วันพุธที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดในสหรัฐอเมริกา

การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดในสหรัฐอเมริกามีทั้งหน่วยงานของรัฐเองและเอกชนมีอำนาจในการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายป้องกันการผูกขาด ดังนี้ 

1. หน่วยงานภาครัฐมีสองหน่วยงานหลัก คือ

- กระทรวงยุติธรรม (Department of Justice) กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายอาญาในสำหรับการการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีให้แก้ไขเยียวยาในคดีแพ่งได้ด้วย รวมทั้งอาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในนามของรัฐบาล

- คณะกรรมการการค้าสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission) คณะกรรมการการค้าสหพันธ์รัฐมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการค้าหรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและตามกฎหมายเคย์ตัน (Clayton Act) อย่างไรก็ตามขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายของคณะกรรมการการค้าของสหพันธ์รัฐอเมริกาครอบคลุมการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดด้วย

2. ภาคเอกชน มีหลักเกณฑ์ดังนี้

2.1 สิทธิในการดำเนินคดี ในมาตรา 4 ของกฎหมายเคย์ตันกำหนดว่าโจทก์ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายป้องกันการผูกขาดต้องสามารถแสดงให้ศาลเห็นว่ามีหรือเกิดความเสียหายกับธุรกิจหรือทรัพย์สินของตนเอง ทั้งนี้ ในคดี Reiter v. Sonotone ศาลสูงสุดวินิจฉัยว่าลูกค้ารายย่อยที่จ่ายเงินที่เกิดจากการผูกขาดสำหรับสินค้าที่มีการรวมตัวกันถือว่าสร้างความเสียหาย นอกจากนี้ เงื่อนไขธุรกิจหรือทรัพย์สิน กล่าวได้ว่าศาลสูงสุดได้พัฒนากฎที่ซับซ้อนมากขึ้น เมื่อผลกระทบของกฎเป็นจำนวนเล็กน้อยของบุคคลที่ในทางเป็นจริงได้รับความเสียหายจากการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ตัวอย่างเช่น หากบริษัทที่เป็นเป้าหมายฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาด แต่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้างที่ต้องออกจากงาน เจ้าของที่ดินและเจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับเงินจะไม่มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดี

ศาลได้วางเกณฑ์สำหรับการฟ้องร้องดำเนินคดีของเอกชนไว้ ดังนี้ (ก) เกณฑ์ความเสียหายโดยตรง (Direct injury) ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าววัดว่าความเสียหายของโจทก์ต้องเป็นผลโดยตรงหรือเพียงเกิดผลลัพธ์ทางอ้อมของการฝ่าฝืนกฎหมาย (ข) เกณฑ์ขอบเขตเป้าหมาย (Target  area) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการวัดว่าโจทก์อยู่ในขอบเขตเป้าหมายของการฝ่าฝืนกฎหมาย

ทั้งสองเกณฑ์ยังไม่เป็นที่สรุปแน่ชัดและมีแนวปฏิบัติแนะนำเล็กน้อยในการฟ้องร้องดำเนินคดี ศาลสูงสุดยังคงมีความสงสัยเกี่ยวกับเกณฑ์ดังกล่าว ในคดี Blue Shield ศาลสูงสุดได้อนุญาตให้โจทก์ดำเนินการฟ้องร้องคดีแม้ว่าจะไม่อยู่ในขอบเขตเป้าหมายของการรวมตัวต่อต้าน (boycott) ในพื้นฐานของทฤษฎีว่า ประการแรกความเสียหายของโจทก์เป็นเพียงผลที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายที่สามารถคาดการณ์ได้ และประการที่สองความเสียหายของโจทก์เป็นการสัมพันธ์ที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้กับความเสียหายที่จำเลยมีความประสงค์ในผลการกระทำดังกล่าว แต่ในคดี  Associated General Contractors ศาลวินิจฉัยว่าสหภาพไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ตามทฤษฎีว่าลูกจ้างของบริษัทได้รับความเสียหายจากการรวมตัวต่อต้านที่เกิดกับนายจ้าง ตามกฎหมายมลรัฐมีอำนาจอำนาจในการฟ้อร้องในนามของลูกค้า แต่มลรัฐไม่สามารถเป็นตัวแทนของบริษัทได้ การตัดสินให้ค่าเสียหายต้องปรับลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการฟ้องร้องโดยภาคเอกชน

