วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

การใช้สิทธิในลิขสิทธิ์โดยมิชอบในสหรัฐอเมริกา

หลักการใช้สิทธิโดยมิชอบในกฎหมายลิขสิทธิ์คล้ายคลึงกับหลักการใช้สิทธิโดยมิชอบของกฎหมายสิทธิบัตร การใช้สิทธิโดยมิชอบตามกฎหมายสิทธิบัตรเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของสิทธิบัตรกำหนดเงื่อนไขการใช้สิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรกับการซื้อสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิบัตรที่จัดจำหน่ายโดยเจ้าของสิทธิบัตร ศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวพยายามขยายขอบเขตของสิทธิบัตรโดยไม่ถูกต้อง และดังนั้น เจ้าของสิทธิบัตรที่นำคดีไปสู่ศาลถือว่ามาศาลด้วยมือที่ไม่สะอาดและศาลจะปฏิเสธการบังคับใช้สิทธิบัตรจนกว่าการใช้สิทธิโดยมิชอบจะสิ้นสุดลง และผลดังกล่าวไม่ได้มีอยู่อีกต่อไป การใช้สิทธิโดยมิชอบไม่จำเป็นต้องโต้แย้งต่อผู้กระทำละเมิด การใช้สิทธิโดยมิชอบสามารถใช้โต้แย้งกับการฟ้องละเมิดสิทธิบัตร ก่อนปี ค.ศ. 1990 เกิดหลายคดีเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยมิชอบตามกฎหมายสิทธิบัตร แต่ไม่มีเกิดขึ้นในกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ในปี ค.ศ. 1990 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดี Lasercomb America v. Reynolds. (911 F.2d 970, 15 USPQ2d 1846 (4th Cir. 1990))ได้ยอมรับหลักการใช้สิทธิโดยมิชอบเช่นเดียวกับกฎหมายสิทธิบัตร กล่าวคือบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ได้ผลิตโปรแกรมช่วยออกแบบคอมพิวเตอร์ซึ่งนายเรย์โนลด์และบริษัทของเขาได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิ นายเรย์โนลด์ได้ใช้สิทธิเกินขอบเขตที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ เพราะนายเรย์โนลด์ได้ค้นพบวิธีการหลีกเลี่ยงระบบจำกัดสิทธิจำนวนการใช้งาน บริษัทเลเซอร์คลอมบ์ได้ฟ้องดำเนินคดีนายเรย์โนลด์ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ นายเรย์โนลด์อ้างว่าแม้จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์จริง แต่ไม่ควรต้องมีความรับผิดเพราะบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ใช้สิทธิตามกฎหมายลิสิทธิ์โดยมิชอบในข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว ซึ่งศาลเห็นด้วยกับข้อต่อสู้ดังกล่าว ในข้อตกลงดังกล่าว ผู้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิต้องตกลงที่จะไม่พัฒนาโปรแกรมช่วยการออกแบบคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลา 99 ปี ซึ่งเกินระยะเวลาการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายซึ่งมีระยะเวลาเพียง 75 ปี ศาลตีความว่าบริษัทเลเซอร์คลอมบ์พยายามขยายเงื่อนไขและขอบเขตของงานลิขสิทธิ์เกินที่กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดไว้ และเป็นการป้องกันบุคคลอื่นมิให้พัฒนาโปรแกรม ซึ่งถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบของบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ ศาลจึงปกิเสธการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์กับนายเรย์โนลด์ ประเด็นที่น่าสนใจคือนายเรย์โนลด์และบริษัทไม่เคยลงนามในข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิกับบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ แต่ก็อาจไม่มีความแตกต่างเพราะบริษัทเลเซอร์คลอมบ์ใช้สิทธิโดยมิชอบในการกำหนดให้บุคคลอื่นลงนามในข้อตกลงและศาลระบุว่าไม่สามารถฟ้องร้องการละเมิดสิทธิได้จนกระทั่งจัยกเลิกการใช้สิทธิโดยมิชอบ
ข้อต่อสู้การใช้สิทธิในลิขสิทธิ์โดยมิชอบคล้ายกับกรณีการต่อสู้ในประเด็นการป้องกันการผูกขาดที่เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ใช้สิทธิผูกขาดตามกฎหมายลิขสิทธิ์โดยไม่ชอบ แต่ในคดี Lasercomb ศาลวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ประเด็นการใช้สิทธิโดยมิชอบจะใช้ได้เมื่อการใช้สิทธิโดยมิชอบไม่ได้ถึงระดับของการละเมิดกฎหมายป้องกันการผูกขาด ในเรื่องการใช้สิทธิในลิขสิทธิ์โดยมิชอบนั้นเป็นกรณีที่มีการหลอกลวงสำนักงานลิขสิทธิ์ กล่าวคือบุคคลที่จดทะเบียนลิขสิทธิ์แจ้งข้อมูลเท็จหรือปกปิดข้อมูลที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างขอจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในงานที่ทำในขอบเขตการที่จ้างแรงงาน ซึ่งตามกฎหมายแล้วเจ้าของลิขสิทธิ์คือนายจ้าง แต่กรณีนี้ลูกจ้างมาอ้างความเป็นเจ้าของ ซึ่งหากลูกจ้างที่จดทะเบียนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ดำเนินการฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องร้องอาจยกข้อโต้แย้งในเรื่องดังกล่าวได้ ซึ่งศาลจะไม่บังคับใช้กฎหมายในกรณีดังกล่าว คดี Lasercomb ได้รับการยอมรับและอ้างในหลายคดี แต่ก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายการใช้สิทธิโดยมิชอบ
ในคดี Atari v. Nintendo (975 F.2d 832, 24 USPQ2d 1015 (Fed. Cir. 1992)) ศาลอุทธรณ์ใช้ข้อโต้แย้งการใช้สิทธิโดยมิชอบในการไม่การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ แต่จะปฏิเสธข้อต่อสู้การใช้โดยชอบธรรม (fair use) แม้ว่ามีการใช้ที่มีลักษณะเป็นการใช้โดยชอบธรรม แต่เพราะจำเลยได้หลอกลวงสำนักงานลิขสิทธิ์เพื่อให้ได้สำเนาโค้ดต้นแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) และนำคดีสู่ศาลด้วยมือที่ไม่สะอาด จำเลยไม่สามารถใช้ข้อต่อสู้การใช้ที่ชอบธรรมได้ในกรณีนี้ ในขณะที่ข้อต่อสู้ประเด็นการใช้สิทธิโดยมิชอบมักรู้จักว่าเป็นสถานการณ์ที่บุคคลพยายามใช้สิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์เกินขอบเขตการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การลงโทษกรณีของการใช้สิทธิโดยมิชอบคือการไม่บังคับใช้สิทธิตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการสูญเสียสิทธิตามกฎหมาย


ทฤษฎีกฎหมายความรับผิดในสินค้าที่บกพร่องในสหรัฐอเมริกา

กฎหมายความรับผิดในสินค้าที่บกพร่องเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ขายสินค้าต่อสาธารณะจะต้องมีความรับผิดชอบสำหรับอันตรายหรือความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่บกพร่อง ในสหรัฐอเมริกา การฟ้องร้องดำเนินคดีทั่วไปเกี่ยวกับความรับผิดในสินค้าคือการประเชมาทเลิ่นเล่อ ความรับผิดโดยเคร่งครัด การละเมิดสัญญารับประกันสินค้า และการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายความรับผิดในสินค้าส่วนใหญ่เป็นกฎหมายระดับมลรัฐและแตกต่างกันไปในแต่ละมลรัฐ แต่ละประเภทของการฟ้องร้องคดีจึงแตกต่างกันในการพิสูจน์ตามองค์ประกอบของกฎหมาย ซึ่งสรุปได้ดังนี้  
  
