"เขตอำนาจรัฐ" (Jurisdiction) เป็นข้อความคิดทางนิติศาสตร์ที่ใช้ในการอธิบายสิทธิของรัฐในการดำเนินการ เช่น การออกกฎหมายหรือคำสั่งและบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงบุคคล สิ่งของ และเหตุการณ์เป็นการเฉพาะ ในตอนเริ่มแรกนั้น หลักเขตอำนาจรัฐคืออาณาเขตของรัฐเป็นหลัก ซึ่งมาจากความเชื่อว่าอำนาจของรัฐในการกระทำอยู่ภายในขอบเขตแดนของรัฐถือเป็นเด็ดขาดและสมบูรณ์ โดยไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดที่ไม่ได้กำหนดโดยรัฐนั้นเอง แต่การกระทำของรัฐในการจำกัดอำนาจรัฐของตนเองภายในอาณาเขตนั้นพบน้อยมาก ดังนั้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
เขตอำนาจรัฐในทางกฎหมายระหว่างประเทศหมายความถึง อำนาจของรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตย (sovereignty) และการเป็นผู้มีอำนาจ (authority) และอิงบนหลักการของความมีประสิทธิภาพ เขตอำนาจรัฐอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและขอบเขตอาจแตกต่างกันในแต่ละบริบท เขตอำนานรัฐมักเกี่ยวข้องทั้งกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศของแต่ละรัฐ กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดข้อจำกัดที่สามารถยินยอมได้ของรัฐในเขตอำนาจรัฐนั้นในหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น ส่วนกฎหมายภายในประเทศอธิบายขอบเขตและลักษณะที่รัฐอ้างยืนยันเขตอำนาจรัฐของตน
ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิของรัฐในการใช้เขตอำนาจรัฐอ้างอิงจากอธิปไตยของรัฐ เมื่อมีการใช้เขตอำนาจรัฐที่มีผลกระทบผลประโยชน์ของรัฐอื่น ความทับซ้อนดังกล่าวในเขตอำนาจรัฐจะต้องมีการประสานงานระหว่างกัน กฎหมายระหว่างประเทศภาคเอกชนจึงเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาประเภทดังกล่าว โดยทั่วไป มีแนวโน้มในปัจจุบันว่าหลักการอย่างกว้างตามสิทธิในการใช้เขตอำนาจรัญขึ้นอยู่กับการเป็นประเด็นของเรื่อง (subject matter) และรัฐใช้ในฐานะผู้มีอำนาจที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดเพียงพอในการแสดงให้เห็นเหตุผลอันสมควรว่ารัฐอยู่ในฐานะควบคุมกำกับดูแลประเด็นดังกล่าวได้
สำหรับในเขตอำนาจรัฐในทะเลหรือบนห้วงอากาศ กล่าวคือแม้ว่าทะเลหลวง (high sea) จะไม่ได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตของรัฐใดและดังนั้นขึงไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตของเขตอำนาจรัฐใด อย่างไรก็ตาม รัฐยังคงมีสิทธิในเขตอำนาจรัฐบางประการเหนือบุคคลและสิ่งของที่อยู่ในทะเลหลวง หลักเกณฑ์ทางกฎหมายในทะเลหลวงอิงหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดให้เรือทุกลำที่ใช้เดินทางในทะเลหลวงมีสัญชาติและติดธงของรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเรือและบุคคลและสิ่งของบนเรือต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐเจ้าของธง และถือว่าอยู่ภายใต้เขตอำนาจรัฐของรัฐดังกล่าวโดยเด็ดขาดเพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐที่กำหนดเงื่อนไขในการให้สัญชาติและรับจดทะเบียนเรือภายในอาณาเขตและสำหรับสิทธิของเรือในการชักธง จำเป็นต้องมีความเชื่อมโยงอย่างแท้จริงระหว่างรัฐและประเด็นของเรื่อง
ในทพนองเดียวกัน อากาศยานก็ต้องมีสัญชาติที่แสดงเป็นนัยว่าเป็นสิทธิตามเขตอำนาจรัฐและการได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 17 ของอนุสัญญาชิคาโก้ที่กำหนดว่าอากาศยานมีสัญชาติของรัฐที่จดทะเบียนและเงื่อนไขของการจดทะเบียนขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง อากาศยานไม่สามารถจดทะเบียนโดยชอบได้มากกว่าหนึ่งรัฐ ทุกอากาศยานที่เกี่ยวข้องกับการเดินอากาศระหว่างประเทศถูกกำหนดให้มีสัญชาติที่เหมาะสมและเครื่องหมายจดทะเบียน แต่ในกิจการอวกาศนั้น เขตอำนาจรัฐมีความหมายนัยเฉพาะและมีความหมายที่แตกต่างออกไป ในกิจการอวกาศ หลักการไม่สามารถยึดครองอวกาศได้ (non-appropriation principle) เหนือกว่าและอ้างอิงไปว่ารัฐไม่สามรถอ้างอธิปไตยเหนืออวกาศได้ จึงทำให้อวกาศมีสถานะเป็นสมบัติร่วมกันของมวลมนุษยชาติ (res communis omnium)
สนธิสัญญาอวกาศปี ค.ศ. 1967 ที่เริ่มระบุหลักเกณฑ์กำกับดูแลปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐในห้วงอวกาศ และกำหนดว่าการใช้และการสำรวจอวกาศเป็นอาณาเขตหนึ่งของมวลมมนุษยชาติ (province of all mankind) ซึ่งปรากฎในมาตรา 1 ของสนธิสัญยาอวกาศ ดังนั้น สนธิสัญญาอวกาศจึงวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมอวกาศซึ่งดำเนินการอยู่นอกเขตอำนาจรัฐเชิงอาณาเขตและไม่มีรัฐใดสามารถใช้สิทธิอธิปไตยเหนืออวกาศได้ แต่ก็ไม่ได้ห้ามรัฐในการใช้เขตอำนาจรัฐและการควบคุมเหนือวัตถุและบุคคลที่ดำเนินกิจกรรมในห้วงอวกาศ ดัวยเหตุดังกล่าว จึงมีความเชื่อมโยงระหว่างรัฐและวัตถุอวกาศหรือบุคคลบนวัตถุอวกาศ โดยอนุญาตให้รัฐสามารถอ้างเขตอำนาจรัฐและอำนาจในการควบคุมในกิจกรรมแห่งชาติ (national activity) ที่ดำเนินการในอวกาศได้ โดยต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับพันธกรณีและหลักกฎหมายระหว่างประเทศตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาอวกาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น