 กฎผู้ซื้อทางอ้อม (Indirect Purchaser Rule)

ในคดี Illinois Brick ศาลสูงสุดตัดสินว่าผู้ซื้อสินค้าทางอ้อม เช่น ผู้ซื้อที่ทำธุรกรรมสองขั้นหรือมากกว่านั้นได้ถูกขจัดจากผู้ผูกขาดหรือการสบคบกันกีดกันอาจไม่ถือว่าเกิดความเสียหายตามกฎหมายป้องกันการผูกขาด ตามกฎข้อนี้ผู้ซื้อทางอ้อมมีสิทธิต่อการเรียกเก็บค่าผูกขาดสูงเกินสมควรทั้งหมด แม้ว่าผู้ซื้อโดยตรงมีแนวโน้มที่จะส่งผ่านการเรียกเก็บค่าผูกขาดไปยังลูกค้า ล่าสุดศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้ยืนยันกฎดังกล่าวในคดี Utilicorp อนึ่งคำพิพากษาในคดี Illinois Brick มีข้อยกเว้นสามประการตามที่ศาลชั้นต้นได้ให้ไว้ ดังนี้

ประการแรก สัญญาที่เกิดขึ้นก่อน กำหนดราคาสินค้าหรือบริการไว้ และกำหนดคุณภาพของสินค้าไว้ กล่าวคือหากผู้ซื้อโดยทางอ้อมมีสัญญากับผู้ผูกขาดหรือกลุ่มผูกขาดและในสัญญาได้ระบุไว้เฉพาะเกี่ยวกับคุณภาพและราคาไว้ชัดเจนศาลเชื่อว่าการผลักภาระค่าผูกขาดทั้งหมดไปยังผู้ซื้อทางอ้อมแน่นอน ในคดีดังกล่าวผู้ซื้อทางอ้อมจะเกิดความเสียหายจากการซื้อขายดังกล่าว

ประการที่สองผู้สมคบร่วมกันในช่วงกลาง (Co-Conspirator in the Middle) หากผู้ซื้อทางตรงเป็นหนึ่งของการสมคบกัน ผู้ซื้อทางอ้อมจะมีการกระทำกับทั้งสมาชิกที่ร่วมกันสมคบผูกขาดในการขายสินค้าและร่วมกับผู้ซื้อโดยตรง ในลักษณะคล้ายกันหากผู้ซื้อทางตรงเป็นบริษัทสาขาของสมาชิกที่สมคบผูกขาดหรือถูกควบคุมโดยบริษัทเหล่านั้น ผู้ซื้อทางอ้อมอาจติดตามการกระทำต่อต้านสมาชิกที่ร่วมสมคบกันผูกขาด

ประการที่สาม การกระทำเพื่อยับยั้ง (Actions for an Injunction) เหตุผลในคดี Illinios Brick คือการส่งผ่านความเสียหายเป็นสิ่งที่ยากมากในการคิดคำนวณและพิสูจน์ อย่างไรก็ตามการคิดคำนวณดังกล่าวไม่มีความจำเป็นในการกระทำเพื่อห้ามไว้ ในศาลส่วนใหญ่ตัดสินว่าข้อจำกัดของผู้ซื้อทางอ้อมใช้กับเฉพาะการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียหายเท่านั้น