หลักละเมิดการรับประกันสินค้า (Breach of Warranty) 
การละเมิดการรับประกันมีที่มาจากกฎหมายสัญญา กล่าวคือการรับประกันสินค้าระหว่างผู้ซื้อสินค้าและผู้ขายสินค้า การรับประกันสินค้าเป็นเหมือนกับกรณีผู้ค้ำประกันซึ่งอาจเป็นการรับประกันที่ชัดเจนและทางอ้อม การรับประกันโดยชัดแจ้งเป็นถ้อยคำว่าผู้ขายว่าครีมโลชั่นนี้จะรักษาอาการศีรษะล้านภายในสามสิบวัน ส่วนการรับประกันทางอ้อมเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดกับผู้ซื้อ การรับประกันทางอ้อมมีสองประการคือความสามารถในการค้าขายได้ (merchantability) และความเหมาะสม (fitness) ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ความสามารถในการค้าขายได้หมายถึงสินค้าสอดคล้องกับความคาดหวังของตลาด ตัวอย่างคือผู้ซื้อคาดหวังว่าการซื้อรถยนต์จะต้องมีล้อ การรับประกันสำหรับความเหมาะสมสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะหมายถึงสินค้าดังกล่าวจะทำงานตามหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของสินค้า ตัวอย่างเช่น รถยนต์ออฟโรด์ต้องมีความสามารถใช้งานนอกถนนทั่วไปได้           
การละเมิดสัญญารับประกันสินค้ามักใช้ในการฟ้องร้องความรับผิดในสินค้าที่บกพร่อง การละเมิดการรับประกันสินค้ามีข้อจำกัดที่จำกัดการใช้ประโยชน์ของสินค้า ประการแรก การละเมิดการรับประกันสินค้าอิงสัญญาเป็นข้อตกลงระหว่างคู่กรณีที่ได้รับความเสียหายและผู้ขาย ข้อตกลงหมายถึงสัญญาโดยตรงระหว่างคู่กรณี ดังนั้น การละเมิดการรับประกันสินค้า ผู้ได้รับความเสียหายสามารถฟ้องร้องผู้ขายสินค้า ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือคู่กรณีอื่นที่ทำให้เกิดความบกพร่อง ปัญหาต่อมาของการละเมิดการรับประกันสินค้าคือว่าผู้ขายมักกำหนดข้อจำกัดในการรับประกันสินค้าไว้ในสัญญาที่สามารถจำกัดว่าอะไรบุคคลที่เสียหายสามารถตกลงได้

หลักความประมาทเลินเล่อ (Negligence) 
หลักความประมาทเลินเล่อหมายถึงการขาดความระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชนทั่วไป หากบุคคลหรือบริษัทประมาทเลินเล่อทำให้สินค้ามีข้อบกพร่อง บุคคลหรือบริษัทนั้นต้องรับผิดสำหรับอันตรายที่เกิดขึ้น คู่กรณีที่ประมาทเลินเล่ออาจเป็นผู้ผลิต ผู้ออกแบบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ขายชิ้นส่วน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่มีความรับผิดชอบในสินค้าที่มีข้อบกพร่อง หลักการพื้นฐานดังกล่าวนิยมใช้แต่ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการละเมิดสัยญารับประกันสินค้า บุคคลที่ประมาทเลินเล่อมีส่วนต่อสินค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต้องมีความรับผิด ความพยายามในการจำกัดการรับประกันสินค้าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการฟ้องร้องเรื่องประมาทเลินเล่อ  ปัญหาประการหนึ่งของการประมาทเลินเล่อคือการพิสูจน์ว่าคู่กรณีที่มีความรับผิดชอบแท้จริงต่อสินค้าที่บกพร่อง อย่างไรก็ไม่มีความชัดเจนและต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียด
     
 หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) 
คล้ายกับหลักความประมาทเลินเล่อ หลักความรับผิดโดยเคร่งครัดอนุญาตให้คู่กรณีที่ได้รับความเสียหายเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบสินค้าที่มีข้อบกพร่องหรือไม่ปลอดภัย แต่แตกต่างกับหลักความประมาทเลินเล่อว่าบุคคลที่ได้รับอันตรายไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าใครไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ หลักความรับผิดโดยเคร่งครัดใช้กับกรณีของสินค้าที่มีข้อบกพร่องและอันตรายอย่างไม่สมเหตุสมผลเท่านั้น คู่กรณีใดที่เกี่ยวข้องในทางการพาณิชย์สามารถรับผิดตามหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นจะผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ขาย หรือผู้ประกอบชิ้นส่วน ซึ่งอนุญาตให้คู่กรณีที่เสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ง่ายและถูกกว่า โดยเฉพาะถ้าผู้ผลิตสินค้ามีสถานที่ประกอบการอยู่ต่างประเทศ ผู้จัดจำหน่ายและผู้ขายในสหรัฐอเมริกาสามารถถูกฟ้องร้องโดยไม่ต้องเรียกให้ผุ้ผลิตสินค้าต่างชาติต้องถูกฟ้องโดยบุคคลที่เสียหาย

หลักคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection)
นอกจากการฟ้องร้องตามหลักกฎหมายคอมมอนลอว์ดังกล่าวข้างต้น มลรัฐต่าง ๆ ได้บัญญัติกฎหมายลายลักษณ์อักษรคุ้มครองผู้บริโภคที่กำหนดการแก้ไขเยี่ยวยาสำหรับข้อบกพร่องของสินค้า การเยียวยาตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรของมลรัฐมักข้อบกพร่องที่ทำให้สินค้าไม่สามารถใช้งานได้และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางร่างกายหรือความเสียหายกับทรัพย์สิน หลักความสูญเสียทางเศรษฐกิจหมายถึงความรับผิดโดยเคร่งครัดไม่สามารถใช้ได้ในกรณีสินค้าก่อให้เกิดความเสียหายกับตนเองเท่านั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยมักใช้กับกรณีของรถยนต์




การออกแบบที่บกพร่องในกฎหมายความรับผิดในสินค้า

 
ในกฎหมายความรับผิดในสินค้านั้น การออกแบบที่บกพร่อง (design defect) ถือเป็นปัญหาหรือเงื่อนไขของสินค้าที่ทำให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายต่อบุคคลที่ใช้สินค้าดังกล่าว กล่าวคือข้อบกพร่องที่เกิดจากการออกแบบสินค้าทำให้สินค้ามีอันตรายในตัวเองหรือใช้งานไม่ได้ แม้ว่าการผลิตสินค้าจะสมบูรณ์และใช้วัตถุดิบชั้นดีในการผลิตสินค้าดังกล่าว ตัวอย่างเช่น เลื่อยไฟฟ้าที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันในการใช้งาน  ซึ่งอาจทำให้มือของผู้ใช้ได้รับบาดเจ็บจากคมเลื่อย ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจถือว่าเป็นการออกแบบสินค้าที่บกพร่อง แม้ว่าตัวสินค้าคือเลื่อยไฟฟ้าดังกล่าวอาจประกอบอย่างไม่มีที่ติและใช้วัตถุดิบที่ดีแล้วก็ตาม บุคคลที่ใช้งานเลื่อยไฟฟ้าดังกล่าวมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับบาดเจ็บจากการใช้งานเลื่อยไฟฟ้า โดยเฉพาะเมื่อใช้งานอย่างรีบเร่งอาจทำให้พลาดหรือเสี่ยงได้รับบาดเจ็บได้

ความแตกต่างระหว่างการออกแบบที่บกพร่อง (design defect) กับสินค้าที่ผลิตบกพร่อง (defected product) คือการผลิตสินค้าที่บกพร่องเป็นความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องอันเกิดจากกระบวนการผลิตหรือประกอบสินค้าที่อาจทำให้เกิดความปลอดภัยได้เมื่อได้ผลิตตามแบบของสินค้าที่กำหนดไว้ ในขณะที่การออกแบบที่บกพร่องสาเหตุหลักคือตัวการออกแบบเองทำให้สินค้ามีความไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องทั้งสองประเภทจะได้รับการพิจารณาตามหลักความรับผิดอย่างเคร่งครัด (strict liability) ซึ่งกำหนดให้ผู้ออกแบบต้องรับผิดชอบสำหรับการออกแบบที่บกพร่องไม่ว่าผู้ออกแบบจะใช้ความระมัดระวังมากแค่ไหนในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ ศาลในระดับมลรัฐของสหรัฐอเมริกามีแนวทางการพิจารณาเรื่องการออกแบบที่นกพร่องแตกต่างกันในแต่ละมลรัฐ แต่พอจะสรุปได้สองแนวทางดังนี้

