วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561

แนวทางการกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์มของสหภาพยุโรป

ปัจจุบันมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงความสำคัญของดิจิทัลแพทฟอร์ม เนื่องจากเป้นปรากฎการณ์ใหม่ที่มีประเด็นสลับซับซ้อนในยุคเศรษฐกิจใหม่ ประเด้นสำคัญที่มักมีการหยิบยกขึ้นมาโดยหน่วยงานของรัฐคือความจำเป็นต้องมีกฎหมายหรือแนวทางในการกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์ม สหภาพยุโรปได้ให้ความจริงจังกับประเด็นนี้และถือเป็นการริเริ่มที่กล้าหาญโดยการประชุมหารือจากหลายภาคส่วนจากประเทศสมาชิก กำหนดมุมมองและสถานะของประเทศสมาชิกในเรื่องดังกล่าวและการกำหนดนโยบายสำหรับการกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์ม

เป็นที่ยอมรับกันว่ายุคเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ดิจิทัลแพทฟอร์มมีบทบาทสำคัญอย่างมากในชีวิตประจำวันสำหรับการติดต่อสื่อสารแบบสองทางทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เนื่องจากดิจิทัลแพทฟอร์มช่วยทำให้บุคคลมีทางเลือกในการสื่อสารแบบสองทางได้อย่างสะดวกสบายและง่ายดายกับบุคคลอื่นทั่วโลก ดิจิทัลแพทฟอร์มเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มีส่วนอย่างมากในการเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาเช่นเดียวกันจากการก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

คำถามเริ่มต้นคือดิจิทัลแพทฟอร์มคืออะไร นิยามของดิจิทัลแพทฟอร์มไม่ชัดเจน คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปไม่ได้มีความเห็นฉันทามติในเรื่องนิยามที่ตรงกันทีเดียว แต่ถือว่ามีความสำคัญในการกำกับดูแล โดยคณะกรรมาธิการพิจารณาคุณลักษณะที่มีผลต่อดิจิทัลแพทฟอร์มเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับเครื่องมือทางเทคโนโลยีนี้ ดิจิทัลแพทฟอร์มได้รับการพิจารณาว่าเป็นสื่อที่สามารถสื่อสารได้สองทางหรือหลายทางเมื่อผู้ใช้บริการได้เชื่อมต่อทางแพทฟอร์มของผู้ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือทรัพยากร ตัวอย่างเช่น อาลีบาบา อเมซอน อีเบย์ เฟสบุ๊ค และอูเบอร์ เป็นต้น

ปัจจุบัน สหภาพยุโรปยังไม่ได้มีกรอบกฎหมายและการกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์มเป็นการเฉพาะและอย่างเป็นเอกภาพ โดยหลักการแล้วดิจิทัลแพทฟรอ์มถูกกำกับดูแลภายใต้หลักเกณฑ์ด้านมาตรฐานและกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น มีการตกลงร่วมกันจากผู้ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องดิจิทัลแพทฟอร์ม แม้ว่าจะเกิดข้อได้เปรียบในหลายเรื่องที่ก่อให้เกิดประเด็นที่น่าสงสัยหลายประการตามมา เช่น ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการตั้งราคาที่ไม่เป็นธรรม ผลกระทบของโครงข่าย การละเมิดสิทธิส่วนตัว และการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

ด้วยนโยบายและท่าทีกล่าวของสหภาพยุโรป จึงเกิดคำถามขึ้นว่า สหภาพยุโรปควรจะกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์มอย่างไร ควรจะกำกับดูแลหรือไม่ควรกำกับดูแลเป็นคำถามแรกที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขาวงในหลากหลายเวที ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการกำกับดูแลให้เหตุผลว่าตลาดดิจิทัลควรได้ถูกกำกับดูแลมากกว่าตลาดอานาล๊อก เนื่องจากการทำธุรกรรมบนพื้นฐานระบบอานาล๊อกใช้เงินสดซึ่งมีมาตรการที่เข้มงวดน้อยกกว่าการทำธุรกรรมบนระบบออนไลน์ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายในระบบดิจิทัลที่เข้มงวดมากขึ้น และระบบดิจิทัลกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น บริษัทที่ให้บริการดิจิทัลแพทฟอร์มมีแรงจูงใจทางการเงินและการทำการตลาดมากพอที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและสร้างคุณค่าของข้อมูลลูกค้ามากขึ้นด้วย ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันล้าสมัย ในอีกความเห็นหนึ่งที่ยังลังเลในการกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์มเห้นว่าควรจะมีการประเมินผลกระทบของดิจิทัลแพทฟอร์มก่อนจะตัดสินใจกำกับดูแล ซึ่งจำเป็นต้องมีการรวบรวมหลักฐานที่รัฐมีความกังวลซึ่งจะสามารถระบุประเภทของกฎหมายที่จะกำกับดูแลได้ และเห็นด้วยว่าควรมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์มที่อาจส่งผลร้ายเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าการแทรกแซงก่อนโดยไม่จำเป็นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเติบโตนวัตกรรมในตลาดดิจิทัลได้ ตลาดดิจิทัลมีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูงกับโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่ควรมีการกำกับดุแลในระยะแรกเริ่ม และการกำกับดูแลควรพิจารณาเป็นรายประเภทของธุรกิจ