ความเสียหายจากการป้องกันการผูกขาด

หลักความเสียหายจากการป้องกันการผูกขาดกำหนดให้โจทก์แสดงว่าได้รับความเสียหายจากการฝ่าฝืนกฎหมายและได้รับความเสียหายจากผลลัพธ์ของการกีดกันการแข่งขันที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ตัวอย่างเช่นในคดี Brunswick ศาลตัดสินว่าโจทก์ไม่สามารถแสดงการกระทำที่เสียหายสำหรับการควบรวมกิจการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากความเสียหายของโจทก์เกิดจากการที่การควบรวมกิจการทำให้คู่แข่งขันมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม คล้ายกับคดี Cargill ที่ศาลสูงสุดตัดสินว่าคู่แข่งขันไม่สามารถท้าทายการควบรวมกิจการของคู่แข่งขันในทางทฤษฎีได้ว่าหลังการควบรวมกิจการสามารถลดราคา หรืออย่างน้อยไม่มีเหตุผลที่ดีในการพิจารณาว่าการลดราคาคอาจเป็นการตัดราคาเพื่อทำลายการแข่งขัน หลักการความเสียหายจากการป้องกันการผูกขาดใช้กับทุกประเภทของการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาด ในคดี USA Petroleum ศาลสูงสุดตัดสินว่าเป็นการป้องกันคู่แข่งขันจากการท้าทายการรักษาราคาขายต่อขั้นสูงสุดที่สร้างภาระแก่คู่แข่งขัน ดังนั้นจึงชัดเจนว่าหลักดังกล่าวใช้กับการฝ่าฝืนกรณีเกิดจากตนเอง (per se rule)