(๑) การออกแบบที่บกพร่องเกิดขึ้น หากสินค้ามีลักษณะที่อันตรายอย่างไม่สมเหตุสมผลที่เกิดจากการออกแบบ หรือ
(๒) การออกแบบที่บกพร่องเกิดขึ้น หากสินค้าไม่ปลอดภัยสำหรับการใช้งานตามวัตถุประสงค์และสามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม คดีความรับผิดในสินค้าหลานคดีตัดสินใจลักษณะที่ให้ผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันไม่ว่าจะใช้แนวทางใดดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าครอบครัวหนึ่งซื้อรถบรรทุกใหม่ แต่เนื่องจากรถบรรทุกดังกล่าวมีการออกแบบที่ผิดพลาด เบาะที่นั่งด้านหลังของรถบรรทุกเกิดไฟไหม้เมื่อรถบรรทุกวิ่งเกินความเร็ว ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง กรณีดังกล่าวพอจะถือได้ว่ารถบรรทุกที่มีเบาะที่นั่งติดไฟได้เมื่อรถวิ่งเกินความเร็วในระดับหนึ่งถือเป็นอันตรายที่ไม่สมเหตุสมผล ศาลจะใช้มาตรฐานดังกล่าวที่มีแนวโน้มว่ารถบรรทุกมีการออกแบบที่บกพร่อง  ในทำนองเดียวกัน คนส่วนใหญ่อาจขับรถยนต์เกินความเร็ว ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงและอาจมีผู้โดยสารนั่งที่เยาะด้านหลัง จึงถือว่าสามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่าอาจมีบางคนได้รับอันตรายหากรถยนต์เกิดไฟไหม้ได้ในเบาะที่นั่งด้านหลังเมื่อรถยนต์วิ่งเกินความเร็ว ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือหากที่นั่งด้านหลังเกิดไฟไหม้ในขณะที่มีคนนั่งอยู่ในเบาะหลัง อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคดีของการออกแบบสินค้าบกพร่องจะให้ผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันเสมอไป เมื่อใช้การวิเคราะห์ตามสองแนวทางดังกล่าว ตัวอย่างเช่น รถยนต์อาจเกิดไฟไหม้ด้านหลังเมื่อเกิดการชนท้ายไม่ว่ารถยนต์จะวิ่งด้วยความเร็วเท่าไรก็ตาม ศาลที่ใช้เกณฑ์อันตรายที่สมเหตุสมผลอาจตัดสินว่ารถยนต์มีวัตถุประสงค์เพื่อการขับขี่และบรรทุกคน ไม่ได้มีไว้ชน และดังนั้น รถยนต์จะไม่ถือว่าอันตรายอย่างสมเหตุสมผลสำหรับวัตถุประสงค์หลักของการใช้งาน แต่หากศาลใช้เกณฑ์การใช้งานที่ตามวัตถุประสงค์และสามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล (intended and reasonably foreseeable use standard) อาจตัดสินว่ากรณีดังกล่าวเป็นที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่าคนขับรถยนต์อาจถูกชนจากด้านหลังในขณะที่รถยนต์ใช้ตามวัตถุประสงค์และดังนั้น ผู้ออกแบบมีความรับผิดในการไม่นำปัญหาการเกิดไฟไหม้มาพิจารณาเมื่อออกแบบรถยนต์ดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าวิธีการใดที่ศาลใช้จะต้องพิจารณาว่าไม่ใช่สินค้าที่อันตรายทุกประเภทจะเป็นสินค้าที่บกพร่อง คล้ายกับกรณีของเลื่อยไฟฟ้า บางกรณีจะกำหนดบางอันตรายไม่ว่าจะออกแบบอย่างไร เลื่อยไฟฟ้าเป็นตัวอย่างหนึ่งของสิน้าที่มีความอันตรายในตัวเอง ซึ่งเพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์เพราะหากเลื่อยไฟฟ้าที่มีใบเลื่อยที่ทำจากยางก็อาจจะไม่สามารถตัดวัตถุที่แข็งได้ ซึ่งอาจไม่มีประโยชน์ในการตัดไม้ ดังนั้น ศาลมักพิจารณาว่ามีการออกแบบที่ปลอดภัยกว่าเป็นทางเลือกหนึ่งหรือไม่ซึ่งทางเลือกดังกล่าวต้องไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของการใช้งานของสินค้าเสียไป นอกจากนี้ ศาลอาจพิจารณาว่ามีการเตือนเรื่องการใช้งานสินค้าไว้หรือไม่ และหากมีการเตือน ข้อความที่เตือนมีการอธิบายวิธีการใช้งานสินค้าไว้ชัดเจนดีหรือไม่ บางศาลอาจพิจารณาต่อไปว่ามีการรับประกันที่ครอบคลุมสมรรถนะของสินค้าไว้หรือไม่ สำหรับกฎหมายความรับผิดในสินค้าของไทยยังไม่มีการวางหลักการที่ชัดเจน จึงต้องดูต่อไปว่าจะยึดถือเกณฑ์แบบใด

วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (environmental justice)

