วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

การออกแบบที่บกพร่องในกฎหมายความรับผิดในสินค้า

 
ในกฎหมายความรับผิดในสินค้านั้น การออกแบบที่บกพร่อง (design defect) ถือเป็นปัญหาหรือเงื่อนไขของสินค้าที่ทำให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายต่อบุคคลที่ใช้สินค้าดังกล่าว กล่าวคือข้อบกพร่องที่เกิดจากการออกแบบสินค้าทำให้สินค้ามีอันตรายในตัวเองหรือใช้งานไม่ได้ แม้ว่าการผลิตสินค้าจะสมบูรณ์และใช้วัตถุดิบชั้นดีในการผลิตสินค้าดังกล่าว ตัวอย่างเช่น เลื่อยไฟฟ้าที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันในการใช้งาน  ซึ่งอาจทำให้มือของผู้ใช้ได้รับบาดเจ็บจากคมเลื่อย ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจถือว่าเป็นการออกแบบสินค้าที่บกพร่อง แม้ว่าตัวสินค้าคือเลื่อยไฟฟ้าดังกล่าวอาจประกอบอย่างไม่มีที่ติและใช้วัตถุดิบที่ดีแล้วก็ตาม บุคคลที่ใช้งานเลื่อยไฟฟ้าดังกล่าวมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับบาดเจ็บจากการใช้งานเลื่อยไฟฟ้า โดยเฉพาะเมื่อใช้งานอย่างรีบเร่งอาจทำให้พลาดหรือเสี่ยงได้รับบาดเจ็บได้

ความแตกต่างระหว่างการออกแบบที่บกพร่อง (design defect) กับสินค้าที่ผลิตบกพร่อง (defected product) คือการผลิตสินค้าที่บกพร่องเป็นความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องอันเกิดจากกระบวนการผลิตหรือประกอบสินค้าที่อาจทำให้เกิดความปลอดภัยได้เมื่อได้ผลิตตามแบบของสินค้าที่กำหนดไว้ ในขณะที่การออกแบบที่บกพร่องสาเหตุหลักคือตัวการออกแบบเองทำให้สินค้ามีความไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องทั้งสองประเภทจะได้รับการพิจารณาตามหลักความรับผิดอย่างเคร่งครัด (strict liability) ซึ่งกำหนดให้ผู้ออกแบบต้องรับผิดชอบสำหรับการออกแบบที่บกพร่องไม่ว่าผู้ออกแบบจะใช้ความระมัดระวังมากแค่ไหนในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ ศาลในระดับมลรัฐของสหรัฐอเมริกามีแนวทางการพิจารณาเรื่องการออกแบบที่นกพร่องแตกต่างกันในแต่ละมลรัฐ แต่พอจะสรุปได้สองแนวทางดังนี้