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

วิสาหกิจของภาครัฐต้องอยู่ในบังคับกฎหมายแข่งขันทางการค้าของยุโรปหรือไม่

ประเด็นคำถามในเชิงนโยบายต่อกฎหมายแข่งขันทางการค้าคือรัฐวิสาหกิจ (state enterprise) หรือหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร (Non-profit organisation) ควรจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือไม่ ทั้งนี้เพราะหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไรจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงสังคม แม้ว่าจะอยู่ในบริบทเชิงพาณิชย์ หลายประเทศจึงยกเว้นรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานไม่แสวงหากำไรต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแข่งขันทางการค้า ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศไทย แต่ปัจจุบันก็มีการโต้แย้งว่ารัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจกรรมทางการค้าและมักจะเป็นผู้มีอำนาจชี้นำตลาดภายในประเทศได้ ควรต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้า ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มักจะกำหนดให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานไม่แสวงหากำไรต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการคค้าด้วยเพราะการดำเนินกิจกรรมของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานไม่แสวงหากำไรอาจส่งผลกระทบต่อบริบทการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญก็ได้ ในบทความนี้จึงนำเสนอแนวทางการตีความของสหภาพยุโรป 
คำว่า "วิสาหกิจ" (Undertakings) ได้ระบุไว้ในบทบัญญัติกฎหมายแข่งขันทางการค้าของยุโรป และถือเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งในการวิเคราะห์มาตรา 81 และมาตรา 82 ของสนธิสัญญาเกี่ยวกับการแข่งขันทางกาารค้าของยุโรป (EC) รวมทั้งข้อบังคับการควบรวมกิจการของยุโรป อย่างไรก้ตามสนธิสัญญายุโรปไม่ได้ให้ความหมายของคำดังกล่าวไว้ ปล่อยให้ศาลยุติธรรมยุโรปพัฒนาและสร้างหลักการขึ้น ทั้งนี้ เพื่อประกันความมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ของบทบัญญัติการแข่งขัน ศาลยุติธรรมยุโรปได้ยอมรับแนวทางหน้าที่ (Functional approach) ในการใช้คำวิสาหกิจดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงสถานะทางกฎหมายและวิธีการที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน แนวทางหน้าที่ดังกล่าวมุ่งเน้นลักษณะเชิงพาณิชย์ของกิจกรรมและไม่มุ่งเน้นประเภทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงอาจหมายความถึงบุคคลธรรมดา สมาคมทางการค้า ห้างหุ้นส่วน คลับหรือชมรม บริษัท และหน่วยงานภาครัฐ
คำพิพากษาที่สำคัญคือข้อพิพาทในคดี FIFA-distribution of package tours during the 1990 World Cup (Case IV/33.384 และ IV/33.378) กล่าวคือคณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาข้อเร้องเรียนว่าระบบการกระจายตั๋วของสมาคมฟุตบอลสหพันธ์ระหว่างประเทศหรือฟีฟ่า (International Federation of Football Association) ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ. 1990 ณ ประเทศอิตาลี ในการจัดงานดังกล่าวมีระบบการกระจายตั๋วชมฟุตบอลที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดงานท้องถิ่น (local organising committee) ซึ่งจัดตั้งร่วมกันโดยฟีฟ่าและสมาคมฟุตบอลของอิตาลี (National Italian Football Association) ระบบการกระจายตั๋วดำเนินการโดยสมาคมกีฬาหลายหน่วยงาน แต่ได้มีข้อจำกัดในการจำหน่ายผ่านตัวแทนท่องเที่ยว ข้อจำกัดทำให้เกิดการมอบสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการจัดจำหน่ายตั๋วทั่วโลกเพราะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการท่องเที่ยวอิตาลีด้วยโดยผ่านกิจการร่วมค้าของอิตาลี ชื่อเรียกว่า "90 Tour Italia SpA" ข้อตกลงผูกขาดดังกล่าวทำให้ตัวแทนท่องเที่ยวอื่นไม่สามารถเสนอขายโปรแกรมท่องเที่ยวได้ในช่วงเทศกาลแข่งขันฟุตบอลโลก คณะกรรมาธิการตัดสินว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงกระจายที่ผูกขาดตามมาตรา 81 ของสนธิสัญญายุโรป คำถามเบื้องต้นเกี่ยวกับลักษณะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีและพิจารณาว่าจะถือเป็นวิสาหกิจตามความหมายของมาตรา 81 หรือไม่
คำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมยุโรปอธิบายว่าหน่วยงานโดยไม่คำนึงถึงรูปแบบทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจประกอบเป็นวิสาหกิจภายในความหมายของมาตรา 81 และมาตรา 81 ของสนธิสัญญายุโรป กิจกรรมทางเศณษฐกิจรวมถึงกิจกรรมไม่ว่าจะแสวงหากำไรหรือไม่ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการค้าทางเศรษฐกิจ การแข่งขันฟุตบอลโลกถือเป็นเทศกาลแข่งขันกีฬาสำคัญระดับโลกที่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจ กิจกรรมดังกล่าวรวมถึงการจำหน่ายโปรแกมการท่องเที่ยวที่ประกอบด้วยโรงแรมที่พัก การขนส่ง และการท่องเที่ยว การโฆษณา และการถ่ายทอดสดสัญญาณโทรทัศน์ เป็นต้น
ฟีฟ่าเป็นสหพันธ์ของสมาคมกีฬาและดำเนินกิจกรรมทางกีฬา ซึ่งดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงเข้าข่ายการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามความหมายของมาตรา 81 ของสนธิสัญญายุโรป เช่นเดียวกันกับสมาคมฟุตบอลของอิตาลีก็ดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับฟีฟ่าจึงอยู่ในความหมายของมาตรา 81 ของสนธิสัญญายุโรป สำหรับคณะกรรมการจัดงานท้องถิ่นที่จัดตั้งโดยฟีฟ่าและสมาคมฟุตบอลอิตาลีเพื่อวัตถุประสงค์ดำเนิกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานทั้งทางด้านเทคนิคและพิธีการต่าง ๆ ของงานแข่งขันฟุตบอลโลก และทั้งสองได้ตกลงและดำเนินข้อตกลงกระจายตั๋วด้วย รายได้ของคณะกรรมการจัดงานท้องถิ่นมาจากหลายแหล่ง เช่น สิทธิในการถ่ายทอดโทรทัศน์ สิทธิในการโฆษณา และการจำหน่ายตั๋วเข้าชม สิทธิเด็ดขาดที่ให้กับกิจการร่วมค้า "90 Tour Italia" ก่อให้เกิดค่าตอบแทนกับคณะกรรมการจัดงานฯ ต่อมา คณะกรรมการจัดงานฯ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและถือเป็นวิสาหกิจตามความหมายของมาตรา 81 ของสนธิสัญญายุโรป จึงกล่าวได้ว่าแม้ว่าหน่วยงานที่ไม่มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรก็ตามก็ไม่ได้ทำให้อยู่นอกเหนือกฎหมายแข่งขันทางการค้าของยุโรป แต่ศาลยุติธรรมยุโรปก็ได้ใช้เกณฑ์หน้าที่ประกอบในการพิจารณาด้วยซึ่งอาจได้รับการยกเว้น

การใช้สิทธิโดยมิชอบในกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา


ตามกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา เจ้าของสิทธิบัตรมีสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive rights) ในการกีดกันบุคคลอื่นจากการทำ ใช้ หรือขายสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของสิทธิบัตรอาจเลือกที่จะใช้ประโยชน์สิทธิตามสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวโดยอาจเลือกที่จะไม่ยอมอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการประดิษฐ์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม สิทธิผูกขาดในสิ่งประดิษฐ์ของเจ้าของสิทธิบัตรไม่ได้มีได้ไม่จำกัด ในบางสถานการณ์ บุคคลที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีละเมิดสิทธิบัตรอาจยกข้อโต้แย้งว่าเจ้าของสิทธิบัตรใช้สิทธิโดยมิชอบก็ได้ (patent misuse) หากศาลรับฟังและเห็oด้วยกับข้อต่อสู้ดังกล่าว จำเลยผู้กระทำละเมิดจะไม่ต้องรับผิดในการละเมิดสิทธิบัตร แม้ว่าจะมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นจริงก็ตาม ทั้งนี้ รากฐานแนวคิดของการใช้สิทธิโดยมิชอบในกฎหมายสิทธิบัตรมาจากการตีความของศาลคอมมอนลอว์ซึ่งอิงหลักความเป็นธรรม (Equitable Concept) ที่คำนึงถึงความเป็นธรรมตามสถานการณ์ กล่าวคือ มาตรฐานของหลักความเป็นธรรมที่ใช้ในศาลคอมมอนลอว์คือ โจทก์ไม่สามารถมาศาลด้วยมือที่ไม่สะอาด (unclean hands) ซึ่งจะห้ามโจทก์มิให้ดำเนินคดี แม้ว่าเนื้อหาแห่งคดีจะถูกต้องชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ซึ่งแนวคิดการตีความดังกล่าวนี้ถือว่าค่อนข้างกว้าง โดยทั่วไป การใช้สิทธิโดยมิชอบเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของสิทธิบัตรมีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดและการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเกินขอบเขตที่ได้รับ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือตราบใดที่เจ้าของสิทธิบัตรใช้สิทธิภายใต้ขอบเขตของสิทธิบัตรโดยชอบก็จะได้รับการคุ้มครองจากความรับผิดจากกฎหมายป้องกันการผูกขาด อย่างไรก็ตาม หลายกรณีที่พฤติกรรมของเจ้าของสิทธิบัตรเกินขอบเขตการคุ้มครองของสิทธิบัตรและอาจถูกโต้แย้งตามกฎหมายป้องกันการผูกขาด ตัวอย่างเช่น หากบุคคลที่ริเริ่มการฟ้องร้องดำเนินคดีพยายามที่จะบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรซึ่งรู้โดยเจ้าของสิทธิบัตรว่าไม่ชอบ การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการขยายการผูกขาดตามมาตรา 2 ของกฎหมายป้องกันการผูกขาด บุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิโดยชอบ เช่น การยื่นขอรับสิทธิบัตรเกินระยะเวลาหนึ่งปีนับตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์ได้วางขายทั่วไปแล้ว หากเจ้าของสิทธิบัตรทราบเงื่อนไขดังกล่าว แต่ยังคงยื่นขอรับสิทธิบัตร ซึ่งถือว่าเป็นการฉ้อฉลต่อสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (US Patent and Trademark Office) ในทางกฎหมายสิทธิบัตรถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ชอบ (inequitable conduct) เพราะการได้รับสิทธิบัตรด้วยการฉ้อฉลดังกล่าวและดำเนินการฟ้องร้องเพื่อบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตริถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาด เพราะต้องถือว่าไม่มีสิทธิในสิทธิบัตรอันจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายป้องกันการผูกขาด ดังนั้น จำเลยที่ถูกกล่าวหาอาจโต้แย้งโดยหยิบยกกฎหมายป้องกันการผูกขาดและต่อสู้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ

ตัวอย่างในคดีเครื่องสูบน้ำมัน บริษัทหนึ่งได้ซื้อสิทธิบัตร 72 ฉบับในสาขาเครื่องสูบน้ำมัน ศาลตัดสินว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคลใดที่จะผลิตสินค้าที่มีการแข่งขันสูงโดยไม่มีการละเมิดสิทธิบัตรใดสิทธิบัตรหนึ่ง แม้ว่าการซื้อสิทธิบัตรและการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรจะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม แต่หากพิจารณาจากเจตนาของบริษัทและวัตถุประสงค์ของจำนวนสิทธิบัตรที่ซื้อ ศาลพิจารณาเห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดและถือเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ โดยใช้กฎหมายสิทธิบัตรในการกีดกันทางการค้า

การฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรเป็นความพยายามที่จะควบคุมราคาขายต่อของสินค้าที่ได้รับสิทธิบัตรและการใช้สิทธิบัตรในสินค้าหนึ่งแล้วบังคับขายอีกสินค้าหนึ่ง (พ่วงขาย) หรือขายอีกสิทธิบัตรหนึ่งที่ผู้ซื้อไม่ประสงค์จะซื้อ (tie in agreement) การฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดบางครั้งอาจไม่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิโดยมิชอบก็ได้ เมื่อบุคคลใดที่มีความพยายามอย่างไม่เหมาะสมในการขยายขอบเขตของสิทธิบัตรทั้งทางกายภาพและชั่วคราว ซึ่งเงื่อนไขของกฎหมายป้องกันการผูกขาดไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ (per se) หากพบพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การบังคับให้บุคคลหนึ่งตกลงในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่เรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิในสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรหรือจัดเก็บค่าตอบแทนการใช้สิทธิเกินกว่าระยะเวลาที่สิทธิบัตรได้รับความคุ้มครองก็อาจถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบประเภทหนึ่ง หรือในลักษณะคล้ายกัน การพยายามบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรที่ได้รับมาโดยพฤติกรรมที่มิชอบอาจถือเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ แต่อาจไม่ฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาดก็ได้

สำหรับเส้นแบ่งระหว่างพฤติกรรมการยื่นขอรับสิทธิบัตรที่ชอบด้วยกฎหมายกับการฝ่าฝืนกฎหมายสิทธิบัตรและการใช้สิทธิโดยมิชอบตามกฎหมายสิทธิบัตรนั้นมีความแตกต่างกันซึ่งเกิดจากการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และคำพิพากษาของศาล ในปี ค.ศ. 1988 กฎหมายปฏิรูปสิทธิบัตร ได้สร้างความชัดเจนและเพิ่มสิทธิแก่เจ้าของสิทธิบัตร กล่าวคือเป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าของสิทธิบัตรจะไม่ต้องรับผิดในการใช้สิทธิโดยมิชอบหรือการใช้สิทธิเกินขอบเขตสิทธิบัตรที่ได้รับ รวมทั้งเจ้าของสิทธิบัตรไม่ต้องรับผิดในกรณีปฏิเสธการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในสิทธิบัตรด้วย การกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้สิทธิและการขายสินค้าที่ได้รับสิทธิบัตรในลักษณะพ่วงขายกับสินค้าอื่นไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบ หากเจ้าของสิทธิบัตรไม่มีอำนาจเหนือตลาดในสินค้าที่ได้รับสิทธิบัตรและสินค้าที่พ่วงขายดังกล่าว ดังนั้น ในบางสถานการณ์จะไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยมิชอบหากไม่ใช่การฝ่าฝืนกฎหมายป้องกันการผูกขาด ในบางกรณี เจ้าของสิทธิบัตรอาจจัดการกับข้อต่อสู้การใช้สิทธิโดยมิชอบได้ ซึ่งจะทำให้สามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ใหม่อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น หากมีเงื่อนไขในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ก่อให้เกิดการใช้สิทธิโดยมิชอบ หากมีการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวเจ้าของสิทธิบัตรก็สามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรได้ แต่เจ้าของสิทธิบัตรอาจไม่มีสิทธิในการร้องขอบรรเทาทุกข์ต่อศาลสำหรับพฤติกรรมก่อนหน้าที่มีการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวได้