วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับประเด็น Super Human

ในยุคดิจิทัล มนุษย์กำลังเผชิญความท้าทายที่หลากหลายมากขึ้นจากนวัตกรรมที่ล้ำสมัยซึ่งได้รับการออกแบบหรือประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกการดำรงชีวิตของมนุษย์ ด้วยลักษณะที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นอย่างมากมาย เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ ARTIFICIAL INTELLIGENCE (AI) เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนามาเนิ่นนานและเพิ่งมีบทบาทมากขึ้นในช่วงเวลานี้ และถือได้ว่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคตอันใกล้เพราะจะถูกนำมาใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เดิมยังไม่สามารถแก้ไขได้ในอดีต ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยี AI ได้รับการพัฒนาถึงระดับที่เดิมนวนิยายเคยวาดฝันไว้ โดยมีชื่อเรียกว่าเครื่องจักรเรียนรู้ (MACHINE LEARNING) ที่สามารถประยุกต์ใช้เครือข่ายประสาทที่เลียนแบบกระบวนการของระบบประสาทจริงของมนุษย์ได้ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นระบบการเรียนรู้เชิงลึก (DEEP LEARNING) ที่อนุญาตให้เครื่องจักรสามารถประมวลผลข้อมูลในระดับที่สลับซับซ้อนใกล้เคียงกับระดับการคิดหรือตัดสินใจของมนุษย์ได้  เช่น การรับรู้หรือรู้จักหน้าตาม ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี BIG DATA ที่ส่งเสริมการใช้งานของเทคโนโลยี AI นักวิชาการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี AI อาจถูกนำไปใช้ในหกรูปแบบ ดังนี้ 

1. ระบบการขนส่งอัตโนมัติ ปัจจุบันนี้เริ่มมีการนำรถยนต์ไร้คนขับมาใช้งานบ้างแล้วซึ่งจะช่วยยกระดับด้านความปลอดภัยในการขับขี่และลดปัญหาจราจรและเศรษฐกิจในระยะยาว บริษัทกูเกิ้ลได้เริ่มทดสอบรถยนต์ไร้คนขับมาตั้งแต่ปี 2012 และกระทรวงการขนส่งของสหรัฐอเมริกาได้ได้เริ่มยอมรับแนวคิดนี้ ซึ่งอาจเริ่มนำมาประยุกต์ใช้กับการขนส่งสาธารณะก่อน เช่น รถโดยสารประจำทางหรือรถไฟในอนาคตอันใกล้
2. เทคโนโลยีไซเบอร์ก (CYBORG) ซึ่งเดิมข้อจำกัดของมนุษย์คือขีดความสามารถของร่างกายและสมองที่มีขีดความสามารถจำกัด นักวิจัยมีการนำเสนอว่าในอนาคตเราสามารถโต้เถียงกับคอมพิวเตอร์ได้และเทคโนโลยีอาจช่วยยกระดับขีดความสามารถของมนุษย์ที่มีตามธรรมชาติได้ โดยเฉพาะคนพิการทางกายภาพ เทคโนโลยี AI สามารถช่วยทำให้สมองสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์เทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
3. ช่วยทำงานที่อันตราย กล่าวคือเทคโนโลยีหุ่นยนต์สามารถเข้ามาทดแทนการเข้าไปทำงานที่อันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ได้ เช่น การถอดชนวนระเบิดหรือเข้าไปในสถานที่อันตราย เช่น สถานที่ที่มีสารพิษแพร่กระจาย
4. การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเครื่องจักรสามารถเข้าถึงและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกินกว่าคนหนึ่งคนจะทำได้ จึงอาจทำให้การประมวลผลทางสถิติของข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น นักวิจัยหวังว่าสักวันหนึ่งเทคโนโลยี AI จะสามารถระบุแนวโน้มของปัญหาและใช้ข้อมูลดังกล่าวในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนหรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้
5. เพื่อนหุ่นยนต์ อาจเหมือนในหนังสตาร์วอร์ที่ในอนาคตมนุษย์อาจมีเพื่อนเป็นหนุ่นยนต์ที่คอยช่วยเหลือมนุษย์ แม้ว่าหุ่นยนต์โดยทั่วไปจะไร้ซี่งอารมณ์และความรู้สึก แต่เริ่มมีการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ที่ผลิตมาเพื่อเป็นเพื่อน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในญี่ปุ่นที่ผลิตหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของคนได้ ในปี 2015 มีการวางจำหน่ายหุ่นยนต์รุ่น PEPPER รุ่นแรกประมาณ 1000 ตัวสามารถจำหน่ายหมดภายในหนึ่งนาที หุ่นยนต์รุ่นนี้ถูกโปรแกรมให้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนช่วยเหลือคน โดยสามารถอ่านอารมณ์ของมนุษย์ และสามารถพัฒนาอารมณ์ของตนเองได้ สามารถช่วยมนุษย์ที่เป็นเพื่อได้ในยามมีความสุข และในปี 2016 เริ่มมาการวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา มีการคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
6. การดูแลคนสูงอายุ หุ่นยนต์ถูกคาดหวังให้มาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น โดยในระยะแรกหุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถทำงานบ้านได้เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของผุ้สูงวัยที่ต้องอยู่คนเดียว
ในอีกด้านหนึ่งมีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะถูกผนวกรวมในชีวิตความเป็นอยู่จองคนเราทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายในตัวมันเอด้วย แม้ว่าเทคโนโลยี AI อาจจะสามารถช่วยลดความไม่เท่าเทียมทางด้านเศรษฐกิจหรืออาจทำให้แย่ลงก็ได้ หากผลประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี AI ไม่สามารถกระจายไปได้อย่างกว้างขวาง เช่น การที่ AI และเทคโนโลยีหุ่นยนต์อาจเข้ามาทดแทนการทำงานของมนุษย์ซึ่งอาจทำให้คนตกงานได้ อันอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ อีกประเด็นที่ได้รับการวิจารณ์จากบรรดานักวิชาการคือเทคโนโลยี AI อาจส่งผลเสียโดยก่อให้เกิดอคติในการตัดสินใจและการเลือกปฏิบัติอย่างแนบเนียบ หรือแม้กระทั่งอาจนำไปประยุกต์ใช้สร้างอาวุธทำลายล้างแบบอัตโนมัติ