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในตลาดและบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจเป็นผุ้ผลิตหรือผู้ซื้อสินค้าหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในแนวคิดว่าด้วยความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) จึงมุ่งเน้นว่าภาระต้นทุนจากความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จะมีการบริหารและจัดสรรภาระดังกล่าวอย่างไรระหว่างกลุ่มบุคคลและบุคคลต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ในอดีตกฎหมายสิ่งแวดล้อมมักละเลยประเด็นการกระจายภาระหรือต้นทุนดังกล่าว เนื่องจากผู้สนับสนุนกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญกับสิทธิในสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก มองสิ่งแวดล้อมต้องได้รับความปกป้องหรือรักษาเป็นหลัก จึงกำหนดภาระหน้าที่หรือผลักต้นทุนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายอันดับแรก แม้ว่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นทางเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องต้นทุน แต่ไม่มีบุคคลใดตั้งคำถามว่าจะกระจายภาระดังกล่าวอย่างไร แนวคิดนี้จึงเริ่มขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงในปี ค.ศ. 1978 เมื่อนายเจมส์ ฮันท์ ผู้ว่าการรัฐโคโรไรน่าเหนือได้เสนอให้ทิ้งดินที่ปนเปื้อนเคมีที่มีสารพิษในสถานที่ฝังกลบขยะแห่งใหม่ที่จะเปิดในเขตเมืองเวอร์เรนท์ซึ่งเป็นเขตถิ่นที่อยู่ของคนยากจนของมลรัฐอันประกอบด้วยประชากรผิวดำร้อยละ 64 และชาวอินเดียแดงพื้นเมือง ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนและชาวเมืองได้ต่อต้านการเข้ามาถมขยะในเขตเมืองดังกล่าวเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ ในการนำขยะพิษมาทิ้งในสถานที่หรือเขตดังกล่าวมีเหตุผลว่าเป้นชุมชนคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองต่ำ แม้จะมีการเดินขบวนประท้วงแต่ก็ล้มเหลว อย่างไรก็ตามก็ได้รับความสนใจอย่างมากในประเด็นความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม และในที่สุดก็มีการผลักดันให้ผู้ว่าการรัฐสนับสนุนให้มีกฎหมายห้ามการถมหรือทิ้งขยะพิษในเขตดังกล่าวในเวลาต่อมา
ข้อมูลต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นหลังจากกรณีการประท้วงในเขตเวอร์เรนท์ชี้ให้เห็นว่าชุมชนที่ยากจนและชนกลุ่มน้อยจะต้องแบกรับสัดส่วนที่ไม่เป็นธรรมของภาระสิ่งแวดล้อม โโยมักจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษจากการทิ้งขยะหรือสารพิษ หรือการบำบัดน้ำเสียหรือของเสีย ชุมชนกลุ่มน้อยยังได้แบกรับภาระที่ไม่ได้สัดส่วนที่เป็นธรรมในเรื่องอากาศมลพิษและมีแนวโน้มที่ส่งผลเสียต่อสุขอนามัย แม้ว่าตัวเลขทางสถิติในการศึกษาต่าง ๆ ยังเป็นที่สงสัยอยู่ การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าเกิดการกระจายภาระทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกต้องในสหรัฐอเมริกา
คำถามหลักคือทำไมภาระทางสิ่งแวดล้อมจึงกระจายอย่างไม่เท่าเทียมกันและการกระจายที่ผิดนั้นสามารถแก้ไขปรับปรุงได้อย่างไร จึงเกิดการโต้แย้งอย่างมากในสหรัฐอเมริกาที่มุ่งเน้นการกำหนดเขตพื้นที่ของชุนชนกลุ่มน้อยที่มีการถมหรือทิ้งขยะหรือสารพิษจากอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่เชื่อว่าเกิดจากเลือกปฏิบัติทางสีผิวและเชื้อชาติและพยายามต่อสู้กับโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตดังกล่าว จึงเกิดข้อความคิดใหม่นิยมเรียกว่า การเลือกปฏิบัติทางสิ่งแวดล้อมต่อสีผิว (environmental racism) ไม่ต้องคำนึงว่าหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการกำหนดสถานที่ตั้งและการอนุญาตของสถานที่ดังกล่าวตั้งใจจะเลือกปฏิบัติหรือไม่ก็ตาม ชุมชนกลุ่มน้อยมักมีสิทธิมีสเสียงทางการเมืองน้อยและอาจเสียเปรียบเปรียบในการดำเนินกระบวนการต่าง ๆ ประชาชนในถิ่นดังกล่าวอาจพบว่ายากที่จะเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐหรือจัดที่เมืองหลวงซึ่งอาจห่างไกลออกมากจากสถานที่มีผลกระทบดังกล่าว หน่วยงานของรัฐอาจไม่ประกาศหรือแจ้งหรือจัดทำเอกสารเป้นภาษาอังกฤษซึ่งชุมใชนกลุ่มน้อยอาจยากที่จะเข้าใจ นอกจากนี้ ชุมชนกลุ่มน้อยยังขาดแคลนทรัพยากรในการว่าจ้างนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในการต่อสู้คดีกับโรงงาน
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลกลางจึงมีมาตรการหลายประการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางสิ่งแวดล้อม ในปี ค.ศ. 1994 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ออกประกาศประธานาธิบดีที่กำหนดว่าหน่วยงานรัฐทุกหน่วยต้องคำนึงถึงหลักความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในการตัดสินใจโดยการระบุและหยิบยกผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างสูงของสุขอนามัยมนุษย์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานรัฐบาลบางหน่วยได้พัฒนานโยบายที่จะลดโอกาสที่คำตัดสินจะมีผลกระทบต่อชุมชนกลุ่มน้อยบนพื้นฐานที่ไม่ได้สัดส่วน ตัวอย่างเช่น ในการออกใบอนุญาตโรงงานนิวเคลียส์ คณะกรรมการกำกับกิจการนิวเคลียส์เตรียมการวิเคราะห์ความเท่าเทียมทางสิ่งแวดล้อมที่ออกแบบเพื่อระบุและหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติอย่างตั้งใจและภาระที่ไม่ได้สัดส่วน ในปี ค.ศ. 1997 คณะกรรมการได้ปฏิเสธคำขอในการสร้างโรงงานยูเรเนียมในชุมชนโฮเมอร์ซึ่งเป็นชุมชนแอฟริกันอเมริกันในมลรัฐหลุยเซียน่าเพระาคณะกรรมการฯมีบทบาทในกระบวนการคัดเลือกที่ตั้งโรงงาน
ชุมชนต่าง ๆ มองหาโรงงานที่ก่อให้เกิดสารพิษออกจากเขตพื้นที่โดยการใช้หมวดหกของกฎหมายสิทธิพลเมืองปี ค.ศ. 1964 เพื่อหยิบยกประเด็นการเลือกปฏิบัติทางสิ่งแวดล้อมต่อสีผิวเชื้อชาติ หมวดหกห้ามโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับการอุดหนนุทางการเงินจากรัฐบาลกลางจากการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว หรือชาติกำเนิด โครงการหรือกิจกรรมของรัฐบาลมลรัฐและท้องถิ่นส่วนใหญ่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางจึงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของบทบัญญัติหมวดหก แม้ว่าโจทก์จะฟ้องร้องตามหมวดหกก็ต้องพิสูจน์ว่ามีการเลือกปฏิบัติอย่างจงใจเกิดขึ้น หน่วยงานรัฐบาลกลางอาจยอมรับภาระการพิสูจน์ขั้นต่ำสำหรับกระบวนการทางปกครองเท่านั้น สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมห้ามผลกระทบที่ไม่ได้สัดส่วนไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการเบือกปฏิบัติโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในโครงการทีไ่ด้รับการอุดหนุนจากกองทุนของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในปี ค.ศ. 1998 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมต้องเผชิญกับการร้องเรียนตามหมวดหกจำนวนมาก จึงได้ออกแนวปฏิบัติชั่วคราวในการสอบสวนการร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวเกิดข้อโต้แย้งอย่างมากมายกับหน่วยงานมลรัฐและท้องถิ่นที่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้ออกแนวปฏิบัติฉบับถาวร
การตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งอย่างเลือกปฏิบัติอาจไม่เพียงเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมสถานที่หรือโรงงานที่กอ่ให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมักจะลงหลักปักฐานในแหล่งชุมชนกลุ่มน้อยอย่างไม่ได้สัดส่วน แม้ว่าผลการศึกษาเห็นว่าโรงงานและสถานที่มักจัดตั้งในชุมชนยากจนและคนกลุ่มน้อยที่เป็นคนพูดภาษาสเปนมากกว่าชุมชนผิวดำ แม้ว่าการถกแถลงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้มุ่งเน้นการจัดตั้งโรงงานที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดกรอบการพูดถึงนโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างกว้าง ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ได้ให้ข้อสังเกตว่ารัฐบาลให้ความคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มแข็งในบางเรื่องบางประเด็ร เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีความสำคัญเพียงเล้กน้อยกับประชาชนที่ยากจน และได้เพิกเฉยหรือให้ความสำคัญเพียงเล้กน้อยกับสารพิษตกค้างในอาหารที่มีผลกระทบต่อประชาชน เช่น กฎหมายสายพันธุ์ที่ตกอยู่ในอันตราย (Endangered Species Act) ไม่ได้สนใจต้นทุนในสายพันธุ์ที่ตกอยู่ในอันตราย แต่ในขณะที่กฎหมายการฆ่าแมลง เชื้อรา และหนู (Federal Insecticide, Fungicide, and Rodenticide Act) ไม่อนุญาตให้ต้นทุนถูกพิจารณาในการตัดสินว่าการอนุญาตให้ใช้สารฆ่าแมลงในสหรัฐอเมริกา
ผู้สนับสนุนความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมเสนอแนะว่ารัฐบาลควรพิจารณาผลกระทบจากการกระจายในการเลือกและออกแบบเครื่องมือทางกฎหมายและกำกับดูแล รัฐบาลมีประสบการณ์จากการให้เครดิตการปล่อยมลพิษแบบแลกเปลี่ยนได้ตามกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งตามโครงการดังกล่าวโรงงานพบว่าค่อนข้างถูกในการลดการปล่อยอากาศเสียโดยสามารถลดการปล่อยมลพิษมากกว่าที่กฎหมายกำหนดและขายเครดิตให้แก่โรงงานที่พบว่ามีต้นทุนที่สูงและแพงในการลดการปล่อยมลพิษจากการผลิต ซึ่งโรงงานที่สองสามารถใช้เครดิตของโรงงานแรกในการช่วยให้ผ่านเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด การแลกเปลี่ยนเครดิตบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษในภาพรวมทั้งหมดด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมและถือว่ามีประสิทธิภาพในทางเศรษฐศาสตร์ แต่หากพิจารณาในเชิงสังคมแล้ว ระบบการแลกเปลี่ยนเครดิตดังกล่าวไม่ได้มีการออกแบบและดำเนินการอย่างระมัดระวัง โรงงานในเขตที่มีชุมชนยากจนอาจกลายเป็นผู้ซื้อเครดิตสุทธิซึ่งทำให้มีการปล่อยมลพิษในเขตพื้นที่ดังกล่าวมากกว่าเขตอื่น ผู้ที่รับกรรมก็เป็นบุคคลที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าวเลย
ดังนั้น ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมมุ่งเน้นการกระจายภาระทางด้านสิ่งแวดล้อมและนโยบายที่เกี่ยวข้อง และถือเป็นกระบวนการตัดสินใจในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ส่วนใหญ่เห็นว่าชุมชนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวแม้ว่าจะไม่ได้ควบคุมเสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสภาพแวด้อมในชุมชน กระบวนการตัดสินใจควรเปิดกว้างต่อประชาชนในชุมชนทั้งหมดโดยควรให้มีการเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และทรัพยากรที่จำเป็นในการเข้าใจและประเมินข้อเสนอดังกล่าว จึงมีการพยายามผลักดันให้การตัดสินใจในระดับท้องถิ่นโดยกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งอาจขัดแย้งกับแนวปฏิบัติในปัจจุบันที่กระทำการตัดสินใจในระดับรัฐบาลกลาง นอกจากนี้ ผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวยังแสดงออกว่ามีความเชื่อมั่นเพียงเล็กน้อยกับหน่วยงานทางสิ่งแวดล้อมด้วยที่จะผลักดันในเรื่องนี้