ตัวอย่างของนโยบายการกำกับดูแลในประเภทศสมาชิกของสหภาพยุโรป
เยอร์มันนี
ในเดือนมีนาคม 2017 กระทรวงกิจการเศรษฐกิจและพลังงานได้ออกหนังสือปกขาวเกี่ยวกับดิจิทัลแพทฟอร์ม ในเอกสารปกขาวดังกล่าวได้นำเสนอนโยบาย "ผลิตในยุโรป" (Made in Europe) และโดยเสนอว่าสหภาพยุโรปควรออกกฎกำกับดูแลเป็นการทั่วไปทั้วทั้งสหภาพยุโรป ไม่เห็นด้วยกับการออกนโยบายกำกับดูแลเป็นรายประเทศ รวมทั้งควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้าให้สอดคล้องกับความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากดิจิทัลแพทฟอร์ม
สวีเดนและอิตาลี
อิตาลีและสวีเดนมีแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับการประเมินและท่าทีที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์มากกว่า ท่าทีในการสนับสนุนกฎหมายที่เป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำของการกำกับดูแลและความไม่ชัดเจนของกฎหมาย
เนเธอร์แลนด์
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีท่าทีต่อการปรึกษาหารือของสหภาพยุโรป โดยสนับสนุนแนวทางการกำกับดูแลเป็นการเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็นมากกว่าการกำกับดูแลในภาพรวม และเสนอให้มีการสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการแพทฟอร์มเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้แพทฟอร์มดังกล่าว และให้ประเทศสมาชิกมีดุลพินิจและอำนาจในการกำกับดูแลเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในลักษณะที่ใช้แนวทางกำกับดูแลและเครื่องมือกำกับดูแลที่หลากหลายได้
สหราชอาณาจักร
ท่าทีของสหราชอาณาจักรซึ่งมีตลาดที่ค่อนข้างยืดหยุ่นต่อการถูกกำกับดูแลมากกว่า และตอบสนองต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดิจิทัลได้ดีกว่า ในหลักการ องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันและการตลาดได้เสนอความเห็นว่าตลาดดิจิจทัลแพทฟอร์มมีความหลากหลายจึงทำให้การกำกับดูแลอาจไม่มีประสิทธิผลหากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลมีลักษณะทั่วไปหรือครอบคลุมอย่างกว้างขวาง จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลเฉพาะดิจิทัลแพทฟอร์มเป้าหมายเท่านั้นที่อาจส่งผลเสียต่อตลาดและผู้บริโภค และไม่เห็นด้วยกับการกำกับดูแลก่อนกำหนด (premature regulation) การมุ่งเน้นหลักคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมในการกำกับดูแลการแข่งขันและการคุ้มครองสิทธิพื้นฐาน เช่น สิทธิส่วนตัว การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การคุ้มครองผู้บริโภค และมาตรฐานเกี่ยกวับการกำหนดอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนและลดการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการขยายตลาดของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ด้วยท่าทีดังกล่าวของสหราชอาณาจักรที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของสหภาพยุโรป ประกอบกับสถานการณ์การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรได้สร้างความท้าทายอย่างมากหากสหราชอาณาจักรได้ออกจากสหภาพยุโรปจริง ซึ่งต้องมีการประเมินผลกระทบกันอีกครั้งหนึ่ง