ดังนั้น จึงมีการกระตุ้นเตือนและเรียกร้องให้มีการวิจัยผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทางสังคมของเทคโนโลยี AI และประเด็นหลักที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาคือเรื่องจริยธรรม ความปลอดภัย และผลกระทบต่อสังคมของเทคโนโลยี AI แม้ว่าจะมีผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าจำนวนหนึ่ง ซึ่งเรียกร้องให้มีระบบความรับผิดชอบในการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความไม่เท่าเทียม ความยุติธรรม และอคติ ในปี 2018 นักวิชาการหลายกลุ่มทั่วโลกได้เปิดเวทีและวิจัยลงลึกในเรื่องดังกล่าว แต่พบว่าไม่ง่ายที่ภาคเอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะพยายามลดกระบวนการตัดสินใจหรือคิด การทดแทนการตัดสินใจของมนุษยคนที่เดิมอาจมีการยึดมั่นคุณค่าต่างๆ ที่ซับซ้อนด้วยกระบวนการคิดแบบง่ายที่สามารถติดตามตรวจสอบได้และเน้นประสิทธิภาพเป็นสำคัญ คุณค่าหรือค่านิยมบางอย่างอาจถูกละเลยหรือไม่สามารถใส่เข้าไปเป็นปัจจัยในกระบวนการคิดหรือตัดสินใจของเทคโนโลยี AI ได้

ผลกระทบทางสังคมมีความสำคัญหากผลกระทบดังกล่าวส่งผลแม้จะบางส่วนต่อสภาพแวดล้อม แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก แต่อาจส่งผลต่อบรรยากาศของการต่อต้านหรือความกลัวต่อเทคโนโลยีได้ โดยเฉพาะหากก่อให้เกิดความโกรธแค้นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเทคโนโลยี AI อาจเข้ามามีบทบาทอย่างมากในฐานะเป็นกลไกใหม่ในการตัดสินใจในกิจการของภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในบางภาคอุตสาหกรรมที่นิยมใช้การตัดสินใจแบบฝ่ายเดียว 

ล่าสุด ผู้มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยี เช่น STEPHEN HAWKING, ELON MUSK, STEVE WOZNIAK, BILL GATES และผู้มีชื่อเสียงอื่นได้เรียกร้องผ่านทางสื่อมวลชนถึงความกังวลของเขาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจาก AI เนื่องจากเทคโนโลยี AI มีศักยภาพที่จะฉลาดล้ำลึกกว่ามนุษย์และอาจแม้กระทั่งพัฒนาได้ด้วยตนเองเป็นซูเปอร์ฮิวแมน จึงยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าจะมีพฤติกรรมอย่างไร มนุษย์ยังไม่เคยมีสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถฉลาดกว่ามนุษย์ได้มาก่อนและโดยเฉพาะมันสามารถคิด พัฒนาและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง อาจทำให้มนุษย์เราต้องเผชิญกับวิวัฒนาการของเราเอง แม้ว่าในปัจจุบันมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการที่สามารถควบคุมโลกใบนี้ได้เหนือสัตว์อื่น ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมนุษย์แข็งแรงที่สุด เร็วที่สุด หรือใหญ่ที่สุด แต่เป็นเพราะเราฉลาดที่สุด แต่หากในอนาคตมนุษย์เราไม่ได้เป็นเผ่าพันธุ์ที่ฉลาดที่สุด ก็ไม่แน่ว่าต่อไปมนุษย์เรายังจะควบคุมโลกได้อีกต่อไปหรือไม่ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น