้วยกับข้อต่อสู้ดังกล่าว จำเลยผู้กระทำละเมิดจะไม่ต้องรับผิดในการละเมิดสิทธิบัตร แม้ว่าจะมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นจริงก็ตาม ทั้งนี้ รากฐานแนวคิดของการใช้สิทธิโดยมิชอบในกฎหมายสิทธิบัตรมาจากการตีความของศาลคอมมอนลอว์ซึ่งอิงหลักความเป็นธรรม (Equitable Concept) ที่คำนึงถึงความเป็นธรรมตามสถานการณ์ กล่าวคือ มาตรฐานของหลักความเป็นธรรมที่ใช้ในศาลคอมมอนลอว์คือ โจทก์ไม่สามารถมาศาลด้วยมือที่ไม่สะอาด (unclean hands) ซึ่งจะห้ามโจทก์มิให้ดำเนินคดี แม้ว่าเนื้อหาแห่งคดีจะถูกต้องชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ซึ่งแนวคิดการตีความดังกล่าวนี้ถือว่าค่อนข้างกว้าง โดยทั่วไป การใช้สิทธิโดยมิชอบเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของสิทธิบัตรมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดและการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเกินขอบเขตที่ได้รับ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือตราบใดที่เจ้าของสิทธิบัตรใช้สิทธิภายใต้ขอบเขตของสิทธิบัตรโดยชอบก็จะได้รับการคุ้มครองจากความรับผิดจากกฎหมายป้องกันการผูกขาด อย่างไรก็ตาม หลายกรณีที่พฤติกรรมของเจ้าของสิทธิบัตรเกินขอบเขตการคุ้มครองของสิทธิบัตรและอาจถูกโต้แย้งตามกฎหมายป้องกันการผูกขาด ตัวอย่างเช่น หากบุคคลที่ริเริ่มการฟ้องร้องดำเนินคดีพยายามที่จะบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรซึ่งรู้โดยเจ้าของสิทธิบัตรว่าไม่ชอบ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการขยายการผูกขาดตามมาตรา 2 ของกฎหมายป้องกันการผูกขาด บุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิโดยชอบ เช่น การยื่นขอรับสิทธิบัตรเกินระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์ได้วางขายทั่วไปแล้ว หากเจ้าของสิทธิบัตรทราบเงื่อนไขดังกล่าว แต่ยังคงยื่นขอรับสิทธิบัตร ซึ่งถือว่าเป็นการฉ้อฉลต่อสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (US Patent and Trademark Office) ในทางกฎหมายสิทธิบัตรถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบ (inequitable conduct) เพราะการได้รับสิทธิบัตรด้วยการฉ้อฉลดังกล่าวและดำเนินการฟ้องร้องเพื่อบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตริถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาด เพราะต้องถือว่าไม่มีสิทธิในสิทธิบัตรอันจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายป้องกันการผูกขาด ดังนั้น จำเลยที่ถูกกล่าวหาอาจโต้แย้งโดยหยิบยกกฎหมายป้องกันการผูกขาดและต่อสู้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ

ตัวอย่างในคดีเครื่องสูบน้ำมัน บริษัทหนึ่งได้ซื้อสิทธิบัตร 72 ฉบับในสาขาเครื่องสูบน้ำมัน ศาลตัดสินว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคลใดที่จะผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันสูงโดยไม่มีการละเมิดสิทธิบัตรใดสิทธิบัตรหนึ่ง แม้ว่าการซื้อสิทธิบัตรและการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม แต่หากพิจารณาจากเจตนาของบริษัทและวัตถุประสงค์ของจำนวนสิทธิบัตรที่ซื้อ ศาลพิจารณาเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดและถือเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ โดยใช้กฎหมายสิทธิบัตรในการกีดกันทางการค้า

การฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรเป็นความพยายามที่จะควบคุมราคาขายต่อของสินค้าที่ได้รับสิทธิบัตรและการใช้สิทธิบัตรในสินค้าหนึ่งแล้วบังคับขายอีกสินค้าหนึ่ง (พ่วงขาย) หรือขายอีกสิทธิบัตรหนึ่งที่ผู้ซื้อไม่ประสงค์จะซื้อ (tie in agreement) การฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดบางครั้งอาจไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิโดยมิชอบก็ได้ เมื่อบุคคลใดที่มีความพยายามอย่างไม่เหมาะสมในการขยายขอบเขตของสิทธิบัตรทั้งทางกายภาพและชั่วคราว ซึ่งเงื่อนไขของกฎหมายป้องกันการผูกขาดไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ (per se) หากพบพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การบังคับให้บุคคลหนึ่งตกลงในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่เรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิในสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรหรือจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิเกินกว่าระยะเวลาที่สิทธิบัตรได้รับความคุ้มครองก็อาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบประเภทหนึ่ง หรือในลักษณะคล้ายกัน การพยายามบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรที่ได้รับมาโดยพฤติกรรมที่มิชอบอาจถือเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ แต่อาจไม่ฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดก็ได้

สำหรับเส้นแบ่งระหว่างพฤติกรรมการยื่นขอรับสิทธิบัตรที่ชอบด้วยกฎหมายกับการฝ่าฝืนกฎหมายสิทธิบัตรและการใช้สิทธิโดยมิชอบตามกฎหมายสิทธิบัตรนั้นมีความแตกต่างกันซึ่งเกิดจากการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และคำพิพากษาของศาล ในปี ค.ศ. 1988 กฎหมายปฏิรูปสิทธิบัตร ได้สร้างความชัดเจนและเพิ่มสิทธิแก่เจ้าของสิทธิบัตร กล่าวคือเป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าของสิทธิบัตรจะไม่ต้องรับผิดในการใช้สิทธิโดยมิชอบหรือการใช้สิทธิเกินขอบเขตสิทธิบัตรที่ได้รับ รวมทั้งเจ้าของสิทธิบัตรไม่ต้องรับผิดในกรณีปฏิเสธการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในสิทธิบัตรด้วย การกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้สิทธิและการขายสินค้าที่ได้รับสิทธิบัตรในลักษณะพ่วงขายกับสินค้าอื่นไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ หากเจ้าของสิทธิบัตรไม่มีอำนาจเหนือตลาดในสินค้าที่ได้รับสิทธิบัตรและสินค้าที่พ่วงขายดังกล่าว ดังนั้น ในบางสถานการณ์จะไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบหากไม่ใช่การฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาด ในบางกรณี เจ้าของสิทธิบัตรอาจจัดการกับข้อต่อสู้การใช้สิทธิโดยมิชอบได้ ซึ่งจะทำให้สามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น หากมีเงื่อนไขในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ก่อให้เกิดการใช้สิทธิโดยมิชอบ หากมีการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวเจ้าของสิทธิบัตรก็สามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ แต่เจ้าของสิทธิบัตรอาจไม่มีสิทธิในการร้องขอบรรเทาทุกข์ต่อศาลสำหรับพฤติกรรมก่อนหน้าที่มีการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวได้

   


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น