การเชื่อมต่อโครงข่ายในบริบทการค้าบริการระหว่างประเทศ

การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมถือเป็นหลักการพื้นฐานในการกำกับดูแลการแข่งขันในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากสภาพการณ์ที่มีการผูกขาดไปสู่การสถาปนาระบบการแข่งขันเสรี กล่าวคือสภาพการณ์ที่มีบริบทการผูกขาดโดยผู้ประกอบการายใหญ่ (incumbent operator) มีอำนาจควบบุมโครงสร้างที่จำเป็น (essential facility) มักจะปฏิเสธการเข้าถึงหรือการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองเพื่อรักษาสภาพการณ์ที่ได้เปรียบจากการแข่งขัน นโยบายหรือเหตุผลเบื้องหลังของการบังคับให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องมีหน้าที่เชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมหรือโครงสร้างงที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ในการบังคับดังกล่าวมักรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการเชื่อมต่อโครงงข่ายโทรคมนาคมไว้ด้วยเพื่อมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้านราคาและกีดกันการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหม่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควรในการเลือกลักษณะโครงข่ายโทรคมนาคมที่จำเป็นต้องใช้ในการให้บริการ บ่อยครั้งอาจรวมถึงการกำหนดให้มีการโอนย้ายเลขหมายโทรคมนาคมได้อิสระ (number portability)
นโยบายการเชื่อมต่อดครงข่ายถือเป็นมาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อจัดการกับปัญหาอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดในระบบผูกขาดเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการายเดิมที่เป็นรายใหญ่ในตลาดมักมีอำนาจเหนือตลาดและสามารถใช้อำนาจตลาดโดยมิชอบเพื่อลดการแข่งขันโดยการลดแรงจูงใจหรือกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่โดยการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายสูง  อย่างไรก็ตาม นโยบายเชื่อมต่อโครงข่ายก่อให้เกิดต้นทุนในตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะส่งผลต่อผู้ประกอบการรายเดิมโดยจะลดแรงจูงใจผู้ประกอบการายเดิมในตลาดในการลงทุนโครงข่ายโทรคมนาคมโดยเฉพาะการลงทุนในระบบเทคโนโลยีใหม่ หากนโยบายอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมไม่สร้างสมดุล นักวิชาการบางคนเห็นว่านโยบายเชื่อมต่อโครงข่ายอาจสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเข้าสู่ตลาดมากเกินไปซึ่งอาจทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันหากมีการกำหนดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมต่ำเกินไป
นอกจากการกำกับดูแลทางเทคนิคแล้ว โดยทั่วไปในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมักเกิดข้อพิพาทด้านการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมจำนวนมาก เพราะข้อตกลงเชื่อมต่อโครงข่ายเป้นการต่อรองเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน จึงยากที่จะตกลงกันได้โดยสันติ ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างกลไกการระงับข้อพิพาทดังกล่าวเป็นการเฉพาะโดยต้องมีกลไกการพิจารณาที่รวดเร็วและต้องใช้ผู้พิจารณาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค การตัดสินข้อพิพาทที่ล่าช้าจะส่งผลได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายใหม่อาจจะต้องออกจากตลาดไป หากไม่สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายได้โดยเร็ว
ความท้าทายในการกำกับดูแลการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมประการหนึ่งคือการพิจารณาหรือการกำหนดต้นทุนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม มีการถกเถียงกันอย่างมากว่าควรมีการรวมต้นทุนในอดีตของการสร้างโครงข่ายไว้ในค่าเชื่อมต่อโครงข่ายด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องข้อมูลต้นทุนโครงข่ายซึ่งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ประเด็นในเรื่องนี้จึงมีพัฒนาที่หลากหลาย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หลายประเทศจึงสร้างหลักการกำกับดูแลแบบอสมมาตร (asymmetric regulation) สำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมโดยการกำหนดภาระหน้าที่ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่รายเดิมในตลาดเป็นหลัก และมักจะไม่กำหนดภาระหน้าที่การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ นอกจากนี้ นโยบายการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมอาจมีความแตกต่างกันในตลาดบริการ กล่าวคือ นโยบายการเชื่อมต่อโครงข่ายมักใช้กับตลาดโทรศัพท์พื้นฐาน (fixed line) แต่มักจะไม่ใช้นโยบายเชื่อมต่อโครงข่ายกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile) ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวอาจแตกต่างในบริบทของประเทศกำลังพัฒนาที่โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานยังขาดแคลนและไม่สามารถขยายได้ทั่วประเทศ ในขณะที่โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่แตกต่างกัน และในกรณีของโทรศัพท์เคลื่อนที่เกิดปัญหาอื่นประกอบ เช่น การผูกขาดปลายทาง (mobile termination monopoly) และการโรมมิ่งระหว่างประเทศ (roaming) ซึ่งปัจจุบันเป็นประเด็นร้อนในเวทีระหว่างประเทศ

วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2557

บ้านผีสิงขายได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่



ตามหลักกฎหมายทั่วไปกำหนดให้คนซื้อต้องระวังในการซื้อสินค้า ในการซื้อบ้านอยู่อาศับก็เช่นกัน ผู้ซื้อต้องระวังสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในบ้านแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอดีตที่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อข้ายบ้าน เจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องแจ้งผู้ซื้อหรือไม่ในการขายบ้านว่าบ้านดังกล่าวมีอดีตที่ไม่ดีหรือมีข่าวลือว่าผีสิงอยู่ในบ้านดังกล่าว กรณีดังกล่าวนี้ศาลอุทธรณ์มลรัฐนิวยอร์คในสหรัฐอเมริกาได้วางหลักการในเรื่องนี้ไว้ในคดี Stambovsky v. Ackley ว่าเจ้าของบ้านคือนางเฮกเลย์และครอบครัวแจ้งว่ามีผีสิงอยู่ในบ้านของเธอในนิวยอร์คอย่างเปิดเผย โดยมีการจัดทัวร์ชมผีด้วยและพบว่ามีบทความในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหลายฉบับ รวมทั้งหนังสือ Reader's Digest ได้เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์มีการหลอกหลอนของบ้านดังกล่าว ต่อมานายสแตมบอจสกี้ได้ซื้อบ้านดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่านางเฮกเลย์และนายหน้าขายบ้านไม่ได้มีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบ้านผีสิงแก่นายสแตมบอจสกี้แต่อย่างใด นายสแตมบอจสกี้ได้จ่ายเงินมัดจำค่าซื้อบ้านไปแล้ว และเมื่อได้ย้ายเข้าไปอยู่อาศัยก็บพบว่ามีวิญญาณอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว จึงได้ขอยกเลิกสัญญาซื้อข้ายบ้าน ข้อพิพาทดังกล่าวจึงขึ้นสู่การตัดสินของศาล ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าในแง่ของกฎหมายการหลอกหลนอที่เกิดขึ้นในบ้านข้อพิพาทเป็นที่ประจักษ์เมื่อเจ้าของบ้านได้ประกาศเป็นการทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องราวของผีในบ้าน แม้ว่านางเฮกเลย์ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวเป็นการทั่วไปแล้วเกี่ยวกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในบ้านดังกล่าว แต่นางเฮกเลย์ในฐานะเจ้าของบ้านและเป็นผู้ขายมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อบกพร่องดังกล่าวแก่นายสแตมบอจสกี้ด้วย ดังนั้น ศาลจึงตัดสินให้นายสแตมบอจสกี้มีสิทธิในการยกเลิกสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ในหลายมลรัฐได้วางหลักเกณฑ์แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ในมลรัฐฟอริด้ากำหนดว่า ข้อเท็จจริงว่าทรัพย์สินที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น หรือสถานที่มีการฆ่ากันตายหรือฆ่าตัวตายไม่ถือเป็นข้อเท็้จริงในสาระสำคัญที่จะต้องเปิดเผยในการทำธุรกรรมทรัพย์สินดังกล่าวแต่อย่างใด หรือมลรัฐแมสซาซูเซสได้ระบุเกี่ยวกับกรณีบ้านผีสิงว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อสงสัยว่าทรัพย์สินอาจหรือมีผลทางจิตใจไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่ต้องมีการเปิดเผยสำหรับการทำธุรกรรม ดังนั้น จึงเป็นภาระหรือหน้าที่ของผู้ซื้อบ้านเองที่ต้องสืบค้นหาข้อมูลตามหลักกฎหมายผู้ซื้อต้องระวัง ซึ่งจะเห็นได้ว่าแตกต่างจากผลคำพิพากษาในคดี Stambovsky v. Ackley 
อนึ่งในการสำรวจในปี ค.ศ. 2012 พบว่าประมาณร้อยละ 32 ของผู้ตอบคำถามตอบว่าไม่สนใจข้อเท็จจริงเรื่องเหนือธรรมชาติ คำนึงถึงราคามากกว่า อาจซื้อบ้านที่มีข่าวว่ามีผีสิง หากราคาบ้านลดลง แต่ประมาณร้อยละ 33 ตอบว่าหากทราบข้อเท็จจริงจะไม่ซื้อ




วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2557

ป้ายโฆษณาหรืองานศิลปะที่ต้องห้าม ?

เจ้าของธุรกิจขายดอกไม้และของขวัญในชานเมือง ชื่อแซลลี่ ซึ่งมีแผนทำการตลาดและปรับปรุงร้านใหม่โดยได้ว่าจ้างศิลปินท้องถิ่นวาดภาพดอกไม้ที่สดใสบนกำแพงภายนอกรอบ ๆ ตัวตึกของร้าน แซลลี่เชื่อว่าเป็นงานศิลปะที่งดงามและคนเมืองจะได้ชื่นชมความสวยงามดังกล่าว ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา แซลลี่ได้รับหนังสือจากหน่วยงานผังเมืองของเมืองแวนด้า (Wanda Zoning Administrator) ว่าการทาสีกำแพงของแซลลี่ฝ่าฝืนข้อกำหนดของเมืองว่าด้วยป้ายโฆษณา (town sign ordinance) ที่กำหนดห้ามติดป้ายโฆษณาที่โล่งเกินกว่า 60 ตารางฟุต เพราะกำแพงของแซลลี่มีภาพดอกไม้และวาดบนตึกอาคารพาณิชย์ กำแพงจะถูกถือว่าเป็นป้ายตามข้อบังคับ เมืองแวนด้าแจ้งว่าหากกำแพงวาดรูปอื่นนอกเหนือจากดอกไม้ เช่น หมีแพนด้า ต้นปาล์ม อาจถือว่าเป็นงานศิลป์ ไม่ใช่ป้ายโฆษณา เมืองจึงมีคำสั่งให้แซลลี่รื้อภาพวาดออกหรือมิฉะนั้นจะถูกปรับในอัตราที่สูง แซลลี่เชื่อว่าคณะกรรมการผังเมืองละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (right to free speech)
          ตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่งกำหนดว่า รัฐสภาห้ามออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพการแสดงออก “Congress shall make no law . . . abridging the freedom of speech . . . .” ข้อจำกัดดังกล่าวขยายไปยังมลรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นโดยผ่านหลักกระบวนการชอบธรรม (Due Process) ของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่สิบสี่ และมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลของเมืองเกี่ยวกับป้ายโฆษณา ในขณะที่เมืองอาจกำหนดข้อจำกัดทั่วไปเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และพฤติกรรมของป้ายในที่โล่งเพื่อรักษาความสวยงามของชุมชนและประกันความปลอดภัยในการใช้ถนน ซึ่งอาจเป็นการเลือกปฏิบัติกับป้ายโฆษณาที่ส่งเสริมมุมมองบางอย่างหรือมีเนื้อหาบางประการ
ข้อกำหนดของกำแพงศิลปะในที่โล่งเป็นป้ายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในปัจจุบัน มีศาลสี่แห่งที่ได้วิเคราะห์อย่างชัดเจนว่าความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการกำกับดูแลศิลปะบนกำแผงตามเงื่อนไขของข้อกำหนดป้ายโฆษณาของเมือง แม้ว่ากฎหมายว่าด้วยกำแพงจะยังคงเพิ่งเกิด กฎหมายที่พัฒนานำไปสู่สงครามที่ต่อสู้ในหลายเมือง ข้อพิพาทระหว่างกฎหมายผังเมืองเจ้าของกำแพงที่มองว่ากำแพงเป็นงานศิลปะหรือป้าย ข้อพิพาทเหล่านี้มีความซับซ้อนเพราะงานศิลปะที่ชอบด้วยกฎหมายอาจทำหน้าที่เป็นป้ายโฆษณาด้วย ซึ่งมักเกิดจากความไม่ตั้งใจ คดีต่างๆ นำไปสู่ประเด็นว่างานศิลปะบนกำแพงถือเป็นคำพูดเชิงพาณิชย์หรือไม่ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองน้อยกว่าคำพูดทั่วไป
ความพยายามในการกำกับดูแลกำแพงในที่โล่งภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายป้ายโฆษณา เมืองอาจไม่สามารถแยกระหว่างกำแพงที่มีการแสดงความเห็นเชิงพาณิชย์และสิ่งที่ไม่ใช่การแสดงความเห็นเชิงพาณิชย์ การบังคับใช้เกณฑฺแบ่งแยกดังกล่าวไม่เพียงเป็นการกำกับดูแลเชิงเนื้อหาที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ยังยืนยันว่าขัดแย้งกับหลักกฎหมายเสรีภาพการแสดงออกด้วย ในทางเลือกนั้น หากไม่คำนึงถึงเนื้อหาทุกกำแพงควรถูกกำกับดูแลตามหลักเกณฑ์หรือข้อจำกัดเดียวกัน
          ป้ายนอกอาคารมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบและขนาด ป้ายดังกล่าวอาจตั้งอยู่บนตัวอาคารหรือนอกตัวอาคารที่อยู่บนที่ดินของเอกชนหรือของรัฐ และอาจยึดติดอยู่กับอาคาร สื่อที่จับต้องได้ในการสื่อสารกับผู้คน การกำกับดูแลป้ายนอกอาคารมีประเด็นทางกฎหมาย ลักษณะทางกายภาพของป้ายมีทั้งประเด็นเรื่องขนาด ความสูง รูปร่าง พื้นที่ จำนวน ระยะห่าง และสถานที่ รูปแบบการสื่อสารของป้ายมักประกอบด้วยเนื้อหาและข้อความที่มีผลต่อมุมมองทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ คำพูดในป้ายได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญจากการกำกับดูแลของรัฐบาล
กฎหมายป้ายเป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลของเมืองได้รับการประกันบนสองวัตถุประสงค์ ความสวยงามของชุมชนและความปลอดภัยในการจราจร ในปัจจุบันนี้ ความสวยงามกลายเป็นการให้เหตุผลโดยใช้สามัญสำนึก ในทางข้อเท็จจริง ความเห็นเสียงส่วนใหญ่ของศาลตระหนักว่าความสวยงามเท่านั้นไม่เพียงพอในการให้เหตุผลที่จะกำกับดูแลป้ายที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ กระแสดังกล่าวจากข้อยุติในศาลระบุว่ารัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการพิจารณาว่าชุมชนมีความสวยงาม และนอกจากความสวยงาม เมืองกำหนดข้อบังคับป้ายเพื่อจัดการกับอันตรายแก่คนเดินเท้าและคนขับขี่ยานยนต์ทั่วไปที่อาจดึงดูดโดยป้ายที่แสดงและเพื่อประกันวิสัยทัศน์ในการมองที่ชัดเจนของป้านสัญญาณจราจรและป้ายต่าง ๆ

การกำกับดูแลดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นการกำกับดูแลเชิงเนื้อหาหรือความเป็นกลางของเนื้อหา ลักษณะของป้ายมีประเด็นที่สำคัญในการประเมินความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของข้อบังคับเรื่องป้าย การกำกับดูแลความเป็นกลางของเนื้อหาอาจจำกัดหรือกำหนดเงื่อนไขกับป้ายโดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาของคำพูดที่อยู่บนป้าย ตัวอย่างที่ชัดเจนของข้อบังคับความเป็นกลางของป้ายคือการจำกัดระยะเวลา สถานที่ และลักษณะทั่วไป ตัวอย่างเช่น ข้อบังคับอาจห้ามป้ายชั่วคราวจากการปิดประกาศนานกว่าสองเดือน (ข้อจำกัดด้านเวลา) อาจห้ามระยะห่างจากถนนไม่เกิน 15 ฟุต (ข้อจำกัดเรื่องสถานที่) และอาจจำกัดว่าขนาดป้ายห้ามเกิน 200 ตารางฟุต (ข้อจำกัดเรื่องลักษณะ)  การกำกับดูแลความเป็นกลางของเนื้อหามักถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปานกลางและค่อนข้างยืดหยุ่น ตามมาตรฐานดังกล่าวเมืองต้องแสดงว่าข้อจำกัดคำพูดเป็นผลประโยชน์ของรับบาลซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาในการระงับคำพูด และข้อบังคับมีความกว้างกว่าความจำเป็นในการสร้างประโยชน์หรือวิธีการทางเลือกที่เพียงพอในการสื่อสารข้อความที่เปิดกว้าง ศาลให้นิยามความสวยงามของชุมชนและความปลอดภัยสาธารณะเป็นผลประโยชน์สาธารณะ ในทางกลับกัน การกำกับดูแลเชิงเนื้อหาเป็นการจำกัดป้ายโดยอิงที่ข้อความที่นำเสนอบนป้ายหรืออัตลักษณ์ของผู้พูดที่แสดงบนป้าย ตัวอย่างของการกำกับดูแลเชิงเนื้อหาเป็นข้อบังคับป้ายที่กำหนดป้ายทางการเมืองที่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าก่อนจะติดตั้ง แต่ได้รับการยกเว้นระยะเวลาของป้าย การกำกับดูแลเชิงเนื้อหาไม่ค่อยได้รับความนิยมและมักถูกตีความว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และมักถูกตรวจสอบในระดับที่เข้มงวดและจะส่งเสริมหากเมืองสามารถพิสูจน์ภาระของข้อจำกัดคำพูดผลประโยชน์ของรัฐและการกำหนดอย่างแคบในการรักษาประโยชน์ ศาลตีความว่าความปลอดภัยการจราจรและความสวยงามของชุมชนไม่ได้เข้าข่ายผลประโยชน์ของรัฐที่บังคับ (compelling state interests)

สิทธิที่จะไม่เข้าเป็นสมาชิกสมาคม (Right not to associate)

โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคมหรือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม กล่าวคือ ประชาชนสามารถรวมกลุ่มกันได้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ เช่น  รวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ  สหพันธ์  กลุ่มเกษตรกร  องค์กรเอกชนหรือหมู่คณะอื่น ๆ ซึ่งสิทธินี้ถือเป็นสิทธิทางการเมืองประเภทหนึ่ง ในทางตรงกันข้ามก็มีประเด็นว่าประชาชนมีสิทธิหรือเสรีภาพในการไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมหรือไม่ เพราะมีกรณีที่รัฐกำหนดให้ประชาชนเข้าร่วมเป็นสมาคมหรือองค์การ ตัวอย่างเช่น สหภาพแรงงาน หรือสภาวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองตามเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม ซึ่งในสหรัฐอเมริกา ศาลสูงสุดได้วินิจฉัยในเรื่องนี้ไว้ดังนี้ ในคดี Abood v. Detroit Board of Education (1977) ศาลตัดสินว่ารัฐอาจกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกหรือค่าบริการ ซึ่งเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้จ่ายในการดำเนินงานของสหภาพเพื่อวัตถุประสงค์ในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง การบริหารสัญญาจ้าง และการช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ตามบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ภาครัฐอาจไม่ถูกบังคับให้บริจาคแก่ผู้ลงสมัครทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ภาครัฐอาจป้องกันไม่ให้สหภาพใช้จ่ายเงินที่ได้มาจากค่าสมาชิกในการบริจาคผู้สมัครทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ในฐานะที่เป็นตัวแทนเจรจาแต่ผู้เดียว ในคดีที่คล้ายคลึงกันคือคดี Keller v. State Bar of California (1990) ศาลสูงสุดตัดสินว่าเนติบัญฑิตยสภาของมลรัฐแคริฟอร์เนียไม่อาจใช้ค่าธรรมเนียมสมาชิกแบบบังคับเพื่อใช้ในการสนับสนุนพรรคการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองที่สมาชิกไม่เห็นด้วย เนติบัญฑิตยสภาเป็นองค์กรที่ผูกขาดโดยเป็นสมาคมตามกฎหมายของมลรัฐแคริฟอร์เนียที่นักกฎหมายต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกและต้างจ่ายค่าธรรมเนียมสมาชิกตามเงื่อนไขของกฎหมายเพื่อจะประกอบวิชาชีพทนายความได้ เนติบัญฑิตยสภาอาจใช้เงินจากค่าธรรมเนียมสมาชิกในกฎหมายการเงินของวิชาชีพกฎหมายหรือพัฒนาคุณภาพของบริการทางกฎหมายหรือประมวลจริยธรรมของทนายความ แต่ไม่ใช้เงินในการสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น การสนับสนุนการควบคุมอาวุธปืนหรือโครงการระงับการใช้พลังงานนิวเครียส์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกคาดหวังว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย การเป็นตัวแทน และสนับสนุนความคิดเห็นของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ เนติบัญฑิตยสภาไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลของมลรัฐ แม้ว่ากฎหมายมลรัฐจัดตั้งเนติบัญฑิตยสภาขึ้นและกำหนดให้ทนายความต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก เนติบัญฑิตยสภาเทียบเคียงได้กับสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนของลูกจ้างหรือพนักงานของทั้งภาครัฐและเอกชน และดังนั้นควรอยู่ภายใต้กฎของรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกและผลประโยชน์ของการรวมกันเป็นสมาคมอย่างเสรี