ท่าทีของสหภาพยุโรป
ในการประเมินบทบาทและผลกระทบของดิจิทัลแพทฟอร์มที่ให้บริการออนไลน์ในตลาดของสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปได้ดำเนินการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียหลายครั้ง จนกระทั่งได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม 2016 ซึ่งระบุความจำเป็นในการติดตามดูแลพฤติกรรมการค้าของธุรกิจ ประกันความเป็นธรรม การปกป้องนวัตกรรม และจัดการกับปัญหาเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สหภาพยุโรปจึงตัดสินใจออกกฎการกำกับดูแลที่ป้องกันอนาคตและมีความยืดหยุ่น เช่น หลักการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการทำงานร่วมกันของผู้ประกอบการ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิส่วนตัวบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมกันในบริการดิจิทัล การกำหนดภาระให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบมากขึ้น ธำรงไว้ซึ่งความเชื่อถือของผู้ใช้บริการด้วยความโปร่งใสและเป้นธรรม การเปิดตลาดและไม่เลือกปฏิบัติ การยกเลิกการกำกับดูแลกันเองและการกำกับดูแลร่วมตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม สำหรับการประเมินเป้าหมายพิจารณาตามแนวปฏิบัติของธุรกิจที่มีต่อธุรกิจ และนำเสนอการออกกฎให้ทบทวนความร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภคและข้อกำหนดแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม  นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนกฎที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่เดิม เช่น กฎการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิส่วนตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ และบริการสื่อแพร่ภาพกระจายเสียง โดยกำหนดในช่วงปี 2017 เป็นเส้นตายในการเริ่มนโยบายใหม่ต่างๆ ดังนั้น วันที่ 10 พฤษภาคม 2017 สหภาพยุโรปได้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ตลาดดิจิทัลหนึ่งเดียว และประกาศแผนการออกกฎหมายในช่วงปลายปี 2017เพื่อจัดการปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมด้วยการประเมินผลกระทบการกำกับดูแลและนำเสนอกรอบกระบวนการในการจัดการเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่มุ่งเน้นมาตรการกำกับดูแลตนเองเป็นหลัก

อนึ่ง เป้าหมายของสหภาพยุโรปเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลกันเองมีความชัดเจนจากการหารือกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมายบนอินเทอร์เน็ตและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับคำพูดสร้างความเกลียดชังบนอินเทอร์เน็ตที่ผิดกฎหมาย แม้ว่า สหภาพยุโรปกำหนดท่าทีในการใช้อำนาจบังคับใช้อกฎหมายอย่างมีประสิทธิผลตามกฎหมายแข่งขันทางการค้าที่มีอยู่ในปจจุบันเพื่อจัดการกับปัญหาที่คุกคามในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คำวินิจฉัยของสหภาพยุโรปในวันที่ 4 พฤษภาคม 2017 ที่ยอมรับข้อตกลงของบริษัทอเมซอนที่จะไม่บังคับใช้เงื่อนไขในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่จะลงโทษสำนักพิมพ์ที่ยื่นข้อเสนอต่อบริษัทอเมซอนในลักษณะที่คล้ายคลึงหรือดีกว่าต่อคู่แข่งขันของบริษัท และการเปิดเผยเงื่อนไขอื่นที่เสนอต่อคู่แข่งขัน ซึ่งเป็นแนวทางประนีประนอมและสร้างความร่วมมือจากผู้ประกอบการ

โดยสรุป จากการประเมินและปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียแล้ว สหภาพยุโรปได้ประเมินท่าทีในการออกกฎสำหรับกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์มเป้าหมายและอิงข้อเท็จจริงที่สรุปได้ชัดเจนแล้ว โดยการคำนึงถึงกฎที่มีอยู่เดิม แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงการรวบรวมกฎการกำกับดูแลทีมีอยู่เดิมเข้าไว้ด้วยกันเพื่อให้ได้รับผผลลัพธ์ในการกำกับดูแลที่ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีนวัตกรรมใหม่แต่ประการใด อย่างไรก็ตาม ถือเป็นก้าวย่างเริ่มต้นที่สำคัญที่ สหภาพยุโรปได้พิจารณาแนวนโยบายการกำกับดูแลดิจิทัลแพทฟอร์มด้วยความระมัดระวัง ยังคงต้องติดตามในขั้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น