(๑) การออกแบบที่บกพร่องเกิดขึ้น หากสินค้ามีลักษณะที่อันตรายอย่างไม่สมเหตุสมผลที่เกิดจากการออกแบบ หรือ
(๒) การออกแบบที่บกพร่องเกิดขึ้น หากสินค้าไม่ปลอดภัยสำหรับการใช้งานตามวัตถุประสงค์และสามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม คดีความรับผิดในสินค้าหลานคดีตัดสินใจลักษณะที่ให้ผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันไม่ว่าจะใช้แนวทางใดดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าครอบครัวหนึ่งซื้อรถบรรทุกใหม่ แต่เนื่องจากรถบรรทุกดังกล่าวมีการออกแบบที่ผิดพลาด เบาะที่นั่งด้านหลังของรถบรรทุกเกิดไฟไหม้เมื่อรถบรรทุกวิ่งเกินความเร็ว ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง กรณีดังกล่าวพอจะถือได้ว่ารถบรรทุกที่มีเบาะที่นั่งติดไฟได้เมื่อรถวิ่งเกินความเร็วในระดับหนึ่งถือเป็นอันตรายที่ไม่สมเหตุสมผล ศาลจะใช้มาตรฐานดังกล่าวที่มีแนวโน้มว่ารถบรรทุกมีการออกแบบที่บกพร่อง  ในทำนองเดียวกัน คนส่วนใหญ่อาจขับรถยนต์เกินความเร็ว ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงและอาจมีผู้โดยสารนั่งที่เยาะด้านหลัง จึงถือว่าสามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่าอาจมีบางคนได้รับอันตรายหากรถยนต์เกิดไฟไหม้ได้ในเบาะที่นั่งด้านหลังเมื่อรถยนต์วิ่งเกินความเร็ว ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือหากที่นั่งด้านหลังเกิดไฟไหม้ในขณะที่มีคนนั่งอยู่ในเบาะหลัง อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคดีของการออกแบบสินค้าบกพร่องจะให้ผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันเสมอไป เมื่อใช้การวิเคราะห์ตามสองแนวทางดังกล่าว ตัวอย่างเช่น รถยนต์อาจเกิดไฟไหม้ด้านหลังเมื่อเกิดการชนท้ายไม่ว่ารถยนต์จะวิ่งด้วยความเร็วเท่าไรก็ตาม ศาลที่ใช้เกณฑ์อันตรายที่สมเหตุสมผลอาจตัดสินว่ารถยนต์มีวัตถุประสงค์เพื่อการขับขี่และบรรทุกคน ไม่ได้มีไว้ชน และดังนั้น รถยนต์จะไม่ถือว่าอันตรายอย่างสมเหตุสมผลสำหรับวัตถุประสงค์หลักของการใช้งาน แต่หากศาลใช้เกณฑ์การใช้งานที่ตามวัตถุประสงค์และสามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล (intended and reasonably foreseeable use standard) อาจตัดสินว่ากรณีดังกล่าวเป็นที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่าคนขับรถยนต์อาจถูกชนจากด้านหลังในขณะที่รถยนต์ใช้ตามวัตถุประสงค์และดังนั้น ผู้ออกแบบมีความรับผิดในการไม่นำปัญหาการเกิดไฟไหม้มาพิจารณาเมื่อออกแบบรถยนต์ดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าวิธีการใดที่ศาลใช้จะต้องพิจารณาว่าไม่ใช่สินค้าที่อันตรายทุกประเภทจะเป็นสินค้าที่บกพร่อง คล้ายกับกรณีของเลื่อยไฟฟ้า บางกรณีจะกำหนดบางอันตรายไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร เลื่อยไฟฟ้าเป็นตัวอย่างหนึ่งของสิน้าที่มีความอันตรายในตัวเอง ซึ่งเพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เพราะหากเลื่อยไฟฟ้าที่มีใบเลื่อยที่ทำจากยางก็อาจจะไม่สามารถตัดวัตถุที่แข็งได้ ซึ่งอาจไม่มีประโยชน์ในการตัดไม้ ดังนั้น ศาลมักพิจารณาว่ามีการออกแบบที่ปลอดภัยกว่าเป็นทางเลือกหนึ่งหรือไม่ซึ่งทางเลือกดังกล่าวต้องไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของการใช้งานของสินค้าเสียไป นอกจากนี้ ศาลอาจพิจารณาว่ามีการเตือนเรื่องการใช้งานสินค้าไว้หรือไม่ และหากมีการเตือน ข้อความที่เตือนมีการอธิบายวิธีการใช้งานสินค้าไว้ชัดเจนดีหรือไม่ บางศาลอาจพิจารณาต่อไปว่ามีการรับประกันที่ครอบคลุมสมรรถนะของสินค้าไว้หรือไม่ สำหรับกฎหมายความรับผิดในสินค้าของไทยยังไม่มีการวางหลักการที่ชัดเจน จึงต้องดูต่อไปว่าจะยึดถือเกณฑ์แบบใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น