          ในคดี Board of Regents of the University of Wisconsin System v. Southworth (2000) ศาลไม่ได้ตรรกะตามคำพิพากษาคดี Keller เพราะข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับคำพูดของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย นักศึกษาฟ้องมหาวิทยาลัยโดยอ้างว่าค่าธรรมเนียมกิจกรรมนักศึกษาที่บังคับจ่ายนั้นฝ่าฝืนสิทธิในการเสรีภาพการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ เสรีภาพในการตัวเป็นสมาคมโดยเสรี และเสรีภาพในการนับถือศาสนา หากมหาวิทยาลัยไม่ให้ทางเลือกในการไม่สนับสนุนองค์การที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดกับความเชื่อส่วนบุคคล ศาลไม่เห็นด้วยและตัดสินว่ามหาวิทยาลัยของรัฐมีสถานะเช่นเดียวกับเนติบัญฑิตยสภาที่อาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักศึกษาเพื่อนำไปสนับสนุนโครงการที่สนับสนุนการแสดงออกเกี่ยวกับการศึกษานอกหลักสูตร หากโครงการดังกล่าวเป็นมุมมองที่เป็นกลาง ศาลได้แยกความแตกต่างของคดีกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากรัฐบาลเป็นผู้แสดงออกความคิดเห็นและมองหาเนื้อหาเฉพาะ ในคดีนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและกระบวนการทางการเมือง มหาวิทยาลัยจึงไม่ต้องรับผิดชอบในคำพูดและเนื้อหา แต่เป็นเพียงผู้จัดสรรเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดของนักศึกษาอันเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยประการหนึ่ง อนึ่ง ศาลได้ปฏิเสธเกณฑ์ความเกี่ยวข้อง (Germaneness test) ที่วางหลักการไว้ในคดี Keller ว่าไม่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้การแสดงความเห็นของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และไม่สามารถให้ความคุ้มครองที่ไม่เพียงพอกับทั้งนักศึกษาและมหาวิทยาลัย ดังนั้น เกณฑ์ทดสอบที่เหมาะสมในกรณีนี้ ศาลได้ยืมเกณฑ์ความเป็นกลางของมุมมองจากคดีเวทีสาธารณะ (Public forum) กล่าวคือแม้ว่าเงินสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาไม่ใช่เป็นเวทีสาธารณะ แต่ศาลแก้ไขประเด็นเกี่ยวกับการจัดสรรเงินโดยให้มีการลงประชามติเพราะไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขความเป็นกลางของมุมมอง

แนวคิดพื้นฐานการปฏิรูประบบราชการ

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 การเคลื่อนไหวในการปฏิรูประบบราชการหรือากรบริหารงานภาครัฐเกิดขึ้นทั่วโลก ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทั่วโลกนั้นมีสองแนวทาง ประการแรกรัฐบาลหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ มองโกเลีย สวีเดน และสหรัฐอเมริกาได้ปรับปรุงบทบาทของภาครัฐและปฏิสัมพันธ์ของภาครัฐกับภาคเอกชนและประชาชน จากการศึกษาพบว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่เกิดขึ้นมีหลายประเทศกำหนดวาระการปฏิรูปเป็วาระแห่งชาติภายในระยะเวลาอันสั้นและมียุทธศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน โดยมีลักษณะร่วมกันดังนี้
1. ความสามารถในการผลิต (Productivity) มีคำถามว่ารัฐบาลสามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่ใช้เงินหรือต้นทุนที่ลดลง กล่าวอีกนัยหนึ่งการดำเนินงานของรัฐบาลควรมีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลต้องหาหนทางในการลดต้นทุนการให้บริการและลดขนาดรัฐบาล
2. กระบวนการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ (Marketization) คำถามว่ารัฐบาลสามารถใช้แรงจูงใตในรูปแบบการทำการตลาดแบบภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงระบบราชการดั้งเดิม บางรัฐบาลได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างกว้างขวาง หรือบางรัฐบาลมุ่งเน้นพันธมิตรภาคเอกชนในการให้บริการสาธารณะมากขึ้น แต่ทั้งสองกรณีรัฐบาลต้องต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงในการผลักดันนโยบายสาธารณะที่สร้างแรงจูงใจดังกล่าวที่จะมาทดแทนแนวทางเดิมคือการควบคุมและสั่งการ ที่เป็นความยากลำบากเพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานและเจ้าหน้าที่ของของรัฐ
3. การมุ่งเน้นการให้บริการ (Service orientation) คำถามคือรัฐบาลสามารถเชื่อมโยงหรือมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประชาชนได้อย่างไร การสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของสาธารณชนในสถาบันรัฐบาลลดลงและไม่ค่อยดีเนื่องจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลไม่ค่อยตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ในการสร้างโครงการที่ตอบสนองต่อประชาชนมากขึ้นนั้น รัฐบาลพยายามเปลี่ยนระบบการให้บริการภาครัฐใหม่ โดยการออกแบบโครงการต่าง ๆของรัฐที่เดิมมุ่งเน้นหรือมีมุมมองจากผู้ให้บริการ (คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ) และการจัดการด้วยระบบโครงสร้างราชการแบบเดิมมาเป็นมุมมองของผู้รับบริการหรือประชาชนเป็นหลัก (ทฤษฎีทางเลือกสาธารณะ) ในบางกรณี ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคือการให้ทางเลือกแก่ประชาชนในการรับบริการจากภาครัฐ ในบางกรณีมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อพัฒนาการให้บริการของภาครัฐ ซึ่งอิงเน้นทางของกลไกตลาด กล่าวคือ การปฏิรูปจะใช้กลไกตลาดที่ให้ประชาชนมีทางเลือกในการรับบริการของภาครัฐ ตัวอย่างเช่น บริการรับชำระค่าปรับหรือค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางไปรษณีย์หรือมีการเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้านอกเวลาราชการ
4. การกระจายอำนาจ (Decentralization) คำถามหลักคือรัฐบาลสามารถสร้างโครงการที่ตอบสนองและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในหลายประเทศ ยุทธศาสตร์การปฏิรูปได้มีการกระจายอำนาจแก่หน่วยงานในระดับต่ำลงมา ในประเทศที่เป็นสหพันธรัฐมีการกระจายอำนาจไปยังรัฐบาลหรือกน่วยงานระดับมลรัฐมากขึ้น เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา แนวทางดังกล่าวเป็นการโอนอำนาจภายในระบบ ในขณะที่หลายประเทศมีการถ่ายโอนอำนาจและความรับผิดชอบในการให้บริการสาธารณะไปยังรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้โครงการของรัฐบาลสามารถตอบสนองต่อประชาชนได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บางประเทศก็มีการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปยังหน่วยงานรัฐที่สัมผัสกับประชาชนเพื่อสร้างแรงจูงใจและเพิ่มความสามารถในการตอบสนองความต้อกงารของประชาชน ไม่ต้องรอการให้บริการจากหน่วยงานกลาง
5. นโยบาย (Policy) คำถามคือรัฐบาลจะปรับปรุงขีดความสามารถในการออกแบบและติดตามนโยบายสาธารณะได้อย่างไร หลายประเทศเดินตามแนวทางของนิวซีแลนด์ที่มีการแบ่งแยกบทบาทของรัฐบาลในฐานะของผู้ซื้อบริการ (ในฐานะจัดทำนโยบาย) จากบทบาทในการให้บริการ (ในฐานะให้บริการ) รัฐบาลดังกล่าวได่พยายามพัฒนาประสิทธิภาพของการให้บริการที่อาจจะรักษาอำนาจให้อยู่ในมือของรัฐบาลในขณะที่พยายามปรังปรุงความสามารถในการจัดซื้อจัดจ้างแทน
6. ความรับผิดชอบต่อผลการกระทำ (Accountability for results) คำถามสำคัญคือรัฐบาลสามารถพัฒนาความสามารถในการให้บริการตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้อย่างไร รัฐบาลพยายามทดแทนจากระบบความรับผิดชอบที่เน้นกฎและจากบนลงล่างมากเป็นระบบเน้นผลลัพธ์และจากล่างขึ้นบน ซึ่งควรมุ่งเน้นผลผลิตและผลลัพธ์แทนกระบวนการและโครงสร้าง

เมื่อพิจารณาในภาพรวม การปฏิรูประบบบริหารงานภาครัฐได้มีความพยายามปรับปรุงกระบวนการที่มุ่งเน้นอำนาจและกฎแบบดั้งเดิมด้วยระบบที่เน้นการแข่งขันและอิงกลไกแบบตลาด โดยหลายประเทศที่หน่วยงานของรัฐใช้รูปแบบตลาดอย่างชัดเจนในการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ แต่กระบวนการปฏิรูปก้าวไปไกลกว่านั้น ในตลาดที่มีการแข่งขันนั้นมักไม่มีบริการของรัฐ หลายบริการที่มีบริการของภารัฐในตลาดส่งผลให้เกิดความสับสนในตลาด จึงเป็นปมปัญหาที่ไลายประเทศยังแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ตก